วันเสาร์, ธันวาคม 15, 2555

The Master: ก้นบึ้งแห่งมนุษย์ที่ไม่อาจเข้าถึง


ในฉากหนึ่งของหนังเรื่อง The Master วาล (เจสซี เพลมอนส์) ลูกชายแท้ๆ ของ แลงแคสเตอร์ ด็อดด์ (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน) ผู้สถาปนาตัวเองเป็นเจ้าลัทธิ The Cause ได้ตั้งคำถามกับ “ลูกบุญธรรม”/ศิษย์คนโปรด/หนูทดลองของพ่อเขา เฟร็ดดี เควล (วาควิน ฟีนิกซ์) ว่า “พ่อก็สร้างเรื่องใหม่ไปเรื่อยๆ นายดูไม่ออกเหรอ” ข้อสังเกตการณ์ดังกล่าวนอกจากจะชี้ให้เห็นแก่นอันง่อนแง่น ผันแปลงได้อย่างง่ายดายของ The Cause แล้ว (ด็อดด์ถึงกับฉุนขาด เมื่อถูกสาวกนางหนึ่งรับบทโดย ลอรา เดิร์น ตั้งคำถามว่าเหตุใดหนังสือเล่มใหม่ของเขาถึงเลือกใช้คำว่า “จินตนาการ” อดีต แทนที่จะเป็นการ “รำลึก” อดีตเหมือนที่เขาเคยสอนๆ มา) มันยังอาจช่วยอธิบายภาพรวมของหนังได้อย่างชัดเจนอีกด้วย ทั้งนี้เพราะตัวหนังมีน้ำหนักของการด้นสดค่อนข้างมากและมีโครงสร้างพล็อตที่ค่อนข้างหละหลวม 

ผู้กำกับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้รับอิทธิพล ตลอดจนแรงบันดาลใจจากหลากหลายแหล่ง ไม่ใช่เพียงชีวประวัติของ รอน ฮับบาร์ด ผู้นำลัทธิ Scientology อย่างที่ทุกคนทราบกันดีเท่านั้น (ความเหมือนกันระหว่าง The Cause กับ Scientology คือ พวกมันเป็นคลุกเคล้าจิตวิทยากับนิยายวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ขบวนการ “รักษา” ยังคล้ายคลึงในแง่การใช้กลยุทธ์เชิงสะกดจิต/บำบัดจิตเพื่อให้บุคคลตระหนักถึงรูปแบบซ้ำซากในอดีตตลอดเวลาหลายล้านปี แล้วเข้าใจถึงที่มาแห่งความเจ็บปวดในปัจจุบัน) แต่ยังรวมถึงหนังสารคดีเรื่อง Let There Be Light (1946) หนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ทหารผ่านศึกเรื่อง American Patriot นวนิยายเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาเรื่อง Time And Again ประวัติชีวิตของ จอห์น สไตน์เบค ตลอดจนการรวบรวมฉากที่เขาเคยเขียนสำหรับใส่ไว้ใน There Will Be Blood (2007) เรื่องราวที่ เจสัน โรบาร์ด เล่าให้ฟังระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Magnolia (1999) และที่สำคัญเขายังบอกด้วยว่าหลายฉากในบทหนังไม่ได้ถูกถ่ายทำ ส่วนหลายฉากที่ถ่ายทำก็โดนหั่นทิ้งระหว่างขั้นตอนตัดต่อ เพราะเขาอยากโฟกัสไปยัง “เรื่องราวความรักระหว่างชายสองคน ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงชะตากรรมอันน่าเศร้า”

 ระบบการทำงานดังกล่าวชวนให้นึกถึงหนังอย่าง The Tree of Life (2011) แม้ว่าในแง่การเล่าเรื่อง พอล โธมัส แอนเดอร์สัน จะไม่เดินหน้าไปสุดโต่งขนาด เทอร์เรนซ์ มาลิค ก็ตาม กล่าวคือ หนังยังมีโครงสร้างของพล็อตให้จับต้องได้มากกว่า และใช้ไวยากรณ์ทางภาพยนตร์ที่ตรงไปตรงมาในระดับหนึ่ง ไม่มีอะไรเหนือจริง หรือเป็นนามธรรมจนต้องร้องออกมาว่า “อะไรของมัน!?” แต่ความคลุมเครือของสาร ตลอดจนชุดเหตุการณ์ที่หลายครั้งไม่เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างเด่นชัดก็ทำให้หลายคนมองว่ามันเป็นหนัง “ย่อยยาก”

 ขณะเดียวกันการสอดแทรกช็อตผืนน้ำที่แตกกระจายเป็นฟองคลื่นด้านหลังเรือที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าเข้ามาเป็นระยะใน The Master ก็ชวนให้คิดถึงการแทรกภาพกอหญ้าที่ไหลลู่ตามกระแสน้ำของ The Tree of Life ซึ่งทั้งสองกรณีน่าจะมีจุดประสงค์ในเชิงอารมณ์/บรรยากาศ/สื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์มากกว่าเพื่อการเล่าเรื่อง แน่นอนช็อตดังกล่าวใน The Master เหมาะจะใช้สะท้อนหลักการของ The Cause ซึ่งมีความเชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์เป็นผลจากอดีตกาลในชาติปางก่อน และความพยายามจะที่ขุดเอา “ความจริง” ออกมาก็จะช่วยบรรเทาทุกข์ที่บุคคลนั้นกำลังประสบอยู่ไม่ว่าจะทางด้านร่างกาย หรือจิตใจ (เทียบได้กับจิตใต้สำนึกในหลักจิตวิทยา) เพราะในช็อตดังกล่าวเราจะเห็นเพียงแรงกระเพื่อมบนพื้นผิว แต่ไม่เห็นแรงขับเคลื่อนที่ก่อให้เกิดกระแสคลื่น (ใบพัดเรือซึ่งจมอยู่ใต้ผิวน้ำ)

เช่นเดียวกันแอนเดอร์สันจงใจที่จะนำเสนอการกระทำ โดยไม่ใส่ใจที่จะเปิดเผยแรงผลักดันเบื้องหลัง เขาอาจแง้มถึงความเป็นไปได้สองสามอย่าง แต่ไม่ชี้ชัดเจาะจงลงไป ซึ่งนั่นย่อมนำความอึดอัดมาสู่มนุษย์ผู้อยากรู้อยากเห็น และเชื่อว่าทุกอย่างมีคำตอบ หรือคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกระทำเหล่านั้นเข้าข่ายผิดปกติอย่างรุนแรง จนดูน่าสะพรึงและน่าขบขันในเวลาเดียวกัน 

สำหรับ เฟร็ดดี เควล เราไม่อาจรู้แน่ชัดได้ว่าพฤติกรรมเกรี้ยวกราด ต่อต้านสังคมของเขาเป็นผลมาจากอะไร อาจเป็นส่วนผสมของบาดแผลสงคราม อาการติดเหล้า ซึ่งเขาผสมขึ้นเองจากวัตถุดิบอันตรายตั้งแต่เชื้อเพลิงในระเบิดตอปิโดไปจนถึงทินเนอร์ และความทรงจำอันเจ็บปวดในจิตใต้สำนึกเบื้องลึก ที่ด็อดด์ปลุกให้กระเพื่อมขึ้นในระหว่างขั้นตอนการ “รักษา” (ในหนังใช้คำว่า processing ขณะที่ Scientology จะเรียกขั้นตอนที่คล้ายคลึงกันว่า auditing) เกี่ยวกับความรักของเขากับหญิงสาวชื่อดอริส (เมดิเซน บีตตี) ความสัมพันธ์ทางเพศของเขากับคนร่วมสายเลือด และการที่แม่ของเขาลงเอยในโรงพยาบาลโรคจิต 

ข้อมูลเหล่านี้ ตลอดจนพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง รวมไปถึงคนรอบข้างทำให้เฟร็ดดีกลายเป็นเป้าหมายที่น่าหลงใหลของด็อดด์ เพราะเขาคิดว่า หาก The Cause สามารถช่วย “ซ่อม” มนุษย์ที่แตกหักขนาดเฟร็ดดีได้ มันก็จะกลายเป็นหลักฐานพิสูจน์ความสำเร็จอันงดงามของทฤษฎีที่เขาคิดค้นขึ้น ในทางกลับกัน การอ้าแขนรับและให้ความสนใจของด็อดด์ก็ได้ผลตอบแทนเป็นความภักดีจากเฟร็ดดี ซึ่งเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสาวก The Cause ไม่ว่าจะด้วยต้องการแก้ไข ปรับปรุงตัวเองอย่างแท้จริง หรือแค่รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง แทนที่จะแปลกแยกก็ตาม

มองจากภายนอกบุคคลทั้งสองดูแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คนหนึ่งรูปร่างผอมบาง ขาดสติยั้งคิด และเข้ากับใครไม่ได้ ขณะที่อีกคนรูปร่างอวบอ้วน ดูสุขุมแบบผู้นำ และเปี่ยมเสน่ห์ในการโน้มน้าวคน พลังบางอย่างดึงดูดพวกเขาเข้าหากัน นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งสองล้วนมีพรสวรรค์ในการเล่นแร่แปรธาตุ คนหนึ่งสามารถหยิบจับวัตถุดิบนานาชนิดจากตู้ยา หรือห้องมืดมาผสมให้กลายเป็นเครื่องดื่มรสเลิศ ขณะอีกคนคลุกเคล้าองค์ความรู้จากแหล่งต่างๆ จนกลายเป็นทฤษฎีที่สามารถชักจูงความคิดคนจำนวนมาก เมื่อพบกับครั้งแรกด็อดด์ตอบคำถามของเฟร็ดดีถึงลักษณะอาชีพของตนว่า “ฉันเป็นนักเขียน แพทย์ นักฟิสิกส์ และนักปราชญ์ แต่เหนืออื่นใด ฉันเป็นมนุษย์ที่อยากรู้อยากเห็นเหมือนนาย” บางทีนั่นอาจเป็นคำตอบว่าเหตุใดพวกเขาถึงสนใจในกันและกัน... ความอยากรู้อยากเห็น 

หนังเหมือนจะตอกย้ำให้เห็นบุคลิกขั้วตรงข้ามของเฟร็ดดี้กับด็อดด์ในฉากห้องขัง แต่ขณะเดียวกันการจับภาพทั้งสองไว้ในเฟรมเดียวกัน (เฟร็ดดี้อยู่ทางซ้ายของเฟรมภาพ เดินงุ่นง่านเหมือนเสือติดจั่น อาละวาดทำลายข้าวของและร่างกายตัวเอง ด็อดด์อยู่ทางขวาของเฟรมยืนสงบนิ่งพร้อมตะโกนเตือนสติลูกศิษย์เขา “ไม่มีใครชอบนาย นอกจากฉัน!”) โดยมีเพียงผนังลูกกรงบางๆ ขวางกั้นอยู่ตรงกลางเหมือนจะสื่อให้เห็นว่าพวกเขาเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน คนหนึ่ง คือ ตัวแทนแห่งการปลดปล่อยพลังจิตใต้สำนึก (เขาสำเร็จความใคร่กับรูปปั้นทรายบนชายหาด นึกเห็นภาพผู้หญิงทุกคนในงานเลี้ยงเปลือยกาย และเมื่อใครก็ตามกล้าเห็นต่าง หรือดูถูกแนวคิดของ “อาจารย์” เขาก็ไม่รีรอที่จะลงไม้ลงมือ) ส่วนอีกคนเป็นตัวแทนของพฤติกรรมเก็บกด ควบคุมกิริยา หรือแรงกระตุ้นในเบื้องลึก ด้วยเหตุนี้ ความสนิทสนมระหว่างด็อดด์กับเฟร็ดดีย่อมไม่เป็นที่เห็นชอบของภรรยาฝ่ายแรก (เอมี อดัมส์) จนสุดท้ายก็ต้องยื่นมือเข้ามาสอด ด้วยกลัวว่าสามีเธอจะหลงเข้าสู่ด้านมืดจนหลงลืมภารกิจเบื้องหน้า (หนึ่งในนั้น คือ การใช้มือสำเร็จความใคร่ให้กับสามี หาใช่เพราะเสน่หา แต่เป็นเหมือนหน้าที่มากกว่า) บางทีความรู้สึกผูกพันส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะด็อดด์มองเห็นตัวเองในเฟร็ดดี้ ทั้งแง่ที่เกี่ยวกับสุราและนารี (ก่อนหน้านี้ด็อดด์เคยแต่งงานมาแล้วหลายครั้ง) 

นอกจากนี้สไตล์การแสดงของฟีนิกส์และฮอฟฟ์แมนยังสะท้อนความแตกต่างได้ชัดเจนไม่แพ้กัน คนแรกเน้นวิธีถ่ายทอดผ่านทางร่างกายในลักษณะเมธอด ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าบิดเบี้ยว มือที่ยกขึ้นมาเท้าสะเอวอย่างผิดท่าผิดทาง หรือหลังที่โก่งงอ ส่วนคนหลังกลับเน้นวิธีแสดงออกที่ค่อนข้างลุ่มลึก และควบคุมให้อยู่ในกรอบมากกว่า แต่สุดท้ายต่างฝ่ายล้วนถ่ายทอดจิตวิญญาณของตัวละครออกมาได้อย่างหมดเปลือก จึงไม่น่าแปลกหากจะบอกว่างานแสดง คือ หนึ่งในพลังสำคัญของหนังเรื่อง The Master 

จะว่าไปแล้วสัมพันธภาพอันแนบแน่นระหว่างตัวละครชายสองคน ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะพ่อลูก หรือคู่แข่ง มักพบเห็นอยู่บ่อยๆ ในหนังของแอนเดอร์สันตั้งแต่ Hard Eight (1996) มาจนถึง Boogie Nights (1997), Magnolia และ There Will Be Blood แต่ความผูกพันอันซับซ้อนระหว่างเฟร็ดดี้กับด็อดด์ดูเหมือนจะครอบคลุมเกือบทุกแง่มุมเหล่านั้น ทั้งพ่อลูก คู่แข่ง และกระทั่งคู่รัก โดยนัยยะแห่งอารมณ์โฮโมอีโรติกฟุ้งกระจายเด่นชัดในฉากสุดท้าย เมื่อด็อดด์ร้องเพลงรัก (I’d Like to Get You On a) Slow Boat to China กล่อมเฟร็ดดี้ ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนฉากแฟลชแบ็คที่ดอริสร้องเพลงให้เฟร็ดดี้ฟังก่อนเขาจะจากเธอไป จริงอยู่หนังอาจไม่ได้ก้าวไปไกลถึงขั้นสื่ออารมณ์ทางเพศ แต่ก็ยืนกรานถึงความแนบแน่นและต้องการกันและกันด้วยเหตุผลที่พวกเขาเองก็ไม่ทราบแน่ชัด

 กลไกความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มต้นด้วยการที่ด็อดด์สวมบทบาท “เจ้านาย” พยายามจะฝึกฝนเฟร็ดดีให้ “เชื่อง” หรืออยู่ในกรอบที่สังคมยอมรับผ่านแบบฝึกหัดหลายชุด เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์ และหากเราสามารถปลดเปลื้องภาระอันทับถมมาจากชีวิตในอดีต (ไม่ว่าจะในชาตินี้ หรือชาติไหน) ได้สำเร็จ มนุษย์ก็จะกลับคืนสู่สภาพแห่งความบริสุทธิ์ หรือ “สมบูรณ์แบบ” อีกครั้ง

คำถามที่ตามมา คือ ความสมบูรณ์ที่ว่านั้นหมายถึงอะไร การเก็บกดแรงกระตุ้นแห่งเดรัจฉานเอาไว้ภายใต้กฎแห่งศีลธรรม จริยธรรม? มนุษย์สามารถถูกฝึกฝนให้เปลี่ยนแปลง “วงจร” ภายในได้จริงหรือ และหากทำได้ มันเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ ตรงกันข้ามกับ The Cause หนังเรื่อง The Master ไม่แสดงท่าทีอวดอ้างว่าเข้าใจมนุษย์ ค้นพบทางออกต่อทุกปัญหา หรือกระทั่งพยายามขุดคุ้ยเหตุผลมาอธิบายพฤติกรรมนอกลู่นอกทางต่างๆ นานาของตัวละคร ฉากแฟลชแบ็คอาจถูกใส่เข้ามา ทว่าก็ไม่ได้ช่วยไขความกระจ่างให้กับปริศนาลึกลับอย่างเฟร็ดดี้แต่อย่างใด ทำไมเขาจึงเลือกบอกลาดอริส ไม่เขียนตอบจดหมาย และไม่กลับไปหาเธอหลังสงครามสิ้นสุด หนึ่งในความเป็นไปได้ คือ เพราะเขารู้ตัวว่าตนเอง “บุบสลาย” เกินกว่าจะเยียวยารักษา และคงเป็นการดีกว่าที่เธอได้แต่งงานไปกับคนอื่น นี่กระมังเป็นเหตุผลว่าทำไมเฟร็ดดี้จึงไม่แสดงทีท่าโศกเศร้าเท่าใดนัก เมื่อเขาได้ทราบข่าวจากแม่ของดอริส

แบบฝึกหัดเดินไปแตะผนัง แล้วเดินไปแตะกระจกหน้าต่างที่อีกฟากของห้องถูกนำมาใช้อีกครั้งในฉากทะเลทราย เมื่อด็อดด์เสนอให้เล่นเกมขี่มอเตอร์ไซค์ไปยังจุดหนึ่งอันไกลโพ้น แล้วขี่กลับมาด้วยความเร็วสูงสุด แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่อยู่ในความคาดคิดของเขา ดูเหมือนกลไกความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับสัตว์เลี้ยงกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าสัตว์ตัวนั้นไม่อาจฝึกฝนให้เชื่องได้ หรือเพราะมันมองทะลุถึงความกลวงโบ๋ของเจ้านายก็ตามแต่ 

ด็อดด์บอกว่าความหวาดกลัวการถูก “กังขัง” ของเฟร็ดดี้เป็นผลมาจากอดีตกาล (เหตุผลว่าทำไมเขาถึงบอกลาคนรักอย่างดอริส ซึ่งเป็นตัวแทนของชีวิตแต่งงาน และ The Cause ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันครอบครัว?) มันคือหนึ่งในความเป็นไปได้ แต่สำหรับเฟร็ดดี้เขาไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมมนุษย์จึงมาอยู่ในจุดนี้ ไม่ขวนขวายที่จะหาคำตอบต่อปรัชญาชีวิต หรือหาเหตุผลให้กับทุกบาดแผล ทุกปมปัญหา... บางทีความพยายามที่จะ “เข้าใจ” อาจนำมาซึ่งความเจ็บปวดมากกว่าภาวะมืดบอดและพึ่งพิงเพียงสัญชาตญาณดังที่เขากำลังเผชิญอยู่ก็เป็นได้