วันอาทิตย์, กรกฎาคม 16, 2549

Birth: นี่หรือคือรัก



หากคุณมีโอกาสได้เปิดอ่านนิยาย หรือเข้าชมภาพยนตร์แนวโรแมนซ์ทั่วๆ ไปสักเรื่อง ซึ่งไม่ได้พยายามจะสร้างความแปลกใหม่ หรือหักล้างธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม คุณจะพบว่าความรักโรแมนติก คือ แนวคิดหลักที่มักได้รับการเชิดชู เฉลิมฉลอง และองค์ประกอบสำคัญของมัน ได้แก่ ศรัทธาแห่งรักแรกพบ คู่แท้เพียงหนึ่งเดียว และการแต่งงานในฐานะจุดสูงสุดของชีวิตซึ่งไม่อาจละเลย หรือเพิกเฉย

ประโยคว่า “คุณคือรักแท้ของฉัน” หรือ “ฉันจะรักคุณไปตราบชั่วนิรันดร์” เปรียบดังอุดมคติที่ผู้นิยมแนวคิดความรักโรแมนติกทั้งหลายโหยหา มันเป็นความงดงามขั้นสูงสุด

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าหนังเรื่อง Birth เป็นเหมือนฝันร้ายของความรักโรแมนติก เป็นด้านมืดของรักแท้ชั่วนิรันดร์ และเป็นคำเตือนจากเหล่าผู้นิยมความจริงต่อนักฝันทั้งหลายให้ “พึงระวังในสิ่งที่คุณถวิลหา” ซึ่งเป็นคำโฆษณาบนใบปิดหนังเรื่องนี้ เพราะชีวิตล้วนเต็มไปด้วยความพลิกผัน ความไม่แน่นอน และความไม่ลงตัว ความรักอาจไม่จิรังยั่งยืน หรือกระทั่งมีตัวตนอยู่จริง ขณะเดียวกัน ความจิรังยั่งยืนบางครั้งก็หาใช่ความสุขเสมอไป ตรงกันข้าม มันอาจกลับกลายเป็นความทรมานเหลือจะทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความรักกลายสภาพเป็น ‘หลุมดำ’… ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณใส่ลงไป ไม่เคยได้กลับคืนมา… เมื่อความรักกลายสภาพเป็นปรากฏการณ์เอกพจน์ เป็นกรงขังทางจิตใจที่คอยกีดกั้นคุณไม่ให้ก้าวต่อไปข้างหน้า แม้ว่าคุณจะปรารถนาอิสรภาพมากเพียงใด

แอนนา (นิโคล คิดแมน) เป็นผู้หญิงที่เชื่อมั่นในรักแท้ มิเช่นนั้นแล้ว เธอคงไม่ใช้เวลาทำใจนานนับสิบปี กว่าจะตอบรับแต่งงานกับ โจเซฟ (แดนนี่ ฮุสตัน ) หลังจากฌอน สามีสุดที่รักของเธอ ตายจากไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเธอมีรูปร่าง หน้าตาเหมือน นิโคล คิดแมน! อย่างไรก็ตามหนังไม่พยายามให้น้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือแก่ความรักระหว่างแอนนากับคนรักใหม่อย่างโจเซฟเลย ดังจะเห็นได้ว่าเธอยอมรับหมั้นเขาในสุสาน ขณะแวะไปเยี่ยมหลุมศพของอดีตสามี (ความสัมพันธ์ของทั้งสองจะไปลงเอย ณ จุดใด ฉากหลังของหนังดูเหมือนจะบ่งบอกเป็นนัย อยู่แล้ว) จากนั้น ในงานเลี้ยงฉลอง ระหว่างโจเซฟประกาศข่าวสำคัญ พร้อมทั้งเล่าให้แขกเหรื่อฟังว่าเขาตามตื๊อแอนนาอยู่นานแค่ไหนกว่าจะเอาชนะใจเธอได้ หนังก็จงใจไม่ตัดภาพไปหาแอนนาเพื่อแสดงปฏิกิริยาของเธอ ในธรรมเนียมหนังรักทั่วๆ ไป นาทีดังกล่าวคือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง คนดูย่อมคาดหวังว่าจะเห็นใบหน้าอันปลาบปลื้ม ซาบซึ้งของว่าที่เจ้าสาว แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาเห็นกลับเป็นใบหน้าอันเปี่ยมสุขและภาคภูมิใจของโจเซฟ ต่อมา ทุกอย่างยิ่งเริ่มกระจ่างชัดมากขึ้น ในฉากแอนนาเดินทางไปหาคลิฟฟอร์ด (ปีเตอร์ สตอร์แมร์) อดีตเพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อขอความช่วยเหลือ เธอค่อยๆ เปิดเผยความรู้สึกภายในออกมาพร้อมทั้งน้ำตาพรั่งพรูว่า เธอหลงรักฌอนมากแค่ไหน และขณะเดียวกัน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอยอมตกลงแต่งงานกับโจเซฟก็เพราะเขารักเธอมาก

ด้วยเหตุนี้เอง ประเด็นหลักของ Birth จึงไม่ได้อยู่ตรงความรักระหว่างแอนนากับโจเซฟ หรือกระทั่งแอนนากับฌอน ซึ่งคนดูไม่เคยเห็นหน้า แม้จะสัมผัสถึง ‘การดำรงอยู่’ ของเขาตลอดเวลา แต่เป็นความรักระหว่างแอนนากับ ‘ภาพลักษณ์ของฌอน’ ในใจเธอต่างหาก และนั่นก็ทำให้หนังคล้ายคลึงกับ The Story of Adele H. อยู่ไม่น้อย ผลงานคลาสสิกของ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ เรื่องนั้นเล่าถึงความรัก ความหมกมุ่นของ อเดล อูโก้ ลูกสาวนักเขียนนามอุโฆษ วิกเตอร์ อูโก้ ต่อนายทหารหนุ่มพินสัน เธอเปิดเผยความรู้สึกกับเขาและติดตามเขาไปทุกหนทุกแห่ง เธอไม่ลดละ ไม่ย่อท้อ ไม่เลิกรา แม้จะถูกฝ่ายชายปฏิเสธอย่างเย็นชา จนกระทั่ง สุดท้ายความรัก (ฝ่ายเดียว) ก็ได้ทำลายอเดลให้คลุ้มคลั่ง กลายเป็นหญิงเสียสติ

ฉากสำคัญใน The Story of Adele H. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับความหมกมุ่นของตัวเอกว่าพุ่งสูงถึงขั้นหน้ามืดตามัว เป็นฉากตอนที่เธอเดินไปทักนายทหารคนหนึ่งเพราะคิดว่าเขาคือพินสัน แต่พอชายคนนั้นหันมา เขากลับมีหน้าตาไม่เหมือนพินสันเลยสักนิด (แต่ดันละม้ายคล้ายทรุฟโฟต์อย่างกับแกะ!) กลวิธีอันแยบยลดังกล่าวถูกนำมาใช้ใน Birth เช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่คราวนี้มันกินความถึงโครงสร้างโดยรวมของหนังทั้งเรื่อง

คำถามที่หลายคนอาจนึกสงสัย คือ ทำไมผู้กำกับ โจนาธาน เกลเซอร์ จึงเลือกให้ตัวละครที่อ้างตนว่าคือฌอนกลับชาติมาเกิดเป็นเด็กชายวัย 10 ขวบ ทำไมเขาถึงไม่เลือกชายหนุ่มที่โตแล้ว หรืออย่างน้อยก็อยู่ในช่วงวัยรุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประณามจากฉากที่ทั้งสองต้องอาบน้ำร่วมอ่าง (เหตุเกิดในเทศกาลหนังเมืองเวนิซ) หรือเสียงหัวเราะแบบไม่ตั้งใจ ซึ่งน่าจะมาจากความรู้สึกอึดอัดเป็นหลัก เมื่อแอนนาตกหลุมรักเด็กชายจนถึงขั้นเสนอให้เขาแอบหนีตามเธอไป (เหตุเกิดในรอบสื่อมวลชนของกรุงเทพฯ) คำตอบง่ายๆ ก็คือ ยิ่งฌอนคนใหม่มีสภาพห่างไกลจากฌอนคนเก่ามากเท่าไหร่ คนดูก็จะตระหนักชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้นว่าแอนนาหมกมุ่นและหลงรักฌอนคนเก่ามากแค่ไหน พูดไปพูดมา อาจกล่าวได้ว่าอาการคลั่งรักของแอนนาหนักหนากว่าของอเดลเสียอีก เพราะเธอมองเห็นเด็กชายสิบขวบเป็นอดีตสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว!!

แนวคิดเรื่องความรักที่เปรียบเสมือนกรงขังได้รับการถ่ายทอดเป็นรูปธรรมชัดเจนผ่านสไตล์ด้านภาพของหนัง ซึ่งมักจำกัดฉากอยู่ภายในตัวอาคาร ล้อมรอบไปด้วยกำแพง ผนัง และเพดาน เกือบตลอดทั้งเรื่องคนดูจะได้เห็นแอนนาติดกับอยู่ภายในร้านอาหาร โรงโอเปร่า รถยนต์ อพาร์ตเมนต์ ห้องนอน และห้องน้ำ ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งกล้องยังก้าวไปไกลถึงขั้น ‘ตีกรอบ’ เธอไม่ให้ขยับเขยื้อนไปไหนด้วยการแช่ภาพโคลสอัพระยะใกล้เป็นเวลานานๆ เช่น ในฉากโรงโอเปร่าและอพาร์ตเมนต์ของคลิฟฟอร์ด

สถานการณ์ไร้ทางออกและสภาพแวดล้อมอันปิดกั้นของแอนนาค่อนข้างใกล้เคียงกับ เกรซ ในหนังเรื่อง The Others ซึ่งรับบทโดย นิโคล คิดแมน เช่นกัน (ส่วนทรงผมของเธอกลับถอดแบบมาจากนางเอกในหนังแนวโกธิกอีกเรื่อง คือ Rosemary’s Baby ) แต่สิ่งที่คุกคามแอนนา หาใช่วิญญาณ หรือความชั่วร้าย หากแต่เป็นอดีต ซึ่งไม่ยอมหนีหายไปไหน หรือความรักอันมั่นคง ยืนยาวชั่วนิรันดร์ หลายครั้งที่ดนตรีประกอบและการจัดแสงใน Birth อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังนั่งดูหนังเขย่าขวัญแนวโกธิกอยู่ ขณะเดียวกัน รายละเอียดหลายส่วนก็ดูค่อนข้างลึกลับ ชวนพิศวง แต่ก็เช่นเดียวกับทรุฟโฟต์ใน Mississippi Mermaid (ฟิล์มนัวร์) และ Shoot the Piano Player (แก๊งสเตอร์/อาชญากรรม) ผู้กำกับ โจนาธาน เกรเซอร์ ใช้แนวทางหนัง (genre) เป็นเพียงช่องทางเพื่อสะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับความรักเท่านั้น

แทนที่จะเน้นไปยังขบวนการสืบสวนหาความจริงต่อคำอ้างของเด็กชายฌอน (คาเมรอน ไบรท ) ซึ่งอาจส่งผลให้หนังเร้าใจมากขึ้น แต่สะเทือนใจน้อยลง Birth กลับยืนกรานที่จะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอันเชื่องช้าในตัวแอนนาต่อคำอ้างดังกล่าว เริ่มจากหัวเราะเยาะใส่ ก่อนจะค่อยๆ รู้สึกไม่แน่ใจ ไปจนกระทั่งลงเอยด้วยความเชื่อมั่น หนังตั้งคำถามสำคัญให้คนดูขบคิดอยู่สองข้อด้วยกัน นั่นคือ หนึ่ง เด็กชายฌอนเป็นอดีตสามีของแอนนากลับชาติมาเกิดจริงไหม และสอง แอนนาจะตกหลุมรักฌอนอีกครั้งหรือไม่ ในขณะที่คำถามแรกได้รับการตอบอย่างเร่งรีบในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย คำถามหลังกลับใช้เวลานานกว่าในการคลี่คลาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบพัวพันไปสู่คำถามอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างแอนนากับโจเซฟจะไปลงเอยที่ใด และเธอจะปฏิบัติอย่างไรกับเด็กชายฌอน ตลอดจนเสียงต่อต้านจากรอบข้าง

ความแตกต่างของ Birth กับหนังฮอลลีวู้ดทั่วไปอยู่ตรงที่ ถึงแม้คำถามเหล่านั้นจะได้รับการเฉลย แต่มันไม่ได้นำไปสู่การคลี่คลายทั้งในแง่สถานการณ์ หรืออารมณ์ จริงอยู่ว่าหนังอาจลงเอยด้วยฉากพิธีแต่งงานเฉกเช่นหนังรักปรกติ แต่อารมณ์ของมันกลับห่างไกลจากคำว่า แฮ็ปปี้ เอ็นดิ้ง ราวฟ้ากับเหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจาก ‘สภาพ’ ของแอนนา ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าบอบช้ำเกินเยียวยา

เธอแวะไปหาโจเซฟที่ทำงานเพื่ออ้อนวอนขอให้เขายกโทษให้ หลังทราบความจริง เธอบอกว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่ใช่ความผิดเธอ ทั้งที่สาเหตุแห่งความวุ่นวายทั้งหลายล้วนเป็นผลมาจากจิตใจอันไม่มั่นคงของเธอ เธอบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เธอจะไล่เด็กชายคนนั้นออกไปจากชีวิต เมื่อเขาอ้างตัวว่าเป็นฌอนกลับชาติมาเกิด ทั้งที่นั่นคือสิ่งที่เธอควรทำตั้งแต่แรก หากเธอรักและพร้อมจะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับโจเซฟจริง เธอต้องการความสุขและคิดว่าการได้แต่งงานกับเขาจะนำไปสู่จุดหมายดังกล่าว แต่เธอจะมีความสุขได้อย่างไร ในเมื่อจิตใจของเธอยังไม่ถูกปลดปล่อย

ในฉากสุดท้ายของหนัง คนดูจะได้เห็นแอนนาสวมชุดแต่งงานยืนถ่ายรูปท่ามกลางสวนเขียวชอุ่ม นาทีหนึ่งเธอดูเหมือนจะมีความสุข แต่นาทีต่อมา ความจริงทั้งหลายที่ไม่อาจปฏิเสธพลันทะลักทลาย เธอเริ่มวิ่งหนี หวังจะเป็นอิสระ แต่กลับพบทางตัน ดังนั้น บนชายหาด ท่ามกลางระลอกคลื่นโหมซัด เธอจึงกรีดร้อง แต่เสียงของเธอกลับไม่ได้ยิน เธอร้องไห้ มันเป็นน้ำตาแห่งความโศกเศร้า แห่งความโกรธแค้น เธออยากจะมีความสุข แต่จิตใจกลับไม่ยินยอม เธออยากจะลืม แต่ทุกอย่างกลับฝังรากลึก เธออยากจะหนี แต่ไม่มีหนทาง และถึงแม้ธรรมชาติรอบข้างจะเปิดกว้าง แต่เธอกลับรู้สึกเหมือนถูกกักขัง

เช่นนี้แล้ว คุณยังคิดว่าความรักเป็นสิ่งงดงามอยู่อีกไหม

7 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

ชอบ BIRTH มากๆเลยค่ะ ดีใจมากค่ะที่ได้อ่านบทวิจารณ์นี้ รู้สึกว่าเกือบทุกอย่างในหนังเรื่องนี้เข้าทางดิฉันมากๆ โดยเฉพาะดาราหญิงทุกคนในหนังเรื่องนี้ และฉากจบของเรื่องก็ชอบมากๆเลยด้วย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบหนังเรื่องนี้มากๆครับ เป็นหนังที่อยากหยิบมาดูบ่อยๆ มันเพลินยังไงก็ไม่รู้

Riverdale กล่าวว่า...

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าฉากจบของหนังเรื่องนี้สวยงามมากๆ มันเจ็บปวดรวดร้าว แต่สวยงามอย่างน่าตื่นตะลึง ความจริง หนังทั้งเรื่องถ่ายทำได้งดงาม หมดจดจริงๆ ผมยังไม่เข้าใจว่าทำไมนักวิจารณ์หลายคนถึงได้โจมตีหนังเรื่องนี้ ผมชอบมันมากกว่า Sexy Beast หลายเท่าเลย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตอนแรกที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เครียดมากครับ แต่พอนั่งดูไปเรื่อยๆก็ชักชอบ โดยเฉพาะฉากจบครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณRiverdaleครับ เป็นฉากแต่งงานเหมือนหนังทั่วไป แต่ดูไม่มีความสุขเลย

ชอบหนังเรื่องนี้ทีเดียวครับ และชอบที่คุณเขียนด้วย ยาว แต่อ่านเพลินมากๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ รู้สึกว่ามันใจร้ายเหลือเกิน ( แต่ก็แปลกที่หนังใจร้ายบางเรื่องก็ชอบ ชอบ - ไม่ชอบ เป็นเรื่องๆแบบไม่ค่อยมีเหตุผล )

อาจจะเพราะมันใจร้ายกับผู้หญิงคนหนึ่งที่รักอย่างเต็มหัวใจ ก็เลยต่อต้านหนังเรื่องนี้เล็กๆ

เอ๊ะ หรือว่านักวิจารณืที่ต่อต้านจะเป็นพวกบูชารักเหมือนๆกัน อิ อิ อิ

Riverdale กล่าวว่า...

ใจหนึ่งผมก็บูชาในความรักนะครับ แต่อีกใจหนึ่งผมก็เป็นคนประเภทที่ชอบมองโลกแบบเยาะหยัน เพราะอุดมคติที่เราวาดฝันไว้ มันไม่เห็นตรงกับความจริงที่เราเคยเจอเลย ดังนั้น ผมเลยชอบหนังเรื่องนี้ ตรงที่มันไม่ได้เพ้อฝัน แต่มองโลกอย่างโหดร้ายมากๆ (เช่นเดียวกับหนังอย่าง Match Point) แต่ขณะเดียวกันก็ชอบหนังหน่อมแน้มอย่าง Notting Hill และ Four Weddings and a Funeral หรือหนังตลกโรแมนติกทั้งหลายด้วย :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จำได้ว่าเหตุผลหนึ่งที่นักวิจารณ์ต่อต้านเรื่องนี้ คือ บางอย่างเกี่ยวกับ "เด็ก "