วันศุกร์, มิถุนายน 01, 2550

อัตวิสัย ความเป็นหญิง และภาพชัดตื้น




การถ่ายภาพแบบชัดตื้น (shallow focus) เป็นเทคนิคที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในภาพยนตร์ยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ของหว่องกาไว ใครก็ตามที่เคยเรียนการถ่ายภาพมาก่อนคงจะทราบดีว่า ภาพแบบชัดตื้นจะมีขอบเขตความลึก (depth of field) ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้แบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์ขาดความคมชัด โดยปรกติแล้ว การถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างมักจะให้ขอบเขตความลึกค่อนข้างสูง ตรงข้ามกับการถ่ายด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ปริมาณของแสง (การถ่ายทำในสภาพแสงต่ำมักส่งผลให้ได้ภาพชัดตื้น ส่วนการถ่ายทำกลางแจ้งท่ามกลางแสงแดดแผดจ้ามักนำไปสู่ภาพแบบชัดลึก) และขนาดของรูรับแสง (รูรับแสงกว้างจะได้ภาพชัดตื้น ส่วนรูรับแสงแคบจะได้ภาพชัดลึก) เป็นต้น

ในทางภาพยนตร์ ภาพแบบชัดตื้นจะช่วยชี้นำสายตาไปยังจุดที่ผู้สร้างเห็นว่ามีความสำคัญสูงสุดต่อเรื่องราว ณ ขณะนั้น ส่วนใหญ่จะพบเห็นได้ทั่วไปในภาพระยะใกล้ หรือ โคลสอัพ ซึ่งมักเน้นโฟกัสไปยังใบหน้าตัวละคร หรือวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ส่งผลให้แบ็คกราวด์ทั้งหมดเป็นเพียงภาพเบลอ เพื่อขยายความให้ชัดเจนขึ้น เราจะลองมาดูตัวอย่างจากหนังเรื่อง Brokeback Mountain

ช็อตแรกเป็นภาพระยะไกล (long shot) ซึ่งมีขอบเขตความลึกค่อนข้างมาก ส่งผลให้คนดูมองเห็นเหตุการณ์สำคัญสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันแบบชัดเจน นั่นคือ แจ๊ค ทวิสต์ (เจค จิลเลนฮาล) กำลังนอนเป่าหีบเพลง ขณะ เอนนิส เดลมาร์ (ฮีธ เลดเจอร์) กางเต็นท์ พวกเขาล้วนอยู่ในโฟกัส เนื่องจากหนังต้องการให้ผู้ชมเห็นปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างทั้งสอง ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อฉากดังกล่าวในระดับเดียวกัน นอกจากนี้ การจัดองค์ประกอบภาพอันประณีตยังช่วยสะท้อนบุคลิกแตกต่างของทั้งสองคนให้เด่นชัดยิ่งขึ้นอีก นั่นคือ ขณะที่เอนนิส ชายหนุ่มผู้เคร่งขรึม พูดน้อย และขึงขังจริงจัง กำลังยืนจัดเต๊นท์ในแนวตั้ง (vertical) แจ๊ค ชายหนุ่มผู้รักสนุก อ่อนโยน และเป็นมิตร กลับเอาแต่นอนเป่าหีบเพลง (horizontal) อย่างสบายอารมณ์


ช็อตที่สองเป็นตัวอย่างของภาพชัดตื้น ซึ่งกล้องโคลสอัพใบหน้าของแจ๊ค


ช็อตที่สามเป็นภาพโคลสอัพใบหน้าของแจ็คเช่นกัน แต่คราวนี้แบ็คกราวด์กลับมีส่วนสำคัญต่อเรื่องราว หรืออารมณ์ ณ ช่วงเวลานั้น ผู้กำกับ อั้งลี่ เลือกจะถ่ายภาพเอนนิสเปลือยกายแบบหลุดโฟกัส โดยไม่เน้นมันให้เด่นชัด เพียงแค่สื่อเป็นนัย เนื่องจากความสนใจหลักของผู้ชมควรจะพุ่งตรงไปยัง “ปฏิกิริยา” ของแจ็ค ซึ่งอยู่ในโฟกัส และแน่นอนพลังอารมณ์ของฉากดังกล่าวย่อมมลายหายไป หากหนังใช้การตัดภาพเข้ามาแทน


เช่นเดียวกัน ในหนังเกาหลีเรื่อง The Host ผู้กำกับ บองจุนโฮ ใช้ประโยชน์จากภาพแบบชัดตื้นได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ เมื่อเขาพุ่งความสนใจของคนดูไปยังเด็กหญิง ซึ่งยืนอยู่ตรงตำแหน่งที่กล้องโฟกัส ท่ามกลางโฟร์กราวด์เป็นภาพผู้คนวิ่งอลหม่านหนีตาย และแบ็คกราวด์เป็นสัตว์ประหลาด ที่ต่อมาอีกเพียงไม่กี่วินาทีกำลังจะจับเธอไปขังไว้ในท่อระบายน้ำ ช็อตดังกล่าวนอกจากจะเปี่ยมมิติ (ตัวละครเอกอยู่ในมิดเดิลกราวด์) แล้ว มันยังสร้างอารมณ์ลุ้นระทึกได้อย่างยอดเยี่ยม เนื่องจากสัตว์ประหลาดในแบ็คกราวด์ให้ความรู้สึกคุกคาม แต่ไม่ได้โขมยความเด่นไปจากตัวละคร เนื่องจากมันไม่ได้อยู่ในโฟกัสชัดเจน


ตากล้องส่วนใหญ่จะใช้ภาพแบบชัดตื้นในการจัดระเบียบองค์ประกอบภาพ โดยพุ่งโฟกัสไปยังสิ่งสำคัญสุดของช็อตแล้วปล่อยให้แบ็คกราวด์กลายเป็นภาพเบลอ สายตามนุษย์โดยธรรมชาติย่อมถูกดึงดูดไปยังจุดๆ นั้น และไม่ถูกล่อหลอกให้สับสนโดยแบ็คกราวด์ นอกจากนี้ ภาพแบบชัดตื้นยังช่วยสร้างมิติความลึก บอกใบ้ให้คุณทราบว่าสิ่งใดอยู่ใกล้กล้องและสิ่งใดอยู่ห่างจากกล้องออกไป คุณประโยชน์ในการ “ชี้นำ” สายตาของผู้ชมโดยไม่ต้องอาศัยการตัดภาพของภาพแบบชัดตื้นจะปรากฏชัดยิ่งขึ้นในช็อตที่มีการเปลี่ยนโฟกัสจากสิ่งหนึ่งมายังอีกสิ่งหนึ่ง เช่น จากแบ็คกราวด์มาสู่โฟร์กราวด์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่เราเรียกว่า Rack Focus ตัวอย่างชัดเจน คือ ช็อตหนึ่งในหนังเรื่อง Fake โกหก...ทั้งเพ โดยช่วงเริ่มต้นของช็อตโฟกัสจะไปตกอยู่ที่ภาพ โป้ (ลีโอ พุฒ) ขณะยืนอ่านนิตยสารอยู่ที่แผงหนังสือ ส่วนโฟร์กราวด์จะเป็นภาพเบลอของผนังและแผงหนังสือ จากนั้นหนังก็ค่อยๆ เปลี่ยนโฟกัสมายัง นา (พัชราภา ไชยเชื้อ) ซึ่งเดินออกมาจากร้านตรงโฟร์กราวด์ แล้วปล่อยให้โป้กลายเป็นเพียงแบ็คกราวด์หลุดโฟกัส จนกระทั่งเมื่อนาเดินผ่านหน้ากล้องไปแล้ว หนังก็เปลี่ยนโฟกัสกลับไปยังที่โป้อีกครั้ง







ช็อตดังกล่าวมีความสำคัญต่อเรื่องราวค่อนข้างมาก เนื่องจากมันเกิดขึ้นในช่วงต้นเรื่อง เมื่อตัวละครอย่างนายังไม่ถูกแนะนำให้คนดูรู้จักอย่างเป็นทางการ และการเปลี่ยนโฟกัสจากโป้มายังนาแบบฉับพลันก็ช่วยบอกใบ้กับคนดูเป็นนัยๆ ว่าผู้หญิงคนนี้กำลังจะเข้ามามีบทบาท อย่างน้อยที่สุดก็กับตัวละครอย่างโป้ ขณะเดียวกัน เทคนิค Rack Focus ยังช่วยเพิ่มความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างสองตัวละครได้มากกว่าการตัดภาพ แล้วช่วยตอกย้ำธีมเกี่ยวกับโอกาสและความบังเอิญ ซึ่งจะทรงอิทธิพลสูงสุดในเรื่องราวของเป้ (หนังแบ่งคร่าวๆ ออกเป็นสามช่วง เล่าผ่านมุมมองของตัวละครเอกผู้ชายสามคน) ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตามหาผู้หญิงคนที่เขาคิดว่าใช่ (นา) แต่สุดท้ายกลับคลาดกันไปมาบ่อยครั้งในลักษณะเดียวกับ ผู้หญิงเลี้ยวซ้าย ผู้ชายเลี้ยวขวา

อันที่จริง อารมณ์โดยรวมของ Fake ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของเหล่าคนเหงาในเมืองใหญ่ (และถ่ายภาพกรุงเทพได้สวยงามที่สุดเรื่องหนึ่ง) ค่อนข้างใกล้เคียงกับหนังหลายเรื่องของหว่องกาไว (แถม ลีโอ พุฒ ในบางมุมยังดูละม้ายคล้าย เฟย์ หว่อง ใน Chungking Express อย่างน่าประหลาด) และเช่นเดียวกับ Chungking Express, In the Mood for Love หรือ 2046 หนังเรื่อง Fake อัดแน่นไปด้วยภาพแบบชัดตื้น ซึ่งสร้างอารมณ์โรแมนติกและฟุ้งกระจายได้มากกว่าภาพแบบชัดลึก โดยทางจิตวิทยาแล้ว ภาพแบบชัดตื้นสะท้อนความเป็นอัตวิสัย เนื่องจากตัวละครจะดูเหมือนไม่รับรู้ต่อสิ่งต่างๆ รอบข้าง ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของปัจเจกชนมักมีชัยเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง (ถ้าคุณต้องการถ่ายฉากตัวละครนั่งอ่านจดหมาย/หนังสือ แล้ว “อิน” ไปกับตัวอักษรบนหน้ากระดาษ ภาพแบบชัดตื้นย่อมเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม) ด้วยเหตุนี้ มันจึงได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหนังเมโลดราม่าและหนังโรแมนติก

คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ตากล้องขาประจำของหว่องกาไว เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เวลาคุณถ่ายหนังของหว่อง คุณจะไม่มีอะไรให้ใช้มากนักนอกจากพื้นที่ว่าง และเมื่อคุณเริ่มปลุกปั้นหนังเรื่องหนึ่ง คุณก็ต้องเริ่มตัดทอนบางสิ่งบางอย่าง ลักษณะทางกายภาพของเมืองใหญ่ในเอเชียทำให้คุณต้องตัดทอนบางสิ่งที่คุณไม่อยากให้คนดูเห็นออกไปผ่านการใช้เทคนิคภาพแบบชัดตื้น”

ทำไมเขาถึงไม่อยากให้คนดูได้เห็นบางสิ่งบางอย่างน่ะเหรอ?

“เพราะมันไม่สำคัญต่อเรื่องราวที่คุณพยายามจะเล่า พวกมันเป็นส่วนเกินและเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพัฒนาสไตล์การถ่ายภาพแบบชัดตื้นขึ้น เพราะเราต้องถ่ายทำหนังในสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ คุณต้องเรียนรู้ที่จะคัดออกแทนการใส่เข้ามา และผมคิดว่านั่นเป็นแนวคิดแบบเอเชียมากๆ เราต้องเคลื่อนย้ายกองถ่ายอยู่เสมอ โลเกชั่นจึงเปรียบเหมือนไม้ซุงท่อนนึง เมื่อได้มันมา เราก็จะเริ่มแกะสลัก โดยกำจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกเพื่อนำไปสู่จุดหมาย หรือประเด็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม หาใช่เพียงหนังโรแมนติก/เมโลดราม่าเท่านั้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากภาพแบบชัดตื้นได้ ลักษณะอัตวิสัยและ “ความเป็นหญิง” ของภาพแบบชัดตื้นส่งผลให้มันเป็นตัวเลือกสุดเพอร์เฟ็กต์สำหรับหนังอีโรติกเขย่าขวัญอย่าง In the Cut ซึ่งเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองอันบิดเบี้ยว วาบไหว และเชื่อถือไม่ได้ของผู้หญิงที่ค่อนข้างเก็บกดทางเพศ หนังเรื่องนี้ของ เจน แคมเปี้ยน ใช้ภาพแบบชัดตื้นอย่างหนักหน่วงชนิดที่คุณคงไม่เคยพบเห็นมาก่อน ทั้งในด้านความถี่ (แทบทุกช็อต) และความรุนแรง (หลายช็อต โฟกัสของภาพกินเนื้อที่เพียงแค่บางส่วนของใบหน้าตัวละคร เช่น จมูก หรือดวงตา) ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับการถ่ายภาพแบบ handheld หนังจึงมักจะมีการเปลี่ยนโฟกัสไปมาภายในชั่วเวลาเพียงไม่กี่วินาที ขณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพตกอยู่ในสภาพพร่ามัว ส่งผลให้คนดูรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกหลอนอีกใบหนึ่ง เหมือนถูกผลักไสให้เข้าไปเผชิญฝันร้าย/ภาพหลอน/จิตใต้สำนึกของ แฟรนนี่ (เม็ก ไรอัน) เมื่อสิ่งสำคัญเล็กๆ น้อยๆ แหวกว่ายเข้ามาอยู่ในโฟกัสเพียงชั่วครู่ ก่อนจะพุ่งผ่านหายไป




1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ