วันจันทร์, มิถุนายน 19, 2549

A History of Violence: ความดีงามคือภาพลวงตา?



เรื่องราวของชายธรรมดาคนหนึ่งที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องแสดงวีรกรรม ต่อสู้กับเหล่าวายร้ายจอมโหด และกระทั่งลงมือฆ่าคนเป็นครั้งแรก คือ พล็อตคลาสสิกที่ฮอลลีวู้ดหลงรักมาเนิ่นนานนับแต่ Die Hard จนถึง Firewall โดยเป้าหมายหลักของหนังประเภทนี้ คือ ดึงคนดูให้คอยลุ้นเอาใจช่วยตัวเอกให้รอดพ้นอันตราย พร้อมกับนึกชื่นชมความสามารถ ความฉลาดหลักแหลมของเขา โดยไม่ทัน ‘ฉุกคิด’ ถึงความเป็นไปได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันพยายามจะโน้มน้าวคุณให้หลงลืมโลกแห่งความเป็นจริงชั่วขณะ แล้วเพลิดเพลินไปกับการคลี่คลายของปมวิกฤติเบื้องหน้านั่นเอง

หลังจาก A History of Violence เดินเรื่องมาได้ครึ่งทาง ทุกอย่างทำท่าเหมือนจะพุ่งตรงไปตามเส้นทางของหนังแอ็กชั่นป็อปคอร์น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนดูได้เห็น ทอม สตอล ชายหนุ่มธรรมดาในเมืองบ้านนอกเล็กๆ ฟาดหัวโจรใจเหี้ยมด้วยหม้อต้มกาแฟ แย่งปืนมา แล้วยิงโจรอีกคนตาย ก่อนจะหันกลับมายิงแสกหน้าโจรคนแรกอย่างคล่องแคล่ว แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างกลับสื่อนัยให้เห็นว่าผู้กำกับ เดวิด โครเนนเบิร์ก ไม่ได้ต้องการเพียงสร้างหนังสนุกตามแนวทางเท่านั้น และความรู้สึกดังกล่าวก็เกิดขึ้นก่อนเรื่องราวจะดำเนินมาถึงบทเฉลย ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของทอมด้วยซ้ำ

ในฉากการเผชิญหน้าระหว่างทอมกับสองโจร โครเนนเบิร์กได้สอดแทรกช็อตชวนสยองขั้นรุนแรงเข้ามาประมาณไม่กี่วินาที เป็นภาพโคลสอัพใบหน้าเหวอะหวะของโจรคนที่โดนยิงแสกหน้า ซึ่งเผยให้เห็นเศษเนื้อแดงฉาน เลือด กระดูกเปลือยเปล่า และอาการดิ้นกระตุกครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะสิ้นลม

บางคนอาจคิดว่าโครเนนเบิร์กจงใจแทรกช็อตนั้นเข้ามาเพียงเพื่อช็อกคนดูตามประสานักทำหนังที่มี “ประวัติ” ความรุนแรง(1)

แต่นั่นคือเหตุผลทั้งหมดจริงๆ หรือ

แน่นอน ช็อตดังกล่าวช็อกคนดูอย่างได้ผล แต่อาการช็อกที่ว่าหาได้เกิดจากความสยองระยะประชิดของภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะมันคือการตีแสกหน้าคนดู ด้วยการสะท้อนถึง ‘ผลลัพธ์’ แบบจะๆ ของความรุนแรง ซึ่งหนังแอ็กชั่นฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่มักมองข้าม หรือบางครั้งอาจถึงขั้นถ่ายทอดให้ดูโรแมนติก สวยงาม

ภาพนั้นตามกลับมาหลอกหลอนและรบกวนจิตใจคนดูอยู่ลึกๆ เมื่อทอมได้รับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษชั่วข้ามคืน กล่าวคือ ใจหนึ่งเราอยากชื่นชม ยกย่องการกระทำของทอม (เหมือนพนักงานคนอื่นๆ ในร้านอาหารที่เขาช่วยชีวิตไว้) แต่ภาพใบหน้าเละเทะจากแผลกระสุนได้ช่วยลดทอนอารมณ์ฮึกเหิมลงหลายระดับ ด้วยการเผยให้เห็นแง่มุมอัปลักษณ์ของความรุนแรงอย่างหมดเปลือก

อีกฉากที่ให้อารมณ์ใกล้เคียงกัน คือ ตอนแจ๊ค ลูกชายของทอม ซ้อมบ๊อบบี้ นักเลงประจำโรงเรียนที่ตามรังควานเขามาตลอด จนลงไปนอนเลือดสาดบนพื้นทางเดินหน้าตู้ล็อกเกอร์ โดยใจหนึ่งคนดูอาจรู้สึกสะใจที่แจ๊คกล้าลุกขึ้นต่อสู้กับความชั่วร้าย แต่ท่าทีแข็งกร้าว เกรี้ยวกราดของแจ๊ค ตลอดจนผลลัพธ์ที่รุนแรงเกินคาด (บ๊อบบี้ต้องไปนอนโรงพยาบาล ส่วนครอบครัวสตอลก็อาจจะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง) ทำให้เรานึกตั้งคำถามต่ออารมณ์ ‘สะใจ’ นั้น

โครเนนเบิร์กเข้าใจดีว่าความรุนแรง ‘ปลุกเร้า’ มนุษย์ (นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่หลายคนเลือกชะลอรถเวลาเห็นอุบัติเหตุบนท้องถนน) และเขาก็ใช้มันตอบสนองแรงกระหายดังกล่าวในเบื้องลึกของคนดูอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ต้องการให้คนดูหนีห่างจากโลกแห่งความจริงเหมือนหนังฮอลลีวู้ดเรื่องอื่นๆ เพราะทุกครั้งที่เกิดความรุนแรง ย่อมมีผลลัพธ์ตามมา และส่วนใหญ่มันก็ไม่ค่อยน่าพิสมัยเท่าไหร่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง โครเนนเบิร์กไม่เพียงแค่อยากให้เราสนุกกับความรุนแรงบนจอเท่านั้น แต่เขายังอยากให้เราตั้งคำถามด้วยว่าทำไมเราถึง ‘สนุก’ ไปกับความสยองเหล่านั้น

นั่นคือเหตุผลว่าทำไม นักวิจารณ์ชื่อดัง มโนห์รา ดากิส แห่ง นิวยอร์ก ไทมส์ ถึงขนานนามให้ A History of Violence เป็นหนัง ‘feel- good, feel-bad’ แห่งปี

เป็นไปได้ไหมว่าเราทุกคนล้วนเคยมี ‘ประวัติ’ ความรุนแรงเช่นเดียวกับ ทอม สตอล... เป็นไปได้ไหมว่าเราทุกคนล้วนมีวิญญาณ ‘ฆาตกร’ ซุกซ่อนอยู่ รอวันที่จะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา

เหตุการณ์ยิงกันในร้านอาหารกลายเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ ให้แจ๊คยืนหยัดต่อสู้กับนักเลงประจำโรงเรียนและก้าวไปไกลกว่านั้นในฉากการเผชิญหน้าระหว่างพ่อของเขากับ คาร์ล ฟอการ์ตี้ หรือกระทั่ง อีดี้ สตอล ตัวละครที่ดูเหมือนจะขาวสะอาด ก็ยังไม่วายได้รับผลกระทบ เมื่อด้านมืดของเธอถูกปลดปล่อยออกมาอย่างดุเดือดในฉากที่เธอร่วมรักด้วยลีลาดิบเถื่อนกับทอม/โจอี้บนบันไดบ้าน คนดูรู้สึกช็อกกับการแปลงสภาพจากสถานะแม่/ภรรยามาเป็นผู้หญิงเร่าร้อน หื่นกระหายของอีดี้มากพอๆ กับตัวเธอเอง ใจหนึ่งเธออาจนึกรังเกียจทอม/โจอี้ สามี/อาชญากรที่ฆ่าคนเพื่อเงินและความสนุก แต่อีกใจหนึ่งเธอก็ตระหนักถึงความเย้ายวนของสามี ‘คนใหม่’ อย่างไม่อาจปฏิเสธ และเผลอปล่อยตัวปล่อยใจไปกับมัน

ฉากเซ็กซ์บนขั้นบันไดให้ความอารมณ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับฉากเซ็กซ์บนเตียงตอนต้นเรื่อง เมื่ออีดี้แต่งตัวเป็นเชียร์ลีดเดอร์ แล้วแสร้งรับบทเด็กสาววัยรุ่น ที่กำลังแอบมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มในบ้านพ่อแม่ ตอนนั้น ทอมยังเป็นสามีที่น่ารัก เป็นพ่อที่ยอดเยี่ยม และเป็น “ผู้ชายที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยรู้จักมา” ในสายตาของอีดี้ แต่ความจริง คือ ไม่ใช่ ทอม สตอล เท่านั้นที่ ‘เพอร์เฟ็กต์’ ผู้กำกับโครเนนเบิร์กดูเหมือนจะพยายามทำให้ทุกอย่างสวยงาม ลงตัวไปหมด เมืองที่พวกสตอลอาศัยอยู่เป็นเมืองเงียบสงบ ร่มรื่น ผู้คนยิ้มแย้ม เป็นกันเอง ไม่มีแม็คโดนัลด์ วอลมาร์ท ไม่มีขอทาน ไม่มีพวกเร่ร่อน ไม่มีคนร้าย ไม่มียาเสพติด และปัญหาเดียวที่ทอมต้องรับมือ คือ เก็บขยะสองสามชิ้นที่มีคนมาวางทิ้งไว้หน้าร้านอาหารเขา

มันดูเหมือนเมืองสวยงามในนิทานมากกว่าเมืองจริงๆ เช่นเดียวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวสตอลซึ่งอบอุ่น รักใคร่อย่างน่าอิจฉา โดยในฉากเปิดตัวพวกเขา คนดูจะได้เห็นทุกคนตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อปลอบโยนซาร่าห์ ที่ฝันเห็นปีศาจและกรีดร้องลั่นด้วยความเป็นห่วง ไม่เว้นแม้กระทั่งพี่ชายวัยรุ่น ซึ่งช่วยแก้ไขสถานการณ์อย่างเข้าอกเข้าใจ

“ปีศาจไม่มีอยู่จริงหรอก” ทอมปลอบลูกสาว

แต่คำพูดของทอมขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากในฉากเปิดเรื่องก่อนหน้า โครเนนเบิร์กได้แสดงให้คนดูประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่าปีศาจมีอยู่จริง เมื่อสองโจรชั่วลงมือฆ่าแม่บ้าน พนักงานประจำเคาน์เตอร์ และเด็กหญิงตัวเล็กๆ อย่างไม่อินังขังขอบ คราบเลือดที่สาดกระจายไปทั่ว หรือสภาพศพอันน่าหดหู่ หาได้ชวนขนลุกมากไปกว่าท่าทางไม่แยแส หรือหน้าตาอันไร้อารมณ์ของคนร้าย ตลอดจนความไร้เหตุผลแห่งพฤติกรรมรุนแรงดังกล่าว มันดูเหมือนว่าพวกเขาเคยทำแบบเดียวกันนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จนไม่รู้สึกผิด หรือตื่นเต้นกับมันอีกต่อไป การฆ่าเป็นแค่กิจวัตรน่าเบื่อสำหรับพวกเขา

การตัดอย่างรวดเร็วจากภาพโจรยิงเด็กหญิงในฉากเปิดเรื่องไปยังภาพของซาร่าห์กรีดร้องกลางดึก ทำให้นักดูหนังคาดเดาได้ไม่ยากว่า อีกไม่นาน โลกทั้งสอง (โจรกับครอบครัวสตอล) ซึ่งเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามระหว่างดำกับขาว จะต้องเวียนมาบรรจบกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกับบรรดาหนังแอ็กชั่นหลายเรื่องที่นำแสดงโดย แฮร์ริสัน ฟอร์ด หรือ บรูซ วิลลิส แต่ความแตกต่างสำคัญ คือ โครเนนเบิร์กไม่ได้พยายามรักษาภาพลักษณ์ขาวสะอาดของโลกแห่งความชอบธรรมเอาไว้เหมือนในหนังแอ็กชั่นเหล่านั้น ตรงกันข้าม แทนที่จะตอกย้ำอุดมคติอันเลื่อนลอย เขากลับเรียกร้องให้เราหันมาสำรวจตัวเอง โดยใช้โลกแห่งความชั่วร้ายเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ ให้ตะกอนที่ซ่อนลึกอยู่ในความงดงาม ความสงบนิ่ง ค่อยๆ ผุดขึ้นสู่ผิวน้ำ... บางครั้งปีศาจอาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด

ทัศนคติของโครเนนเบิร์กค่อนข้างมืดหม่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับใครก็ตามที่คุ้นเคยกับผลงานในอดีตของเขา กระนั้นก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว โครเนนเบิร์กไม่ได้ทอดทิ้งศรัทธา หรือความหวังอย่างสิ้นเชิง จริงอยู่ เขาอาจมองเห็นความวิปริตในตัวมนุษย์ และนำมันมาตีแผ่อย่างปราศจากการประนีประนอม แต่ลึกๆ แล้ว เขายังเชื่อว่ามนุษย์สามารถค้นพบความสุขได้ หากเราเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อด้อยเหล่านั้น เช่น ‘นัยยะ’ ของฉากสุดท้าย เมื่อทอมเดินทางกลับถึงบ้านหลังเสร็จสิ้น ‘ภารกิจ’

แทนการต้อนรับอย่างอบอุ่นแบบหนังฮอลลีวู้ดทั่วไป สิ่งที่คนดูได้เห็นในฉากนี้กลับเป็น ความอึดอัด สับสน และไม่แน่ใจ ภาพครอบครัวสตอลที่สวยงามเกินจริงในช่วงต้นเรื่องถูกกระชากออก และไม่มีทางที่พวกเขาจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก ทุกอย่างดูหดหู่ สิ้นหวัง เหมือนไร้ทางออก แต่แล้วจู่ๆ โดยไม่พูดอะไรสักคำ ซาร่าห์ ตัวละครซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบน้อยสุดจากเหตุการณ์ทั้งหมด กลับลุกไปหยิบจานมาวางบนโต๊ะอาหารให้ ‘พ่อ’ ของเธอ จากนั้นไม่นาน แจ๊คก็สานต่อท่าทีดังกล่าวด้วยการยกเนื้ออบไปวางให้ทอม

สำหรับอีดี้ ทอม สตอล ในตอนนี้หาใช่ ทอม สตอล คนเดิมที่เธอเคยรู้จักและหลงรักอีกต่อไป แต่ความจริง คือ เขายังคงเป็นสามีเธอและพ่อของลูกๆ และเมื่อทั้งสองสบตากัน เธอยังคงมองเห็นความอ่อนโยน อบอุ่น ในแววตาของเขา (การแสดงอันลุ่มลึกของ วีโก้ มอร์เทนเซน กับ มาเรีย เบลโล ช่วยถ่ายทอดอารมณ์ดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยบทสนทนาใดๆ เลย)

หนังไม่ได้สรุปชัดเจนว่าเธอทำใจ ‘ยอมรับ’ ตัวตนแท้จริงของเขาได้ไหม แต่บางทีเราอาจค้นหาคำตอบ หรือความเป็นไปได้ ได้จากเรื่องราวที่พนักงานร้านอาหารเล่าให้ทอมฟังในช่วงต้นเรื่อง เกี่ยวกับอดีตแฟนสาวซึ่ง ‘ประสาทหลอน’ คิดว่าเขาเป็นฆาตกร แล้วลอบทำร้ายเขากลางดึก แต่สุดท้าย เขากลับตัดสินใจแต่งงานกับเธอและอยู่กินด้วยกันเป็นเวลาหลายปี

เหตุผลของเขาน่ะหรือ มันเรียบง่ายมาก นั่นคือ “ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์!”

หมายเหตุ

(1) เดวิด โครเนนเบิร์ก เริ่มต้นอาชีพผู้กำกับด้วยการทำหนังสยองขวัญทุนต่ำ ความหลงใหลใน ‘เรือนร่าง’ ของเขาค่อนข้างขึ้นชื่อ จนหลายคนขนานนามผลงานของเขาว่าเป็นหนังสยองขวัญทางเรือนร่าง (Body Horror) เนื่องจากมันมักจะเต็มไปด้วยภาพคนหัวระเบิด (Scanners) คนถูกยัดวิดีโอเข้าทางช่องท้อง (Videodrome) คนกลายร่างเป็นแมลงวัน (The Fly) คนร่วมรักกับแผลตามร่างกาย (Crash) ฯลฯ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เขียนได้ดีมากเลยครับ ผมชอบเรื่องนี้มากๆ และเห็นตรงกับคุณในหลายประเด็นในเรื่องของความรุนแรง

siya กล่าวว่า...

วิเคราะห์ได้เข้าใจง่ายดีค่ะ ขอบคุณมากกระจ่างเลย