วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 19, 2549

Oscar 2007 (1): รอคอยวันที่ฝันจะเป็นจริง


หลังจาก The Aviator ถูก Million Dollar Baby สอยร่วงไปเมื่อสองปีก่อน หลายคนเริ่มไม่ค่อยแน่ใจว่าผู้กำกับระดับตำนานอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี่ จะมีสิทธิได้ออสการ์ไปเชยชมกับเขาสักตัวบ้างไหมในชาตินี้ (ยกเว้นออสการ์เกียรติยศ ซึ่งคุณลุงคงนอนมาอยู่แล้ว) แต่เหมือนสวรรค์จะเริ่มเป็นใจ เมื่อบรรดาตัวเก็งออสการ์ทั้งหลายในปีนี้พากันล่มปากอ่าวไปทีละรายสองราย ตั้งแต่พวกอาการหนัก (มองไม่เห็นโอกาสเข้าชิงแม้เพียงริบหรี่) อย่าง All the King’s Men ไปจนถึงอาการพอเยียวยา (อาจได้ชิง แต่หวังชนะยาก) อย่าง Flags of Our Fathers

สุดท้ายหนัง “ตลาด” ของสกอร์เซซี่เรื่อง The Departed จึงกลายเป็นผู้นำโด่งในช่วงโค้งแรก

แต่ขนาดหนังที่ว่านอนมาแน่ๆ อย่าง Brokeback Mountain เมื่อปีก่อนก็เคยหน้าแตกชนิดหมอไม่รับเย็บมาแล้ว เพราะฉะนั้นสกอร์เซซี่คงไม่อาจนอนใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหนังอีกหลายเรื่องยังไม่เปิดฉายในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นหนังเพลงตัวเก็งอย่าง Dreamgirls หรือ หนังนัวร์เน้นสไตล์อย่าง The Good German


Dreamgirls เปิดฉายให้นักวิจารณ์ชมในวงจำกัดไปเมื่อคืนก่อน เสียงตอบรับที่ได้มาจากเช้าวันนี้ค่อนข้างดีถึงดีมาก (ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิจารณ์ออนไลน์ เนื่องจากบรรดาสื่อใหญ่ๆ อย่างพวกสิ่งพิมพ์จะยังไม่เขียนถึงมันจนกว่าหนังจะเปิดฉายจริง) เดวิด โพแลนด์ แห่ง Movie City News สนับสนุนหนังอย่างเต็มที่ พร้อมกับประกาศชัดว่าหนัง คือ ตัวเก็งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (แต่รางวัลผู้กำกับคงตกเป็นของ มาร์ติน สกอร์เซซี่) อย่างไรก็ตาม คำชื่นชมของเขาอาจไม่ค่อยน่าเชื่อถือนัก เนื่องจากเมื่อปีก่อนเขาเขียนสับ Brokeback Mountain จนเละ แต่บรรดานักวิจารณ์สื่อใหญ่ๆ ทั้งหลายกลับไม่ยอมกระโจนร่วมหอลงโรงกับเขา แล้วพากันเทรางวัลให้หนังเกย์คาวบอยของอั้งลี่อย่างเป็นเอกฉันท์ ส่วนเมื่อสองปีก่อน เขาก็เคยชื่นชม The Phantom of the Opera ว่าจะกลายเป็นราชาบนเวทีออสการ์ แต่สุดท้ายหนังกลับถูกสวดยับและชวดการเข้าชิงออสการ์สาขาสำคัญๆ แบบครบถ้วน

ในทางตรงกันข้าม เขาเป็นหนึ่งในนักวิจารณ์เพียงไม่กี่คนที่ทายถูกว่า Crash จะได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แม้เขาจะไม่ชอบหนังเรื่องนี้เลยก็ตาม (ส่วนอีกคนที่ทายถูก คือ โรเจอร์ อีเบิร์ต ซึ่งยกย่องให้หนังของ พอล แฮ็กกิส เป็นหนังยอดเยี่ยมแห่งปี)

เจฟฟรีย์ เวลส์ แห่ง Hollywood Elsewhere ชื่นชอบ Dreamgirls ในระดับหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่ามันจะได้ออสการ์สูงสุดไปครอง เขารู้สึกว่าหนังเต็มไปด้วยความตื่นตา โฉ่งฉ่าง แต่ดูเหมือนจะขาด “หัวใจ” ในการดึงคนดูให้รู้สึกร่วมไปกับเรื่องราว นอกจากนั้น เขายังบอกอีกว่ามีหลายคนเห็นด้วยกับเขา และคนหนึ่งที่เขาได้พูดคุยด้วยหลังหนังฉายจบลงถึงขั้นบอกว่ามันอาจไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วยซ้ำ (หมายเหตุ: เวลส์ “เกลียด” Chicago แต่คณะกรรมการออสการ์ดูเหมือนจะเห็นต่างจากเขา)

ทางด้าน ทอม โอ’ นีล แห่ง The Envelope ก็ชื่นชมผลงานกำกับของ บิล คอนดอน อย่างออกนอกหน้า พร้อมทั้งบอกว่ามัน “ดีกว่า” เวอร์ชั่นบรอดเวย์เสียด้วยซ้ำ (เขาบอกว่าหลายคนที่เขาได้พูดคุยด้วยเห็นเช่นเดียวกัน) เพลงใหม่ที่ถูกใส่เพิ่มเข้ามาอย่าง Listen และ I Love You, I Do ช่วยเพิ่มพลังให้หนังได้มากโข (และน่าจะมีโอกาสเข้าชิงออสการ์สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม) แต่ดาวเด่นจริงๆ ของงาน คือ เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ซึ่งถูกกะเก็งมานานว่าจะได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาดาราสมทบหญิง

หลังจากทุกคนได้ดูหนัง ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าบทของเธอเด่นพอจะเข้าชิงในสาขาดารานำ โพแลนด์เห็นว่าเธอดีขนาดสามารถ “ได้” ออสการ์ไปครองไม่ว่าจะเข้าชิงในสาขาสมทบหรือนำ แต่โอ’นีลกลับเห็นว่าเธอควรอยู่ในสาขาสมทบต่อไป (ซึ่งมีโอกาสชนะค่อนข้างสูง) เพราะเธอยังเป็นกระดูกคนละเบอร์กับ เมอรีล สตรีพ และ เฮเลน เมียร์เรน แล้วผลัก บียอนเซ่ เข้าชิงสาขาดารานำ แม้บทจะไม่เด่นเท่า (ซึ่งเธออาจจะหลุดโผได้ง่ายๆ เพราะปีนี้สาขานำหญิงมีการแข่งขันที่เข้มข้นมาก) แต่ทั้งหมดนี้เราจะยกยอดไปพูดถึงใน post หน้า ซึ่งเน้นรางวัลสาขาการแสดง

ต่อไปนี้ คือ รายชื่อภาพยนตร์ที่มีโอกาสถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2007 โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม



ของตาย

The Departed: ทุกอย่างล้วนเข้าทางไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรายได้งดงามบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ คำวิจารณ์เลิศหรู หรือพลังดาราแบบเกินร้อยของดิคาปริโอ + เดมอน + นิโคลสัน + บอลด์วิน + วอห์ลเบิร์ก แต่ที่สำคัญสูงสุด คือ มันเป็นหนังมาเฟียเรื่องแรกในรอบหลายปีของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เจ้าของผลงานคลาสสิกอย่าง Taxi Driver, Raging Bull และ Goodfellas ผู้ยังไม่เคยได้ออสการ์มาครอง!

The Queen: หนังกวาดคำชมจากนักวิจารณ์อย่างเป็นเอกฉันท์ พลังการแสดงของ เฮเลน เมียร์เรน น่าจะช่วยฉุดตัวหนังให้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้เหมือนกับ Capote เมื่อปีก่อน แถมผู้กำกับ สตีเฟน เฟรียส (My Beautiful Laundrette, Dangerous Liaisons, High Fidelity, Mrs. Henderson Presents) ก็ห่างหายจากเวทีออสการ์มานานหลังจากเคยเข้าชิงเมื่อปี 1990 จากหนังนีโอนัวร์ชั้นเยี่ยมเรื่อง The Grifters

Dreamgirls: หนังเพลงตัวเก็ง (The Phantom of the Opera, Rent, The Producers) ตกม้าตายไปหลายเรื่องในช่วงสองสามปีหลังจากกระแส Chicago ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ บิล คอนดอน เรื่องนี้ยังไม่เปิดฉายในวงกว้าง แต่ตัวอย่างความยาว 20 นาทีได้เริ่มปลุกกระแสออสการ์มาตั้งแต่เทศกาลหนังเมืองคานส์ สุดท้ายมันจะลงเอยแบบเดียวกับ Flags of Our Fathers หรือไม่ คงต้องติดตามชมกันต่อไป


เป็นไปได้

Flags of Our Fathers: อาจเป็นมวยคนละรุ่นกับ Million Dollar Baby ในแง่คำวิจารณ์ แต่ก็ไม่ถึงกับขี้ริ้วขี้เหร่เสียทีเดียว ปัญหา คือ ภาพลักษณ์ “ความล้มเหลว” ของหนัง ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความคาดหวังที่สูงลิบลิ่ว และอีกส่วนจากการตอบรับอย่างเย็นชาของคนดูในวงกว้าง (หนังทำเงินเพียง 31 ล้านเหรียญจนถึงขณะนี้) แต่บารมีของ คลินท์ อีสต์วู้ด น่าจะช่วยดึงหนังขึ้นสู่เวทีออสการ์ได้

Little Miss Sunshine: การเป็นหนังตลกเรื่องเดียวท่ามกลางความตาย เลือด และห่ากระสุน ถือเป็นข้อได้เปรียบของหนังเรื่องนี้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจเป็นดาบสองคม เพราะเราทุกคนต่างรู้กันดีว่าออสการ์ตีค่าหนังตลกไว้ต่ำแค่ไหน หนังมีโอกาสสูงในสายนักแสดงสมทบ (อบิเกล เบรสลิน กับ อลัน อาร์กิน) แต่สำหรับปีที่การแข่งขันไม่ค่อยเข้มข้นเช่นนี้ มันอาจเป็นตัวแทน “ขวัญใจมหาชน” แบบเดียวกับ The Sixth Sense

Babel: ไม่รู้ว่าสถานะ “Crash เวอร์ชั่นอาร์ตเฮาส์” ของหนังเรื่องนี้ (ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยนักวิจารณ์กลุ่มหนึ่ง) ถือเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายสำหรับผู้กำกับ อเลฮานโดร กอนซาเลส อินอาร์ริตู (21 Grams, Amores perros) แต่ที่แน่ๆ คือ รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเมืองคานส์นั้นถือเป็นแรงผลักดันชั้นยอด เช่นเดียวกับพลังดาราของ แบรด พิทท์ และ เคท บลันเชตต์ ซึ่งช่วยกันเดินสายโปรโมตหนังอย่างขยันขันแข็ง

The Good German: เป็นอีกเรื่องที่ยังไม่เปิดฉาย แต่ความคาดหวังกลับพุ่งสูงติดเพดานเนื่องจากผู้กำกับมีชื่อว่า สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ส่วนดารานำก็ประกอบไปด้วย จอร์จ “ขวัญใจฮอลลีวู้ด” คลูนี่ย์ และ เคท บลันเชตต์ แถมโปสเตอร์หนังยังทำให้หลายคนอดคิดถึง Casablanca ภาพยนตร์ออสการ์สุดคลาสสิกที่ใครๆ ก็หลงรักไม่ได้ แต่หนังขาวดำที่มีฉากหลังเป็นกรุงเบอร์ลินยุคหลังสงครามเนี่ยนะ? ท่าทางจะขายยาก

World Trade Center: ถ้าต้องให้เลือกหนัง 11 กันยายนเพียงเรื่องเดียว ผลงานของ โอลิเวอร์ สโตน ดูจะมีภาษีมากกว่าผลงานของ พอล กรีนกราส ถึงแม้ว่ามันจะได้คำชมจากนักวิจารณ์ไม่มากเท่าก็ตาม ข้อได้เปรียบสำคัญอยู่ตรงที่หนังเรื่องนี้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครและมีความเป็น “ดราม่า” สูง ส่งผลให้มันได้อารมณ์อบอุ่น ปลอบประโลม แบบที่กรรมการออสการ์ชื่นชอบ


ตัวสอดแทรก

Little Children: การกลับมาของ ท็อดด์ ฟิลด์ (In the Bedroom) ดูจะไม่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างอบอุ่นเหมือนเคย หนังแบ่งนักวิจารณ์ออกเป็นสองซีก คือ ชอบ กับ เกลียด แต่คนที่เหมือนจะเอาตัวรอดไปได้อย่างสวยงาม ได้แก่ เคท วินสเล็ท ซึ่งกลายเป็นตัวเก็งในสาขาดารานำหญิง ถ้าหนังคว้ารางวัลนักวิจารณ์มาครองได้บ้าง โอกาสหวนคืนชีพของหนังในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ยังพอจะมองเห็น

Volver: ถ้า Talk to Her กับ All About My Mother ยังไม่ได้เข้าชิง แล้ว Volver มีหมัดเด็ดตรงไหนหรือ คำตอบ คือ เพเลโนปี ครูซ และความตกต่ำของหนังฮอลลีวู้ด ขณะเดียวกันตัวหนังเองยังได้รับเสียงชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์อีกด้วย ปัญหาอยู่ตรงที่มันเป็นตัวแทนของประเทศสเปนในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอยู่แล้ว กรรมการอาจเห็นควรที่จะมอบรางวัลในสาขานั้นแทน

Bobby: ดาราแทบทุกคนในฮอลลีวู้ดมีส่วนร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้! คุณคงเคยเห็นมาแล้ว (ในกรณีของ Crash) ว่าพลังโหวตของดารามีความสำคัญบนเวทีออสการ์มากแค่ไหน หนังได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างก้ำกึ่ง แต่นั่นคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับกลุ่มคนที่เคยเสนอชื่อ Ghost เข้าชิงหนังยอดเยี่ยม ถ้า Bobby ทำสำเร็จในระดับเดียวกัน มันจะกลายเป็นก้าวกระโดดของผู้กำกับ เอมิลิโอ เอสเตเวส เจ้าของผลงานในอดีตอย่าง Men At Work!

นอกจากสามกลุ่มนี้แล้ว ยังมีหนังอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น


The Pursuit of Happyness หนังให้อารมณ์อบอุ่นนุ่มนวลตามสูตร It’s a Wonderful Life แต่โอกาสหลักน่าจะอยู่ที่ดารานำ วิล สมิธ ซึ่งตอนนี้กำลังมาแรงแซงโค้งทุกคน แม้กระทั่ง ปีเตอร์ โอ’ทูล (Venus)

Notes on a Scandal จูดี้ เดนช์ รับบทนางมาร (ที่ไม่ได้สวมปราดา) แบล็กเมลคุณครูสาว (เคท “ดารายอดขยัน” บลันเชตต์) ซึ่งแอบมีสัมพันธ์สวาทกับลูกศิษย์ เช่นเดียวกับเรื่องแรก หนังมีสิทธิเข้าชิงสาขาดารานำหญิงมากกว่าหนังยอดเยี่ยม

The Good Shepherd ข่าวแว่วมาว่าผู้กำกับ โรเบิร์ต เดอ นีโร ยังตัดต่อหนังไม่เสร็จ แต่ผลงานที่เล่าถึงต้นกำเนิดซีไอเอเรื่องนี้อัดแน่นไปด้วยพลังดาราจนไม่อาจมองข้ามได้

United 93 หนังกวาดคำชมจากนักวิจารณ์สูงสุดในช่วงครึ่งปีแรก แต่ไม่ได้เสียงตอบรับที่อบอุ่นจากคนดูในวงกว้างสักเท่าไหร่ หนังน่าจะมีโอกาสสูงกว่าในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม

การดิ้นเฮือกสุดท้ายของ คลินท์ อีสต์วู้ด

หลังจาก Flags of Our Fathers หล่นวูบจากสถานะตัวเก็งไปยังสถานะลุ้นตัวเกร็ง (ว่าจะติดหนึ่งในห้าหนังยอดเยี่ยมหรือไม่ คล้ายคลึงกับสถานการณ์ของ Munich เมื่อปีกลาย) วอร์เนอร์ บราเธอร์ และ คลินท์ อีสต์วู้ด จึงตัดสินใจเปลี่ยนกำหนดฉาย Letters From Iwo Jima หนัง “แฝดสยาม” ของ Flags of Our Father ซึ่งมีฉากหลังเป็นสงครามเดียวกัน แต่ถ่ายทอดผ่านมุมมองของทหารญี่ปุ่น จากเดิมกำหนดให้เปิดตัวในช่วงต้นเดือนมกราคม มาเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมเพื่อให้หนังมีสิทธิเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

แรกทีเดียวอร์เนอร์ไม่ต้องการให้ Letters From Iwo Jima เข้าฉายในปีนี้เพราะมันอาจจะแย่งสปอร์ตไลท์ไปจาก Flags of Our Father รวมถึงคะแนนโหวตของคณะกรรมการ แต่เมื่อปรากฏว่าลูกรักของพวกเขากำลังเสียท่าจนอาจหลุดโผ บรรดาผู้บริหารจึงคิดได้ว่าพวกเขาไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว

ที่สำคัญ จากปากคำของคนวงใน ส่วนใหญ่ล้วนเห็นด้วยว่า Letters From Iwo Jima มีคุณภาพโดยรวม “ดีกว่า” Flags of Our Fathers แต่ปัญหาสำคัญ คือ มันพูดภาษาญี่ปุ่น และเราทุกคนต่างก็รู้กันดีว่าคณะกรรมการออสการ์เกลียดการอ่านซับไตเติลมากแค่ไหน

Letters From Iwo Jima จะเปิดฉายให้คณะกรรมการลูกโลกทองคำชมในวันที่ 28 พฤศจิกายน และจะถูกดันเข้าชิงในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมเนื่องจากหนังพูดภาษาญี่ปุ่น แต่บนเวทีออสการ์ มันมีสิทธิ์เข้าชิงสาขาใหญ่ๆ ครบถ้วน หากวอร์เนอร์เปิดฉายหนังในสัปดาห์สุดท้ายของปีตามแผน (โดยฉายแบบจำกัดโรงใน แอล.เอ.กับนิวยอร์ก) และหากหนัง “ดีจริง” ดังคำร่ำลือ ส่วนอีกคนที่น่าจะได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ คือ เคน วาตานาเบ้ ซึ่งอาจหลุดไปเข้าชิงในสาขาดารานำชายยอดเยี่ยม
จากการ์ตูนถึงหนังต่างประเทศ

กลุ่มตัวเก็งในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมประกอบไปด้วย Days of Glory (อัลจีเรีย) ของผู้กำกับที่เคยเข้าชิงสาขานี้มาแล้วเมื่อปี 1983 จากเรื่อง Dust of Live หนังเดินสายฉายตามเทศกาลทั่วโลกและได้รับเสียงชื่นชมอย่างท่วมท้น Volver (สเปน) ตัวเก็งว่าจะคว้ารางวัลไปครองในที่สุด เปโดร อัลโมโดวาร์ รับประกันคุณภาพ The Lives of Others (เยอรมัน) เข้าชิงรางวัลสำคัญบนเวที ยูโรเปี้ยน ฟิล์ม อวอร์ด แบบครบถ้วน และกวาดรางวัลออสการ์ของเยอรมันมาครองถึง 7 ตัว


Pan’s Labyrinth (เม็กซิโก) แฟนตาซีปนสยองของ กิลเลอร์โม เดล โทโร (Hellboy) เกี่ยวกับเด็กหญิงที่อาศัยอยู่ในโลกจินตนาการส่วนตัว โดยมีฉากหลังเป็นประเทศสเปนยุคหลังสงคราม Curse of the Golden Flower (จีน) การกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของ กงลี่ กับ จางอี้โหมว แถมยังพ่วงเอา โจวเหวินฟะ และ เจย์ โชว์ มาช่วยเสริมพลังให้ยิ่งใหญ่ขึ้นอีก โซนี่มั่นใจกับกำลังภายในเรื่องนี้มากถึงขั้นคิดจะผลักดันให้กงลี่เข้าชิงออสการ์สาขาดารานำหญิง และจางอี้โหมวในสาขาผู้กำกับ

Black Book (เนเธอร์แลนด์) พอล เวอร์โฮเวน รับประกันความเพี้ยนและความโป๊ เรื่องราวของนักร้องสาวชาวยิวที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านนาซีในประเทศเนเธอร์แลนด์ Water (แคนาดา) ถ้าเป็นเมื่อก่อน หนังเรื่องนี้คงถูกตัดสิทธิ์ไปแล้วเพราะมันไม่ได้ภาษาของประเทศที่ส่งเข้าประกวด แต่เมื่อกรรมการออสการ์เปลี่ยนกฎใหม่ มันจึงกลายเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่จะได้เข้าชิง หนังได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในอเมริกา (ทำเงินมากกว่า Tsotsi เล็กน้อย) เล่าถึงเรื่องราวของกลุ่มแม่ม่ายวัยสาวในประเทศอินเดียช่วงที่ คานธี เริ่มกลายเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพล


ในสาขาภาพยนตร์การ์ตูน ดูเหมือนปีนี้เราจะได้เห็นรายชื่อผู้เข้าชิงทั้งหมด 5 เรื่องเป็นครั้งแรกนับจากปี 2003 (Spirited Away, Ice Age, Lilo & Stitch, Spirit: Stallion of the Cimarron, Treasure Planet) โดยกลุ่มตัวเก็งประกอบไปด้วย Happy Feet (เพนกวินร้องเพลงและเต้นระบำ), Cars (รถพูดได้), Over the Hedge (สัตว์ป่าพูดได้), Ice Age: The Meltdown (สัตว์ป่ายุคน้ำแข็งพูดได้), Flushed Away (สัตว์ดินน้ำมันพูดได้) และ Monster House (บ้านกินคน แต่พูดไม่ได้)

ถึงแม้ปีนี้หนังการ์ตูนจะถูกผลิตออกมาเยอะแยะ (เข้าข่ายพิจารณาทั้งหมด 16 เรื่อง) และหลากหลายวิธี ตั้งแต่การ์ตูนคอมพิวเตอร์กราฟฟิก การ์ตูนวาดมือสองมิติ การ์ตูนยุคใหม่ที่ใช้การระบายสีทับ (A Scanner Darkly ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์) ไปจนถึงการ์ตูนคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่ทำให้ดูเหมือนการ์ตูนดินน้ำมัน แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่กลับไม่มีคุณภาพและจินตนาการในระดับเดียวกับ Finding Nemo หรือ Spirited Away

4 ความคิดเห็น:

black forest กล่าวว่า...

ขอสารภาพว่า ตอนที่ดู THE DEPARTED จบลงปุ๊บ ก็แอบทำนายเอาไว้ในใจปั๊บว่า หน้งเรื่องนี้มีสิทธิ์ลุ้นเข้าชิงออสการ์ไม่สาขาใดก็สาขาหนึ่งแน่ ๆ เพราะรู้สึกว่าหนังดูลงตัวมาก แถมยังมีอารมณ์และบรรยากาศแบบออสก๊าร์ ออสการ์ แต่ก็ไม่กล้าบอกความในใจของตัวเองให้ใครฟังเหมือนกัน เพราะกลัวหน้าแตก ไม่ใช่อะไร ฮ่า ๆ ๆ ๆ ๆ

ความจริงแล้ว ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ อยากให้ประเทศไทยส่ง "ก้านกล้วย" ไปมากกว่า ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังที่ดีที่สุดของประเทศไทยในปีนี้แต่อย่างใด แต่รู้สึกว่ามันฉีกแนวดี แถมหนังเรื่องนี้ก็ยังคว้ารางวัลภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมจากเมืองนอกมาแล้วด้วย ดูน่าลุ้นกว่าอหิงสาตั้งเยอะ

Riverdale กล่าวว่า...

โดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบ The Departed มากเท่าไหร่ ไม่รู้เป็นเพราะได้ดูเวอร์ชั่นฮ่องกงมาก่อนหรือเปล่า แต่ผลงานหลังๆ ของสกอร์เซซี่ไม่ค่อยประทับใจพี่เท่าไหร่เลย แต่หนังดูสนุกดี ตอนท้ายๆ ออกจะเละๆ ไปหน่อย แต่เห็นเพื่อนบอกว่านักวิจารณ์ในเมืองไทยไม่ค่อยกระตือรือร้นกับ The Departed เท่าไหร่ ต่างจากนักวิจารณ์เมืองนอกที่ชอบกันเสียเหลือเกิน แต่ก็มีบางกลุ่มเหมือนกันนะที่ไม่ปลื้ม

ไม่ได้ดูเรื่องอหิงสา เลยพูดไม่ได้ว่ามันดีหรือไม่ เหมาะหรือไม่ แต่เรื่องส่ง/ไม่ส่งหนังเรื่องไหนมันส่งกลิ่นทะแม่งๆ ยังไงไม่รู้ สมาพันธ์มีเรื่องให้ต้องแก้ตัวเยอะมาก

the aesthetics of loneliness กล่าวว่า...

ผมคิดว่า The Departed คือความน่าขายหน้าของฮอลลีวู้ด
และ World Trade Center คือความน่าเบื่อและซ้ำซากของฮอลลีวู้ด
ส่วนหนังเรื่องอื่น ยังบ่ได้ดูเลย มันคงทะยอยเข้าโรงไทยในช่วงเดือนกุมภา-มีนา ปีหน้าละมั้งครับ

Riverdale กล่าวว่า...

รู้สึกว่าเรื่อง World Trade Center จะโดนสับเละในเมืองไทย แต่โดยส่วนตัว ผมไม่ได้รู้สึกเบื่อกับมันมากเท่าไหร่ จริงครับ มัน cliche มากๆ และไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ผมก็ชอบที่มันไม่พยายามจะบีบอารมณ์มากเกินไป (ซึ่งถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์สำหรับผู้กำกับอย่าง โอลิเวอร์ สโตน) และไม่ค่อยพูดถึงประเด็นการเมืองมากนัก (แต่ตอนท้าย เขาก็อดไม่ได้ที่จะเอาสักหน่อย) ที่สำคัญ นักแสดงทุกคนทำหน้าที่กันได้ดีมากๆ และผมก็ชอบทั้ง แม็กกี้ จิลเลนฮาล กับ มาเรีย เบลโล เลยไม่ค่อยจะบ่นเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้เท่าไหร่

แต่ถ้าเทียบกับ United 93 แล้ว หนังยังอ่อนด้อยกว่าเยอะครับ อีกอย่าง หลังจากดูเรื่อง WTC จบแล้ว ผมได้ดู Syriana ต่อ แล้วพบว่าหลังเรื่องหลังพูดถึงปัญหาระดับมหภาคได้ยอดเยี่ยมกว่า ดูแล้วรู้สึกว่า WTC เป็นเหมือนกบในกะลาไปเลย แต่นั่นแหละ จะไปโทษในจุดนั้นคงไม่ได้ เพราะหนังตั้งใจให้มันเป็นปัญหาในระดับแคบมากกว่าจะเป็นการมองมุมกว้าง