วันอาทิตย์, กรกฎาคม 15, 2555

Moonrise Kingdom: เด็กๆ สบายกันดี


การนั่งชมหนังเรื่อง Moonrise Kingdom ช่วยปลุกอารมณ์ถวิลหาอดีตได้อย่างมากมาย ไม่ใช่เพียงเพราะมันเล่าถึงเรื่องราวความรักระหว่างเด็กชายกับเด็กหญิงแรกรุ่น ภายใต้ฉากหลังในปี 1965 (ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้เห็นอุปกรณ์สำหรับตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์อย่าง เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องบันทึกเทปแบบสองหัว เครื่องเล่นเทปชนิดใช้ถ่าน ฯลฯ) ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. และถูกทอนสีจนซีดจางเหมือนภาพถ่ายเก่าเก็บเท่านั้น แต่ยังเกิดจากสไตล์การทำหนังแบบ ‘ติดกล้องบนขาตั้ง หรือเครน หรือรางดอลลี เพื่อสร้างความต่อเนื่องในช็อต’ ของ เวส แอนเดอร์สัน ซึ่งเมื่อเทียบกับเทรนด์ในยุคปัจจุบันที่คลั่งไคล้การตัดภาพชนิดรัวกระหน่ำ และสไตล์กล้องแบบมือถือถ่าย หรือใช้สเตดิแคมแล้ว หนังเรื่องนี้จึงแทบจะเปรียบได้กับหยดน้ำอันชุ่มฉ่ำกลางทะเลทรายอันแห้งผาก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าแอนเดอร์สันจะเชิดใส่กล้องสไตล์มือถือเสียทีเดียว ตรงกันข้าม เขาเลือกนำมันมาใช้ถ่ายทอดอารมณ์ ‘พลุ่งพล่าน’ ได้อย่างเหมาะเจาะในฉากที่เหล่าตัวละครผู้ใหญ่ออกอาการสติหลุด และลามปามไปถึงขั้นปารองเท้าใส่กัน ความที่หนังเคลื่อนกล้องอย่างราบรื่น มั่นคง จากขวาไปซ้าย หรือบางครั้งก็ค่อยๆ หมุนวน 360 องศา หรือหยุดนิ่งอยู่กับที่มาโดยตลอด การโผล่พรวดเข้ามาของภาพที่สั่นไหวย่อมกระชากอารมณ์คนดูให้ประหลาดใจได้ไม่แพ้เหล่าตัวละคร ซึ่งกำลังช็อกและสับสน เมื่อปรากฏว่าวิกฤติเด็กสาวหนีออกจากบ้านเพื่อไปพบเด็กหนุ่มที่เธอหลงรัก ชักนำไปสู่ความรุนแรงชนิดคาดไม่ถึง

แน่นอน สไตล์การถ่ายทำของแอนเดอร์สันสอดคล้องอย่างกลมกลืนกับโทนอารมณ์ของหนัง ซึ่งไม่ได้เน้นความ ‘เหมือนจริง’ แต่ค่อนไปทาง ‘เทพนิยาย’ หรือแฟนตาซีแบบที่เราทุกคนเคยหลงใหลเมื่อครั้งวัยเยาว์ ก่อนความเป็นจริงแห่งโลกจะค่อยๆ ขัดเกลาเราให้มองทุกอย่างด้วยอารมณ์ขมขื่น ด้วยแววตาเยาะหยันมากขึ้น (หนึ่งในเครื่องหมายการค้าของเขา คือ ภาพเหนือศีรษะ หรือที่เรียกว่า overhead shot ซึ่งแทนสายตาเหมือนเวลาเราก้มลงมองแบบจำลอง หรือเกมกระดานที่วางอยู่บนโต๊ะ หรือบนพื้นห้อง)

ในฉากเปิดเรื่อง กล้องเคลื่อนที่อย่างแม่นยำในแนวราบจากซ้ายไปขวาโดยใช้รางดอลลี หรือในแนวดิ่งจากล่างขึ้นบนโดยใช้เครน เพื่อสำรวจพื้นที่ในแต่ละห้องของบ้านประภาคาร ขณะเหล่าตัวละครตระกูลบิชอปกำลังประกอบกิจกรรมต่างๆ นานา คนดูไม่ได้รู้สึกถึงความหนักแน่น สมจริง (แค่การมีบ้านอยู่ในประภาคารก็แลดูเหนือจริงอยู่หน่อยๆ แล้ว) แต่กลับรู้สึกเหมือนกล้องกำลังสำรวจบ้านตุ๊กตา ผ่านฉากที่ได้รับการตกแต่งอย่างประณีต ละเอียดลออ (และถ่ายทำโดยเน้นให้เห็นเพดาน) โดดเด่นด้วยรูปทรงเรขาคณิต และสมดุลซ้ายขวา ตัวอย่างชัดเจนพิสูจน์ได้จากช็อตที่เด็กชายสามคนนั่งล้อมฟัง The Young Person’s Guide to the Orchestra จากเครื่องเล่นเทปบนพื้นกลางห้อง โดยมีซูซีนอนอ่านหนังสืออยู่บนตู้บิวท์อิน สำหรับเก็บแผ่นเสียงข้างหน้าต่าง ผ้าม่านสีเข้มจัดวางไว้ซ้าย-ขวาอย่างละสองแถบ โคมไฟข้างละ 1 ตัว และตั้งแผ่นเสียงข้างละ 1 ตั้ง กับตรงกลางด้านล่างอีก 1 ตั้ง รวมไปถึงโครงสร้างในแนวลาดคล้ายบันไดขึ้นไปชั้นบนขนาบริมขอบเฟรมทั้งสองข้าง เช่นเดียวกับตู้เก็บของด้านหลังเด็กชาย

ไม่เพียงองค์ประกอบภาพที่ตอกย้ำสมดุลซ้ายขวาเท่านั้น แอนเดอร์สันยังขึ้นชื่อในเรื่องการจัดวางตัวละคร หรือสิ่งของไว้กลางเฟรม (เช่น ช็อตที่ซูซี่ส่องกล้องแอบมองพฤติกรรมไม่ซื่อของแม่เธออยู่บนยอดของประภาคาร) คุณลักษณะดังกล่าวยั่วล้อบุคลิกของหลากหลายตัวละครใน Moonrise Kingdom ซึ่งห่างไกลจากคำว่า ‘สมดุล’ (ตัวละครที่ดูประหลาดๆ มีปมมืดหม่น และเข้ากับใครไม่ค่อยได้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นในหนังของแอนเดอร์สัน นอกเหนือจากสไตล์ภาพดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น)

 แซม (จาเร็ด กิลแมน) เป็นเด็กกำพร้าที่ชอบก่อเหตุให้พ่อแม่บุญธรรมปวดหัว จนพวกเขาตัดสินใจตัดหางปล่อยวัด (หรือในกรณีนี้ คือ ปล่อยให้เป็นภาระของนักประชาสงเคราะห์) หลังจากเขาสร้างวีรกรรมล่าสุดด้วยการหลบหนีจากแคมป์ลูกเสือเพื่อไปผจญภัยกลางป่ากับซูซี (คารา เฮย์วาร์ด) เด็กสาวที่เขาหลงรัก และชอบก่อเรื่องก่อราวไม่แพ้กันจนพ่อแม่เธอต้องหาหนังสือ “วิธีรับมือกับเด็กมีปัญหา” มาอ่านเพื่อศึกษาข้อมูล

อารมณ์ร่วมของความแปลกแยกจากสังคมรอบข้างทำให้พวกเขาเข้าคู่กันได้อย่างเหมาะเจาะ และตัวหนังเองก็ช่วยยืนกรานข้อเท็จจริงดังกล่าวผ่านฉากที่งดงามอย่างเรียบง่าย แต่ขณะเดียวกันก็ฟุ้งอารมณ์ฝันและกลิ่นอายเหนือจริง เมื่อแซมได้พบกับซูซี่เป็นครั้งแรกในงานแสดงละครของโรงเรียน ซึ่งเล่าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับเรือโนอาห์ ซีเควนซ์นี้เริ่มต้นจากฝ่ายชายเดินผละจากกลุ่มผู้ชมในโรงละคร แล้วหลบไปยังด้านหลังเวที โดยระหว่างทางเขาต้องเดินผ่านกลุ่มนักแสดงเด็กที่แต่งตัวเป็นสัตว์นานาชนิด ยืนเข้าคิวเป็นคู่ๆ เพื่อรอขึ้นเรือโนอาห์ และในห้องแต่งตัวของนักแสดง เขาก็ได้พบกับซูซี่ในชุดอีกา (แน่นอน เธอนั่งเก้าอี้ตรงกลาง ขนาบข้างซ้ายขวาด้วยเด็กหญิงในชุดนกอีก 4 คน แบ่งเป็นข้างละ 2 คนพอดิบพอดี) มือของเธอพันผ้าพันแผล ซึ่ง (ตามคำบอกเล่าของเด็กสาว) เกิดจากการชกกระจกด้วยอารมณ์โมโหตัวเอง ทั้งสองสบสายตา... และไม่น่าแปลกที่นกบาดเจ็บสองตัวจะจดจำกันและกันได้

นับแต่นั้นสายสัมพันธ์ของพวกเขาก็ทวีความแนบแน่นจากจดหมายที่หมั่นเขียนหากันเพื่อระบายความอัดอั้น คับแค้นต่อชีวิตและสภาพแวดล้อม ก่อนสุดท้ายจะนำไปสู่การวางแผน ‘หนีตามกัน’

แม้จะแบ่งปันสถานะ ‘คนนอก’ ร่วมกัน แต่แซมกับซูซีมีบุคลิกที่ค่อนข้างแตกต่าง คนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริงอันโหดร้าย และเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด (เขาเชี่ยวชาญทักษะเดินป่าจากการฝึกเป็นลูกเสือกากี) ส่วนอีกคนเลือกจะปลีกตัวมาอยู่ในโลกแห่งจินตนาการของตัวหนังสือ (สิ่งของสำคัญที่เธอพกมาเดินป่าด้วย คือ นิยายสุดโปรดสองสามเล่ม) แต่พวกเขาหลอมรวมเข้าด้วยกันจากความรัก... เมื่อซูซีพูดขึ้นว่าเธออยากเป็นเด็กกำพร้าแบบแซม เพราะตัวละครเอกในนิยายหลายเรื่องที่เธอชอบอ่านก็มักจะเป็นเด็กกำพร้า เด็กชาย ผู้ตระหนักดีถึงความสยองของสภาวะดังกล่าว จึงโต้กลับว่า “ฉันรักเธอ แต่เธอไม่รู้หรอกว่าพูดอะไรออกมา”

Moonrise Kingdom ผสมผสานสองบุคลิกนั้นไว้ในลักษณะที่เรียกว่า หวานปนเศร้า กล่าวคือ มองในแง่หนึ่ง มันเป็นแฟนตาซีแสนสนุกของโลกวัยเด็ก ของการได้ผจญภัยตามลำพัง ของการได้ปล่อยใจไปกับความรักโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบอื่นใด อารมณ์ขันแบบไม่ซับซ้อนของแอนเดอร์สันช่วยสะท้อนความไร้เดียงสาแห่งช่วงวัยเยาว์ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แบ็คกราวด์เรียกรอยยิ้ม เช่น ในฉากที่แซมกับซูซีต้องปรึกษาเรื่องเข้าพิธีแต่งงานกันข้างๆ เครื่องเล่นแทรมโพลีน หรือแก๊กตลกสไตล์การ์ตูน เช่น ในฉากที่แซมถูกฟ้าผ่า หรือโดนไล่ล่าโดยกลุ่มลูกเสือที่ไม่ยอมแตกขบวน หรือการจัดวางองค์ประกอบภาพ เช่น ในฉากต้นเรื่องเมื่อแซมหายตัวไปจากโต๊ะอาหารเช้า (ลักษณะสมดุลแบบซ้ายขวาทำให้เก้าอี้ที่ว่างยิ่งดูโดดเด่น) ซึ่งถูกนำมาเล่นซ้ำอีกครั้งในตอนที่ลูกเสือหายไปทั้งหมู่

ทว่าในอีกแง่หนึ่ง หนังหาได้ล่องลอย เพ้อฝันจนไม่อาจสัมผัสจับต้องได้ เพราะมันนำเสนอมุมมองที่หม่นเศร้าของโลกวัยผู้ใหญ่ควบคู่กันไปด้วย

ไม่ต่างจากเด็กๆ ส่วนใหญ่ แซมกับซูซี่กระตือรือร้นที่จะเติบโตเพื่อโอกาสของการได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ พวกเขาพยายามวางมาดให้ดูแก่เกินวัย (คนหนึ่งสูบไปป์ ส่วนอีกคนแต่งหน้าจัด) โดยหารู้ไม่ว่าโลกของผู้ใหญ่นั้นไม่ได้น่าพิสมัย หากแต่อัดแน่นไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง ภาระหน้าที่ ความน่าผิดหวัง และชีวิตคู่อันล้มเหลว สะท้อนผ่านตัวละครสามเส้าอย่างผู้กองชาร์ป (บรูซ วิลลิส) วอลท์ บิชอป (บิล เมอร์เรย์) และ ลอรา บิชอป (ฟรานเซส แม็คดอร์แมนด์) คนหนึ่งกล้ำกลืนความหดหู่เอาไว้ภายใน เมื่อเขาตกหลุมรักผู้หญิงที่ตนไม่อาจครอบครอง คนหนึ่งกล้ำกลืนความโกรธ ทั้งต่อตัวเองและคนรัก เอาไว้ภายใน จนบางครั้งต้องระบายผ่านการใช้กำลัง ส่วนอีกคนก็กล้ำกลืนความรู้สึกผิดเอาไว้ภายในจากการทรยศต่อครอบครัว ต่อคู่ชีวิต แต่ในเวลาเดียวกันก็เข้าใจความรู้สึกของลูกสาวยิ่งกว่าใครๆ เกี่ยวกับแรงปรารถนาที่จะหนีตามคนรักโดยไม่ต้องคำนึงถึงภาระหน้าที่ ฉากที่เศร้าที่สุดของหนังเป็นตอนที่วอลท์บอกกับเมียว่าเขาอยากหายไปจากโลกนี้ เพื่อเธอจะได้มีความสุขมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งลอราตอบกลับอย่างเรียบๆ แค่ว่า “เด็กๆ มีแค่เราเป็นที่พึ่ง” ฉากดังกล่าวขัดแย้งอย่างรุนแรงกับฉากตั้งแคมป์ เต้นรำ และสัมผัสรสจูบเป็นครั้งแรกบนชายหาดของแซมกับซูซี ซึ่งเลือกจะละทิ้งทุกอย่างเพื่อความรักระหว่างกัน แต่อุดมคติอันบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาเยี่ยงนี้จะดำรงอยู่ได้ตลอดไปหรือ ในเมื่อวันหนึ่งพวกเขาจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

น่าตลกที่ตลอดทั้งเรื่อง พวกผู้ใหญ่ต่างพากันวิตกกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กๆ แต่สุดท้ายแล้ว กลุ่มคนที่ดูจะน่าเป็นห่วงมากสุดกลับกลายเป็นผู้ใหญ่ทั้งหลายเหล่านั้นนั่นเอง... เมื่อเห็นเช่นนี้ พวกเขาจะเร่งรีบเวลาเพื่อลงเอยยังจุดหมายปลายทางแบบเดียวกันไปทำไม

เวส แอนเดอร์สัน เป็นผู้กำกับที่ไม่สนใจจะพาคนดูเข้าไปสำรวจลึกสภาพจิตใจของตัวละคร หรือโน้มนำคนดูให้ดำดิ่งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกของตัวละคร (สังเกตได้ว่าหนังของเขาไม่ค่อยนิยม โคลสอัพ ช็อต หรือช็อตแทนสายตาตัวละคร แต่กลับเลือกถ่ายทำด้วยภาพในระยะปานกลางถึงระยะไกลลักษณะเดียวกับหนังตลกในยุค ชาร์ลี แชปลิน) ตรงกันข้าม เขามักตอกย้ำให้คนดูตระหนักอยู่เสมอว่ากำลังนั่งชม ‘เรื่องราว’ หรือ ‘นิทาน’ ที่จะพาคุณไปสัมผัสกับโลกมหัศจรรย์ และเหล่าตัวละครสุดพิสดาร (เทคนิคที่แอนเดอร์สันนำมาใช้ และได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษในหนังแนวตลก คือ ทำลายกำแพงระหว่างตัวละครกับคนดู ด้วยการให้ตัวละครมองตรงมาที่กล้อง หรือพูดกับกล้อง โดยที่ช็อตนั้นๆ ไม่ได้แทนสายตาของตัวละครใดในเรื่อง) แต่ไม่สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอย่างแท้จริง เทียบไปแล้วก็คงไม่ต่างจากการมองผ่านกล้องส่องทางไกล (ช่วยให้เห็นหลายสิ่งถนัดชัดเจนขึ้น โดยยังคงรักษาระยะห่างเอาไว้) ที่ซูซีพกติดตัวตลอดเวลาเนื่องจากมันทำให้เธอรู้สึกเหมือนมีพลังวิเศษ

 เช่นเดียวกับนิทานทั้งหลาย Moonrise Kingdom ขมวดปมไปสู่ไคลแม็กซ์ที่เข้มข้น เมื่อภัยธรรมชาติโหมกระหน่ำหมู่เกาะ และคลี่คลายไปสู่จุดจบอันรื่นรมย์ ส่งกลิ่นอายแบบของนิยาย ชาร์ลส์ ดิกคินส์ เมื่อเด็กกำพร้าค้นพบบ้านหลังใหม่ และห้วงเวลาแห่งความรักได้รับการทนุถนอมในรูปแบบของภาพทรงจำอันสวยงาม