วันอังคาร, พฤศจิกายน 07, 2549

The Devil Wears Prada: ร่างทรงนางมาร


ความดีงามถือเป็นปัจจัยสำคัญของหนังหรือละครเมโลดราม่า และตามความเห็นของ ปีเตอร์ บรูกส์ ในหนังสือเรื่อง The Melodramatic Imagination มันคือสิ่งที่มักจะถูกเฉลิมฉลองในฐานะ “พลังแห่งจักรวาลที่แท้จริงและไม่อาจพ่ายแพ้” โดยหลายครั้งมันอาจถูกเก็บกด ครอบงำ หรือกระทั่งบิดเบือน แต่สุดท้ายแล้วความดีงามย่อมสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะได้เสมอ

ปรกติแล้วหญิงสาวคือตัวแทนของความดีงามในละครเมโลดราม่า และคุณสมบัติสำคัญของเธอก็ได้แก่ พรหมจรรย์ แต่ค่านิยม วัฒนธรรม ตลอดจนสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ได้ส่งผลให้สัญลักษณ์แห่งความดีงามในละครหรือหนังเมโลดราม่าเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ซึ่ง เจฟฟ์ เมเยอร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความ The Liberation of Virtue: The Cinema, Melodrama and Lizzie Borden คือ หนังฮิตถล่มทลายเมื่อสิบกว่าปีก่อนเรื่อง Indecent Proposal

ในหนังเรื่องนั้น ไดอาน่า (เดมี่ มัวร์) ภายใต้กรอบทางอารมณ์ที่หนังกำหนดให้คนดู ไม่ได้ถูกกล่าวโทษที่ยอมรับข้อเสนอของมหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่ (โรเบิร์ต เรดฟอร์ด) ในการมีเซ็กซ์กับเขาหนึ่งคืนเพื่อแลกกับเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ ตรงกันข้าม ความรู้สึกแง่ลบของคนดูต่อการตัดสินใจดังกล่าวกลับพุ่งตรงไปยัง เดวิด (วูดดี้ ฮาร์เรลสัน) สามีของเธอ เป็นหลัก เพราะเขาไม่สามารถเรียกคืนความดีงามกลับมาได้เหมือนไดอาน่าหลังวิกฤติการณ์ หนังนำเสนอไดอาน่าในฐานะ “เหยื่อ” โดยตลอด และเธอก็ไม่สมควรได้รับการลงโทษ กระนั้นหากหนังเรื่องนี้ถูกสร้างเมื่อหลายสิบปีก่อน ในยุคที่ production code ยังทรงอิทธิพลในฮอลลีวู้ด ไดอาน่าย่อมจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักหน่วงสำหรับการยอมหลับนอนกับเศรษฐีหนุ่มใหญ่เพื่อเงิน

ตัวแทนความดีงามใน Indecent Proposal หาได้ผูกติดอยู่กับเซ็กซ์หรือพรหมจรรย์ หากแต่เป็นคุณค่าทางจิตใจ (แสดงออกผ่านความรักและโรแมนซ์) ซึ่งกำลังถูกจู่โจมอย่างหนักโดยคุณค่าทางวัตถุ (แสดงออกผ่านความหมกมุ่นของสองสามีภรรยาที่จะมี “บ้านในฝัน”) เงินสวมบทปีศาจร้ายในละครแห่งเมโลดราม่าเรื่องนี้ โดยมีมหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่เป็นร่างทรง

รอยร้าวในชีวิตคู่ของไดอาน่ากับเดวิดจะเลือนหายไปก็ต่อเมื่อพวกเขาตระหนักถึงคุณค่าทางจิตใจ แล้วเมินเฉยต่อคุณค่าทางวัตถุ ดังนั้น เมื่อเงินบาปก้อนดังกล่าวถูกปลดปล่อยไป พวกเขาทั้งสองจึงสามารถกลับมารักกันได้ดังเดิม

เช่นเดียวกับไดอาน่าใน Indecent Proposal แอนดี้ (แอนน์ แฮทธาเวย์) ใน The Devil Wears Prada ก็ดูจะเอาตัวรอดจากการมีเซ็กซ์แบบชั่วข้ามคืนกับ คริสเตียน (ไซมอน เบเกอร์) นักเขียนหนุ่มหล่อเสน่ห์แรง ไปได้แบบไม่บาดเจ็บหรือถูกลงโทษใดๆ เธอไม่รู้สึกผิด และขณะเดียวกัน ตัวหนังก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ที่คนดูควรค่าจะใส่ใจ เธอสามารถกลับมาคืนดีกับ เนท (เอเดรียน เกรเนียร์) แฟนหนุ่มพ่อครัว ได้ก็ต่อเมื่อเธอเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยปีศาจร้ายออกไป แล้วหันมาโอบกอดความดีงามอีกครั้ง

ขั้วตรงกันข้ามในลักษณะเมโลดราม่าของหนังเรื่องนี้ คือ ความงามภายใน กับ ความงามภายนอก ซึ่งคุณสามารถจะครอบครองได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง และจากการตัดสินใจของแอนดี้ในช่วงท้ายเรื่อง หนังก็ดูเหมือนจะช่วยสรุปให้คนดูตระหนักอย่างชัดเจนแล้วว่าเราควรจะเลือกฝ่ายใด

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นฉากที่แอนดี้ยกเสื้อผ้าสวยๆ ที่เธอได้มาจากเทศกาลแฟชั่นในปารีสให้กับ เอมิลี่ (เอมิลี่ บลันท์) หลังเธอหลุดพ้นออกจากด้านมืดมาได้ ราวกับหนังกำลังจะบอกว่า ถ้าคุณใส่ใจกับความรู้สึกของผู้คนรอบข้าง คุณก็ไม่จำเป็น หรือไม่ควรจะแต่งตัวให้ดูดี หรือสวมเสื้อผ้าราคาแพงอีกต่อไป เพราะชีวิตมีทางเลือกให้คุณเพียงสองอย่างเท่านั้น นั่นคือ แอนดี้ หรือ มิแรนด้า (เมอรีล สตรีพ)

เช่นเดียวกับเศรษฐีหนุ่มใหญ่ใน Indecent Proposal มิแรนด้า ใน The Devil Wears Prada เป็นเพียงร่างทรงของความชั่วร้าย ซึ่งหมายรวมถึงความเย้ายวนทั้งหลายอันเป็นเรื่องภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อำนาจ เงิน หรือชื่อเสียง ฉากที่มิแรนด้าเปรียบเทียบแอนดี้กับตัวเธอเองว่ามีอะไรเหมือนๆ กัน ทำให้หญิงสาวตระหนักอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าเธอกำลังสูญเสียตัวตนไปกับความหรูหรา ฟู่ฟ่าของวงการแฟชั่น เธอกำลังขายวิญญาณให้ซาตาน แล้วก้าวเดินไปสู่ตำแหน่งเดียวกับที่มิแรนด้ากำลังยืนอยู่ จนในไม่ช้าเธอก็จะสามารถทำทุกอย่างเพื่อรักษาความรุ่งโรจน์อันฉาบฉวยเหล่านั้นเอาไว้ โดยไม่คำนึงถึงจิตใจของคนอื่นรอบข้าง แบบเดียวกับที่มิแรนด้าทำกับ ไนเจล (สแตนลีย์ ทุคชี่)

แน่นอนว่าท่ามกลางสมรภูมิรบระหว่างธรรมะกับอธรรม สุดท้ายแล้วความดีงามย่อมเป็นฝ่ายชนะเสมอในละครแห่งเมโลดราม่า

แอนดี้ตัดสินใจหวนคืนสู่ความฝันดั้งเดิมของตนอีกครั้งด้วยการโบกมือลานิตยสารรันเวย์และสมัครเป็นนักข่าว ส่วนความรักและโรแมนซ์ของเธอก็ได้รับการฟื้นฟู กอบกู้ หลังจากล่มสลายเป็นการชั่วคราวเนื่องจากอิทธิพลแห่งความเย้ายวนทางวัตถุ พร้อมกันนั้น แอนดี้ก็หันกลับไปสวมเสื้อผ้าเชยๆ แบบเดิมอีกครั้ง (ดังจะเห็นได้จากคำล้อเลียนของเนท ก่อนเธอจะไปสัมภาษณ์งานที่ใหม่) แล้วปลดปล่อยตัวแทนปีศาจร้ายออกจากชีวิต (ยกเสื้อผ้าให้เอมิลี่) เพื่อแลกกับมิตรภาพ ซึ่งเธอเห็นว่ามีความสำคัญมากกว่าหลายเท่า

ทั้งหลายข้างต้น คือ “ความตั้งใจ” ของบทหนังและผู้สร้างที่พยายามจะโน้มนำคนดูให้เห็นตามนั้น แต่หากเราพิจารณาจากผลลัพธ์ที่ปรากฏบนจอ สารัตถะที่ถูกสื่อสารออกมากลับค่อนข้างจะขัดแย้งกันในตัวเองอยู่พอสมควร

กล่าวคือ หนังต้องการจะแสดงให้เห็นว่าวงการแฟชั่นเป็นแค่ความงามฉาบฉวย แฝงไปด้วยความชั่วร้าย การลอบแทงข้างหลัง และการตัดสินคนที่ภายนอก แต่วิธีที่บทโดยรวมให้ความสำคัญกับการทำงานในรันเวย์ของแอนดี้ แล้วนำเสนอชีวิตส่วนอื่นๆ ของเธออย่างขอไปที ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพของเธอกับเพื่อน ความสัมพันธ์ของเธอกับเนท หรือกระทั่งกับพ่อของเธอ ทำให้คนดูไม่รู้สึกถึงความอบอุ่น งดงาม ซึ่งแอนดี้กำลังทอดทิ้งไปเพื่อแลกกับความกลวงโบ๋ของโลกแห่งแฟชั่นและความงามสักเท่าไหร่ (หากเปรียบเทียบกับ Cars แล้ว คุณจะพบว่าหนังการ์ตูนเรื่องล่าสุดของพิกซาร์ประสบความสำเร็จในแง่เมโลดราม่ามากกว่า เมื่อเนื้อหาและการนำเสนอสอดคล้องไปด้วยกันอย่างเหมาะเจาะ ภาพชีวิตในเมืองท่ามกลางชื่อเสียงเงินทองถูกนำเสนอแบบฉาบฉวย รวดเร็ว ส่วนภาพชีวิตอันอบอุ่น เปี่ยมมิตรภาพในเมืองบ้านนอกกลับอ้อยอิ่งและเต็มไปด้วยรายละเอียด เพื่อดึงอารมณ์ร่วมของคนดูอย่างเต็มที่ เมื่อตัวเอกของเรื่องถูกดึงกลับไปยังชีวิตแบบดั้งเดิม แล้วต้องเลือกระหว่างคุณค่าทางวัตถุกับคุณค่าทางจิตใจ)

ตัวอย่างเด่นของการเชิดชูความงามแห่งแฟชั่นในหนัง คือ ฉากที่แอนดี้สลัดเสื้อสเวตเตอร์เชยๆ ของเธอทิ้งแล้วเปลี่ยนมาสวมชุดดีไซเนอร์ราคาแพง โดยได้รับความช่วยเหลือจากไนเจล มองทาจสุดเลิศของหนัง คือ การตัดภาพชุดให้เห็นแอนดี้เดินไปทำงานแต่ละวันด้วยชุดสวยๆ แบบไม่ซ้ำกัน พร้อมเพลงแดนซ์ประกอบแสนสนุกของมาดอนน่า พลังชีวิตชีวาของซีเควนซ์ดังกล่าวเปรียบดังน้ำหวานที่ล่อลวงคนดูให้ลุ่มหลงกับความงามภายนอกแบบเดียวกับแอนดี้

ขณะเดียวกันฉากความสัมพันธ์ระหว่างแอนดี้กับเนท ซึ่งควรจะตราตรึงในความรู้สึกของผู้ชมเพื่อพวกเขาจะได้เรียกร้องโหยหาเมื่อสูญเสียมันไป กลับค่อนข้างจืดชืด ไร้น้ำหนัก ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องยากที่คนดูจะนึกโกรธแอนดี้ เมื่อเธอมาอวยพรวันเกิดของเนทช้า หลังจากความสำเร็จในงานเลี้ยง (เมื่อเธอช่วยเหลือเอมิลี่และได้รับความเชื่อมั่นจากมิแรนด้าเพิ่มขึ้น) แถมตอนขากลับเธอยังต้องจำใจปฏิเสธโอกาสที่คริสเตียนหยิบยื่นให้ในการแนะนำเธอกับนักเขียนชื่อดังอีกด้วย

ที่สำคัญ การเรียกร้องให้คนดูรู้สึกเห็นอกเห็นใจมิแรนด้ายังกลายเป็นดาบสองคม โดยนัยหนึ่งมันอาจช่วยทำให้ตัวละครอย่างมิแรนด้าเปี่ยมมิติมากขึ้น แทนที่จะเป็นนางมารแบนราบ แต่ในอีกนัยหนึ่ง มันกลับดึงความสนใจของคนดูไปจากวิกฤติหลักของแอนดี้ ทำให้เราไม่รู้สึกถึงชัยชนะอันหอมหวานมากเท่าที่ควร เมื่อเธอตัดสินใจสลัดทิ้งมิแรนด้ากลางงานแฟชั่นในปารีส เพราะลึกๆ แล้ว เราส่วนใหญ่ “ชอบ” มิแรนด้า และออกจะเห็นด้วยกับเธอ เมื่อเธอสั่งสอนแอนดี้เรื่องแฟชั่นว่ามันอาจดูฉาบฉวย ว่างเปล่า และไร้สาระ แต่ความจริงแล้วกลับส่งอิทธิพลให้กับผู้หญิงนับร้อยๆ ล้านทั่วโลก

บางที เดวิด แฟรงเกิล ที่เคยมีผลงานกำกับซีรี่ย์อย่าง Sex and The City ซึ่งโด่งดังในแง่อารมณ์ขันพอๆ กับสถานะเครื่องมือกำหนดเทรนด์แฟชั่นใหม่ล่าสุด อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เพอร์เฟ็กต์นักสำหรับการสั่งสอนคนดูเกี่ยวกับความว่างเปล่าไร้สาระของชื่อเสียงและแฟชั่น เพราะแทนที่จะเสียดสี (satirize) ผลงานของเขากลับโอนเอียงไปทางเพิ่มเสน่ห์ (glamorize) ให้กับวงการแฟชั่นเสียมากกว่า

จนสุดท้าย หลายคนจึงอดคิดไม่ได้ว่าตัวหนังกำลังก่นด่าความชั่วร้าย ความงามภายนอก และคุณค่าทางวัตถุ หรือกำลังทำตัวเป็นร่างทรงปีศาจในคราบนักบุญกันแน่

3 ความคิดเห็น:

UAN กล่าวว่า...

--ในที่สุด บล็อกก็กลับมาอัพเดทเสียที เย้ ๆ ๆ

--ชอบประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างความงามภายในและความงามภายนอกในบทความนี้มาก ๆ และทำให้ตัวเองได้ค้นพบว่า ตัวเองคงจะมีแต่ความงามภายนอก เพราะถ้าตัวเองเป็นแอนดี้ และมีสิทธิ์ที่จะเลือกผู้ชายได้ ตัวเองก็จะขอเลือกคริสเตียน (SIMON BAKER) แทนเนท (ADRIAN GRENIER) เพราะเขามีบุคลิกที่เป็น "หนุ่มหล่อในฝัน" ของตัวเองเลย ฮ่า ๆ ๆ

--"เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก" คงจะนำมาใช้อธิบายตัวละครผู้หญิงใน THE DEVIL WEARS PRADA ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะดูเหมือนว่าผู้หญิงในหนังเรื่องนี้ต้องเลือกระหว่าง "หน้าที่การงาน" หรือไม่ก็ "ครอบครัว" โดยถ้าเธอเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เธอก็จะสูญเสียอีกอย่างหนึ่งไป แต่ถ้าเธอไม่เลือกอะไรเลย เธอก็จะไม่ได้อะไรสักอย่าง ไม่มีเสียหรอกที่ผู้หญิงจะสามารถเลือก "หน้าที่การงาน" พร้อมกับ "ครอบครัว" ได้

--ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่า VALENTINO GARAVANI จากห้องเสื้อ VALENTINO จะมาปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้ตอนที่มิแรนด้ากับแอนดี้ไปชมแฟชั่นโชว์ที่ปารีสด้วย แม้จะรู้สึกทึ่งที่ผู้สร้างหนังสามารถเชื้อเชิญดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลกมาปรากฏตัวในหนังได้ แต่ก็รู้สึกน่าเสียดายมาก ๆ ที่ไม่พบการปรากฏตัวของ KARL LAGERFELD (CHANEL) กับ JOHN GALLIANO (CHRISTIAN DIOR) ทั้ง ๆ ที่มีการเอ่ยชื่อดีไซเนอร์สองคนนี้ในหนังอยู่บ่อย ๆ และแฟชั่นโชว์ของทั้ง CHANEL และ CHRISTIAN DIOR ก็ล้วนเป็นไฮไลท์ที่สำคัญของแฟชั่นโชว์ที่ปารีส

VALENTINO ที่ปรากฏตัวใน THE DEVIL WEARS PRADA เคยมาชมงานผ้าไหมไทยที่ลานคำหอม พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ด้วย โดยเขาเป็นแขกรับเชิญของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

UAN กล่าวว่า...

--อ้อ เกือบลืมไป

VALENTINO คนนี้ คือคนเดียวกับที่เคยให้นายแบบสองคนแต่งตัวชุดคาวบอยแล้วเดินจูงมือกันออกมาบนแคทวอร์ค ในช่วงที่ BROKEBACK MOUNTAIN กำลังโด่งดังจากการเข้าชิงออสการ์ด้วย

เข้าไปอ่านข่าวนี้ได้ที่
http://www.gay.com/news/roundups/package.html?sernum=1301&navpath=/channels/style

Riverdale กล่าวว่า...

ประเด็นที่น้อง Black Forrest พูด ก็เป็นตัวอย่างของเมโลดราม่าได้เหมือนกัน คือ คุณสามารถเลือกได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ระหว่างชีวิตส่วนตัวกับหน้าที่การงาน ไม่มีทางที่คุณจะหา "สมดุล" ใดๆ ได้ในชีวิต

ตอนดูหนังเรื่องนี้ ก็รู้สึกอยากให้แอนดี้กลายเป็น bitch แล้วทิ้งเนทมาอยู่กับคริสเตียนแทน เพราะ ไซมอน เบเกอร์ ช่างทรงเสน่ห์เหลือเกิน :) อีกอย่าง หนังทำไมต้องให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียสละอยู่เรื่อยเลย ทำไมมิแรนด้าต้องรู้สึกผิด และถูกลงโทษในความทะเยอทะยานทางอาชีพการงาน หรือนี่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านต่อไปของพวกผู้ชายหัวอนุรักษ์นิยม?