วันอังคาร, มกราคม 20, 2552

Oscar 2009: ควันหลงรางวัลลูกโลกทองคำ


เมื่อก่อนรางวัลลูกโลกทองคำขึ้นชื่อว่าเป็น “มาตรวัด” โอกาสคว้าออสการ์ของหนังและนักแสดงที่เชื่อถือได้และแม่นยำพอควร แต่ระยะหลังๆ ผลรางวัลลูกโลกทองคำดูเหมือนจะขัดแย้งกับออสการ์อย่างต่อเนื่อง โดยหนังเรื่องล่าสุดที่คว้าลูกโลกทองคำมาครองและได้ออสการ์ไปด้วย คือ The Lord of the Rings: The Return of the King เมื่อห้าปีก่อน นับแต่นั้นลูกโลกทองคำมอบรางวัลสูงสุดให้ The Aviator, Brokeback Mountain, Babel และ Atonement ส่วนออสการ์กลับตกเป็นของ Million Dollar Baby, Crash ซึ่งไม่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดราม่า) ของลูกโลกทองคำด้วยซ้ำ, The Departed และ No Country for Old Men

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาตามสถิติ ชัยชนะของ Slumdog Millionaire จึงหาใช่ความแน่นอนเสมอไป อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบ (ในเชิงสถิติอีกเช่นกัน) ของหนัง แดนนี่ บอยล์ อยู่ตรงที่มัน “คว้าทุกรางวัลที่เข้าชิง” มาครองแบบครบถ้วน 100% ซึ่งครั้งหลังสุดที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบนเวทีลูกโลกทองคำคือ ปี 1988 เมื่อ The Last Emperor ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดราม่า) ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยมมาครอง ตรงกับทุกสาขาที่ Slumdog Millionaire คว้ารางวัลมาครองแบบเป๊ะๆ!! จากนั้น เราทุกคนต่างก็รู้กันดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนังมหากาพย์ของ เบอร์นาร์โด เบอร์โตลุคชี่ บนเวทีออสการ์

ณ เวลานี้ หนังตัวเก็งห้าเรื่องที่จะหลุดเข้าชิงออสการ์สาขาใหญ่สุด ได้แก่ Slumdog Millionaire, The Curious Case of Benjamin Button, Frost/Nixon, Milk และ The Dark Knight เนื่องจากรายชื่อดังกล่าวตรงกันกับรายชื่อผู้เข้าชิงของทั้งสมาพันธ์ผู้กำกับ (DGA) สมาพันธ์นักเขียน (WGA) และสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้าง (PGA) เพราะดังที่ทราบกันดีว่าสมาชิกของสมาพันธ์จำนวนมากมีสิทธิ์โหวตรางวัลออสการ์ด้วย โดยปกติแล้ว DGA มักจะมีความน่าเชื่อถือสูงสุดในแง่การคาดเดารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่พวกเขาก็ใช่จะทายถูกทุกครั้งไป ล่าสุดได้แก่ปีที่แล้ว เมื่อ DGA เลือก จูเลี่ยน ชนาเบล จาก The Diving Bell and the Butterfly และ ฌอน เพนน์ จาก Into the Wild แต่ออสการ์กลับเลือก Atonement และ Juno (ส่วนชนาเบลหลุดเข้าชิงสาขาผู้กำกับได้สำเร็จ โดยเข้ามาแทนที่ โจ ไรท์ จาก Atonement)

หนังที่อาจเป็นตัวสอดแทรกในนาทีสุดท้ายได้แก่ Wall-E, Doubt และ Revolutionary Road แต่โอกาสนั้นดูเหมือนจะเริ่มริบหรี่ลงเรื่อยๆ ที่สำคัญ ปีนี้ทำท่าจะดำเนินรอยตามปี 1996 เมื่อหนังยอดเยี่ยมห้าเรื่องสอดคล้องกับสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมแบบครบถ้วน แม้หลายคนจะยังไม่ละทิ้งความหวังต่อ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler) ไมค์ ลีห์ (Happy-Go-Lucky) คนนี้เคยทำสำเร็จมาแล้วจาก Vera Drake และ วู้ดดี้ อัลเลน (Vicky Cristina Barcelona) คนนี้เคยทำสำเร็จมาแล้ว 4 ครั้งจาก Interiors, Broadway Danny Road, Crime and Misdemeanors และ Bullets over Broadway นอกจากนี้ ชัยชนะของ Vicky Cristina Barcelona บนเวทีลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ตลก/เพลง) ยังช่วยตอกย้ำให้เห็นว่ามีคนชื่นชอบผลงานชิ้นใหม่ของอัลเลนค่อนข้างมาก

นอกเหนือจากหนังลูกผสมระหว่างฮอลลีวู้ดกับบอลลีวู้ดเกี่ยวกับเด็กจากสลัมมุมไบที่ผันตัวกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านในชั่วข้ามคืนแล้ว ผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่สุดในงานลูกโลกทองคำประจำปีนี้ คือ เคท วินสเล็ท ซึ่งคว้ารางวัลมาครองทั้งสาขานักแสดงนำหญิง (ดราม่า) และนักแสดงสมทบหญิง จาก Revolutionary Road และ The Reader ตามลำดับ ผลดังกล่าวไม่เพียงจะทำให้นักแสดงสาวชาวอังกฤษประหลาดใจอย่างที่สุดเท่านั้น (สังเกตจากปฏิกิริยาของเธอตอนขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำหญิง) แต่ยังช็อคคนดูแบบถ้วนหน้าอีกด้วย เมื่อพิจารณาว่าหนังทั้งสองเรื่องนั้นได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์โดยรวม (และรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์) ไม่ค่อยสู้ดีนัก “ฉันคิดว่า แอนน์ แฮทธาเวย์ จะเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน ฉันไม่เคยคิดเลยสักนิดว่าตัวเองจะได้รางวัลจาก Revolutionary Road มันช่างวิเศษสุด เพราะฉันไม่เคยได้ลูกโลกทองคำมาก่อน แต่คืนนี้กลับได้พร้อมกันถึงสองรางวัล” วินสเล็ทให้สัมภาษณ์หลังเวที

นักแสดงคนล่าสุดที่สร้างปรากฏการณ์แบบเดียวบนเวทีลูกโลกทองคำ คือ ซิกเกอร์นีย์ วีเวอร์ ซึ่งคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิง (ดราม่า) มาครองจาก Gorillas in the Mist พร้อมกับนักแสดงสมทบหญิงจาก Working Girl ข่าวร้ายสำหรับวินสเล็ทอยู่ตรงที่ วีเวอร์เดินหน้าเข้าชิงออสการ์ทั้งสองสาขาตามคาด แต่สุดท้ายกลับชวดหมด! ฝันร้ายยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เดิมพันที่เพิ่มเข้ามาสำหรับวินสเล็ท คือ ถ้าเธอได้เข้าชิงออสการ์ทั้งสองสาขาตามคาดและพลาดรางวัล เธอจะกลายเป็นราชินีกินแห้วตลอดกาลจากการเข้าชิง 7 ครั้งและพลาดหมด แทนที่เจ้าของตำแหน่งเดิมอย่าง เดโบราห์ เคอร์ และ เธลมา ริตเตอร์ ซึ่งเคยเข้าชิงคนละ 6 ครั้ง ส่วนเจ้าของสถิติฝ่ายชายยังคงเป็น ปีเตอร์ โอ’ทูล ซึ่งชวดรางวัลทั้งหมด 8 ครั้ง แต่น่าทึ่งกว่าอยู่ตรงที่ทั้งหมดล้วนเป็นสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

ในส่วนของสาขานักแสดงนำหญิง วินสเล็ท, แฮทธาเวย์, เมอรีล สตรีพ ถือว่าเป็นสามตัวเก็งที่นอนมา ส่วน แซลลี่ ฮอว์กินส์ ก็จะน่าขี่กระแส “ขวัญใจนักวิจารณ์” ควบรางวัลลูกโลกทองคำนักแสดงนำหญิง (เพลง/ตลก) เข้าชิงได้เป็นคนที่สี่ แม้ SAG จะมองข้ามเธอไป คราวนี้ ปัญหาน่าจะอยู่ตรงตำแหน่งสุดท้าย ซึ่งคงเป็นการแย่งชิงกันระหว่าง แองเจลิน่า โจลี่ (Changeling) เมลิสสา ลีโอ (Frozen River) คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long) และ เคท บลันเช็ตต์ (The Curious Case of Benjamin Button) คนแรกได้เปรียบตรงการเข้าชิงลูกโลกทองคำและ SAG อย่างครบถ้วน แต่เธอเคยยืนอยู่ ณ ตำแหน่งนี้มาแล้วเมื่อสิบสองเดือนก่อน (จาก A Mighty Heart) ซึ่งลงเอยด้วยการพลาดรถด่วนขบวนสุดท้าย คนที่สองเข้าชิง SAG เพียงอย่างเดียว แต่กวาดคำชมจากนักวิจารณ์มาอย่างท่วมท้น คนที่สามเข้าชิงลูกโลกทองคำ แต่ถูก SAG และรางวัลของสมาคมนักวิจารณ์ต่างๆ มองข้าม ส่วนคนสุดท้ายอาการหนักสุด ถือได้ว่ากำลังเข้าขั้นโคม่าเนื่องจากพลาดการเข้าชิงทั้งลูกโลกและ SAG แถมนักวิจารณ์ยังเมินใส่ แต่ต้องไม่ลืมว่าเธอเป็นขวัญใจออสการ์และหนังของเธอก็มีภาษีดีกว่าคนอื่นๆ

ชัยชนะของ มิคกี้ รู้ค (The Wrestler) บนเวทีลูกโลกทองคำถือว่าชวนเซอร์ไพรซ์ไม่น้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้ ฌอน เพนน์ (Milk) ถือไพ่เหนือกว่ามาตลอดในระหว่างการประกาศผลรางวัลของเหล่าสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลาย คนส่วนใหญ่คาดว่า SAG จะมอบรางวัลให้แก่เพนน์ แต่ถ้ารู้คยังคว้าชัยมาครองอีกครั้ง ความฝันที่จะได้ออสการ์ของเขาก็ถือว่าอยู่แค่เอื้อม

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคงได้เข้าชิงออสการ์แบบนิ่มๆ เช่นเดียวกับ แฟรงค์ แลนเกลล่า (Frost/Nixon) ส่งผลให้อีกสองตำแหน่งที่เหลือต้องเป็นการฟาดฟันกันระหว่าง แบรด พิทท์ (The Curious Case of Benjamin Button) คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino) ริชาร์ด เจนกินส์ (The Visitor) และ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Revolutionary Road) คนแรก เช่นเดียวกับภรรยาของเขา ได้เปรียบตรงการเข้าชิงลูกโลกทองคำและ SAG แบบครบถ้วน แถมยังได้กระแสหนังช่วยผลักดัน แต่ทักษะของเขาอาจถูกเทคนิคพิเศษขโมยซีน คนที่สองแม้จะไม่ได้เข้าชิงอะไรเลย แต่เขาชื่อ คลินท์ นามสกุล อีสต์วู้ด ฉะนั้น ออสการ์จึงไม่เคยมองข้าม สังเกตได้จากการหลุดเข้าชิงนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในช่วงโค้งสุดท้ายจาก Million Dollar Baby แม้เขาจะพลาดการเข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำและ SAG มาก่อนหน้า คนที่สามได้เข้าชิง SAG แต่ตัวหนังอาจเล็กเกินกว่าจะเรียกคะแนนเสียงจำนวนมากจากคณะกรรมการได้ ส่วนคนสุดท้ายอาจพลาดการเข้าชิง SAG แต่เขาเป็นหนึ่งในลูกรักออสการ์ระยะหลังๆ

สาขาที่เหมือนจะถูกเขียนบทไว้เรียบร้อยแล้ว คือ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ซึ่งชัยชนะบนเวทีออสการ์คงตกเป็นของ ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight) อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงแบบเดียวกับลูกโลกทองคำ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการแสดงอันน่าจดจำของเขา สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการจากไปก่อนเวลาอันควร และอีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเขาแทบจะปราศจากคู่แข่งระดับพระกาฬ โดยสองคนที่รับประกันการเข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Doubt) ซึ่งมีออสการ์อยู่แล้วจากการคว้าชัยเหนือเลดเจอร์ในสาขานักแสดงนำชายเมื่อสามปีก่อน และ จอช โบรลิน (Milk) ซึ่งต่อยอดจาก No Country for Old Men เมื่อปีก่อนได้อย่างยอดเยี่ยม

ส่วนอีกสองตำแหน่งที่เหลือ คงเป็นการงัดข้อกันอย่างสูสีระหว่าง โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Tropic Thunder) ไมเคิล แชนนอน (Revolutionary Road) เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky) และ เดฟ พาเทล (Slumdog Millionaire) ซึ่งน่าจะเกาะกระแสหนัง “ตัวเก็งอันดับหนึ่ง” เข้าชิงได้สำเร็จ แม้หลายคนจะวิจารณ์ว่าทักษะทางการแสดงของเขานั้นไม่ได้น่าประทับใจขนาดนั้น สาเหตุหลักที่เขาเบียดเข้าชิง SAG ได้สำเร็จ เพราะเหล่านักแสดง “หลงรัก” หนังเรื่องนี้อย่างหมดใจ และต้องการแสดงความรักให้ประจักษ์ชัดนอกจากการให้ Slumdog Millionaire เข้าชิงในสาขากลุ่มนักแสดงยอดเยี่ยม

ถึงแม้จะพลาดรางวัลลูกโลกทองคำ แต่เต็งหนึ่งสำหรับออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมยังคงเป็น เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona) ซึ่งกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบกระบุงโกย หาใช่ เคท วินสเล็ท (แต่คนหลังก็ยังมีโอกาสพลิกมาชนะอยู่เหมือนกัน หากกรรมการไม่อยากให้เธอต้องอกหักซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนกับกรณีของลูกโลกทองคำ) โดยอีกสามคนที่น่าจะได้เข้าชิงร่วมกันในสาขานี้ ได้แก่ ไวโอลา เดวิส (Doubt) ทาราจี พี. เฮนสัน (The Curious Case of Benjamin Button) และ มาริสา โทเม (The Wrestler) โดยคนหลังสุด แม้จะพลาดการเข้าชิง SAG แต่คาดว่าออสการ์จะแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว พร้อมกับผลัก เอมี่ อดัมส์ (Doubt) ให้หลุดจากวงโคจร

วันจันทร์, มกราคม 12, 2552

ความทุกข์ของคนดูหนังและอ่านหนังสือ


ผมยอมรับว่าตอนอ่าน ความสุขของกะทิ รอบแรก (จริงๆ ก็อ่านรอบเดียวแหละ) รู้สึกชอบพอควร แม้หลังๆ มานี้อาจไม่ค่อยกล้าบอกใครเท่าไหร่ เพราะการชอบอะไร “ป็อปๆ” มันไม่ฮิบ และหลายคนรอบข้างก็ดูเหมือนจะชิงชังความดัดจริตของมันเสียเหลือเกิน เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ผมชอบหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ ภาษาอันเรียบง่าย สวยงาม แต่ไม่สำบัดสำนวนจนเกินระดับสติปัญญาคนธรรมดาเยี่ยงผมจะเข้าใจได้เหมือนงานซีไรท์บางเล่ม เรื่องราวย่อยง่าย แต่แฝงปรัชญาการดำรงชีวิตอันจริงแท้เอาไว้ ตลอดจนความรู้สึกอบอุ่น น่ารัก และความเศร้าแบบไม่บีบเค้น แม้บางคนอาจมองว่าแห้งแล้ง ไม่ได้อารมณ์

รายละเอียดบางอย่างอาจตะขิดตะขวงใจผมอยู่บ้าง เช่น ฉากการสาบานต่อสวรรค์ของแม่ (เหมือน The End of the Affair จังเลย) ซึ่งไม่น่าเชื่อถือและดูเป็นการจงใจสร้างปมให้เรื่องราวมากไปหน่อย หรือความไฮโซจนน่าหมั่นไส้ของแม่กะทิ (จุดนี้อาจไม่ใช่ความผิด แต่เป็นอารมณ์ส่วนตัวล้วนๆ เหมือนเวลาอ่านข่าวแวดวงไฮโซในหน้าหนังสือพิมพ์นั่นแหละ) แต่มันเป็นรอยตำหนิเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมยินดีจะมองข้าม

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกดีของผมต่อหนังสือเล่มนี้กลับเลือนหายไปหมดระหว่างนั่งดูเวอร์ชั่นหนัง ทั้งที่มันก็ดำเนินเหตุการณ์ตามหนังสืออย่างซื่อสัตย์ (เกินไป?) จนทำให้ผมพาลนึกถึงหนังชุด Harry Potter ซึ่งดูเหมือนจะประสบชะตากรรมเดียวกัน

คำพูดบางประโยค เช่น ยายเก็บรอยยิ้มไว้อัดกระป๋องขาย หรือการอธิบายปรัชญาเกี่ยวกับต้นสนลู่เอนตามลม อาจพอกล้อมแกล้มเวลาเป็นตัวหนังสือ แต่การนำมันมายัดใส่ปากให้ตัวละครพูดกลับดูขัดเขิน แข็งขืน แม้จะได้นักแสดงมากประสบการณ์อย่าง สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ มาเป็นคนถ่ายทอดก็ตาม เหตุการณ์หลายอย่างที่ใส่เข้ามาก็ไม่ได้ช่วยให้เรื่องคืบหน้า หรือบอกกล่าวอะไรในเชิงลึกเกี่ยวกับตัวละคร เช่น เรื่องราวของเด็กหญิงจอมเกเร หรือ การมาเยือนของนักปั่นจักรยานชาวฝรั่งเศส (นอกจากจะช่วยเพิ่มสถานะไฮโซของยายว่าหล่อนหาใช่แค่แม่บ้านธรรมดา แต่เป็นชนชั้นกลางมีความรู้และเรียนจบนอก)

สุดท้าย ความสุขของกะทิ เวอร์ชั่นหนังจึงกลายเป็นความสวยงามที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ปราศจากอารมณ์ร่วมใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไคล์แม็กซ์ในหนังสือเกี่ยวกับการส่งจดหมายของกะทิ ซึ่งเมื่อมาปรากฏบนจอหนังกลับไม่อาจเรียกร้องความรู้สึกใดๆ จากคนดูได้เลย

ผมคาดหวังอยากให้หนังใส่ใจกับตัวละครรอบข้างกะทิมากขึ้น เช่น พี่ทอง หรือบรรดาน้าๆ ของเธอ โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มหลังซึ่งถูกจับโยนเข้ามาให้คนดูรู้จักแบบฉับพลัน จนยากที่เราจะมีอารมณ์ร่วมใดๆ ได้ เช่นเดียวกับพล็อตความรักระหว่างน้ากันต์กับน้าฎา ที่เริ่มต้นแบบไร้ที่มาที่ไป ก่อนสุดท้ายจะถูกโยนทิ้งอย่างไม่ใยดี (ถ้าหนังไม่มีเวลาจะพัฒนาพล็อตในส่วนนี้ การตัดมันออกไปเลยน่าจะดีกว่าไหม) นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกขัดใจกับการถ่ายทอดอาการป่วยไข้ของแม่กะทิให้ดูโรแมนติก งดงามดุจโศกนาฏกรรม (ผมเคยรู้สึกแบบเดียวกันนี้กับหนังอย่าง The Letter) จนกลายเป็นว่าเราไม่มีโอกาสสัมผัสแง่มุมอัปลักษณ์ของชีวิตอย่างแท้จริงเลย (ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญไม่ใช่หรือ หากหนังต้องการจะบอกให้เรามองหาความสุขจากสิ่งรอบตัว แม้โลกโดยรวมจะโหดร้าย หนักหนาสาหัสเพียงใด) ทุกอย่างช่างดูงดงามไปหมด แม้กระทั่งความตาย

ผมไม่แน่ใจว่าสาเหตุที่ผู้กำกับไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรจากหนังสือมากนักเป็นเพราะสถานะ “งานเขียนรางวัลซีไรท์ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า” ค้ำคออยู่หรือเปล่า (เครดิตหนังต้นเรื่องระบุชัดเจนว่าดัดแปลงจาก “นิยายรางวัลซีไรท์” ทั้งที่ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ) ถ้าใช่ นั่นก็ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะมองจากทักษะโดยรวมของตัวผู้กำกับแล้ว ผมเชื่อว่าเขามีศักยภาพอยู่พอสมควร... หากเพียงได้บทภาพยนตร์ที่แข็งแรงกว่านี้

วันศุกร์, มกราคม 09, 2552

หนังแห่งความประทับใจ

Eastern Promises เดวิด โครเนนเบิร์ก ยังคงท้าทายคนดูอย่างต่อเนื่อง การตั้งคำถามต่อเส้นกั้นบางๆ ที่เริ่มเลอะเลือนระหว่างความชั่วร้ายกับความดีงามถือเป็นประเด็นที่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้คนไทยในยุคนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดูควบคู่กับ A History of Violence แล้วจะยิ่งได้ภาพรวมที่หนักแน่น

Happy-Go-Lucky เป็นหนังตลกสุดของ ไมค์ ลีห์ อย่างไม่ต้องสงสัย โทนอารมณ์เบาสบาย (จนกระทั่งไคล์แม็กซ์ระดับห้าดาวในตอนท้ายเรื่อง) รวมถึงแง่มุมการมองโลกผ่านรอยยิ้มอาจทำให้หลายคนไม่ทันตั้งตัว เมื่อพิจารณาว่าผู้กำกับคนนี้เคยสร้างหนังโทนหม่นอย่าง Vera Drake และ All or Nothing มาก่อน แต่หากสังเกตให้ดีจะพบว่าหนังของลีห์มักสะท้อนความหวังต่อสถาบันครอบครัวและมนุษย์โดยรวมเสมอมา การปรากฏตัวขึ้นของ Happy-Go-Lucky จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก อันที่จริง มันถือเป็นการหักมุมทางอารมณ์ที่น่ายินดีและน่าชื่นชมหลังจากผลงานดราม่าหนักหน่วงอย่าง Vera Drake

No Country for Old Men หนึ่งในภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบจนแทบจะหาข้อติใดๆ ไม่ได้เลย ทั้งในเชิงเทคนิค เนื้อหา และอารมณ์โดยรวม เป็นผลงานที่น่าพอใจที่สุดของสองพี่น้องโคนนับจาก Fargo

Persepolis ถึงแม้จะเป็นการ์ตูนสองมิติที่ไม่ได้เน้นความสมจริงทางลายเส้นเลย (แถมยังใช้สีขาวดำเป็นหลักเสียอีก) แต่หนังเรื่องนี้กลับทำให้ผมหัวเราะทั้งน้ำตาได้มากกว่าหนังคนแสดงหลายๆ เรื่องด้วยซ้ำ หนังถ่ายทอดระดับการลิดรอนสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ (โดยเฉพาะเพศหญิง) ในประเทศอิหร่านผ่านอารมณ์หลายหลาก บางครั้งให้ความรู้สึกสยองจนขนหัวลุก บางครั้งก็น่าเศร้าชวนหดหู่ และบางครั้งกลับดูเหนือจริงจนน่าหัวเราะเยาะ... อะไรหนอทำให้มนุษย์เราคิดว่าตนเองดีกว่า เหนือกว่าคนอื่นๆ และอะไรหนอที่ทำให้มนุษย์เราหวาดกลัวความแตกต่างเสียเหลือเกิน

Wall-E ความบันเทิงแฝงสาระเป็นสิ่งที่คาดหวังจากพิกซาร์ได้เสมอ

นักแสดงชาย

เจมส์ แม็คอะวอย (Atonement) ถึงแม้รูปร่างจะไม่สูงใหญ่ มีกล้ามแน่นเป็นมัดๆ หรือหน้าตาหล่อเหลาดังเทพบุตร แต่เขาก็สามารถดูเท่ในแบบพระเอกโรแมนติกจากความมุ่งมั่น หนักแน่น และเด็ดเดี่ยวที่สะท้อนชัดในแววตา เจือไว้ด้วยความเศร้าสร้อยและผิดหวัง

เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky) หยาบกระด้างได้ใจในทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหน้าผม การพูดจา บุคลิกท่าทาง หรือทัศนคติการมองโลก แต่พอถึงฉากที่ต้องแสดงแง่มุมเปราะบาง อ่อนแอออกมา เขาก็สามารถทำให้คนดูนึกเห็นใจจนน้ำตาซึมได้อย่างไม่น่าเชื่อ การเปลี่ยนบุคลิกชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากชายหนุ่มชั่วร้าย รุนแรง และเกรี้ยวกราดขนาดฆ่าคนได้มาเป็นชายหนุ่มป่วยจิต คลั่งรักที่น่าสงสารและน่าสังเวชภายในชั่วพริบตา ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางการแสดงที่มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในหนังของ ไมค์ ลีห์

ทอมมี่ ลี โจนส์ (No Country for Old Men) ความอบอุ่น ดีงามท่ามกลางความชั่วร้าย มืดหม่น ใบหน้าของเขา น้ำเสียงเรียบลึกของเขาสะท้อนให้เห็นความเหนื่อยล้า เปี่ยมประสบการณ์ แต่ก็ยังไม่ขาดแล้งอารมณ์ขัน ช่างน่าสลดเพียงใดที่ในหนัง เขากลายเป็นเสมือนตัวแทนของโลกยุคเก่า เป็นตาแก่ที่กำลังจะไม่เหลือพื้นที่ให้อยู่บนโลกใบนี้

แบรด พิทท์ (Burn after Reading) เวลาคนหล่อมาทำอะไรบ้าๆ มันเลยฮาอย่าบอกใคร โดยระดับความโง่เง่าของตัวละครตัวนี้ถึงขั้นทำให้ โฮเมอร์ ซิมสัน กลายเป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไปเลย ที่สำคัญเขาดูเหมือนจะไม่สำเหนียกแม้เพียงนิดว่าตัวเองนั้นปัญญาอ่อนขนาดไหน เห็นได้จากฉากการเผชิญหน้ากันครั้งแรกของพิทท์กับ จอห์น มัลโควิช ซึ่งเป็นไฮไลท์ขายหัวเราะกันเลยทีเดียว (ถ้าไม่นับฉากเปิดตัวอุปกรณ์ “ลึกลับ” ของ จอร์จ คลูนีย์ หรือฉาก ทิลด้า สวินตัน นึกสงสัยดังๆ ว่าไอ้บ้าที่ไหนกันนะถึงคิดว่าต้นฉบับบันทึกชีวิตของผัวหล่อนเป็นของมีค่า ฯลฯ)

เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อีส (There Will Be Blood) เวลานักแสดงฝีมือระดับพระกาฬขนาดนี้ ได้รับบทดีๆ ที่ทั้งซับซ้อนและโดดเด่นขนาดนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมาเลยกลายเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม

นักแสดงหญิง

เอลเลน เพจ (Juno) ก้าวข้ามบทพูดที่เก๋ไก๋ ยอกย้อนเกินจริง แล้วพาตัวละครมานั่งอยู่ในหัวใจคนดูได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) เดินไต่บนเส้นลวดระหว่างน่ารักกับน่ารำคาญอย่างกล้าหาญ เสียงหัวเราะคิกคักของเธอสามารถเก็บไปหลอนได้อีกหลายวัน แต่เมื่อบทเรียกร้องให้ตัวละครต้องทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง เธอก็เผยให้เห็นให้เห็นความไม่แน่ใจและรอยร้าวแห่งโลกสีชมพูจนหมดเปลือก

เจ้าเหว่ย (Painted Skin) สวยสง่า นิ่งสงบ แต่แข็งแกร่งอย่าบอกใคร ฉากที่เธอเผชิญหน้ากับนางมารแบบไม่เกรงกลัว แถมยังยืดอกด้วยการเอาหัวตัวเองขึ้นเขียงเพื่อช่วยชีวิตสามี... ข้าน้อยขอคารวะ

เมอรีล สตรีพ (Mamma Mia!) แค่ได้ฟังเพลงฮิตหลากหลายของ ABBA ก็มีความสุขแล้ว แม้พล็อตเรื่อง (และตัวหนังโดยรวม) จะปัญญาอ่อนแค่ไหนก็ตาม ข้อดีอีกอย่างของ Mamma Mia! คือ การได้ เมอรีล สตรีพ มาแอ๊บแบ๊ว เริงร่าลืมอายุตัวเอง และไม่ห่วงภาพลักษณ์นักแสดงคุณภาพเอาซะเลย เสียงร้องของเธออยู่ในระดับหายห่วง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ เพียซ บรอสแนน ซึ่งสามารถทำให้ผมลุ้นเอาใจช่วยได้มากกว่าบทบาทของเขาในหนัง เจมส์ บอนด์ ทุกเรื่องเลยทีเดียว) ก่อนจะตบท้ายด้วยการ “ปล่อยของ” ในฉาก The Winner Takes It All ซึ่งกลายเป็นไฮไลท์ของหนังไปโดยปริยาย

กัญญา รัตนเพชร์ (ฝันหวานอายจูบ) ทำให้คำว่า “คุณหนู” กลายเป็นนิยามแง่บวก ใครก็ได้ช่วยสร้างหนัง (ทางที่ดีควรเป็นแนวทางตลก-โรแมนติก) ให้เธอรับบทเป็นนางเอกกับเขาเสียทีเถอะ

ความคิดเห็น

ปีนี้ดูเหมือนผมจะได้ดูหนังไทยเยอะขึ้น (ทำไมถึงชอบทรมานตัวเองนักก็ไม่รู้) แต่กลับไม่ประทับใจเรื่องใดมากเป็นพิเศษ กระนั้นขอบันทึกไว้ตรงนี้สักหน่อยว่า สามเรื่องที่ผมชื่นชอบมาก ได้แก่ Wonderful Town กอด และ สะบายดี หลวงพะบาง โดยเรื่องแรกจัดอยู่ในข่าย “หนังอาร์ต” เข้าฉายแบบจำกัด (มาก) ส่วนสองเรื่องหลังเป็นหนังสำหรับกระแสหลัก ดำเนินเรื่องตามสูตรสำเร็จของตลก-โรแมนติก แต่เปี่ยมรสนิยม ไม่หนักมือในส่วนของการเร้าอารมณ์เหมือนหนังไทยอีกหลายๆ เรื่อง หวังเพียงว่าในปีหน้า หนังบ้าๆ บอๆ จำพวก หลวงพี่เท่ง 2 หรือ เทวดาตกมันส์ จะลดปริมาณลง แล้วถูกแทนที่ด้วยหนังน้ำดีแบบสามเรื่องนี้... แต่เมื่อลองเปรียบเทียบรายได้ของ กอด กับ หลวงพี่เท่ง 2 แล้ว ท่าทางโอกาสที่ความหวังของผมจะกลายเป็นจริงคงริบหรี่เต็มที

วันจันทร์, มกราคม 05, 2552

คู่แท้ปาฏิหาริย์


ตอนเห็นตัวอย่าง ซูเปอร์แหบ-แสบ-สะบัด ผมอดไม่ได้ที่จะคิดถึงหนังเรื่อง 200 Pounds Beauty โดยในใจก็ได้แต่ภาวนา ขออย่าให้หนังมีเนื้อหาสไตล์เดียวกันเลย เพราะผมไม่อยากฟังคำสั่งสอนเกี่ยวกับ “คุณภาพ” มีคุณค่าเหนือ “ความงามภายนอก” จากค่ายเพลงอย่าง อาร์เอส โปรโมชั่น

โชคดีที่ ซูเปอร์แหบ-แสบ-สะบัด หลีกเลี่ยงความเหมือนในเชิงประเด็นกับ 200 Pounds Beauty ได้อย่างน่าประหลาดและน่ายินดี (กระนั้น หนังก็ยังอดไม่ได้ที่จะเปิดโอกาสให้ ฟิล์ม รัฐภูมิ ออกมาเทศนาคนดูในฉากหนึ่งว่าเสียงเพลงของตึ๋งนั้นจะอยู่คงทนไปอีกนานกว่าหน้าหล่อๆ ของต้อม... ตลกไหมล่ะ เมื่อพิจารณาจากสถานะของคนพูดในโลกแห่งความเป็นจริง)

อีกเรื่องที่แปลกประหลาด คือ หนังหลีกเลี่ยงฉาก “เฉลยความจริง” ต่อหน้ามิตรรักแฟนเพลงแบบเวอร์ชั่นหนังเกาหลีได้อย่างสวยงาม โดยในช่วงท้ายๆ ผมก็ได้แต่นั่งภาวนาอีกเช่นกัน ขออย่าให้ฉากดราม่าทำนองนั้นปรากฏขึ้นเลยเพราะผมไม่มั่นใจว่าผู้กำกับจะถ่ายทอดออกมาอย่างไร (แนวโน้มที่ได้รับความนิยมในแวดวงภาพยนตร์ไทย คือ เน้นการขยี้ ขย้ำ และบีบเค้นหัวใจจนเขียวช้ำในสไตล์ละครทีวี aka Happy Birthday) นอกจากนี้ ผมยังไม่มั่นใจด้วยว่า ฟิล์ม รัฐภูมิ (และเสียงแหบๆ เน้นเอาขำของเขา) จะพร้อมรับสถานการณ์หนักหน่วงแบบนั้นหรือไม่ (สังเกตจาก รักนะ 24 ชั่วโมง ผมว่าเขาน่าจะไปได้ดีกับบทตลก-โรแมนติกมากกว่าดราม่า)

ถึงแม้ทั้งต้อมและตึ๋งจะต่างมีโอกาสได้พบรักกับผู้หญิง แต่น้ำหนักของหนังดูเหมือนจะเอนเอียงไปยังความผูกพันระหว่างคนทั้งสองเสียมากกว่า (โฮโมอีโรติก?) ส่วนไคล์แม็กซ์ก็ให้ความรู้สึก ตลอดจนมีรูปแบบคล้ายคลึงกับไคล์แม็กซ์ของหนังโรแมนติกทั่วๆ ไป (นางเอกกับพระเอกขัดใจกัน ก่อนสุดท้ายจะหันมาเข้ามาใจกัน แล้วลงเอยด้วยการครองรักกันอย่างสุขสม) ตัวละครผู้หญิงถูกผลักให้กลายเป็นเพียงไม้ประดับที่ไม่สลักสำคัญ และเรื่องราวก็จบลงด้วยความเข้าใจกันระหว่างสองตัวละครชาย

นอกจากนี้ การที่หนังนำเสนอว่า เมื่อเสียงของตึ๋งกับหน้าตาของต้อมถูกนำมารวมกันแล้ว “ปาฏิหาริย์จะเกิด” (หรือกล่าวอีกนัย คือ กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์) ยังสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับ “ครึ่งที่หายไป” (ในหนังแทนด้วย “รองเท้าแตะ” ซึ่งต้องมีสองข้างถึงจะสมบูรณ์) อันเป็นแก่นหลักของอุดมคติแห่งความรักโรแมนติกด้วย (ว่ากันว่าบ่อเกิดของแนวคิดดังกล่าวมาจากลักษณะของเพศสัมพันธ์ ซึ่งฝ่ายหนึ่งต้องล่วงล้ำเข้าไปในร่างกายของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้เหมือนทั้งสองกลายเป็นคนๆ เดียวกัน)

อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์แหบ-แสบ-สะบัดกลับเลือกที่จะจบเรื่องราวด้วยการปิดตำนาน ตง ลี เฮ ท่ามกลางความพอใจของทุกฝ่าย โดยต้อมได้โชว์ลีลาการเต้นบนเวทีใหญ่ยักษ์ ส่วนบทเพลงของตึ๋งก็เข้าถึงหัวใจคนจำนวนมาก พวกเขาตระหนักในปาฏิหาริย์ และก็ถ่องแท้ว่ามันเป็นแค่ปรากฏการณ์ “ชั่ววูบ” เช่นเดียวกับอาการไข้หวัดของต้อม สุดท้ายแล้วเขาคนหนึ่งก็ต้องเสียงแหบ ส่วนอีกคนก็ต้องอัปลักษณ์อ้วนดำตลอดไป นั่นเป็นความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง มนุษย์เราล้วนไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ แต่ในความไม่เพอร์เฟ็กต์นั้น ทุกคนต่างสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว (อัตถิภาวนิยม?) หากตระหนักได้เช่นนั้น เราก็จะหยุดค้นหาคู่แท้หรือ “ครึ่งที่หายไป”

รักโรแมนติกอาจโบยบินมาชั่ววูบ แต่สุดท้ายก็จะจากไป เหมือนชื่อเสียงและความสำเร็จของตง ลี เฮ มันไม่ใช่การ “เติมเต็ม” ให้สมบูรณ์... เพราะการเติมเต็มที่ว่าควรจะเกิดขึ้นจากภายในมากกว่า เป้าหมายจึงหาใช่การค้นหารองเท้าแตะอีกข้าง แต่เป็นความกล้าที่จะสลัดทิ้งข้างที่คุณสวมใส่อยู่ต่างหาก แล้วก้าวเดินด้วยเท้าเปลือยเปล่าตามแบบที่คุณถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก และสุดท้ายย่อมต้องลาจากไปในสภาพนั้น