วันเสาร์, สิงหาคม 26, 2549

North Country: เชิดชูหรือกดขี่?


หากคุณไม่คิดอะไรมาก และปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับเรื่องราวที่กำลังโลดแล่นอยู่บนจอหนัง North Country น่าจะปลุกอารมณ์โกรธขึ้งและคับแค้นใจอย่างแสนสาหัสให้กับคุณ ไม่ต่างจากการชมละครทีวีหลังข่าว (ถึงแม้ว่ามันจะเล่าเรื่องได้เหมือนจริงกว่าและมีการแสดงโดยรวมที่หนักแน่น น่าเชื่อถือกว่าละครทีวีหลังข่าวอยู่หลายเท่าก็ตาม) เกี่ยวกับวิบากกรรมของนางเอกแสนดี ซึ่งถูกกลั่นแกล้งสารพัดจากนางร้าย แม่ของนางร้าย หรือคนใช้ของนางร้าย

North Country เป็นผลงานฮอลลีวู้ดเรื่องแรกของผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์ นิกิ คาโร หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงจาก Whale Rider (2002) โดยเรื่องราวในหนังได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของ โลอิส เจนสัน คนงานหญิงในเมืองเล็กๆ ผู้พลิกโฉมหน้ากฎหมายเกี่ยวกับคดีลวนลามทางเพศในอเมริกา

หนังค่อนข้างดูสนุกตามแนวทาง เร้าอารมณ์แบบมีรสนิยม และเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาเชิดชูสิทธิสตรีอย่างชัดเจน แต่ถ้าคุณเป็นคนคิดมากสักหน่อย คุณอาจมีความรู้สึกว่าบทภาพยนตร์ของ ไมเคิล ไซท์แมน น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเมโลดรามาของฮอลลีวู้ดมากพอๆ กับ (หรืออาจจะมากกว่า) เรื่องจริง โดยเฉพาะไคล์แม็กซ์ในศาลช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งสร้างจุดพลิกผันเพื่อความตื่นเต้นผ่านการเปิดเผยปมสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับตัวละครเอก และบทเฉลยปมดังกล่าวก็ได้ชักนำหนังไปสู่ฉากรวมพลังใจอันชวนให้ “ขนลุก” (หรือ “ซาบซึ้ง” ขึ้นอยู่กับว่าคุณเคยดูหนังแนวนี้มามากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ มันล้มละลายในความ “สมจริง” อย่างสิ้นเชิง) กับชัยชนะแบบปุบปับของ โจซี่ เอมส์ (ชาร์ลิส เธรอน)

เช่นเดียวกับนางเอกในละครน้ำเน่าทั่วไป ชะตากรรมของ โจซี่ เอมส์ เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ศัตรูตัวฉกาจของเธอหาใช่ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนใด แต่เป็นทัศนคติอันคับแคบของสังคมชายเป็นใหญ่ในเมืองเล็กๆ ของรัฐมินเนโซต้าต่างหาก สังคมที่ชอบทึกทักทุกอย่างว่าเป็นความผิดของผู้หญิง เช่น เมื่อ แฮงค์ เอมส์ (ริชาร์ด เจนกินส์) สังเกตเห็นรอยช้ำบนใบหน้าของลูกสาว หลังจากเธอเพิ่งหอบผ้าหอบผ่อนกับลูกๆ อีกสองคนกลับมาอยู่บ้านพ่อแม่เพื่อหลบหนีจากสามีจอมโหด คำถามแรกของเขา คือ “ผัวแกเห็นแกอยู่กับผู้ชายอื่นล่ะสิ เขาถึงได้ลงไม้ลงมือกับแก”

สมมุติฐานของแฮงค์อาจฟังดูชั่วร้ายเกินกว่าที่คนเป็นพ่อจะพูดกับลูกสาวและยังบ่งชี้ถึงจิตใจอันคับแคบจนน่าขยะแขยงของผู้พูดอีกด้วย เนื่องจากหนังได้บอกเล่ากับคนดูตั้งแต่แรกแล้วว่าทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของโจซี่เลยสักนิด แต่เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้แฮงค์ทึกทักเช่นนั้นเป็นเพราะคำอ้างของโจซี่ที่ว่า เธอไม่รู้ว่าใครกันแน่ คือ พ่อแท้ๆ ของ แซมมี่ (โธมัส เคอร์ติส) ลูกชายคนโตของเธอ คำอ้างนั้นทำให้แฮงค์มองลูกสาวเป็นความอับอาย เป็นผู้หญิงใจง่ายที่ชอบอ่อยเหยื่อผู้ชายไปทั่ว และที่สำคัญในเวลาต่อมา ภาพลักษณ์ดังกล่าวยังตามมาทำร้ายโจซี่อย่างเจ็บปวดอีกด้วย เมื่อเธอถูกเหล่าคนงานในเหมืองกลั่นแกล้งและลวนลามทางเพศ แต่คนส่วนใหญ่กลับคิดว่าเธอรนหาที่เอง หรืออาจถึงขั้นมองว่าเธอ “สมควร” โดนแล้ว

ตามมาตรฐานหนังเมโลดรามาทั่วไป North Country ได้จัดแยกประเภท โจซี่ เอมส์ อย่างชัดเจนให้อยู่ในกลุ่ม “คนดี” ผ่านความพยายามของเธอที่จะยืนหยัดบนลำแข้งตัวเองด้วยการบอกเลิกสามีน่ารังเกียจและสมัครเข้าทำงานในเหมืองเหล็ก ซึ่งให้เงินเดือนมากกว่างานในร้านเสริมสวยหลายเท่า แม้ว่าเธอจะถูกต่อต้านจากทุกคนรอบข้าง ตั้งแต่หัวหน้างาน (“พวกเธอต้องยกของหนัก ขับรถบรรทุก และทำอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ผู้หญิงไม่ควรทำ ในความคิดของฉันน่ะนะ แต่ศาลสูงกลับไม่เห็นเช่นนั้น”) ไปจนถึงพ่อของตัวเอง (“แกกำลังแย่งงานจากผู้ชายที่ต้องการรายได้ไปเลี้ยงดูครอบครัว”)

โจซี่แค่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง มีเงินพาลูกๆ ทั้งสองออกไปกินข้าวนอกบ้านในบางครั้ง และหาซื้อของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเขา... มันผิดมากนักหรือ

แน่นอน ในสังคมชนบทที่ผู้ชายมักจะสวมบทช้างเท้าหน้า หาเงินเข้าบ้าน การแบกรับภาระ “หัวหน้าครอบครัว” โดยไม่พึ่งพิงชายใดของโจซี่จึงถือเป็นภาวะ “คุกคาม” ที่พวกผู้ชายหัวโบราณยังไม่พร้อมจะยอมรับ ซ้ำร้าย ความเป็นคนสวยทำให้โจซี่ตกเป็นเป้าลวนลามทั้งทางวาจาและการกระทำของเหล่าคนงานชายบ่อยกว่าคนงานหญิงอื่นๆ ในเหมือง และเมื่อผนวกเข้ากับประวัติ “ท้องไม่มีพ่อ” ในอดีต ไม่นานโจซี่ก็เริ่มตกเป็นจำเลยสังคมในฐานะ “สาวร่าน” ที่ชอบอ่อยเหยื่อผู้ชายไม่เว้นหน้า จนถึงขั้นถูกเมียของ บ็อบบี้ ชาร์ป (เจเรมี เรนเนอร์) ตรงมาชี้หน้าด่าในสนามฮ็อกกี้

เหมือนคนเขียนบทยังไม่หนำใจกับมรสุมชีวิตหลากหลายที่โหมกระหน่ำเข้าใส่โจซี่อย่างไม่ยั้ง เขาจึงเพิ่มความกดดันให้เธออีกระดับด้วยการให้แซมมี่ ลูกชายวัยรุ่น ชิงชังเธอและเรียกขานเธอว่ากะหรี่ เพราะทนรับเสียงนินทาและล้อเลียนจากคนรอบข้างไม่ได้ เขาตระหนักดีว่าแม่ต้องทำงานในเหมืองเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่อีกใจหนึ่งเขาก็อยากมีแม่ธรรมดาเหมือนเด็กคนอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่หลักแค่หุงหาอาหาร ซักผ้า และขับรถรับส่งลูกๆ ไปโรงเรียน

เมื่องานที่ควรจะช่วยให้เธอกับลูกๆ ได้อยู่กินกันอย่างสุขสบายกลับกลายเป็นสาเหตุให้ครอบครัวต้องแตกแยก เมื่อความพยายามจะนำเรื่องขึ้นฟ้องต่อผู้บริหารระดับสูงถูกบิดเบือน และเมื่อการคุกคามทางเพศเริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โจซี่จึงตัดสินใจลุกขึ้นสู้ แล้วนำคดีขึ้นศาล โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการชม แอนนิต้า ฮิล (ซึ่งกล่าวหา แคลเรนซ์ โธมัส ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นผู้พิพากษาศาลสูง ว่าเคยลวนลามทางเพศเธอด้วยวาจา ขณะทั้งสองทำงานร่วมกันในกระทรวงศึกษาธิการ) ให้การต่อหน้าคณะกรรมการสอบสวน

เธอไม่ได้ต้องการให้เหมืองถูกปิด เธอเพียงต้องการความเคารพนับถือ “เทียบเท่า” คนงานคนอื่นๆ

หนังเริ่มรวบรัดและลดพลังโน้มน้าวลงในฉากดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นการยอมจำนนของบ็อบบี้หลังจากถูก บิล ไวท์ (วูดดี้ ฮาร์เรลสัน) ไล่บี้ในสไตล์ A Few Good Men หรือนาทีประทับใจแบบ Dead Poets Society ของเหล่าคนงานหญิงเพื่อคาราวะความกล้าหาญของโจซี่ แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะน่าฉงนสูงสุด คือ การเปิดเผยปมในอดีตระหว่างโจซี่กับบ็อบบี้ ซึ่งนอกจากจะตอกย้ำแนวคิดของหนังว่า “เพศหญิงคือเหยื่อ” ให้เด่นชัดขึ้นแล้ว มันยังลบล้างภาพลักษณ์สาวร่านของโจซี่ออกไปจนหมดอีกด้วย

บทเฉลยความลับข้างต้นถูกใช้เป็นจุดหักเหสำคัญของการดำเนินคดี ทำให้โจซี่ได้รับความเห็นอกเห็นใจและเสียงสนับสนุนที่เธอต้องการจากเพื่อนคนงานหญิงในเหมือง หลังจากก่อนหน้านี้พวกเธอทุกคนต่างปฏิเสธที่จะให้การเข้าข้างโจซี่ เพราะไม่อยากตกงาน (บางคนถึงขั้นเห็นว่าทุกอย่างเป็นความผิดของโจซี่ด้วยซ้ำที่ “วอนหาเรื่อง”) มองเผินๆ ทั้งหมดอาจเป็นแค่เทคนิคการเล่าเรื่องเพื่อกระตุ้นอารมณ์ลุ้นระทึก แต่นัยยะบางอย่างที่ซ่อนอยู่ทำให้ผู้ชมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า... ทำไม?

จู่ๆ การฟ้องร้องของโจซี่ก็กลายเป็นเรื่อง “ถูกต้อง” ขึ้นมาทันทีอย่างงั้นหรือ เมื่อเธอเปลี่ยนสถานะจากสาวร่านมาเป็นเหยื่อถูกกระทำ ถ้าโจซี่เป็นสาวร่านที่ชอบยั่วผู้ชายจริงๆ นั่นจะทำให้พฤติกรรมของพวกคนงานชายในเหมืองชั่วร้ายน้อยลงไหม คำให้การของโจซี่น่าเชื่อถือมากขึ้นอย่างนั้นหรือ เมื่อเธอไม่ใช่อดีตสาววัยรุ่นใจแตกอีกต่อไป

โครงสร้างหลักของเมโลดรามา คือ การวาดภาพที่ตรงข้ามกันอย่างสุดโต่งระหว่างความดีงามกับความชั่วร้าย เพื่อกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกให้คนดูเข้าข้าง “นางฟ้า” และกล่าวโทษ “ปีศาจ” สำหรับทุกอย่างที่ผิดพลาด (และเพื่อไม่ให้ความแตกต่างสุดขั้วโดดเด่นจนเกินไป คนดูจึงมักจะเห็นตัวละครกลับใจในหนังเมโลดรามา เช่น เดนเซล วอชิงตัน ใน Philadelphia เลียม นีสัน ใน Schindler’s List และ ริชาร์ด เจนกินส์ ใน North Country) การกำจัดปมสาวร่านในช่วงท้ายเรื่องยิ่งทำให้ โจซี่ เอมส์ เปล่งประกายบริสุทธิ์และดีงามมากขึ้น ขณะเดียวกัน หนังก็โยนความผิดทั้งหมดให้กับบ็อบบี้ ตัวแทนของปีศาจและเหล่าผู้ชายเลวกว่าหมาอีกหลายคน ซึ่งนอกจากจะชั่วร้าย ปลิ้นปล้อนแล้ว ยังอ่อนแอและขี้ขลาดอีกด้วย

มันไม่ใช่ความผิดอะไรในการจับเอาตัวละครอย่างโจซี่มาใส่ตะกร้าล้างน้ำให้ “ผุดผ่อง” หรือการปล่อยให้เธอตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยน้ำมือของผู้ชายเพื่อเรียกร้องความเห็นใจ เพราะโฟกัสหลักของหนัง คือ การลุกขึ้นต่อสู้ของโจซี่เพื่อพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรม โดยเธอจะไม่ยอมตกเป็นเหยื่อแบบไม่ปริปากและก้มหน้ารับชะตากรรมอีกต่อไป

แต่การที่หนังวางพล็อตให้เธอได้ชัยชนะ หลังความจริงถูกเปิดเผยว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงใจแตกนั้นออกจะบั่นทอนความชอบธรรมในคำร้องของโจซี่ลงไม่น้อย กล่าวคือ เธอสมควรได้รับชัยชนะไม่ใช่หรือ แม้ว่าเธอจะเคยใจแตกมาก่อนก็ตาม เพราะสิ่งที่พวกคนงานชายในเหมืองทำกับเธอมันไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกับชัยชนะของสาวร่าน (โจดี้ ฟอสเตอร์) ที่โดนรุมข่มขืนกลางบาร์เหล้าท่ามกลางเสียงตะโกนเชียร์ใน The Accused

ถึงเปลือกนอกจะมีเนื้อหาเชิดชูสิทธิสตรีอย่างเด่นชัด แต่ความพยายามของหนังที่จะทำให้โจซี่ดูอ่อนแอและหัวแข็งน้อยลงในช่วงท้ายๆ กลับส่งกลิ่นอายของมุมมองแห่งเพศชายที่ชื่นชอบเพศหญิงผู้บอบบาง น่าปกป้อง ตามลักษณะของช้างเท้าหลังมากกว่า

สุดท้ายแล้ว สังคมก็ยังให้สิทธิประโยชน์กับนางฟ้าเหนือสาวร่านใจแตกอยู่ดี

1 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

สาวร่าน (อย่างดิฉัน) จงเจริญ

ฮ่าๆๆๆๆ

ยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้เลยค่ะ แต่ปกติจะชอบตัวละครสาวร่านหรือโสเภณีอยู่แล้ว