วันจันทร์, ธันวาคม 18, 2549

ออสการ์ 2007 (3): คำพิพากษาของนักวิจารณ์


ช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์สามารถเปลี่ยนแปลงกระแสออสการ์ได้อย่างคาดไม่ถึง หลังคลื่นรางวัลของเหล่านักวิจารณ์โหมกระหน่ำซัดสาดมาระลอกใหญ่ จากนี้ไป ทิศทางของ “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม” จะถูกกำหนดโดยคลื่นลูกที่สอง นั่นคือ รางวัลของบรรดาสมาพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะทยอยกันประกาศในช่วงกลางเดือนมกราคมจนถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พวกมันถือเป็นเสาหลักในการคาดเดาออสการ์ที่แน่นอนกว่ารางวัลของพวกนักวิจารณ์ทั้งหลาย เนื่องจากสมาชิกของเหล่าสมาพันธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคณะกรรมการออสการ์ด้วย

หนังสองเรื่องที่ได้พลังกระตุ้นชั้นยอดจากเหล่านักวิจารณ์ คือ Letters From Iwo Jima และ United 93 เรื่องแรกดูเหมือนกำลังจะดำเนินรอยตาม Million Dollar Baby อย่างน่าหวาดหวั่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี่) มันซุ่มโจมตีแบบกองโจร จนเล่นเอากระแส The Departed และ Dreamgirls แตกพ่ายแบบไม่เป็นกระบวนท่า

ผลงานสะท้อนความเลวร้ายของสงครามเรื่องที่สองของ คลินท์ อีสต์วู้ด เดินหน้าโกยคำชมจากเหล่านักวิจารณ์อย่างถ้วนทั่ว แม้กระทั่งจากกลุ่มคนที่เคยกล่าวหาด่าทอ Flag of Our Fathers อย่างเสียๆ หายๆ มาแล้ว เหตุสำคัญคงเป็นเพราะ Letters From Iwo Jima มีความเป็นดราม่าสูงกว่า หนังเน้นเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักๆ เพียงไม่กี่คน แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของพวกเขา หลักการของพวกเขา และทางเลือกของพวกเขา ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักในสถานการณ์หลังชนฝา เมื่อกองทัพอเมริกันบุกขึ้นฝั่งด้วยปริมาณทหารที่มากมายกว่าหลายเท่าตัว แน่นอน หนังกรุ่นกลิ่นความเศร้า ความโดดเดี่ยว ความว่างเปล่า และความมืดหม่นในระดับเดียวกับผลงานก่อนหน้าอีกหลายเรื่องของอีสต์วู้ด ทุกอย่างดูจะคืบคลานไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้า (นั่นคือสาเหตุว่าทำไมหลายคนจึงนิยามหนังเรื่องนี้ว่ามีความเป็นอาร์ตเฮาส์ค่อนข้างสูง) เช่นเดียวกับสภาวะจริงในสนามรบ ซึ่งเหล่าทหารต้องใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการรอคอย จ้องมองท้องฟ้า พลางนึกถึงชะตากรรมเบื้องหน้าที่รอพวกเขาอยู่

อย่างไรก็ตาม โอกาสคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์ของ Letters From Iwo Jima อาจค่อนข้างตีบตัน เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นหนังที่พูดภาษาญี่ปุ่นทั้งเรื่อง และเราทุกคนต่างรู้กันดีว่าคณะกรรมการออสการ์นั้นไม่ปลื้มซับไตเติล จริงอยู่ พวกเขายินดีจะเสนอชื่อหนังเหล่านี้เข้าชิงรางวัลใหญ่ เช่น Il Postino และ Life is Beautiful แต่การจะมอบรางวัลใหญ่ให้ไปเลยนั้นถือเป็นอีกเรื่อง แม้ตัวผู้กำกับจะเป็นคนระดับตำนานของฮอลลีวู้ดก็ตาม

สองคนที่รับผลพลอยได้ไปเต็มๆ จากการฟื้นคืนชีพของปู่คลิ้นท์ คือ เคน วาทานาเบ้ ซึ่งดูจะมีโอกาสเข้าชิงออสการ์สาขาดารานำชายค่อนข้างสูง กับ นิโนะมิยะ คาซึนาริ ซึ่งหลายคนบอกว่าเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของ Letters From Iwo Jima และสามารถคว้าหัวใจคนดูไปครองอย่างอยู่หมัด แต่เขาอาจจะเสียเปรียบวาทานาเบ้ตรงที่ยัง “โนเนม” ในตลาดโลก (ทว่าคงไม่ใช่สำหรับแฟนเพลงเจป็อปทั้งหลาย เพราะ “นิโนะ” คือหนึ่งในสมาชิกวงอาราชิ) แถมสาขาดาราสมทบชายก็อัดแน่นไปด้วยบรรดาเขี้ยวลากดินทั้งหลายอย่าง เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์, แจ๊ค นิโคลสัน, แบรด พิทท์ และมือใหม่ที่น่าจะได้ตีตั๋วไปงานออสการ์ค่อนข้างแน่อย่าง ไมเคิล ชีน ซึ่งเรียกคะแนนนิยมได้อย่างท่วมท้นจากการเดินสายโปรโมต The Queen เมื่อเดือนก่อน

แรงสนับสนุนจากเหล่านักวิจารณ์ได้ช่วยชุบชีวิตให้กับ United 93 แต่จะเพียงพอสำหรับผลักดันให้มันขึ้นไปยืนแกร่งบนเวทีออสการ์ควบคู่กับกลุ่มตัวเก็งในตอนนี้อย่าง Dreamgirls, The Departed, Letters From Iwo Jima และ The Queen หรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องที่น่าคิด ทั้งนี้เพราะมันจะต้องแย่งชิงตำแหน่งกับคู่แข่งสุดหินอย่าง Little Miss Sunshine หนังอินดี้ขวัญใจมหาชนและนักวิจารณ์ ซึ่งน่าจะได้แรงสนับสนุนจากเหล่านักแสดง (กลุ่มกรรมการออสการ์ที่ใหญ่ที่สุด) มากกว่าเมื่อเทียบกับ United 93 ที่เต็มไปด้วยดาราสมัครเล่น แม้ว่าพวกเขาจะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมก็ตาม

ความเป็นไปได้สูงสุดในตอนนี้ คือ Little Miss Sunshine น่าจะเบียดเข้าโค้งในช่วงสุดท้ายได้สำเร็จ แต่สองผู้กำกับ คือ โจนาธาน เดย์ตัน และ วาเลอรี ฟาริส อาจชวดการเข้าชิงในสาขาผู้กำกับ แล้วโดนแทนที่โดย พอล กรีนกราส ซึ่งถือได้ว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะ United 93 เป็นหนังที่โชว์ให้เห็นพรสวรรค์ ตลอดจนทักษะอันไร้เทียมทานของกรีนกราสแบบหมดจด ทั้งการกำกับอารมณ์คนดูจากตื่นเต้น ระทึกขวัญ ไปเป็นซาบซึ้ง สะเทือนใจอย่างน่าอัศจรรย์ และการเล่าเรื่องราวหลายเหตุการณ์พร้อมกันโดยไม่สับสน แถมยังชวนติดตามอย่างยิ่ง

คำจำกัดความที่คล้ายคลึงกันอาจนำมาใช้ได้กับหนังอย่าง The Departed ด้วย ฉะนั้น เราจึงได้เห็นเหล่านักวิจารณ์จำนวนมากสนับสนุน มาร์ติน สกอร์เซซี่ ด้วยการมอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้เขา แต่กลับยกรางวัลใหญ่สุดไปให้หนังเรื่องอื่นแทน โดยสามสถาบันที่ทำเช่นนั้น ได้แก่ NBR, NYFCC และ WAFC สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาต้องการกระจายรางวัลให้ถ้วนทั่ว อีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาบางคน “มีปัญหา” กับ The Departed (NYFCC มอบรางวัลสูงสุดให้ United 93 ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเลือกอันดับหนึ่งในใบลงคะแนนของสมาชิกส่วนใหญ่ แต่หนังได้คะแนนสูงสุดจากการโหวตครั้งที่ห้า เนื่องจากมันได้รับเสียงต่อต้านจากผู้ลงคะแนนบางคนน้อยกว่า The Queen และ The Departed)

หรือบางทีทั้งหมดอาจเป็นเพียงความพยายามที่จะส่งสารเตือนกรรมการออสการ์ว่าปีนี้พวกคุณไม่ควรทำพลาดซ้ำอีกครั้ง!

กระนั้น ลางร้ายของ The Departed ก็เริ่มปรากฏให้เห็นประปราย เช่น มันถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิงจาก LAFCA (หนังรองชนะเลิศของพวกเขา คือ The Queen ส่วนผู้กำกับรองชนะเลิศ คือ คลินท์ อีสต์วู้ด) แถมสุดท้าย AFI ยังไม่รวม The Departed เป็นหนึ่งในสิบหนังยอดเยี่ยมแห่งปีอีกด้วย แต่กลับโยนตำแหน่งดังกล่าวให้หนังอย่าง The Devil Wears Prada, Borat, Inside Man และ Happy Feet!!

หากพิจารณาตามสถิติแล้ว นั่นถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย เพราะนับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา รายชื่อสิบหนังยอดเยี่ยมของ AFI จะมีหนังชนะรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรวมอยู่ด้วยทุกครั้ง แม้กระทั่ง Gladiator, A Beautiful Mind และ Crash ข้อน่าสังเกตอีกประการ คือ AFI มีชื่อ Dreamgirls ติดหนึ่งในสิบด้วย แม้ว่าบรรดาสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลายจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับหนังเรื่องนี้เท่าใดนัก นอกเหนือจากในสาขาดาราสมทบหญิง... เป็นไปได้ไหมว่าออสการ์ปีนี้อาจเป็นการชิงชัยระหว่าง Dreamgirls กับ Letters From Iwo Jima แทนที่จะเป็น Dreamgirls กับ Flag of Our Fathers หรือ Dreamgirls กับ The Departed อย่างที่ใครๆ คาดเดากันในช่วงแรกของการแข่งขัน

ขณะที่ United 93 พุ่งทะยานขึ้นสู่เพดาน หนังอีกเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 11 กันยายน คือ World Trade Center ของ โอลิเวอร์ สโตน กลับดำดิ่งลงสู่หุบเหวแห่งการถูกลืม โดยเพื่อนคู่หูของมันได้แก่ Bobby, The Good German, The Pursuit of Happyness และ The Good Shepherd ซึ่งแม้คำวิจารณ์โดยรวมจะดีกว่าอีกสามเรื่องก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่ดีพอจะสร้างกระแสใดๆ

เสียงตอบรับเย็นชาจากเหล่านักวิจารณ์ต่อหนังกลุ่มนี้ ย่อมส่งผลร้ายไปยังดาราตัวเก็งบางคน โดยเฉพาะ วิล สมิธ ซึ่งเสียรังวัดไปมากโข เมื่อชื่อของเขาไม่ปรากฏให้เห็นแม้แต่เงา กระทั่งในหมวดรองชนะเลิศ แต่ด้วยพลังดาราและเครดิตงดงามก่อนหน้า เขาคงฟันฝ่าบรรดาเสือสิงกระทิงแรดไปเป็นหนึ่งในห้าบนเวทีออสการ์ได้ แต่โอกาสคว้าชัยอาจไม่สู้ดีนัก เมื่อพิจารณาถึงความแรงของ ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ ซึ่งกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาเกือบหมด (ยกเว้นเพียงที่ซานฟรานซิสโก) ส่งผลให้เขากลายเป็นเต็งจ๋าอันดับสองรองจาก เฮเลน เมียร์เรน ซึ่งกวาดรางวัลมาครองแบบไม่เหลือเผื่อใครจริงๆ

มีดาราอยู่สามคนที่ได้รับการชุบชีวิตจากแรงสนับสนุนของนักวิจารณ์ คนแรก คือ ไรอัน กอสลิ่ง (Half Nelson) ซึ่งแม้จะไม่ได้รางวัลใดๆ มาครอง แต่ก็ทำคะแนนมาเป็นอันดับสองใน NYFCC กับ BSFC คนที่สอง คือ ซาชา บารอน โคเฮน (Borat) ซึ่งได้รางวัลดารานำชายยอดเยี่ยมจาก LAFCA กับ SFFCC แต่เนื่องจากเป็นโนเนมและนำแสดงในหนังตลก โอกาสของเขาจึงดูไม่ค่อยสดใสเท่าใดนัก ทั้งสองและ เคน วาทานาเบ้ จะต้องฟาดฟันกันเพื่อแย่งชิงที่ว่างสุดท้ายในสาขาดารานำชาย (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ไม่มีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์จากหนังสองเรื่องเหมือนรางวัลลูกโลกทองคำ และโอกาสที่เขาจะได้เข้าชิงจาก The Departed น่าจะสูงกว่า ถึงแม้ว่าบทใน Blood Diamond จะ “แรง” กว่าก็ตาม)

คนสุดท้าย ซึ่งโผล่ขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยท่ามกลางกระแสรางวัลนักวิจารณ์ คือ แคทเธอรีน โอ’ฮารา จากหนังตลกล้อเลียนเทศกาลแจกรางวัลของฮอลลีวู้ดเรื่อง For Your Consideration แต่ถนนสู่ออสการ์ของเธอหาได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ว่าสาขาดาราสมทบหญิงในปีนี้จะดูเหมือนเปิดกว้าง (ตัวเก็งค่อนข้างแน่นอนในตอนนี้มีเพียง เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน และ เคท แบลนเช็ตต์) โอ’ฮาราได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นๆ อย่างหนูน้อย อบิเกล เบรสลิน (Little Miss Sunshine) สองดาราจาก Babel เอเดรียนา บาร์ราซา กับ รินโกะ คิคูชิ และผู้ช่วยนางมาร เอมิลี่ บลันท์ (The Devil Wears Prada) ตรงที่เธอสั่งสมประสบการณ์และชื่อเสียงมานาน แต่ยังไม่เคยเข้าชิงออสการ์เลยสักครั้ง กระนั้น หนังของเธอกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เมื่อเทียบกับหนังคู่แข่งคนอื่นๆ (Babel กับ Little Miss Sunshine ล้วนมีสิทธิ์ลุ้นเข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยม ส่วน The Devil Wears Prada ก็เป็นหนังฮิตช่วงซัมเมอร์)

การเข้าชิงลูกโลกทองคำสูงสุดประจำปีถึง 7 รางวัลช่วยปลุก Babel ให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังจากเหล่านักวิจารณ์พากันเมินหน้าหนีหนังเรื่องนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ แต่อย่าลืมว่าเมื่อไม่นานมานี้ Cold Mountain ก็เคยเข้าชิงลูกโลกทองคำสูงสุดมาแล้ว และสุดท้ายกลับอกหกไม่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาสำคัญๆ อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม (สาเหตุสำคัญต่อชัยชนะของ Cold Mountain เมื่อสามปีก่อนและ Bobby ในปีนี้บนเวทีลูกโลกทองคำ คือ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ซึ่งมีเส้นสายมากมายในสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮอลลีวู้ด ฉะนั้นเราอาจทึกทักได้เลยว่าหนังรวมดารา แต่ชวดทั้งเงินและกล่องอย่าง Bobby จะไม่ไปปรากฏบนเวทีออสการ์ในสาขาสำคัญๆ ค่อนข้างแน่ อีกอย่างลูกโลกทองคำยังขึ้นชื่อเรื่องบ้าดาราเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พวกเขาต้องการดึงดูดคนดังมาร่วมงาน และนั่นคือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราถึงได้เห็นชื่อของ เบน อัฟเฟล็ก, มาร์ค วอห์ลเบิร์ก, จอห์นนี่ เด็บบ์, เรเน่ เซลเวเกอร์ และ “ดับเบิล” ดิคาปริโอ ในรายชื่อผู้เข้าชิง)

ความแปลกประหลาดอีกอย่างของลูกโลกทองคำ คือ การเสนอชื่อ คลินท์ อีสต์วู้ด ให้เข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Flag of Our Fathers ซึ่งเป็นหนังที่พวกเขาเห็นว่าไม่ดีพอจะติด 1 ใน 5 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชีวิต) การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ บิล คอนดอน ต้องถูกเขี่ยทิ้งตามทฤษฎี “หนังเพลงไม่ต้องใช้ผู้กำกับ” ไปตามระเบียบ เช่นเดียวกัน การเสนอชื่อดิคาปริโอสองครั้งก็ทำร้ายโอกาสของ ไรอัน กอสลิ่ง ซึ่งกำลังต้องการสปอตไลท์สูงสุดเพราะหนังของเขาค่อนข้างอินดี้และไม่มีใครได้ชมกันมากนัก

ถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดเกี่ยวกับตัวเลือกอันน่ากังขา แต่หลายครั้งลูกโลกทองคำก็กล้าเลือกได้อย่างอาจหาญ เช่น เอมิลี่ บลันท์ ในสาขาดาราสมทบหญิง ซึ่งถือได้ว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง แม้โอกาสเข้าชิงออสการ์ของเธอจะยังไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก ทั้งนี้เราคงต้องรอดูรายชื่อผู้เข้าชิงของสมาพันธ์นักแสดงอีกครั้งในช่วงเดือนหน้า แต่สาขานี้ถือได้ว่าเปิดกว้างมากสำหรับม้ามืด...

อย่าลืมว่าสำหรับออสการ์ อะไรก็เป็นไปได้

สรุปตัวเก็งออสการ์

หนัง: The Departed, Dreamgirls, The Queen, Letters From Iwo Jima, Little Miss Sunshine

ตัวสอดแทรก: United 93, Babel, Little Children

ผู้กำกับ: มาร์ติน สกอร์เซซี่ (The Departed), คลินท์ อีสต์วู้ด (Letters From Iwo Jima), บิล คอนดอน (Dreamgirls), สตีเฟ่น เฟียร์ส (The Queen), พอล กรีนกราส (United 93)

ตัวสอดแทรก: อัลฟองโซ คัวรอง (Children of Men), อเลฮานโดร กอนซาเลส อินอาร์ริตู (Babel), กิลเลอโม เดล โทโร (Pan’s Labyrinth)

ดารานำหญิง: เฮเลน เมียร์เรน (The Queen), จูดี้ เดนช์ (Notes on a Scandal), เมอรีล สตรีพ (The Devil Wears Prada), เคท วินสเล็ท (Little Children), เพเนโลปี ครูซ (Volver)

ตัวสอดแทรก: บียอนเซ่ โนวส์ (Dreamgirls), นาโอมิ วัตส์ (The Painted Veil), แอนเน็ท เบนนิ่ง (Running with Scissors)

ดารานำชาย: ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Departed), ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ (The Last King of Scotland), ปีเตอร์ โอ’ทูล (Venus), วิล สมิธ (The Pursuit of Happyness), เคน วาทานาเบ้ (Letters From Iwo Jima)

ตัวสอดแทรก: ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Blood Diamond), ไรอัน กอสลิง (Half Nelson), ซาชา บารอน โคเฮน (Borat)

ดาราสมทบหญิง: เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน (Dreamgirls), เอเดรียนา บาร์ราซา (Babel), เคท แบลนเช็ตต์ (Notes on a Scandal), รินโกะ คิคูชิ (Babel), เอมิลี่ บลันท์ (The Devil Wears Prada)

ตัวสอดแทรก: อบิเกล เบรสลิน (Little Miss Sunshine), เอ็มมา ธอมป์สัน (Stranger Than Fiction), แคทเธอรีน โอ’ฮารา (For Your Consideration)

ดาราสมทบชาย: แจ๊ค นิโคลสัน (The Departed), เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ (Dreamgirls), ไมเคิล ชีน (The Queen), จิมอน ฮอนซู (Blood Diamond), แบรด พิทท์ (Babel)

ตัวสอดแทรก: มาร์ค วอห์ลเบิร์ก (The Departed), อลัน อาร์กินส์ (Little Miss Sunshine), แจ๊คกี้ เอิร์ล ฮาลีย์ (Little Children)

ไม่มีความคิดเห็น: