วันจันทร์, มิถุนายน 19, 2549

Match Point: จักรวาลที่ไร้ระเบียบแบบแผน



ใครก็ตามที่คุ้นเคยกับผลงานภาพยนตร์ในอดีตของ วู้ดดี้ อัลเลน คงไม่แปลกใจเมื่อได้เห็น คริส วิลตัน (โจนาธาน ไรส์ เมเยอร์ส) นอนอ่านนิยายสุดคลาสสิกเรื่อง Crime and Punishment (อาชญากรรมและการลงทัณฑ์) ในฉากหนึ่งของ Match Point

วู้ดดี้ อัลเลน เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ และเคยสร้างหนังเรื่องหนึ่งโดยอ้างอิงถึงผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นดังกล่าวด้วย นั่นคือ Crimes and Misdemeanors (อาชญากรรมและโทษสถานเบา) ซึ่งนักวิจารณ์ภาพยนตร์บางคนมองว่าเป็นต้นแบบของ Match Point เนื่องจากความคล้ายคลึงกันของพล็อตเรื่อง (ชายชั่ววางแผนฆ่าเมียน้อยเพื่อปกปิดไม่ให้เรื่องราวความสัมพันธ์หลุดไปเข้าหูเมียหลวง) ตลอดจนบทสรุปอันร้ายกาจและมืดหม่นเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์

ความแตกต่างระหว่าง Crime and Misdemeanors กับ Match Point อยู่ตรงที่เรื่องแรกดูเหมือนจะรักษาระยะห่างระหว่างตัวละครกับคนดูอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องหลังกลับพยายามชักนำคนดูให้กลายเป็น ‘ผู้สมรู้ร่วมคิด’ ในอาชญากรรมอย่างชัดเจน

ใน Match Point อัลเลนยืนกรานที่จะเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านมุมมองของคริสโดยตลอด (บางครั้งถึงขั้นพาคนดูเข้าไปอยู่ในความคิดของเขา) เริ่มตั้งแต่เมื่อเขาตัดสินใจแขวนแร็กเก็ตมาทำงานเป็นครูสอนเทนนิสในสปอร์ตคลับ ไปจนถึงการลงหลักปักฐานกับ ‘ถังข้าวสาร’ โคลอี้ (เอมิลี มอร์ติเมอร์) และลักลอบคบชู้กับนักแสดงสาวชาวอเมริกัน โนล่า (สการ์เล็ตต์ โจแฮนสัน) ที่สำคัญ อัลเลนยังระมัดระวังที่จะไม่วาดภาพคริสให้เป็นพวกนักฉวยโอกาสอย่างโจ่งแจ้งอีกด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อดึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจจากคนดู ข้อมูลเรื่องที่คริสมีรากเหง้ามาจากครอบครัวไอริชระดับล่างและใช้เทนนิสเป็นเครื่องมือฉุดตัวเองจากความยากจนข้นแค้นได้รับการตอกย้ำอยู่สองสามครั้ง เช่นเดียวกับความพยายามจะ เป็น ‘เจ้ามือ’ จ่ายค่าเครื่องดื่มและตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์ของเขา รวมไปถึงท่าทีไม่ค่อยเต็มใจ (อย่างน้อยก็ในช่วงแรกๆ) ที่จะรับตำแหน่งงานซึ่ง อเล็ก (ไบรอัน ค็อกซ์) พ่อของโคลอี้ จัดใส่พานมาถวายให้

รายละเอียดปลีกย่อยทั้งหลายข้างต้นทำให้เรารู้สึกว่าคริสไม่ได้ ‘ชั่วร้าย’ หรือเป็นนักไต่เต้าโดยสันดาน สถานการณ์ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ‘โชคชะตา’ เพียงแค่พัดพาให้เขาต้องมารับบทหนูตกถังข้าวสารเท่านั้น

แต่ขณะเดียวกันอัลเลนก็ไม่ลืมที่จะสอดแทรกนัยยะบางอย่างเพื่อบ่งบอก ‘ธาตุแท้’ ของคริสเอาไว้ด้วย จริงอยู่ คริสอาจเชื่อว่าดวงหรือโชคชะตามีบทบาทสำคัญยิ่ง แต่เขาก็หาได้ใช้ชีวิตไปตามยถากรรมไม่ ตรงกันข้าม เขาเป็นคนประเภทที่เลือกจะ ‘เปิดโอกาส’ ให้ตัวเอง แล้วปล่อยให้ดวงทำงานของมันไปต่างหาก

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองดวงดีหรือไม่ ถ้าคุณไม่เคยซื้อล็อตเตอรี่เลยสักงวด

ฉากที่คริสนอนอ่านนิยายเรื่อง Crime and Punishment จากนั้นก็หยิบคู่มือวิเคราะห์ผลงานเขียนของดอสโตเยฟสกี้ขึ้นมาอ่านต่อทันทีสะท้อนให้เห็นปรัชญาการดำรงชีวิตของคริสอย่างชัดเจน เขาฟันฝ่าความยากจนมาเป็นนักเทนนิส มุ่งมั่น ‘ศึกษา’ ผลงานเขียนของดอสโตเยฟสกี้ ฟังเพลงโอเปร่า และสมัครเป็นครูสอนเทนนิสในสปอร์ตคลับสุดหรู ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองพร้อมสำหรับก้าวกระโดดทางชนชั้น แน่นอนว่าโชคชะตาชักนำให้คริสได้รู้จักกับครอบครัวฮิววิทท์ แต่เครดิตส่วนหนึ่งคงต้องยกให้กับ ‘งานหนัก’ ซึ่งคริสลงแรงและสละเวลาให้ กล่าวคือ คริสได้พบโคลอี้หลังจาก ทอม (แม็ทธิว กู๊ด) ทราบว่าคริสชอบโอเปร่า (และโชคชะตาก็ลิขิตให้พวกฮิววิทท์เหลือตั๋วโอเปร่าหนึ่งใบพอดีเพราะใครบางคนมาไม่ได้) ส่วนอเล็กก็รู้สึกชื่นชอบคริสเพราะความรอบรู้เกี่ยวกับดอสโตเยฟสกี้ของฝ่ายหลัง

ด้วยเหตุนี้เอง ระหว่างบทสนทนาในร้านอาหารช่วงต้นเรื่อง คริสจึงยอมรับว่า ‘งานหนัก’ เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน แต่มนุษย์มักไม่ค่อยอยากจะยอมรับว่าโชคชะตานั้นมีบทบาทที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะหวาดกลัวการไร้อำนาจควบคุม ส่วนโคลอี้กลับบอกปัดสมมุติฐานของคริสในทันที โดยกล่าวว่าเธอไม่เชื่อเรื่องดวง แต่เชื่อในการทำงานหนัก อารมณ์ขันร้ายๆ ของอัลเลนซ่อนลึกอยู่ในบทสนทนาดังกล่าว เมื่อบุคคลที่ก้าวขึ้นปกป้อง ‘ศักยภาพในการกำหนดชะตากรรมตัวเองของมนุษย์’ กลับกลายเป็นโคลอี้ คุณหนูผู้คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาจากท้องและไม่เคยสัมผัสกับ ‘งานหนัก’ ตลอดทั้งชีวิต ที่สำคัญ กระทั่งสามี เธอยังต้องอาศัยเงินพ่อในการซื้อหามาครอบครองเสียด้วยซ้ำ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าโคลอี้ไม่ได้โชคดีเกิดมารวย คริสคงตัดสินใจแตกต่างออกไป

ถึงตรงนี้ คนดูเริ่มตระหนักแล้วว่าคริสไม่ได้ ‘อินโนเซนต์’ เสียทีเดียว แต่กระนั้นความทะเยอทะยานของเขาก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรประณามหยามเหยียด เรายังสามารถติดตามเรื่องราวได้โดยไม่รู้สึกผิดอะไร จนกระทั่ง วู้ดดี้ อัลเลน ก้าวไปไกลยิ่งกว่าด้วยการเรียกร้องให้คนดู ‘เอาใจช่วย’ ฆาตกร

เมื่อ Match Point เยื้องย่างเข้าสู่ขอบเขตของหนังเขย่าขวัญ อารมณ์ลุ้นระทึกส่วนใหญ่มักเกิดจากการตั้งคำถามว่าคริสจะถูกจับได้หรือไม่ ซึ่งใช้ได้ผลในหลายๆ ฉาก เช่น เมื่อคริสแอบไปขโมยปืนในห้องใต้ดิน หรือเมื่อโคลอี้ตรงไปรื้อกระเป๋าเทนนิสของคริส หรือเด่นชัดที่สุด คือ เมื่อคริสพยายามโยนหลักฐานที่เชื่อมโยงเขากับการฆาตกรรมลงแม่น้ำ แต่แหวนเจ้ากรรมวงหนึ่งกลับกระเด้งไปถูกรั้วกั้นและตกลงบนพื้นแทน

ฉากเปิดเรื่องเกี่ยวกับลูกเทนนิสกระทบขอบตาข่ายดูเหมือนจะช่วยล่อหลอกคนดูอย่างแยบยลให้หลงทางไปทิศหนึ่ง ทั้งที่อัลเลนได้เตรียมตอนจบอีกแบบเอาไว้แล้ว ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึง แต่ในเวลาเดียวกันมันกลับช่วยตอกย้ำทัศนคติดั้งเดิมของเขาต่อโลกและชีวิตได้อย่างชัดเจน

ขณะที่ตัวเอกของดอสโตเยฟสกี้ใน Crime and Punishment ต้องเผชิญหน้ากับบทลงโทษอันหนักหน่วงทั้งทางกฎหมายและจิตวิญญาณในตอนท้าย (1) ตัวเอกของ วู้ดดี้ อัลเลน ใน Crime and Misdemeanors และ Match Point กลับไม่ต้องทนรับบทลงโทษใดๆ เลย

อย่างไรก็ตาม ความร้ายกาจของอัลเลนหาได้อยู่ตรงการที่เขาปล่อยให้คริสรอดพ้นเงื้อมมือกฎหมายอย่างน่าอัศจรรย์เท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึงการตีแผ่ขั้นตอน ‘ชำระบาป’ ของคริสอีกด้วย เมื่อเขาแก้ต่างต่อหน้าดวงวิญญาณเหยื่อ (หรือภาพในจินตนาการ) ว่า มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะซุกซ่อนความรู้สึกผิดเอาไว้ เพราะหาไม่แล้วการดำรงชีวิตต่อไปก็จะลำบากยากเข็ญ และด้วยหลักเหตุผลดังกล่าว คริส เช่นเดียวกับ จูดาห์ (มาร์ติน แลนเดา) ใน Crime and Misdemeanors ซึ่งจ้างวานคนไปฆ่าเมียน้อย (แองเจลิก้า ฮุสตัน) จึงสามารถรอดพ้นบทลงโทษทางจิตวิญญาณไปได้

อัลเลนไม่ศรัทธาว่าโลก/จักรวาลมีระบบระเบียบหรือแบบแผนทางศีลธรรมจรรยาอันชัดเจน ตายตัว เขาไม่เชื่อว่าคนดีจะได้ดีและคนเลวจะถูกกรรมสนองเสมอไป ในฉากพูดคุยกับดวงวิญญาณตอนท้ายเรื่อง โนล่าเตือนคริสให้เตรียมรับผลกรรมเพราะแผนของเขานั้นเต็มไปด้วยช่องโหว่ แต่คริสโต้กลับตอบว่าเขายินดีจะรับผลกรรมดังกล่าว เพราะหากทุกอย่างคลี่คลายไปในทางนั้นจริง นั่นย่อมหมายความว่าโลกของเรายังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ ยังมีกฎเกณฑ์บางอย่างให้เรายึดมั่นได้ แต่ในฉากถัดมา อัลเลนกลับตบหน้าคนดูฉาดใหญ่ด้วยการให้โชคชะตา ความเฮง ดวง หรือพลังเหนือธรรมชาติบางอย่างที่ไม่อาจควบคุม ปราศจากหลักเกณฑ์ และเต็มไปด้วยการสุ่มเดา เกื้อหนุนคริสให้รอดพ้นความผิดอย่างเหลือเชื่อ

มุมมองดังกล่าว (อไนยนิยม หรือทฤษฎีที่ไม่อาจรู้ได้) แม้ว่าจะเหมือนจริง (realism) แต่ขณะเดียวกันก็โหดเหี้ยมเกินทน ฉะนั้น ในสายตาของอัลเลน มนุษย์จึงพยายามสร้างจินตนาการขึ้นมาในรูปของหนัง นิยาย หรือละครโอเปร่าเพื่อปลอบประโลม

ใน Crime and Misdemeanors จูดาห์ได้เสนอให้ คลิฟฟ์ (อัลเลน) สร้างหนังเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่ก่อเหตุฆาตกรรมและไม่ถูกจับได้ แต่คลิฟฟ์กลับปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าการฆาตกรรมย่อมต้องส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างใหญ่หลวง หาไม่แล้วมันก็จะปราศจากโศกนาฏกรรม และหากไม่มีโศกนาฏกรรม มันก็ไม่ใช่หนัง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ จูดาห์กำลังตีประเด็นของ ‘เรื่องแต่ง’ ไม่แตก มนุษย์ ‘สรรค์สร้าง’ จินตนาการขึ้นมาก็เพื่อจะได้หลุดเข้าไปใช้ชีวิต (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง ขณะพวกเขากำลังนั่งดูหนังหรืออ่านหนังสือเรื่องนั้นๆ) ในโลกที่ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในโลกที่ศีลธรรมได้รับการยกย่องเชิดชู ในโลกที่คนบาปสำนึกผิดหรือถูกลงโทษ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมในหนัง พระเอกจึงมักจะลงเอยกับนางเอกและพวกผู้ร้ายก็มักจะถูกผลกรรมตามสนอง

อัลเลนตระหนักในจุดประสงค์ของนิยายเป็นอย่างดี หลายครั้งเขาจึงยืนกรานที่จะจบหนังแบบ ‘แฮปปี้ เอ็นดิ้ง’ ท่ามกลางความไม่น่าจะเป็นไปได้ ราวกับจะบอกว่า “นี่คือสิ่งที่พวกคุณทุกคนต้องการไม่ใช่หรือ” เช่น ใน Hannah and Her Sisters ซึ่งเล่าเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่ง (ไมเคิล เคน) ที่แอบคบชู้กับน้องเมีย (บาร์บาร่า เฮอร์ชีย์) โดยในโลกแห่งความเป็นจริง สถานการณ์ดังกล่าวคงลงเอยด้วยการหย่าร้าง บาดแผลทางอารมณ์ และคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล (ไม่เชื่อลองดูชีวิตจริงของอัลเลนเป็นตัวอย่าง) แต่ในหนัง ทุกอย่างกลับลงเอยอย่างมีความสุขสำหรับทุกตัวละคร ถึงขนาดที่อดีตสามีของพี่สาวคนโต (อัลเลน) ยังสามารถตกร่องปล่องชิ้นกับน้องสาวคนสุดท้อง (ไดแอนน์ วีสต์) ไปได้

ถึงแม้จะเน้นทำหนังตลกเป็นอาชีพ แต่ลึกๆ แล้วมุมมองของอัลเลนต่อสารัตถะแห่งชีวิตนั้นค่อนข้างมืดหม่น หดหู่

ดังเช่นชะตากรรมของตัวละครเอกใน The Purple Rose of Cairo ซึ่งเป็นแม่บ้านยุคเศรษฐกิจตกต่ำ (มีอา ฟาร์โรว์) ที่ถูกสามีใจร้ายกดขี่ไม่เว้นแต่ละวัน โดยความสุขเพียงอย่างเดียวของเธอคือการได้หลบไปดูหนังสุดโปรดเรื่อง The Purple Rose of Cairo ซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเอกรูปหล่อในหนัง (เจฟฟ์ เดเนี่ยลส์) ก็กระโดดออกจากจอเงินมาช่วยเหลือเธอ... มนุษย์สามารถหลบหนีจากโลกแห่งความจริงได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็ต้องกลับไปเผชิญหน้ากับความเลวร้ายทั้งหลายอยู่ดี ดังนั้น มันจึงไม่แปลกหากเราจะได้ยินคริสใน Match Point ยกคำกล่าวว่า “การไม่ต้องเกิดมาเลยถือเป็นบุญอันประเสริฐ” ขึ้นมาแก้ต่าง เมื่อดวงวิญญาณของ คุณนายอีสต์บี้ (มาร์กาเร็ต ไทแซ็ค) เอ่ยถึงลูกในท้องของโนล่าที่ต้องมาตายไปด้วยโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่

Match Point เปรียบเสมือนภาพผสมระหว่างโลกแห่งความจริงอันโหดเหี้ยมกับโลกแห่งแฟนตาซีอันปลอบประโลม กล่าวคือ คนดูจะได้เห็นฆาตกรลอยนวลโดยไม่ถูกจับและไม่รู้สึกผิด แต่ขณะเดียวกัน พระเอกที่เราคอยลุ้นเอาใจช่วยมาตลอดก็ได้ลงเอยกับนางเอก มีลูกสมดังใจหมาย และร่ำรวยเงินทอง

บรรยากาศสุขสันต์ในฉากสุดท้ายของเรื่องถือเป็น ‘แฮ็ปปี้ เอ็นดิ้ง’ แบบที่พวกเราทุกคนต้องการไม่ใช่หรือ!?!

หมายเหตุ

(1)ก่อนที่ราสโคลนิคอฟ ตัวเอกใน Crime and Punishment จะถูกกฎหมายเอาผิดแล้วส่งตัวไปทำงานหนักที่ไซบีเรีย เขาต้องจำทนกับความทุกข์ทรมานทางอารมณ์อันเลวร้ายที่เกิดจากการก่ออาชญากรรมและพยายามหลบเลี่ยงบทลงทัณฑ์ทางกฎหมาย เขาหวาดระแวง ตื่นตระหนก และถึงขั้นหดหู่ สิ้นหวัง ซึ่งในสายตาของดอสโตเยฟสกี้ นี่คือบทลงทัณฑ์ที่เลวร้ายกว่าการทำงานหนักในไซบีเรียมากมายนัก

1 ความคิดเห็น:

ฉันอยู่ที่นี่ด้วย กล่าวว่า...

เรื่องนี้ดูแล้วเหมือนโดนหลอกเต็มๆ ไม่คิดว่าจะเป็นแนวชายชั่ว เก็บเมียน้อยปิดปาก เป็นหนังของวูดดี้ อัลเลน เรื่องแรกที่ดู เห็นใบปิดแล้วนึกว่าหนังเทนนิส ^ ^
ตอนจบตัวละคร คงต้องอยู่กับเมียน้อยและคุณยายไปตลอดนั่นแหละ ตามหลอกหลอนไปทุกที่ จะแฮปปี้ไหมนั่น