วันอังคาร, มกราคม 20, 2552

Oscar 2009: ควันหลงรางวัลลูกโลกทองคำ


เมื่อก่อนรางวัลลูกโลกทองคำขึ้นชื่อว่าเป็น “มาตรวัด” โอกาสคว้าออสการ์ของหนังและนักแสดงที่เชื่อถือได้และแม่นยำพอควร แต่ระยะหลังๆ ผลรางวัลลูกโลกทองคำดูเหมือนจะขัดแย้งกับออสการ์อย่างต่อเนื่อง โดยหนังเรื่องล่าสุดที่คว้าลูกโลกทองคำมาครองและได้ออสการ์ไปด้วย คือ The Lord of the Rings: The Return of the King เมื่อห้าปีก่อน นับแต่นั้นลูกโลกทองคำมอบรางวัลสูงสุดให้ The Aviator, Brokeback Mountain, Babel และ Atonement ส่วนออสการ์กลับตกเป็นของ Million Dollar Baby, Crash ซึ่งไม่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดราม่า) ของลูกโลกทองคำด้วยซ้ำ, The Departed และ No Country for Old Men

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาตามสถิติ ชัยชนะของ Slumdog Millionaire จึงหาใช่ความแน่นอนเสมอไป อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบ (ในเชิงสถิติอีกเช่นกัน) ของหนัง แดนนี่ บอยล์ อยู่ตรงที่มัน “คว้าทุกรางวัลที่เข้าชิง” มาครองแบบครบถ้วน 100% ซึ่งครั้งหลังสุดที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบนเวทีลูกโลกทองคำคือ ปี 1988 เมื่อ The Last Emperor ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ดราม่า) ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยมมาครอง ตรงกับทุกสาขาที่ Slumdog Millionaire คว้ารางวัลมาครองแบบเป๊ะๆ!! จากนั้น เราทุกคนต่างก็รู้กันดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนังมหากาพย์ของ เบอร์นาร์โด เบอร์โตลุคชี่ บนเวทีออสการ์

ณ เวลานี้ หนังตัวเก็งห้าเรื่องที่จะหลุดเข้าชิงออสการ์สาขาใหญ่สุด ได้แก่ Slumdog Millionaire, The Curious Case of Benjamin Button, Frost/Nixon, Milk และ The Dark Knight เนื่องจากรายชื่อดังกล่าวตรงกันกับรายชื่อผู้เข้าชิงของทั้งสมาพันธ์ผู้กำกับ (DGA) สมาพันธ์นักเขียน (WGA) และสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้าง (PGA) เพราะดังที่ทราบกันดีว่าสมาชิกของสมาพันธ์จำนวนมากมีสิทธิ์โหวตรางวัลออสการ์ด้วย โดยปกติแล้ว DGA มักจะมีความน่าเชื่อถือสูงสุดในแง่การคาดเดารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่พวกเขาก็ใช่จะทายถูกทุกครั้งไป ล่าสุดได้แก่ปีที่แล้ว เมื่อ DGA เลือก จูเลี่ยน ชนาเบล จาก The Diving Bell and the Butterfly และ ฌอน เพนน์ จาก Into the Wild แต่ออสการ์กลับเลือก Atonement และ Juno (ส่วนชนาเบลหลุดเข้าชิงสาขาผู้กำกับได้สำเร็จ โดยเข้ามาแทนที่ โจ ไรท์ จาก Atonement)

หนังที่อาจเป็นตัวสอดแทรกในนาทีสุดท้ายได้แก่ Wall-E, Doubt และ Revolutionary Road แต่โอกาสนั้นดูเหมือนจะเริ่มริบหรี่ลงเรื่อยๆ ที่สำคัญ ปีนี้ทำท่าจะดำเนินรอยตามปี 1996 เมื่อหนังยอดเยี่ยมห้าเรื่องสอดคล้องกับสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมแบบครบถ้วน แม้หลายคนจะยังไม่ละทิ้งความหวังต่อ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler) ไมค์ ลีห์ (Happy-Go-Lucky) คนนี้เคยทำสำเร็จมาแล้วจาก Vera Drake และ วู้ดดี้ อัลเลน (Vicky Cristina Barcelona) คนนี้เคยทำสำเร็จมาแล้ว 4 ครั้งจาก Interiors, Broadway Danny Road, Crime and Misdemeanors และ Bullets over Broadway นอกจากนี้ ชัยชนะของ Vicky Cristina Barcelona บนเวทีลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ตลก/เพลง) ยังช่วยตอกย้ำให้เห็นว่ามีคนชื่นชอบผลงานชิ้นใหม่ของอัลเลนค่อนข้างมาก

นอกเหนือจากหนังลูกผสมระหว่างฮอลลีวู้ดกับบอลลีวู้ดเกี่ยวกับเด็กจากสลัมมุมไบที่ผันตัวกลายเป็นเศรษฐีเงินล้านในชั่วข้ามคืนแล้ว ผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่สุดในงานลูกโลกทองคำประจำปีนี้ คือ เคท วินสเล็ท ซึ่งคว้ารางวัลมาครองทั้งสาขานักแสดงนำหญิง (ดราม่า) และนักแสดงสมทบหญิง จาก Revolutionary Road และ The Reader ตามลำดับ ผลดังกล่าวไม่เพียงจะทำให้นักแสดงสาวชาวอังกฤษประหลาดใจอย่างที่สุดเท่านั้น (สังเกตจากปฏิกิริยาของเธอตอนขึ้นรับรางวัลนักแสดงนำหญิง) แต่ยังช็อคคนดูแบบถ้วนหน้าอีกด้วย เมื่อพิจารณาว่าหนังทั้งสองเรื่องนั้นได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์โดยรวม (และรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์) ไม่ค่อยสู้ดีนัก “ฉันคิดว่า แอนน์ แฮทธาเวย์ จะเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน ฉันไม่เคยคิดเลยสักนิดว่าตัวเองจะได้รางวัลจาก Revolutionary Road มันช่างวิเศษสุด เพราะฉันไม่เคยได้ลูกโลกทองคำมาก่อน แต่คืนนี้กลับได้พร้อมกันถึงสองรางวัล” วินสเล็ทให้สัมภาษณ์หลังเวที

นักแสดงคนล่าสุดที่สร้างปรากฏการณ์แบบเดียวบนเวทีลูกโลกทองคำ คือ ซิกเกอร์นีย์ วีเวอร์ ซึ่งคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิง (ดราม่า) มาครองจาก Gorillas in the Mist พร้อมกับนักแสดงสมทบหญิงจาก Working Girl ข่าวร้ายสำหรับวินสเล็ทอยู่ตรงที่ วีเวอร์เดินหน้าเข้าชิงออสการ์ทั้งสองสาขาตามคาด แต่สุดท้ายกลับชวดหมด! ฝันร้ายยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เดิมพันที่เพิ่มเข้ามาสำหรับวินสเล็ท คือ ถ้าเธอได้เข้าชิงออสการ์ทั้งสองสาขาตามคาดและพลาดรางวัล เธอจะกลายเป็นราชินีกินแห้วตลอดกาลจากการเข้าชิง 7 ครั้งและพลาดหมด แทนที่เจ้าของตำแหน่งเดิมอย่าง เดโบราห์ เคอร์ และ เธลมา ริตเตอร์ ซึ่งเคยเข้าชิงคนละ 6 ครั้ง ส่วนเจ้าของสถิติฝ่ายชายยังคงเป็น ปีเตอร์ โอ’ทูล ซึ่งชวดรางวัลทั้งหมด 8 ครั้ง แต่น่าทึ่งกว่าอยู่ตรงที่ทั้งหมดล้วนเป็นสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

ในส่วนของสาขานักแสดงนำหญิง วินสเล็ท, แฮทธาเวย์, เมอรีล สตรีพ ถือว่าเป็นสามตัวเก็งที่นอนมา ส่วน แซลลี่ ฮอว์กินส์ ก็จะน่าขี่กระแส “ขวัญใจนักวิจารณ์” ควบรางวัลลูกโลกทองคำนักแสดงนำหญิง (เพลง/ตลก) เข้าชิงได้เป็นคนที่สี่ แม้ SAG จะมองข้ามเธอไป คราวนี้ ปัญหาน่าจะอยู่ตรงตำแหน่งสุดท้าย ซึ่งคงเป็นการแย่งชิงกันระหว่าง แองเจลิน่า โจลี่ (Changeling) เมลิสสา ลีโอ (Frozen River) คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long) และ เคท บลันเช็ตต์ (The Curious Case of Benjamin Button) คนแรกได้เปรียบตรงการเข้าชิงลูกโลกทองคำและ SAG อย่างครบถ้วน แต่เธอเคยยืนอยู่ ณ ตำแหน่งนี้มาแล้วเมื่อสิบสองเดือนก่อน (จาก A Mighty Heart) ซึ่งลงเอยด้วยการพลาดรถด่วนขบวนสุดท้าย คนที่สองเข้าชิง SAG เพียงอย่างเดียว แต่กวาดคำชมจากนักวิจารณ์มาอย่างท่วมท้น คนที่สามเข้าชิงลูกโลกทองคำ แต่ถูก SAG และรางวัลของสมาคมนักวิจารณ์ต่างๆ มองข้าม ส่วนคนสุดท้ายอาการหนักสุด ถือได้ว่ากำลังเข้าขั้นโคม่าเนื่องจากพลาดการเข้าชิงทั้งลูกโลกและ SAG แถมนักวิจารณ์ยังเมินใส่ แต่ต้องไม่ลืมว่าเธอเป็นขวัญใจออสการ์และหนังของเธอก็มีภาษีดีกว่าคนอื่นๆ

ชัยชนะของ มิคกี้ รู้ค (The Wrestler) บนเวทีลูกโลกทองคำถือว่าชวนเซอร์ไพรซ์ไม่น้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้ ฌอน เพนน์ (Milk) ถือไพ่เหนือกว่ามาตลอดในระหว่างการประกาศผลรางวัลของเหล่าสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลาย คนส่วนใหญ่คาดว่า SAG จะมอบรางวัลให้แก่เพนน์ แต่ถ้ารู้คยังคว้าชัยมาครองอีกครั้ง ความฝันที่จะได้ออสการ์ของเขาก็ถือว่าอยู่แค่เอื้อม

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคงได้เข้าชิงออสการ์แบบนิ่มๆ เช่นเดียวกับ แฟรงค์ แลนเกลล่า (Frost/Nixon) ส่งผลให้อีกสองตำแหน่งที่เหลือต้องเป็นการฟาดฟันกันระหว่าง แบรด พิทท์ (The Curious Case of Benjamin Button) คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino) ริชาร์ด เจนกินส์ (The Visitor) และ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Revolutionary Road) คนแรก เช่นเดียวกับภรรยาของเขา ได้เปรียบตรงการเข้าชิงลูกโลกทองคำและ SAG แบบครบถ้วน แถมยังได้กระแสหนังช่วยผลักดัน แต่ทักษะของเขาอาจถูกเทคนิคพิเศษขโมยซีน คนที่สองแม้จะไม่ได้เข้าชิงอะไรเลย แต่เขาชื่อ คลินท์ นามสกุล อีสต์วู้ด ฉะนั้น ออสการ์จึงไม่เคยมองข้าม สังเกตได้จากการหลุดเข้าชิงนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในช่วงโค้งสุดท้ายจาก Million Dollar Baby แม้เขาจะพลาดการเข้าชิงทั้งลูกโลกทองคำและ SAG มาก่อนหน้า คนที่สามได้เข้าชิง SAG แต่ตัวหนังอาจเล็กเกินกว่าจะเรียกคะแนนเสียงจำนวนมากจากคณะกรรมการได้ ส่วนคนสุดท้ายอาจพลาดการเข้าชิง SAG แต่เขาเป็นหนึ่งในลูกรักออสการ์ระยะหลังๆ

สาขาที่เหมือนจะถูกเขียนบทไว้เรียบร้อยแล้ว คือ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ซึ่งชัยชนะบนเวทีออสการ์คงตกเป็นของ ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight) อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงแบบเดียวกับลูกโลกทองคำ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการแสดงอันน่าจดจำของเขา สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการจากไปก่อนเวลาอันควร และอีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเขาแทบจะปราศจากคู่แข่งระดับพระกาฬ โดยสองคนที่รับประกันการเข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Doubt) ซึ่งมีออสการ์อยู่แล้วจากการคว้าชัยเหนือเลดเจอร์ในสาขานักแสดงนำชายเมื่อสามปีก่อน และ จอช โบรลิน (Milk) ซึ่งต่อยอดจาก No Country for Old Men เมื่อปีก่อนได้อย่างยอดเยี่ยม

ส่วนอีกสองตำแหน่งที่เหลือ คงเป็นการงัดข้อกันอย่างสูสีระหว่าง โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Tropic Thunder) ไมเคิล แชนนอน (Revolutionary Road) เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky) และ เดฟ พาเทล (Slumdog Millionaire) ซึ่งน่าจะเกาะกระแสหนัง “ตัวเก็งอันดับหนึ่ง” เข้าชิงได้สำเร็จ แม้หลายคนจะวิจารณ์ว่าทักษะทางการแสดงของเขานั้นไม่ได้น่าประทับใจขนาดนั้น สาเหตุหลักที่เขาเบียดเข้าชิง SAG ได้สำเร็จ เพราะเหล่านักแสดง “หลงรัก” หนังเรื่องนี้อย่างหมดใจ และต้องการแสดงความรักให้ประจักษ์ชัดนอกจากการให้ Slumdog Millionaire เข้าชิงในสาขากลุ่มนักแสดงยอดเยี่ยม

ถึงแม้จะพลาดรางวัลลูกโลกทองคำ แต่เต็งหนึ่งสำหรับออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมยังคงเป็น เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona) ซึ่งกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบกระบุงโกย หาใช่ เคท วินสเล็ท (แต่คนหลังก็ยังมีโอกาสพลิกมาชนะอยู่เหมือนกัน หากกรรมการไม่อยากให้เธอต้องอกหักซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนกับกรณีของลูกโลกทองคำ) โดยอีกสามคนที่น่าจะได้เข้าชิงร่วมกันในสาขานี้ ได้แก่ ไวโอลา เดวิส (Doubt) ทาราจี พี. เฮนสัน (The Curious Case of Benjamin Button) และ มาริสา โทเม (The Wrestler) โดยคนหลังสุด แม้จะพลาดการเข้าชิง SAG แต่คาดว่าออสการ์จะแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว พร้อมกับผลัก เอมี่ อดัมส์ (Doubt) ให้หลุดจากวงโคจร

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คงจะดีหากเราได้ดูหนังหวังรางวัลทุกเรื่องก่อนประกาศเนาะ

แล้วเรื่องไหน จะไม่ได้เข้าโรงบ้านเรามั่ง ทราบป่ะคับ...

Riverdale กล่าวว่า...

^
^
^
ตอนนี้ยังไม่มีใครซื้อ Slumdog Millionaire มาฉายครับ แต่ว่าแผ่นผีสามารถหาซื้อได้แล้วทางเน็ท (หลุดมาจากสกรีนเนอร์) และสามารถหาโหลดได้ทั่วไป -*-

rommoor กล่าวว่า...

อืม สลัมดอกมีคนซื้อมาแล้วป่าวครับ
เหนว่าเข้าประมาณสิ้นเดือนกุมภานี้

;ว่าbutton น่าจะยังอกหักต่อไปนะคับ
ได้แค่ make up รางวัลเดียว รึเปล่า