วันพฤหัสบดี, กันยายน 21, 2549

Mulholland Drive: ปริศนาแห่งความฝัน


หลังจากเปลี่ยนแนวทางไปสร้างหนังเรียบง่ายสไตล์ดีสนี่ย์เรื่อง A Straight Story แล้วประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สุดท้ายผู้กำกับจอมเพี้ยนโดยสันดานอย่าง เดวิด ลินช์ ก็อดไม่ได้ที่จะหันมาทรมานเซลสมองคนดูอีกครั้งใน Mulholland Drive ผลงานเหนือจริงกึ่งสยองขวัญกึ่งฟิล์มนัวร์ ซึ่งแม้จะมีเนื้อหาโดยตรงเกี่ยวโยงถึงโรงงานผลิตฝันอย่างฮอลลีวู้ด แต่รูปแบบการนำเสนอกลับห่างไกลจากสูตรสำเร็จเหมือนนรกกับสวรรค์ โดยสิ่งเดียวที่คนดูพอจะคาดเดาได้ล่วงหน้าก็คือ ‘โลกของลินช์’ น่าจะใกล้เคียงกับสถานที่แรกมากกว่าสถานที่หลัง… และนั่นถือเป็นคำทำนายซึ่งไม่ผิดจากความจริงเท่าใดนัก

ลินช์เป็นนักเล่าเรื่องที่ใจเย็นและสนใจการสร้างบรรยากาศมากกว่าการเดินเรื่องจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง หนังของลินช์มักให้ความสำคัญกับอารมณ์เหนือเหตุผล ความสอดคล้อง หรือความต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 90 เป็นต้นมา ลินช์ใช้เวลาส่วนใหญ่ทดลองทำหนังแหกกฎเกณฑ์การเล่าเรื่องแบบดั้งเดิมผ่านผลงานเด่นๆสามชิ้นคือ Twin Peaks: Fire Walk With Me (1993) Lost Highway (1996) และ Mulholland Drive (2001) ในหนังทั้งสามเรื่อง เขาไม่ได้นำเสนอความจริงเชิงภววิสัยไว้เป็นหลักให้คนดูยึดเกาะเฉกเช่นธรรมเนียมปฏิบัติ หากแต่เล่าความจริงเชิงอัตวิสัยผ่านสายตาของตัวเอกซึ่งมีสภาพจิตไม่มั่นคง จนพร้อมจะตกสู่ภวังค์แห่งภาพหลอนและความฝันได้ทุกขณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับมือกับวิกฤติการณ์อันเลวร้ายในชีวิตจริง ด้วยเหตุนี้ความจริงและจินตนาการจึงมักผสมปนเปกันจนแยกไม่ออกในหนังของลินช์ คนดูไม่อาจยึดเกาะข้อมูลหรือเหตุการณ์ใดๆได้เลย เนื่องจากสุดท้ายมันอาจกลับกลายเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา

เศษเสี้ยวแห่ง ‘ความจริง’ ใน Mulholland Drive ถูกเปิดเผยออกมาในช่วงเวลาครึ่งชั่วโมงสุดท้าย เรื่องราวชีวิตบัดซบของ ไดแอนน์ เซลวิน นักแสดงหางแถวผู้มองไม่เห็นความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เธอเดินทางจากเมืองเล็กๆของประเทศแคนาดามายังฮอลลีวู้ดเพื่อหวังจะเป็นดาราหลังชนะการประกวดเต้นรำจิตเตอร์บัก คุณป้าของเธอ ซึ่งทำงานอยู่ในวงการบันเทิง เสียชีวิตและทิ้งเงินไว้ให้เธอก้อนหนึ่ง เธอได้รู้จัก คามิลล่า โรเดส ก่อนจะตกหลุมรักหล่อนในเวลาต่อมา จากการทดสอบหน้ากล้องของหนังเรื่อง The Silvia North Story คามิลล่าได้บทนำนั้นไป กลายเป็นดาราดัง และคอยช่วยเหลือไดแอนน์ให้ได้เล่นเป็นตัวประกอบในหนังเรื่องอื่นๆของเธอ แต่สุดท้ายชีวิตรักของไดแอนน์ก็จบลงอย่างมืดหม่น เมื่อคามิลล่ายื่นคำขาดขอเลิกความสัมพันธ์ เนื่องจากเธอกำลังวางแผนจะแต่งงานกับ อดัม เคชเชอร์ ผู้กำกับหนุ่มในหนังเรื่องใหม่ของเธอ ด้วยความแค้นชั่ววูบไดแอนน์จึงตัดสินใจนำเงินไปจ้างมือปืนฆ่าคามิลล่า จากนั้นก็ทนความรู้สึกผิดบาปไม่ได้และยิงตัวตาย

ก่อนจะข้ามไปพูดถึงฉากความฝัน ซึ่งกินเวลาเกือบสองชั่วโมงแรกของหนังทั้งเรื่อง ข้อสังเกตประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ลินช์จะนำเสนอเรื่องราวในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายด้วยลีลาจริงจัง และที่สำคัญดู ‘เหมือนจริง’ โดยตลอด (อย่างน้อยก็ก่อนการปรากฏตัวของชายจรจัด กล่องสีน้ำเงิน และหญิงชายชราภาพคู่หนึ่งซึ่งมีรูปร่างหดเล็กเท่าแมลงสาบ) ตรงกันข้ามกับฉากความฝันที่ให้บรรยากาศค่อนข้าง ‘เหนือจริง’ อย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็จงใจทำให้มัน ‘ย่อยยาก’ พอๆกันด้วยภาพชุดแฟลชแบ็คซ้อนแฟลชแบ็คอันชวนให้พิศวงงงงวย พร้อมกับ ‘ลวง’ คนดูให้เข้าใจว่าเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกันด้วยเทคนิคเชื่อมโยงวัตถุ (แก้วกาแฟ/แก้วเหล้า) และเสียงประกอบ (เสียงโทรศัพท์ กับ เสียงชามแตก)

ช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนังเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ ‘ปัจจุบัน’ เมื่อไดแอนน์ลุกขึ้นจากเตียง สวมเสื้อคลุม เดินไปเปิดประตูให้อดีตเพื่อนร่วมห้องเข้ามาหยิบที่เขี่ยบุหรี่คืน กล้องเลื่อนไปโคลสอัพกุญแจสีน้ำเงินบนโต๊ะรับแขก (มือปืนบอกกับไดแอนน์ว่าเธอจะเห็นกุญแจสีน้ำเงิน หลังจากเขาสังหารคามิลล่าสำเร็จแล้ว) เธอเห็นภาพหลอนของคามิลล่า ชงกาแฟ และเดินถือถ้วยกาแฟมาที่โซฟา จากนั้นภาพชุดแฟลชแบ็คก็เริ่มต้นขึ้นตรงนี้ ลินช์หลอกคนดูให้สับสนด้วยการตามติดแผ่นหลังของไดแอนน์ในชุดเสื้อคลุมมา แต่พอกล้องลอยข้ามโซฟาไป มันกลับเผยให้เห็นคามิลล่านอนเปลือยอกอยู่ ไดแอนน์วาง ‘แก้วเหล้า’ ไม่ใช่ถ้วยกาแฟ ลงบนโต๊ะรับแขก เธอเปลือยอก ใส่กางเกงขาสั้น และไม่ได้สวมเสื้อคลุม นั่นหมายถึงหนังได้นำคนดูมายังเหตุการณ์ในอดีตแล้วโดยไม่ตัดภาพ

ต่อมาคือภาพชุดแฟลชแบ็คเรียงตามลำดับได้ดังนี้

1) คามิลล่าบอกเลิกกับไดแอนน์บนโซฟาขณะทั้งสองกำลังจะมีอะไรกัน ฝ่ายหลังพูดขึ้นว่า “เป็นเพราะไอ้หมอนั่นใช่ไหม”

2) แฟลชแบ็คซ้อนแฟลชแบ็คไปยังฉากอดัมจูบกับคามิลล่าในโรงถ่าย ท่ามกลางฉากหลังย้อนยุคของหนังเรื่องที่อดัมกำกับและคามิลล่านำแสดง โดยมีไดแอนน์ (ซึ่งเล่นเป็นตัวประกอบ) ยืนมองน้ำตาคลอเบ้าอยู่ไม่ไกล หากเรียงตามลำดับเวลา นี่คือเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ที่หนึ่ง

3) ตัดกลับมายังเหตุการณ์ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่หนึ่ง ไดแอนน์ปิดประตูไล่คามิลล่าอย่างโกรธแค้นหลังถูกขอเลิก

4) ไดแอนน์ช่วยตัวเองไป ร้องไห้ไป เพราะคิดถึงคามิลล่า เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เธอหันไปมอง ตัดภาพ

(5) เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่สี่ด้วยเสียงโทรศัพท์ แต่ไม่ต่อเนื่องกันทางเวลา (อาจเป็นคืนวันเดียวกันนั้น หรือสองสามวันถัดมา) ไดแอนน์เดินมารับโทรศัพท์ในชุดราตรีสีดำ คามิลล่าชวนเธอไปงานเลี้ยงที่บ้านอดัม ในงานเลี้ยง ก่อนอดัมกับคามิลล่าจะประกาศข่าวดี มีเสียงชามแตกดังขึ้น ไดแอนน์หันไปมอง ตัดภาพ

(6) เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่ห้าด้วยเสียงชามแตก แต่ไม่ต่อเนื่องกันทางเวลา ไดแอนน์กำลังนัดคุยกับมือปืนที่ร้านวิงค์กี้
จากนั้นหนังก็ตัดกลับมายังเหตุการณ์ในปัจจุบันอีกครั้ง ไดแอนน์ในชุดเสื้อคลุมกำลังนั่งจ้องมองกุญแจสีน้ำเงินบนโต๊ะกาแฟ และจบลงด้วยการยิงตัวตายบนเตียงนอน

ขณะที่ช่วงครึ่งชั่วโมงหลังของหนังเชื่อมโยงเหตุการณ์โดยไม่เรียงตามลำดับเวลา สองชั่วโมงแรกของหนัง ซึ่งเป็นภาพความฝันของไดแอนน์ กลับเล่าโครงเรื่องหลักอย่างตรงไปตรงมา แต่บรรดาชุดเหตุการณ์ย่อยที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับโครงเรื่องหลักเลยก็สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกสับสนได้ไม่แพ้ช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย

เรื่องราวหลักเริ่มต้นขึ้นบนถนน มัลฮอลแลนด์ ไดรฟ ยามค่ำคืน หญิงสาวคนหนึ่ง (คามิลล่า) กำลังจะถูกมือปืนยิงตายในรถลีมูซีนคันหรู แต่รอดมาได้อย่างหวุดหวิด เมื่อรถอีกคันพุ่งตรงมาชนรถลีมูซีนอย่างจัง อุบัติเหตุดังกล่าวทำให้หญิงสาวสูญเสียความทรงจำ เธอเดินโซซัดโซเซเข้าไปซ่อนตัวในบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้าน คือ คุณป้าของ เบ็ตตี้ (ไดแอนน์) ซึ่งเดินทางไปที่อื่น และอนุญาตให้หลานสาวมาพักอยู่เป็นการชั่วคราว เบ็ตตี้ฝันอยากจะเป็นดารา เธอเดินทางมาฮอลลีวู้ดพร้อมกับความหวังเต็มเปี่ยม ตอนแรกเธอคิดว่าหญิงสาวที่กำลังอาบน้ำอยู่ในบ้านเป็นเพื่อนของคุณป้า แต่เมื่อปรากฏว่า ริต้า (หญิงสาวได้ชื่อมาจากโปสเตอร์หนังเรื่อง Gilda นำแสดงโดย ริต้า เฮย์เวิร์ธ) ไม่เคยรู้จักป้าของเธอมาก่อน แถมยังจำไม่ได้ด้วยว่าตัวเองเป็นใคร หรือชื่ออะไร เบ็ตตี้จึงยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่

สมบัติติดตัวเพียงอย่างเดียวของริต้าคือกระเป๋าถือซึ่งอัดแน่นไปด้วยเงินสดและกล่องสีน้ำเงินที่ปราศจากกุญแจไข พนักงานเสิร์ฟชื่อ ไดแอนน์ ในร้านวิงค์กี้ทำให้ริต้าฉุกคิดได้ว่าเธอรู้จักคนชื่อ ไดแอนน์ เซลวิน ร่องรอยดังกล่าวนำพาทั้งสองไปยังอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง อดีตเพื่อนร่วมห้องของไดแอนน์บอกว่าเธอไม่ยอมเปิดประตูรับใครมาสองสามวันแล้ว ดังนั้นริต้ากับเบ็ตตี้จึงแอบปีนเข้าไปข้างในและพบศพเน่าเฟะนอนตายอยู่บนเตียง คืนนั้นเบ็ตตี้กับริต้ามีเซ็กซ์เร่าร้อนร่วมกันเป็นครั้งแรก ริต้าละเมอเป็นภาษาสเปนในตอนกลางดึก พร้อมทั้งชักชวนเบ็ตตี้ไปยังคลับแห่งหนึ่งชื่อ ไซเรนซิโอ ที่นั่นพวกเขาค้นพบกุญแจสำหรับไขเปิดกล่องสีน้ำเงิน และหลังจากกล่องสีน้ำเงินถูกเปิดออก (กล้องซูมเข้าไปยังความมืดด้านในกล่อง) หนังก็เฉลยให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในช่วงสองชั่วโมงแรกเป็นเพียงภาพฝันของไดแอนน์

เมื่อมองย้อนกลับไป คนดูจะพบว่าลินช์ได้สอดแทรกเบาะแสสู่ความจริงดังกล่าวเอาไว้แล้วตั้งแต่ในช็อตที่สองของหนัง ซึ่งเป็นภาพกล้องค่อยๆเคลื่อนที่ลงไปยังหมอนบนเตียงนอน ส่วนบรรยากาศ ‘แปลกๆ’ เช่น ตอนเบ็ตตี้เดินออกจากสนามบิน หรือตอนเธอไปทดสอบบท รวมถึงบรรดาตัวละครพิลึกพิลั่นทั้งหลาย ก็ล้วนบ่งบอกความรู้สึก ‘เหนือจริง’ ของเรื่องราวอยู่เป็นนัยๆ และเช่นเดียวกับรูปแบบความฝันของมนุษย์ Mulholland Drive ตลอดสองชั่วโมงแรกอัดแน่นไปด้วยซีเควนซ์ปลีกย่อยมากมายซึ่งไม่สมบูรณ์ในตัวเอง อีกทั้งยังไม่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลอีกด้วย เช่น ฉากนายตำรวจสองคนตรวจสอบซากรถจากอุบัติเหตุบนถนน มัลฮอลแลนด์ ไดรฟ ฉากชายคนหนึ่งเล่าความฝันให้ชายอีกคนหนึ่งฟังในร้านวิงค์กี้ ฉากชายคนหนึ่งฆ่าเพื่อนตายเพื่อแย่งชิงหนังสือปกดำมาครอง ก่อนต่อมาจะไปสอบถามโสเภณีนางหนึ่งถึงผู้หญิงผมดำ และซับพล็อตที่ค่อนข้างโดดเด่นเกี่ยวกับผู้กำกับ อดัม เคชเชอร์ ถูกกลุ่มอิทธิพลมืดกดดันให้รับนักแสดงสาวผมบลอนด์ชื่อ คามิลล่า โรเดส มาเป็นดารานำในหนังเรื่องใหม่

หลายฉากหลายตอนที่คำพูดหรือรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในฉากความฝันแฝงความหมายซ้อน เป็นเบาะแสให้กับผู้ชม เมื่อย้อนมาทบทวนเหตุการณ์ในช่วงสองชั่วโมงแรกอีกครั้ง อาทิ ตอนเบ็ตตี้พูดกับริต้าว่า “ฉันอยู่ในโลกของความฝัน” เธอไม่ได้หมายความแค่ฮอลลีวู้ดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังกินนัยยะถึงสองชั่วโมงแรกของหนังทั้งเรื่องอีกด้วย หรือตอนทั้งสองโทรศัพท์หา ไดแอนน์ เซลวิน เพราะคิดว่านั่นคือชื่อจริงของริต้า เบ็ตตี้ตั้งข้อสังเกตว่า “แปลกดีนะที่ต้องโทรศัพท์ไปหาตัวเอง” ในความเป็นจริง เบ็ตตี้ต่างหากที่กำลังโทรศัพท์หาตัวเอง ข้อสังเกตข้างต้นได้รับการสนับสนุนจากคำพูดของริต้า หลังได้ยินเสียงเครื่องตอบรับดังมาตามสาย “นั่นไม่ใช่เสียงของฉันนี่” เธอกล่าว “แต่ฉันรู้จักหล่อน” (เสียงจากเครื่องตอบรับถูกนำมาเปิดซ้ำอีกรอบช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายในฉากที่คามิลล่าโทรมาชวนไดแอนน์ไปงานเลี้ยง) หรือตอนเบ็ตตี้เดินไปหาริต้าที่ห้อง หลังทราบข่าวว่าหล่อนไม่ใช่เพื่อนของคุณป้า มุมกล้องแทนสายตาเบ็ตตี้ให้อารมณ์คุกคามดุจฆาตกรโรคจิตกำลังออกล่าเหยื่อรายต่อไป เหตุใดหญิงสาวที่มองโลกในแง่ดีและบริสุทธิ์สดใสอย่างเบ็ตตี้ถึงได้ถูกแทนที่ด้วยมุมกล้องอันน่าสะพรึงกลัวเช่นนั้น? การเปิดเผยความจริงในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายว่า เบ็ตตี้กับไดแอนน์คือคนๆเดียวกันและเธอเป็นคนจ้างมือปืนฆ่าคามิลล่า/ริต้า ช่วยอธิบายข้อสงสัยดังกล่าวให้กระจ่างแจ้ง
เช่นเดียวกับ Lost Highway เรื่องราวของชายที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรมภรรยาและจินตนาการไปว่าตนเองได้กลายร่างเป็นชายอีกคนหนึ่งซึ่งหนุ่มกว่า เป็นที่รักในหมู่เพื่อนฝูง ครอบครัว และมีชีวิตที่น่าสนใจมากกว่า เพื่อหลีกหนีจากความจริงอันหดหู่ ไดแอนน์ ใน Mulholland Drive ก็ได้ ‘แก้ไข’ ชีวิตบัดซบของเธอเสียใหม่ในภาพความฝัน ไดแอนน์ผู้หดหู่ ขมขื่น กลายร่างเป็นเบ็ตตี้ผู้ร่าเริง บริสุทธิ์ สดใส และเปี่ยมพรสวรรค์ทางการแสดง ส่วนคามิลล่าผู้เชื่อมั่น กร้าวแกร่ง ก็กลายร่างเป็นริต้าผู้สูญเสียความทรงจำและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นอกจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง (สิ่งของ/เหตุการณ์/ตัวละคร/ชื่อคน) ในฉากความฝันยังล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของไดแอนน์แทบทั้งสิ้น

เบ็ตตี้เป็นชื่อพนักงานเสิร์ฟในร้านวิงค์กี้ที่ไดแอนน์นัดพบกับมือปืน ชายหนุ่มคนที่เล่าความฝันให้ชายอีกคนฟังคือชายคนเดียวกับที่ไดแอนน์เหลือบไปเห็นว่ากำลังยืนต่อคิวจ่ายเงินอยู่ตรงเคาน์เตอร์ร้านวิงค์กี้ โคโค่ แม่ของอดัมที่ไดแอนน์พบในงานเลี้ยง กลายเป็นผู้ดูแลอพาร์ตเมนต์ของป้าเบ็ตตี้ เมื่ออดีตเพื่อนร่วมห้องของไดแอนน์บอกว่ามีนักสืบสองคนกำลังตามหาเธออยู่ (เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการตายของคามิลล่า) ไดแอนน์จึงจินตนาการพวกเขาเป็นนายตำรวจสองคนที่มาตรวจสอบจุดเกิดอุบัติเหตุบนถนน มัลฮอลแลนด์ ไดรฟ ในฉากความฝัน มือปืนกลายร่างเป็นชายที่ฆ่าเพื่อนเพื่อแย่งชิงหนังสือปกดำ (เล่มเดียวกับที่ไดแอนน์เห็นว่าเป็นของมือปืน) กระเป๋าหนังบรรจุเงินของไดแอนน์กลายเป็นกระเป๋าในครอบครองของริต้า ฉากไดแอนน์นั่งลีมูซีนไปงานเลี้ยงที่บ้านอดัมและประโยค “จอดรถทำไม ยังไม่ถึงจุดหมายนี่” ถูกนำมาฉายซ้ำในฉากเปิดเรื่องบนถนน มัลฮอลแลนด์ ไดรฟ คู่รักหญิงผมบลอนด์ของคามิลล่า กลายมาเป็น คามิลล่า โรเดส นักแสดงที่พวกมาเฟียพยายามบีบให้อดัมคัดเลือกเป็นดารานำในหนังเรื่องใหม่ ภาพถ่ายโคลสอัพของคามิลล่า (ผมดำ) ที่ไดแอนน์ยื่นให้มือปืนพร้อมกับพูดว่า “ผู้หญิงคนนี้แหละ” กลายมาเป็นภาพถ่ายของคามิลล่า (ผมบลอนด์) ที่พวกมาเฟียยื่นให้อดัมพร้อมกับพูดว่า “ผู้หญิงคนนี้แหละ” แขกคนหนึ่งซึ่งไดแอนน์เหลือบไปเห็นในงานเลี้ยงกลายเป็นมาเฟียที่จู้จี้เรื่องกาแฟในฉากความฝัน

ถึงจะดึงรายละเอียดส่วนใหญ่มาจากชีวิตจริง แต่ภาพฝันของไดแอนน์ก็บ่งบอกความนัยบางอย่างเกี่ยวกับสภาพจิตใจในเบื้องลึกของเธอ เธอฝันว่า ริต้า ‘รอดชีวิต’ จากการลอบสังหารในรถลีมูซีน นั่นหมายถึง เธอรู้สึกผิดและอยากจะแก้ไข แต่สายเกินไป

ในความฝัน อดัมกับเบ็ตตี้ได้พบกันครั้งหนึ่ง ขณะฝ่ายแรกกำลังทดสอบหน้ากล้องเพื่อค้นหาดารานำหญิงในหนังเรื่องใหม่ ส่วนฝ่ายหลังเพิ่งเสร็จจากการโชว์พรสวรรค์ชั้นยอดให้ทุกคนประจักษ์ในการทดสอบบทอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองจ้องตากันอย่างถูกโฉลก แต่สุดท้ายเบ็ตตี้ก็ต้องขอตัวกลับก่อนเพราะนัดริต้าไว้ ส่วนอดัมก็ตัดสินใจยอมทำตามคำสั่งของมาเฟียด้วยการเลือก คามิลล่า (ผมบลอนด์) เป็นดารานำ ฉากดังกล่าวสะท้อนทัศนคติเบื้องลึกของไดแอนน์ต่อความตกต่ำในอาชีพนักแสดง เธอโทษว่าเพราะอำนาจมืดบางอย่างทำให้เธอไม่ได้บทนำและผลักดันคามิลล่าเป็นดาราดัง ไดแอนน์เชื่อว่า หากตั้งใจจริง เธออาจกลายเป็นผู้หญิงคนที่อดัมเลือกก็ได้ แต่เธอกลับเลือกจะเสียสละและให้ความสำคัญแก่หญิงคนรักเหนืออื่นใด มองในแง่หนึ่ง ไดแอนน์โทษว่า เนื่องจากเธออุทิศตนให้แก่คามิลล่า อาชีพนักแสดงของเธอจึงไม่ก้าวหน้าไปไหน… ใน Mulholland Drive ชีวิตส่วนตัวกับอาชีพการงานผสมผสานกันจนแยกไม่ออกเช่นเดียวกับความจริงและความฝัน

ลินช์เปรียบเทียบแรงปรารถนาที่จะหวนคืนสู่ความบริสุทธิ์ผุดผ่องอีกครั้งของไดแอนน์ ผ่านภาพลักษณ์ของหนังยุค 50 สมัยที่อเมริกายัง ‘ไร้เดียงสา’ และยังไม่เคยรู้จักกับประเทศเล็กๆในทวีปเอเชียชื่อเวียดนาม หนังซึ่งอดัมกำกับเป็นหนังเพลงย้อนยุค ส่วนการเต้นรำจังหวะจิตเตอร์บัก ซึ่งลินช์ใส่เข้ามาเป็นภาพแรกของหนัง ก็สะท้อนบรรยากาศแห่งยุคสมัย ฉากเบ็ตตี้เดินทางมาถึงฮอลลิวู้ด หลังชนะการประกวดเต้นรำจิตเตอร์บักพร้อมชายหญิงชราคู่หนึ่ง (ซึ่งน่าจะเป็นกรรมการตัดสิน) สะท้อนถึงจิตวิญญาณอันใสสะอาดของไดแอนน์ในระยะเริ่มแรก ก่อนเธอจะค่อยๆดำดิ่งลงไปพัวพันกับตัณหา ราคะ แรงริษยา ความผิดหวัง และฆาตกรรม ทั้งสองคือตัวแทนความดีงามในอดีตที่หายไปของไดแอนน์ ดังนั้นเมื่อตระหนักว่าตนเองได้กระทำสิ่งที่เลวร้ายเกินให้อภัยลงไป (ฉากนั่งจ้องมองกุญแจสีน้ำเงินบนโต๊ะรับแขก) ไดแอนน์จึงนึกเห็นภาพหลอนของพวกเขา ตัวเล็กเท่าแมลงสาบ ค่อยๆลอดผ่านช่องประตูเข้ามา แล้วขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ วิ่งไล่เธอจากห้องรับแขกไปยังห้องนอน ก่อนสุดท้ายจะผลักดันเธอให้หยิบปืนในลิ้นชักออกมายิงตัวตาย

วิกฤติตัวละครในหนังของลินช์ คือ การไม่สามารถทำใจยอมรับความจริงอันเจ็บปวดได้และพยายามผันแปลงทุกสิ่งให้กลายเป็นภาพฝันอันบิดเบือน บางอย่างอาจดูใกล้เคียงความจริง แต่ไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว ซึ่งหากมองในอีกแง่หนึ่ง มันคือบทวิพากษ์ความจอมปลอมของฮอลลีวู้ดที่ภายนอกอาจดูสวยงามและเหมือนจริง แต่โดยเนื้อแท้แล้วกลับเป็นเพียงภาพลวงตาที่วันหนึ่งย่อมต้องพังทลายลงในที่สุด แล้วเผยให้เห็นแก่นอคติภายในว่ามันคือโลกของชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงจำเป็นต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามและใช้เสน่ห์ทางเพศให้เป็นประโยชน์ มิเช่นนั้นแล้วก็เตรียมจูบลาอนาคตอันสดใสได้เลย เลสเบี้ยนอย่างไดแอนน์ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดี แต่ก็ปฏิเสธที่จะเล่นตามน้ำเหมือนคามิลล่า ดังนั้นในความฝัน เราจึงได้เห็นเบ็ตตี้ใช้เสน่ห์สาวสวยบวกกับพรสวรรค์ทางการแสดงชั้นเลิศ เอาชนะใจบรรดาเฒ่าหัวงูทั้งหลายได้สำเร็จในฉากที่เธอเดินทางไปทดสอบบท

ถึงแม้จะทำหน้าที่เปิดโปงภาพลักษณ์ด้านมืดของฮอลลีวู้ด แต่ขณะเดียวกันหนังของลินช์ก็ผูกติดกับฮอลลีวู้ดและหนังฮอลลีวู้ดอย่างแน่นแฟ้น เขาอ้างอิงถึงผลงานที่คนดูคุ้นเคยมากมายอย่าง The Godfather (ฉากมาเฟียบีบให้ผู้สร้างหนังเลือกดาราตามคำสั่ง), Wizard of Oz (การที่บุคคลในชีวิตจริงปรากฏเป็นตัวละครในฉากความฝัน), Pulp Fiction (อารมณ์ขันของฉากที่ชายผมบลอนด์ฆ่าเพื่อนเพื่อแย่งชิงหนังสือปกดำ), Vertigo (ฉากเบ็ตตี้จับริต้าใส่วิกผมบลอนด์) และ Sunset Boulevard (ชื่อที่คล้ายคลึงกัน เนื้อหามืดหม่นเกี่ยวกับวงการบันเทิง และวิธีการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครที่ตายไปแล้ว) พร้อมทั้งสร้างความแปลกประหลาดด้วยการสวนทางสูตรสำเร็จนานับประการ อาทิ เล่าเรื่องในลักษณะแตกกระจาย แทนรูปแบบคลาสสิกทำนอง ‘เก็บเล็กผสมน้อย’ ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่ภาพรวมอันเป็นเอกภาพ มอบบท femme fatale ให้แก่ คามิลล่า สาวผมดำเชื้อสายเม็กซิกัน ทั้งที่ตามธรรมเนียมฮอลลีวู้ดบทลักษณะนี้มักตกเป็นของดาราสาวผมทอง การดำเนินเรื่องตามแนวทางฟิล์มนัวร์ แต่กลับปล่อยให้ผู้หญิงเป็นตัวผลักดันเรื่องราว และการเริ่มต้นหนังด้วยภาพความฝัน ก่อนจะนำไปสู่ฉากเฉลยความจริงในตอนจบ (กลับตาลปัตรจาก The Wizard of Oz) เป็นต้น

กลเม็ด ‘ลวง’ คนดูของลินช์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเชื่อมโยงแฟลชแบ็คให้ต่อเนื่องกันและสอดแทรกชุดเหตุการณ์ย่อยซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยวโยงกับพล็อตหลักเท่านั้น หากแต่เขายังใช้วิธีอีกหลากหลาย ตั้งแต่ระดับขั้นเรียบง่าย (ฉากเบ็ตตี้ซ้อมอ่านบทกับริต้า) ไปจนถึงระดับขั้นลึกซึ้งอย่างร้ายกาจ (ไมเคิล แอนเดอร์สัน คนแคระจาก Twin Peaks รับบทเป็น มิสเตอร์โร้ก หัวหน้ามาเฟีย โดยที่ศีรษะของเขาถูกนำมาต่อกับร่างมนุษย์ปรกติบนรถเข็น) เพื่อเน้นย้ำแนวคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็น ก่อนจะไปสรุปความคิดรวบยอดใน คลับ ไซเรนซิโอ เมื่อนักร้องหญิงนางหนึ่งออกมาครวญเพลง Crying เป็นภาษาสเปนอย่างซาบซึ้งกินใจ แล้วเป็นลมล้มพับไป แต่เพลงยังคงดำเนินต่อ ดุจดังที่พิธีกรประกาศก่อนหน้าการแสดงว่า “มันถูกบันทึกไว้หมดแล้ว… มันเป็นเทป… มันเป็นสิ่งลวงตา”

แทนที่จะนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา Mulholland Drive กลับล่อลวงคนดูให้ฉงนสนเท่ห์ ซ้อนทับความจริงเข้ากับความฝัน ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสภาพตื่นตระหนกและสับสนเช่นเดียวกับไดแอนน์ โดยภาวะล่องลอยอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนดังกล่าวได้สะท้อนถึงเอกลักษณ์ประการหนึ่งในหนังของลินช์ นั่นคือ ความหวาดกลัวที่แท้จริงมักหยั่งรากลึกลงไปมากกว่าสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้า ในภาพยนตร์ส่วนใหญ่ อารมณ์ของผู้ชมมักพุ่งสูงขึ้นในระดับเดียวกันกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ตามท้องเรื่อง แต่ในหนังของลินช์ เหตุการณ์ที่ปรากฏกลับไม่อาจเทียบเท่าอารมณ์รุนแรงที่ผู้ชมได้รับ หนังของเขามักสร้างความรู้สึกหวาดระแวงว่ามีบางสิ่งบางอย่างเลวร้ายยิ่งกว่าซุกซ่อนอยู่ภายใน บางสิ่งบางอย่างซึ่งอยู่เหนือความเข้าใจของเราและน่าสะพรึงกลัวเกินกว่าจะถ่ายทอดเป็นรูปธรรม หรือ คำอธิบาย

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าปีศาจร้ายใน Mulholland Drive ปราศจากตัวตน

เช่นเดียวกับ Twin Peaks: Fire Walk With Me เรื่องราวของหญิงสาวผู้ไม่อาจทำใจยอมรับความจริงได้ว่าพ่อบังเกิดเกล้าของเธอคือบุคคลที่ข่มขืนเธอ ดังนั้นเธอจึงสร้างปีศาจร้ายตนหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวแทนเขา ชายจรจัดใน Mulholland Drive ก็เปรียบดังสัญลักษณ์แทนความชั่วร้าย เป็นจิตวิญญาณอันบุบสลาย เน่าเฟะของไดแอนน์ หลังเธอตัดสินใจกระโดดลงไปคลุกโคลนตมแห่งอาชญากรรม (ตามเครดิตชายจรจัดรับบทโดยนักแสดงหญิง) เขาปรากฏตัวครั้งแรกในฉากที่ชายหนุ่มคนหนึ่งเล่าความฝันให้ชายอีกคนฟังว่า เขากำลังหวาดกลัว ‘บางสิ่ง’ เกินคำพรรณนา ใบหน้าของมันน่ากลัวจนเขาไม่อยากจะพบเห็นอีกเลย ไม่ว่าจะในความฝันหรือในชีวิตจริง จากนั้นเขาก็เดินตรงไปยังตรอกหลังร้านวิงค์กี้เพื่อพิสูจน์ดูว่าทุกอย่างจะเป็นเหมือนในความฝันหรือไม่ แล้วจู่ๆชายจรจัดก็โผล่หน้าออกมาจากด้านหลังกำแพง ทำให้ชายหนุ่มตกใจช็อคตาย เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความหวาดกลัวของไดแอนน์ที่จะสัมผัสกับตัวตนอันแท้จริงของเธอ ซึ่งกำลังผุกร่อนเกินเยียวยาไม่ต่างจากศพที่เบ็ตตี้และริต้าพบในอพาร์ตเมนต์

เมื่อไดแอนน์ถามมือปืนว่ากุญแจสีน้ำเงินใช้สำหรับเปิดอะไร เขากลับหัวเราะแทนคำตอบ ปริศนาที่ไม่ได้รับการคลี่คลายของกุญแจสีน้ำเงิน ทำให้ไดแอนน์วาดฝันไปว่ามันใช้สำหรับเปิดกล่องปริศนาสีน้ำเงินใบหนึ่งซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความจริงกับความฝัน กล่องดังกล่าวคือสัญลักษณ์บ่งชี้ถึงการกระทำอันเลวร้ายของไดแอนน์ (กุญแจสีน้ำเงินจะปรากฏเมื่อคามิลล่าถูกสังหารแล้ว) ดังนั้นในฉากที่กล่องกำลังจะถูกริต้าเปิดออก เมื่อความจริงกำลังจะผุดขึ้นมาเหนือภาพฝัน เมื่อไดแอนน์กำลังจะถูกบีบให้ต้องตื่นขึ้นมาตระหนักในความจริงอันโหดร้าย เบ็ตตี้จึงหายตัวไปอย่างฉับพลัน และในเวลาเดียวกันมันจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นชายจรจัด (วิญญาณอันผุพังของไดแอนน์) เป็นผู้ครอบครองกล่องสีน้ำเงิน ซึ่งภายในบรรจุชายหญิงชราภาพคู่หนึ่ง (ความบริสุทธิ์ที่สูญสลายไป) ผู้ต่อมาได้ตามหลอกหลอนไดแอนน์ให้เจ็บปวดจนไม่อาจทนมีชีวิตต่อไปได้

เช่นนี้แล้วจะพบว่า แต่ละเหตุการณ์ ตัวละคร หรือกระทั่งสิ่งของนานาชนิด ใน Muholland Drive ล้วนเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างมีหลักการ เพียงแต่หลักการดังกล่าวหาใช่รูปแบบที่ตายตัวไม่ ใครอีกคนสามารถจัดระเบียบมันเสียใหม่ แล้วสร้างรูปแบบอันแตกต่าง แต่เป็นเหตุเป็นผลได้ไม่แพ้กัน

และบางทีนั่นเองคือความงามอันน่าตื่นตาที่ไม่แตกต่างจากความฝันของ Mulholland Drive

นักวิชาการเคยให้คำนิยามความฝันไว้ว่า มันพยายามจะบอกอะไรเราบางอย่าง แต่ความหมายกลับไม่เด่นชัดและถ่ายทอดผ่านภาษาที่แปลกแตกต่าง แม้ขณะเดียวกันจะให้ความรู้สึกคุ้นเคยอย่างประหลาด ความฝันคือปริศนา หาใช่คำแถลงการณ์ มันส่งทอดคำถามเพื่อให้เราได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ความฝันช่วยเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างไกลขึ้น ช่วยสอนเราถึงสิ่งที่อาจจะอยู่เหนือความเข้าใจ ถ้าความฝันบอกกล่าวกับเราอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่เรามีสติสัมปชัญญะครบถ้วน เช่นนั้นแล้วทุกอย่างก็จะง่ายดายและปราศจากขั้นตอนของการค้นพบ ด้วยเหตุนี้ความฝันจึงจำเป็นต้องถือกำเนิดในรูปของปริศนาลึกลับ ตีแผ่จิตใต้สำนึก และทำให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น

Mulholland Drive ไม่เพียงจะเล่าถึงสัมพันธภาพระหว่างความจริงกับความฝันเท่านั้น หากแต่ยังดำเนินเรื่องตามรูปแบบของคำนิยามข้างต้นอีกด้วย หนังเป็นปริศนาที่สามารถค้นพบคำตอบได้ในบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด ผู้ชมไม่สามารถมองย้อนกลับมาแล้วเชื่อมโยงทุกรายละเอียดให้เป็นเหตุเป็นผลกันได้อย่างครบถ้วน เช่นเดียวกับภาพความฝันที่ไม่ปะติดปะต่อกันโดยตลอด ความท้าทาย น่าสนใจของมัน จึงไม่ได้อยู่ตรงคำเฉลย หากแต่อยู่ตรงขบวนการค้นหา ซึ่งหากเราใส่ใจพอ ก็จะพบว่ามันสะท้อนเศษเสี้ยวของความจริงได้อย่างลึกซึ้ง เหลือเชื่อ มันผสมผสานความคิดแปลกใหม่เข้ากับสูตรดั้งเดิมอันคุ้นเคยได้อย่างกลมกลืน และมันเป็นผลงานกำกับภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของ เดวิด ลินช์ นับแต่ Blue Velvet

5 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

งง
งงกว่า
งงกว่าอีก
งงกว่าที่สุด
งงที่สุดกว่าอีก

อยากดูอ่ะ (ขอซับไทยดีๆหน่อยจิ)
แต่สงสัยต้องอ่านทวนอีกหลายรอบเลยอ่ะ

Riverdale กล่าวว่า...

เมื่อไหร่แกจะอัพบล็อกของแกให้เรียบร้อยเสียทีนะ ไอ้เด็กโหง่ย

หาซับไทยดีๆ เรื่องนี้ ไม่รู้จะมีหรือเปล่า เพราะหนังไม่ได้เข้าฉายเมืองไทยจ้ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ก็ถ้าผมว่างมานั่งเปิดคอมทั้งวันก็ดีอ่ะดิ
อัพยาแทนอัพบล็อกได้ป่าวอ่ะ(ง่ายกว่าอีก :P )

อ้อ!ถ้าจะกรุณาช่วยหามาให้ก็ดีนะครับ
สงสารเด็กตาดำๆ หน้าตาดีๆ คนนี้หน่อยเถอะครับ
ถือว่าทำบุญ ทำกุศลล่ะกานนนนนน...

Riverdale กล่าวว่า...

ถ้าไม่ยอมอัพบล็อกละก็ ตูจะเข้าไปป่วนด้วยการโพสต์รูปโป๊ผู้ชายนะโว้ย

แล้วจะไปหาจากไหนเล่า ว่างๆ ลองไปเดินคลองถมหาซื้อดูก็ได้ หนังเก่าแล้ว ซับอาจจะดีก็ได้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หนอย...ทามมายท่านเพ่เป็นคนแบบนี้อ่ะคับ
ไม่ต้องมาเผื่อแผ่อารยธรรมให้คนอื่นเขาหรอกหนา

อยากอัพบล็อกเหมือนกันอ่า แต่ต้องให้มันดูดีๆหน่อยดิ
คับ สร้างความประทับจายไง...

ไปดู saw3 มาอย่าให้ said เลย
สนุกมากๆ แนะนำๆๆ ขอแนะนำเลยครับ
ดูจบก็ต้องต่อด้วย Texas อาทิตย์หน้าเรยยย
โรคจิต...