วันจันทร์, กรกฎาคม 25, 2559

A Bigger Splash: มารยาริษยา


คนดูที่คุ้นเคยกับหนังเล่าเรื่องในสไตล์คลาสสิกฮอลลีวู้ด เมื่อทุกๆ รายละเอียดนำไปสู่การไขปมปริศนา หรืออธิบายพฤติกรรมตัวละครจนกระจ่าง อาจรู้สึกพิศวงไม่น้อยกับหนังเรื่อง A Bigger Splash ซึ่งสามารถจัดเข้าข่ายหนังลึกลับ เขย่าขวัญได้ เพราะสุดท้ายแล้วมันมีฉากฆาตกรรม (แม้จะเกิดขึ้นเมื่อหนังดำเนินไปเกินครึ่งเรื่องแล้วก็ตาม)  มีปมริษยา หึงหวง และการเข้ามาสืบสวนคดีของตำรวจ แต่ทั้งหมดดูคล้ายตกกระไดพลอยโจรมากกว่าเป็นความจงใจตั้งแต่ต้น (เช่นเดียวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น) อารมณ์ลุ้นระทึกในลักษณะ ฆาตกรจะถูกจับได้ไหม อาจพอมีให้เห็นบ้างจางๆ แต่นั่นดูจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หรือเป็นสิ่งที่หนังใส่ใจอยากปลุกเร้าคนดูอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเฉกเช่นหนังเขย่าขวัญทั่วไป

ความพิศวงหาได้จำกัดอยู่แค่การบิดเบือนตระกูลหนังจากสูตรสำเร็จเท่านั้น แต่ยังกินความไปถึงรายละเอียดหลายจุดที่ถูกนำเสนอแบบคลุมเครือ บ้างก็อาจพอจะหาคำตอบได้จากเบาะแสแวดล้อม แม้หนังจะจงใจไม่นำเสนอให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น คำถามที่ว่า พอล (มัตเธียส สคูแนร์ตส์) กับ เพเนโลปี (ดาโกตา จอห์นสัน) ลงเอยด้วยการมีอะไรกันหรือเปล่า แผลที่เอวของฝ่ายชายเกิดจากเซ็กซ์บนโขดหิน หรือการต่อสู้กับแฮร์รี (เรล์ฟ ไฟนส์) ในสระว่ายน้ำกันแน่ ทั้งเพเนโลปีและแมรีแอนน์ (ทิลดา สวินตัน) ต่างสังเกตเห็นรอยแผล พูดถึงมันที่สถานีตำรวจ แต่หนังกลับตัดบทก่อนคนดูจะทราบแน่ชัดถึงที่มาแท้จริงของรอยแผลนั้น วิเคราะห์จากบทสนทนาบางช่วงของเพเนโลปี (“มันวิเศษที่สุด หนูจะจดจำมันไปตลอด”) ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองเดินทางกลับที่พักค่ำมืดดึกดื่นด้วยข้ออ้าง หลงทาง ทำให้คนดูทึกทักว่าทั้งสองคงลงเอยด้วยการมีอะไรกัน และคำถามเกี่ยวกับรอยแผลของแมรีแอนน์ก็เป็นจุดที่ทำให้เธอฉุกคิดว่าคู่รักหนุ่มแอบนอกใจ

แต่ในเวลาเดียวกัน เราอาจตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างตรงที่เพเนโลปีพยายามอ่อยพอลอยู่หลายครั้ง และเขามักแสดงทีท่าไม่สนใจเธอ หรือบอกปัดอย่างไร้เยื่อใย แม้สกิลการอ่อยของเธอที่ทะเลสาบจะพีคถึงขั้นสุดและไร้ขีดจำกัดยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ก็ตาม บางทีรอยแผลอาจเกิดขึ้นในสระว่ายน้ำ (ซึ่งนั่นไม่จำเป็นต้องแปลว่าพอลกับเพเนโลปีไม่มีอะไรกัน) และบทสนทนาที่ถูกขัดจังหวะระหว่างแมรีแอนน์กับเพเนโลปี ณ สถานีตำรวจบ่งชี้ว่าพวกเธอต่างรู้ตัวฆาตกร พร้อมทั้งพยายามปกปิดความจริงกับสารวัตร คนแรกด้วยการเบี่ยงเบนความน่าสงสัยไปยังเหล่าผู้อพยพ คนหลังด้วยการโกหกว่าเธอเข้านอนเร็ว และ น่าจะเป็นคนทิ้งแผ่นเสียงลงในสระเพื่อให้ดูเหมือนการฆ่าตัวตาย/อุบัติเหตุ เพราะแฮร์รีดูจะมีความผูกพันเป็นพิเศษกับอัลบั้ม Emotional Rescue ของวง The Rolling Stones สังเกตจากสีหน้าแปลกใจของพอลเมื่อเห็นอัลบั้มที่ก้นสระ ก่อนกล้องจะตัดไปยังเพเนโลปีในระยะไกลซึ่งดูไม่สะทกสะท้านใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับแมรีแอนน์ เพราะเธอรู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น (แต่มองในอีกมุม เธอก็ไม่ได้สนิทสนมกับแฮร์รีมากนัก และเพิ่งรู้ข่าวว่าเขาเป็นพ่อที่แท้จริงเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ บางทีปฏิกิริยาของเธออาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลก)

นอกเหนือจากนี้ยังมีความคลุมเครือที่ถูกทิ้งปลายเปิด โดยปราศจากคำอธิบายชัดเจนใดๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่เพเนโลปีโกหกเรื่องอายุ ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่าเธอสามารถพูดอิตาเลียนได้อย่างคล่องแคล่ว (ข้อแรกเป็นได้ว่าเธออาจต้องการหลอกล่อพอล ซึ่งอาจไม่หลวมตัวหากรู้ว่าเธอยังไม่บรรลุนิติภาวะ) หรือความสัมพันธ์แท้จริงระหว่างแฮร์รีกับเพเนโลปี ซึ่งดูไม่เหมือนพ่อลูกกันไม่ว่าจะโดยบุคลิก หรือพฤติกรรมการแสดงออก เขาดูคล้ายเด็กหนุ่มในร่างชายวัยกลางคน ขณะเธอก็ดูเย็นชา วางมาดแข็งแกร่ง มั่นใจเกินวัย จนกระทั่งเมื่อเธออยู่ตามลำพังบนเครื่องบิน ความหนักหนาสาหัสของสถานการณ์จึงเริ่มจู่โจม ทำให้กำแพงหินที่ก่อขึ้นรอบตัวเธอพังทลายลงในที่สุด เป็นไปได้ว่าเพเนโลปีอาจเป็นลูกสาวเขาจริงๆ หรืออาจเป็นแค่ผู้หญิงอีกคนของแฮร์รี แต่ที่น่าจะปรากฏชัดเจน คือ เขาพาเธอมาเพื่อล่อหลอกพอล เพราะเขาหวังจะทวงแมรีแอนน์คืน แบบเดียวกับเมื่อเขานำพอลมาล่อหลอกแมรีแอนน์เพื่อหาทางถอนตัวจากเธอ การที่เพเนโลปีพูดประโยคเดียวกันกับที่แมรีแอนน์บอกแฮร์รีให้เลิกตามตื๊อเธอบ่งชี้ว่าบางทีเพเนโลปีอาจรู้อะไรมากกว่าที่เธอแสดงออก

การเปิดช่องให้คนดูจินตนาการเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ในหนังแถบยุโรป ซึ่งบางครั้งก็เพื่อต่อต้าน หรือบิดผันกลวิธีเล่าเรื่องแบบฮอลลีวู้ด ด้วยความเชื่อที่ว่าบางครั้งเราก็ไม่อาจล่วงรู้จิตใจ ความเปราะบาง หรือปมซับซ้อนในใจมนุษย์/ตัวละครได้อย่างถ่องแท้ บางครั้งชีวิตก็ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างได้ด้วยภาพเพียงไม่กี่ช็อต และความขัดแย้งก็ไม่อาจคลี่คลายได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ในเวลาเดียวกันความคลุมเครือที่ผู้กำกับ ลูกา กัวดาญีโน (I Am Love) จงใจใส่เข้ามายังมีนัยยะไปถึงภาวะ “คลื่นใต้น้ำของคู่รัก ตลอดจนอารมณ์หึงหวง คับแค้นใจที่ถูกเก็บกดเอาไว้ภายใต้ความศิวิไลซ์ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างราบรื่น

ต้องยอมรับว่าธรรมชาติของความหึงหวงนั้นหลายครั้งเกิดจากจินตนาการในหัวมากกว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏเบื้องหน้า การรับรู้เพียงน้อยนิด หรือคลุมเครือไม่ได้ช่วยปลุกปลอบอารมณ์ให้เย็นลง แต่กลับโหมกระพือความรู้สึกจากความคิดในหัวซึ่งเตลิดไปไกล สะท้อนผ่านการที่หนังปิดกั้นคนดูไม่ให้ตระหนักข้อมูลบางอย่าง หรือการจงใจใส่ปริศนาคลุมเครือเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งจากบทสนทนาสองแง่สองง่าม ความนัยเชิงโฮโมอีโรติกระหว่างพอลกับแฮร์รีที่ไม่ถูกสำรวจตรวจสอบ การตัดข้ามบทสนทนาและเหตุการณ์ก่อนมันจะได้บทสรุปชัดเจน ดังเช่นบทสนทนาเกี่ยวกับแผลของพอลที่สถานีตำรวจและฉากพอลกับเพเนโลปีที่ทะเลสาบ หรือกระทั่งการเลือกช็อตบางช็อตที่ไม่แน่ชัดในจุดประสงค์ เช่น ภาพโคลสอัพรอยแผลบนขาของแมรีแอนน์กับแม่บ้านระหว่างพวกเธอนั่งรอตำรวจมาตรวจศพแฮร์รี เราคาดเดาได้ว่าแผลนั้นเกิดจากอะไร แต่ไม่แน่ใจมันมีความสำคัญแค่ไหนต่อเรื่องราว เหล่านี้ล้วนมีส่วนปลุกเร้าธรรมชาติของอารมณ์หึงหวงไปพร้อมๆ กัน

หนังเปิดเรื่องด้วยภาพวันหยุดพักร้อนแสนรื่นรมย์ของพอลกับแมรีแอนน์ ซึ่งใช้เวลาวันๆ หมดไปกับการอาบแดด มีเซ็กซ์ในสระว่ายน้ำ และนอนเล่นชายหาด พวกเขาแทบไม่ได้พูดจาสื่อสารใดๆ กันเลย สาเหตุหนึ่งคงเพราะแมรีแอนน์เพิ่งผ่าตัดกล่องเสียง และหมอแนะนำให้เธอใช้เสียงให้น้อยที่สุด แต่ความสงบสุขกำลังจะถูกกวนให้ขุ่นพร้อมการมาถึงของแฮร์รี ซึ่งไม่เพียงมีบุคลิกพูดจ้อไม่หยุดเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนตัวแทนของสัญชาตญาณดิบในจิตไร้สำนักของมนุษย์ทุกคนจากพฤติกรรมห่ามๆ มุทะลุ คลั่งเซ็กซ์ (เขาอึ๊บคนไม่เลือกเพศ อายุ จำนวนผู้เข้าร่วม หรือสถานที่) และพูดจาแบบตรงไปตรงมา ไม่รู้จักถนอมน้ำใจคน จนไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อเขาถูก “จับกดน้ำในท้ายที่สุด ตัวละครแต่ละคนก็ดูเหมือนจะไม่ได้เจ็บแค้น หรือเสียใจมากเท่าใด (ปฏิกิริยาของแมรีแอนน์เป็นส่วนผสมของความช็อกเสียมากกว่าความเศร้า) เพราะสุดท้ายทุกคนจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตอันสงบสุขได้อีกครั้ง อย่างน้อยก็บนพื้นผิว

ถ้าช่วงเวลาห้านาทีแรกเปรียบเสมือนการสถาปนาสวนอีเดนของอดัมกับอีฟ การเดินทางมาถึงของแฮร์รีกับเพเนโลปีก็คงไม่ต่างจากการปรากฏตัวขึ้นของงูที่เลื้อยบุกรุกเข้ามาในบ้านพักตากอากาศ พวกเขาล่อลวง ยุยง ปั่นหัวให้คู่รักแปดเปื้อน แล้วร่วงหล่นจากสรวงสวรรค์  ลางร้ายของหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามายังถูกถ่ายทอดผ่านลมร้อนจากทะเลทราย ซึ่งไล่หลังแฮร์รีมาติดๆ ขณะเดียวกันเกาะเล็กๆ ที่ดูสวยงาม สงบสุข น่าพักผ่อนหย่อนใจ แท้จริงแล้วกลับซุกซ่อนความวุ่นวาย ฟอนเฟะเอาไว้ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างพอลกับแมรีแอนน์ ทั้งจากประวัติศาสตร์ของการเป็นเมืองค้าทาส ซากปรักหักพังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือประเด็นปัจจุบันทันเหตุการณ์กับปัญหาผู้อพยพหนีภัยสงคราม

พอลด่าแฮร์รีว่าน่ารังเกียจ ลามก หยาบโลน ซึ่งฝ่ายหลังโต้กลับว่า “เราทุกคนก็น่ารังเกียจทั้งนั้น” ฉากดังกล่าวมีความนัยไม่ต่างจากบทสนทนาระหว่าง id กับ ego คำพูดของแฮร์รีตั้งข้อสังเกตว่าเราทุกคนล้วนมีแรงปรารถนาทางเพศ สัญชาตญาณรุนแรง ก้าวร้าวอยู่ภายใน เขาแค่กล้าที่จะยอมรับมัน แล้วตอบสนองตามความพึงพอใจ ขณะที่พอลพยายามยกตนเหนือคนอย่างแฮร์รี อวดอ้างศีลธรรมจรรยา แต่สุดท้ายก็ไม่อาจยับยั้งอารมณ์ใฝ่ต่ำภายในได้ นั่นช่วยพิสูจน์ความจริงแท้ในคำพูดของแฮร์รี และในเวลาเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนการเก็บกดความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์

A Bigger Splash ได้แรงบันดาลใจจากหนังฝรั่งเศสเรื่อง La Piscine (The Swimming Pool) แต่ในเวอร์ชันต้นฉบับ คู่รักหนุ่มสาว (รับบทโดย อแล็ง เดอลง กับแฟนสาวในตอนนั้น โรมี ชไนเดอร์) ไม่ได้อายุแตกต่างกันมากเหมือนพอลกับแมรีแอนน์ในเวอร์ชั่นนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยิ่งเพิ่มพลังคุกคามของแฮร์รีต่อพอล ซึ่งมีลักษณะ “ช้างเท้าหลัง” ในชีวิตคู่ คอยตามดูแลภรรยาผู้โด่งดังและอายุมากกว่า นั่นยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงเรื่องความตกต่ำทางอาชีพการงานของเขา หนังสารคดีที่ยังสร้างไม่เสร็จ และอาการติดเหล้าจนนำไปสู่ความพยายามฆ่าตัวตาย ตรงกันข้ามกับพอล แฮร์รีมีสถานะทัดเทียมกับแมรีแอนน์ พวกเขาอยู่ในวัยไล่เลียกัน มีบุคลิกรักสนุก ชอบเข้าสังคมเหมือนกัน (การต้องอดเหล้าเป็นเพื่อนพอลคงไม่ใช่สิ่งที่เธอเอ็นจอยเท่าไหร่) และแชร์ความทรงจำร่วมกันมากมาย ในแง่หนึ่งชื่อเสียงของแมรีแอนน์ ซึ่งทรงพลังในหลายระดับตั้งแต่ใช้เป็นบัตรเบ่งหาโต๊ะว่างในร้านอาหาร ไปจนถึงช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิดเนื่องจากตำรวจที่มาสืบคดีเป็นแฟนเพลง และดูยินดีจะมองข้ามข้อสงสัยบางอย่าง ก็น่าจะส่วนผลักดันให้พอลรู้สึกต่ำต้อย ด้อยค่า ไม่แพ้อารมณ์หึงหวงจากการเห็นแฮร์รีกับแมรีแอนน์รำลึกความหลัง หรือเที่ยวเล่น ดื่มเหล้ากันอย่างสบายใจ และการที่เด็กสาวสวยอย่างเพเนโลปีแสดงท่าทีอยากเจริญรอยตามเขา ขอความเห็นจากเขา มันช่วยโหมกระพืออีโก้ของพอลให้พองโต นอกเหนือไปจากตัณหาราคะ หรือความต้องการจะ เอาคืนบางทีแฮร์รีอาจตระหนักดีว่าเด็กสาวอย่างเพเนโลปีย่อมไม่แผ่รังสีข่มความเป็นชายของพอลมากเท่าแมรีแอนน์ นั่นเป็นเหตุผลที่เขากระเตงเธอมาเป็นเหยื่อล่อ

แต่ความจริงที่พอลไม่รับรู้ (และแมรีแอนน์ก็ไม่คิดจะชี้แจงตัวเองให้ชัดเจนด้วยการกันตัวเองออกห่างจากแฮร์รี ไม่ว่าจะด้วยใจหนึ่งอาจลังเล อยากรำลึกอดีต หรือเพราะเธอไม่คิดว่าพอลจะหึงหวง หรือเก็บไปคิดวุ่นวายก็ตาม) คือ แมรีแอนน์ไม่มีความต้องการอยากกลับหาแฮร์รี สำหรับเธอมันจบไปแล้ว เธอรักพอล

อย่าทำแบบแฮร์รี สงวนท่าทีและหุบปากไว้” พอลแนะนำเพเนโลปีเกี่ยวกับการเดินทางไปทำสารคดีในต่างแดน แต่มองอีกมุมอาจสะท้อนภาพความสัมพันธ์ของเขากับแมรีแอนน์ได้เช่นกัน (หรือความพยายามของมนุษย์ที่จะเก็บกดสัญชาตญาณดิบเอาไว้) ต่างคนต่างล้มเหลวในการสื่อสาร ไม่ยอมบอกกล่าวความรู้สึก ความอัดอั้นแท้จริงภายในออกมา แล้วรักษาบรรยากาศอันชื่นมื่นเป็นเปลือกนอกเพื่อกลบเกลื่อนความขมขื่น หรือไม่พอใจในเบื้องลึก จริงอยู่ความสัมพันธ์ในอดีตของแมรีแอนน์กับแฮร์รีอาจเต็มไปด้วยพฤติกรรมบ้าคลั่ง เสพยา ปาร์ตี้ ทำลายล้าง และดูเป็นพิษ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ตรงไปตรงมา โอบกอดแรงปรารถนาโดยไม่แคร์การรักษามารยาทอันดี

ฉากหลังของหนังเป็นเกาะแพนเทลเลอเรียในประเทศอิตาลี ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศตูนิเซีย จึงมีข่าวผู้อพยพล่องเรือมาและตายกลางทะเลอยู่เนืองๆ ภาษากลายเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อตำรวจต้องพูดคุยกับผู้อพยพ หรือสอบสวนบรรดาผู้พักอาศัยที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลักในบ้านพักตากอากาศ แม่บ้านชาวอิตาเลียนต้องรับหน้าที่ล่ามจำเป็น ซึ่งบางครั้งก็แปลงสารเป็นคนละความหมาย แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ยังพยายามดิ้นรนเพื่อสื่อสารกัน หนังดูจะจบแบบเจือความหวัง ไม่ใช่เพียงแค่อารมณ์ขันในฉากสุดท้ายเท่านั้น แต่จากการที่พอลสารภาพความจริงกับแมรีแอนน์ ในที่สุดเขาตระหนักแล้วว่าทุกอย่างเลยเถิดมาถึงขั้นนี้แท้จริงแล้วเป็นเพราะการสงวนท่าทีและเลือกที่จะหุบปากไว้นั่นเอง