วันจันทร์, มิถุนายน 18, 2550

Swimming Pool: ศิลปินกับจินตนาการ

หนึ่งในความหลงใหลส่วนตัวของผู้กำกับรุ่นใหม่ชาวฝรั่งเศส ฟรังซัวส์ โอซง นอกเหนือจากภาพยนตร์ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค, ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ (โอซงเคยทำหนังจากบทภาพยนตร์ของฟาสบินเดอร์มาก่อนเรื่อง Water Drops on Burning Rocks) และ ดั๊กลาส เซิร์ค (All that Heaven Allows ของเซิร์คเป็นแรงบันดาลใจให้ฟาสบินเดอร์สร้างผลงานมาสเตอร์พีซเรื่อง Ali: Fear Eats the Soul) แล้ว ก็คือ นิยายฆาตกรรมของ อกาธ่า คริสตี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เนื่องจากเธอเป็นนักเขียนที่ป๊อปปูล่าที่สุดของประเทศฝรั่งเศส นิยายของเธอมียอดขายรวมกันมากกว่า 40 ล้านเล่ม ทิ้งห่างอันดับสอง ซึ่งเป็นนักเขียนชาวฝรั่งเศส อีมิล โซล่า (Germinal) ถึงเกือบเท่าตัว

8 Women ผลงานก่อนหน้านี้ของโอซงดำเนินโครงเรื่องหลักตามรูปแบบนิยายสไตล์ whodunit[1]ของ อกาธ่า คริสตี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทละครเวทีอมตะเรื่อง The Mousetrap เกี่ยวกับการฆาตกรรมในโรงแรมบนภูเขาที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอันเนื่องด้วยพายุหิมะโหมกระหน่ำ แม้รายละเอียดหลายส่วนของหนังจะถูกแต่งเติม เปลี่ยนแปลง จนสุดท้ายกลายเป็นผลงานที่มีลักษณะเฉพาะตัวค่อนข้างสูง เช่น การผสมแนวทางของภาพยนตร์เพลงเข้าไป ซับพล็อตเกี่ยวกับรักร่วมเพศ อารมณ์ขันร้ายๆ และงานสร้างอันเปี่ยมสีสันสดใสจนทำให้นึกถึงหนังของ ดั๊กลาส เซิร์ค

ความหลงใหลดังกล่าวยังคงทิ้งร่องรอยสืบเนื่องมายังผลงานชิ้นล่าสุดเรื่อง Swimming Pool ซึ่งแม้โครงสร้างภายนอกจะฉีกรูปแบบจากนิยายสไตล์ whodunit ออกไป ด้วยการกำหนดให้ฆาตกรรมเกิดขึ้นในช่วงองค์สุดท้ายและไม่พยายามจะปกปิดความจริงว่าใครเป็นคนฆ่า แต่หนังก็มุ่งเน้นยังการเจาะลึกถึงขบวนความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนลักษณะการทำงานของ ‘นักเขียนนิยายฆาตกรรมหญิงชาวอังกฤษ’ กล่าวคือ คราวนี้ความสนใจหลักของโอซงอยู่ตรงตัวศิลปินมากกว่า หาใช่ผลงานศิลปะ

ถึงแม้หนังสือชุด ‘นักสืบดอร์เวลล์’ ของ ซาร่าห์ มอร์ตัน จะได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้อ่านไม่ต่างจากซีรี่ย์ชุด ‘เฮอร์คูล ปัวโรต์’ และ ‘มิส เจน มาร์เปิ้ล’ ของ อกาธ่า คริสตี้ แต่ ชื่อเสียง ความสำเร็จ เหล่านั้นดูเหมือนจะไม่ช่วยให้เธอได้พบกับความสุขในชีวิต บุคลิกแข็งกระด้างของซาร่าห์ถูกถ่ายทอดออกมาชัดเจนนับแต่ฉากแรกบนรถไฟ เมื่อนักอ่านคนหนึ่งไต่ถามอย่างเป็นมิตรว่าเธอใช่ ซาร่าห์ มอร์ตัน หรือเปล่า แต่สาวใหญ่กลับตอกกลับด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับในทำนองว่าหล่อนจำคนผิดเสียแล้ว “ฉันไม่ใช่คนที่คุณคิด” เธอกล่าว นอกจากนั้นประโยคข้างต้น (“I’m not who you think I am”) ยังแฝงนัยยะซ้อนเกี่ยวกับบุคลิก ‘อีกด้าน’ ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวซาร่าห์ด้วย ซึ่งเริ่มปรากฏกายให้เห็น เมื่อหนังดำเนินผ่านจุดหักเหช่วงกลางเรื่อง

ในระหว่างนั้น คนดูจะได้รู้จักซาร่าห์ในฐานะสาวโสดขึ้นคาน ที่อาศัยอยู่ตามลำพังกับบิดาชราภาพ ในบ้านทึมทึบ ดูไม่ค่อยหรูหรา ฟู่ฟ่า สักเท่าไหร่สำหรับนักเขียนชื่อดัง ท่ามกลางสภาพอากาศหม่นเทา อุดมไปด้วยเมฆหมอกตลอดศกของกรุงลอนดอน บางสิ่งบางอย่างกำลังรบกวนจิตใจเธอ ทำให้เธอหงุดหงิด โมโหร้าย และออกอาการเหมือน “อีแก่ที่มีด้ามไม้กวาดเสียบตูดอยู่” ตลอดเวลา ทุกอย่าง ทุกคน ดูขวางหูขวางตาเธอไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแฟนหนังสือวัยกลางคนท่าทางกระตือรือร้น หรือ นักเขียนหนุ่มไฟแรง ซึ่งพูดโพล่งต่อหน้าเธอว่า ‘แม่เขา’ เป็นแฟนตัวยงของหนังสือชุดนักสืบดอร์เวลล์และกำลังตั้งตารอตอนต่อไปอย่างใจจดใจจ่อ

บางทีสาเหตุอาจมาจากการที่เธอแอบปลื้ม จอห์น บรรณาธิการของสำนักพิมพ์ อยู่ลึกๆฝ่ายเดียว (เธอยินยอมรับข้อเสนอให้ไปพักบ้านตากอากาศของเขาในประเทศฝรั่งเศส หลังจากเขาพูดเกริ่นว่าอาจจะแวะไปเยี่ยมเธอที่นั่นระหว่างช่วงวันหยุด) หรือ แรงปรารถนาที่จะเปลี่ยนไปเขียนนิยายแนวอื่น (อกาธ่า คริสตี้ ใช้นามปากกา แมรี่ย์ เวสต์เมค็อตต์ สำหรับแต่งนิยายโรแมนติก) แต่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากจอห์น ผู้อ้างว่าเธอเหมาะกับหนังสือแนวสืบสวนสอบสวนมากที่สุด แม้เหตุผลแท้จริงในเบื้องลึก ซึ่งซาร่าห์สงสัยและพูดประชดอยู่กลายๆ ดูจะเป็นเพราะเขาไม่อยากสูญเสีย ‘บ่อทองดอร์เวลล์’ ไปต่างหาก

ซาร่าห์ชื่นชอบความสงบ ร่มรื่น ของบ้านพักตากอากาศในเมืองเล็กๆอุ่นไอแดดยามบ่าย เธอปล่อยใจออกไปเดินช็อปปิ้งซื้อของ นั่งพักเหนื่อยในร้านกาแฟกลางแจ้ง จากนั้นก็เริ่มต้นเขียนนิยายเล่มใหม่อย่างสบายอารมณ์ แต่บรรยากาศเป็นใจกลับพังทลายลงในพริบตา พร้อมการมาถึงแบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้าของ จูลี่ ลูกสาววัยรุ่นนอกสมรสของจอห์น ซึ่งซาร่าห์ไม่เคยล่วงรู้มาก่อน เธอมีนิสัยแตกต่างจากซาร่าห์ราวขาวกับดำและเริ่มสร้างความรำคาญให้แก่นักเขียนสาวใหญ่ในทันที ด้วยการเปิดเพลงเสียงดังสนั่นกลางดึก ทิ้งข้าวของเรี่ยราด และพาผู้ชายแปลกหน้ามานอนด้วยแบบไม่ซ้ำหน้ากัน

แต่แล้ว ทีละน้อยๆ อารมณ์ชิงชังหมั่นไส้ของซาร่าห์ก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความอยากรู้อยากเห็น อคติค่อยๆพัฒนาไปสู่มิตรภาพ และกว่าจะรู้ตัวอีกที นักเขียนสาวใหญ่ก็พบว่าตนเองกำลังขุดคุ้ย สอบถามประวัติชีวิตของหญิงสาวอย่างกระตือรือร้น แอบขโมยอ่านบันทึกประจำวันของเธอ แล้วสร้างไฟล์ใหม่ชื่อ จูลี่ ขึ้นมาในคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค

Swimming Pool เปิดเผยให้เห็นการผสมปนเปกันระหว่างโลกแห่งความจริงกับจินตนาการ โดยปราศจากการจำกัดเส้นเชื่อมโยง หรือ แบ่งแยกเขตแดนให้ชัดเจน เช่นเดียวกับหนังเรื่อง Under the Sand ซึ่งเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างโอซง กับ ชาร์ล็อตต์ แรมป์ลิง โดยจุดต่างในคราวนี้อยู่ตรงที่ ความสับสนดังกล่าวไม่ได้สื่อความหมายถึงอาการวิกลจริตของตัวละคร หากแต่บอกความนัยให้เห็นว่า ระหว่างขั้นตอนสร้างสรรค์ผลงานนั้น ศิลปินมักจะปล่อยตัวให้หลุดเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ จนถึงขนาดแบ่งปันความคิด ความรู้สึกของตัวละครที่พวกเขาวาดขึ้น แถมบางครั้งยังดูดซับเอาบุคลิกของเขา/เธอกลับมายังโลกแห่งความเป็นจริงอีกด้วย

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อซาร่าห์เริ่มสนิทสนมกับจูลี่ เธอก็ค่อยๆทำตัวผ่อนคลาย ปล่อยวางมากขึ้น เปลี่ยนมาสวมใส่เสื้อผ้าที่แสดงออกถึงความเป็นหญิง จากนั้น กล้องก็เริ่มเบี่ยงเบนจากการโลมไล้รูปกายของจูลี่ มาจับจ้องยังเรือนร่างของซาร่าห์ในลักษณะเดียวกันแทน เหมือนจะสะท้อนให้เห็นว่ายังมี ‘อีกด้าน’ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยความต้องการและพลังทางเพศ ซุกซ่อนอยู่ในตัวหญิงอังกฤษเก็บกด “ที่ได้แต่เขียนถึงเรื่องสกปรก โดยไม่เคยลงมือกระทำเอง” ผู้นี้

พัฒนาการดังกล่าวถูกตอกย้ำเป็นรูปธรรม ผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างซาร่าห์กับสระว่ายน้ำ ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางแห่งเรื่องราวและอาณาจักรส่วนตัวของจูลี่ ในช่วงแรกๆ ซาร่าห์ไม่กล้าจะย่างเท้าก้าวลงสระเพราะมันมีใบไม้ลอยฟ่องอยู่เต็มไปหมด ตรงกันข้ามกับจูลี่ ซึ่งเปลือยกายลงว่ายน้ำเล่นในนั้นอย่างสบายใจเฉิบนับแต่วันแรกที่มาถึง จนกระทั่งไม่นานต่อมา เมื่อใบไม้ถูกเก็บกวาดและน้ำในสระเริ่มใสสะอาดขึ้นตามลำดับ ซาร่าห์จึงเริ่มกล้าจะลงไปดำผุดดำว่ายในที่สุด

ในทางกลับกัน ไม่เพียงนักเขียนจะได้อิทธิพลจาก ‘แรงบันดาลใจ’ ของตนเองเท่านั้น แต่ตัวละครที่พวกเขาสรรค์สร้างขึ้นยังเก็บเกี่ยวเอาบางเสี้ยวแห่ง ‘ตัวตน’ ของผู้ประดิษฐ์มาใส่ไว้ในตัวด้วย เพราะเหตุนี้เอง หนังในช่วงครึ่งหลังจึงแสดงให้เห็นการสืบถ่ายบุคลิกระหว่างซาร่าห์กับจูลี่ โดยขณะที่คนแรกค่อยๆเบ่งบาน คนหลังกลับค่อยๆเคร่งขรึมและเริ่มสะท้อนให้เห็น ‘อีกด้าน’ ที่เปราะบางของเด็กสาวผู้เรียกร้อง โหยหา ความรักจากแม่ ซึ่งจะว่าไป นั่นอาจเป็นผลมาจากปมความรู้สึกในเบื้องลึกของซาร่าห์ ที่สันนิษฐานได้ว่า คงสูญเสียแม่ไปแล้วเช่นกัน ทำให้เธอต้องอาศัยอยู่กับบิดาเพียงลำพัง

ศิลปินมักเผลอไผลดื่มด่ำไปกับโลกแห่งจินตนาการ ขณะเดียวกันหลายคนก็เชื่อว่างานศิลปะส่วนใหญ่สามารถทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนตัวตนของศิลปินได้ ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง เหมือนที่เศษเสี้ยวของซาร่าห์ปรากฏอยู่ในตัวจูลี่ หรือ การที่เรื่องราวช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนัง ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นจินตนาการในหัวของนักแต่งนิยายสไตล์ whodunit เริ่มพลิกผันไปพัวพันถึงฆาตกรรมและการสืบเสาะหาความจริงอย่างคาดไม่ถึง

กระนั้นก็ตาม หากลองมองย้อนกลับไป ผู้ชมจะพบว่าโอซงได้พยายามสอดแทรก ‘เบาะแส’ ซึ่งจะนำไปสู่บทสรุปการเฉลยตัวตน (หรือความไม่มีตัวตน) ของจูลี่ในตอนท้าย ไว้บ้างแล้วเป็นประพิมพ์ประพาย ผ่านรายละเอียดปลีกย่อยเบี้ยบ้ายรายทาง ซึ่งคนดูอาจไม่ทันสังเกตเห็นในคราแรก เช่น เมื่อซาร่าห์เริ่มแสดงท่าทีสนใจ แฟรงค์ พนักงานเสิร์ฟหนุ่มของร้านกาแฟที่เธอไปใช้บริการเป็นประจำ ความรู้สึกนึกคิดของเธอก็กลายร่างเป็นรูปธรรม ในฉากที่แฟรงค์ยืนลูบไล้ตัวเองอยู่ข้างสระว่ายน้ำ ขณะจ้องมองอย่างหื่นกระหายมายังเรือนร่างของจูลี่ ที่กำลังสำเร็จความใคร่ให้ตัวเอง ฉากดังกล่าวโผล่ขึ้นแบบปุบปับ ฉับพลัน และปราศจากเหตุผลรองรับชัดเจน จนทำให้มันมีบรรยากาศคล้ายฉากความฝันมากกว่าความจริง

อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ การตีแผ่ทัศนคติในเบื้องลึกของซาร่าห์ต่อรสนิยมอันคับแคบของจอห์น ผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับแม่จูลี่ ที่เคยพยายามจะแต่งนิยายรักไปเสนอสามี แต่เขากลับไม่ยอมตีพิมพ์ให้ โดยอ้างเหตุผลว่ามันไม่ดีพอ แม้เหตุผลแท้จริงในเบื้องลึก ซึ่งจูลี่สงสัยและพูดประชดอยู่กลายๆ ดูจะเป็นเพราะว่า มันไม่เกี่ยวข้องถึงเซ็กซ์ หรือ ความรุนแรง จึงไม่ค่อยต้องรสนิยมของเขาต่างหาก

สมมุติฐานข้างต้นได้รับการยืนยันในตอนท้าย เมื่อซาร่าห์นำนิยายเรื่องใหม่ของเธอ ซึ่งไม่ใช่แนวสืบสวน แต่เน้นการวิเคราะห์ตัวละคร ไปเสนอกับจอห์นแล้วได้รับปฏิกิริยาที่ค่อนข้างเย็นชาดังคาด เช่น ”คุณไม่เก่งในด้านการบรรยายอารมณ์ตัวละคร” หรือ “เรื่องราวไม่มีการหักมุมเลย” พูดง่ายๆ ก็คือ เขาคิดว่ามันน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ และไม่เหมาะจะนำไปตีพิมพ์เพื่อการค้า

ซาร่าห์ตอกกลับจอห์นด้วยการโชว์หนังสือเรื่องดังกล่าว ตีพิมพ์โดยบรรณาธิการของสำนักพิมพ์อีกแห่งที่ ‘มองต่างมุม’ ส่วนโอซงเองก็ตอบโต้กึ่งล้อเลียนแนวคิดของจอห์น ด้วยการจบ Swimming Pool ภาพยนตร์เชิงวิเคราะห์ตัวละครที่ซ่อนรูปมาแนวทางของงานลึกลับ สืบสวน แบบหักมุมจนคนดูต้องอ้าปากค้าง ราวกับเขาพยายามจะบอกว่า หนังจิตวิเคราะห์เกี่ยวกับการทำงานของศิลปินนั้นก็สามารถจะดูสนุก ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนได้ไม่แพ้นิยาย whodunit และที่สำคัญ ศิลปินสามารถผลิตผลงานเหล่านั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงมือไปลิ้มลองประสบการณ์จริงแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการก็แค่จินตนาการ และ แรงบันดาลใจ… เหมือนที่จูลี่มอบให้ซาร่าห์ และ อกาธ่า คริสตี้ มอบให้ ฟรังซัวส์ โอซง

หมายเหตุ

[1] ย่อมาจาก Who done it? เป็นลักษณะการประพันธ์นิยายสืบสวนสอบสวนประเภทหนึ่ง ซึ่งมักจะปกปิดตัวตนที่แท้จริงของฆาตกรเอาไว้ จนกระทั่งมาเฉลยความจริงในช่วงสองสามบทสุดท้าย และส่วนใหญ่จะ ‘หักมุม’ ให้ฆาตกรกลายเป็นตัวละครที่น่าสงสัยน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม คนอ่านจะได้รับข้อมูล เบาะแส ที่จำเป็นโดยตลอด เพื่อใช้สำหรับคาดเดาว่าใครกันแน่ที่เป็นฆาตกร ยุคทองของนิยายประเภทนี้อยู่ระหว่างช่วงปี 1920-1930 นักเขียนส่วนใหญ่ล้วนเป็นชาวอังกฤษ นำขบวนโดย อกาธ่า คริสตี้ (1890-1976) เจ้าของผลงานเลื่องชื่อ อาทิ The Murder of Roger Ackroyd, Death on the Nile, Murder on the Orient Express และ Ten Little Indians เป็นต้น