วันศุกร์, สิงหาคม 11, 2549

Intolerable Cruelty: ความสุขของผู้ได้เลือก



ขณะพูดบรรยายต่อหน้าเพื่อนทนายความ ณ งานสัมมนาที่ ลาสเวกัส ไมลส์ แมสซี่ย์ (จอร์จ คลูนี่ย์) ผู้กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งรัก ได้กล่าวประณามการมองโลกอย่างเย้นหยัน (cynicism) ว่าเป็นเหตุให้มนุษย์จำนวนมากไม่อาจเปิดใจเข้าหากัน พวกเขาใช้มันเป็นเกราะป้องกันความเจ็บปวด คิดว่ามันมอบคุณประโยชน์ แต่แท้จริงแล้วกลับให้โทษมหันต์ ทำร้ายพวกเขาโดยไม่ทันระวังตัว ทำให้พวกเขาหวาดกลัว ขาดศรัทธา ความเชื่อมั่นในสิ่งดีงามที่อาจไม่ปรากฏรูปร่างเด่นชัด ดังเช่น ความรักอันบริสุทธิ์

และในโลกนี้จะมีกลุ่มคนอาชีพใดเล่า ที่จะเสี่ยงต่อภาวะวิกฤติศรัทธา มากไปกว่าทนายความคดีหย่าร้าง เนื่องจากทุกวัน พวกเขาต้องรับมือกับคู่สามีภรรยาที่ขมขื่น จืดจาง บ้างถึงขั้นเกลียดชังและพยายามหาผลประโยชน์จากอีกฝ่ายอย่างสุดความสามารถ ท่ามกลางสภาพการณ์เยี่ยงนี้ ไมลส์ได้ถามกลุ่มผู้ฟังร่วมอาชีพว่า พวกเขาจะเลือกแก้ไขปัญหาด้วยความรัก หรือ การประชดประชัน? เลือกจะบดขยี้เถ้าถ่านแห่งรักนั้น หรือ โหมประโคมมันให้กลับมาลุกโชติช่วงขึ้นอีกครั้ง?

พูดจบไมลส์ก็ประกาศ ‘กลับใจ’ ต่อหน้าทุกคน ว่าเขาจะเปลี่ยนไปทำงานเพื่อสังคม เป็นอาสาสมัครสู้คดีให้แก่ลูกความอนาถาทั่วไป อานุภาพแห่งรักอันบริสุทธิ์ได้ทำให้เขาเข้าใจในที่สุด ว่าเงินทองและชื่อเสียงที่สั่งสมมาตลอดชีวิตนั้นหาได้นำความสุขมาให้เขาเสมอไปไม่ ความรักเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเขา จากผู้นิยมมองโลกแบบเย้ยหยัน มาเป็นผู้ที่เชื่อมั่น ศรัทธา

คงไม่น่าแปลกอะไร หากฉากข้างต้นปรากฏอยู่ในหนังรักของ คาเมรอน โครว หรือ นอร่า เอปรอน ซึ่งมักอบอวลไปด้วยการมองโลกสดใส ตัวละครที่ ‘รักดี’ โดยสันดาน และเนื้อหาเทิดทูนคุณค่าความรักเหนืออื่นใด แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม Intolerable Cruelty เป็นผลงานชิ้นล่าสุดของ โจเอล และ อีธาน โคน สองผู้กำกับ/เขียนบท ที่ถนัดอารมณ์ขันกระแนะกระแหน การสะท้อนด้านมืดในตัวมนุษย์ และวิธีเล่าเรื่องแบบถอยห่างหนึ่งช่วงแขนเหมือนพระเจ้าผู้เฝ้ามองสิ่งประดิษฐ์ของพระองค์ ‘ลงมา’ จากสรวงสวรรค์ ซึ่งนั่นเองกลายเป็นเหตุให้ทั้งสองถูกนักวิจารณ์บางกลุ่มกล่าวหาว่าชอบล้อเลียนตัวละคร ซึ่งบ่อยครั้งมักเปี่ยมบุคลิกประหลาดพิสดาร สมองทึบ แถมยังมีสำเนียงการพูดตลกๆอีกต่างหาก และมองพวกเขาด้วยท่าทีดูหมิ่น เหยียดหยาม พร้อมทั้งยก Fargo (1996) เป็นจำเลยหมายเลขหนึ่ง

นอกจากนั้น การที่สองพี่น้องโคนนิยมสร้างโลกขึ้นมาใหม่ผ่านมุมมองของวัฒนธรรมป็อปและภาพยนตร์ยุคเก่า แทนการจำลองโลกแห่งความเป็นจริง เช่น ใน The Hudsucker Proxy (1994) และ Barton Fink (1991) ซึ่งฉากหลังค่อนข้างให้ความรู้สึกเหนือจริง ผสม ‘จินตนาการอ้างอิง’ เอาไว้ในปริมาณสูง ทำให้บางครั้งเหล่าตัวละครในหนังของพวกเขาถูกวิพากษ์ว่าเป็นเพียงเครื่องหมาย เป็นตัวแทน มากกว่าจะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ จิตใจ และทำให้ผู้ชมสามารถเชื่อมโยงทางอารมณ์ได้

หนังของโคนสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับรูปแบบภาพยนตร์ที่มีอยู่แล้วค่อนข้างสูง พวกมันถือกำเนิดขึ้นโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ซึ่งแชร์ร่วมกันระหว่างคนดูกับผู้สร้าง คนดูจำเป็นต้องเคยผ่านประสบการณ์คล้ายคลึงกันมาบ้างในการเข้าถึงหนังอย่างสมบูรณ์ ความทรงจำ ภาพลักษณ์ ตลอดจนการผสมผสาน คือ ปัจจัยสำคัญในการออกแบบหนังของพวกเขา กระนั้น จุดมุ่งหมายแท้จริงของสองพี่น้องโคนไม่ใช่การ ‘ลอกเลียน’ อดีต หากแต่ใช้มันเป็นรากฐานสำหรับถากถาง วิพากษ์ ตั้งคำถาม และท้าทายอุดมคติซ้ำซากแบบเดิมๆต่างหาก

พวกเขาเคยกล่าวว่า สาเหตุที่บทระบุเจาะจงให้ วิลเลี่ยม เอช. เมซี่ กับ สตีฟ บูเชมี ใน Fargo เป็นตัวละครโง่เง่า ไร้สติ จนน่าหัวเราะเยาะ ก็เพื่อต่อต้านภาพลักษณ์ของหนังฮอลลีวู้ด ที่ชอบนำเสนอเหล่าร้าย ว่าเป็นพวกหลักแหลม เปี่ยมทักษะมืออาชีพ และควบคุมสถานการณ์ได้โดยตลอด เนื่องจากในความเป็นจริง อาชญากรส่วนใหญ่ล้วนไม่ได้ฉลาดล้ำ และนั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงถูกจับได้ ด้วยเหตุนี้เอง หนังของพวกเขาจึงให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากกว่าผลผลิตตามสูตรและแนวทางภาพยนตร์

Intolerable Cruelty ถูกตราหน้าตั้งแต่ก่อนออกฉายให้เป็นหนังโคนฉบับ ‘พร่องมันเนย’ เพราะไม่ว่าจะพิจารณาจากแนวทางหนัง รายชื่อดารานำระดับซูเปอร์สตาร์ หรือ ทุนสร้าง มันล้วนดูเหมือนความพยายามอีกครั้งที่จะไต่เต้าเข้าสู่ตลาดกระแสหลักของสองนักทำหนังอาร์ท (หลังจาก The Hudsucker Proxy ประสบความล้มเหลวเชิงการตลาด) และผลลัพธ์ปรากฏว่าสมมติฐานดังกล่าวเป็นจริงในระดับหนึ่ง แต่โชคยังดีสำหรับแฟนหนังพันธุ์แท้ ที่ระหว่างการปรับตัวเข้าหามวลชน สองพี่น้องโคนไม่ได้ละทิ้งเอกลักษณ์ของตนไปอย่างสิ้นเชิง รวมถึงสายตาอันเฉียบคมในเชิงวิพากษ์อดีต

หลังเล่นสนุกกับหนังตระกูลฟิล์มนัวร์มาแล้วใน The Man Who Wasn’t There (2001) ผลงานล่าสุดของสองพี่น้องโคนจึงเริ่มเบนเป้าหมายไปยังหนังตระกูล screwball comedy หรือหนังตลกประเภทพ่อแง่แม่งอน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงทศวรรษ 1930 ถึงต้นทศวรรษ 1940 ยุคเศรษฐกิจตกต่ำเชื่อมต่อสงครามโลก นับแต่ความสำเร็จของ It Happened One Night (1934) หนังเรื่องอื่นๆที่ได้รับการยกย่องอย่างต่อเนื่องในแนวทางนี้ ได้แก่ Bringing Up Baby (1938), The Philadelphia Story (1940) และ The Lady Eve (1941) เรื่องหลังสุด เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักต้มตุ๋นสาวกับเศรษฐีหนุ่ม เป็นผลงานกำกับของ เพรสตัน สเตอร์เจส หนึ่งในนักทำหนังที่พวกโคนโปรดปราน ผลงานคลาสสิกอีกชิ้นของสเตอร์เจสเรื่อง Sullivan’s Travels ออกฉายในปีเดียวกัน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ O Brother, Where Art Thou? (2000) การร่วมงานกันครั้งแรกระหว่าง จอร์จ คลูนี่ย์ กับสองพี่น้องโคน นอกเหนือจาก The Odyssey

ถึงแม้สองพระนางใน Intolerable Cruelty จะฉลาดหลักแหลมและปะทะคารมกันตลอดเรื่อง เหมือนตัวเอกในหนัง screwball comedy ทั่วไป แถมพวกเขายังค่อนข้างห่างไกลจากบุคลิกพิลึกของ ‘ตัวละครแบบโคน’ ค่อนข้างมาก (อาจยกเว้นเพียงพฤติกรรมหมกมุ่นในฟันที่ขาวสะอาดของไมลส์) แต่กลุ่มตัวละครสมทบก็ช่วยเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวได้พอควร ไม่ว่าจะเป็นมือปืนโรคหืด กะเทยรักหมา หรือหัวหน้าสำนักทนายความ ซึ่งมีท่อต่อระโยงระยางเต็มไปหมด ขณะเดียวกัน ฉากแม่บ้านวัยกลางคนตอนปลายนางหนึ่งบรรยายถึงสภาพที่เธอตกเป็นข้าทาสทางเพศของสามีกามวิปริตให้ศาลฟัง ก็คงหาชมไม่ได้ง่ายๆในหนังตลกโรแมนติกปรกติ

จุดเด่นสำคัญของหนัง screwball comedy นอกจากการวางสถานการณ์ให้คู่พระนางเป็นปฏิปักษ์กันเพื่อผู้ชมจะได้ลุ้นให้หนักขึ้นว่าพวกเขาลงเอยด้วยกันในตอนจบหรือไม่ อยู่ตรงการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของเพศหญิงว่าเป็นมนุษย์ ผู้มีอิสระ สติปัญญา และความแข็งแกร่ง ก้าวร้าวไม่แพ้เพศชาย ยิ่งไปกว่านั้น พวกเธอยังมักเป็นฝ่ายเปี่ยมไปด้วยพลังงาน ชีวิตชีวา และความสนุกสนาน มากกว่าตัวละครชายในเรื่องอีกด้วย ภาพลักษณ์ดังกล่าวถือเป็นการแหกกฎครั้งยิ่งใหญ่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้หญิงมักถูกวาดภาพบนจอให้เป็นแม่บ้านที่อ่อนหวานและเรียบร้อย แต่นางเอก screwball comedy กลับเริ่มบุกรุกเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงาน โดยอาชีพหลักของพวกเธอ ได้แก่ นักข่าวหนังสือพิมพ์ นักเขียน พนักงานห้างฯ เลขาฯ และสาวโรงงาน เป็นต้น

กระนั้น ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำและอคติทางเพศอันส่งผลให้พวกเธอมักถูกกีดกันการเลื่อนขั้น อาชีพดังกล่าวจึงเป็นแค่ชั่วคราว ไม่เพียงพอจะค้ำจุนสถานภาพ ‘อิสระ’ ของผู้หญิงเอาไว้ได้ตลอด ทางเลือกสุดท้ายของพวกเธอคือการแต่งงาน เช่นนี้แล้ว screwball comedy โดยเนื้อแท้ของมัน จึงยังคงยึดมั่นอยู่ในแนวคิด ‘ผู้หญิง=แม่บ้าน’ อย่างเหนียวแน่น พวกเธอสามารถออกมาทำงานหาเงินได้ เมื่อครั้งยังเป็นโสด แต่จำเป็นต้องสละอาชีพทันทีหลังจากแต่งงาน แล้วหันไปไขว่คว้าความเป็นแม่ในฐานะจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตแทน

สองพี่น้องโคนสร้างภาพ มาริลีน (แคทเธอรีน ซีต้า-โจนส์) ให้เป็นผู้หญิงเซ็กซี่ หรูเริด ใกล้เคียงกับ มาริลีน มอนโรว ซึ่งมักถูกหลายคนมองว่าเป็นตัวแทนของการเหยียดเพศในโลกภาพยนตร์ (วางผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศให้ผู้ชายจ้องมอง) มากกว่า แคทเธอลีน เฮพเบิร์น เจ้าแม่ screwball comedy ผู้มักจะรับแต่บทผู้หญิงเก่ง ฉลาด และแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน หากมองแบบผิวเผิน ‘อาชีพ’ ของเธอก็ไม่ค่อยจะให้ภาพลักษณ์ของเฟมินิสต์เท่าใดนัก เนื่องจากมันลดฐานะของเธอให้ต้องตกเป็นฝ่าย ‘ถูกเลือก’ และ ‘จำยอม’ ในชีวิตสมรสที่ไร้ความสุข

แต่ความจริงแล้ว มาริลีน คือ ตัวแทนแห่งเฟมินิสต์ยุคใหม่ ผู้ยินดีใช้ประโยชน์จากความเป็นหญิงแทนที่จะปกปิดมันไว้ อาชีพของเธออาจดูเหมือนการถูกกดขี่ให้อยู่ภายใต้กฎชายเป็นใหญ่ แต่เป้าหมายเบื้องลึกของเธอกลับทะยานไปไกลเกินหน้านางเอกหนัง screwball comedy ทั้งหลาย นั่นคือ อิสรภาพสมบูรณ์แบบ ซึ่งต่อมาจะเปิดโอกาสให้เธอ ‘ได้เลือก’ เป็นครั้งแรกในชีวิต สำหรับมาริลีน ทะเบียนสมรสเปรียบดังการลงทุนอันเจือไปด้วยความยากลำบาก ส่วนทะเบียนหย่าก็เปรียบดังผลตอบแทนอันคุ้มค่า นำมาซึ่งเงินเลี้ยงดู การแบ่งทรัพย์สมบัติ และอิสรภาพที่เธอใฝ่หามาตลอด แนวคิดดังกล่าวออกจะแปลกประหลาดอยู่สักหน่อย เมื่อพิจารณาว่า Intolerable Cruelty ควรจะอยู่ในกรอบของหนังรัก

ทีนี้ลองวกกลับมาวิเคราะห์ฉากสำคัญในช่วงต้นบทความดูอีกครั้ง หากเป็นหนังรักทั่วๆไป นั่นคงเป็นไคล์แม็กซ์ที่จะกระตุ้นคนดูให้ซาบซึ้งไปกับความรักอันบริสุทธิ์ งดงาม ระหว่างคู่พระนาง ผู้สามารถเอาชนะกับดักแห่งเงินทองอันเย้ายวน การมองโลกแบบเย้ยหยัน และสัญญาก่อนแต่ง ได้ในที่สุด

แน่นอนว่า Intolerable Cruelty ไม่ใช่หนังรักทั่วไป มันเป็นผลงานของสองพี่น้องโคน ซึ่งไม่คิดจะเลือกจบหนังลงเพียงแค่นั้น แต่ฉุดลากผู้ชมต่อเข้าไปยังโลกมืดและแผนฆาตกรรม สองสิ่งซึ่งค้นหาตามกระแสหนังตลกโรแมนติกของฮอลลีวู้ดได้ยากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทร

เพียงไม่กี่นาทีหลังพูดปราศรัยจบ ศรัทธาของไมลส์ก็มีอันต้องพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อปรากฏว่าเขาถูกมาริลีนหลอกต้มจนสุก ทนายความผู้เก่งฉกาจ เปี่ยมความมั่นใจเมื่ออยู่ในศาล กลับกลายเป็นเหมือนคนโง่ผู้มัวเมาและสิ้นหวังในความรักจนไม่ทันระวังตัว การหักมุมดังกล่าวทำลายภาพรวมความเป็น ‘หนังรัก’ ซึ่งปรกติควรเชิดชูความรักเหนือทุกสิ่ง ของ Intolerable Cruelty ลงอย่างสิ้นเชิง แต่ขณะเดียวกันก็ได้สถาปนาความเป็น ‘หนังโคน’ ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

บทสรุปเมื่อสองตัวเอกกลับมาคืนดีกันอีกครั้งในฉากเกือบสุดท้ายไม่ได้ช่วยเพิ่มบรรยากาศสุขสันต์มากเท่าใดนัก ทั้งนี้เนื่องจากความไว้ใจของคนดูได้ถูกบดขยี้จนยากจะเรียกคืนแล้ว ส่วนตัวละครหลักก็ก้าวล้ำเข้าด้านมืดไปไกล (จ้างมือปืนฆ่าอีกฝ่าย) เกินกว่าจะหักลำกลับสู่รูปแบบตลกโรแมนติกดั้งเดิมได้อย่างแนบเนียน และที่สำคัญฉากสุดท้ายจริงๆของหนังเป็นภาพในรายการทีวีทำนองแอบถ่ายสามี/ภรรยาลอบคบชู้ ไม่ใช่การแต่งงาน หรือแนวโน้มว่า “แล้วทั้งสองก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขไปตลอด” แบบฉากจบของหนังรักทั่วไปอย่าง Pretty Woman, You’ve Got Mail, Jerry Maguire, Sleepless in Seattle, Four Weddings and a Funeral และ Notting Hill เป็นต้น

แฮปปี้ เอ็นดิ้ง ของสองพี่น้องโคนจึงให้ความรู้สึกเหมือนเยาะหยัน เสียดสี มากกว่าอิ่มเอมใจ จนอาจกล่าวได้ว่าพวกเขา ‘หักหลัง’ แนวทางหนังรัก แต่ ‘ซื่อสัตย์’ กับตัวเองในฐานะผู้ท้าทายกรอบความคิด ผู้วิพากษ์ภาพลักษณ์แห่งอดีตและประวัติศาสตร์ภาพยนตร์

แทนที่จะตอกย้ำคุณค่าแห่งความรัก เฉกเช่นธรรมเนียมปฏิบัติในหนังตลกโรแมนติกจากอดีตส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น screwball comedy หรือไม่ก็ตาม Intolerable Cruelty กลับสะท้อนให้เห็น ‘อีกด้าน’ ที่อาจไม่สวยงามนักของความรัก ด้านที่ทำให้เหยื่อของมันตกเป็นเป้านิ่ง ไร้เกราะป้องกัน และเปลือยเปล่า เนื่องจากเวลาคุณอยู่ในห้วงแห่งรัก คุณย่อมขาดอำนาจควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก หรือกระทั่งการกระทำบางอย่าง มันสมองของคุณจะหยุดทำงานชั่วคราว เช่นเดียวกับสติปัญญา ไหวพริบ รวมไปถึงจิตสำนึก คุณไม่มีสิทธิ์เลือกและไม่มีทางออก

กล่าวอีกนัยหนึ่ง… มันถือเป็นภาวะที่โหดร้ายเกินทน

ฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่ได้กำลังตกหล่มอยู่ในห้วงแห่งความรัก โปรดพึงดีใจไว้เถิดว่า คุณคือผู้ได้เลือก

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รูปน่ารักดีครับ

celinejulie กล่าวว่า...

เขียนได้ดีมากๆเลยค่ะ

ตอนแรกไม่ค่อยชอบหนังเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่พอได้อ่านบทความนี้แล้วก็ทำให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้อาจจะมีอะไรน่าสนใจบางอย่างที่เรามองข้ามไป บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเราแทบไม่เคยดูหนังแนว screwball comedy มาก่อนก็ได้มั้ง ก็เลยไม่มีตัวเปรียบเทียบให้เห็น

บางทีจุดนี้อาจจะคล้ายกับตัวเองตอนเด็กๆที่ได้ดู UNFORGIVEN แล้วรู้สึกเฉยๆ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะว่าเราแทบไม่เคยดูหนังคาวบอยมาก่อนเลย ก็เลยไม่เข้าใจว่า UNFORGIVEN มีสิ่งที่พิเศษอย่างไรเมื่อเทียบกับหนังคาวบอยรุ่นก่อน