วันเสาร์, พฤษภาคม 18, 2556

To the Wonder: ชีวิตเริงระบำ


หลังจากนั่งชม To the Wonder จนจบ หลายคนคงไม่รู้สึกไม่แปลกใจกับคำให้สัมภาษณ์ของ เบน อัฟเฟล็ค ที่ว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้ The Tree of Life ดูเหมือนหนังชุด Transformers ไปเลย ทั้งนี้ก็เพราะผลงานชิ้นล่าสุดของ เทอร์เรนซ์ มาลิค ยังคงดำเนินตามโครงสร้าง การเล่าเรื่องแบบเดียวกับผลงานชิ้นก่อนหน้า แถมอาจหนักหนาสาหัสกว่าด้วยซ้ำตรงที่มันแทบจะปราศจากบทสนทนาเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วอาศัยเสียงบรรยาย (voice over) เป็นห้วงๆ ในการบอกคนดูให้ตระหนักถึงสถานการณ์ของตัวละคร ตลอดจนความคิด ห้วงคำนึงของพวกเขา อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมกลับ มันก็เป็นหนังที่เล่าเรื่องตรงไปตรงมากว่า ไม่มีไดโนเสาร์ ไม่มีกำเนิดจักรวาล ไม่มีภาพจำลองจุดสิ้นสุดแห่งกาลเวลา และมุ่งเน้นไปที่ความผันแปรของสัมพันธภาพ ซึ่งบางชั่วขณะก็พุ่งขึ้นสูง และบางชั่วขณะก็ดำดิ่งลงสู่หุบเหว คล้ายกับเวลาที่คุณนั่งอยู่บนรถไฟเหาะ โดยปราศจากคำอธิบาย หรือเหตุผลในเชิงจิตวิทยาใดๆ จนดูเหมือนว่าทุกการตัดสินใจของตัวละครล้วนเกิดขึ้นเองราวกับเป็นวิถีแห่งสัญชาตญาณ แต่หากคุณคุ้นเคยกับผลงานของมาลิคมากพอ นี่ไม่ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ

อาจกล่าวง่ายๆ ได้ว่า หนังของมาลิคมีเป้าประสงค์ที่จะ ปลุกเร้าหรือ กระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อในเบื้องลึกของผู้ชมมากกว่า บอกเล่าเกี่ยวกับใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และทำไม ฉะนั้น นักดูหนังที่คุ้นเคยและคาดหวังการเล่าเรื่องแบบคลาสสิกของฮอลลีวู้ดย่อมต้องรู้สึกผิดหวัง และอาจถึงขั้นก่นด่าการทำลายไวยากรณ์ดั้งเดิมเกือบทั้งหมดของมาลิค

ในหนังคนดูไม่รู้จักกระทั่งชื่อของตัวละคร ยกเว้นกรณีของทาเทียนา (ทาเทียนา ซิลิน) เท่านั้น แม้ในเครดิตท้ายเรื่องจะระบุชื่อเอาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งนี้เพราะบางครั้งมาลิคก็ใช้ตัวละครเป็นเพียงสัญลักษณ์ หรือตัวแทนความคิด ปรัชญาบางอย่าง มากกว่าพยายามปรุงปั้นเขา/เธอให้มีชีวิตเลือดเนื้อเพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากคนดู นีล (อัฟเฟล็ค) มีอาชีพเป็นนักสำรวจสิ่งแวดล้อม แต่คำถามว่าเขาไปทำอะไรที่ปารีสจะยังคงเป็นปริศนาดำมืดต่อไป[1] ไม่ต่างจากอาชีพ หรือพื้นเพของมารีนา (โอลกา คูรีเลนโก) ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่กระโดดโลดเต้น และเริงระบำไปทั่วสารทิศไม่ว่าจะเป็นบนทุ่งหญ้า สนามหน้าบ้าน หรือซูเปอร์มาร์เก็ต สังเกตจากฉากหนึ่งที่เธอหยิบรองเท้าบัลเล่ต์ออกมา อาจเป็นไปได้ว่าเธอหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเต้นก่อนจะมาพบรักกับหนุ่มอเมริกันรูปหล่อ[2] หนังเหมือนจะเริ่มต้นตรงกึ่งกลางเรื่อง ขณะสองตัวละครกำลังดื่มด่ำในความรักอันซาบซึ้ง คนดูจึงไม่อาจรู้ว่าพวกเขาพบกันอย่างไร หรืออะไรดึงดูดพวกเขาเข้าหากัน แต่ขณะเดียวกันก็สามารถสัมผัสได้ถึงห้วงขณะแห่งรัก เมื่อคนสองคนหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง

ทั้งสองเดินทางไปเที่ยวชมวิหาร มง แซ็ง มิแชล ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวบนเกาะกลางทะเลชายฝั่งตะวันตกของฝรั่งเศส มันเป็นมรดกโลกที่เปี่ยมความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติจากกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและพื้นชายหาดที่ยวบยาบดุจเตียงน้ำ ซึ่งมาลิคได้บันทึกภาพไว้ไม่ใช่เพียงเพราะมันน่าตื่นตาเท่านั้น (ที่นี่ได้รับสมญานามว่า Wonder of the West อันเป็นที่มาของชื่อหนัง เมื่อเสียงบรรยายของมารีนาพูดขึ้นว่า เราเดินขึ้นบันไดไปสู่ความมหัศจรรย์ คนดูอาจพลันตระหนักถึงความหมายสองแง่ของคำว่า wonder ไปพร้อมๆ กัน (จริงอยู่หนังนำเสนอภาพคู่รักโอบกอด จับมือ หยอกล้อ ฯลฯ ซึ่งบ่งชี้ไปยังความรักหวานชื่น แต่การที่หนังปราศจากบทสนทนา หรือการปูพื้นใดๆ ก็ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างคนดูกับตัวละครไปพร้อมๆ กัน) ทั้งความรู้สึกชวนตะลึง น่าประหลาดใจ เหนือธรรมชาติ และความพิศวง ไม่แน่ใจ เพราะสำหรับมาลิค ศรัทธาในพระเจ้า เช่นเดียวกับความรัก ล้วนผสมผสานความรู้สึกทั้งสองอย่างนั้นไว้ และ To the Wonder ก็อัดแน่นไปด้วยความงามอันน่าตะลึง ชวนให้อัศจรรย์ใจ กับความเคลือบแคลงสงสัย 

มาลิคยังใช้ มง แซ็ง มิแชล เป็นสัญลักษณ์แทนจุดสูงสุดแห่งรักและตัวแทนของโลกเก่า (ยุโรป) ซึ่งสุดท้ายล้วนเหลืออยู่เพียงในความทรงจำ ช่วงต้นเรื่องคนดูจะเห็นนีลกับมารีนาเดินดื่มด่ำขึ้นบันไดไปเที่ยวชมสวนใจกลางวิหาร แต่ในช็อตสุดท้าย หลังจากตัวละครยุติความสัมพันธ์และจากลากันตลอดไป หนังได้ตัดกลับมายังวิหาร มง แซ็ง มิแชล อีกครั้ง ทว่าคราวนี้กลับเป็นภาพในระยะไกลที่ให้ความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง และเกือบจะเลือนราง

วิธีการใช้ภาพสื่อความหมายโดยปราศจากเบาะแสบอกใบ้ในทางบริบทเป็นสิ่งที่มาลิคนำมาใช้ เล่าเรื่องโดยตลอด เช่น ขณะความสัมพันธ์ระหว่างนีลกับมารีนากำลังกระท่อนกระแท่น คนดูจะเห็นภาพนีลเดินทางไปตกปลากลางทะเลสาบเพียงลำพัง พร้อมเสียงบรรยายของมารีนา (“มีผู้หญิงสองคนอยู่ในตัวฉัน คนหนึ่ง... รักเธออย่างหมดใจ อีกคนหนึ่ง... คอยดึงฉันลงต่ำ”) ซึ่งเหมือนจะพูดถึงความรักของเธอต่อนีลมากพอๆ กับความรักของเธอต่อพระเจ้า จากนั้นหนังได้ตัดไปยังภาพคลื่นทะเลซัดกระแทกโขดหินอย่างรุนแรง ก่อนจะตัดภาพไปยังเหตุการณ์ระหว่างมารีนากับช่างไม้ (ชาร์ลส์ เบเกอร์) ช็อตโขดหินดังกล่าวบ่งบอกสภาวะทางจิตใจของมารีนา ซึ่งขัดแย้งกับช็อตทะเลสาบอันสงบนิ่งอย่างเด่นชัด และสอดคล้องไปกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา

ภาพกระแสน้ำวิ่งสูงขึ้นบนชายหาดเป็นอีกหนึ่งช็อตที่มาลิคจะย้อนกลับมาหาอยู่สองสามครั้ง มันตอกย้ำให้เห็นการเคลื่อนผ่านของเวลา หรือยุคสมัยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง (มาลิคและตากล้อง เอ็มมานูเอล ลูเบซสกี ถ่ายทอดปรัชญาแห่งชีวิตดังกล่าวผ่านงานด้านภาพที่ยังคงมุ่งเน้นการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยกล้องจะติดอยู่บนสเตดิแคม หรือบนบ่าตากล้องเกือบตลอดเวลา และหลายครั้งก็วิ่งตาม หรือหมุนวนควบคู่ไปกับอิริยาบถของตัวละคร)[3] พึงสังเกตว่าเขามักจะเลือกใช้ภาพทำนองนี้บ่อยครั้งในหนังที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลาอย่าง The Tree of Life และ The New World

อาจกล่าวได้ว่ามารีนาก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างจากโพคาฮอนตัสใน The New World มากนัก (หนังถึงขั้นเชื่อมโยงทั้งสองด้วยช็อตคล้ายคลึงกัน เมื่อกล้องจับภาพในมุมต่ำและย้อนแสง ขณะเธอกางแขนทั้งสองข้างออกราวกับจะโอบกอดท้องฟ้า หรืออ้อนวอนต่อพระเจ้า) เนื่องจากเธอต้องเดินทางเปลี่ยนผ่านจากโลกเก่าไปสู่โลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย (ปารีสมายังโอกลาโฮมา) มาลิคเป็นผู้กำกับที่ไม่กลัวการตัดภาพ (cut) ข้ามเวลาและสถานที่ แถมบางทีก็ใช้ jump cut ด้วย (เช่น ฉากคู่รักขับรถเปิดประทุนจากปารีสออกไปยัง มง แซ็ง มิแชล) ดังจะเห็นได้จากการตัดภาพจากสวนสาธารณะในปารีสไปยังภาพกระแสน้ำวิ่งขึ้นบนชายหาดรอบวิหาร มง แซ็ง มิแชล (ช็อตเชื่อมโยงเพื่อสื่อถึงความเปลี่ยนแปลง) ไปยังทุ่งหญ้าในโอกลาโฮมาหลังมารีนาตัดสินใจเดินทางไปอเมริกากับนีล การเคลื่อนกล้องอย่างต่อเนื่องช่วยลดอารมณ์กระตุกระหว่างช็อต แต่ขณะเดียวกัน คนดูก็ตระหนักถึงการกระโดดข้ามทางเวลาและสถานที่ได้ชัดเจนจากความเปลี่ยนแปลงของแสง โดยมาลิคมักจะเลือกถ่ายฉากยุโรปในสภาพอึมครึม เต็มไปด้วยเมฆหนา ส่วนฉากอเมริกากลับอบอวลไปด้วยแสงแดดสว่างไสว ท้องฟ้าถ้าไม่ปลอดโปร่ง ก็จะเปี่ยมสีสันแห่งยามอาทิตย์อัสดง (ในจุดนี้ ชะตากรรมของมารีนาถือว่าสวนทางกันกับโพคาฮอนตัส ผู้เดินทางจากโลกใหม่ของนักสำรวจจากยุโรป แต่เป็นโลกอันคุ้นเคยของเธอ ไปสู่โลกเก่า หรือทวีปยุโรป ซึ่งกลายมาเป็นโลกใหม่ของเธอ)

เช่นเดียวกับ The New World ซึ่งนำเสนอป่าเขาอันบริสุทธิ์เทียบเคียงกับสวนในพระราชวังที่ต้นไม้ถูกตัดแต่งเป็นรูปทรงต่างๆ อย่างประณีต ใน To the Wonder มาลิคไม่ได้ตัดสิน หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในความแตกต่างระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ สังคมเมืองในปารีสกับสังคมบ้านนอกในบาร์เทิลส์วิลล์ วิหารโบราณกับท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาล ประติมากรรมกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสินค้าวางเรียงรายเต็มชั้น เขาไม่ได้ก่นด่าทุนนิยม หรือโลกอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ตรงกันข้าม กลับเชื่อมโยงให้เห็นความเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะทุกสิ่งล้วนถือกำเนิดจากรากฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชายหาดที่ มง แซ็ง มิแชล หรือบึงโคลนที่นีลเดินย่ำสำรวจหาสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำทะเลที่วิ่งขึ้นบนชายหาด หรือน้ำทิ้งที่กำลังไหลลงท่อระบาย ในฉากหนึ่งบาทหลวงควินทานา (ฮาเวียร์ บาร์เดม) ได้กล่าวถึงชีวิตแต่งงานว่า เขาไม่ได้เห็นเธอน่ารัก แต่ทำให้เธอน่ารักประโยคดังกล่าวกินความถึงปรัชญาการทำหนังของมาลิคด้วย กล่าวคือ มาลิคไม่ได้เลือกถ่ายสิ่งต่างๆ เพียงเพราะมันสวยงาม แต่เขาทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นดูสวยงามต่างหาก ทั้งนี้ก็เพื่อสะท้อนความเชื่อในการซึมซาบกับปัจจุบันและสรรพสิ่งรอบตัว ไม่ว่ากาลเวลาจะพัดพาความเปลี่ยนแปลงใดๆ มาก็ตาม

อีกประเด็นหนึ่งที่มักปรากฏในหนังของมาลิค คือ คริสตศาสนา โดยคราวนี้เล่าผ่านตัวละครบาทหลวงที่กำลังเผชิญวิกฤติศรัทธา เขาร้องหาพระเจ้า ต้องการให้พระองค์รับฟัง ท่ามกลางความทุกข์ทรมานที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปในโลกที่ดูเหมือนจะปราศจากเมตตาแห่งพระเจ้า (ในหนังคนดูจะเห็นเขาเดินไปสัมผัสชีวิตเหล่าคนชนชั้นล่าง ตั้งแต่นักโทษในห้องขัง คนติดยา ไปจนถึงชาวบ้านที่ยากจนข้นแค้น) หนังดำเนินเหตุการณ์ของบาทหลวงควบคู่ไปกับวิบากกรรมเดี๋ยวรักเดี๋ยวเลิกของนีลกับมารีนา พร้อมทั้งสะท้อนความคล้ายคลึงกันในส่วนของ ความรักที่มอบให้ แต่ไม่อาจสัมผัสได้ถึงความรักตอบแทนกลับมาธีมดังกล่าวนอกจากจะบ่งบอกสถานการณ์ของบาทหลวงแล้ว ยังสะท้อนภาวะโศกเศร้า อมทุกข์ของมารีนาไปพร้อมๆ กันด้วย เมื่อเธอตกหลุมรักชายหนุ่มที่พูดน้อย ไม่ค่อยแสดงออก และรักษาระยะห่างอย่างนีล การย้ายรกรากมาอยู่ใน โลกใหม่ยิ่งทำให้เธออ่อนไหว เปราะบางมากเป็นพิเศษ ซ้ำร้าย ในช่วงระหว่างที่หญิงสาวต้องเดินทางกลับฝรั่งเศสเพราะวีซาหมดอายุ ฝ่ายชายยังหันไปสานสัมพันธ์กับรักเก่าอย่างเจน (ราเชล แม็คอดัมส์) อีกด้วย และความลังเล ไม่แน่ใจของเขาก็เพิ่มรอยร้าวให้กับสายสัมพันธ์

คำถามที่ตามมา คือ รักซึ่งไม่ถูกตอบแทนถือเป็นความสูญเปล่าหรือไม่ แน่นอน คำตอบไม่ใช่สิ่งที่มาลิคสนใจนำเสนอ หนังของเขาอาจหมกมุ่นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคยพิสูจน์ให้เห็นความมีอยู่จริงของฝ่ายหลัง  หากเพียงแสดงถึงความสงสัยใคร่รู้ โหยหา หรือ หิวกระหาย” (ตามเสียงบรรยายของบาทหลวงควินทานา) เสียมากกว่า และถึงแม้จะเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความสูญเสีย การหักหลัง แต่ก็เช่นเดียวกับหนังเรื่องอื่นๆ ของมาลิคนับจาก The New World เป็นต้นมา To the Wonder มีเนื้อแท้เป็นบทเฉลิมฉลองชีวิต ความรัก และศรัทธา เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์เปิดรับประสบการณ์ และยอม เสี่ยงที่จะผูกมัดตัวเอง แม้ผลที่ตามมาอาจกลายเป็นความผิดพลาด หรือนำเราไปสู่การพลัดพรากก็ตาม... เพราะนั่นเองคือชีวิต




[1] เช่นเดียวกับ The Tree of Life มาลิคได้แรงบันดาลใจหลักมาจากชีวิตจริงของตนเอง โดยในช่วงฤดูร้อนปี 1978 หลังจากปิดกล้อง Days of Heaven เขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ปารีสเพื่อเริ่มต้นโครงการหนังเรื่องใหม่ภายใต้ชื่อสมมุติว่า Q ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับจุดกำเนิดของชีวิต (มันกลายเป็นหนังเรื่อง The Tree of Life ในอีก 33 ปีต่อมา) ที่นั่นเขาตกหลุมรักกับ มิเชล สาวชาวปารีสผู้มีลูกสาวติดมาคนหนึ่งชื่อว่าอเล็กซ์ สองสามปีต่อมาพวกเขาทั้งสามก็ย้ายมาตั้งรกรากกันที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส มาลิคแต่งงานกับมิเชลในปี 1985 และหย่าขาดจากกันในปี 1998 โดยในปีเดียวกันนั้น มาลิคก็ได้แต่งงานกับ อเล็กซานดรา เอ็คกี วอลเลซ อดีตหวานใจของเขาในช่วง ม.ปลาย ปัจจุบันทั้งสองยังคงใช้ชีวิตร่วมกัน (พ่อของเอ็คกีเป็นบาทหลวงนิกายอิปิสโคปอล ซึ่งอาจเป็นที่มาของตัวละครบาทหลวงใน To the Wonder)

[2]นักแสดงทุกคนต้องเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลาในหนังของ เทอร์เรนซ์ มาลิค มันเป็นภาคบังคับโอลกา คูรีเลนโก ผู้มีพื้นฐานในการเต้นบัลเล่ต์มาก่อนกล่าว ถ้าคุณหยุด เขาจะบอกว่า อย่าหยุด เคลื่อนที่ต่อไปคุณไม่สามารถหยุดนิ่งได้ มันเป็นเหมือนการเต้นรำ

[3] ไม่เพียงงานด้านภาพเท่านั้นที่พยายามแสดงภาวะ การเต้นรำของชีวิตมาลิคยังวางการเคลื่อนไหวของนักแสดงเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกแทนคำพูดอีกด้วย ฉากหนึ่งที่เห็นได้ชัดเป็นตอนที่มารีนายอมตามช่างไม้มายังโรงแรมม่านรูดแห่งหนึ่ง กิริยาและทิศทางการเคลื่อนที่ของนักแสดงดูคล้ายพวกเขากำลังแสดงจินตลีลา ซึ่งสะท้อนความลังเล ไม่แน่ใจในตัวละครไปพร้อมๆ กัน