วันอังคาร, พฤศจิกายน 21, 2549

สัตว์ประหลาด!: วิญญาณ ความรัก และ เดวิด ลินช์!



ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ดูเหมือนวงการหนังไทยจะยังขาด ‘ตัวตน’ ที่เด่นชัดพอจะสร้าง ‘ที่ทาง’ ในตลาดโลกได้เฉกเช่นหนังเอเชียจากญี่ปุ่น จีน อินเดีย และอิหร่าน ทั้งนี้เนื่องจากโดยส่วนมากแล้วนักทำหนังในเมืองไทยยังเลือกเดินทางตามสายฮอลลีวู้ดและสะท้อนตัวตนในแง่ ‘รูปธรรม’ มากจนเกินไป แทนการค้นหาสไตล์ เนื้อหา หรือการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ เฉพาะตัว กล่าวคือ หนังอย่าง โหมโรง หรือ สุริโยไท อาจสร้างความตื่นตาให้ผู้ชมทั่วโลกได้จากฉากหลังย้อนยุค ดนตรีไทย ตลอดจนประวัติศาสตร์อันแปลกพิสดาร ทว่าหากมองในเชิงศิลปะภาพยนตร์แล้ว พวกมันกลับนำเสนอเพียงสิ่งที่ชาวตะวันตกคุ้นเคย (ในรูปลักษณ์ที่ค่อนข้างห่างไกลจากคำว่าลุ่มลึก) หรือพูดอีกอย่าง คือ ‘สูตรสำเร็จ’ ที่พวกเขาคิดค้นขึ้นและเสพติดต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

ด้วยเหตุนี้เอง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จึงถือเป็นนักสร้างหนังที่เมืองไทยกำลังต้องการ หรืออาจถึงขั้นโหยหา ผลงานของเขาอาจไม่ถูกรสนิยมมวลชน เพราะมันมักจะเข้าถึงได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่เรื่องราว หรืออารมณ์ แต่ส่วนใหญ่มักเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ แนวคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญที่สุด คือ ความกล้าหาญ ทะเยอทะยาน ในการนำเสนอคำถามโดยไม่พยายามจะให้คำตอบ ตลอดจนการแหกกฎวิธีเล่าเรื่องแบบดั้งเดิม

หนังของอภิชาติพงศ์เรียกร้องคนดูให้ต้องทำงานอย่างหนัก ไม่ใช่เพราะเขาผูกพล็อตซับซ้อน หรือสร้างตัวละครเกี่ยวโยงกันมากมาย ตรงกันข้าม พวกมันกลับตกอยู่ในประเภท ‘ไม่มีพล็อต’ และนิยมใช้ตัวละครหลักๆ เพียงสองสามคนเท่านั้น ความ ‘ยาก’ ของหนังอภิชาติพงศ์อยู่ตรงที่มันไม่ชักจูงคนดูให้ ‘รู้สึก’ อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่เล่าเรื่อง ผูกปมตามขนบอันคุ้นเคย ไม่บีบกระตุ้นอารมณ์ แม้บางครั้งพล็อตจะชักจูงให้เป็นไปในทางนั้นได้ไม่ยาก ไม่นิยมอธิบายการกระทำของตัวละคร และเชื่อมโยงชุดเหตุการณ์โดยปราศจากรูปแบบ หรือจุดมุ่งหมายชัดเจน ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้หนังของเขาดู ‘น่าเบื่อ’ สำหรับบางคนและ ‘ไร้เหตุผล’ สำหรับอีกหลายคน

คุณสมบัติหลากหลายข้างต้นปรากฏให้เห็นครบถ้วนทั้งใน สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ผลงานเลื่องชื่อเมื่อสองปีก่อน ซึ่งได้รับการโหวตจากนิตยสาร Village Voice ให้เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่ไม่ได้รับการจัดจำหน่ายในอเมริกา และ สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) ผลงานชิ้นล่าสุด ซึ่งคว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครอง นอกจากนั้น หนังทั้งสองเรื่องยังแบ่งโครงสร้างออกเป็นสองตอนเหมือนกันอีกด้วย ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับกลวิธีเล่าเรื่องแบบคลาสสิก ซึ่งนิยมแบ่งหนังออกเป็นสามองค์ (บทปูพื้น/ การเผชิญหน้า/ บทสรุป คลี่คลาย) ความแตกต่างอยู่ตรงที่การเดินทางจากเมืองเข้าสู่ธรรมชาติของสาวไทยกับหนุ่มพม่าใน สุดเสน่หา ดูเหมือนจะราบรื่นและเป็นเหตุเป็นผลในเชิงเรื่องราวมากกว่าการเดินทางจากเรื่องรักกุ๊กกิ๊กไปยังตำนานป่าเขาใน สัตว์ประหลาด! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหนังเรื่องที่สองจงใจแบ่งแยกครึ่งแรกและครึ่งหลังออกจากกันแบบหักดิบ ด้วยการขึ้นเครดิตนักแสดงนำ (สองคนเดิม) ซ้ำอีกครั้งราวกับเพื่อตอกย้ำให้คนดูตระหนักว่า หนังจะไม่ย้อนกลับไปยังเรื่องราวในครึ่งแรกอีกแล้ว

การเล่าเรื่องในลักษณะดังกล่าวไม่ถือเป็นความแปลกใหม่เสียทีเดียว เนื่องจากผู้กำกับ เดวิด ลินช์ ก็เคยทดลองเล่าเรื่องในรูปแบบคล้ายคลึงกันมาแล้วจากผลงานแนวฟิล์มนัวร์กึ่งเหนือจริงอย่าง Lost Highway และ Mulholland Drive อันที่จริง นอกจากสไตล์การเล่าเรื่องแบบแหกกฎแล้ว สัตว์ประหลาด! ยังส่งกลิ่นอายแบบลินช์ (Lynchian) ในหลากหลายแง่มุมอีกด้วย เริ่มตั้งแต่ประโยคเปิดเรื่อง ซึ่งกล่าวว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีสัตว์ร้ายแฝงอยู่ภายในและเราจำเป็นต้องควบคุมสัตว์นั้นให้เชื่อง ปรัชญาแห่งคำอ้างข้างต้นใกล้เคียงกับหลักแนวคิดทางจิตวิทยาว่าด้วยจิตใต้สำนึก (subconscious) หรือภาวะจิตซึ่งไม่อาจรู้สึกได้เนื่องจากมันซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ อันเป็นประเด็นหลักที่ลินช์มักหวนกลับมาสำรวจซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสองเรื่องข้างต้นและ Twin Peaks: Fire Walk with Me

อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ที่ถูกเก็บกดไว้จะถูกส่งตรงมายังจิตใต้สำนึกและอาจแสดงผลเป็นรูปธรรมผ่านทางความฝัน (ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์ความฝันจึงเป็นหนึ่งในขบวนการบำบัดทางจิต เพื่อใช้ขุดค้นถึงต้นเหตุแท้จริงภายในแห่งปัญหาที่ผู้ป่วยไม่ตระหนักเนื่องจากมันหยั่งรากอยู่ลึกกว่าจิตสำนึก) ซึ่งถือเป็น ‘ทางออก’ ของตัวเอกใน Lost Highway สำหรับหลบหนีจากความจริงอันเจ็บปวด (ฆ่าภรรยาตัวเอง) และ ‘กุญแจ’ เพื่อไขไปทำความเข้าใจสภาพจิตของตัวเอกใน Mulholland Drive (จ้างวานมือปืนมาสังหารอดีตคู่รักเลสเบี้ยน ก่อนจะยิงตัวตายตามด้วยทนความรู้สึกผิดบาปไม่ได้) บ่อยครั้งความฝันมักจะซับซ้อน ยากแก่การตีความเนื่องจากหลายสิ่งถูกอำพรางไว้ด้วยสัญลักษณ์ มีเหตุการณ์วนเวียน ไม่ปะติดปะต่อ เป็นเหตุเป็นผลกันตามสไตล์การเล่าเรื่องทั่วไป และดึงเอาแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงมาสร้างเป็นภาพ

เช่นเดียวกับหนังของ เดวิด ลินช์ สัตว์ประหลาด! เชื้อเชิญให้ผู้ชมตีความเชื่อมโยงเรื่องราวสองส่วนไปตามแต่ประสบการณ์และสติปัญญาของแต่ละคน การเปิดกว้างดังกล่าวก่อให้เกิด ‘ความเป็นไปได้’ มากมายหลายหลาก หนึ่งในนั้น (ตามขนบของลินช์) คือ การมองหนังครึ่งหลังว่าเป็นภาพความฝัน/แฟนตาซีของเก่ง โดยมีจุดเชื่อมโยงยังฉากที่โต้งเดินหายเข้าไปในความมืด อันจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญตลอดช่วงครึ่งหลัง เหตุการณ์ต่อจากนั้นสามารถเรียงลำดับได้ดังนี้ (1) เก่งขับรถมอเตอร์ไซค์ท่องราตรีไปตามเสียงเพลงโรแมนติก (2) เก่งกับนายทหารคนอื่นๆ ขณะเดินทางไปประจำการยังฐานทัพ พร้อมเสียงเพลงซึ่งต่อเนื่องมาจากฉากที่แล้ว (3) โต้งกำลังนอนหลับอยู่บนเตียง ก่อนจะลุกขึ้นมานั่ง และ (4) เก่งเดินเข้ามาในห้องนอนโต้ง ได้ยินเสียงพูดคุยเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดที่ออกล่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน และเปิดดูอัลบั้มรูป

คุณสมบัติของความฝัน ซึ่งเหตุการณ์มักวนเวียน ไม่ปะติดปะต่อกันในเชิงเหตุผล เริ่มตั้งเค้าให้เห็นนับแต่ฉาก (3) และ (4) ซึ่งถูกตัดเข้ามาแบบกะทันหันและปราศจากความต่อเนื่อง แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการเชื่อมโยงฉากระหว่าง (1) กับ (2) ด้วยเสียงเพลงและสไตล์ภาพคล้ายคลึงกันของรถที่กำลังแล่น ก่อนความสับสน งุนงงดังกล่าวจะค่อยๆ พุ่งถึงขีดสุด ขณะหนังดำเนินเหตุการณ์ในป่า เมื่อวัวซึ่งนายทหารเห็นเป็นซากเน่าฟอนเฟะก่อนหน้า กลับเพิ่งมาถูกยิงตายในช่วงท้ายและปลดปล่อยวิญญาณออกจากร่าง เมื่อภาพนายทหารบนต้นไม้ในฉากก่อนหน้ากลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง และเมื่อเสียงเคาะไม้ล่อสัตว์ดังประกอบเข้ามาอีกครั้งอย่างปราศจากต้นตอ

ถ้าเสียงเพลงโรแมนติกในฉาก (1) สะท้อนถึงพลังรักที่กำลังพลุ่งพล่านถึงขีดสุดของเก่ง ซึ่งแม้แต่ภาพกลุ่มนักเลงซ้อมกันบนถนนก็ไม่อาจทำลายอุดมคติดังกล่าวลงได้ แถมมันยังคงเข้มข้นต่อเนื่องไปจนถึงฉาก (2) ซึ่งคนดูจะได้เห็นเก่งนั่งยิ้มอย่างอิ่มเอิบอยู่บนรถท่ามกลางเหล่านายทหารหน้าตาขึงขังทั้งหลาย มันก็คงไม่แปลก หากเขาจะใช้ชีวิตทหารอัน ‘โดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา’ เฝ้าฝันถึงความทรงจำดีๆ เหล่านั้นระหว่างเขากับโต้ง (ฉากถัดมาซึ่งเป็นภาพโต้งในห้องนอนเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์บอกใบ้ว่าหนังกำลังจะเข้าสู่ช่วงแฟนตาซี เช่นเดียวกับภาพเตียงนอนในช็อตเปิดเรื่องของ Mulholland Drive ส่วนอัลบั้มรูปที่โต้งหยิบมาเปิดดู ก่อนจอหนังจะมืดสนิทนั้น ก็ทำหน้าที่คล้ายกล่องสีน้ำเงินในหนังของลินช์สำหรับเชื่อมโยงความจริงกับแฟนตาซีเข้าด้วยกัน) อย่างไรก็ตาม แฟนตาซีของเก่งหาได้หลุดพ้นไปจากชีวิตจริงมากมายนัก เขาและโต้งยังคงรับบทเป็นตัวเอกในแฟนตาซีนี้ ส่วนศพที่ทหารพบเจอในป่าตอนฉากเปิดเรื่องก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับตำนานเสือสมิงที่ออกล่ามนุษย์เป็นเหยื่อ เช่นเดียวกับความเชื่อในเรื่องวิญญาณ ซึ่งได้อิทธิพลมาจากคำพูดของพ่อโต้งในวงอาหารและคำพูดของโต้งเกี่ยวกับการระลึกชาติ

มองเผินๆ การกระโดดข้ามจากครึ่งแรกไปยังครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด! อาจดูกระชากกระชั้น แต่ความจริงแล้ว หากพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียดลึกซึ้งจะพบว่า หนังได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งแฟนตาซีของช่วงครึ่งหลังเอาไว้เกือบตลอดช่วงครึ่งแรก ไม่ว่าจะเป็นฉากคนเปลือยกายเดินข้ามทุ่งในตอนเปิดเรื่อง ฉากโต้งร้องเพลงวนาสวาท ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนการลิปซิงค์อย่างจงใจ ฉากโต้งเลียมือเก่งคล้ายพฤติกรรมของสัตว์ก่อนจะเดินหายเข้าไปในความมืด ฉากป้าสำเริงพาสองหนุ่มมุดเข้าถ้ำ หรือ ฉาก ‘รอยยิ้มปริศนา’ ปนน่าหวาดหวั่นของป้าน้อย (ขณะจุดบุหรี่ให้ลูกค้าในร้าน) และผู้ชายที่เก่งพูดคุยด้วยในห้องน้ำ ซึ่งทำให้คุณสามารถนึกเชื่อมโยงไปถึงตัวละครอันน่าพรั่นพรึงในหนังทั้งสามเรื่องของลินช์ได้ไม่ยาก ฉากเหล่านี้สร้างความรู้สึกขัดแย้ง แปลกแยก กับสไตล์การนำเสนอในรูปแบบกึ่งสารคดีของหนังครึ่งแรก (ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตประจำวันในชนบท สภาพตัวเมืองอันขวักไขว่ไปด้วยผู้คน และขั้นตอนการทำงานในโรงน้ำแข็งอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนั้น ผู้สร้างยังใช้วิธีเน้นเสียงประกอบให้ดังจนเกือบจะกลบบทสนทนาของตัวละครเพื่อลดทอนการปรุงแต่งทางภาพยนตร์ให้น้อยที่สุดอีกด้วย) แต่ขณะเดียวกัน พวกมันก็เป็นตัวช่วยสร้างความกลมกลืนให้กับการส่งช่วงต่อไปยังหนังครึ่งหลัง ซึ่งนำเสนอในรูปแบบของแฟนตาซี ผ่านฉากชะนีสื่อสารกับคน การขึ้นตัวหนังสืออธิบายฉาก ตลอดจนความคิดของตัวละคร การใช้ภาพวาดช่วยเสริมการเล่าเรื่องและเทคนิคพิเศษด้านภาพ

แฟนตาซีในช่วงครึ่งหลังเปรียบเสมือนการนำเอาเรื่องราวในช่วงครึ่งแรก (ซึ่งยังค้างคาอยู่) มาเล่าใหม่ในเชิงสัญลักษณ์พร้อมบทสรุปที่ชัดเจนขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง เก่ง ผู้มีอาวุโสกว่า มีการศึกษา และเป็นฝ่ายเริ่มจีบก่อน จึงรับบทเป็นนายทหารที่ออก ‘ตามล่า’ เสือสมิง ส่วนโต้ง ผู้ไม่รู้หนังสือและขับรถไม่เป็น ก็รับบทเป็นฝ่าย ‘ถูกล่า’ (รสนิยมทางเพศอันคลุมเครือของโต้งในฉากที่เขาจ้องมองผู้หญิงบนรถสองแถวดูเหมือนจะช่วยเพิ่มเหตุผลให้แก่การสวมบทบาทผู้ล่ากับผู้ถูกล่าในช่วงครึ่งหลัง) แต่ไม่นานนายทหารกลับรู้สึก ‘แปลกในใจ ‘ หลังจากเขากอดรัดฟัดเหวี่ยงกับสัตว์ประหลาดและถูกผลัก ‘ตกลง’ จากหน้าผา ดุจความรักรุนแรงที่เริ่มเกาะกุมจิตใจเก่ง จนทำให้เขาสูญเสียความควบคุม ความเป็นตัวของตัวเอง ทางออกเดียวที่ชะนีแนะนำกับนายทหาร คือ ต้องฆ่ามันเสีย หรือไม่ก็ยอมให้มันกินเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโลกมัน เช่นเดียวกัน เก่งก็มีทางเลือกที่จะปฏิเสธความรู้สึกนั้น หรือยอมสูญเสีย ‘ตัวตน’ แล้วปลดปล่อยวิญญาณไปตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ ระหว่างฉากการเผชิญหน้าในตอนท้าย นายทหารได้ตัดสินใจเลือกอย่างหลัง (“สัตว์ประหลาด เราให้ท่าน... วิญญาณ... เนื้อ... ความทรงจำ”) จากนั้น เสียงบรรยายก็เอ่ยอ้างถึงเพลงแห่งความสุข ‘ของเรา’ และท่ามกลางเสียงลมพัด เสียงใบไม้ไหว เสียงป่าในยามรัตติกาล ก็ปรากฏเสียงมอเตอร์ไซค์ดังแทรกขึ้นมา... เสียงมอเตอร์ไซค์ของเก่ง ขณะขี่จากโต้งมาในคืนนั้น ด้วยหัวใจอันพองโตไปด้วยความรัก...

ถึงแม้จะได้รับการยอมรับจากชาวตะวันตกเป็นส่วนใหญ่และมักถูกคนไทยหลายคนตราหน้าว่าทำหนังให้ฝรั่งดู แต่ความจริงแล้วผลงานหนังของอภิชาติพงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์ประหลาด! กลับสะท้อน ‘ความเป็นไทย’ ร่วมสมัยได้อย่างลุ่มลึกภายใต้ขอบเขตของเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘การกลืนกิน’ และ ‘การไล่ล่า’ ระหว่างสองสิ่งที่เหมือนจะต่างกันสุดขั้ว แต่กลับสามารถกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันได้

ถ้าหนังช่วงครึ่งหลังเกี่ยวกับตำนานเสือสมิงสะท้อนถึงความเป็นไทยในแบบดั้งเดิม หนังช่วงครึ่งแรกเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวรักร่วมเพศก็เปรียบเสมือนภาพสะท้อนสังคมไทยร่วมสมัยที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เทคโนโลยี และภาวะโลกาภิวัฒน์มาอย่างเต็มที่ คงด้วยเหตุนี้เอง หนังในช่วงครึ่งแรกจึงเต็มไปด้วยฉากหลังอย่างร้านอินเตอร์เน็ท โรงสนุ๊ก โรงหนัง ห้างฯ บิ๊กซี และลานออกกำลังกายซึ่งครูสอนเต้นแอโรบิกชายแอบโบกมือทักทายเก่งอย่างมีเลศนัย (คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าวัฒนธรรมเกย์ คือ หนึ่งในสินค้านำเข้ายุคใหม่จากตะวันตกที่แอบคืบคลานเข้ามาแฝงตัวอยู่ในสังคมไทยอย่างแนบเนียน จนเริ่มปรากฏเด่นชัดและกลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดาในสายตาของคนทั่วไปมากขึ้น) แต่ท่ามกลางสภาพเมืองอันวุ่นวาย ทันสมัย ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ สิ่งหนึ่งซึ่งยังคงแฝงตัวอยู่ในเบื้องลึก คือ ความเชื่อและรูปลักษณ์ดั้งเดิมแห่งสังคมไทยที่ไม่ได้จางหายไปไหนดุจจิตใต้สำนึก ด้วยเหตุนี้เอง คนดูจึงได้เห็นผู้ชายสองคนจีบกันผ่านบทสนทนาเกี่ยวกับการดูลายมือและการระลึกชาติ ได้เห็นป้าสำเริงเล่าถึงตำนานเณรน้อย พร้อมทั้งเชื่อมโยงมันเข้ากับเกมเศรษฐี (Who Wants to be a Millionaire?) ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ได้เห็นพระพุทธรูปในถ้ำประดับประดาด้วยดวงไฟระยิบระยับและเพลงคริสต์มาส ได้เห็นป้าน้อย ซึ่งเปิดร้านขายของชำจนร่ำรวยขนาดส่งลูกชายไปเรียนเมืองนอกได้ หยิบปลัดขิกออกมาโชว์เก่งกับโต้งด้วยเชื่อว่ามันเป็นเครื่องลางช่วยให้กิจการของเธอรุ่งเรือง ได้ฟังเพลงประกอบเป็นดนตรีป็อปร่วมสมัยควบคู่ไปกับเพลงเก่าหลงยุคอย่างวนาสวาท ได้เห็นหนึ่งในทีมหมอประจำโรงพยาบาลแนะนำโต้งให้ลองใช้หลักชีวจิตรักษาหมาเป็นโรคมะเร็งของเขา และได้เห็นหนังที่ผสมผสานเรื่องราวความรักชาวเกย์เข้ากับตำนานโบราณเกี่ยวกับเสือผีได้อย่างกลมกลืน

บางทีเราอาจพูดได้ว่า นั่นคือ ‘ตัวตน’ แท้จริงของสังคมไทยในปัจจุบัน และการที่หนังเรื่อง สัตว์ประหลาด! เข้าใจพอจะสะท้อนมันออกมาผ่านรูปแบบการเล่าเรื่อง ตลอดจนรายละเอียดอันลุ่มลึกรอบข้าง แทนการหมกมุ่นอยู่กับอดีตหอมหวานที่ไม่มีวันหวนคืนและ ‘ความเป็นไทย’ เพียงเปลือกนอก จึงส่งผลให้มันประสบความสำเร็จในการสร้าง ‘ที่ทาง’ ให้แก่วงการหนังไทยในตลาดโลก

1 ความคิดเห็น:

Dr. Nattavud Pimpa กล่าวว่า...

This is by far the best analysis and critique of tropical malady. Thank you indeed.