วันพุธ, กรกฎาคม 19, 2549

แก๊งชะนีกับอีแอบ: ความต่างระหว่างเกลือกับน้ำตาล


“คนสมัยนี้ทำไมดูยากจัง” นิ่ม (อรปรียา หุ่นศาสตร์) ถึงกับสบถออกมาอย่างหงุดหงิดในฉากหนึ่งของหนังเรื่อง แก๊งชะนีกับอีแอบ หลังจากเธอและพรรคพวกไม่สามารถหาหลักฐานชัดๆ มาพิสูจน์ได้ว่า ก้อง (เธียนชัย ชัยสวัสดิ์) เป็นอีแอบและไม่ควรจะแต่งงานกับ แป้ง (มีสุข แจ้งมีสุข) เพื่อนรักของพวกเธอ คาดว่าคำพูดข้างต้นของนิ่มไม่เพียงจะโดนใจบรรดาหญิงสาววิตกจริตทั้งหลาย ที่กำลังนึกสงสัยในตัวแฟนหนุ่ม คนรัก ว่าที่เจ้าบ่าว หรือ “เพื่อนสนิท” ของตนเท่านั้น แต่มันยังน่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากเหล่าชาวเกย์อีกด้วย

เรื่องตลกอยู่ตรงที่ คำว่า “ดูยาก” นั้นไม่ได้หมายถึงเกย์สมัยนี้ “แอ๊บแมน” เก่งขึ้น แต่เป็นเพราะผู้ชายยุคนี้ “แต๋วแตก” มากขึ้นต่างหาก

ปรากฏการณ์ “เมโทรเซ็กช่วล” ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้ เริ่มทำให้ “เกย์ดาร์” ของเหล่ารักร่วมเพศเกิดอาการแปรปรวนและทำงานไม่แม่นยำเช่นเคย ทุกวันนี้ ผู้ชายที่แต่งตัวเนี้ยบ ทำผมหวือหวา ออกกำลังกายในฟิตเนส และดูแลสภาพผิวของตนอย่างทะนุถนอม หาใช่เกย์เสมอไป ยิ่งไปกว่านั้น ความคลุมเครือดังกล่าวยังเริ่มกินความครอบคลุมไปถึงรสนิยม บุคลิก น้ำเสียง และภาษาท่าทางอีกด้วย

เพราะเหตุนี้เอง แบบทดสอบต่างๆ นาๆ ซึ่งพี่บี๋ (ไมเคิล เชาวนาศัย) แนะนำกับกลุ่มแก๊งชะนี จึงไม่อาจยืนยันอะไรให้แน่ชัดลงไปได้ ความจริง มันออกจะเชยหรือตกรุ่นไปแล้วด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับแนวคิด “เกย์สวมตุ้มหู” กับ “เกย์นิ้วก้อยกระดก” ของพวกสาวๆ นั่นแหละ หนังสามารถเฉลยให้ก้องเป็นหรือไม่เป็นอีแอบได้มากพอๆ กัน โดยคนดูจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจแม้เพียงนิด เนื่องจากมาตรฐานความเป็นชายได้เปลี่ยนแปลงไปมากและจะเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกไม่รู้จบ ด้วยเหตุนี้ บทสรุปของหนังจึงหาใช่บทพิสูจน์ว่าแบบทดสอบของพี่บี๋เชื่อถือได้ ตรงกันข้าม มันเพียงแต่แสดงให้เห็นว่าพวกแก๊งชะนี “โชคดี” เท่านั้น

แน่นอน แบบทดสอบดังกล่าวจะเชื่อถือได้อย่างไรในเมื่อมันกำลังสับสนบทบาททางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก กับรสนิยมทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องภายใน

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ความเป็นชาย หรือพฤติกรรมที่สังคมยอมรับว่ามีความเป็นชายมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สไตล์บางอย่างที่ถูกมองว่ามีความเป็นหญิงในปัจจุบันอาจเคยเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ชายยุคโบราณ เช่น การแต่งหน้า การสวมเครื่องประดับ หรือการเข้าถึงดนตรีและศิลปะ แต่เมื่อแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นหญิงเริ่มกินพื้นที่ครอบคลุมพฤติกรรมต่างๆ มากขึ้น สิ่งที่ได้รับการยอมรับว่า “แมน” ก็เริ่มถูกจำกัดมากขึ้นด้วย ผู้ชายคนใดร้องว้าย หรือกันคิ้ว หรือนิ้วก้อยกระดกเวลายกแก้วน้ำขึ้นดื่มจะถูกมองอย่างสงสัยว่าเป็นเกย์ ซึ่งผูกพันกับความเป็นหญิงอย่างแน่นแฟ้นในทันที รวมไปถึงการทาครีมบำรุงผิว สวมเสื้อผ้าพอดีตัว หรือการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเปิดเผย

เมโทรเซ็กช่วลเปรียบเสมือนปฏิกิริยาตอบโต้ปรากฏการ์ดังกล่าว ผู้ชายบางคนอาจรู้สึกเหมือนถูกกักขังอยู่ในขอบเขตอันคับแคบแห่งบทบาททางเพศ จึงพยายามเดินไต่ไปบนเส้นแบ่งที่เลือนลางลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันผู้หญิงเองก็เริ่มรุกคืบเข้ามาในขอบเขตของเพศชายมากขึ้น เมื่อพวกเธอทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้และมีทัศนคติแข็งกร้าวในเรื่องเพศ

จะว่าไปแล้ว กลุ่มแก๊งชะนีในหนังก็ดูไม่ต่างจากกลุ่มสี่สาวใน Sex and the City เท่าไหร่ พวกเธออาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีอาชีพการงานมั่นคง มีเงินจับจ่ายใช้สอยโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย และกล้าจะเป็นฝ่ายรุกในเกมแห่งเพศ ดังเช่นกรณีของนิ่มและ เจ๊ฝ้าย (พิมลวรรณ ศุภยางค์) ในคืนวันลอยกระทง โดยสำหรับรายแรก บทสรุปดังกล่าวถือว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เมื่อพิจารณาจากลักษณะงานของเธอ (ช่วงต้นเรื่อง คนดูจะเห็นเธอถ่ายเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยตัวเองของผู้หญิงไปให้เพื่อนสาว ส่วนในช่วงกลางเรื่อง คนดูก็จะเห็นโต๊ะทำงานของเธอซึ่งเต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่วยตัวเองและตำราท่าร่วมเพศ)

วิบากกรรมของพวกแก๊งชะนี (ความยากลำบากในการแยกแยะว่าผู้ชายคนไหนเป็นเกย์ หรือไม่ได้เป็นเกย์) เปรียบเสมือนการเล่นตลกของชะตากรรม กล่าวคือ การรุกคืบของผู้หญิงยุคใหม่ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุแห่งปรากฏการณ์เมโทรเซ็กช่วล (นอกเหนือจากวัฒนธรรมบริโภคนิยม) ซึ่งต่อมาได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้ชายกับเกย์ ที่เป็นเหมือนต้นแบบของเมโทรเซ็กช่วลอีกที ค่อยๆ เลือนลางลงอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อต้องเลือกระหว่าง เรโทรเซ็กช่วล (retrosexual) หรือผู้ชายยุคเก่า (คุณสมบัติสำคัญได้แก่ หลีกเลี่ยงความเป็นหญิงทุกรูปแบบ แสดงออกทางอารมณ์อย่างจำกัด ไขว่คว้าความสำเร็จและสถานะ พึ่งพิงตนเอง เข้มแข็ง ก้าวร้าว และเกลียดกลัวรักร่วมเพศ) กับเมโทรเซ็กช่วล ดูเหมือนบรรดาผู้หญิงยุคใหม่จะยังพิสมัยฝ่ายแรกมากกว่า เห็นได้จากทัศนคติของ ป๋อม (พัชรศรี เบญจมาศ) ตอนเห็น ออฟ (ดาวิเด โดริโก้) แต่งตัวเต็มยศเพื่อหวังจะเอาชนะใจเธอ หรือบุคลิกของบรรดาตัวละครผู้ชายคนอื่นๆ ที่พวกแก๊งชะนีหลงรักอย่าง เคนจัง (ยาโน คาซูกิ) พี่โจ้ (กนิษฐ์ สารสิน) และ เฮียเพ้ง (มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร) ซึ่งล้วนแตกต่างจากก้องเหมือนมาจากดาวคนละดวง โดยในกรณีของพี่โจ้ เราจะเห็นความแตกต่างดังกล่าวอย่างชัดเจนในฉากที่เขาและก้องไปเดินช็อปปิ้งยกทรงเป็นเพื่อนผู้หญิง โดยคนหนึ่งจะแสดงความเห็นและอารมณ์เพียงน้อยนิด ด้วยใบหน้าเบื่อๆ เซ็งๆ เล็กน้อย ขณะที่อีกคนกลับหยอกล้อและสะดวกใจในการหยิบจับโน่นนี่โดยไม่เขินอาย

มาร์ค ซิมป์สัน นักข่าวชาวอังกฤษผู้คิดค้นคำว่าเมโทรเซ็กช่วลขึ้นเคยเขียนว่าวิธีจับแอบเมโทรเซ็กช่วลนั้นง่ายนิดเดียว นั่นคือ เพียงแค่ “มองดู” พวกเขา เพราะความเป็นเมโทรเซ็กช่วลนั้นสามารถวัดกันได้ง่ายๆ โดยภาพลักษณ์ภายนอกและพฤติกรรมบางอย่าง มันเป็นเรื่องของการท้าทายบทบาททางเพศดั้งเดิม (ผู้ชายต้องเล่นหุ่นยนต์ ผู้หญิงต้องเล่นตุ๊กตา ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ผู้หญิงต้องอ่อนไหว ฯลฯ) มันเป็นเรื่องของการหลงตัวเอง มันเป็นเรื่องของไลฟ์ สไตล์ ซึ่งไม่ซับซ้อนและยากต่อการจัดแบ่งประเภทมากเท่ารสนิยมหรือตัวตนทางเพศ

พวกแก๊งชะนีเองก็ดูเหมือนจะตระหนักดีในระดับหนึ่งว่า หลักฐานทุกอย่างที่พวกเธอได้มานั้นเพียงแค่พิสูจน์ให้เห็นว่าก้องเป็นเมโทรเซ็กช่วล หาใช่โฮโมเซ็กช่วล ดังนั้น พวกเธอจึงไม่กล้าเอ่ยปากบอกแป้งตรงๆ ถ้าคุณลักษณะภายนอกสามารถบ่งชี้ตัวตนภายในได้แล้วละก็ เดวิด เบคแฮม คงใกล้เคียงกับรักร่วมเพศมากกว่าสองตัวเอกใน Brokeback Mountain อยู่หลายช่วงตัว

แล้วข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ “รักร้อน” ในห้องล็อกเกอร์สมัยที่ก้องยังเป็นเด็กอยู่ล่ะ พอจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของรักร่วมเพศได้ไหม

อาจจะได้ แต่ก็เบาหวิวเหลือทน

เซ็กซ์ระหว่างเด็กชายวัยรุ่นถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในโรงเรียนชายล้วน แบบสำรวจพฤติกรรมทางเพศของต่างประเทศก็เคยระบุว่าผู้ชายแท้ๆ หรือ heterosexual เกินครึ่งล้วนเคยมีประสบการณ์รักร่วมเพศมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราต้องยอมรับ ก็คือ ในปัจจุบันตัวตนทางเพศดูเหมือนจะเริ่มแบ่งแยกให้ชัดเจนได้ยากขึ้นทุกที

จากงานเขียนของ ไมเคิล บาร์ทอส ในหนังสือ Meaning of Sex Between Men ผู้ชายหลายคน ขณะถูกสัมภาษณ์สำหรับงานวิจัยเรื่องเอดส์ ไม่เรียกตัวเองว่ารักร่วมเพศ ถึงแม้เขาจะเคยแอบหลบเมียและลูกๆ ออกไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเป็นครั้งคราว โดยผู้ถูกสัมภาษณ์คนหนึ่งกล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรที่ผมจะมีเซ็กซ์กับผู้ชายเป็นครั้งคราว สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ ผมแต่งงานแล้วและมีความสุขกับชีวิต... กิจกรรมยามบ่ายในบางวันของผมไม่ใช่ธุระกงการของใคร” อีกคนปฏิเสธการถูกตีตราว่าเป็นรักร่วมเพศอย่างชัดเจนกว่า “ผมไม่ใช่เกย์ เพศสัมพันธ์กับผู้ชายเป็นสิ่งที่ผมทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ มันกินเวลาในชีวิตของผมเพียงน้อยนิด ส่วนเวลาที่เหลือผมเป็นผู้ชายรักต่างเพศธรรมดาที่แต่งงานแล้วและมีครอบครัว”

พวกเขาเป็นอีแอบที่ไม่ยอมรับความจริงใช่ไหม แล้วคนที่ตีตราตัวเองว่าเป็นไบเซ็กช่วลล่ะ พวกเขากำลังหลอกตัวเองด้วยหรือเปล่า ถ้าการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายทำให้คุณเป็นรักร่วมเพศ งั้นบรรดาผู้ชายขายตัวในบาร์เกย์ก็ย่อมต้องเป็นรักร่วมเพศทั้งหมดน่ะสิ

ต่อประเด็น “ตัวตนแห่งรักร่วมเพศ” หนังเรื่อง แก๊งชะนีกับอีแอบ ดูเหมือนจะตั้งตนอยู่กึ่งกลางระหว่างสองแนวคิดหลัก คือ essentialist (เชื่อว่าตัวตนทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ มีมาแต่กำเนิด เป็นอิสระจากวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม) กับ constructionist (เชื่อว่าตัวตนทางเพศนั้นยืดหยุ่นได้ โดยมีผลมาจากสภาพสังคม อิทธิพลภายนอกและวัฒนธรรม) กล่าวคือ มันให้ความสำคัญต่อการสืบเชื้อสายทางกรรมพันธุ์ (มีคุณน้าเป็นเกย์สาวที่ชอบจัดดอกไม้) มากพอๆ กับประสบการณ์ฝังใจ (รักร้อนในห้องล็อกเกอร์) และเมื่อก้องมาขอความช่วยเหลือจากพี่บี๋และป๋อมเพราะเขารู้สึกสับสน ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็น “อะไร” กันแน่ คำตอบที่เขาได้รับก็มีทั้ง “ต้องลองดู” (แล้วเธอจะบอกได้เองจากประสบการณ์) และ “เธอรู้อยู่แล้วว่าเธอต้องการอะไร เพียงแต่เธอจะยอมรับมันหรือเปล่าเท่านั้น” (มันอยู่ข้างในตัวเธอมาตั้งแต่แรกแล้ว)

จนถึงจุดนี้ หนังยังคงไม่ปล่อยให้คนดูปักใจเชื่อฟากใดฟากหนึ่งอย่างจริงจัง ก้องสามารถจะเป็นเกย์ หรือไม่เป็นเกย์ได้มากพอๆ กัน แต่การที่หนังเลือกจะจบแบบที่คนดูได้เห็นดูเหมือนจะช่วยลดแรงกระแทกต่อพฤติกรรมยุ่งเรื่องชาวบ้านของแก๊งชะนีได้ไม่น้อย

การผสมผสานสองแนวคิดหลักเข้าด้วยกันของ แก๊งชะนีกับอีแอบ ทำให้หนังเรื่องนี้ค่อนข้างร่วมสมัยและหัวก้าวหน้ากว่าหนังไทยเกี่ยวกับรักร่วมเพศส่วนใหญ่ ซึ่งมักโน้มเอียงเข้าหาหลักการของ essentialist แบบสุดโต่ง ตั้งแต่ พรางชมพู จนถึงล่าสุด คือ เพลงสุดท้าย (“ถ้าเลือกเกิดได้ หนูคงไม่เลือกเกิดมาเป็นอีกะเทยแบบนี้”) เพราะบางครั้งประเด็นเกี่ยวกับตัวตนทางเพศนั้นก็ซับซ้อนและละเอียดอ่อนเกินกว่าจะระบุบ่งบอกให้ชัดเจน เฉกเช่นบทเปรียบเทียบของแม่แป้งว่า “เกลือ” กับ “น้ำตาล” ไม่สามารถจะทดแทนกันได้

ปัญหาในปัจจุบันหาใช่ว่าเราแทบจะดูไม่ออกว่าเกลือกับน้ำตาลแตกต่างกันอย่างไรเท่านั้น แต่บางครั้งกระทั่งได้ลองชิมไปแล้วก็ยังไม่เห็นความแตกต่างอีกด้วย

7 ความคิดเห็น:

UAN กล่าวว่า...

อ๋อ มิน่าล่ะ

อ่านบทความเรื่องนี้แล้วทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมระยะหลังนี้ 'เกย์ดาร์' ของตัวเองถึงต้องทำงานหนัก และบางทีก็ถึงขั้นใช้การไม่ได้เลย เมื่อเห็นผู้ชายคนหนึ่งและไม่สามารถใช้ดัชนีตัวไหนมาชี้วัดตัดสินลงไปได้ว่าเขามี 'เพศ' อะไร

จริง ๆ แล้วก็เคยเห็นผู้ชายบางคนที่แต่งตัวเนี้ยบตั้งแต่หัวจรดเท้า แบบดูดีมาก เหมือนเดินออกมาจากนิตยสาร ARENA HOMME PLUS แต่ก็ดูออกว่าเป็นชายแท้แน่ ๆ ในขณะที่ก็เคยรู้จักเกย์บางคนที่แต่งตัวซอมซ่อและมีบุคลิคที่แมนมาก ๆ ดูยังไงก็ไม่เห็นลีลาแต๋วแตกแน่นอน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าคนเราอาจจะมีบุคลิค ท่าทาง ความชอบ และรสนิยมที่เป็น 'เอกเทศ' จาก 'เพศ' ของตัวเองได้ด้วยเหมือนกัน หมายความว่า คนที่เป็นเกย์ ก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องแต๋วแตกและมีรสนิยมเลอเลิศทุกคน และคนที่เป็น STRAIGHT ก็ไม่จำเป็นต้องแมนจ๋าและไม่รับรู้อะไรเลยที่เป็นเรื่องการเข้าสังคม

ความจริงถ้า "แก๊งชะนีกับอีแอบ" จะนำความแตกต่างหลากหลายทางรสนิยมแบบนี้มานำเสนอในหนังด้วยก็คงจะดีเหมือนกัน คือนำเสนอภาพของชาย STRAIGHT ที่มีทั้งแบบ 'แมนแท้ๆ' และ แมนเนี้ยบแบบ METROSEXUAL จริง ๆ ส่วนคนที่เป็นเกย์ก็มีทั้งแบบที่ 'เนี้ยบแบบเกย์ดั้งเดิม' และดูแมนจนดูไม่ออกว่าเป็นเกย์

แต่เอาเข้าจริง ๆ คนที่แต่งตัวเนี้ยบ มีความรอบรู้ เข้าใจผู้หญิง และรสนิยมดีในหนัง (ซึ่งก็คือพระเอก) ก็กลับเป็นเกย์ ในขณะที่ชาย STRAIGHT ในเรื่องก็ไม่เห็นภาพของความเนี้ยบและความเลิศเลอทางรสนิยมอะไรเลย เลยทำให้รู้สึกว่าหนังยังขาดความหลากหลายในจุดนี้ไป และสุดท้ายมันก็มาลงอีหร่อบเดิม ๆ คือถ้าเกิดเนี้ยบขึ้นมาก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นเกย์ ส่วนผู้ชายทั้งแท่งก็เป็นได้แค่ไอ้แก่หนังเหนียว, พ่อบ้านทีเผลอ, เจ้านายในออฟฟิส, และเด็กสร้างบ้านเท่านั้น

โถ ๆ ผู้ชายนะผู้ชาย

Riverdale กล่าวว่า...

นั่นสินะ สุดท้ายหนังก็ยืนยันสมมุติฐานดั้งเดิมมากไป ความจริง มันคงจะดีกว่านี้ ถ้าหนังจบว่าพระเอกเป็นผู้ชาย แต่ก็อีกนั่นแหละ คนดูก็คงคาดหวังว่าต้องจบแบบนั้นเหมือนกัน การจบให้พระเอกเป็นเกย์ ก็เหมือนจะเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่ง และสุดท้าย นางเอกก็เลือกจะไม่แต่งงาน มันดูร่วมสมัยดีเหมือนกัน ฉากจบแบบประมาณ sex and the city ให้เพื่อนผู้หญิงมานั่งคุยกัน ส่วนพวกผู้ชายถูกกันเป็นคนนอก ก็ไม่พบเห็นได้บ่อยนักหรอกในหนังไทย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พออ่านจบ ก็เลยเข้าไปชิมน้ำตาลกะเกลือดู สงสัยมันคงน้อยเกินไปทีเดียวเชียว ผมเลยแยกไม่ออกอ่ะ ว่าอันไหนเกลือ กันไหนน้ำตาล ดีนะที่ไม่มีผงชูรสมาร่วมด้วย ไม่งั้นมีหวัง ปวดหัวเวียนเฮดเป็นแน่

เข้ามาชเลียร์อ่ะคับ ชื่นชมไม่มีเบื่อ หุหุ...

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

hey นี่บลอกใหม่เรา เราย้ายที่ thunska.exteen.com แวะมานะจ๊ะ

celinejulie กล่าวว่า...

ดีจัง ได้ความรู้เรื่อง ESSENTIALIST กับ CONSTRUCTIONIST ด้วย

หนูเชื่อว่าตัวหนูเป็นเกย์มาตั้งแต่เกิดค่ะ เพราะหนูรู้สึกเงี่ยนผู้ชายตั้งแต่อยู่โรงเรียนอนุบาลแล้ว แต่หนูก็เชื่อว่าเพื่อนๆหนูมีทั้งที่เป็นเกย์ตั้งแต่กำเนิด และที่อาจจะเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆเหมือนกัน

Riverdale กล่าวว่า...

ตายจริง นายงุงิแอบชิมทั้ง "เกลือ" และ "น้ำตาล" มาหมดแล้วเหรอเนี่ย เหอๆ แต่ที่ยังไม่รู้เพราะชิม "น้อยไป" อย่างงี้ต้องลองชิมอีก "เยอะๆ" ว่าแต่ไอ้ผงชูรสเนี่ยมันเป็นแบบไหนกันเหรอ น่ากลัวจัง

อิจฉาคุณ Thunska มากกกกกกกกกกก อยากเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์หนังโป๊ของญี่ปุ่นบ้าง กิกิกิ

คุณ celine julie ครับ ผมรู้สึกว่าสองกลุ่มนี้จะตบตีกันมาตลอด แต่ดูเหมือนเมืองไทยจะเชื่อในประเด็นของ ESSENTIALIST มากเป็นพิเศษ เช่น เชื่อว่าพวกเกย์มีฮอร์โมน หรือ ยีนไม่เหมือนคนทั่วไป แต่ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าทั้งสองทฤษฎีน่าจะสามารถนำมาวัดใช้ได้ในแต่ละกรณีๆ ไป

fox กล่าวว่า...

มาลงชื่อไว้เฉยๆว่าชอบบล๊อกของคุณจัง :)