วันศุกร์, มิถุนายน 22, 2550

พลอย: หลังม่านสมรส


หญิงสาวนอนซบไหล่ชายหนุ่มพร้อมด้วยรอยยิ้มจางๆ บนใบหน้า พวกเขากำลังนั่งอยู่บนเครื่องบินระหว่างการเดินทางอันยาวนานกว่า 20 ชั่วโมงจากอเมริกามายังประเทศไทยเพื่อร่วมงานศพของญาติคนหนึ่ง ถึงแม้ต่างคนจะเหนื่อยล้าจนไม่อยากสื่อสารคำพูดใดๆ ออกมา แต่มือของทั้งสองก็ยังเกาะเกี่ยวกันตลอด ทั้งในรถแท็กซี่ขณะมุ่งหน้าไปยังโรงแรมกลางกรุง และในลิฟต์ระหว่างการขนของเข้าห้องพัก แดง (ลลิตา ปัญโญภาส) แต่งงานกับ วิทย์ (พรวุฒิ สารสิน) แล้วใช้ชีวิตสมรสต่างแดนร่วมกันมานาน 7 ปีแล้ว แต่ความสัมพันธ์ของพวกเขายังคงแนบแน่นไม่เสื่อมคลาย... หรืออย่างน้อยมันก็ “ดูเหมือน” จะเป็นเช่นนั้น

เชื่อว่าใครก็ตามที่ได้ชมหนังเรื่อง Ploy ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ เป็นเอก รัตนเรือง น่าจะเข้าใจโครงเรื่องคร่าวๆ ข้างต้นได้ตรงกัน ส่วนรายละเอียดอื่นนอกเหนือจากนั้นอาจแตกต่างกันไปตามแต่มุมมอง เนื่องจากบรรยากาศ รวมไปถึงเบาะแสชวนพิศวงหลายอย่างล้วนทำให้คนดูรู้สึกไม่มั่นใจว่า พวกเขากำลังชมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หรือจินตนาการ/ภาพหลอน/ความฝันของตัวละครในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่นกันแน่

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ผู้กำกับเป็นเอกใช้สร้างอารมณ์ “เจ็ทแล็ก” (ความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเวลาท้องถิ่นได้หลังการเดินทางไกลโดยเครื่องบิน) ให้กับหนัง คือ เสียงประกอบที่บ่อยครั้งไม่ค่อยสอดคล้องกับภาพบนจอ เช่น ในฉากเปิดเรื่อง คนดูจะได้ยินเสียงเหมือนบรรยากาศในสนามบิน ทั้งที่ตัวละครยังนั่งอยู่บนเครื่องบิน จากนั้น ในห้องพักโรงแรมระดับห้าดาว เสียงประกอบผิดที่ผิดทางของตุ๊กแกและเสียงนกร้องก็ตามหลอกหลอนคนดูอย่างแผ่วเบาอยู่เป็นระยะ ก่อนระดับความรุนแรงของเสียงประกอบจะเพิ่มมากขึ้น (เช่นเดียวกับระดับความไม่น่าไว้วางใจของสถานการณ์) ในฉากที่ หมู (ทักษกร ประดับพงษา) พาแดงมายังโกดัง/โชว์รูม/คอนโดฯ ของเขา (เสียงนกกระพือปีกตอนเขาเปิดประตู ตามมาด้วยเสียงจิ้งหรีดร้อง และเสียงพูดที่เหมือนจะดังแว่วมาจากวิทยุหรือทีวี แต่คนดูไม่เห็นแหล่งกำเนิดเสียง) และฉาก “ไคล์แม็กซ์” ชวนสะพรึง ณ โกดังร้างกลางทุ่ง (เสียงลมกรรโชกแรงจนแทบจะกลบทุกสรรพเสียงและไม่ค่อย “ซิงค์” กับภาพบนจอ)

นอกจากนี้ กลวิธีอันลุ่มลึกดังกล่าวยังช่วยสะท้อนถึงความรู้สึกแปลกแยกของแดงกับวิทย์ต่อสภาพแวดล้อม เมื่อประเทศไทยไม่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็น “บ้านเกิด” ของพวกเขาอีกต่อไป ตรงกันข้าม หลังจากใช้ชีวิตในต่างแดนมาเป็นเวลานาน ประเทศไทยกลับกลายเป็นเมืองแห่งคนแปลกหน้า ยิ่งเมื่อผสมผสานเข้ากับอาการเจ็ทแล็ก มันจึงไม่น่าแปลกที่พวกเขาจะรู้สึกเปราะบาง อ่อนไหวมากเป็นพิเศษ และสถานการณ์ดังกล่าวก็ช่างเหมาะเจาะอย่างยิ่งสำหรับการกระเทาะ ปอกเปลือกภาพลักษณ์ของคู่สมรสสุขสันต์ออกทีละชั้นเพื่อเผยให้เห็นตัวตนอันเปลือยเปล่าของมนุษย์ผู้อ่อนแอภายใน

เส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความจริงกับความฝันเริ่มเลือนลาง เมื่อแดงค้นพบเบอร์โทรศัพท์ของคนชื่อน้อยในกระเป๋าเสื้อวิทย์ จากนั้นก็หยิบโทรศัพท์มือถือของสามีขึ้นมาตรวจสอบ แต่คนดูกลับไม่ได้รับอนุญาตให้สืบทราบว่าเธอค้นพบอะไร... หรือไม่

แน่นอน ด้วยหลักฐานอันเบาหวิวเหลือทน การที่แดงเริ่มทึกทักว่าสามีของตนกำลังคบชู้นั้นย่อมสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับชีวิตสมรสของพวกเขา ซึ่งหนังค่อยๆ ถอดส่วนวิพากษ์ผ่านซีเควนซ์ที่สลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างความจริงกับความฝัน สไตล์การเล่าเรื่องดังกล่าวดูจะสอดรับอย่างยอดเยี่ยมกับงานกำกับภาพของ ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ซึ่งนิยมจัดองค์ประกอบภาพแบบถอดส่วน กล่าวคือ บ่อยครั้งเขาจะถ่ายภาพระยะใกล้ไปยังบางส่วนของร่างกาย หรือสิ่งของบางอย่าง แทนการถอยกล้องออกมาอีกสักนิดเพื่อให้คนดูสามารถมองเห็น “ภาพรวม” ของฉากนั้น เช่นเดียวกัน ผู้กำกับเป็นเอกปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา แล้วปล่อยช่องว่างเอาไว้เป็นช่วงๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนดูปะติดปะต่อภาพรวมของหนังเอาตามสะดวก

วิกฤติแห่ง พลอย (อภิญญา สกุลเจริญสุข) ช่วยสะท้อนให้เห็นบุคลิกของวิทย์ได้อย่างชัดเจน นั่นคือ เขาไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกคนอื่น แม้กระทั่งภรรยา (พาเด็กสาวแปลกหน้ามาในห้องพัก) ไม่ใส่ใจต่อรายละเอียดรอบข้าง และขาดความละเอียดอ่อน ดังจะเห็นได้จากฉากที่พลอยต้องคอยพูดแก้ข้อมูล เมื่อวิทย์แนะนำเธอกับภรรยา (ทั้งที่เด็กสาวเพิ่งเล่าให้เขาฟังไปเมื่อไม่นานก่อนหน้า) หรือการที่แดงต้องคอยพูดแก้ให้วิทย์ถึงสองครั้งสองคราว่าพวกเขาแต่งงานกันมา 7 ปี ไม่ใช่ 8 ปี... จะว่าไปแล้วปัญหาดังกล่าวอาจสรุปได้ง่ายๆ ผ่านประโยคตัดพ้อของแดงที่ว่า “ห้องนี้เราอยู่ด้วยกันสองคนนะวิทย์ วิทย์จะทำอะไร ทำไมไม่ถามแดงก่อน” โดยหากแค่เปลี่ยนคำว่า “ห้อง” เป็น “ชีวิตสมรส” คุณก็จะสามารถอนุมานภาพรวมของชีวิตคู่ได้จากเศษเสี้ยวระยะใกล้ (เหตุการณ์ในเช้าวันหนึ่ง)

การถูกเมินเฉยจากสามีทำให้แดงต้องหันไปพึ่งพาเหล้าและยา ขณะเดียวกันมันก็ช่วยบ่มเพาะความหึงหวง ความไม่ไว้วางใจให้เข้มข้นจนสามารถถูกกระตุ้นให้พุ่งถึงขีดสุดได้ด้วยสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ อย่างเศษกระดาษจดเบอร์โทรศัพท์ของใครสักคนในกระเป๋าเสื้อวิทย์

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจหากแดงจะคิดว่าผู้หญิงอย่างพลอยสามารถดึงดูดวิทย์ได้ เพราะเธอเปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามในอุดมคติ เธอยังสาว ยังสวย และมีบุคลิกลึกลับ ชวนให้ค้นหา ขณะที่แดงเป็นอดีตดาราหนังระดับกลางๆ ที่ผ่านพ้นยุคทองมาแล้วและกำลังย่างเข้าสู่วัยร่วงโรย ที่สำคัญ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับใครสักคนนาน 7 ปีย่อมทำให้คุณรู้สึกไปเองโดยอัตโนมัติว่าต่างฝ่ายคงไม่เหลืออะไรให้ค้นหาอีกแล้ว พลังคุกคามของพลอยส่งผลให้แดงรีบประกาศความเป็นเจ้าของในตัววิทย์ (“ภรรยาค่ะ”) พร้อมกับยืนกรานให้เขากำจัดเธอออกจากห้องทันที

ถึงแม้บุคลิกลักษณะภายนอกของพลอยจะดูเจนโลก ไม่ยี่หระต่อทุกสิ่งรอบข้าง แต่ทัศนะการมองโลกหรือหลักความคิดของเธอยังค่อนข้างไร้เดียงสา เรียบง่าย และไม่ซับซ้อน เช่น เมื่อวิทย์สารภาพว่าเขากับแดงมักจะทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง ข้อเสนอของพลอย คือ “ทำไมพวกพี่ถึงไม่กอดกัน จูบกัน มีเซ็กซ์กัน” ราวกับเธอเชื่อว่าสัมผัสทางกายสามารถชดเชย หรือแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ พร้อมกันนั้นตลอดทั้งเรื่องหนังก็ตัดสลับเรื่องราวอีโรติกที่ไร้บทพูด แต่เต็มไปด้วยเสียงครางอย่างสุขสมของ นัท (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) กับ ตุ้ม (พรทิพย์ ปาปะนัย) แทรกเข้ามาเป็นระยะ ราวกับเพื่อจะล้อเลียนชีวิตรักของแดงกับวิทย์ ซึ่งใช้เวลาหมดไปกับการโต้เถียง แต่ไม่อาจหาข้อสรุปชัดเจนใดๆ ได้ ซ้ำร้าย ความพยายามจะสื่อสารกลับยิ่งผลักไสทั้งสองให้ห่างไกลกันออกไปอีก

งานด้านภาพช่วยตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าว เมื่อหนังแทบจะปราศจากช็อตที่แดงกับวิทย์หันมาพูดคุยกันซึ่งๆ หน้าในลักษณะภาพ two-shot แบบมาตรฐานคลาสสิก ตรงกันข้าม ผู้กำกับเป็นเอกกลับเลือกถ่ายฉากสนทนาด้วยภาพแดงหันหน้าเข้าหากล้องและหันหลังให้วิทย์ในแบ็คกราวด์ หรือไม่ก็ภาพ two-shot ในระยะไกลปานกลาง (medium long shot) โดยวางวิทย์กับแดงไว้คนละมุมภาพ ส่งผลให้ระยะห่างระหว่างทั้งสองโดดเด่นเป็นที่สังเกต และแน่นอน ตลอดทั้งเรื่องคนดูจะไม่ได้เห็นพวกเขากอดกัน จูบกัน หรือมีเซ็กซ์กันเลย นอกจากนี้ กระจกยังเข้ามาเล่นบทสำคัญในหลายฉาก (บางครั้งกล้องจะถ่ายภาพเข้ามาในห้องพักผ่านบานประตูกระจกของระเบียง) เพื่อสื่อถึงภาวะมองทะลุถึงกัน แต่ไม่อาจเชื่อมโยงกันได้ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของวิทย์กับแดง

กระจกถูกนำมาใช้หลอกคนดูอย่างแนบเนียนในช็อตหนึ่งช่วงท้ายเรื่อง โดยชั่วแวบแรกนั้นมันดูเหมือนกล้องจะจับภาพพลอยนอนหลับอยู่บนเตียงกับวิทย์ในลักษณะตรงไปตรงมา แต่พอหญิงสาวเริ่มลุกขึ้นเดินมาทางกล้อง (เพื่อแต่งตัวและเก็บข้าวของ) คนดูก็พลันตระหนักว่ามันเป็นภาพถ่ายผ่านกระจกบานใหญ่ต่างหาก ฉากดังกล่าวเป็นเหมือนคำเตือนให้คนดูพึงระวังความน่าเชื่อถือของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบนจอ และนึกตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเรื่องราวเริ่มขัดแย้งกับความน่าจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ (ซีเควนซ์ของแดงกับหมูพัฒนาไปสู่ความรุนแรงแบบเฉียบพลัน หรือการที่แดงโทรไปเช็คกับทางโรงแรมแล้วได้คำตอบว่าพลอยกับวิทย์ออกไปข้างนอกด้วยกัน ทั้งที่ทั้งสองไม่ได้ไปไหนเลย) และกรุ่นกลิ่นอายเหนือจริงทั้งแบบลุ่มลึก (ฉากโกดัง/โชว์รูม/คอนโดฯ ของหมู) และแบบไม่ปิดบัง (ฉากร้องเพลงกับกล้องของตุ้ม)

หลังจากแดงเดินออกจากห้องพักในโรงแรมด้วยอารมณ์โกรธแค้น เจ็บปวด และความมั่นใจที่สั่นคลอน การผจญภัยของเธอก็ดูเหมือนจะซ้อนทับกับเรื่องราวของพลอยก่อนหน้า ตั้งแต่โครงสร้างคร่าวๆ (เปิดบทสนทนากับชายแปลกหน้าก่อนจะตามเขาไปยังห้องพัก) ไปจนถึงรายละเอียดปลีกย่อย (พลอยเติมน้ำตาลใส่กาแฟแบบไม่ยั้ง ส่วนแดงกลับเลือกจะเพิ่มรสชาติให้กาแฟด้วยเหล้า) แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาช่างแตกต่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ ระดับความรุนแรงอย่างเหลือเชื่อที่ตามมา และปฏิกิริยาอันนิ่งเฉยอย่างเหลือเชื่อเช่นกันของแดงในฉากงานศพ ส่งผลให้คนดูเริ่มไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นจริง หรือเป็นแค่ฝันร้าย

ฝันร้ายที่ทำให้วิทย์พลันตระหนักว่าเขาไม่อาจทนการใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้ ดังจะเห็นได้จากฉากที่เขาตื่นนอนขึ้นมาและไม่ใส่ใจต่อการหายตัวไปของพลอยแม้แต่น้อย (คนดูไม่มีโอกาสล่วงรู้ด้วยซ้ำว่าพลอยเขียนข้อความไว้ในกระดาษว่าอย่างไร) แต่กลับเริ่มโทรศัพท์ตามหาแดงอย่างกระวนกระวาย (คำพูดที่เขาเลือกใช้ฝากข้อความ คือ “แดงอย่าทิ้งพี่ไปนะ” ซึ่งไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงความรักมากเท่าความเป็นเจ้าของ) ก่อนฉากดังกล่าวจะไปจบลงตรงภาพวิทย์นั่งร้องไห้ในอ่างอาบน้ำ การแสดงให้เห็นด้านที่เปราะบาง อ่อนแอของวิทย์เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและทำเอาคนดูไม่ทันตั้งตัว เช่นเดียวกับความรุนแรงที่แดงเผชิญ เมื่อเธอตัดสินใจลองก้าวขาออกจากชีวิตสมรส

ถ้าเรื่องราวของพลอยสะท้อนให้เห็นปัญหาในชีวิตสมรสของแดงกับวิทย์ เรื่องราวของหมูก็สะท้อนให้เห็นสาเหตุที่พวกเขาตัดสินใจอยู่ร่วมกัน ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้นำมาซึ่งความรื่นรมย์อีกต่อไป

ฉากจบของ Ploy ให้อารมณ์คลุมเครือและเปิดกว้างสำหรับการตีความไม่ต่างจากหนังทั้งเรื่อง คนดูที่เปี่ยมศรัทธาในรักอาจเดินออกจากโรงหนังด้วยหัวใจชุ่มชื่น เมื่อปรากฏว่าแดงกับวิทย์สามารถทำความเข้าใจกันได้ในที่สุด และภาพของทั้งสองจับมือกันในรถแท็กซี่ก็เปรียบเสมือนการย้อนรอยช็อตหนึ่งในตอนต้นเรื่อง ก่อนแดงจะเจอเบอร์น้อยในกระเป๋าวิทย์ ก่อนพลอยจะปรากฏตัวขึ้น และก่อนแดงจะรู้จักกับหมู พวกเขากลับมา “หวานชื่น” อีกครั้ง หลังได้รับบทเรียนจากประสบการณ์กึ่งจริงกึ่งฝันที่ผ่านมา

แต่นั่นหมายถึงคุณต้องเชื่อก่อนว่าความรักของทั้งสองยังไม่หมดอายุมาตั้งแต่ฉากแรกของหนัง

ส่วนใครที่มองโลกในแง่ร้าย (ซึ่งคนเหล่านั้นมักยืนยันว่าพวกเขามองโลกตามความเป็นจริงต่างหาก) อาจไม่คิดว่าฉากจบดังกล่าวเข้าข่าย “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” เพราะพวกเขาเชื่อว่าความรักของแดงกับวิทย์หมดอายุมาก่อนหน้านี้แล้ว (การเดินทางมาร่วม “งานศพ” สื่อนัยยะบางอย่างถึงสถานภาพแห่งความสัมพันธ์ของทั้งสอง) แต่ต่างฝ่ายต่างก็อ่อนแอและขลาดกลัวเกินกว่าจะเริ่มต้นใหม่ หรือใช้ชีวิตตามลำพัง ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะเกาะเกี่ยวสถานะแห่งสามีภรรยาเอาไว้เป็นหลักยึดสุดท้าย แม้โดยพฤตินัยพวกเขาจะไม่ได้มีเซ็กซ์กันมานานแล้ว และเวลาส่วนใหญ่ก็มักจะหมดไปกับการหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งเพียงเพื่อยืนยันสถานะ หรือแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

“อย่าให้ใครเป็นเจ้าชีวิตเธอนะคนดี เพราะเราเกิดมาในโลกแห่งเสรี...” เสียงเพลงที่ดังขึ้นในฉากหนึ่งของหนังดูเหมือนจะเสียดสีการตัดสินใจของแดงและวิทย์อยู่ในที เมื่อพวกเขาเลือกจะกักขังตัวเองอยู่ในความมั่นคงแห่งชีวิตสมรส เพราะอ่อนล้า หวาดกลัวกับความไม่แน่นอนของอนาคต