วันศุกร์, กันยายน 22, 2549

Syriana: อเมริกันอัปลักษณ์


ท่ามกลางกระแสหนังสารพัดเรื่องโดนแบน (หนังตลกที่คนลาวขำไม่ออก) เกือบโดนแบน (หนังตลกที่คนคลั่งศาสนาขำไม่ออก) หรือกึ่งโดนแบน (หนังผีที่สร้างความโกรธแค้นให้เหล่านายแพทย์ผู้อ่อนไหว) ในไทย ตลอดจนข่าวนายกรัฐมนตรีประกาศฟ้องสื่อฯ และกลุ่มผู้ต่อต้านแบบรายวัน การที่หนังวิพากษ์รัฐบาลสหรัฐอย่าง Syriana สามารถหาทุนสร้าง แล้วเข้าฉายในอเมริกาได้อย่างเอิกเกริก (แถมคว้าออสการ์ดาราสมทบชายมาครองด้วย) ถือเป็นเรื่อง “ชวนช็อค” อย่างยิ่ง

ข้อเท็จจริงดังกล่าวช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่า สิทธิ (รวมถึงการเคารพสิทธิ) ในการแสดงออกของบ้านเรายังล้าหลังประเทศตะวันตกอยู่มาก หรือบางทีอาจเป็นเพราะกลุ่มผู้บริหารในวอชิงตันงุนงงกับเรื่องราวอันซับซ้อนในหนังจนไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ถูกว่ากำลังโดนด่า!?!

เราสามารถแบ่งโครงเรื่อง Syriana ออกได้เป็นสี่ส่วนด้วยกัน โดยทั้งหมดถูกตัดสลับไปมาและเต็มไปด้วยรายละเอียดอันยอกย้อนจนอาจสร้างความสับสนให้กับคนดูได้ง่ายๆ ส่วนแรกเล่าถึงเรื่องราวของ บ็อบ (จอร์จ คลูนี่ย์) ซีไอเอวัยกลางคนที่ปรารถนาจะทำงานนั่งโต๊ะ แทนการปฏิบัติภารกิจเสี่ยงภัยอยู่ในตะวันออกกลาง แต่เขากำลังทำให้บรรดาผู้บริหารหลายคนอึดอัด หลังจากเขาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับจรวดมิสซายลูกหนึ่งที่หายไประหว่างการติดต่อซื้อขายกับพ่อค้าอาวุธในกรุงเตหะราน อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลหลักของรัฐบาลสหรัฐกลับอยู่ตรงการที่เจ้าชาย นาเซียร์ อัลสุไบ (อเล็กซานเดอร์ ซิดดิก) ยกสัมปทานขุดเจาะน้ำมันให้กับชาวจีน แทนบริษัทคอนเน็กซ์ในอเมริกา

เพื่อปกป้องแหล่งพลังงานสำคัญในอ่าวเปอร์เซีย ซีไอเอได้มอบหมายงานชิ้นสุดท้ายให้บ็อบ และถ้าเขาทำสำเร็จ เขาก็จะได้ทำงานนั่งโต๊ะแบบที่เขาต้องการมานาน ภารกิจสุดท้ายของเขา คือ การลอบสังหารเจ้าชายนาเซียร์ ซึ่งทางซีไอเอพยายามวาดภาพให้เป็นผู้ร้าย (“แม่ของเขาซื้ออาวุธสงครามที่อาจถูกนำมาใช้กับอเมริกา”) บ็อบรับงานมาทำโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ เช่นเคย แต่เมื่อปฏิบัติการของเขาเกิดผิดพลาด ส่งผลให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลอบสังหารเสี่ยงต่อการรั่วไหล ทำลายเครดิตของรัฐบาลสหรัฐ บ็อบจึงถูกซีไอเอปล่อยเกาะ

เรื่องราวส่วนที่สองโฟกัสไปยัง ไบรอัน (แมท เดมอน) นักวิเคราะห์พลังงานชาวอเมริกัน ที่ประจำการอยู่ในเจนีวา เขาและครอบครัวได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงส่วนพระองค์ของกษัตริย์ อาเม็ด อัลสุไบ (นาดิม ซาวัลลา) พระบิดาของเจ้าชายนาเซียร์ ไบรอันเดินทางไปในนามของบริษัทเพื่อยื่นข้อเสนอทางธุรกิจ แต่เขากลับไม่ได้รับความสนใจจากพระราชา (พระองค์ส่งตัวแทนมารับฟังข้อเสนอ) ซึ่งกำลังวุ่นโชว์ระบบทีวีวงจรปิดภายในบ้านกับนักธุรกิจชาวจีนผู้ชนะการประมูลสัมปทาน

หลังอุบัติเหตุในสระน้ำ ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของไบรอัน เจ้าชายนาเซียร์ ผู้รู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ยื่นข้อเสนออันหอมหวานให้กับบริษัทของไบรอัน พร้อมทั้งตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนตัว ซึ่งเขาตอบรับในทันที เจ้าชายนาเซียร์ปรารถนาจะแปลงความมั่งคั่งทางน้ำมันเป็นประโยชน์สุขของคนทั้งประเทศ เขาอยากพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง เพื่อความอยู่รอดหลังทรัพยากรธรรมชาติเริ่มร่อยหรอ เขาต้องการสร้างสภาผู้แทนราษฎร ให้สิทธิผู้หญิงในการโหวต ลดความแตกต่างทางชนชั้น และหยุดยั้งอิทธิพลของชาติตะวันตกในเขตตะวันออกกลาง ไบรอันเชื่อมั่นในอุดมการทางการเมืองของเจ้าชายนาเซียร์ ถึงขนาดยกย่องให้เขาเป็น “โมแซเดคคนต่อไป” (โมแซเดคคืออดีตผู้นำหัวก้าวหน้าของอิหร่าน ที่ถูกซีไอเอกำจัดทิ้งจากอำนาจในปี 1954 แล้วแทนที่ด้วยพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา พาห์ลาวี ซึ่งเป็นมิตรกับสหรัฐมากกว่า)

พล็อตในส่วนที่สาม เล่าถึงการเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบการรวมตัวกันระหว่าง คอนเน็กซ์ ที่เพิ่งสูญเสียสัมปทานในตะวันออกกลางให้กับชาวจีน กับ คิลลีน บริษัทน้ำมันขนาดเล็กกว่าที่เพิ่งได้สัมปทานในคาซาคสถาน ของ เบนเน็ทท์ (เจฟฟรีย์ ไรท์) ทนายความหนุ่ม การรวมตัวดังกล่าวทำให้คอนเน็กซ์-คิลลีนกลายเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลก แต่กระทรวงยุติธรรมยังไม่ยอมอนุมัติการรวมตัวดังกล่าว เนื่องจากสงสัยว่าคิลลีนอาจจ่ายเงินใต้โต๊ะก้อนโตเพื่อแลกกับสัมปทานน้ำมัน

ข้อสงสัยดังกล่าวปรากฏว่ามีมูล เมื่อเบนเน็ทท์ค้นพบการคอรัปชั่นครั้งใหญ่ แต่หน้าที่ของเขาหาใช่การเปิดโปงมันสู่สาธารณชนเพื่อธำรงคุณธรรมในสังคม ตรงกันข้าม ภายใต้คำสั่งจาก ดีน ไวติ้ง (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) หุ้นส่วนใหญ่ของสำนักกฎหมายที่เขาทำงานอยู่ หน้าที่หลักของเบนเน็ทท์ คือ ดำเนินการให้อภิมหาดีลครั้งนี้ประสบความสำเร็จ นั่นหมายถึงการหา “แพะ” สองสามตัวเพื่อให้สำนักอัยการเชือด โดยหวยรางวัลที่หนึ่งตกอยู่กับ แดนนี่ ดาลตัน (ทิม เบลค เนลสัน) เจ้าหน้าที่ระดับล่างขององค์กร แต่เมื่อทางกระทรวงยุติธรรมแสดงความไม่พอใจในเครื่องบูชายัน ซึ่งน้อยและหางแถว เกินไป หวยรางวัลที่สองจึงไปตกอยู่กับ ซิดนีย์ ฮิววิทท์ (นิกกี้ เฮนสัน) ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานกฎหมายและหัวหน้าของเบนเน็ทท์

ขณะเดียวกันนั้น ดีน ไวติ้ง ก็พยายามกดดันกษัตริย์อาเม็ดให้ยกเลิกสัญญาที่ทำกับคนจีน แล้วรวมหัวกับ เจ้าชาย เมชาล อัลสุไบ (อัคบาร์ เคอร์ธา) พระอนุชาของเจ้าชายนาเซียร์ ซึ่งว่านอนสอนง่าย รักชีวิตสุขสบาย และโปรอเมริกัน เพื่อกีดกันเจ้าชายนาเซียร์ออกจากบัลลังก์อำนาจทุกวิถีทาง

ลูกโซ่สุดท้ายของเรื่องราวเล่าถึงชีวิตของ วาซิม (มาซาร์ มูเนียร์) คนงานหนุ่มชาวปากีสถานที่เดินทางมาทำงานในตะวันออกกลางพร้อมกับพ่อของเขา การรวมตัวกันของบริษัทคอนเน็กซ์กับคิลเลนทำให้พวกเขาตกงาน วีซ่าถูกเพิกถอน และเสี่ยงต่อการถูกส่งตัวกลับประเทศ ซึ่งหมายถึงการกลับไปเผชิญหน้ากับความยากจนข้นแค้น วาซิมพยายามดิ้นรนหางานใหม่ แต่พบอุปสรรคมากมายเพราะเขาพูดภาษาอาราบิกไม่ได้และปราศจากเส้นสาย เมื่อเขาตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโรงเรียนอิสลาม แนวคิดสุดโต่งทางศาสนาก็เริ่มซึมซับเข้าไปในจิตวิญญาณของเขา เช่นเดียวกับความเชื่อที่ว่าปัญหาในตะวันออกกลางหาได้เกิดจากการแทรกแซงโดยชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะชนชั้นปกครองชาวอิสลามที่ยอมให้เกิดการแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ความยากลำบากในชีวิตและความคับแค้นในชะตากรรมทำให้วาซิมถูกล้างสมองจนกลายเป็นหน่วยระเบิดพลีชีพ

คนดูจะได้เห็นเส้นทางชีวิตของตัวละครในแต่ละพล็อตเรื่องตัดผ่านกัน เช่น ชายลึกลับชาวอาหรับ ซึ่งได้ครอบครองมิสซายที่บ็อบ “ทำหาย” ถูกเฉลยตัวตนในเวลาต่อมา เมื่อเขาผูกมิตร และปลูกฝังแนวคิดทางศาสนากับวาซิม ก่อนจะชักชวนให้เด็กหนุ่มใช้มิสซายถล่มโรงกลั่นน้ำมัน หรือในฉากหนึ่ง เมื่อบ็อบถาม สแตน (วิลเลี่ยม เฮิร์ท) พันธมิตรเดียวที่เหลืออยู่ของเขาในซีไอเอหลังภารกิจลอบสังหารล้มเหลว ว่าใครอยู่เบื้องหลังการสอบสวนของเอฟบีไอจนทำให้บ็อบตกที่นั่งลำบาก คำตอบที่เขาได้รับ คือ ดีน ไวติ้ง ดังนั้น บ็อบจึงเดินทางไปเยี่ยมเศรษฐีชราในยามวิกาลเพื่อยุติปัญหา

แต่นอกจากการเชื่อมโยงในแง่รูปธรรมข้างต้นแล้ว บทหนังยังสอดประสานเรื่องราวทั้งสี่เข้าด้วยกันในเชิงลึกอีกด้วย ผ่านธีมเกี่ยวกับวิกฤติสัมพันธ์ของ “พ่อกับลูกชาย”

บ็อบเป็นพ่อที่ทุ่มเทชีวิตให้กับงาน โดยไม่ทันฉุกคิดถึงความต้องการของลูกชาย ร็อบบี้ (แม็กซ์ มิงเกลล่า) ผู้โหยหา “ชีวิตปรกติ” แบบเด็กวัยรุ่นอเมริกันทั่วไป (“ผมอยากดูเคเบิลช่องซีเนแม็กซ์และไปงานพรอม พ่อรู้มั้ยว่างานพรอมในเตหะรานเป็นยังไง มันห่วยแตกสุดๆ”) ชั่วแวบแรก ไบรอันดูจะเป็นพ่อที่รักและเอาใจใส่ครอบครัว แต่เมื่อมองให้ลึกลงไป เขากลับพร้อมจะเลือกความก้าวหน้าในอาชีพก่อนเสมอ เช่น เมื่องานเลี้ยงของกษัตริย์อาเม็ดถูกจัดขึ้นในวันเดียวกับงานฉลองครบรอบวันเกิดของ แม็กซ์ (สตีเวน ฮินเคิล) ลูกชายคนโต หรือเมื่อภรรยาของเขา จูลี่ (อแมนดา พีท) ยื่นคำขาดว่าเธอกับลูกจะเดินทางกลับอเมริกา

การเขม่นและชิงดีชิงเด่นกันระหว่างเจ้าชายนาเซียร์กับเจ้าชายเมชาลสะท้อนให้เห็นถึงการล้มละลายของสถาบันครอบครัว ที่เงินทองและอำนาจบารมีไม่อาจเยียวยา ส่วนคนเป็นพ่อก็ดูจะไม่ใส่ใจ หรือกระทั่งตระหนักในรอยร้าวดังกล่าวจนมันพัฒนาไปสู่ความรุนแรง แต่ครอบครัวชนชั้นล่างก็ใช่ว่าจะดีกว่าสักเท่าไหร่ ชีวิตปากกัดตีนถีบได้กัดกร่อนความผูกพันและเพิ่มระยะห่างให้กับความสัมพันธ์ของวาซิมกับพ่อ ซาลีม (ชาฮิด อาห์เม็ด) ฝ่ายแรกเริ่มสนิทสนมกับกลุ่ม “เพื่อนใหม่” โดยที่ฝ่ายหลังไม่ทันระวังหรือรับรู้

บทหนังไม่ได้แจกแจงชัดเจนถึงเหตุผลแห่งความบาดหมางระหว่างเบนเน็ทท์กับพ่อ (วิลเลี่ยม ซี. มิทเชลล์) แต่เห็นได้ชัดว่าลูกชายยังเป็นห่วงพ่อ แม้จะแสดงท่าทีรังเกียจพฤติกรรมขี้เหล้าของเขาอย่างโจ่งแจ้ง และเช่นเดียวกับไบรอัน ความทะเยอทะยานในแบบ อเมริกัน ดรีม ได้ปิดกั้นเบนเน็ทท์ไม่ให้คลี่คลายปัญหา ซ้ำร้ายกลับเหมือนจะหล่อเลี้ยงมันให้เจริญเติบโตไปเรื่อยๆ อีกด้วย กล่าวคือ เบนเน็ทท์ยินดีไปรับพ่อจากบาร์เหล้าเวลาเขาเมาจนหมดสติ แต่ขณะเดียวกันก็ยังขยันซื้อเบียร์มาใส่ตู้เย็นไว้ไม่ขาด (ในฉากสุดท้าย คนดูจะเห็นเบนเน็ทท์พาพ่อที่นั่งเมาอยู่บนขั้นบันไดเข้าไปในบ้าน โดยบอกพ่อให้ทิ้งขวดเบียร์ไว้ตรงนั้น แต่สุดท้ายเขากลับเดินออกมาเก็บมันเข้าไปข้างใน)

ความสัมพันธ์ระหว่างเบนเน็ทท์กับพ่อ นอกจากจะช่วยสร้างภาพรวมให้กับ “วิกฤติพ่อลูก” แล้ว มันยังเปรียบดังอุปมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับตะวันออกกลางอีกด้วย กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งจำต้อง “พึ่งพา” อีกฝ่ายเพื่อเข้าถึงน้ำมันดิบ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ต้องการจ่ายเงินซื้อในราคาแพง เนื่องจากพวกเขาบริโภคน้ำมันในเปอร์เซ็นต์มหาศาล ดังนั้นพวกเขาจึงต้องแทรกแซง แล้ว “เลี้ยงไข้” อีกฝ่ายไม่ให้พัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีรากฐานเข้มแข็ง เพื่อจะได้ดำรงสถานะเด็กแคระต่อไป

จะเห็นได้ว่าผู้กำกับ-เขียนบท สตีเฟน กาแกน ฉลาดในการใส่รายละเอียดทางดราม่าเข้ามาสร้างสมดุลให้กับประเด็นทางการเมือง ทำให้ภาพรวมของหนังไม่เย็นชา หรือหนักหน่วงเกินไป แต่ถึงที่สุดแล้วจุดมุ่งหมายหลักของเขายังคงเป็นการเรียกร้องให้คนดูพิเคราะห์สถานการณ์ในแง่ “มหภาค” มากกว่า “จุลภาค” เนื่องจากหนังในแนวนี้ (หลากหลายตัวละคร หลากหลายเรื่องราว) ย่อมมีข้อจำกัดในการสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างคนดูกับตัวละคร ตลอดจนการพัฒนาตัวละครในเชิงลึก

ถึงแม้เหตุการณ์ 11 กันยายนจะไม่ถูกเอ่ยอ้างถึงตรงๆ แต่ Syriana กลับสื่อนัยยะถึงมันอย่างชัดเจน โดยการถอยห่างออกมาสิบก้าว แล้ววิเคราะห์ “ความเป็นไปได้” แห่งเหตุปัจจัยที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมในครั้งนั้น มันไม่ใช่คำแก้ต่างให้กับกลุ่มก่อการร้าย และไม่ได้นำเสนอภาพคนเหล่านั้นในรูปลักษณ์ของปีศาจ หรือฮีโร่ แต่เป็น “เหยื่อ” ของระบบทุนสามานย์ ของแนวคิดสุดโต่งทางศาสนา ของกลุ่มหัวรุนแรง ที่ต้องการต่อต้านการครอบงำของโลกตะวันตก ซึ่งแผ่ขยายอิทธิพลผ่านกลยุทธ์แบบ “เล่นไม่ซื่อ” สารพัดชนิด เช่น การแทรกแซงทางทหาร การกดดันทางเศรษฐกิจ การเมือง และการลอบสังหาร

ต้นตอแห่งปัญหาเกิดจากการที่คนเราส่วนใหญ่มักเลือกจะมองในมุมแคบ แล้วละเลยต่อผลกระทบแห่งการกระทำของตนในวงกว้าง ดังเช่นเหล่าตัวละครทั้งหลายในหนังเรื่องนี้ พวกเขาทำทุกอย่างตามหน้าที่ ตามคำสั่ง ตามสัญชาตญาณแห่งความทะยานอยาก โดยไม่คำนึง หรือคิดทบทวนว่าการกระทำนั้นๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างกับผู้อื่น จนกระทั่งเมื่อผลแห่งการกระทำนั้นหวนคืนสนอง

การก่อการร้าย คือ “ราคา” ที่อเมริกันชน (และอาจหมายรวมถึงชาวอังกฤษในปัจจุบัน) จำเป็นต้องจ่ายเพื่อแลกกับความมั่งคั่ง

นอกจากนโยบายต่างประเทศของอเมริกาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ Syriana วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือ ระบบทุนสามานย์ ซึ่งคำนึงถึงผลกำไรสูงสุด แล้วขจัดการแข่งขันออกจากตลาดผ่านขั้นตอนการคอรัปชั่นอันเป็นระบบ มันงอกเงยและดูดกลืนวิญญาณ ศีลธรรม และสามัญสำนึกอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเนื้อร้าย เมื่อเบนเน็ทท์เดินทางมาพบกับ จิมมี่ โพป (คริส คูเปอร์) ผู้ก่อตั้งบริษัทคิลลีนเพื่อบอกว่ากระทรวงยุติธรรมต้องการแพะมากกว่าหนึ่งตัว โพปได้เตือนเบนเน็ทท์ให้ระวัง เพราะ “คุณอาจพบ 3 ศพจากการขุดหลุมลึก 6 ฟุต แต่ถ้าคุณขุดลึก 12 ฟุต บางทีคุณอาจพบ 40 ศพ” แต่เมื่อโพปยื่นโอกาสแห่งความก้าวหน้าให้ เบนเน็ทท์กลับรีบกระโดดคว้ามันในทันที เขาอาจมองมองคดีตรวจสอบดังกล่าวเป็นแค่บันไดไต่เต้าทางอาชีพ แต่การแกล้งหูหนวกตามืดบอดต่อคอรัปชั่น แล้วปล่อยให้ดีลคอนเน็กซ์-คิลลีนหลุดรอดการตรวจสอบ แน่นอนย่อมจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ตามความเชื่อที่ว่า “ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงถึงกัน”

“คอรัปชั่นคือเกราะป้องกันของเรา คอรัปชั่นช่วยให้เราอบอุ่นและปลอดภัย คอรัปชั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงชนะ” แดนนี่ ดาลตัน โต้ตอบเบนเน็ทท์อย่างเผ็ดร้อน เมื่อถูกกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่พนักงาน

อบอุ่น? ... อาจจะใช่

ปลอดภัย? … หลายคนคงไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้นหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน

2 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

เขียนได้ดีมากๆเลยค่ะ แต่หนูยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้เลย ได้ดูแต่ SAHARA ค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ