วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 25, 2552

Drag Me to Hell: ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ


ถึงแม้ตัวผู้กำกับ แซม ไรมี ซึ่งร่วมเขียนบท Drag Me to Hell กับพี่ชาย อีวาน ไรมี จะยอมรับว่าทุกอย่างเป็นเพียงเหตุบังเอิญที่เนื้อหาในหนังดันไปสอดคล้องกับภาวะวิกฤติทางการเงินในอเมริกาอย่างเหมาะเจาะ เพราะเขาเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับวิบากกรรมของพนักงานปล่อยเงินกู้เอาไว้ตั้งหลายปีมาแล้ว ก่อนจะเพิ่งนำมันมาดัดแปลงเป็นบทหนังโดยไม่ได้ใส่ใจกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่มากนัก (แน่ล่ะ ในฐานะผู้กำกับหนังไตรภาคชุด Spider-Man ที่ทำเงินทั่วโลกมากกว่าพันล้าน เขาคงไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะตกงาน หรือไม่มีปัญญาจ่ายค่าผ่อนบ้าน) ทว่าหลายคนคงอดนึกไม่ได้ว่า Drag Me to Hell ช่างเข้าฉายได้ถูกจังหวะเสียนี่กระไร หลังวิกฤติซับไพรม์เริ่มพ่นพิษไปทั่วโลก

น่าสนใจตรงที่ Drag Me to Hell ดูเหมือนจะนำเสนอมาตรวัดทางศีลธรรมแบบง่ายๆ และตรงไปตรงมาว่า ธนาคาร = ซาตานใจเหี้ยม ลูกหนี้ = เหยื่อผู้น่าสงสาร หรือพูดอีกอย่าง คือ ทุนนิยมทำให้มนุษย์ผุกร่อน โลภโมโทสัน และสุดท้ายย่อมลงเอยด้วยการตกนรกหมกไหม้ ดังจะเห็นได้จากบทสรุปของหนัง ตลอดจนความเห็นของไรมีต่อตัวละครหลักอย่าง คริสติน บราวน์ (อลิสัน โลห์แมน)(1) อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาเมื่อดูหนังจบ คือ สมควรแล้วหรือที่บาปทั้งหมดจะตกอยู่บนบ่าของคริสติน และสมควรแล้วหรือที่เธอต้องทนทุกข์กับการทรมานทั้งหลายเหล่านั้น

หากลองสมมุติสถานการณ์งัดข้อระหว่างคริสตินกับคุณนายกานุช (ลอร์นา ลาเวอร์) ว่าเป็นเหมือนกรณีตัวอย่างหนึ่งในร้อยในพันกรณี ซึ่งต่อมาค่อยๆ ทับถมจนสร้างปัญหาเศรษฐกิจระดับมหภาคให้แก่ประเทศอเมริกา เราจะพบว่าคริสตินไม่สมควรต้องรับการลงทัณฑ์ (จนสุดท้ายถูกกระชากลงนรก) จากการตอบปฏิเสธคำขอร้องของหญิงชรา เพราะพนักงานปล่อยกู้ที่รับผิดชอบต่อหน้าที่คนใดก็ย่อมกระทำแบบเดียวกัน จริงอยู่พฤติกรรมดังกล่าวอาจดูแล้งน้ำใจ ในเมื่อเจ้านายของเธอ (เดวิด เพย์เมอร์) ก็บอกแล้วว่าเธอสามารถตอบตกลงยอมผ่อนปรน (เป็นครั้งที่สาม) ได้ เธอมีอำนาจตัดสินใจเต็มที่ แต่กระนั้นเขาก็ไม่วายสื่อนัยอย่างเด่นชัดว่า หากต้องการเลื่อนตำแหน่ง เธอควรมีบุคลิกเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเฉกเช่นนักธุรกิจ ซึ่งย่อมต้องเห็นแก่ประโยชน์และผลกำไรของธนาคารเป็นหลัก... มันคือสัจธรรมแห่งโลกทุนนิยม แล้วที่สำคัญ แซม ไรมี ผู้กำกับที่เติบโตมาจากการสร้างสยองทุนต่ำ ก่อนจะไต่เต้าจนมากุมบังเหียนหนังสตูดิโอฟอร์มยักษ์ เชื่อจริงๆ หรือว่าความทะเยอทะยานในอาชีพการงานถือเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่คำสาปแช่ง ก่นด่า

การที่หญิงชรากำลังจะโดนยึดบ้านไม่ใช่ความผิดของคริสติน และการผ่อนผันเป็นหนที่สามก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ในเมื่อเห็นได้ชัดว่าหญิงชราสุขภาพไม่ดี และขาดรายได้ที่แน่นอน หรือวินัยทางการเงิน มิเช่นนั้นแล้วเธอจะมาขอผ่อนผันเป็นรอบที่สามไปทำไม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติซับไพรม์ในอเมริกามีรากฐานมาจากความโลภของนักลงทุน ตลอดจนสถาบันการเงินต่างๆ (2) ที่ตัดสินใจปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ขอกู้ที่มีความเสี่ยงสูง (เฉกเช่นคุณนายกานุช) เพราะพวกเขามั่นใจว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือหลักประกันที่ผู้กู้นำมาค้ำไว้จะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสามารถชดเชยความเสี่ยงได้ แต่หนึ่งในปัจจัยที่พวกเราส่วนมากมักจะมองข้าม คือ บรรดาลูกหนี้ทั้งหลาย กับพฤติกรรมนำเงินอนาคตมาใช้แบบเกินตัว (3) ของพวกเขา ทั้งนี้เพราะเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจเริ่มแผลงฤทธิ์ (ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ) จนลูกหนี้ต้องเสียบ้าน ถูกธนาคารยึดทรัพย์สิน มันเลยดูเหมือนว่าพวกเขาตกเป็น “เหยื่อ” จากสถานการณ์ทั้งหมด

พูดง่ายๆ ก็คือ อเมริกันชนจำนวนไม่น้อย รวมเลยไปถึงคุณนายกานุช อาศัยอยู่ในบ้านที่พวกเขาไม่มีปัญญาจ่าย ฉะนั้นถ้าธนาคารมีความผิดในข้อหาโลภโมโทสันจากการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้เครดิตต่ำเพื่อหวังดอกเบี้ยส่วนต่าง หรือค้ากำไรจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจกล่าวได้ว่าลูกหนี้เหล่านั้นก็โลภโมโทสันไม่แพ้กันที่ฝันอยากมีบ้านทั้งๆ ที่รายได้ของพวกเขาไม่เอื้ออำนวย (กรณีของคุณนายกานุชยิ่งถือเป็นเรื่องน่าประหลาด เมื่อพิจารณาถึงความผูกพันต่อบ้านหลังนี้ ซึ่งเธออ้างว่าไม่อยากเสียไปเพราะอยู่มานานหลายสิบปี และรากเหง้า “ยิปซี” ของเธอ)

กลับมายังคำถามก่อนหน้า แน่นอน คริสติน บราวน์ อาจไม่ใช่นางฟ้านางสวรรค์ แต่เห็นได้ชัดว่าบทลงโทษของเธอหนักหนาสาหัสเกินหน้า “ความผิด” ไปหลายเท่า (หากคุณเห็นว่าการไม่ยอมช่วยซื้อพวงมาลัยจากเด็กข้างถนนตามสี่แยก ทั้งที่คุณอยู่ในฐานะที่ช่วยได้ เป็นความผิด) บางคนอาจมองความไม่ชอบด้วยเหตุผลทางศีลธรรมดังกล่าวเป็นเหมือนจุดอ่อนสำคัญ ซึ่งข้อกล่าวหานั้นคงมีน้ำหนัก หากเราอยู่ในชั้นเรียนวิชาอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ หรือหนังในอดีตของไรมีที่เน้นวิพากษ์ระบบศีลธรรมของมนุษย์อย่าง A Simple Plan ตรงกันข้าม มองในเชิงทักษะทางภาพยนตร์แล้ว การที่คริสติน “ไม่สมควร” ถูกทรมานต่างๆ นานากลับกลายเป็นจุดแข็งที่โน้มน้าวคนดูให้คอยเอาใจช่วยเธอ นอกจากนี้ ข้อบกพร่องแห่งความเป็น “มนุษย์” ของเธอ (โกหกด้วยการป้ายความผิดให้เจ้านาย/ธนาคาร หวังจะเอาตัวรอดด้วยการยกคำสาปให้ผู้อื่น บูชายัญแมวน้อยน่ารัก) ยิ่งทำให้คนดูสามารถอินกับเธอได้มากขึ้นอีก (ใครบ้างจะไม่ทำ หรืออย่างน้อยก็คิดจะทำแบบเธอ หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน)

แม้ในคำสัมภาษณ์ ไรมีจะแสดงท่าทีชิงชังตัวละครอย่างคริสติน แต่ขณะเดียวกันบทหนังของเขากลับพยายามผลักดันให้เธอดูน่าเห็นอกเห็นใจผ่านหลากหลายสถานการณ์เชิงเมโลดราม่า ไม่ว่าจะเป็นการโดนพ่อแม่ของแฟนหนุ่มผู้ร่ำรวย (จัสติน ลอง) รังเกียจเดียดฉันท์เนื่องจากประวัติภูมิหลัง หรือการที่เธอกำลังจะโดนข้ามหัวในที่ทำงานเพียงเพราะคู่แข่งขัน (เรจจี้ ลี) เลียเจ้านายได้คล่องแคล่วกว่า และเมื่อมีโอกาสจะส่งต่อคำสาปไปยังคนอื่น (ที่สมควรยิ่ง) อย่างสตู เธอกลับไม่สามารถทำได้ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่าลึกๆ แล้วคริสตินไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำเสียทีเดียว

อันที่จริง คริสตินก็ไม่ต่างจากตัวละครส่วนใหญ่ในหนังสยองขวัญทั้งหลาย ซึ่งมักจะถูกกระทำรุนแรงในแบบที่พวกเขาไม่สมควรโดน (อาจยกเว้นเพียง ปารีส ฮิลตัน ใน House of Wax) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าตัวละครเพศหญิง โดยใครก็ตามที่เคยชม The Evil Dead ผลงานสร้างชื่อเรื่องแรกของไรมี คงไม่มีวันลืมฉากชวนสยองเมื่อหญิงสาวนางหนึ่งถูกต้นไม้ “ข่มขืน” จนสะบักสะบอม ใน Drag Me to Hell ไรมียังคงสนุกกับการ “ล่วงละเมิด” ตัวละครหญิง คราวนี้ผ่านทางช่องปาก ด้วยการให้สารพันสรรพสิ่งพากันหลุด/พยายามแทรกตัวเข้าไปในปากของคริสติน ตั้งแต่แมลงวัน น้ำยาอาบศพ ผ้าเช็ดหน้า ไปจนถึงแขนทั้งท่อน! อย่างไรก็ตาม การล่วงละเมิดใน Drag Me to Hell ยังสื่อนัยยะบางอย่างเพิ่มเติมด้วย เมื่อเราพิจารณาสถานะของผู้ข่มขืน (ตัวแทนของคนชั้นล่างผู้ยากไร้) กับผู้ถูกข่มขืน (ตัวแทนของทุนนิยม/ชนชั้นกลางในเมืองใหญ่) ตลอดจนการพลิกกลับตาลปัตรทางสถานะของพวกเขา (ฝ่ายหลังเริ่มต้นด้วยการ “ย่ำยี” ฝ่ายแรกก่อน จนต่อมาจึงถูกแก้แค้น) แง่มุมที่ว่าส่งผลให้หนังใกล้เคียงกับภาพยนตร์แนว Rape/Revenge เช่น Deliverance และ I Spit on Your Grave ซึ่งล้วนนำเสนอแนวคิดความขัดแย้ง/แบ่งแยกระหว่างเมือง-ชนบทเอาไว้อย่างเด่นชัดเช่นกัน

หนังปูพื้นให้เห็นว่าคริสตินเคยเป็นสาวบ้านนอกร่างอวบอ้วน แต่ปัจจุบันเธอต้องการจะ “กลมกลืน” กับแวดวงชนชั้นกลาง (แล้วปีนบันไดทางสังคมด้วยการคบหากับแฟนหนุ่มฐานะดี?) โดยในฉากหนึ่งคนดูจะเห็นเธอฟังเทปการฝึกออกเสียงเพื่อกำจัดสำเนียงชาวใต้ เธอไต่เต้าอยากเลื่อนตำแหน่ง เพราะคิดว่ามันน่าจะช่วยสร้างความประทับใจให้กับพ่อแม่ของแฟนหนุ่ม แต่ความพยายามจะฟันฝ่าเพื่อความก้าวหน้าทำให้เธอลืมนึกเมตตาหญิงชรา ผู้อาจสะกิดใจให้เธอนึกถึงอดีตอันยากลำบากที่เธออยากจะลืม ด้วยเหตุนี้ บางทีความผิดของคริสตินอาจไม่ใช่การปฏิเสธคำขอของคุณนายกานุช หากแต่เป็นการหลงลืมรากเหง้าของตัวเอง แล้วขายวิญญาณให้กับสังคมเมืองและระบบทุนนิยมต่างหาก

ตลอดทั้งเรื่อง แซม ไรมี พยายามช็อกคนดูด้วยสารพัดเสียงประกอบ ดนตรีเร้าอารมณ์ เมคอัพชวนแขยง ฯลฯ แต่ดูเหมือนเขาจะมาประสบความสำเร็จสูงสุดสมดังประสงค์เอาในฉากสุดท้าย เมื่อคริสตินสารภาพความจริงกับแฟนหนุ่มที่สถานีรถไฟ เธอยอมรับเป็นครั้งแรกโดยไม่อ้างกฎของธนาคาร หรือคำสั่งของเจ้านายว่าเธอสามารถจะผ่อนผันให้หญิงชราได้ แต่ก็ไม่ทำ มันเป็นความหาญกล้าที่ควรค่าแก่การตบรางวัลก้อนใหญ่ (เช่น ได้ลงเอยอย่างมีความสุขกับหนุ่มรูปหล่อ ฐานะดี แถมยังมีน้ำใจงาม) แต่ผลลัพธ์ซึ่งไรมีเตรียมไว้ให้เธอกลับอยู่สุดขั้วอีกด้านหนึ่ง ดุจเดียวกับชะตากรรมของ มาเรียน เครน ใน Psycho หลังเธอสำนึกผิดและตัดสินใจจะนำเงินที่ขโมยมาไปคืน หรือ แอชลีย์ วิลเลียมส์ ใน The Evil Dead หลังเขาคิดว่าสามารถทำลายอาถรรพ์แห่งหนังสือมนตร์ดำได้แล้ว

บทสรุปดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่าสำนึกแห่งบาปนั้นอาจไม่ได้ตามมาด้วยการให้อภัยและการเริ่มต้นใหม่เสมอไป ส่วนความดีก็อาจไม่ถูกตอบแทน และบางครั้งความชั่วร้ายฆ่าเท่าไหร่ก็ไม่ยอมตาย...

หมายเหตุ

1) “เธอเป็นตัวละครที่เลวทรามต่ำช้า แต่เธอคิดว่าตัวเองเป็นคนดี ผมหวังว่าคนดูก็จะเชื่อตามภาพลวงนั้นด้วยเพราะเธอมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คนดูสามารถเข้าถึงได้ เธอขยันไปทำงานทุกวัน เธออ่อนหวานกับคนรอบข้าง เธอมารยาทดี และมีเสน่ห์ดึงดูดใจ แต่เมื่อถูกต้อนให้จนตรอก เธอเลือกจะใจร้ายกับหญิงชราเพื่อประโยชน์ของตัวเอง บาปของเธอคือความโลภ และเธอก็หลบซ่อนอยู่หลังข้ออ้างว่าเป็นกฎของธนาคาร ผมจงใจทำให้หญิงชราหน้าตาน่าเกลียด เพราะผมอยากให้คนดูพูดว่า ‘ใช่แล้ว อย่าผ่อนผันแล้วรีบไล่หล่อนออกไป’ ผมหวังว่าเมื่อคนดูตัดสินใจร่วมกับเธอ พวกเขาจะรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นต่อมาสมควรจะเกิดขึ้นกับพวกเขาด้วย เพราะเราต่างพากันเห็นชอบการตัดสินใจของเธอ” (แปลและเรียบเรียงจาก Sam Raimi Interview for Drag Me to Hell โดย มาลิ เอล์ฟแมน วันที่ 27 พฤษภาคม 2009 ในเว็บไซท์ http://screencrave.com)

2) ปกติสถาบันการเงินทั่วไปจะไม่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้กลุ่มซับไพรม์ ซึ่งมีเครดิตทางการเงินต่ำกว่ามาตรฐาน (ขาดรายได้แน่นอน ผิดชำระหนี้บ่อย ฯลฯ) จึงมีการตั้งบริษัทอิสระมาปล่อยกู้แทน ส่วนเงินที่นำมาปล่อยกู้ก็ใช้วิธีออกตราสารหนี้ แล้วใช้อสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้นั่นแหละค้ำประกันตราสารหนี้อีกที หากมีปัญหาลูกหนี้ผิดชำระหนี้ บริษัทเหล่านั้นก็ขายอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้เพื่อนำเงินไปจ่ายคืนให้คนที่ซื้อตราสารหนี้ ปัญหาช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือ มีลูกหนี้ซับไพรม์เกิดขึ้นมาก เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการขายตราสารหนี้ออกไปทั่วโลก พอมาปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มไม่ค่อยดี ซับไพรม์เริ่มไม่จ่ายหนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ตกเอาตกเอา บริษัทที่ปล่อยกู้เลยเจอ 2 เด้ง เด้งแรก ถูกเบี้ยวหนี้ เด้งที่สอง อสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ราคาต่ำลง เงินเลยชักขาดมือ ไม่สามารถจ่ายเงินให้กับผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ผลก็คือ พวกที่ซื้อตราสารหนี้ซับไพรม์เหล่านี้ เช่น กองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ขาดทุนยับเยินจากตราสารหนี้ที่ถือไว้ (คัดลอกจากบทความ “ปัญหาซับไพรม์” คอลัมน์ เดินหน้าชน โดย เสาวรส รณเกียรติ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2550)

3) เมื่อราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาบันการเงินก็แข่งกันทำตลาดด้วยการเชิญชวนผู้กู้ให้มาใช้บริการกับตนเองโดยเสนอวงเงินกู้ที่สูงขึ้นตามราคาประเมินของบ้านที่เพิ่มขึ้น เช่น เดิมกู้ในวงเงิน 2 ล้านบาทเพื่อซื้อบ้านราคา 2.5 ล้านบาท อาจจะผ่อนไปบางส่วนจนเงินต้นเหลือ 1.8 ล้านบาท วันดีคืนดีผู้ให้กู้ใจดีเหล่านี้ก็มาเสนอวงเงินกู้ให้ 3 ล้านบาทตามราคาประเมินใหม่ ผู้กู้ก็ไม่รังเกียจเพราะได้เงินเพิ่มมาอีกตั้ง 1.2 ล้านบาท จึงไปกู้รายใหม่มาโปะรายเดิม แถมมีเงินเหลืออีก อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันทั้งหลายซึ่งเคยชินกับการใช้เงินอนาคตกลับนำเงินสินเชื่ออีก 1.2 ล้านบาทที่ได้เพิ่มมาไปใช้จ่าย ซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ทีวีจอแบนเครื่องใหม่ เครื่องเสียงสุดหรู รถยนต์คันใหม่ เพราะอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต หรือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (คัดลอกจากบทความ “ซับไพรม์พ่นพิษ หยุดเศรษฐกิจโลก” โดย ดร. วรัญญู สุจิวรพันธ์ วันที่ 25 ธันวาคม 2008 ในเว็บไซท์ http://www.vcharkarn.com)

วันจันทร์, มิถุนายน 22, 2552

ทำความเข้าใจ The Reader (2)


ถ้า The Reader ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสังหารหมู่ชาวยิว งั้นเนื้อหาจริงๆ ของมันต้องการพูดถึงอะไร

สิ่งที่เหมือนจะปรากฏเพียงนัยยะจางๆ ในหนังสือของ เบิร์นฮาร์ด ชลิงค์ ถูกแสดงออกเป็นรูปธรรมชัดเจนในเวอร์ชั่นหนังของ สตีเฟน ดัลดรี้ นั่นคือ ความพยายามจะเล่าเรื่องราวของคนสองคน ต่างยุคต่างสมัย ต่างเพศต่างวัย ต่างระดับการศึกษา การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม แต่สุดท้ายต้องมาลงเอยด้วยชะตากรรมสุดแสนระทมทุกข์แบบเดียวกัน (ในฉากหนึ่งหนังได้ตัดสลับภาพของสองตัวละครเอกขณะกำลังแต่งตัวเพื่อเตรียมไปรับฟังคำพิพากษาที่ศาล) ชะตากรรมซึ่งถูกกำหนดโดยความอ่อนแอ ขลาดเขลา และเย่อหยิ่งแห่งมนุษย์

ฉากสำคัญฉากหนึ่งในหนังสือเป็นบทสนทนาระหว่างไมเคิลกับพ่อ หลังจากคนแรกล่วงรู้ความลับของฮันนาและไม่แน่ใจว่าเขาควรจะทำเช่นไร คนหลัง (เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ในเวอร์ชั่นหนัง) แนะนำให้ไมเคิลไปพูดคุยกับ “เพื่อนคนนั้น” โดยตรง แทนที่จะนำข้อมูลไปบอกผู้พิพากษาลับหลัง เมื่อเห็นได้ชัดว่าคนๆ นั้นต้องการปกปิดข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับสุดยอด ทั้งนี้เนื่องจากเขา (พ่อของไมเคิล) เชื่อในเรื่องเสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ผู้มีอำนาจตัดสินใจในฐานะปัจเจกชน เขาไม่เห็นด้วยที่ใครจะไปเจ้ากี้เจ้าการบอกว่าอะไรดีสำหรับคนๆ หนึ่ง โดยไม่ปล่อยให้คนๆ นั้นเลือกเองว่าอะไรเป็นสิ่งดีสำหรับตัวเขา

ในเมื่อมนุษย์มีสิทธิ์เสรีภาพที่จะตัดสินใจ เขาก็จำเป็นต้องทนรับผลลัพธ์ที่ตามมา และบ่อยครั้งเราจะพบว่ามนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจถูกเสมอไป

ความไม่รู้หนังสือของฮันนาทำให้เธอถลำลึกสู่ความผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากสลัดทิ้งโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน ตามมาด้วยการเข้าร่วมกับกองทัพนาซี จนต่อมาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่สามารถสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใครได้ เพราะทั้งอับอายเรื่องที่ตัวเองไม่รู้หนังสือและเป็นอดีตนาซี ก่อนสุดท้ายจะลงเอยด้วยการ “จำยอม” ติดคุกไปตลอดชีวิต โดยบางทีชะตากรรมหลังสุดอาจเป็นความจงใจของเธอที่จะลงโทษตัวเอง ดังจะเห็นได้ว่าฮันนานั้นยังจำปม “ไฟไหม้โบสถ์” ได้ไม่ลืม ผ่านนัยยะของฉากหนึ่งที่ปรากฏในหนัง แต่ไม่ใช่ในหนังสือ ขณะเธอถีบจักรยานไปเที่ยวชนบทกับไมเคิล

กระนั้นก็ตามหนัง (และหนังสือ) ไม่ได้วาดภาพให้เธอ “สำนึกบาป” หรือพยายามจะหาทางไถ่โทษให้เธออย่างชัดเจนนัก ซึ่งนั่นถือเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่งของ The Reader คนดูอาจนึกสงสารเธอ (ซึ่งจุดนี้เองนำไปสู่เสียงก่นด่าจากทั่วสารทิศ ส่วนใหญ่คงเนื่องมาจากคนเหล่านั้นไม่ต้องการให้นาซีได้รับความเห็นอกเห็นใจใดๆ) แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจลืมได้เช่นกันว่าเธอก่ออาชญากรรมอันเลวร้ายไว้ ฮันนาในช่วงท้ายเรื่องไม่ได้กลายสภาพเป็นแม่พระ หรือถ้าจะให้ใกล้เคียงก็องคุลิมาน เมื่อไมเคิลถามเธอว่าคิดถึงอดีต (ที่ก่อกรรมไว้กับชาวยิว) บ้างไหม คำตอบของฮันนา คือ “คนตายก็ยังคงตายอยู่” ซึ่งนั่นเป็นสัจธรรม แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้ช่วยให้คนดูรัก หรือเห็นใจเธอมากขึ้น เช่นเดียวกับปฏิกิริยาอันเย็นชาของเหยื่อที่รอดชีวิตอย่าง ลานา มาเธอร์ (รับบทโดย ลีน่า โอลิน) ในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งเหมือนจะเป็นการตอกย้ำคนดูไม่ให้ลืมว่าฮันนาเคยกระทำอะไรไว้ และลำพังแค่ความตายของเธอ หรือเงินสะสมในกระป๋องชาย่อมไม่อาจลบล้างทุกสิ่งได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะพยายามหาคนผิดมาลงโทษมากแค่ไหน คนตายก็ยังคงตายอยู่... หรือมิใช่

วิกฤติของไมเคิลเริ่มต้นเมื่อเขาทราบว่าฮันนาก่ออาชญากรรมร้ายแรงเอาไว้ ความอับอายทำให้เขาไม่กล้าเผชิญหน้าเธอ (ปมดังกล่าวสร้างอารมณ์ร่วมให้ชาวเยอรมันรุ่นหลังจำนวนไม่น้อย เมื่อพวกเขาต้องรับมือกับข้อเท็จจริงว่าพ่อแม่ของตนมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ชาวยิว) แล้วช่วยเหลือเธอจาก “ความมืดบอด” การตัดสินใจไม่กระทำใดๆ ของไมเคิลส่งผลให้ฮันนาต้องจำคุกตลอดชีวิต และความรู้สึกผิดบาปดังกล่าวก็กัดกร่อนเขามาตลอด ทำลายความสัมพันธ์ของเขากับทุกคนรอบข้าง

เธอทำร้ายเขาด้วยการปิดกั้น เขาทำร้ายเธอด้วยการนิ่งเงียบ เธอเข้าร่วมพรรคนาซีเพราะตอนนั้นมันเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เขาไม่กล้าแสดงความเห็นใจต่อนาซีเพราะตอนนั้นนาซีเปรียบเหมือนปีศาจร้าย หรือกลุ่มแม่มดที่ถูกตามล่าเพื่อนำมาเผาประจานทั้งเป็น พวกเขาเสียสละความเป็นปัจเจก (ความรักระหว่างคนสองคน) เพียงเพื่อจะสามารถลื่นไหลไปตามสังคมโดยไม่ขัดแย้ง มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่อ่อนแอ เพราะแม้จะตระหนักว่าอะไรเป็นความถูกต้อง บางครั้งพวกเขาก็ไม่หาญกล้าพอจะลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้ หรือเปลี่ยนแปลง

กระนั้นคนเขียนบท เดวิด แฮร์ ก็ยังหลงเหลือความหวังต่อมนุษย์อยู่ ด้วยเหตุนี้ในฉากจบที่เขียนขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ คนดูจึงได้เห็นไมเคิลเรียนรู้จากฮันนา ผู้ลุกขึ้นมาเอาชนะความไม่รู้หนังสือของตน แล้วเปิดเผยความลับบางอย่างที่เขาปกปิดไว้ตลอดเวลาหลายปีให้ลูกสาวฟัง สำหรับฮันนา การเรียนรู้อาจมาถึงช้าเกินไป (เมื่อเธอตระหนักว่าไมเคิลไม่สามารถให้อภัยเธอ แล้วมองเห็นเธอเป็นแค่ ฮันนา ชมิดท์ เหมือนในอดีตได้ ความตายจึงกลายเป็นทางเลือกเดียว) แต่สำหรับไมเคิล บางทีการเรียนรู้อาจทำให้เขาค้นพบความสงบสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต