วันเสาร์, กรกฎาคม 01, 2549

Silent Hill: สาวสยอง


นอกจากตัวละครผู้หญิงมักจะถูกทารุณกรรม ล่วงละเมิด และสังหารอย่างเลือดเย็นในหนังสยองขวัญ เพื่อความเพลิดเพลินของคนดูแล้ว (ตัวอย่าง คือ บรรดาหนัง Slasher Film ทั้งหลาย อาทิ Halloween, The Texas Chain Saw Massacre, Scream และ Friday the 13th) บ่อยครั้งพวกเธอยังถูกนำเสนอในฐานะ “ช่องทาง” แห่งซาตาน หรือความชั่วร้ายอีกด้วย ผ่านหนังสยองขวัญเกี่ยวกับพลังเหนือธรรมชาติหลายเรื่อง อาทิ The Exorcist, Carrie, Firestarter, และ Poltergeist

คาโรล เจ. โคลเวอร์ ผู้เขียนหนังสือ Men, Women, and Chain Saws: Gender in the Modern Horror Film ได้ขนานนามตระกูลย่อยดังกล่าวของหนังสยองขวัญเอาไว้ว่า Occult Film พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสาเหตุที่เพศหญิงมักถูกซาตานเข้าสิง (The Exorcist, Witchboard) หรือมีพลังพิเศษ (Carrie, Firestarter, The Fury) แม้เมื่อตัวเอกเป็นรถยนต์ (Christine) ว่าเนื่องมาจากเพศหญิงมีธรรมชาติที่ “เปิดกว้าง” มากกว่าเพศชาย ผ่านสัญลักษณ์ของช่องคลอด (1) ซึ่งเป็นจุดที่เพศหญิงถูก “ล่วงล้ำ” และ “ครอบงำ” ได้ง่าย ส่งผลให้หนังสยองขวัญบางเรื่อง อาทิ Rosemary’s Baby และ The Omen เล่าถึงกำเนิดซาตานผ่านการตั้งครรภ์

สถานะ “เปิดกว้าง” ดังกล่าวทำให้ตัวละครหญิงในหนังแนวสยองขวัญมีแนวโน้มที่จะตระหนักถึงพลังเหนือธรรมชาติและยอมรับเรื่องเหนือวิทยาศาสตร์ได้เร็วกว่า เช่น ใน Poltergeist เด็กหญิง คาโรล แอนน์ (ฮีทเธอร์ โอ’รูค) สามารถติดต่อกับ “คนทีวี” ได้ ส่วนแม่ของเธอ ไดแอน (โจเบ็ธ วิลเลี่ยมส์) ก็ยอมรับพลังประหลาดในบ้านได้ก่อนสามี เช่นเดียวกับ คุณนายธอร์น (ลี เรมิค) ใน The Omen ซึ่งเริ่มสงสัยเป็นคนแรกว่าลูกชายเธอมีบางอย่างผิดปรกติ ใน Don’t Look Now ลอร่า (จูลี่ คริสตี้) เชื่อหญิงตาบอดว่าหล่อนสามารถติดต่อสื่อสารกับลูกที่ตายไปแล้วของลอร่าได้ ขณะสามีของเธอ จอห์น (โดนัลด์ ซุทเธอร์แลนด์) กลับเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ

เช่นเดียวกัน โรส (โรดา มิทเชลล์) ใน Silent Hill เริ่มตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากลในพฤติกรรมเดินละเมอของ ชารอน (โจเดลล์ เฟอร์แลนด์) ลูกสาวบุญธรรม และยืนกรานที่จะพาเธอไปยัง ไซเรนท์ ฮิลล์ เมืองซึ่งเด็กหญิงกล่าวถึงขณะเดินละเมอ เพื่อค้นหาความจริง เพราะโรสมี “ลางสังหรณ์” ว่าลูกสาวของเธออาจมีประวัติเชื่อมโยงกับเมืองนั้น แต่การตัดสินใจดังกล่าวได้รับเสียงคัดค้านจาก คริสโตเฟอร์ (ฌอน บีน) สามีของเธอ ซึ่งต้องการให้โรสพาลูกสาวไปหาหมอ แล้วเข้ารับการบำบัดตามธรรมเนียมนิยม

การณ์ปรากฏว่าลางสังหรณ์ของโรสถูกต้อง เมื่อเธอกับชารอนหลุดเข้าไปในอีก “มิติ” หนึ่งของเมืองไซเรนท์ ฮิลล์ โดยการชักนำของวิญญาณร้าย (เพศหญิง) ซึ่งต้องการจะเปิดเผยความจริงให้ชารอน (และคนดู) ตระหนักเกี่ยวกับความอยุติธรรมในอดีตที่เธอต้องจำทน นอกจากนี้ มันยังไม่ใช่เรื่องแปลกอีกด้วยเมื่อปรากฏว่าบุคคลเดียวที่สามารถติดตามโรสเข้าสู่มิติพิศวงนอกเหนือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้ คือ ตำรวจหญิง ส่วนบรรดาตำรวจชายคนอื่นๆ และคริสโตเฟอร์ กลับได้แต่วิ่งไล่ตามหาพวกเธออยู่ในอีกมิติหนึ่ง

Occult Film จะแบ่งตัวละครและระบบความเชื่อออกเป็นสองกลุ่ม นั่นคือ ศาสตร์ขาว (White Science) และ มนตร์ดำ (Black Magic) โดยกลุ่มแรกหมายความถึงระบบเหตุผลแบบตะวันตก มีตัวแทนหลักเป็นผู้ชายผิวขาว ส่วนใหญ่จะเป็นคุณหมอ อุปกรณ์ของพวกเขาก็เช่น การผ่าตัด ยา การบำบัดจิต และการดูแลรักษาตามหลักวิทยาศาสตร์ ตรงกันข้าม กลุ่มหลังจะหมายความถึง ลัทธิบูชาซาตาน วูดู ประสาทสัมผัสที่หก และตำนาน โรมัน คาทอลิก อุปกรณ์ของพวกเขา ได้แก่ ไม้กางเขน น้ำมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ เทียน ลางสังหรณ์ การไล่ผี การสวดภาวนา การบูชายัน ฯลฯ ส่วนสมาชิกในกลุ่มนี้มักจะเป็นอินเดียนแดง คนผิวดำ คนในประเทศโลกที่สาม เด็ก คนแก่ บาทหลวง และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้หญิง

บทเรียนสำคัญสุดของ Occult Film คือ ศาสตร์ขาวมีข้อจำกัด และหากมันไม่ยอมจำนนต่อพลังมนตร์ดำ ทุกอย่างก็จะสูญสิ้น ในหนัง Occult Film ถ้าผู้หญิงถูกปีศาจเข้าสิง การผ่าตัดสมองหาใช่ทางออก แต่เป็นการทำพิธีไล่ผีต่างหาก อย่างไรก็ตาม ก่อนใครสักคนจะค้นพบทางออกเหนือธรรมชาติ เขาคนนั้นจำเป็นต้องเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติเสียก่อน ส่งผลให้หนัง Occult Film มักจะมีซับพล็อตเกี่ยวกับตัวละครชาย (ศาสตร์ขาว) ค่อยๆ ยอมรับในความจำเป็นและความเหนือกว่าของมนตร์ดำ พวกเขาจะสลัดทิ้งหลักเหตุผล แล้วหันมาโอบกอดศรัทธา ความลึกลับ ดังเช่นกรณีของบาทหลวงหนุ่มใน The Exorcist

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชายแห่งเหตุผลยินยอมต้อนรับหลักเกณฑ์เหนือธรรมชาติ เมื่อนั้นความวุ่นวายอันเกิดจากมนตร์ดำก็จะสงบลง

ใน Silent Hill คริสโตเฟอร์อาจเรียนรู้ที่จะ “เปิดกว้าง” ขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้เขาเริ่มสัมผัสตัวตนของโรสในบางโอกาส และได้รับโทรศัพท์เธอซึ่งเต็มไปด้วยคลื่นแทรกจนฟังแทบไม่ออก กระนั้นเขาก็ยังไม่อาจเข้าถึงเธอ หรือมิติของเธอได้ เขาขาดศรัทธาแรงกล้าต่อมนตร์ดำที่จะนำพาหนังไปสู่ตอนจบอันสุขสันต์ (โรสจึงลงเอยด้วยการติดอยู่ในมิติแห่ง ไซเรนท์ ฮิลล์ ต่อไป) เขาเลือกใช้เหตุผล (ศาสตร์ขาว) ในการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชารอนและเหตุไฟไหม้ใน ไซเรนท์ ฮิลล์ เขาไปสอบถามข้อมูลจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ค้นหาแฟ้มของตำรวจ แต่สุดท้ายเขากลับลงเอยด้วยการคว้าน้ำเหลว

มองเผินๆ Occult Film อาจดูเหมือนอีกหนึ่งหลักฐานของการเหยียดเพศในหนังสยองขวัญไม่ต่างจาก Slasher Film เนื่องจากมันตีตราผู้หญิงเป็นเหมือนช่องทางของซาตานและพลังอำนาจชั่วร้าย แต่ความจริงหากเรามองให้ลึกลงไปแล้ว ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม เนื่องจาก Occult Film มีเป้าหมายในการมุ่งโจมตีทฤษฎีเพศศึกษาของฟรอยด์ ซึ่งหลายคนเห็นว่าค่อนข้างโบราณและเหยียดเพศหญิง

ทฤษฎีทางเพศของฟรอยด์ให้ความสำคัญกับการมีและไม่มีองคชาต นั่นคือ เขาใช้ผู้ชายเป็นหลักศึกษาเพศหญิงและผูกโยงผู้หญิงเข้ากับการถูกตอน (castration) แต่หนัง Occult Film กลับแสดงให้เห็นว่าความพิเศษ/แตกต่างของเพศหญิงนั้นหาใช่การ “ขาด” องคชาต แต่เป็นเพราะบางสิ่งบางอย่างข้างในต่างหาก ร่างกายของเพศหญิงในหนัง Occult Film กลายเป็นปัญหาไม่ใช่เพราะมันปราศจากบางอย่าง แต่เพราะมันมีบางอย่างเพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษต่างหาก Occult Film ไม่ได้สนใจประเด็นการถูกตอน แต่สนใจเกี่ยวกับภาวะ “ภายใน” ของเพศหญิงมากกว่า นั่นเองส่งผลให้มันมักจะพูดถึงการสิงสู่ การครอบครอง การตั้งครรภ์ และประจำเดือน (2)

ที่สำคัญ บ่อยครั้ง Occult Film พยายามจะเปิดโอกาสให้ร่างกายของเพศหญิงได้ “พูด” ประสบการณ์ภายในออกมาผ่านการครวญคราง อาเจียน ไข้ การสบถ รอยบวม รอยแผล รอยผื่น รอยฟกช้ำ และในบางกรณีถึงขั้นสะกดคำเป็นข้อความ

เรื่องราวของชารอน/อเลซซาใน Silent Hill ดูเหมือนจะมีรายละเอียดหลายส่วนคล้ายคลึงกับเรื่องราวของ แคร์รี่ (ซิสซี่ สปาเช็ค) ใน Carrie ตั้งแต่ประเด็น “ลูกไม่มีพ่อ” ไปจนถึงข้อกล่าวหาจากกลุ่มคลั่งศาสนาว่าเป็นแม่มด (ใน Carrie คุณแม่คลั่งศาสนาได้เรียกขานพลังจิตของลูกสาวว่า “พลังซาตาน”) การกลั่นแกล้งของเพื่อนร่วมชั้น (อเลซซาถูกเพื่อนๆ ขว้างปาข้าวของใส่ในชั้นเรียน ส่วนแคร์รี่ถูกเพื่อนๆ ขว้างปาผ้าอนามัยใส่ในห้องน้ำ) และการล้างแค้นแบบเลือดสาดในช่วงไคล์แม็กซ์ (แคร์รี่ตรึงกางเขนแม่ตัวเองด้วยมีดนับสิบเล่ม ส่วนอเลซซาก็ตรึงกางเขน คริสตาเบลลา (อลิซ คริก) ด้วยลวดหนาม ก่อนจะฉีกร่างเธอออกเป็นสองท่อน)

ไม่ต้องสงสัยว่าความเจ็บปวด ความโกรธขึ้งที่สั่งสมอยู่ภายในของอเลซซาและแคร์รี่ คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเธอกลายเป็นช่องทางแห่งพลังอำนาจชั่วร้าย แต่ขณะเดียวกัน การล้างแค้นในช่วงท้ายเรื่องของพวกเธอก็เปรียบได้กับ “แรงระเบิด” ของเพศหญิง

มันไม่ใช่การ “พูด” แต่เป็นการ “ตะโกน”

ศัตรูตัวฉกาจของทั้งอเลซซา (คริสตาเบลลา) และแคร์รี่ (แม่ของเธอ) อาจเป็นผู้หญิง แต่พวกเธอเปรียบดังตัวแทนของเพศชายหรือสังคมที่ชายเป็นใหญ่ เนื่องจากพวกเธอต่างยึดมั่นในความเป็นคริสเตียนมากพอๆ กัน ในกรณีของ Silent Hill นัยยะดังกล่าวดูจะชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อวิกฤติของอเลซซาถูกเชื่อมโยงเข้ากับการล่าแม่มด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีรากฐานมาจากการเหยียดเพศของคริสตจักรโบราณในยุโรปและอเมริกา

กระนั้น ปัญหาต่อประเด็นพลังอำนาจแห่งเพศหญิงใน Silent Hill อยู่ตรงที่การล้างแค้นของอเลซซาและการเปิดโปงความจริงเกี่ยวกับความอยุติธรรมในอดีตเกิดขึ้น ณ มิติแห่งวิญญาณ/จินตนาการ หาใช่ในโลกแห่งความจริง ซึ่งยังถูกปกครองโดยเพศชาย (ศาสตร์ขาว) ที่มนตร์ดำไม่อาจลุกคืบเข้าไปครอบครองหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้

หมายเหตุ

(1) คงด้วยเหตุผลนี้เอง วิลเลี่ยม ปีเตอร์ แบล็ตตี้ ผู้แต่งนิยายและเขียนบทหนังเรื่อง The Exorcist ถึงได้เปลี่ยนตัวเหยื่อที่ถูกสิงสู่ให้เป็นเด็กหญิง ทั้งที่ตามเรื่องจริงของพิธีไล่ผี ซึ่งนิยายนำมาดัดแปลง เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเป็นเด็กชาย นอกจากนี้ ในเทปบันทึกเสียงพิธีกรรมไล่ผี ที่ วิลเลี่ยม ฟรีดกิ้น ผู้กำกับ ได้ฟังระหว่างการค้นคว้าหาข้อมูล เด็กที่ถูกทำพิธีก็เป็นเด็กชายเช่นกัน

(2) พลังเหนือธรรมชาติของตัวเอกในหนังเรื่อง Carrie เกิดขึ้นพร้อมกับการมีประจำเดือน นรีแพทย์ชาวอังกฤษ ดร.แม็ทธิวส์ ดันแคน เคยเขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับประจำเดือนว่ามันเป็นเหมือน “ธงแดงหน้างานประมูล ที่บ่งบอกว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นข้างใน”

10 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

หนังสยองขวัญอีกเรื่องนึงที่ดิฉันชอบมากคือเรื่อง THE INITIATION OF SARAH (1978, ROBERT DAY, A+) ค่ะ เป็นเรื่องของหญิงสาวที่เข้ามาเรียนในมหาลัย และใช้พลังจิตเวทมนตร์ของเธอในการจัดการกับแก๊งสาวสวยรวยหยิ่งที่ชอบดูถูกเหยียดหยามเธอ

Riverdale กล่าวว่า...

โดยส่วนตัว ผมเป็นคนชอบหนังแก้แค้นเหมือนกัน ไม่เฉพาะหนังพลังจิตอย่าง Carrie แต่รวมไปถึงหนังอย่าง Straw Dogs ด้วย มันให้ความรู้สึกสะใจดี แต่อาจจะขัดแย้งกับระบอบความคิดทางพุทธศาสนาไปหน่อย :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตามมาจากlinkของ คุณ แมดเดอลีน ครับ

อ่านจบแล้วมาชวนคุยต่อ

ว่าด้วยเพศหญิงในหนังสยองขวัญฝั่งเอเซียเราบ้าง
หนังอย่างring / ju -on ไล่ไปจนถึง แม่นาคพระขโนง หรือหนังใหม่ๆอย่าง คน ผี ปีศาจ (บทของคุณอมรา อัศวนนท์ )รวมไปถึงหนังผีไทยหาลยเรื่องที่ ให้อำนาจมืด กับเพศหญิง มันจะนับรวมเป็นoccult film ไดด้วยหรือเปล่าครับ

ปล. ชอบ silent hillมากๆครับ
55

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณครับที่แวะมาอ่าน :)

มีข้อน่าสังเกตว่าหนังฝั่งเอเชียเรามักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศาสตร์ขาว (White Science) เท่าไหร่ หรือเป็นเพราะชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นศาสตร์ 'ขาว' เราคนผิวเหลืองเลยไม่ค่อย get (นี่ไม่ได้กวนทีนนะครับ) สังเกตได้ว่าหนังผีฝั่งเอเชียเราจะเชื่อทันทีเวลาเกิดเหตุประหลาดว่าเป็นเพราะมนต์ดำ บางทีอาจเป็นเพราะเราเป็นสังคม 'ผู้หญิง' อยู่แล้วเมื่อเทียบกับพวกตะวันตก และอย่างที่บอก ในหนัง Occult Film คนในประเทศโลกที่สามถูกจัดอยู่ในกลุ่มมนตร์ดำครับ :)

แต่หนังอย่าง The Ring น่าจะถือว่าใกล้เคียงกับ Occult Film ค่อนข้างมาก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มาคุยต่อสั้นๆครับ (แอบหนีงานมา)

แสดงว่า บทบาทของ อิสตรี ในสยองขวัญฝั่งเอเซีย น่าสนใจมากๆเลยครับ

ผมเคยคุยกะพี่แมดว่า
ผู้หญิงในสยองขวัญไทยยุคหลังมักได้รับบทน่าตื่นเต้นมากๆ
เช่น คุณ อมรา ใน คนผีปีศาจ
คุณจินตหราใน เด็กหอ
ที่จริงมีอีกแต่นึกได้แค่นี้

น่าเขียนยาวๆถึงนะครับ

Riverdale กล่าวว่า...

ต้องยอมรับว่าผมเองไม่ใช่แฟนหนังสยองขวัญตัวยงเท่าไหร่ (ตำแหน่งนี้ของยกให้คุณ celinejulie) เลยไม่ได้ดูหนังสยองขวัญไปหลายเรื่อง อย่าง คนผีปีศาจ ผมก็ไม่ได้ดูเหมือนกัน แต่ได้ยินคนพูดว่าบทคุณอมราเด่นมาก

ส่วนบทคุณจินตหราใน เด็กหอ ผมว่าก็เด่นทีเดียวและเธอก็เล่นได้ดีมาก แต่ผมไม่ค่อยได้ให้ความใส่ใจกับเธอเท่าไหร่ เพราะมัวแต่มองน้องวิเชียร 5555

เห็นด้วยวว่าการให้ผู้หญิงรับบทผีมีประเด็นน่าสนใจ คุณเจ้าชายน้อยเขียนสิครับ ผมจะรออ่าน :)

celinejulie กล่าวว่า...

อ่านที่คุณ OLIVER เขียนแล้วทำให้เข้าใจแล้วล่ะว่าทำไมตัวเองถึงรู้สึกรำคาญตัวละครประเภท WHITE SCIENCE และทำไมหนังฝรั่งหลายเรื่องที่เคยดูตอนเด็กๆถึงมักมีตัวละครน่ารำคาญประเภทนี้ ที่แท้ก็เป็นเพราะเราเติบโตมาในสังคมที่เชื่อเรื่อง BLACK MAGIC และเราเองก็เชื่อ BLACK MAGIC อยู่แล้วนั่นเอง ในขณะที่สังคมฝรั่งนั้นมีคนที่ไม่เชื่อเรื่องผีอยู่เยอะ เวลาสร้างหนัง เขาก็เลยต้องใส่ตัวละครประเภทนี้เข้าไปด้วย คงจะเพื่อให้ผู้ชมที่เป็นฝรั่งหลายคนสามารถมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครประเภทนั้นได้

จำได้ว่าตอนเด็กๆจะรำคาญตัวละครประเภท WHITE SCIENCE มากๆ เพราะตัวละครพวกนี้มักจะทำให้เนื้อเรื่องยืดยาด ไปไม่ถึงไหน แทนที่ตัวละครคนอื่นๆจะหาวิธีปราบผีหรือแก้อาถรรพ์กันได้อย่างรวดเร็ว ตัวละครประเภท WHITE SCIENCE ก็จะเอาแต่เถียงหัวชนฝาอยู่นั่นแหละ และมักจะเป็นตัวถ่วงทำให้ตัวละครคนอื่นๆปราบผีได้ช้าขึ้น

หนึ่งในตัวละครประเภท “ต่อต้านเรื่องเหนือธรรมชาติ” ที่ทำให้รู้สึกรำคาญมากที่สุดก็คือยัย DANA SCULLY (GILLIAN ANDERSON) ในละครชุด THE X-FILES นี่แหละ

ส่วนใน THE RING เวอร์ชันละครโทรทัศน์นั้น จำได้ว่ามีตัวละครคุณหมอสาวที่ “พยายามอธิบายเรื่องเหนือธรรมชาติด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์” เหมือนกัน แต่ตัวละครตัวนี้ไม่ได้ดื้อด้านหัวชนฝาและไม่ได้ทำให้เนื้อเรื่องอืดอาดเหมือนตัวละคร WHITE SCIENCE ในหนังฝรั่ง

ส่วนใหญ่แล้วดิฉันจะชอบหนังหรือละครผีๆที่ไม่ต้องมีตัวละครประเภท WHITE SCIENCE อย่างเช่นในละครเรื่อง “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ที่ตัวละครส่วนใหญ่เชื่อเรื่องผีในทันที โดยไม่ต้องมีใครมาคอยเถียงๆๆด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ให้เสียเวลา

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ป๋าอยากดูมั้ยคะ หนูมีดีวีดีนะคน ผี ปีศาจอ่ะ อิ๊ๆๆ

Riverdale กล่าวว่า...

เอามายืมก็ดีนะ แต่อาจต้องหมักดองเล็กน้อยเพราะไม่รู้ว่าจะมีเวลาดูเมื่อไหร่ (ปล. แกตั้งชื่อได้ตรงข้ามกับความจริงอย่างแรง)

คุณ celinejulie พูดถึง The X-Files ทำให้ผมมองเห็นความประหลาดอย่างหนึ่งของซีรี่ย์ชุดนี้ คือ การให้ผู้หญิงเป็นฝ่าย ศาสตร์ขาว ส่วนผู้ชายเป็นพวก มนตร์ดำ ซึ่งถือเป็นการแหกธรรมเนียมปฏิบัติไม่น้อย

ผมเห็นด้วยว่าชอบหนังที่พูดกันถึงมนตร์ดำล้วนๆ มากกว่า มันดูสนุกกว่า หรือเป็นเพราะเราอินกับเรื่องเหนือธรรมชาติหรือเปล่าก็ไม่รู้

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณครับที่แวะมาอ่าน คราวหน้าอาจจะไม่ค่อยโหดเท่าไหร่ เพราะตั้งใจว่าจะเขียนถึง "แก๊งชะนีกับอีแอบ" ครับ :)