วันอังคาร, มิถุนายน 12, 2550

คู่แท้ปาฏิหาริย์: ความเหมือนจริงที่หล่นหาย


ความโรแมนติกกับผู้หญิงเปรียบเสมือนสองสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ในที่นี้ ผมไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องเป็นคนโรแมนติกและผู้ชายทุกคนล้วนเป็นพวกสิ้นไร้หัวจิตหัวใจเหมือนกันหมด แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เพศหญิงมักจะเป็นเพศที่อ่อนไหวทางด้านอารมณ์มากกว่าเพศชาย นั่นคือ เหตุผลว่าทำไมนิยายโรแมนซ์จึงขายดิบขายดีในหมู่ผู้หญิง ส่วนนิยายประเภทผีหลอกวิญญาณหลอนของ สตีเฟ่น คิง หรือพะบู๊กอบกู้โลกแบบ ทอม แคลนซี่ กลับเรียกร้องความสนใจของนักอ่านผู้ชายได้มากกว่า

หนังโรแมนติกที่ดี แม้จะสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองจินตนาการของผู้หญิงเป็นหลัก ย่อมต้องไม่ละเลยความแตกต่างระหว่างเพศดังกล่าว ขณะเดียวกัน หนังดีๆสักเรื่องนั้น ไม่ว่ามันจะพาเราเข้าไปสัมผัสกับโลกอันแสนอัศจรรย์เพียงใด ย่อมต้องไม่ละทิ้งกฎเกณฑ์ในโลกแห่งความเป็นจริงจนหมดสิ้น มิเช่นนั้นแล้ว มันก็ไม่ต่างจากตึกซึ่งก่อสร้างขึ้นบนอากาศธาตุ ไร้น้ำหนัก ไร้ความมั่นคง สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างที่เพิ่มเติมเข้าไปย่อมต้องพังทลายลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

และนั่นเอง คือ ข้อบกพร่องสำคัญของหนังเรื่อง คู่แท้ปาฏิหาริย์

ต้องบอกก่อนว่าผมไม่มีปัญหาอะไรกับการยอมรับ ‘ปาฏิหาริย์’ สำคัญของหนัง ตั้งแต่ตัวตนแท้จริงของพระเอกไปจนถึงการตั้งครรภ์ของนางเอก ซึ่งคงไม่สามารถใช้หลักเหตุผลทั่วไปมาตัดสินได้ (คำว่าปาฏิหาริย์ในชื่อเรื่องก็บอกใบ้กลายๆอยู่แล้ว) ผมไม่มีปัญหากระทั่งกับความสมจริง หรือ ‘เป็นไปได้’ ของฉากผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ แม้จะคลางแคลงใจในจุดมุ่งหมายแท้จริงของมันอยู่บ้างก็ตาม (บางทีอาจเป็นได้ว่า หลังจากพระเอกอุทิศตนให้แก่นางเอกอย่างครบถ้วนทุกวิถีทางแล้ว สิ่งสุดท้ายที่เขาจะสามารถทำได้ในตอนนี้จึงเหลือเพียงแค่การสละหัวใจเพื่อช่วยชีวิตเธอเท่านั้น จึงถือเป็นอันครบวงจรความประเสริฐ… สาธุ) แต่สิ่งที่สร้างความหงุดหงิดใจให้ผมขณะนั่งชมหนังเรื่องนี้ ก็คือ วิธีการสร้างตัวละครพระเอก ตลอดจนปฏิกิริยาของนางเอกในช่วงไคล์แม็กซ์ ซึ่งไม่สามารถทำให้ผม ‘เชื่อ’ ได้ด้วยประการทั้งปวง

การที่บทภาพยนตร์พยายามจะสร้างภาพ ‘ผู้ชายในฝัน’ หรือ ‘อัศวินม้าขาว’ ให้กับหมูตอน ทำให้ผมเริ่มสงสัยในความเป็นชายและความเป็นมนุษย์ของเขา (ข้อหลังหนังให้คำตอบได้น่าพอใจในการหักมุม) แต่ก็เช่นที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ผมไม่ได้สนับสนุนการสร้างภาพลักษณ์แบบเหมารวม ผู้ชายบางคนสามารถมีอารมณ์อ่อนไหวและเทิดทูนความรักเหนือเซ็กซ์ได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่า สุดท้ายแล้วผู้ชายก็ยังเป็นผู้ชายอยู่วันยันค่ำ พวกเขาไม่ใช่ผู้หญิง พวกเขาแตกต่างจากผู้หญิง แม้ว่าพวกเขาบางคนจะมีมาด ‘พระเอก’ อยู่มากก็ตาม กล่าวคือ ทอม แฮงค์ ใน You’ve Got Mail อาจไม่ได้บึกบึนสมชาย แต่อย่างน้อยเขาก็ชอบอ่าน The Godfather ริชาร์ด เกียร์ ใน Pretty Woman อาจดู ‘เหมือนฝัน’ ไปบ้าง แต่อย่างน้อยบุคลิกนักธุรกิจใจเหี้ยมของเขาก็สะท้อนเศษเสี้ยวของเพศชายให้เห็นเป็นประกาย

ทีนี้เราลองมาดู ‘เสน่ห์’ ของผู้ชายอย่างหมูตอนกันบ้างว่าประกอบไปด้วยอะไรอีก นอกเหนือจากความหล่อโคตรของเขา หนึ่ง เขาทำอาหารเก่ง สอง เขารู้เรื่องแฟชั่น การแต่งหน้า ทำผม จนสามารถแปลงโฉมทานน้ำให้กลายเป็นคนใหม่ได้ สาม เขาเป็นคนละเอียดอ่อนทางอารมณ์ และสี่ เขาไม่เคยหวังผลตอบแทนใดๆ ไม่เคยแสดงท่าทีว่าอยากจะแย่งชิงทานน้ำมาครอบครองเสียเอง ถึงแม้เธอจะเป็นผู้หญิงในสเป็กของเขาก็ตาม

คำถามที่ผุดขึ้นในใจผมไม่ใช่แค่ว่า ผู้ชายแบบนี้มีจริงในโลกด้วยเหรอ (วะ) หากแต่ยังรวมไปถึง ผู้ชายแบบนี้มันน่าหลงรักตรงไหน (จ๊ะ)… เสน่ห์แห่งความแตกต่างไม่ใช่หรือที่ดึงดูดผู้หญิงกับผู้ชายเข้าหากัน

เนื่องจากทีมสร้างหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ผมจึงแอบคิดเล่นๆว่า บางทีพวกเขาอาจประดิษฐ์หมูตอนขึ้นมาให้มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ชายสักคนไม่สามารถจะมีได้ครบถ้วน ทั้งรูปหล่อ แสนดี และมีแต่ให้ เพราะพวกเขาเชื่อว่า นั่นคือผู้ชายแบบที่ผู้หญิงทุกคนจะต้องหลงรัก ก่อนสุดท้ายจะพังทลายอุดมคติดังกล่าวลงด้วยการหักมุมว่า ผู้ชายอย่างหมูตอนนั้นไม่มีอยู่จริง หากเป็นแต่เพียงภาพฝันลมๆแล้งๆเท่านั้น จินตนาการข้างต้นไม่ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะมันมักปรากฏชัดในหนังผู้หญิงตกหลุมรักผู้ชายโฮโมเช่นกัน อย่าง Threesome และ The Object of My Affection เป็นต้น หนังทั้งสองเรื่องล้วนชี้ให้เห็นอาการ ‘หลงผิด’ ของผู้หญิงที่ต้องการผู้ชายซึ่งสามารถ ‘เข้าใจ’ เธอ อ่อนหวาน และนุ่มนวลเกินจริง พูดอีกนัยหนึ่ง ก็คือ พวกเธอโหยหาผู้ชายที่มาจากดาวศุกร์ ซึ่งแน่นอนว่าฝันนั้นย่อมไม่มีวันสมหวังไปได้

การทำให้หมูตอนเป็นมนุษย์ ‘เพอร์เฟ็ค’ และเข้าใกล้ดาวศุกร์มากกว่าดาวอังคาร ได้ลดทอนมิติความน่าเชื่อถือของตัวละครลง ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่ปัญหา หากผู้สร้างต้องการนำเสนอเขาในฐานะจินตนาการที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่เรื่องมันซับซ้อนตรงที่พวกเขายังอยากให้คนดูยอมรับหมูตอนในฐานะ ‘พระเอก’ ผู้มีหัวจิตหัวใจด้วยเช่นกัน ซึ่งลำพังการแสดงภาพเขายืนตากฝน เฝ้ามองทานน้ำกับเอกกระหนุงกระหนิงกันด้วยแววตาเศร้าสร้อยเพียงช็อตเดียวนั้น ย่อมไม่หนักแน่นพอจะเรียกร้องอารมณ์เห็นใจใดๆได้ และที่สำคัญ เนื่องจากหนังไม่เคยนำเสนอเรื่องราวใน ‘มุมมอง’ ของหมูตอนมาก่อนเลย ช็อตดังกล่าวจึงดูผิดที่ผิดทางอย่างไรชอบกล

คราวนี้เราลองมาวิเคราะห์ถึงความสมจริงของฉากไคล์แม็กซ์ดูบ้าง เมื่อทานน้ำได้พบกับหมูตอนตัวจริง ซึ่งไม่ใช่คนหล่อชวนฝันเหมือนหมูตอนคนที่เธอรู้จัก ได้อ่านบันทึกของเขา แล้วก็คุกเข่าลงข้างเตียง ร้องห่มร้องไห้ขอให้เขาฟื้นคืนสติกลับมา ฉากดังกล่าวมีหน้าที่ในการกดปุ่ม ‘ซาบซึ้ง’ ดึงน้ำตาคนดู แต่สาเหตุหลักที่ทำให้มันไม่ได้ผลดังใจหวังก็เนื่องมาจากบทหนังค่อนข้าง ‘หนักมือ’ เกินไปในการผลักดันตัวละครให้กระทำการตามแต่พล็อตเรื่องจะเรียกร้อง โดยไม่ทันคำนึงว่าพวกเขาเหล่านั้นก็ควรจะมีอารมณ์ ความรู้สึก และปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ต่างๆไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

ผมไม่ได้ต้องการจะหมายความว่ารูปร่าง หน้าตาเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด แต่การบีบบังคับให้ทานน้ำปลงใจยอมรับผู้ชาย ‘แปลกหน้า’ คนหนึ่งอย่างหมดหัวใจได้ในทันทีนั้น มันออกจะเป็น ‘ปาฏิหาริย์’ เกินไปสักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏว่าหน้าตาของหมูตอน (พลังจิต) คล้ายคลึงกับจินตนาการในความคิดของหมูตอน (ตัวจริง) ค่อนข้างมาก ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นไปได้ไหมว่า ‘ความประเสริฐ’ สารพัดชนิดของเขา (ซึ่งหนังพยายามจะบอกว่าคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้หมูตอนเอาชนะใจทานน้ำได้ ไม่ใช่ความหล่อเหลาอันชัดแจ้งของเขา ซึ่งตัวละครทุกคนยอมรับและสังเกตเห็น ยกเว้นเพียงทานน้ำเท่านั้น) ก็อาจเป็นแค่จิตใต้สำนึก หาใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขาไม่ ทานน้ำอาจไม่จำเป็นต้องมองโลกในแง่ร้าย (เหมือนผม) แต่อย่างน้อย ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมเชื่อว่าเธอน่าจะรู้สึกไม่แน่ใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

พูดถึงเรื่องหน้าตาและความหล่อ ช็อตชวนพิศวงอีกช็อตหนึ่งของหนังเรื่องนี้ ก็คือ การถ่ายภาพใบหน้าหมูตอนตัวจริงในเงามืด มีแสงสว่างพอแค่ให้คนดูสังเกตเห็นว่าเขาไม่ใช่ เจษฎาภรณ์ ผลดี แต่ไม่มากพอจะทำให้เราเห็นจะๆว่าเขามีหน้าตาอย่างไร และนั่นยังเป็นครั้งเดียวที่เราจะได้เห็นใบหน้าอันแท้จริงของหมูตอนอีกด้วย ช่วงเวลาหลังจากนั้น หนังก็หันกลับไปใช้งาน เจษฎาภรณ์ ผลดี อีกครั้งในฉากจบ

เหตุใดผู้สร้างจึงจงใจปิดบังใบหน้าของหมูตอนตัวจริง? หรือพวกเขากลัวว่าคนดูจะ ‘รับไม่ได้’ ในความ ‘ไม่หล่อ’ ของเขาและส่งผลให้การยอมรับของทานน้ำยิ่งดู ‘เหลือเชื่อ’ มากขึ้นไปอีก? ถ้าเช่นนั้น มันก็ออกจะเป็นการตัดสินใจที่แปลกประหลาดไปสักหน่อยไหม ในหนังที่มีเนื้อหาเชิดชูความงามภายในเหนือรูปกายภายนอก? สำหรับผม ช็อตดังกล่าวเปรียบเสมือนความหวาดกลัวของผู้สร้างที่จะเปิดเผยให้เห็น ‘ความจริง’ อันเจ็บปวดแห่งชีวิต แล้วพยายามจะกลบเกลื่อนมันด้วยภาพลวงที่เจริญหูเจริญตา สดใส สีชมพู ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว การขีดจำกัดผู้ชมให้อยู่แต่ในโลกเพ้อฝันดูเหมือนจะเป็นคุณสมบัติสำคัญของหนังเรื่องนี้

ขณะวุ่นวายกับการร่ายเวทมนต์โรแมนซ์ให้ผู้ชมลุ่มหลง เคลิบเคลิ้มอยู่นั้น หนังยังได้ทำเนื้อหาสำคัญหล่นหายไประหว่างทางอีกด้วย นั่นคือ การค้นพบตัวเองของทานน้ำ หลังจากปล่อยชีวิตให้ล่องลอยตามปัจจัยรอบข้างแบบไร้จุดหมายมาเนิ่นนาน

น้ำหนักของประเด็นดังกล่าวจมหายไปท่ามกลางทะเลแห่งอารมณ์โรแมนติก ทั้งที่มันควรจะถูกยกขึ้นเป็น ‘ปาฏิหาริย์’ หลักของหนัง มองในมุมหนึ่ง ตัวละครอย่างทานน้ำทำให้ผมนึกถึงนางเอกหนังเรื่อง Muriel’s Wedding เพราะทั้งสองต่างไม่ใช่ผู้หญิงสวยที่กำลังลุ่มหลงอยู่กับภาพฝันในหัวอย่างมัวเมา (ความรักต่อพี่เอกในกรณีของคนแรก การเข้าพิธีมงคลสมรสในกรณีของคนหลัง) จนกระทั่งได้สัมผัสกับมัน (ทานน้ำได้พี่เอกเป็นแฟน ส่วนมิวเรียวก็ได้แต่งงานกับนักว่ายน้ำหนุ่มหล่อ) และตระหนักว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่พวกเธอต้องการอย่างแท้จริง สุดท้ายทั้งสองจึงลุกขึ้นมาปฏิวัติชีวิตครั้งใหญ่ (คนแรกลาออกจากงานที่ตนไม่ชอบ คนหลังบอกเลิกกับสามีที่ตนไม่ได้รัก) ความแตกต่างเพียงประการเดียวอยู่ตรง Muriel’s Wedding เฉลิมฉลองการเรียนรู้ที่จะรักและเคารพตนเองของมิวเรียล แต่ คู่แท้ปาฏิหาริย์ กลับเชิดชูความรักของหมูตอนว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ทานน้ำได้ค้นพบตัวเอง

อ้อ อีกอย่างก็คือ มิวเรียลยังคงอ้วนและขี้เหร่เหมือนเดิมในตอนจบ (แม้ชัยชนะอันสุขสันต์จะทำให้คนดูอิ่มเอิบใจและมองเห็นความงามในตัวเธอมากขึ้นก็ตาม) แต่ทานน้ำกลับสามารถแปลงโฉมเป็นผู้หญิงสวยได้ไม่ยากจากการถอดแว่น เปลี่ยนชุด และทำผมเสียใหม่

คู่แท้ปาฏิหาริย์ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะช่วยผลักดันมันให้ก้าวไกลไปเกินสถานะงานเพื่อการค้า รายละเอียดเกี่ยวกับตัวทานน้ำและหมูตอน (ตัวจริง) แฝงความหดหู่เอาไว้ในปริมาณที่เข้มข้นกว่าหนังตลกโรแมนติกทั่วๆไป แต่น่าเสียดายที่ผู้สร้างไม่กล้าหรือทะเยอทะยานพอจะก้าวเข้าไปสะท้อนเรื่องราวในโลกที่ผู้หญิงแปลงโฉมแล้วไม่สวยกับผู้ชายลดน้ำหนักแล้วไม่หล่อ ซึ่งตามความเห็นของผม เป็นโลกที่น่าสนใจมากกว่าโลกในนิทานมากมายหลายเท่า ตรงกันข้าม พวกเขากลับพยายามจะบดบังแง่มุมเจ็บปวดดังกล่าวเอาไว้ด้วยความสวยงามแบบฉาบฉวยอีกต่างหาก เพื่อให้ผู้ชมกลุ่มใหญ่กล้ำกลืนมันได้อย่างคล่องคอ… แล้วนั่นถือเป็นความผิดด้วยหรือ เป็นคำถามที่อาจผุดขึ้นในใจของท่านผู้อ่านทั้งหลาย และผมก็ขอตอบตามตรงเลยว่า ไม่ผิดหรอกครับ ถ้าความงามนั้นมันจะมีประพิมพ์ประพายของความสมจริงปรากฏอยู่บ้าง

ผมมีความรู้สึกว่าหนังอาจจะเข้าท่ากว่านี้ ถ้ามัน ‘อ่อน’ หวานลงสักนิดและ ‘ติดดิน’ ขึ้นสักหน่อย เพราะบางครั้งการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปย่อมไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ และที่สำคัญยังอาจทำให้เกิดอาการ ‘หวานเลี่ยน’ จุกอกเอาได้ง่ายๆอีกด้วย

สำหรับใครก็ตามที่มีความรู้สึกคล้ายคลึงกัน ทางแก้เดียวซึ่งผมพอจะนึกออกในตอนนี้คือ จงรีบหาหนังของ ท็อดด์ โซลอนด์ซ (Happiness, Welcome to the Dollhouse) มาดูล้างตาเป็นการด่วน

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยว่ามันไม่สมจริงเท่าไรในหลายจุด ทำไมหนังไทยถึงทำเรื่องได้เหมือนฝันขนาดนี้ หรือว่าแก่แล้วหว่า 55+

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่สมจริงน่ะอาจจะใช่นะคะ แต่บทที่ธารน้ำไปเจอหมูตอนตัวจริงที่บ้านน่ะ เค้าก็ต้องใช้นักแสดงคนใหม่อยู่แล้ว เพราะหมูตอนผอมมาก ป่วย เป็นโรคด้วย คงจะใช้พี่ติ๊กแสดงแทนไม่ได้ ส่วนบทอื่นๆ ก็ไม่ทราบนะคะ ต้องเข้าใจนะคะว่าชื่อหนังก็บอกอยู่แล้วว่า "คู่แท้ปาฏิหาริย์"

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สุดท้ายนางเอกก็ระลึกถึงหมูตอนแบบหน้าพี่ติ้กอยู่ดี และคงร้องไห้ถ้าลูกโตมาหน้าเหมือนหมูตอนที่นอนป่วย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มันเป็นภาพยนตร์ซ้อนภาพยนตร์ ในภาพยนตร์ที่ฉายในภาพยนตร์เขียนจากเรื่องจริงแต่อาจถูกดัดแปลงไปบางอย่างก็ได้ครับ
แต่ความพิเศษของหนังเรื่องนี้คือ ปกติจะมีภาพยนตร์แบบปลายเปิดให้คิดได้หลายแบบ
แต่หนังเรื่องนี้สร้างจุดเปิดตั้งแต่ต้นเรื่องยันท้ายเรื่องครับ ทำให้สามารถสร้างเนื้อเรื่องได้หลายแบบเลย
และเมื่อคุณคุยกับคนที่ดูหนังมาด้วยกัน ก็จะพบว่ามีเนื้อเรื่องต่างกันไปหลายแบบ

เนื้อเรื่องของผม เรื่องจริงพระเอกถอดวิญญาณโผล่ไปหานางเอกตอนโคม่า หลังนางเอกมาเยี่ยมไม่ได้ตายแต่สู้โรคร้ายจนหาย นางเอกได้รับบริจาคหัวใจจากคนอื่น และทั้งคู่ก็แต่งงานกัน (หมูตอนผอมแล้วหล่อเหมือนพี่ติ๊ก) นางเอกเขียนหนังสือแล้วปรับเนื้อเรื่องให้จบแบบเศร้าแล้วถูกทำเป็นหนัง

เนื้อเรื่องของภรรยาผม เรื่องจริงเป็นตามในหนังเลยพระเอกตายให้หัวใจนางเอกไป พระเอกที่นางเอกเห็นในโลกจริงเป็นวิญญาณหมูตอน และมีลูกกันได้เพราะปาฏิหาริย์

อย่างต้นเรื่องหมูหยองลูกสาวเหมือนมองไม่เห็นหมูตอนและถามว่าคุณพ่อจะไปดูหนังกับเราไหมคะ คิดว่าเป็นวิญญาณก็ได้ แต่พ่อหมูตอนอาจจะงานยุ่งมีธุระต้องไปที่อื่นก็ได้

รูปถ่ายที่ทำตกก็ไม่เห็นถ่ายพร้อมกัน 3 คน เห็นแค่ 2 คนหมูตอนกับธารน้ำ แล้วเป็นสติ๊กเกอร์ลูกหมูแปะอยู่ ทำให้คิดได้ว่าหมูตอนอาจจะตายแล้วลูกคิดถึง หรืออาจจะยังไม่ตายก็ได้

จุดที่เหลือลองหากันดูครับ มีหลายจุดเลย