วันศุกร์, กันยายน 15, 2549

ผมหลงรักหนังเรื่องนี้!


ทุกครั้งที่ได้ชมหนังของ อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ผมรู้สึกสุขใจอย่างบอกไม่ถูก หนังของเขาไม่ได้สนุกในความหมายทั่วๆ ไป แต่มันให้อารมณ์บางอย่างแบบที่หนังสนุกทั่วๆ ไปเหล่านั้นไม่สามารถมอบให้กับผมได้ หนังเรื่องแรกของเขาที่ผมได้ดู คือ “สุดเสน่หา” ซึ่งแม้จะเป็นทางวีซีดี และบางฉากโป๊ๆ เปลือยๆ ก็ถูกตัดทอนออกไป (ผมได้ยินเขาว่ากันมาอีกที) แต่มันก็ยังสามารถสร้างความตื่นตะลึงได้ไม่น้อย

ผมชอบการจัดองค์ประกอบภาพในหนังของเขา มันสวยงาม เรียบง่าย แต่สื่อความหมายและอารมณ์ (มันจะยิ่งสวยงามมากขึ้นอีก หากคุณได้ดูหนังของเขาในโรงภาพยนตร์) หนังของเขาไม่ค่อยมีการตัดภาพ แต่สามารถตรึงคนดูได้ตลอด แต่ก็นั่นแหละ มันคงเป็นเรื่องของรสนิยมมากกว่า เพื่อนบางคนของผมชิงชังหนังอย่าง “สัตว์ประหลาด” ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด!

ผมไม่อยากพูดอะไรมากเกี่ยวกับหนังเรื่องใหม่ของเขา คือ “แสงศตวรรษ” ซึ่งผมเพิ่งได้ดูไปแค่รอบเดียว ผมอยากได้ดูมันอีกสักสองสามรอบ ก่อนจะสามารถพูดถึงมันได้มากกว่าแค่ระบายความชอบส่วนตัว (เหมือนที่ผมกำลังทำอยู่) แน่นอน เขายังคงทดลองการเล่าเรื่องเช่นเดียวกับ สัตว์ประหลาด ด้วยการแบ่งหนังออกเป็นสองช่วง (ใน “สุดเสน่หา” หนังก็ถูกแบ่งครึ่งเช่นกัน แต่เรื่องราวและตัวละครยังคงต่อเนื่อง) ซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่ใช้นักแสดงทีมเดียวกัน มีการเล่นซ้ำ การเล่นกับความขัดแย้ง และหลายครั้ง หนัง (หรือตัวละครในหนัง) จะพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับการเกิดใหม่

โดยรวมๆ แล้ว ผมชอบและรักหนังเรื่องนี้มากกว่า “สัตว์ประหลาด” อารมณ์ของหนังดูกลมกลืนไปด้วยกันมากกว่า อารมณ์ขันเยอะกว่า และอาจพูดได้ว่าดูสนุกกว่า ผมชอบหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องแล้วครับ ซึ่งเป็นฉากต้นไม้ไหวพลิ้วไหวไปมา พร้อมกับเสียงลมเด่นชัด (เอ ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกจะดูคล้ายๆ ภาพสุดท้ายของหนังเรื่อง “สัตว์ประหลาด” อยู่นะ แต่อันนั้นเป็นฉากกลางคืน ส่วนอันนี้เป็นฉากกลางวัน) เสียงประกอบเป็นสิ่งที่หนังของอภิชาติพงษ์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง (นี่คือสาเหตุหนึ่งว่าทำไมผมถึงรู้สึกเชื่อมโยงหนังของเขากับหนังของ เดวิด ลินช์ ผู้ชื่นชอบการใช้เสียงมากพอๆ กับการทดลองการเล่าเรื่อง) ภาพอีกหลายภาพตรึงอยู่ในความรู้สึกผม เช่น ภาพทุ่งนาช่วงต้นเรื่องพร้อมเสียงสนทนาของตัวละครดังแว่วเข้ามา หรือภาพแรกที่ผมเอามาแปะไว้ มันให้ความรู้สึกสงบและสุขใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งผมเชื่อว่าตัวละครก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน

อีกอย่างที่ผมชอบหนังของอภิชาติพงษ์ คือ มันดูจริงใจจนแทบไม่ได้สัมผัสถึงการปรุงแต่งใดๆ (แต่แน่นอน เขาไม่ได้แค่เอากล้องไปตั้ง แล้วถ่ายไปเรื่อยๆ เหมือนคำครหาของนักวิจารณ์ติงต๊องบางคน) ความรู้สึกแบบนี้ ผมแทบสัมผัสไม่ได้จากหนังของ วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งอบอวลไปด้วยการปรุงแต่ง (ผมไม่ได้หมายความว่าแบบไหนดีกว่า ผมเพียงอยากจะบอกว่าผมชอบแบบไหนมากกว่าเท่านั้น) ขณะเดียวกันหนังของอภิชาติพงษ์ก็ให้ความรู้สึก “เหนือจริง” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ภาพท่อสูดควัน ภาพพระเล่นเครื่องร่อน ภาพหมอฟันร้องเพลง ฯลฯ มันดูเหมือนจริงและเหนือจริงไปพร้อมๆ กัน ไม่รู้คุณผู้อ่านจะเข้าใจที่ผมพูดไหม แต่ถ้าคุณได้ดูหนังน่าจะเห็นภาพได้มากกว่า

ผมได้ข่าวแว่วๆ ว่าหนังคงเข้าฉายในปีหน้า ผมแทบจะรอให้ถึงวันนั้นเพื่อจะได้ไปดูหนังเรื่องนี้อีกรอบไม่ไหวแล้วครับ








2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หลงรักหนังเรื่องนี้ด้วยครับ

http://filmsick.exteen.com/20060822/syndrome-and-a-century

วันนั้นไม่ค่อยได้คุยกันเลยครับ แหะๆ

Riverdale กล่าวว่า...

นั่นสิครับ วันนั้นผมก็ต้องเดินไปดูแลเพื่อนๆ ที่อุตส่าห์ขนมาด้วยความไม่เกรงใจ ส่วนเทศกาลหนังเดือนหน้า ไม่รู้ผมจะได้ไปดูสักกี่เรื่อง หวังว่ายังไงคงได้เจอคุณ filmsick แถวๆ นั้นนะครับ :)