วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 23, 2554

X-Men: First Class: ปัจเจกนิยมที่แท้จริง


หลังจากต้องถอนตัวกะทันหันจากกองถ่าย X-Men: The Last Stand เนื่องด้วยปัญหาครอบครัว แม็ทธิว วอห์น ก็วิพากษ์ผลงานกำกับของ เบร็ท แรทเนอร์ ที่เข้ามาเสียบแทนเขาอย่างตรงไปตรงมาในแง่การขายแอ็กชั่นตามนโยบาย “ยิ่งมากยิ่งดี” (ตัวละครมากขึ้น เอฟเฟ็กต์มากขึ้น ความวินาศสันตะโรมากขึ้น) จนทำให้เรื่องราวสูญเสียพลังในส่วนดรามาและสมดุลทางด้านเนื้อหาไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ X2 ซึ่งสร้างมาตรฐานที่สูงลิ่วไว้ให้กับหนังชุดนี้ ก่อนจะตบท้ายว่าถ้าเป็นเขาทำ หนังต้องออกมาดีกว่านั้นแน่นอน!

อาจฟังดูน่าหมั่นไส้ และค่อนข้างขี้อวด แต่คำถากถางดังกล่าวพลันมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อวอห์นไม่ได้พูดเปล่า แต่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนด้วย X-Men: First Class ซึ่งผสานแอ็กชั่นเข้ากับดรามาได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำประเด็นที่ไม่มีวันล้าสมัยของการ์ตูนชุดนี้ (ตราบใดที่โลกมนุษย์ยังคงเต็มไปด้วยสงคราม ความขัดแย้ง และความเกลียดชัง) ผ่านสองเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ นั่นคือ สงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น

นักวิจารณ์บางคนขุ่นเคืองกับการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายกาจของ “วิกฤติคิวบา” บางคนกระแนะกระแหนฉากหลังย้อนยุคว่าเกิดขึ้นเพียงเพราะทีมงานต้องการเล่นสนุกกับเสื้อผ้าหน้าผมอันเปี่ยมเอกลักษณ์ของยุค 1960 เท่านั้น แต่หากพิจารณาในแง่เนื้อหา การชักนำเหตุการณ์จริงมาเกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ หรือฉาบฉวย ในทางตรงกันข้าม มันช่วยเติมน้ำหนักให้ประเด็นเกี่ยวกับอคติ ความหวาดกลัวความแตกต่าง และการเฉลิมฉลองปัจเจกภาพ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของหนังและการ์ตูนชุด X-Men

ถ้าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แสดงให้เห็นอคติต่อรูปกายภายนอก (ยิว-อารยัน) สงครามเย็นก็คงสะท้อนให้เห็นอคติต่อแนวคิดภายใน (ประชาธิปไตย-สังคมนิยม) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงสองแนวทางสุดฮิตในการวิเคราะห์เนื้อหาซ่อนเร้นระหว่างบรรทัดของหนังชุด X-Men ได้แก่ ประเด็นสีผิว (ภายนอก) และรักร่วมเพศ (ภายใน)

จริงอยู่ว่ามนุษย์กลายพันธุ์ใน X-Men อาจหมายถึง “ชนกลุ่มน้อย” ทุกรูปแบบที่ถูกกดดันจากสังคมให้รู้สึกด้อยค่า หรือผิดปกติ แต่เมื่อถ่ายทอดผ่านวิสัยทัศน์ของผู้กำกับเกย์อย่าง ไบรอัน ซิงเกอร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เหล่ามนุษย์กลายพันธุ์จะดึงดูดอารมณ์ร่วมของชาวสีม่วงได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในหนังเรื่อง X2 ซึ่งมีฉากตัวละคร coming out กับพ่อแม่ ในภาคล่าสุด แม็ทธิว วอห์น ได้สานต่อนัยยะดังกล่าวไปอีกระดับขั้นผ่าน “bromance” ระหว่าง เอริค (ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์) กับ ชาร์ลส์ (เจมส์ แม็คอะวอย) เมื่อคนหนึ่งมีปมรักแม่ ส่วนอีกคนอาจชอบจีบหญิงตามผับบาร์ แต่ไม่เคยได้แอ้มใครสักคน ที่สำคัญ เขายังไม่แยแสเสน่ห์ทางเพศของสาวสวยอย่างเรเวน (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) และกระอักกระอ่วน เมื่อเห็นเรือนร่างเปล่าเปลือยของเธอ (น่าสังเกตว่าชะตากรรมของชาร์ลส์ที่ต้องมาลงเอยบนรถเข็น ในแง่หนึ่ง บ่งบอกบุคลิกสำคัญของรักร่วมเพศ นั่นคือ ความไม่สามารถผลิตลูกหลานสืบสกุล)

นอกจากนี้ ชาวเกย์คงอดยิ้มไม่ได้กับอารมณ์ขันในบางฉาก เช่น เมื่อชาร์ลส์เผลอ “out” แฮงค์ (นิโคลัส ฮอลท์) โดยบังเอิญต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน (“ก็คุณไม่ได้ถาม ผมเลยไม่ได้บอก”) หรือการใช้วลีอย่าง “mutant and proud” ซึ่งอ้างอิงไปยัง “out and proud” วลีที่เหล่านักต่อสู้เพื่อสิทธิแห่งรักร่วมเพศนิยมใช้

สำหรับชาร์ลส์ มันอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะยอมรับความแตกต่างของตัวเอง เพราะโดยรูปกายภายนอกเขาสามารถกลมกลืนเข้ากับคนทั่วไปได้โดยไม่มีใครสังเกตเห็น (masculine gay?) แต่สำหรับแฮงค์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรเวน พวกเขาจะต้อง “สวมหน้ากาก” เพื่อหลบเลี่ยงสายตาดูแคลน หรือรังเกียจเดียดฉันท์ คนแรกปรารถนาจะเป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มใหญ่ ส่วนคนหลังปรารถนาจะใช้ชีวิตโดยไม่ต้องปกปิด “ตัวตนที่แท้จริง” นั่นเป็นแรงผลักดันให้คนแรกหมกมุ่นผลิตยากำจัดดีเอ็นเอตัวการที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ และดึงดูดคนหลังให้หันไปเข้าพวกกับเอริค เพราะเขาดูจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจความรู้สึกของเธอ

มองเผินๆ ในชั้นแรก เอริคนำเสนอความชอบธรรมผ่านการเชิดชูปัจเจกภาพ ผลักดันให้เรวินเลิกอับอายตัวตนที่แท้จริง และกล้าพอจะยอมรับความแตกต่างของตนเอง แต่คำถามที่ตามมา คือ ทั้งหมดนั้นตอบสนองแรงปรารถนาในเบื้องลึกของเรเวนได้จริงหรือ เธอแค่ต้องการจะเป็นตัวของตัวเอง หรือต้องการจะเป็นที่รักโดยไม่ต้องสวมหน้ากากกันแน่ นี่เองเป็นปมที่เอริคตระหนัก และใช้มันเป็นเครื่องมือล่อลวงเธอให้เข้าพวก เขาชอบเธอในมาดสีฟ้าและผิวเป็นเกร็ดจริงๆ หรือแสร้งทำเช่นนั้นเพียงเพื่อแยกเธอจากชาร์ลส์กับแฮงค์ ผู้มองโลกตามความเป็นจริงว่าถึงแม้มนุษย์และมนุษย์กลายพันธุ์จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดอง แต่สุดท้ายแล้ว ตีนโตๆ ของแฮงค์ และผิวสีฟ้าของเรเวน ก็ไม่มีทางจะถูกมองว่าเป็น “ความงาม” อยู่ดี แม้กระทั่งในหมู่มนุษย์กลายพันธุ์ด้วยกันเอง... นอกเสียจากเราจะกวาดล้างมาตรฐานความงามแบบดั้งเดิมออก แล้วสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เอริคปรารถนา และเป็นสิ่งที่ชาร์ลส์ต่อต้าน

เมื่อมองให้ลึกลงไปจะพบว่า อุดมคติของเอริค รวมถึง เซบาสเตียน (เควิน เบคอน) หาได้สนับสนุนปัจเจกนิยมอย่างแท้จริง เพราะทั้งสองมองว่ามนุษย์กลายพันธุ์ “เหนือกว่า” มนุษย์ธรรมดา และฝ่ายหลังสมควรถูกกำจัดเพื่อเปิดทางให้กับวิวัฒนาการใหม่... ความยอกย้อนของชะตากรรมอยู่ตรงเอริคเป็นเหยื่อที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่แนวคิดของเขากลับสอดคล้องกับนาซี และชายที่เขาชิงชังอย่างเซบาสเตียน

ความสุดโต่งของเอริค หรือ แม็กนีโต ผู้เชื่อในคติรวมหมู่ (collectivism) เหนือปัจเจกนิยม (individualism) ปรากฏชัดในหนังเรื่อง X-Men: The Last Stand เมื่อเขายึดความมั่นคงของกลุ่มมนุษย์กลายพันธุ์เหนือปัจเจกภาพ และเปิดสงครามเต็มรูปแบบกับมนุษย์ รวมถึงเหล่ามนุษย์กลายพันธุ์คนใดก็ตามที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตแบบ “ปกติ” หลังมีการค้นพบยาที่จะแก้ไขดีเอ็นเอกลายพันธุ์ ความหวาดกลัวว่าจะถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมส่งผลให้แม็กนีโตมองมนุษย์กลายพันธุ์ที่ต้องการฉีดยารักษาว่าเป็น “คนทรยศ” และปฏิเสธสิทธิในการเลือกของแต่ละคน (น่าสังเกตว่าฉากหลังของหนัง คือ ซานฟรานซิสโก นครแห่งรักร่วมเพศ ขณะที่พล็อตดังกล่าวก็เปรียบเหมือนกระจกสะท้อนปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักต่อสู้ชาวเกย์กับค่ายคริสเตียนที่เสนอทางเลือกว่าสามารถรักษาอาการรักร่วมเพศได้)

ในส่วนประเด็นสีผิว มีการพูดเปรียบเทียบมาเนิ่นนานแล้วว่า ศาสตราจารย์เอ็กซ์ คือ ตัวแทนการต่อสู้ด้วยสันติวิธีแบบเดียวกับ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ส่วน แม็กนีโต คือ ตัวแทนการต่อสู้ด้วยความรุนแรงแบบเดียวกับ มัลคอล์ม เอ็กซ์ คนหนึ่งเจริญรอยตาม มหาตมะ คานธี อีกคนหนึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของสารคดีเรื่อง The Hate That Hate Produced คนหนึ่งวาดฝันถึงสังคมบอดสี อีกคนเชื่อว่าคนผิวดำ “เหนือกว่า” เชื้อชาติอื่นๆ (black supremacy) คนหนึ่งยืนอยู่ข้าง “ความสงบสุข” ส่วนอีกคนยืนอยู่ข้าง “ความโกรธแค้น”

และแน่นอน แม็ทธิว วอห์น ไม่ลืมที่จะสะกิดคนดูให้ตระหนักถึงแง่มุมดังกล่าวผ่านการใส่ตัวละครผิวดำเข้ามาในเรื่อง และตัดไปยังภาพโคลสอัพใบหน้าเขา เมื่อเซบาสเตียนพูดคำว่า “ตกเป็นทาส”

สำหรับเซบาสเตียนและเอริค ทางออกต่อความขัดแย้งมีเพียงสองทางเท่านั้น คือ ไม่ตกเป็นทาส ก็ต้องลุกฮือขึ้นมาเป็นผู้นำ การอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองไม่ใช่ทางเลือก เพราะพวกเขาไม่เคยเชื่อ หรือศรัทธาในมนุษย์ นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เมื่อพิจารณาจากอดีตอันโหดร้ายของเอริค ภายใต้การกระทำย่ำยีโดยมนุษย์ที่ก้มหน้า “รับคำสั่ง” โดยปราศจากสามัญสำนึกที่จะตระหนักถึงปัจเจกภาพและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่ทหารนาซีในช่วงสงครามโลกมาจนถึงทหารเรือของกองทัพสหรัฐและโซเวียตในช่วงสงครามเย็น (น่าตลกตรงที่ทั้งสองแยกเขี้ยวจะยิงระเบิดนิวเคลียร์ใส่กันอยู่รอมร่อ แต่ทันทีที่ปรากฏ “ภัยคุกคาม” ใหม่ พวกเขากลับหันมาจับมือสามัคคีกันได้อย่างรวดเร็ว)

ความเกลียดชังได้บ่มเพาะความเกลียดชัง แล้วสืบสานต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด จนเข้าครอบงำเอริคให้เบี่ยงเบนจากอุดมคติดั้งเดิมของตน นั่นคือ กำจัดอคติเหมารวม เพื่อให้มนุษย์กลายพันธุ์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเปิดเผยและภาคภูมิใจ ความเชื่อว่าชนกลุ่มน้อยของตนยิ่งใหญ่กว่า พิเศษกว่า ทรงพลังกว่า ทำให้เอริค “นิยาม” ปัจเจกชนผ่านการรวมหมู่ จัดแยกแบ่งกลุ่มโดยคำนึงถึงแค่แง่มุมเดียวเท่านั้น นั่นคือ การกลายพันธุ์ (ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงสามารถแทนที่ได้ด้วย สีผิว เชื้อชาติ รสนิยมทางเพศ ความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ) เขาภาคภูมิใจในสายพันธุ์จนมองเห็นทุกคน แม้กระทั่งในกลุ่มเดียวกัน ที่คิดเห็นแตกต่างว่าเป็นศัตรู

สุดท้ายเอริคก็ไม่แตกต่างจากเหล่ามนุษย์ปกติที่เขาชิงชังเท่าใดนัก เขา เห็นว่าการเป็นหรือไม่เป็นมนุษย์กลายพันธุ์ คือ ความสำคัญหนึ่งเดียว และแต่ละคนสมควรถูกเชิดชู/ประณามตามมาตรฐานนั้น โดยไม่เหลือพื้นที่ ไว้สำหรับปัจเจกนิยม ตลอดจนความคิดที่ว่ามนุษย์ควรถูก “นิยาม” ผ่านการเลือกของแต่ละคน และตัวตนของเราก่อร่างขึ้นจากการเลือกเหล่านั้น หาใช่พลังเหนือความควบคุม เช่น กรรมพันธุ์ หรือวัฒนธรรมความเชื่อจากกลุ่มต่างๆ

มนุษย์ที่กำลังยืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและสงครามน่าจะอินกับหนังอย่าง X-Men: First Class ได้ไม่ยาก และการที่หนัง รวมถึงการ์ตูนต้นฉบับ วาดภาพแม็กนีโตให้เป็นคนร้ายก็บ่งบอกชัดเจนถึงจุดยืนในการแก้ปัญหาของทีมผู้สร้าง เพราะความรุนแรงไม่เคยนำมาซึ่งสันติภาพที่แท้จริง มันอาจยุติไฟแค้นได้เป็นครั้งคราว แต่ในเวลาเดียวกันก็บ่มเพาะความเกลียดชังให้แพร่กระจาย รอวันที่ประกายไฟจะถูกจุดติดขึ้นมาอีกครั้ง แน่นอน หนทางที่ถูกต้องไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องอาศัยความอดทนและการเสียสละขั้นสูง แต่ในบั้นปลายจะนำมาซึ่งความสงบสุข ทั้งภายในและภายนอก... น่าเสียดายที่มนุษย์ส่วนใหญ่มักเลือกหนทางที่ง่ายดายแทนหนทางที่ถูกต้องเสมอ

วันอังคาร, มิถุนายน 21, 2554

Cannes 2011: God and Monster


เทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 64 เริ่มต้นด้วยการสร้างประวัติศาสตร์ เมื่อผลงานของผู้กำกับหญิงทำสถิติเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำมากสุด (4 เรื่องจากทั้งหมด 20 เรื่อง) ประกอบไปด้วย We Need to Talk about Kevin ของ ลินน์ แรมเซย์ (อังกฤษ) Sleeping Beauty ของ จูเลีย ลีห์ (ออสเตรเลีย) Polisse ของ เมเวน เลอ เบสโก (ฝรั่งเศส) และ Hanezu no tsuki ของ นาโอมิ คาวาเสะ (ญี่ปุ่น) ทั้งหมดอาจเป็นแค่ความบังเอิญ หรือบางทีคานส์ต้องการแก้ไขข้อผิดพลาดจากปีก่อน ที่ไม่มีผลงานของผู้กำกับหญิงสักคนในสายการประกวด

Sleeping Beauty สร้างกระแสฮือฮาก่อนฉายได้พอสมควรจากพล็อตเรื่องสุดสวิง (นักศึกษาสาวถูกชักจูงเข้าไปทำงานในซ่องไฮโซ โดยเธอจะโดนวางยาให้หมดสติขณะ “รับแขก”) และแรงผลักดันของ เจน แคมเปี้ยน ผู้กำกับหญิงคนเดียวที่เคยได้รางวัลปาล์มทองคำจาก The Piano แต่เมื่อหนังเข้าฉาย (ตั้งแต่วันแรก) เสียงตอบรับกลับค่อนข้างก้ำกึ่ง บ้างก็ชื่นชมในความกล้าหาญ น่าค้นหา บ้างก็บอกว่ามันเย็นชา น่าเบื่อ แต่นั่นก็ถือว่ายังโชคดีกว่าชะตากรรมของ Hanezu no tsuki ซึ่งโดนสับเละชนิดแทบจะเป็นเอกฉันท์

หนังใหม่ของ ลินน์ แรมเซย์ กวาดคำชมมาได้พอควร จนหลายคนกะเก็งกันว่า ทิลดา สวินตัน อาจคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครอง (แต่สุดท้ายกลับโดน เคิร์สเตน ดันส์ ปาดหน้าเค้ก) สุดท้ายแล้วในบรรดา 4 เรื่อง ผลงานที่คว้ารางวัลมาครองแบบเหนือความคาดหมาย คือ Polisse (รางวัลหนังยอดเยี่ยมอันดับสาม) ซึ่งเล่าถึงชีวิตของเหล่าตำรวจในแผนกพิทักษ์เด็กและเยาวชน หนังได้รับคำวิจารณ์ไม่ค่อยสู้ดีนัก แต่ทีมคณะกรรมการภายใต้การนำของ โรเบิร์ต เดอ นีโร กลับเห็นต่างจากเหล่านักวิจารณ์ แบบเดียวกับเมื่อครั้งที่ บริลันเต้ เมนโดซา คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมาครองจาก Kinatay (ปีนั้น ประธานการตัดสิน คือ อิสซาเบล อูแปรต์)

ก่อนหน้าเทศกาลจะเริ่มต้น หนังที่ทุกคนจับตามองและคาดหวังว่าอาจลงเอยด้วยการคว้ารางวัลใหญ่มาครอง คือ The Tree of Life ซึ่งตอนแรกมีโปรแกรมเข้าฉายเมื่อปีก่อน แต่เนื่องจากคุณชายละเอียดอย่าง เทอร์เรนซ์ มาลิค ปิดงานไม่เสร็จตามกำหนด มันจึงถูกเลื่อนมาฉายปีนี้แทน ในรอบพรีเมียร์ หนังได้ทั้งเสียงโห่และเสียงปรบมือคละเคล้ากันไป แต่ส่วนใหญ่ล้วนเห็นตรงกันว่ามันทะเยอทะยานในแง่เนื้อหา การนำเสนอ (เข้าใกล้ความเป็นหนังทดลองมากสุดสำหรับมาลิค) ขณะเดียวกันก็ยังคง “เครื่องหมายการค้า” ไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะงานกำกับภาพอันวิจิตรบรรจง

เสียงร่ำลือว่าคนเดียวในกลุ่มกรรมการที่ชื่นชอบ The Tree of Life แบบออกนอกหน้า คือ โอลิเวียร์ อัสซายาส ทำให้บางคนเริ่มคาดการณ์ว่าหนังอาจกลับบ้านมือเปล่า ผนวกกับข้อเท็จจริงที่ว่ากรรมการหลายคนเป็นนักแสดง (นอกจากประธานเดอ นีโร แล้ว ก็มี อูมา เธอร์แมน กับ จู๊ด ลอว์) และคงไม่ปลื้มกับ “หนังผู้กำกับ” แบบ The Tree of Life มากนัก แต่เมื่อผลรางวัลออกมา ปรากฏว่ากระแสเห่อมาลิคยังคงเข้มข้นดีอยู่ (ก่อนหน้านี้ เขาเคยได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมที่คานส์จาก Days of Heaven และรางวัลหนังยอดเยี่ยมที่เบอร์ลินจาก The Thin Red Line) แน่นอน มาลิคก็ยังคงเก็บตัวและไม่ออกสื่อเหมือนเคย เขาไม่ได้ขึ้นรับรางวัล (ผู้อำนวยการสร้างของหนังขึ้นรับรางวัลแทน) แต่หลายคนจับภาพได้ว่ามาลิคแอบดอดมาร่วมงานวันปฐมทัศน์ ก่อนจะรีบหลบออกไปเมื่อถึงช่วงเวลา Q&A

แม้จะกำกับหนังเพียงไม่กี่เรื่อง (ช่องว่างระหว่างหนังเรื่องที่สอง Days of Heaven และหนังเรื่องที่สาม The Thin Red Line ห่างกันถึง 20 ปี) แต่ เทอร์เรนซ์ มาลิค สั่งสม “แฟนคลับ” ได้จำนวนไม่น้อยตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีในวงการ หลายครั้งหนังของเขาถูกนำไปเปรียบกับประสบการณ์ทางศาสนา เพราะมันเน้นอารมณ์ บรรยากาศ ผ่านการเล่าเรื่องแบบอ้อยอิ่ง นิ่งเรียบ และแก่นหลักสะท้อนปรัชญาอันลึกซึ้ง ยิ่งใหญ่ ชวนให้ค้นหา ซึ่งยิ่งเข้มข้นขึ้นอีกระดับ เมื่อตัวผู้กำกับไม่นิยมให้สัมภาษณ์ หรืออธิบายความหมาย หรือกระทั่งบอกเล่าชีวิตส่วนตัวออกสื่อ แต่ปล่อยให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์

ถ้า เทอร์เรนซ์ มาลิค ถูกยกย่องจนมีสถานะไม่ต่างกับพระเจ้า (นักวิจารณ์บางคนเคยเชื่อมโยงให้เห็นว่าผลงานของเขาเปี่ยมนัยยะเกี่ยวกับศาสนาและคริสตจักรค่อนข้างมาก) ตัวแทนด้านตรงกันข้ามก็คงมีหน้าตาประมาณ ลาร์ส ฟอน เทรียร์ (ผู้เคยประกาศผ่านเครดิตหนังเรื่องก่อนหน้าว่า Lar von Trier: Antichrist) ซึ่งผลงานมักแบ่งแยกนักวิจารณ์เป็นสองฝ่าย คือ ไม่เกลียด ก็รักไปเลย โดยความสุดโต่งของหนังเขาอาจเป็นผลมาจากบุคลิกแรงๆ และชอบเรียกร้องความสนใจของผู้กำกับ จนทำให้เขาตกเป็นข่าวอื้อฉาวตามหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกครั้งที่อ้าปากให้สัมภาษณ์ หนึ่งในนั้นก็เช่น การประกาศว่าตนเป็น “เป็นผู้กำกับที่ดีที่สุดในโลก” กลางเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อสองปีก่อน

แต่ปรากฏการณ์ “ปากพาจน” ของ ฟอน เทรียร์ ดำเนินมาถึงจุดสุดยอดในคานส์ปีนี้ เมื่อความพยายามจะกลบเกลื่อนมุกฝืดแบบไม่สิ้นสุดค่อยๆ ชักนำผู้กำกับชาวเดนมาร์กสู่ห้วงเหวลึก แล้วลงเอยด้วยการหลุดปากพูดกลางงานแถลงข่าวว่า “ผมเพิ่งค้นพบความจริงว่าผมเป็นนาซี ครอบครัวผมเป็นคนเยอรมัน จะพูดยังไงดี ผมเข้าใจฮิตเลอร์... จะว่าไปผมก็นึกเห็นใจเขาอยู่เหมือนกัน” (ถ้าใครเห็นคลิปการให้สัมภาษณ์คงสังเกตเห็นใบหน้าเหวอรับประทาน ของ เคิร์สเตน ดันส์ ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ และท่าทางอึดอัดอย่างเห็นได้ชัดของเธอ)

เหตุการณ์ที่ตามมาในวันรุ่นขึ้นต้องเรียกว่า “นรกแตก”

ฟอน เทรียร์ ออกมากล่าวขอโทษ และให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ได้หมายความเช่นนั้นตรงตามตัวอักษร มันเป็นแค่มุกตลก แต่สายเกินไป เพราะสื่อมวลชนบางค่าย รวมถึงกรรมการบริหารของคานส์ได้เกิดอาการ “ต่อมจริยธรรมแตก” ไปแล้ว และฝ่ายหลังก็ประกาศแบน ลาร์ส ฟอน เทรียร์ อย่างเป็นทางการ (คำที่ถูกนำมาใช้ คือ persona non grata หรือ บุคคลที่ไม่เป็นที่ต้องการ หรือไม่เป็นที่ต้อนรับ) กล่าวคือ เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงาน หรือเดินพรมแดง รวมถึงการประกาศรางวัล (ภายในระยะ 100 เมตร) แต่ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าหนังของเขาจะถูกแบนด้วยหรือไม่ (ดูจากสถานการณ์แล้ว คงไม่เลวร้ายไปถึงขั้นนั้น เพราะ Melancholia ก็ไม่ได้ถูกตัดจากสายการประกวด แถมยังคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงมาครอง)

หลังความวุ่นวายชนิดที่เรียกว่าขโมยซีน The Tree of Life แบบหมดจด ฟอน เทรียร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกเสียใจกับความเสียหาย (ต่อชื่อเสียงของเทศกาล) ที่เกิดขึ้นจากคำพูดของเขา “สิ่งที่ผมพูดมันโง่เขลามาก แต่ผมไม่ใช่ เมล กิ๊บสัน... ผมแค่ต้องการบอกว่าผมพอจะจินตนาการสถานการณ์ของฮิตเลอร์ในบังเกอร์ออก ไม่ใช่ว่าผมอยากจะทำแบบเดียวกับเขา” เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจาก Dancer in the Dark กล่าว “ผมหวังว่าหนังของผมจะไม่ถูกแบนจากเทศกาล เพราะต่อให้ผมเป็นฮิตเลอร์ และขอย้ำอีกทีว่าผมไม่ใช่ แต่ต่อให้ผมเป็นฮิตเลอร์ และผมสร้างหนังชั้นยอด คานส์ก็ควรจะเลือกมันมาฉาย”

บางทีนับจากนี้ต่อไป ลาร์ส ฟอน เทรียร์ น่าจะหันมาลองใช้กลยุทธ์เดียวกับ เทอร์เรนซ์ มาลิค ดูบ้างด้วยการหุบปากเงียบ แล้วปล่อยให้ผลงานเป็นคนพูดแทน

10 หนังเด่น

The Artist: นี่เป็นหนังที่ใครก็คงเกลียดไม่ลง เพราะทั้งเรื่องล้วนอบอวลไปด้วยอารมณ์ขัน การมองโลกในแง่ดี และความรู้สึกถวิลหาอดีต เล่าถึงจุดตกต่ำของซูเปอร์สตาร์หนังเงียบ (ในสไตล์เดียวกับ ดั๊กลาส แฟร์แบงส์) เมื่อวงการภาพยนตร์เปลี่ยนผ่านสู่ยุคหนังเสียง แต่ในเวลาเดียวกันนักแสดงสาวที่เขาเคยช่วยปลุกปั้นกลับปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า แล้วพุ่งสู่ความโด่งดังในเวลาอันรวดเร็ว จุดเด่นของ The Artist อยู่ตรงที่มันถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำ ตามอัตราส่วนภาพ 1:33 และเล่าเรื่องโดยใช้ intertitle แบบเดียวกับหนังยุค ชาร์ลี แชปลิน รุ่งเรือง รวมเลยไปถึงดนตรีวงออร์เคสตราซึ่งเล่นคลอโดยตลอด บริษัทไวน์สไตน์คว้าลิขสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ในอเมริกา และแน่นอนว่าหลังจากความสำเร็จอย่างล้นหลามของ The King’s Speech มันคงถูกปลุกปั้นให้กลายเป็นขุมทองออสการ์แห่งใหม่

Drive: ไม่บ่อยนักที่หนัง genre จะได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่นจากคานส์ และ Drive ก็ถือเป็นหนึ่งในข้อยกเว้นนั้น เนื่องจากผลงานแนวแอ็กชั่นของผู้กำกับชาวเดนมาร์ก นิโคลัส วินดิง เรฟ์น เรื่องนี้ “เป๊ะ” และเนื้อเน้นๆ ทั้งในแง่การคุมอารมณ์คนดูให้ลุ้นระทึกจนนั่งไม่ติดเก้าอี้ รวมถึงทักษะการถ่ายฉากขับรถไล่ล่าแบบ “ดูรู้เรื่อง” ซึ่งแทบจะกลายเป็นศาสตร์มืดที่หายสาบสูญไปจากฮอลลีวู้ดหลังความสำเร็จของหนังชุด เจสัน บอร์น เรื่องราวเรียบง่ายของหนังโฟกัสไปยังชีวิตของหนุ่มสตันท์แมน ซึ่งควบอาชีพผิดกฎหมายในยามวิกาลด้วยการขับรถให้เหล่าอาชญากร สถานการณ์เริ่มพลิกผันไปสู่ความรุนแรงเหนือระดับ เมื่อเขาตกหลุมรักสาวน้อยเรือพ่วงที่อาศัยอยู่ข้างบ้าน นอกจากงานกำกับของเรฟ์นแล้ว อีกสิ่งที่ทอประกายเจิดจรัสคงหนีไม่พ้นการแสดงของ ไรอัน กอสลิง ซึ่งดูแมนมาก เท่มาก และน่าค้นหา แต่ขณะเดียวกันกลับซ่อนความอ่อนโยนเอาไว้

The Kid with a Bike: แม้จะไม่ซับซ้อนและค่อนข้างอ่อนโยนกว่าผลงานชิ้นก่อนๆ แต่ The Kid with a Bike ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์เข้มข้น ตลอดจนแง่มุมศีลธรรมที่น่าสนใจ ผ่านเรื่องราวเรียบง่ายของเด็กชายที่โหยหาพ่อแท้ๆ กับผู้ใหญ่รอบข้างที่พยายามขัดเกลาชีวิตและสั่งสอนความรับผิดชอบให้เขา แม้โดยสไตล์จะได้รับอิทธิพลมาจากแนวทาง neo-realism โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของ วิทอริโอ เดอ ซิกา อย่าง Shoeshine และ The Bicycle Thief แต่เช่นเดียวกับธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม หนังเรื่องล่าสุดของสองพี่น้องดาร์เดนน์ยังคงไม่ข้ามเส้นสู่การ “บีบคั้น” (เหมือนกรณีของ เดอ ซิกา) และเว้นช่องว่างไว้สำหรับการตีความ มันใช้เวลาในการถ่ายทอดแง่มุมต่างๆ ของตัวละครมากกว่าจะผลักดันพล็อตให้คืบหน้า แล้วโน้มนำคนดูให้จมดิ่งกับเรื่องราวอย่างแนบเนียนก่อนจะขมวดปมสู่ไคล์แม็กซ์อันทรงพลัง

Le Havre: จะมีใครสามารถถ่ายทอดประเด็นเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพต่างแดนได้อบอุ่น น่ารัก และอ่อนโยนเทียบเท่า อากิ คัวริสมากิ ผู้กำกับชาวฟินแลนด์ที่หนึ่งในเอกลักษณ์อันโดดเด่น คือ นักแสดงทุกคนในเรื่องจะ “หน้าตาย” แบบเดียวกันตลอด (บัสเตอร์ คีตัน คงภูมิใจ) หนังเล่าถึงวิบากกรรมของเด็กชายชาวแอฟริกัน ซึ่งตั้งใจจะขึ้นเรือเพื่อลักลอบเข้ากรุงลอนดอน แต่กลับถูกส่งมายังเมืองท่าในประเทศฝรั่งเศสโดยบังเอิญ (ความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์) และได้รับความช่วยเหลือจากชายชราผู้มีอาชีพขัดรองเท้า พล็อตอาจฟังดูหนัก แต่ Le Havre ยังคงรักษาจิตวิญญาณแห่งการมองโลกแง่บวกและศรัทธาต่อความดีงามของมนุษย์ไว้อย่างเหนียวแน่น ในโลกของคัวริสมากิ ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ แม้สถานการณ์รอบข้างจะดูสิ้นหวัง อุดมคติไม่เคยถูกหัวเราะเยาะใส่ และกระทั่งวายร้ายก็หาได้สิ้นไร้เมตตาเสียทีเดียว

Melancholia: นอกจากเป็นชื่อของดาวเคราะห์ ซึ่งจากการคำนวณของเหล่านักดาราศาสตร์กำลัง0tพุ่งตรงเข้าชนโลกและทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว “เมลันโคเลีย” ยังเป็นศัพท์ที่ใช้อธิบายสภาพจิตของตัวละครเอกในเรื่องได้อย่างชัดเจน หนังถูกแบ่งครึ่งเพื่อเล่าเรื่องราวก่อนโลกจะพบจุดจบจากสองมุมมองของจัสติน เจ้าสาวที่กำลังประสบภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก และพี่สาวเธอ แคลร์ ซึ่งเฝ้าสังเกตการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์มหากาฬอย่างใกล้ชิด อย่าคาดหวังความระทึกขวัญ หรือฉากวินาศสันตะโร เพราะต้องไม่ลืมว่านี่เป็นผลงานชิ้นล่าสุดของผู้กำกับ Dancer in the Dark แต่ให้นึกถึงอารมณ์หลอกหลอน จังหวะการเล่าเรื่องแบบเนิบช้า การแสดงระดับสุดยอด และภาพที่งดงาม ตราตรึงประหนึ่งฝันร้าย ซึ่งสอดคล้องอย่างน่าประหลาดกับดนตรีสุดโรแมนติกจากโอเปราเรื่อง Tristan und Isolde ของ ริชาร์ด แว๊กเนอร์

Miss Bala: ถ้าคุณชื่นชอบ City of God อย่าพลาด Miss Bala อย่างเด็ดขาด เพราะมันจะพาคุณเข้าไปสัมผัสโลกแห่งอาชญากรรมในระยะประชิดด้วยสไตล์การเล่าเรื่องที่หนักแน่น เข้มข้น ผ่านสถานการณ์รุนแรงที่เพิ่มระดับขึ้นอย่างบ้าระห่ำ และบางครั้งก็ดูเหลือเชื่อจนน่าหัวเราะ แต่ความสมจริง เป็นธรรมชาติที่ปรากฏทำให้คุณหัวเราะไม่ออก หนังเล่าถึงชีวิตพลิกผันของหญิงสาวที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนางงาม แต่กลับถูกบีบให้ต้องเกลือกกลั้วอยู่ในโลกของมาเฟียโดยบังเอิญจากการไปอยู่ผิดสถานที่ ผิดเวลา ฉากแอ็กชั่นในหนังไม่ได้ดูน่าตื่นตา หรือซับซ้อนเหมือนผลงานจากฮอลลีวู้ด ตรงกันข้าม จุดมุ่งหมายหลักของมัน คือ เน้นย้ำให้เห็นว่าวิถีนักเลง ความตาย และการลักพาตัว เป็นเหมือนกิจวัตรประจำวันบนท้องถนนในเมืองใหญ่ของประเทศเม็กซิโก ซึ่งนั่นสร้างความรู้สึกชวนสยองและน่าหดหูไปพร้อมๆ กัน

Once Upon a Time in Anatonia: ด้วยความยาวเกือบ 3 ชั่วโมงและพล็อตที่บางเบาพอจะยัดใส่ 10 นาทีแรกของซีรีย์ชุด Law & Order ได้สบายๆ การนั่งชมหนังเรื่องใหม่ของผู้กำกับชาวตุรกี นูริ บิลเก เซย์ลัน ย่อมต้องอาศัยความอดทนและสมาธิขั้นสูง แต่ผลตอบแทนในตอนท้ายนั้นถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง ช่วงครึ่งแรกของหนังหมดไปกับการเดินสำรวจภูมิประเทศอันว่างเปล่าของทีมตำรวจและสองฆาตกรเพื่อค้นหาศพ แต่ไม่ประสบผลจนกระทั่งหนังดำเนินมาถึงช่วงครึ่งหลังแล้ว แน่นอนเสน่ห์ของหนังไม่ได้อยู่ตรงโครงเรื่องคร่าวๆ หากแต่เป็นรายละเอียดระหว่างทางเกี่ยวกับการสำรวจพฤติกรรมมนุษย์ ตลอดจนระบบศีลธรรมและสภาพสังคม ขณะเดียวกันวิสัยทัศน์อันเป็นเลิศของเซย์ลันในแง่การจัดองค์ประกอบภาพและแสงเงาก็ช่วยเพิ่มสีสันและความน่าสนใจให้กับหนังได้มากโข

Take Shelter: แววตาแฝงความเศร้า รูปร่างสูงใหญ่ดุจแฟรงเกนสไตน์ และใบหน้าที่แสดงอาการเหมือนพร้อมจะ “จิตหลุด” ได้ทุกเมื่อของ ไมเคิล แชนนอน ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในผลงานดังจากซันแดนซ์เรื่อง Take Shelter ซึ่งเล่าถึงชีวิตชานเมืองที่ดูเพียบพร้อมของชายคนหนึ่ง (ครอบครัวอบอุ่น การงานมั่นคง) ก่อนเขาจะเริ่มฝันประหลาด เห็น “พายุแห่งวันสิ้นโลก” ซึ่งค่อยๆ ตามมาหลอกหลอนเขาแม้กระทั่งยามตื่นนอน มันเป็นอาการจิตหลอน หรือลางบอกเหตุกันแน่ นอกจากงานแสดงอันยอดเยี่ยมแล้ว Take Shelter ยังสะท้อนภาวะตื่นตระหนกของสังคมยุคใหม่ได้อย่างแม่นยำและคมคาย จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปจนถึงภัยธรรมชาติขั้นวิกฤตินานาประเภท เมื่อเราตระหนักชัดว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากล แต่ปราศจากหนทางแก้ไข และความหวาดกลัวได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วดุจเชื้อร้าย

This is not a Film: เมื่อต้องอยู่แต่ในบ้านและระหว่างรอคำตัดสินของศาลว่าจะถูกตัดสินจำคุกนาน 6 ปีหรือไม่ ผู้กำกับชื่อก้องชาวอิหร่าน จาฟาร์ ปานาฮี จึงตัดสินใจอ่านบทหนังเรื่องใหม่ (เกี่ยวกับเด็กหญิงที่ถูกพ่อแม่สั่งห้ามออกจากบ้านและคิดจะฆ่าตัวตาย) ให้คนดูฟังด้วยความเชื่อว่าเขาอาจไม่มีโอกาสสร้างมันเป็นภาพยนตร์ เนื่องจากรัฐบาลได้ร้องขอให้ศาลสั่งห้ามปานีฮีไม่ให้เขียนบทหรือสร้างหนังเป็นเวลา 20 ปีด้วย ตลอดความยาวกว่า 75 นาที This is Not a Film ถ่ายทอดให้เห็นสารพัดกิจกรรมของปานาฮีในอพาร์ตเมนต์อันกว้างขวาง ความอึดอัดคับข้องที่ไม่อาจสะท้อนตัวตนผ่านงานศิลปะ และความกล้าหาญระหว่างเฝ้ารออนาคตที่ไม่แน่นอน แม้รากฐานจะตั้งอยู่บนการวิพากษ์กองเซ็นเซอร์และอำนาจเผด็จการ แต่หนังกลับไม่หดหู่ หรืออัดแน่นไปด้วยความโกรธ (ส่วนหนึ่งผ่านการสอดแทรกอารมณ์ขันได้อย่างถูกจังหวะ) และมองชีวิตอย่างเข้าใจ

The Tree of Life: จุดกำเนิดของโลก นับตั้งแต่เหล่าแมงกะพรุนในมหาสมุทรจนถึงยุคไดโนเสาร์แพร่พันธุ์ ถูกนำเสนอควบคู่ไปกับชีวิตครอบครัวช่วงทศวรรษ 1950 ของพ่อที่เข้มงวดและแม่ที่อ่อนโยนหลังพวกเขาเพิ่งสูญเสียลูกชายไป ในหนังสุดพิศวงและทะเยอทะยานเรื่อง The Tree of Life มันตั้งคำถามอันละเอียดซับซ้อนและยากต่อการหาคำตอบอย่างเช่น มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร และทำไมทุกสิ่งทุกอย่างถึงดำรงอยู่ ผ่านการเล่าเรื่องที่ไม่ค่อยปะติดปะต่อ หรือลื่นไหลในแบบธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม แต่ทรงพลังด้วยบรรยากาศ อารมณ์ และการสะท้อนภาพมนุษย์ ณ แง่มุมที่หยั่งลึกเกินกว่าจะบรรยายเป็นคำพูดได้ นี่ไม่ใช่หนังสำหรับมวลชนกระแสหลัก แต่หากเปิดใจให้กว้าง คุณจะได้พบกับวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของนักทำหนังที่ก้าวข้ามความต้องการที่จะเล่าเรื่องไปอีกระดับหนึ่ง

ผลรางวัล

Main Competition
PALME D'OR: The Tree of Life (Terrence Malick)
GRAND PRIX: The Kid With The Bike (Jean-Pierre and Luc Dardenne)/ Once Upon a Time in Anatolia (Nuri Bilge Ceylan)
JURY PRIZE: Polisse (Maïwenn Le Besco)
DIRECTOR: Nicolas Winding Refn (Drive)
SCREENPLAY: Joseph Cedar (Footnote)
ACTOR: Jean DuJardin (The Artist)
ACTRESS Kirsten Dunst (Melancholia)

Camera D’Or
GOLDEN CAMERA: Las Acacias (Pablo Giorgelli)

Un Certain Regard
PRIZE OF UN CERTAIN REGARD: Arirang (Kim Ki-Duk)/ Stopped on Track (Andreas Dresen)
SPECIAL JURY PRIZE: Elena (Andrey Zvyaginstev)
DIRECTING PRIZE: Mohammad Rasoulof (Bé Omid é Didar)

Critics Week
FEATURE: Take Shelter (Justin Kurzel)
SPECIAL MENTION: Snowtown (Jeff Nichols)
CID/CCAS and the OFAJ: Las Acacias (Pablo Giorgelli)