วันจันทร์, พฤษภาคม 21, 2550

Sweet and Lowdown: แด่รักที่หลุดลอยไป


เอ็มเม็ท เรย์ (ฌอน เพนน์) เป็นมือกีตาร์ผู้เปี่ยมพรสวรรค์มากที่สุดคนหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ แต่เขายังห่างไกลจากคำว่ามืออาชีพในหน้าที่การงาน เสียงดนตรีอันไพเราะเสนาะหู และนิ้วมือที่กรีดไล่ไปตามคอร์ดต่างๆอย่างพริ้วไหวอาจทำให้หลายคนซาบซึ้ง ประทับใจจนหลั่งน้ำตาได้ แต่สำหรับบรรดาเจ้าของบาร์ที่จ้างเขามาเป็นนักดนตรีชูโรงแล้ว เอ็มเม็ท เรย์ คือ ไอ้ตัวแสบที่ชอบ “มาเล่นสาย เมาค้างมาแสดง หรือไม่โผล่หัวมาเลย” เขาหาเงินได้มากมายจากไนท์คลับก่อนจะถลุงมันอย่างรวดเร็วลงขวดเหล้า กับวิถีชีวิตอันฟู่ฟ่าเกินตัว เขาบอกว่าชอบผู้หญิง (ตราบเท่าที่พวกเธอรู้จัก ‘ที่ทาง’ ของตัวเอง) แต่ก็หารายได้พิเศษจากการเป็นแมงดา

ผู้หญิงส่วนใหญ่ทนนิสัยเห็นแก่ตัว ทัศนคติเย่อหยิ่ง หยาบคาย หลงตัวเองแบบสุดโต่ง และพฤติกรรมประหลาดของเขา เช่น นั่งดูรถไฟ หรือ ยิงหนูตามกองขยะ ไม่ค่อยได้ ยกเว้นเพียงแฮตตี้ (ซาแมนธ่า มอร์ตัน) สาวทำงานรับจ้างซักอบรีดผู้อ่อนหวานสมบูรณ์แบบ ซึ่งต่อมาเอ็มเม็ทเองก็หลงไหลในความบริสุทธิ์ น้ำใจงามของเธอไม่แพ้กัน แต่สุดท้ายเขาก็ตัดใจทิ้งเธอไปแบบไม่บอกกล่าวในเช้าวันหนึ่ง โดยอ้างเหตุผล ‘ธรรมชาติแห่งศิลปิน’ ที่ต้องการอิสรภาพ แล้วจับพลัดจับพลูแต่งงานไปกับสาวชั้นสูงแสนสวยที่ตนไม่ได้สิเน่หาลึกซึ้ง (แต่เธอน่าจะดู ‘เหมาะสม’ กับเขามากกว่าแฮตตี้) ส่วนเธอเองก็เห็นเขาเป็นเพียงข้อมูลสำหรับใช้แต่งนิยาย ไม่นานเมื่อชีวิตสมรสล้มเหลว (เธอเป็นชู้กับมือปืนผู้มีชีวิต ‘น่าตื่นเต้นกว่า’ นักดนตรีที่ชอบลักเล็กขโมยน้อย) เอ็มเม็ทจึงพยายามกลับมางอนง้อแฮตตี้อีกครั้ง แม้จะยังไม่วายวางท่าเหมือนไม่ค่อยใส่ใจ แต่เขารู้คุณค่าแห่งรักก็เมื่อมันสายเกินไปเสียแล้ว

เอ็มเม็ท เรย์ อาจเป็นมือกีตาร์ระดับพระกาฬอันดับสองรองจากตำนานเพลงแจ๊สอย่าง แจงโก้ ไรน์ฮาร์ดท์ แต่ในเรื่องชีวิต สัมพันธภาพ หรือ ความรักแล้ว เขา คือ มือสมัครเล่นขนานแท้

Sweet and Lowdown เป็นงานกำกับอันเรียบง่าย ไม่ตึงตังของ วู้ดดี้ อัลเลน ที่หวนไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนสองสามคนอีกครั้ง แนวทางซึ่งเขาทำซ้ำไปมาอยู่หลายรอบในหลากรูปแบบ เรื่องราว หลังจากหลงไหลการรวมดาราอยู่พักใหญ่กับ Everyone Says I Love You, Celebrity และ Deconstructing Harry ขณะเดียวกันธีมทำนองรักหยั่งรากลึกก็ดูจะสอดคล้องกันดีกับตัวหนัง ซึ่งมองอีกนัยหนึ่ง คือ บทสดุดีดนตรีแจ๊สที่อัลเลนหลงไหลมาเนิ่นนาน หลักฐานพิสูจน์ความรักของเขาสามารถหาดูได้จากหนังสารคดีเรื่อง Wild Man Blues

ในแง่เทคนิคอัลเลนพยายามลบเลือนเส้นกั้นระหว่างความจริงกับนิยาย ด้วยการถ่ายทอด Sweet and Lowdown ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นล้วนๆ ออกมาเป็นหนึ่งกึ่งสารคดีเชิงชีวประวัติ โดยบุคลิกและเรื่องราวชีวิตของ เอ็มเม็ท เรย์ ถูกสร้างขึ้นจากการอ้างอิงถึงประวัตินักดนตรีแจ๊สหลายคนช่วงยุค 40 ใช้บุคคลที่มีตัวตนจริงอย่าง แจงโก้ ไรน์ฮาร์ดท มาเป็นตัวละครสำคัญในหนัง (แม้ส่วนใหญ่จะถูกพูดถึงมากกว่าปรากฏตัวบนจอจริงๆ) ประกอบเข้ากับบทสัมภาษณ์อัลเลนเอง และนักศึกษาประวัติดนตรีแจ๊สอย่าง แน็ท เฮนท็อฟฟ์ เล่าเป็นตุเป็นตะราวกับเขาเป็นบุคคลจริง นอกจากนั้นเรื่องราวเชิงตำนานของเอ็มเม็ทยังถูกถ่ายทอดออกมาเหมือนจริงขนาดบางเหตุการณ์ถูกเล่าเป็นสองเวอร์ชั่น บ่งบอกถึงบางช่วงแห่งประวัติศาสตร์ที่สูญหายไป หรือ ขัดแย้งกันเอง

การปะทะกันระหว่างเรื่องจริง กับ มายา เป็นหนึ่งในสาระสำคัญที่อัลเลนพยายามนำเสนอเรื่อยมา อย่างแรกเต็มไปด้วยอุปสรรค ขวากหนาม ความไม่ลงตัว ไม่จิรัง ไม่สมหวัง (หนังของเขามักจะพูดถึงวิกฤติแห่งความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักอยู่บ่อยครั้ง) ส่วนอย่างหลังกลับหอมหวาน น่าลิ้มลอง ทำให้หลายครั้งตัวเอกในหนังของเขาอย่าง The Purple Rose of Cairo หรือ Alice พยายามหลีกหนีชีวิตจริงอันเจ็บปวดไปสู่ภาพมายาอันน่าตื่นเต้น ก่อนสุดท้ายพวกเธอจะค้นพบว่าความสุข สนุกสนานเหล่านั้นมันไม่ยั่งยืน ความเจ็บปวดแห่งชีวิตต่างหากที่เราทุกคนไม่อาจหลีกหนีได้พ้น

เชื่อว่านัยหนึ่งของการนำเสนอ Sweet and Lowdown ในลักษณะคล้ายคลึงสารคดีนอกจากจะเพื่อสะท้อนความเป็นสิงห์เพลงแจ๊สของอัลเลนแล้ว ยังทำให้เนื้อเรื่องของเขาชวนสะเทือนใจยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันตัวหนังเองก็ยังสะท้อนแนวคิดตรงกันข้ามระหว่างมายา กับความจริงข้างต้นออกมาผ่านสองตัวเอกอีกด้วย บุคลิกของเอ็มเม็ทกับแฮ็ตตี้แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน (ตามที่ชื่อหนังบ่งบอก) ซึ่งบางทีอาจเป็นที่มาแห่งแรงดึงดูด (ส่วนสาเหตุสำคัญที่เอ็มเม็ทกับบลานช์ (อูม่า เธอร์แมน) ไปกันไม่รอดก็เพราะทั้งสองหลงตัวเองมากพอๆกัน) ความรักอันมั่นคง ใสสะอาดของแฮตตี้ทำให้ผู้ชายแข็งกระด้างอย่างเอ็มเม็ทได้เรียนรู้ที่จะคิดถึงจิตใจ ความรู้สึกของคนอื่น ช่วงเวลาที่พวกเขาอยู่ร่วมกันทำให้เอ็มเม็ทตระหนักเป็นครั้งแรกว่าไม่ได้มีเพียงเสียงดนตรีเท่านั้นที่งดงาม ไร้ที่ติบนโลกใบนี้ เพราะความรักที่เธอมีให้แก่เขานั้นก็ยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การสดุดีไม่แพ้กัน แต่ก็เช่นเดียวกับภาพมายาทั้งหลาย รักแท้ของแฮตตี้ไม่ได้ยั่งยืนนิรันดรเพื่อรอวันที่เอ็มเม็ทจะ ‘เข้าใจ’ เพราะวันนั้นอาจจะมาไม่ถึงเลยก็ได้ ฉากที่เขาหวนมาหาเธอในช่วงท้ายเรื่องแล้วพบกับข่าวไม่คาดฝันจากแฮตตี้ คือ บทพิสูจน์ว่าเหตุใด ฌอน เพนน์ กับ ซาแมนธ่า มอร์ตัน จึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ทั้งคู่ ทุกครั้งที่พวกเขาแสดงร่วมกันบนจอก็จะทำให้หนังมีเสน่ห์เฉพาะตัวขึ้นมาอย่างประหลาด และดึงอารมณ์คนดูให้รู้สึกร่วมกับตัวละครอย่างได้ผลเต็มเปี่ยม

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนหน้าหนาหูเมื่อครั้งที่ Sweet and Lowdown ออกฉายในอเมริกาว่า การที่ วู้ดดี้ อัลเลน เขียนบทให้แฮตตี้เป็นใบ้ก็เพื่อสะท้อนบุคลิกผู้หญิงในอุดมคติของเขาเอง แน่นอนว่าข้อสังเกตดังกล่าวย่อมได้รับเสียงปฎิเสธแข็งขันจากอัลเลน ผู้มักจะเถียงมาตลอดว่าหนังของเขาไม่ได้มีความเป็นอัตชีวประวัติมากเท่าที่พวกนักวิจารณ์ตีความกันไปต่างๆ นานา ในความเห็นของผมแล้ว แฮ็ตตี้ ถูก ‘ทำให้’ เป็นใบ้ ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการ คือ เพื่อเธอจะได้สามารถเข้าถึงความงามแห่งเสียงดนตรีของเอ็มเม็ทได้มากขึ้น และสอง คือ เพื่อล้อเลียนให้เห็นว่าผู้ชายอย่างเอ็มเม็ทนั้นคู่ควรกับผู้หญิงเป็นใบ้มากที่สุด เพราะเธอสามารถรับมือกับพฤติกรรมหยาบกระด้างของเขาได้โดยไม่ปริปากพูดสักแอะ ซึ่งทั้งหมดอธิบายสาเหตุแห่งรักระหว่างเขาและเธอได้ครบถ้วนอย่างเรียบง่ายพอเหมาะพอดี

อันที่จริงแล้วบุคลิกของ เอ็มเม็ท เรย์ ค่อนข้างแตกต่างจากตัวเอกในหนังของอัลเลนส่วนใหญ่ (ที่มักจะรับบทโดยตัวเขาเอง หรือให้ดาราคนอื่นมาแสดงแทน เช่น จอห์น คูแซ็ค ใน Bullets Over Broadway หรือ เคนเน็ธ บรานาห์ ใน Celebrity) เขาไม่ได้เป็นปัญญาชนประสาทเสีย ที่ดูไม่มั่นใจ และหวาดวิตกไปกับทุกเรื่อง ตรงกันข้ามเอ็มเม็ทเป็นนักดนตรีประเภทที่พูดชมเพื่อนนักดนตรีหลังการบันทึกเสียงว่า “เล่นได้ดีมากทุกคน โดยเฉพาะฉัน” เขาอาจจะสติแตกบ้างเป็นครั้งคราวโดยเฉพาะเมื่อพูดถึง แจงโก้ ไรน์ฮาร์ดท์ เช่น ในฉากที่ถูกเพื่อนอำว่าไรน์ฮาร์ดท์มาปรากฏตัวอยู่ในไนท์คลับก่อนหน้าการแสดง แต่ส่วนใหญ่แล้วเอ็มเม็ทเป็นผู้ชายขี้โอ่ (ปลอมตัวเข้าไปแสดงในงานโชว์ความสามารถสมัครเล่นของชาวบ้านท้องถิ่น) ไร้ความเป็นสุภาพบุรุษ (ปล่อยให้ผู้หญิงตัวเล็กๆเปลี่ยนล้อรถเพื่อปกป้องมืออันบอบบางของตนโดยไม่แยแส) และบีบบังคับชีวิตให้เป็นเรื่องง่ายด้วยการเก็บความรู้สึกไว้ลึกในใจจนแม้แต่ตัวเขาเองอาจยังไม่รู้ว่าจะหามันเจอได้ที่ใด

กระนั้นเมื่อพิจารณาถึงเรื่องความรักแล้ว โชคของ เอ็มเม็ท เรย์ ก็ไม่ได้ดีไปกว่า อัลวี่ย์ ซิงเกอร์ จากเรื่อง Annie Hall สักเท่าไหร่

ความรู้สึกชวนให้เจ็บแปลบๆในฉากสุดท้ายของ Sweet and Lowdown ทำให้ผมนึกถึงฉากจับกุ้งลงหม้อสุดคลาสสิกของ Annie Hall เมื่อเอ็มเม็ทพาผู้หญิงคนหนึ่งมาดูรถไฟวิ่ง เธอเอาแต่พร่ำบ่นถึงอากาศอันหนาวเหน็บ และแสดงอาการไม่เข้าใจจนน่ารำคาญว่าเหตุใดเขาจึงพาผู้หญิง ‘ดีๆ’ อย่างเธอมาทรมานทรกรรมยังสถานที่เช่นนี้ เสียงดนตรีอันเพราะพริ้งจากกีตาร์ไม่ได้ทำให้เธอประทับใจเหมือนเมื่อครั้งที่เขาเล่นให้แฮตตี้ฟังเป็นครั้งแรก สิ่งที่เคยเป็นมนต์เสน่ห์อันยากต่อต้านกับสาวคนหนึ่ง อาจกลายเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ น่าสมเพชเวทนาสำหรับสาวอีกคนหนึ่ง นาทีที่ฝ่ายหญิงโพล่งขึ้นมาว่าเมื่อไหร่จะพาเธอกลับหลังจากเขาบรรเลงเพลงจบ บ่งชี้ว่าเธอไม่ได้สนใจ หรือซาบซึ้งต่อเสียงดนตรีเมื่อครู่แม้แต่น้อย ทำให้เอ็มเม็ทตระหนักในทันทีว่าเขาได้สูญเสียสิ่งที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ขนาดไหนไป เมื่อนั้นเองพรสวรรค์ซึ่งเขาเคยภูมิใจเป็นนักหนาก็ไม่อาจทดแทนความเศร้าโศกเสียใจได้ เขาหยิบกีตาร์มาฟาดกับเสาจนมันแหลกไม่เหลือชิ้นดี และ (ตามคำบอกเล่า) ค่อยๆหายหน้าหายตาจากวงการเพลงไปอย่างเงียบเชียบ

ในที่สุดชายผู้เคยเห็นตนเองเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลอย่าง เอ็มเม็ท เรย์ ก็เข้าใจว่ารักแท้เป็นเช่นใด แม้มันจะสายเกินกว่าไขว่คว้ารักนั้นกลับมาสู่อ้อมกอดตนอีกครั้งก็ตาม เขาอาจโชคดียิ่งที่ได้ลิ้มลองรักอันงดงามสักครั้งในชีวิต (พิจารณาจากพฤติกรรมอันเลวร้ายทั้งหลายแหล่) แต่การสูญเสียก็สามารถสร้างความรู้สึกเจ็บปวดที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งหมดล้วนพุ่งไปยังแนวคิดหลักของอัลเลนเกี่ยวกับความเจ็บปวด คือ สัจธรรมแห่งชีวิต ส่วนความสุขสมแห่งรัก หรือความสำเร็จนั้นเป็นเพียงภาพมายาชั่วคราวอันไม่คงทนถาวร และการค้นพบรักนั้นช่างง่ายดายกว่าการดำรงสัมพันธภาพให้ยั่งยืนนานหลายเท่าตัว

1 ความคิดเห็น:

NUNAGGIE กล่าวว่า...

ชอบดนตรีประกอบเรื่องนี้่มากๆ เลยค่ะป๋า ฟังไม่รู้เบื่อ :)