วันศุกร์, สิงหาคม 04, 2549

Sophie Scholl: The Final Days: เมื่อความสามานย์เป็นเรื่องสามัญ


ถึงแม้จะตั้งชื่อตามตัวละครเอกของเรื่อง ซึ่งปรากฏตัวในแทบทุกฉากของหนัง แต่ Sophie Scholl: The Final Days ดูจะให้ความสนใจกับเรื่องราวชีวิตโดยรวมของ โซฟี โชล (จูเลีย เจนช์) น้อยมาก คนดูจะสังเกตเห็นประพิมประพายแห่งเด็กสาววัยรุ่นของเธอในฉากช่วงต้นเรื่อง เมื่อเธอร้องเพลงกับเพื่อนสาวคลอเสียงเพลงจากวิทยุ และเมื่อเธอนั่งเขียนจดหมายถึงชายคนรักในอีกไม่กี่ฉากต่อมา แต่หนังก็แสดงให้เห็นบุคลิกมุ่งมั่น กล้าหาญ และฝักใฝ่การเมืองเหนือเด็กสาวธรรมดาของเธอควบคู่กันไปด้วย เมื่อเธออาสานำใบปลิวต่อต้านนาซีไปวางตามจุดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมิวนิกร่วมกับพี่ชาย ฮันส์ โชล (ฟาเบียน ฮินริชส์) แถมเสนอตัวเป็นคนหิ้วกระเป๋าบรรจุใบปลิวอันตรายเหล่านั้นด้วยโดยให้เหตุผลว่าผู้หญิงจะดูเป็นที่สงสัยน้อยกว่า

ขณะเดียวกันหนังก็ให้ข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับกลุ่มกุหลาบขาว หรือกลุ่มต่อต้านนาซีในประเทศเยอรมัน ซึ่งแรกเริ่มประกอบไปด้วยห้านักศึกษามหาวิทยาลัยมิวนิก (ฮันส์, โซฟี, คริสตอฟ พรอบส์, อเล็กซานเดอร์ ชมอเรลล์, วิลลี กราฟ) และหนึ่งศาสตราจารย์ (เคิร์ท ฮูเบอร์) ที่เลือกใช้สันติวิธี เช่น แจกใบปลิว พ่นสีตามผนัง ฯลฯ ในการแสดงจุดยืนทางการเมือง ก่อนต่อมาทั้งหมดจะถูกทหารเกสตาโปจับได้ และถูกลงโทษประหารชีวิต

ตรงกันข้าม หัวใจหลักของหนังกลับอยู่ตรงรายละเอียดในขั้นตอนจับกุม สอบสวน และพิจารณาคดีโดยอ้างอิงจากเอกสารบันทึกคำให้การของจำเลยที่ถูกเก็บเป็นความลับอยู่ในเยอรมันตะวันออกจนกระทั่งปี 1990 การตัดสินใจดังกล่าวดูเหมือนจะทำให้ Sophie Scholl: The Final Days ใกล้เคียงกับหนัง courtroom drama มากกว่าหนังชีวประวัติ หรือหนังประวัติศาสตร์ ตามที่ชื่อเรื่องและฉากหลังของหนังสื่อนัยยะ

อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงเอาจากอารมณ์ความรู้สึกของคนดูเป็นสำคัญละก็ Sophie Scholl: The Final Days น่าจะปลุกกระตุ้นอารมณ์สยองขวัญได้มากที่สุด!?!

ความสยองชวนช็อคของหนังเรื่องนี้หาได้อยู่แค่โทษรุนแรงที่โซฟีกับพรรคพวกได้รับจากการแจกจ่ายใบปลิว เครื่องมือที่ใช้ประหารชีวิตพวกเขา และความอยุติธรรมในขั้นตอนพิจารณาและพิพากษาคดีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรทัดฐานอันบิดเบี้ยวของสังคมในยุคที่อำนาจเผด็จการครองเมืองอีกด้วย ความชั่วร้ายกลับกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ส่วนศีลธรรมจรรยาและความดีงามกลับถูกมองข้าม ทุกอย่างช่างบ้าคลั่ง ไร้สาระ และน่าขยะแขยงไม่ต่างจากเหตุการณ์ในบทละครคลาสสิกของ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ เรื่อง The Crucible ซึ่งสะท้อนถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างปรากฏการณ์ล่าแม่มดในซาเลมเมื่อปี 1692 กับการล่าคอมมิวนิสต์ในอเมริกาภายใต้การนำของวุฒิสมาชิก โจเซฟ แม็คคาธีย์ ระหว่างช่วงทศวรรษ 1950

ขณะที่ความกลัว คือ ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ฮิสทีเรียหมู่ในยุคล่าแม่มดและยุคแม็คคาธีย์ ในยุคนาซี ความทะยานอยากดูจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงอำนาจเผด็จการชั้นดี เมื่อ “ท่านผู้นำ” เปิดโอกาสให้เหล่าชนชั้นด้อยโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก พร้อมกับสัญญาว่าจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความรุ่งโรจน์

ฮันนาห์ อาเรนท์ เคยใช้วลี “the banality of evil” อธิบายพฤติกรรมของ อดอล์ฟ อิชมันน์ นายทหารนาซีระดับสูงที่ออกแบบค่ายกักกันชาวยิวในยุโรปตะวันออกและวางแผนการสังหารหมู่เพื่อแก้ “ปัญหาชาวยิว” ให้กับฮิตเลอร์ ได้อย่างลือลั่นมาแล้ว โดยวลีดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากรอบข้าง โดยเฉพาะจากกลุ่มต่อต้านนาซี ซึ่งต้องการวาดภาพให้นาซีเป็นพวกมีปัญหาทางจิตและแตกต่างจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไป (ส่วนมุมมองของอาเรนท์ต่ออิชมันน์ คือ เขากระทำการดังกล่าวเพียงเพราะต้องการเลื่อนตำแหน่งในกองทัพ หาใช่เพราะเขาเหยียดชาวยิวหรือมีสภาพจิตบกพร่อง) อาเรนท์เลือกใช้วลีดังกล่าวไม่ใช่เพื่อเรียกร้องความเห็นใจให้กับอิชมันน์ แต่เพื่อสะท้อนแง่มุมว่าอิชมันน์ไม่ได้ “สนุก” กับการฆ่า ความเกลียดชังหาใช่เหตุผลที่ผลักดันเขาให้สังหารหมู่ชาวยิว แต่เป็นเพราะเขา “มืดบอด” เกินกว่าจะตระหนักในศีลธรรม สามัญสำนึก หรือความถูกต้องต่างหาก เขาทำตามคำสั่งโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา

เช่นเดียวกับอิชมันน์ โรเบิร์ต มอร์ (เจอราร์ด อเล็กซานเดอร์ เฮลด์) เจ้าหน้าที่ซึ่งทำการสอบปากคำโซฟี หรือกระทั่ง โรแลนด์ ไฟรสเลอร์ (อังเดร เฮนนิเก้) ผู้พิพากษาที่เอียงกระเท่เร่อย่างน่าละอายในการพิจารณาคดีของโซฟี หาใช่ปีศาจร้าย หรือมีสภาพจิตบกพร่อง (ถึงแม้หนังจะนำเสนอภาพของคนหลังได้ใกล้เคียงกับคนบ้าอยู่ไม่น้อยก็ตาม) พวกเขาเพียงแค่กระทำการไปตาม “หน้าที่” อย่างมืดบอดต่อหลักศีลธรรมจรรยา

สาเหตุแห่งจิตสำนึกอันบิดเบือนของพวกเขาเหล่านั้นล้วนเป็นผลมาจากการล้างสมองด้วยโฆษณาชวนเชื่อ การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการโปรยผลประโยชน์เพื่อล่อหลอกเสียงสนับสนุนและสร้างภาพ จนประชาชนส่วนใหญ่ถูกผลักดันให้ต้องเลือกระหว่างการเป็น “เด็กดี” ในระบอบนาซีอย่างมอร์และไฟรสเลอร์ ซึ่งยอมทำทุกอย่างเพื่อเอาใจท่านผู้นำโดยไม่คำนึงถึง “ภาพรวม” และหลักการที่อยู่เหนือกฎหมายบ้านเมืองขึ้นไป เช่น กฎแห่งกรรม กฎแห่งสวรรค์ หรือหลักความยุติธรรม จริยธรรม และศีลธรรม กับการเป็น “เด็กหงอ” ที่ไม่กล้าคิดเห็นขัดแย้งเพราะหวาดกลัวในบทลงโทษอันหนักหน่วง

จะมีใครสักกี่คนกันที่จะกล้าลุกขึ้นมาเตือนภัยคนอื่นๆ เหมือนโซฟีกับพรรคพวก ซึ่งมองเห็นว่าประเทศเยอรมันจำเป็นต้องได้รับการปลดปล่อยจากระบอบนาซีอันเลวร้าย ที่แสวงหาความรุ่งโรจน์โดยไม่คำนึงถึงวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งความรุ่งโรจน์นั้น

ไคล์แม็กซ์ของหนังอยู่ตรงบทสนทนาโต้ตอบทางความคิดระหว่าง โซฟี โชล กับ โรเบิร์ต มอร์ โดยฝ่ายหนึ่งจะอ้างหลักกฎหมายว่ามีขึ้นเพื่อปกป้องบ้านเมืองไม่ให้วุ่นวาย ดังนั้น ทุกคนจึงต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนอีกฝ่ายกลับอ้างหลักสามัญสำนึก ซึ่งไม่เหมือนกฎหมายตรงที่มันย่อมไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปตามทัศนะของกลุ่มผู้มีอำนาจ มอร์สนับสนุนระบอบนาซีเพราะฮิตเลอร์ทำให้เขาไม่ต้องเป็นแค่ “นายตำรวจบ้านนอก” อีกต่อไป พูดอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ระบอบนาซีทำให้เขารุ่งโรจน์ ส่วนโซฟีกลับยกเอาเหตุการณ์ที่เธอประสบกับตัวเอง เมื่อพวกทหารนาซีนำคนไข้ในโรงพยาบาลโรคจิตไปสังหารอย่างเลือดเย็น ขึ้นมาโต้ตอบ กล่าวคือ เธอมองเห็นประโยชน์ “ส่วนรวม” เหนือประโยชน์ส่วนตน และสามัญสำนึกก็บอกเธอว่าการฆ่าคนไม่ใช่สิ่งถูกต้อง

หนังแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามอร์เป็นมวยคนละรุ่นกับโซฟี เหตุผลและข้อกล่าวหาของเขาถูกโซฟีโต้ตอบกลับอย่างหนักแน่น และบุคลิกอันมุ่งมั่น สุขุม ตลอดจนไหวพริบอันเฉียบคมของหญิงสาวก็เริ่มทำให้มอร์สูญเสียศรัทธาในระบอบนาซี เกราะป้องกันที่เขาสร้างขึ้น (ความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรไรซ์ที่สาม) เพื่อบิดเบือนศีลธรรมและสามัญสำนึกเริ่มปริแตกทีละน้อย

“เธอมีพรสวรรค์มาก ทำไมเธอถึงไม่อยู่ข้างเรานะ” มอร์กล่าวขึ้นในที่สุด เขาพยายามจะเสนอหนทางลดโทษด้วยการบีบให้เธอโยนบาปทั้งหมดใส่ฮันส์ หรือบอกรายชื่อสมาชิกคนอื่นในกลุ่มกุหลาบขาวมา แต่เธอกลับตอบปฏิเสธ เธอยินดีจะเลือกความตายแทนการทรยศเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเธอเชื่อว่านาซีจะพ่ายสงคราม และพันธมิตรจะช่วยปลดปล่อยเธอเป็นอิสระได้ก่อนโทษประหารชีวิต ดังนั้น เมื่อทราบว่าตัวเองจะถูกตัดหัวทันทีโดยไม่ต้องรอเวลา 99 วันหลังคำพิพากษา เธอจึงกรีดร้องออกมาอย่างคับแค้นต่อความอยุติธรรมท่ามกลางความเงียบงันในห้องขัง และนั่นดูจะเป็นครั้งเดียวที่คนดูได้เห็นเธอสูญเสียการควบคุม

บุคลิกอันสุขุม เยือกเย็น แม้ในช่วงนาทีสุดท้ายของชีวิตทำให้โซฟีก้าวเข้าใกล้สถานะของเทพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการเสียสละตนเพื่อส่วนรวมแล้ว ตัวหนังเองก็ให้รายละเอียดอยู่ไม่น้อยว่าเธอยึดมั่นในศาสนา และมักจะสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้าอยู่เป็นประจำ ที่สำคัญ ในฉากหนึ่งของหนังหลังจบการสอบปากคำอันยาวนาน คนดูจะได้เห็นมอร์เดินไปล้างมือในอ่างน้ำ ซึ่งเป็นการจงใจใส่เข้ามาเพื่อสะท้อนฉากสำคัญในไบเบิล เมื่อ พอนเทียส ไพลัท ผู้รับหน้าที่ตัดสินโทษพระเยซู เดินไปล้างมือในอ่างน้ำ (หลังเขาตระหนักว่าชายคนนี้บริสุทธิ์ แต่ไม่อาจทนต่อต้านแรงกดดันจากรอบข้างที่เรียกร้องการตรึงกางเขนได้) แล้วพูดว่า “ข้าไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงโทษชายผู้นี้”

ฉากดังกล่าวบ่งบอกเป็นนัยว่า อย่างน้อยเมล็ดพันธุ์ที่โซฟีหว่านโปรยก็เริ่มงอกงามในจิตใต้สำนึกของ โรเบิร์ต มอร์ แล้ว และเขาก็ไม่ต้องการจะมีส่วนร่วมในการลงทัณฑ์หญิงสาวผู้บริสุทธิ์คนนี้

พฤติกรรมสุดโต่งของโซฟีในการเลือกความตายแทนการอยู่รอดบ่งบอกถึงระดับเข้มข้นแห่งศรัทธาและอุดมคติของเธอ โดยหลายครั้งหนังจะแสดงให้เห็นภาพโซฟีเหม่อมองท้องฟ้าอันสดใส ถึงแม้สถานการณ์รอบข้างจะหม่นหมอง หดหู่ และสิ้นหวังเพียงใดก็ตาม “ดวงตะวันยังคงทอแสง” คือ ประโยคสุดท้ายที่ โซฟี โชล พูดขณะเดินตรงไปยังลานประหาร มันสะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาของเธอต่อพลังแห่งสวรรค์เบื้องบน หรือพระเจ้า (ระหว่างการดำเนินคดีในศาล เธอพูดกับ โรแลนด์ ไฟรสเลอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาว่า “อีกไม่นาน ท่านจะต้องมายืนอยู่ ณ ที่นี้เช่นกัน”) และความหวังในอนาคต

ตอนจบของหนังอาจชวนให้รู้สึกหดหู่ แต่ไม่สิ้นหวัง เนื่องจากเราทุกคนล้วนทราบกันดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับอาณาจักรไรซ์ที่สาม และเหล่าผู้สนับสนุนนนาซีทั้งหลาย ขณะเดียวกันหนังก็จบลงด้วยภาพใบปลิวแผ่นที่หกของกลุ่มกุหลาบขาว ซึ่งตกไปอยู่ในมือของกองทัพอังกฤษผ่านทางสแกนดิเนเวีย จำนวนนับล้านๆ ใบถูกโปรยลงมาจากเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตรในปี 1943 โดยมันได้รับการตั้งหัวข้อใหม่ว่า “แถลงการณ์ของกลุ่มนักศึกษาแห่งมิวนิก”

สุดท้ายการต่อสู้ของ โซฟี โชล และพรรคพวกหาได้สูญเปล่า ส่วนเรื่องราวของพวกเขาก็กลายเป็นตำนานที่ทุกคนจดจำไปตลอด

2 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

แวะมาบอกสั้นๆเพียงแค่ว่า ดิฉันได้จอง FLORIAN STETTER (1977) ที่รับบทเป็น CHRISTOPH PROBST (เพื่อนนางเอกที่ถูกประหารชีวิต) ในหนังเรื่องนี้มาเป็นสามีของตัวเองแล้วค่ะ

FLORIAN STETTER
http://www.schauspielhaus.ch/images/persons/Stetter_Florian_Internet.jpg

CHRISTOPH PROBST ตัวจริง
http://www.jlrweb.com/whiterose/christoph.html

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขณะหนังกำลังฉาย ฉากการพิพากษาโซฟี
ไม่รุ เป็นไร อยากหาอะไรไปกระแทกปากผู้พิพากษาซะเด๋วนั้นเรยยย