วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 16, 2552

Oscar 2009: Best Picture


The Curious Case of Benjamin Button

เบื้องหน้า: ท่ามกลางพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาที่กำลังโหมกระหน่ำอยู่นอกโรงพยาบาล คาโรไลน์ (จูเลีย ออร์มอนด์) ได้อ่านบันทึกของชายคนหนึ่งให้แม่ผู้กำลังจะลาจากโลกนี้ไปฟัง เขามีชื่อว่า เบนจามิน บัตตัน (แบรด พิทท์) ชายที่ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้รูปการณ์อันผิดปรกติ โดยในวันนั้น (11 พฤศจิกายน 1918 วันสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) คุณหมอทำคลอดบอกว่าสภาพร่างกายเขาเสื่อมโทรมและอ่อนแอไม่ใช่แบบเดียวกับเด็กแรกเกิดทั่วไป แต่ในลักษณะเดียวกับชายชราวัยใกล้ฝั่ง

แต่เบนจามินกลับไม่ตาย เขาถูกพ่อผู้ร่ำรวยทอดทิ้งและได้รับการอุ้มชูเลี้ยงดูโดย ควีนนี่ (ทาราจี พี. เฮนสัน) พนักงานผิวดำประจำบ้านพักคนชราในนิวออร์ลีนส์ จากนั้นสภาพร่างกายของเขาก็เริ่มย้อนกลับ เมื่ออายุได้ 7 ขวบ เขาดูเหมือนตาแก่บนเก้าอี้รถเข็น สวมแว่นตาหนาเตอะ เขาฝึกเรียนเปียโน แล้วเริ่มสนิทชิดเชื้อกับ เดซีย์ ฟูลเลอร์ เด็กหญิงซึ่งต่อมากลายเป็นรักแท้เพียงหนึ่งเดียวของเขา

ในช่วงวัยรุ่น เบนจามิน ซึ่งมีหน้าตาคล้ายชายวัย 60 ปี ได้ทำงานบนเรือโยงของกัปตันไมค์ (จาเร็ด แฮร์ริส) เรียนรู้การดื่มเหล้าและเพศสัมพันธ์ จนเมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่มเต็มตัว (ในสภาพชายวัย 50 ปี) เขาก็เดินทางไปรัสเซีย แล้วสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ อลิซาเบ็ธ แอ็บบ็อต (ทิลด้า สวินตัน) ภรรยาของพ่อค้าชาวอังกฤษ ก่อนจะกลับมาหาเดซีย์ (เคท บลันเช็ตต์) ซึ่งขณะนี้เติบใหญ่เป็นนักเต้นผู้เปี่ยมความทะเยอทะยาน

ขณะเขายิ่งหนุ่มแน่นขึ้น ส่วนเธอก็ยิ่งแก่ตัวลง ช่วงเวลาแห่งความมหัศจรรย์ถือกำเนิด เมื่อพวกเขาบรรจบพบกันตรงกึ่งกลางของชีวิต แต่น่าเศร้าที่เวลาไม่อาจหยุดนิ่งให้เราดื่มด่ำได้ตลอดไป

เบื้องหลัง: การแก่ชราไปตามวัยถือเป็นประเด็นที่ฮอลลีวู้ดมักจะหลีกเลี่ยงมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นับจาก สตีเวน สปีลเบิร์ก และ จอร์จ ลูคัส พิสูจน์ให้เห็นขุมทองขนาดใหญ่ในดินแดนเนเวอร์แลนด์ หรือโลกแห่งจินตนาการของวัยเด็ก สถานที่ซึ่งความอ่อนเยาว์ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ส่วนความตายกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขาน ด้วยเหตุนี้ การปรากฏตัวขึ้นอย่างฉับพลันของหนังสตูดิโอฟอร์มยักษ์เรื่อง The Curious Case of Benjamin Button ซึ่งพูดถึงความไม่จีรังแห่งชีวิตมนุษย์ ผ่านเทคนิคดิจิตอลอันลึกล้ำ ซับซ้อน ที่ฮอลลีวู้นิยมใช้ชุบชีวิตความเป็นเด็ก จึงถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง

บทหนังที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นปี 1922 ขนาด 9,000 คำของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิทซ์เจอรัลด์ เริ่มวนเวียนอยู่ในแวดวงนับแต่ทศวรรษ 1980 เมื่อ โรบิน สวิคอร์ด (Little Women) เขียนร่างแรกให้ผู้อำนวยการสร้าง เรย์ สตาร์ค และได้รับความสนใจจากหลายคนตั้งแต่สปีลเบิร์กไปจนถึง เดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งขณะนั้นยังทำงานเป็นช่างเทคนิคพิเศษใน ILM ของลูคัส

“ผมคิดว่าบทหนังงดงามมาก มันเป็นหนังรักที่ยิ่งใหญ่” ฟินเชอร์เล่า “แต่ตอนนั้นผมสนใจโครงการอื่นอยู่” การณ์ปรากฏในเวลาต่อมาว่า โครงการที่เขาสนใจนั้นดูเหมือนจะเต็มไปด้วยอารมณ์ตึงเครียดและความรุนแรงตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษ อาทิ Se7en, Fight Club, Panic Room และ Zodiac อย่างไรก็ตาม The Curious Case of Benjamin Button ยังคงเวียนว่ายต่อไป แต่คราวนี้บทถูกเขียนขึ้นใหม่โดย อีริค ร็อธ เจ้าของรางวัลออสการ์จาก Forrest Gump ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้กำกับหลายคน หนึ่งในนั้นคือ สไปค์ จอนซ์ เพื่อนสนิทของฟินเชอร์ ก่อนมันจะมาลงเอยบนโต๊ะทำงานของฟินเชอร์อีกครั้ง คราวนี้ผ่านทีมโปรดิวเซอร์อย่าง แคธลีน เคนเนดี้ และ แฟรงค์ มาร์แชล

ความเป็นหนังพีเรียด ถ่ายทำในหลายโลเกชั่น ทีมนักแสดงกลุ่มใหญ่ และเทคนิคพิเศษสุดแสนวุ่นวาย ทำให้ทุกคนตระหนักดีว่าโครงการนี้ต้องมีราคาแพงแน่นอน หลายปีจึงผ่านไปโดยปราศจากความคืบหน้าจนกระทั่ง แบรด พิทท์ ซึ่งเคยร่วมงานกับฟินเชอร์ใน Se7ven และ Fight Club แสดงท่าทีสนใจ ทุนสร้าง 135 ล้านดอลลาร์ดูจะมีความเป็นไปได้เนื่องจากข้อเสนอให้ยกเลิกภาษีของรัฐนิวออร์ลีนส์ “ทันทีที่ผมแก้ฉากหลังจากบัลติมอร์เป็นนิวออร์ลีนส์” ร็อธกล่าว “ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปอีกทางหนึ่ง เพราะกระทั่งก่อนเกิดเหตุพายุถล่ม นิวออร์ลีนส์เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

บทหนังของร็อธแทบจะไม่เหลือเค้าเดิมของเรื่องสั้น หรือบทร่างแรกของสวิคอร์ดเลย “นอกจากแก่นหลักของหนังและชื่อตัวละครตัวสองตัว” ร็อธกล่าว “โรบินเป็นคนตั้งชื่อนางเอกของเรื่องว่าเดซีย์ เพื่อคารวะ The Great Gatsby ของฟิทซ์เจอรัลด์ ตัวละครอย่างควีนนี่ห่างไกลจากพี่เลี้ยงในเรื่องสั้นมาก เพราะฟิทซ์เจอรัลด์เขียนให้พ่อแม่ของเบนจามินยังมีชีวิตอยู่ แต่ในหนังเขาสูญเสียพ่อแม่ในสายเลือดไป”

นอกจากนี้ บทของควีนนี่ยังถูกอัพเกรดความสำคัญขึ้นอย่างชัดเจน “ในเรื่องสั้นเธอเป็นแค่พี่เลี้ยง” ทาราจี พี. เฮนสัน ผู้รับบทควีนนี่ กล่าว “แต่ร็อธเปลี่ยนให้เธอกลายเป็นเหมือนคุณแม่บุญธรรมของเบนจามิน สำหรับฉัน ฉากที่เธอบอกกับเบนจามินว่า บางครั้งผู้คนจะตัดสินเขาจากรูปลักษณ์ภายนอก เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร ให้ความรู้สึกเหมือนผู้หญิงผิวดำกำลังสั่งสอนลูกชายผิวดำมากๆ ฉันเคยพูดแบบเดียวกันนี้กับลูกชายหลายครั้ง มันเป็นฉากที่อ่อนโยนและน่ารักที่สุด”


Frost/Nixon

เบื้องหน้า: ฤดูร้อนปี 1977 การออกอากาศบทสัมภาษณ์ ริชาร์ด นิกสัน (แฟรงค์ แลนเกลลา) โดยนักข่าวชาวอังกฤษ เดวิด ฟรอสต์ (ไมเคิล ชีน) สามารถเรียกเรตติ้งได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของรายการข่าวในอเมริกา โดยมีผู้ชมกว่า 45 ล้านคนกดรีโมทมาฟังความคิดเห็นของอดีตประธานาธิบดี ด้วยความอยากรู้ว่าเขาจะเอ่ยอะไรถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดจนส่งผลให้เขาต้องหลุดออกจากตำแหน่ง พวกเขาตั้งตาชมเป็นเวลาสี่วัน ขณะนิกสันกับฟรอสต์ปะทะคารมกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ราวกับกำลังขึ้นชกไฟท์สำคัญโดยมีชีวิตเป็นเดิมพัน ทั้งสองตระหนักดีว่าผลลัพธ์ไม่มีทางเสมอตัว... และเพียงคนเดียวเท่านั้นจะกลายเป็นผู้ชนะ

การถ่ายทอดดังกล่าวได้ชุบชีวิตรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการเมือง และสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้คนทั่วประเทศ เมื่อนิกสันเผลอพูดประโยคเด็ดออกมาโดยเขาเองก็คงไม่ตระหนักว่ามันสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเขามากเพียงใด

ชายทั้งสองล้วนกำลังค้นหาหนทางไถ่บาป ฟรอสต์เป็นนักข่าวและนักล้อเลียนการเมืองชื่อดัง แต่กำลังตกต่ำอย่างหนักจนต้องไปทำรายการอย่าง David Frost Presents the International Guinness Book of World Records เขาสูญเสียพลังดึงดูดผู้ชมและต้องหาเงินให้ได้ 2 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดรายการสัมภาษณ์นิกสัน ส่วนอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ก็กำลังปลีกวิเวกเพื่อหลบเลียแผลหลังคดีอื้อฉาววอเตอร์เกทบีบให้เขาต้องลาออกจากทำเนียบขาว ทั้งสองมองเห็นการสัมภาษณ์เป็นเหมือนโอกาสที่จะแก้ตัว แล้วหวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง

เบื้องหลัง: สามปีหลังจากทำหนังอย่าง Cinderella Man ผู้กำกับ รอน โฮเวิร์ด ได้หวนคืนสู่สังเวียนมวยอีกครั้ง (ในเชิงสัญลักษณ์) โดยคราวนี้เป็นการปะทะกันของพิธีกรข่าวชาวอังกฤษ เดวิด ฟรอสต์ กับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน บนเวทีสัมภาษณ์ครั้งประวัติศาสตร์ พวกเขาทั้งสองล้วนมีทีมพี่เลี้ยงที่จะคอยป้อนข้อมูลและตระเตรียมความพร้อมสำหรับการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ เหลือเพียงสองสิ่งที่ดูเหมือนจะขาดหายไป คือ กรรมการห้ามมวยและคนพากย์ข้างสนาม

“ทั้งสองมีความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน พวกเขาไม่ได้เกลียดกัน แต่พวกเขาต้องเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้” โฮเวิร์ดกล่าวระหว่างการถ่ายทำในเดือนกันยายนปีก่อน เมื่อทีมงานของเขาได้รับอนุญาตให้เดินทางไปถ่ายทำในบ้านพักตากอากาศของนิกสันที่ซานเคลเมนเต้ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์จาก A Beautiful Mind เล่าว่า เขาตัดสินใจเดินทางไปชมละครเวทีเรื่องนี้ที่ลอนดอน หลังได้ยินเสียงร่ำลือหนาหูทั้งจากคนดูและนักวิจารณ์ถึงความยอดเยี่ยมของนักแสดง รวมถึงบทละครของ ปีเตอร์ มอร์แกน (The Queen) ซึ่งดัดแปลงคร่าวๆ จากบันทึกชีวิตของฟรอสต์เรื่อง Frost/Nixon: Behind the Scenes of the Nixon Interviews และทันทีที่ชมละครจบ โฮเวิร์ดก็โทรศัพท์หาผู้อำนวยการสร้างคู่ใจ ไบรอัน เกรเซอร์ เพื่อบอกว่าเขาอยากทำ Frost/Nixon เป็นภาพยนตร์

บ่อยครั้งนักทำหนังนิยมสร้างฉากหลังขึ้นใหม่เพื่อประหยัดต้นทุน เช่น การจำลองค่ายผู้อพยพอัฟกานิสถานที่ลอสแองเจลิสใน Charlie Wilson’s War หรือการจำลองทุ่งน้ำมันของแคลิฟอร์เนียที่เท็กซัสใน There Will Be Blood แต่โฮเวิร์ดกลับรีบกระโดดคว้าโอกาสที่จะได้ถ่ายหนังในสถานที่จริง แม้ว่ามันจะส่งผลให้งบประมาณต้องบานปลายก็ตาม เจ้าของคนปัจจุบันของบ้านริมทะเลที่นิกสันเคยอาศัยอยู่กล่าวว่า ไม่เคยมีกองถ่ายหนังเรื่องไหนได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำมาก่อน “เราต้องเดินเรื่องกันวุ่นวายมากๆ” นักออกแบบงานสร้าง ไมเคิล คอเคนบลิธ กล่าว แต่ความรู้สึกสมจริงของบรรยากาศ ซึ่งทีมงานสามารถสัมผัสได้ตั้งแต่นาทีแรกที่ก้าวผ่านประตูเข้าไป ถือได้ว่าคุ้มค่าความลำบากเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสมจริงทั้งหลาย Frost/Nixon ไม่ได้มีเป้าหมายเดียวกับหนังสารคดี ตรงกันข้าม มันผสมผสานการตีความ บทพูดที่เขียนขึ้นใหม่ และบทสัมภาษณ์จริงๆ ที่ออกอากาศ เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนเพื่อเร้าอารมณ์ดราม่า รวมถึงเพื่อสะท้อนให้เห็นประเด็นที่ใหญ่โตขึ้น นั่นคือ อำนาจ ความหยิ่งทะนง และชื่อเสียง การเมืองอาจเป็นจุดสำคัญของเรื่องราว แต่ Frost/Nixon ให้ความสนใจกับจิตวิทยามากกว่าการวิพากษ์รัฐบาล “ทั้งสองเป็นคนรักสันโดษ” โฮเวิร์ดอธิบายตัวละครเอกของเขา “แต่พร้อมจะก้าวกระโดดมายืนกลางเวที ณ นาทีสำคัญ และช่วงเวลาดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของพวกเขา”

การได้สองนักแสดงจากละครเวทีมารับบทเดิมทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับโฮเวิร์ด พวกเขาตัดสินใจหยุดเล่นละครเพียงสี่วันก่อนหนังเปิดกล้อง กระนั้นโฮเวิร์ดไม่ต้องการจะคัดลอกละครเวทีทั้งดุ้นมาไว้บนแผ่นฟิล์ม “ผมรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดอยู่ตรงการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองตัวละครเอกกับทีมงานให้ลึกซึ้งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บทละครไม่ได้เน้นย้ำ” ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะปล่อยให้ เจมส์ เรสตัน จูเนียร์ (พี่เลี้ยงทางฝั่งฟรอสต์) กับ แจ๊ค เบรนแนน (พี่เลี้ยงทางฝั่งนิกสัน) เป็นคนเล่าเรื่องเหมือนในละคร โฮเวิร์ดได้เปลี่ยนพวกเขาเป็นตัวละครสำคัญในหนัง รับบทโดย แซม ร็อคเวล และ เควิน เบคอน ตามลำดับ


Milk

เบื้องหน้า: ฮาร์วีย์ มิลค์ (ฌอน เพนน์) พบรักกับ สก็อตต์ สมิธ (เจมส์ ฟรังโก้) ที่สถานีรถไฟใต้ดิน ก่อนทั้งสองจะย้ายไปเปิดร้านขายกล้องถ่ายรูปในย่านแคสโตรของเมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งขณะนั้น (ปลายทศวรรษ 1970) เปรียบเสมือนนครเมกกะแห่งรักร่วมเพศ มิลค์เริ่มก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกันของเกย์และเลสเบี้ยน ก่อนความทะเยอทะยานทางการเมืองจะครอบงำเขา แล้วทำลายสายสัมพันธ์รักระหว่างเขากับสมิธ โดย ในช่วงเดียวกันนี้ มิลค์ยังมีโอกาสได้รู้จัก แดน ไวท์ (จอช โบรลิน) นักการเมืองขวาจัดที่ต่อต้านรักร่วมเพศ และชิงชังความป็อปปูล่าของมิลค์

หลังจากล้มเหลวมาสามครั้งติดๆ กัน ในที่สุดมิลค์ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในคณะผู้ตรวจการแห่งซานฟรานซิสโก ชัยชนะดังกล่าวทำให้เขากลายเป็นนักการเมืองอเมริกันคนแรกที่เปิดเผยตัวต่อสาธารณชนว่าเป็นรักร่วมเพศ ด้วยแรงสนับสนุนจากคู่รักคนใหม่ แจ๊ค ลิรา (ดิเอโก ลูนา) มิลค์ดำเนินการผลักดันกฎหมายเพื่อช่วยไม่ให้เกย์และเลสเบี้ยนถูกไล่ออกจากงานเพียงเพราะอคติทางเพศ พร้อมกันนั้นเขาก็รณรงค์คว่ำร่างกฎหมายที่ห้ามไม่ให้รักร่วมเพศมีอาชีพเป็นครู แนวทางการต่อสู้ของมิลค์สร้างความไม่พอใจให้กับไวท์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฝ่ายหลังตัดสินใจลาออกจากคณะผู้ตรวจการ

ต่อมาไวท์ได้พยายามจะขอร้องให้นายกเทศมนตรี จอร์จ มอสโคน (วิคเตอร์ การ์เบอร์) คืนตำแหน่งเดิมให้เขา แต่เสียงโน้มน้าวของมิลค์ส่งผลให้มอสโคนตอบปฏิเสธคำขอ โดยหารู้ไม่ว่านั่นจะกลายมาเป็นเสมือนคำสั่งประหารของเขาและมิลค์

เบื้องหลัง: หลายปีก่อนลงมือถ่ายทำ Milk เวอร์ชั่นปัจจุบัน ผู้กำกับ กัส แวน แซนท์ เคยจินตนาการภาพมิลค์ แต่งตัวเป็น โรนัลด์ แม็คโดนัลด์ ขณะไวท์ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะ “จิตตก” จากการบริโภคน้ำตาลเข้าไปมากเกิน มองเห็นตัวเองเป็นนายอำเภอก่อนยิงนายกเทศมนตรีมอสโคนกับฮาร์วีย์เสียชีวิต (ในคำแก้ต่างชั้นศาล ทนายของไวท์อ้างว่าลูกความเผชิญความเครียดและความเปลี่ยนแปลงของเคมีในร่างกายจากการกินอาหารขยะเข้าไปเป็นจำนวนมากก่อนวันเกิดเหตุ มันกลายเป็นที่มาของคำว่า “Twinkie defence” อันลือลั่น) แวน แซนท์เรียกเวอร์ชั่นดังกล่าวว่าเป็น Milk ฉบับ ชาร์ลี คอฟแมน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้กำกับรักร่วมเพศอย่างแวน แซนท์จะได้รับข้อเสนอหลายครั้งให้นำเรื่องราวของมิลค์มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เริ่มต้นจากยุคแรกๆ ภายใต้การผลักดันของ โอลิเวอร์ สโตน ซึ่งแวน แซนท์ขอถอนตัวออกมาเนื่องจากมีความเห็นแตกต่างในเรื่องบท จนกระทั่งเวอร์ชั่นแม็คโดนัลด์ข้างต้นที่เขาเขียนบทเอง ก่อนจะมาลงเอยด้วยเวอร์ชั่นล่าสุดฝีมือของมือเขียนบทวัย 34 ปี อดีตมอร์มอนเคร่งศาสนา ดัสติน แลนซ์ แบล็ค ที่เน้นแง่มุมการต่อสู้ทางการเมืองของมิลค์เป็นหลัก (เนื้อหาเกี่ยวกับ Twinkie defence และโทษจำคุกเจ็ดปีของไวท์ถูกผลักให้กลายเป็นเพียงคำบรรยายก่อนเครดิตท้ายเรื่อง)

แม้การเมืองจะเป็นหัวใจแห่งเรื่องราว แต่ Milk แตกต่างจากหนังชีวิตประวัติ “ฮีโร่แห่งมวลชน” ทั่วๆ ไปอยู่ไม่น้อย สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะบุคลิกเปี่ยมสีสันของมิลค์ ส่วนอีกสาเหตุเกิดจากการสะท้อนความสนใจหลักของแวน แซนท์ นั่นคือ ชีวิตและความผูกพันของเหล่าคนชายขอบ ใกล้เคียงกับหนังในยุคแรกของแวน แซนท์อย่าง Drugstore Cowboy และ My Own Private Idaho

ช่วงสุดท้ายของ Milk โฟกัสไปยังสงครามคว่ำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1978 (Prop.6) ซึ่งจะกีดกันไม่ให้รักร่วมเพศมีอาชีพเป็นครูในสถานบันการศึกษาของรัฐ (ผลลัพธ์คือมิลค์ประสบชัยชนะ) แต่สามสิบปีต่อมา Prop.8 ซึ่งห้ามไม่ให้รักร่วมเพศแต่งงานกัน กลับถูกเห็นชอบจากมวลชนท่ามกลางความไม่พอใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยนจำนวนมาก ในยุคของ บารัค โอบามา หนังอย่าง Milk สะท้อนให้เห็นแง่มุมการมองโลกแง่ดีที่คล้ายคลึงกันบางอย่าง โดยเช่นเดียวกับโอบามา มิลค์ใช้เรื่องราวส่วนตัวเพื่อผลักดันประเด็นทางการเมือง กระตุ้นให้พันธมิตรของเขาออกจากเงามืดมาแสดงพลัง นอกจากนี้ เขายังกล่าวเชิดชูความหวังในการปราศรัยหลายครั้งด้วย “ผมรู้ว่าเราไม่สามารถมีชีวิตโดยอาศัยความหวังเพียงอย่างเดียว แต่หากปราศจากมัน ชีวิตของเราก็ไร้ค่า”

มิลค์ได้ท้าทายระบบความคิดแบบดั้งเดิมทางการเมือง “เขาเป็นนักอุดมคติ” แวน แซนท์ เจ้าของผลงานเชิงทดลองอย่าง Gerry, Elephant, Last Days และ Paranoid Park กล่าว “เขาพูดในสิ่งที่กระทั่งผู้สนับสนุนเขายังไม่กล้าแม้แต่จะฝัน เช่น เกย์ก็สามารถเป็นนักการเมืองระดับแนวหน้าได้” และเขาก็พิสูจน์คำพูดดังกล่าวในฉากหนึ่งด้วยการสลัดภาพลักษณ์แบบฮิปปี้ทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นกางเกงยีน ผมหางม้า หนวดเครา และมาดเซอร์ๆ แล้วหันมาสวมชุดสูทสามชิ้นอย่างเป็นทางการแทนเพื่อสร้างการยอมรับในวงกว้าง

จากความเห็นของผู้อำนวยการสร้าง บรูซ โคเฮน Milk เป็นผลงานที่แวน แซนท์คลุกเคล้าสไตล์หนังทดลองแบบ Elephant เข้ากับแนวทางของหนังในกระแสหลักอย่าง Good Will Hunting ได้อย่างลงตัว “มันให้ความรู้สึกของมหากาพย์ทางการเมือง แต่เอกลักษณ์เฉพาะตัวของกัสยังคงโดดเด่น เขาทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังประสบเรื่องราวเหล่านั้นมากกว่าแค่เฝ้ามองมัน”


The Reader

เบื้องหน้า: วันหนึ่งในปี 1958 เด็กชายวัย 15 ปี ไมเคิล เบิร์ก (เดวิด ครอส) เกิดป่วยหนักระหว่างทางกลับบ้าน เขาได้รับความช่วยเหลือจาก ฮันนา ชมิทซ์ (เคท วินสเล็ท) สาววัย 36 ปีที่ทำงานเป็นพนักงานเก็บเงินบนรถราง ทั้งสองลงเอยด้วยการสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งเป็นเวลาหลายเดือน โดยเธอสอนเขาให้รู้จักโลกแห่งกามารมณ์ ส่วนเขาก็ตอบแทนด้วยการอ่านหนังสือให้เธอฟังตามคำขอ จนกระทั่งฮันนาหายตัวไปอย่างลึกลับโดยไม่กล่าวลา สร้างความรู้สึกเจ็บปวดแบบฝังลึกให้แก่ไมเคิล

แปดปีต่อมา ขณะเป็นนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย ไมเคิลได้เดินทางไปยังศาลเพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการพิพากษาคดีของเหล่าอดีตนาซี ที่นั่น เขาได้พบฮันนาโดยบังเอิญ เธอตกเป็นจำเลยในข้อหาอาชญากรสงคราม เนื่องจากระหว่างช่วงนาซีเรืองอำนาจเธอเคยรับตำแหน่งยามคุมค่ายกักกัน และคืนหนึ่งปล่อยให้เหล่านักโทษชาวยิวจำนวนมากถูกไฟครอกตายในโบสถ์ เขาเดินทางไปฟังการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งค้นพบความลับบางอย่างเกี่ยวกับฮันนา ความลับที่อาจช่วยให้เธอพ้นโทษสูงสุด ความลับที่สร้างความละอายอย่างใหญ่หลวงแก่ฮันนาและผลักดันให้เธอกระทำทุกอย่างเพื่อปกปิดมันไว้

แต่เขาควรจะยื่นมือเข้าไป “ตัดสินใจ” แทนเธอด้วยการเปิดเผยความลับนั้นหรือ

เบื้องหลัง: นิยายขายดีเรื่อง The Reader ของ เบอร์นาร์ด ชลิงค์ ถือเป็นปรากฏการณ์แห่งแวดวงวรรณกรรมในประเทศเยอรมัน ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ 39 ภาษา ขายได้ในอเมริกากว่า 1 ล้านเล่ม และถูกบรรจุเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในโรงเรียนมัธยม “ไม่มีชาวเยอรมันคนใดที่ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้” ผู้กำกับ สตีเฟ่น ดัลดรี้ กล่าว ผู้กำกับชาวเยอรมันหลายคนสนใจอยากดัดแปลง The Reader เป็นภาพยนตร์ แต่ชลิงค์ต้องการให้เรื่องราว ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงความรู้สึกผิดบาปของชาวเยอรมันจากประวัติศาสตร์นาซีกลายเป็นหนัง “นานาชาติ”

“ชลิงค์อยากให้หนังพูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาเยอรมัน” ดัลดรี้อธิบาย “ประเด็นคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในยุคสมัยหลังสงครามล้างเผ่าพันธุ์ การใช้ชีวิตท่ามกลางตราบาปแห่งอดีต หรือคำถามที่ว่าคุณจะสามารถรักคนที่เคยทำกระทำความผิดร้ายแรงมาก่อนได้อย่างไร และเมื่อคุณค้นพบว่าเขาคนนั้นเคยทำอะไรมา ความรักของคุณจะเหือดหายไปด้วยไหม ประเด็นคำถามเหล่านี้อาจโดนใจชาวเยอรมันเป็นพิเศษ แต่ผมเชื่อว่ามันสามารถก้าวข้ามเส้นแบ่งทางประวัติศาสตร์ได้”

แรกทีเดียวลิขสิทธิ์ในการสร้าง The Reader ตกอยู่ในมือของ แอนโธนีย์ มินเกลลา ซึ่งตั้งใจจะดัดแปลงมันเป็นภาพยนตร์ด้วยตัวเอง แต่ตลอดหลายปีแห่งความไม่คืบหน้าใดๆ ดัลดรี้ ซึ่งรู้จักมินเกลลาเป็นการส่วนตัว พยายามเซ้าซี้ขอทำแทน พร้อมกระแตง เดวิด ฮาร์ คนเขียนบทซึ่งเคยร่วมงานกันใน The Hours ติดมาด้วย จนสุดท้ายเจ้าของรางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The English Patient ก็ยอมตามคำขอ พร้อมโยกมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างร่วมกับ ซิดนีย์ พอลแล็ค (ทั้งคู่เสียชีวิตก่อนหนังจะเสร็จสมบูรณ์)

นอกเหนือจาก เคท วินสเล็ท, ลีนา โอลิน (รับบทเหยื่อรอดชีวิตจากค่ายกักกัน) และ เรฟ ไฟนส์ (รับบทไมเคิลตอนโต) แล้ว นักแสดงส่วนใหญ่ล้วนเป็นดาราดังชาวเยอรมัน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนในท้องถิ่น กระทั่งบรรดาตัวประกอบเดินผ่านหน้ากล้องยังมีแฟนๆ มาขอลายเซ็นระหว่างการถ่ายทำ ตรงกันข้าม ตัวเอกของเรื่องอย่าง เดวิด ครอส กลับเป็นนักแสดงหน้าใหม่ถอดด้าม โดยเขายังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมในเมืองบ้านนอกเล็กๆ ตอนถูกคัดเลือกให้มารับบทนำและที่สำคัญ ยังอายุไม่ครบ 18 ปี ส่งผลให้ดัลดรี้ต้องตัดสินใจรอคอยจนกระทั่งเขาอายุครบเกณฑ์ก่อนจึงค่อยเริ่มเปิดกล้อง เนื่องจากหนังมีฉากเซ็กซ์ร้อนแรงและเปิดเผยค่อนข้างมากจนอาจมีปัญหาทางกฎหมายตามมา หากนักแสดงที่รับบทไมเคิลยังเป็นผู้เยาว์ นอกจากนี้ ครอสยังพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้อีกด้วย การเตรียมตัวหลักๆ ของเขาจึงได้แก่ ลงคอร์สเรียนพูดภาษาอังกฤษ

การต้องพูดภาษาที่คุณไม่คุ้นเคยต่อหน้ากล้องและทีมงานจำนวนมากถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณต้องทำมันขณะเปลือยกายหมดจด แล้วมี เคท วินสเล็ท ในสภาพนุ่งลมห่มฟ้าซุกไซ้ไปมา!!

กระแสอื้อฉาวเริ่มต้นขึ้นหลังจากหนังปิดกล้องไปแล้ว เมื่อ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (บริษัทของไวน์สไตน์เป็นคนจัดจำหน่าย The Reader) ขอร้องให้ดัลดรี้ส่งหนังในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ทันกำหนดการเข้าชิงออสการ์และลูกโลกทองคำ ดัลดรี้ค้านหัวชนฝา บอกว่าเขาไม่มีทางตัดหนังเสร็จตามกำหนดแน่นอน (ขั้นตอนตัดต่อทำได้ช้าเนื่องจากในเวลาเดียวกันดัลดรี้ต้องคอยซักซ้อมเหล่านักแสดงในละครเพลง Billy Elliot ให้พร้อมสำหรับการเปิดตัวที่บรอดเวย์) สก็อตต์ รูดิน หนึ่งในผู้อำนวยการสร้างสนับสนุนเขา แต่ไวน์สไตน์ไม่ยอมแพ้ แม้กระทั่งเมื่อข่าวหลุดรอดไปถึงหูของสื่อมวชน ตามมาด้วยการประกาศถอนชื่อออกจากหนังของรูดิน น้อยคนนักที่จะกล้างัดข้อกับไวน์สไตน์ แต่ดัลดรี้ยึดมั่นในสัญชาตญาณทางศิลปะของเขา จนสุดท้ายไวน์สไตน์ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนผัน “ผมมีเวลาเพิ่มมาอีกหนึ่งเดือนในการตัดหนังให้เสร็จ พร้อมทั้งได้ทีมงานชั้นยอดมาช่วยเหลือ ต้องบอกว่าผมรู้สึกสุขใจมากๆ” ดัลดรี้กล่าว


Slumdog Millionaire

เบื้องหน้า: จามาล มาลิค (เดฟ เพเทล) เด็กกำพร้าวัย 18 ปีจากสลัมมุมไบ กำลังค้นพบประสบการณ์แห่งชีวิตที่เขาจะไม่มีวันลืม ทั่วทั้งประเทศต่างจ้องมองเขาเป็นตาเดียว เมื่อเขาเหลือคำถามต้องตอบอีกเพียงหนึ่งข้อ ก่อนจะชนะเงินรางวัล 20 ล้านรูปีในรายการ Who Wants To Be A Millionaire? ของประเทศอินเดีย แต่พอรายการพักเบรกเพื่อเตรียมถ่ายต่อในวันรุ่งขึ้น ตำรวจกลับบุกเข้ามาจับเขาเนื่องจากสงสัยว่าเขากำลังเล่นโกง

เด็กข้างถนนจะรู้เรื่องมากมายเช่นนี้ได้อย่างไร?

ด้วยต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ จามาลจึงเล่าเรื่องราวชีวิตในสลัมของเขากับน้องชายให้นายตำรวจฟัง การผจญภัยบนท้องถนนของพวกเขา การเผชิญหน้าแก๊งอันธพาล และการพบเจอ ลาติกา (ไฟรดา พินโต) หญิงสาวที่เขาหลงรักและต้องสูญเสียเธอไป แต่ละบทในหนังชีวิตของเขาล้วนเฉลยให้เห็นกุญแจ ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการตอบคำถามแต่ละข้อของรายการเกมโชว์ได้อย่างชัดแจ้ง

จากนั้นนายตำรวจก็พลันสงสัยว่าเด็กหนุ่ม ผู้ไม่เคยปรารถนาจะรวยล้นฟ้าอย่างเขา มาทำอะไรในรายการเกมโชว์นี้? เมื่อวันใหม่เริ่มต้นขึ้น และจามาลได้กลับมาตอบคำถามสุดท้ายในรายการ นายตำรวจพร้อมทั้งคนดูอีก 60 ล้านคนกำลังจะค้นพบคำตอบต่อคำถามดังกล่าว

เบื้องหลัง: ส่วนใหญ่เรามักเคยได้ยินแต่คำว่า product placement (การโปรโมตสินค้าในหนัง) แต่ Slumdog Millionaire กลับต้องสูญเงินจำนวนมากเพื่อทำ product displacement เมื่อบริษัท เมอร์ซีเดส-เบนซ์ ยืนกรานให้ทีมงานถอดยี่ห้อรถออกจากหลายฉากในหนังเพราะพวกเขาไม่ต้องการให้ชื่อเสียงสินค้าไปข้องเกี่ยวกับสลัมมุมไบ “เราเลือกใช้รถเบนซ์เพราะตัวละครเป็นพวกมาเฟีย” ผู้กำกับ แดนนี่ บอยล์ ให้สัมภาษณ์ “แต่การจะทำแบบนั้นได้ เราต้องได้รับอนุญาตก่อน และพวกเขาก็ตอบปฏิเสธ”

น่าตลกตรงที่ เมอร์ซีเดส-เบนซ์ กลับไม่มีปัญหา ถ้าโลโก้เดียวกันนั้นจะไปปรากฏบนรถมาเฟียที่จอดอยู่หน้าแมนชั่นสุดหรูกลางกรุงนิวยอร์กเฉกเช่นในหนังฮอลลีวู้ดหลายๆ เรื่อง

นอกจากนี้ ทีมงานยังประสบปัญหากับบริษัทน้ำอัดลมยี่ห้อดังอีกด้วย “ในฉากหนึ่งมีคนเสนอน้ำอัดลมให้พวกเด็กๆ ตามกองขยะ ไม่เพียงพวกเขาจะปฏิเสธไม่ให้ใช้โลโก้เท่านั้น แต่เรายังต้องระบายทับฉลากบนขวดอีกด้วย สุดท้ายเราต้องเสียเงินไปหลายพันปอนด์เพื่อระบายทับยี่ห้อน้ำอัดลม ซึ่งอันที่จริงควรเป็นตัวแทนของการรวมทุกคนบนโลกเป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่หรือ” บอยล์กล่าว

แรกทีเดียว Slumdog Millionaire วางแผนสร้างเป็นหนังพูดภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง จนกระทั่งบอยล์เดินทางไปมุมไบ แล้วพบว่าเด็กชายคนที่เขาอยากให้มารับบทเป็นจามาลวัยเด็กมากที่สุด นั่นคือ อายุช มาเฮช คีเดคาร์ พูดได้แต่ภาษาฮินดู (เขาพอจะพูดภาษาอังกฤษได้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่า) “ผมโทรไปแจ้งข่าวกับทางสตูดิโอว่าเศษหนึ่งส่วนสามของหนังจะพูดภาษาฮินดู” บอยล์เล่า “จำได้ว่าเสียงปลายสายเงียบกริบไปพักหนึ่ง พวกเขาคงคิดว่าผมจิตหลุดไปแล้วและจะเดินทางกลับมาพร้อมหนังเกี่ยวกับโยคะ หรืออะไรทำนองนั้น” อย่างไรก็ตาม บอยล์สร้างความมั่นใจให้กับทางสตูดิโอว่าเขายังมีสติครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมทั้งสัญญาว่าหนังจะ “น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น” หากมีซับไตเติลประกอบ

เพื่อรักษาคำมั่นดังกล่าว บอยล์จึงเสนอไอเดียให้ทำซับไตเติลในรูปแบบคล้ายคำพูดในหนังสือการ์ตูน โดยมันจะล่องลอยอย่างอิสระ ไม่จำกัดตัวเองอยู่ตรงด้านล่างของจอเท่านั้น พร้อมทั้งระบายสีสันสดใส ทั้งนี้เพราะบอยล์ต้องการให้คนดูโฟกัสไปทั่วจอ โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากซับไตเติลแหกกฎในหนังไซไฟของรัสเซียเรื่อง Night Watch (2004) กำกับโดย ทิเมอร์ เบคแมมเบตอฟ

มือเขียนบทชาวอังกฤษ ไซมอน โบฟอย ซึ่งดัดแปลงเรื่องราว “คร่าวๆ” มาจากหนังสือรวมเรื่องสั้น Q&A: A Novel เขียนโดย วิคาส สวารับ เล่าว่าเขาคิดชื่อหนังได้ระหว่างเดินท่องไปตามสลัมมุมไบ แล้วสังเกตเห็นหมาข้างถนนกลุ่มหนึ่งนอนอยู่ในตรอกแคบๆ คับคั่งไปด้วยผู้คน “พวกมันเหมือนจะนอนหลับอยู่ แต่ถ้าสังเกตให้ดี คุณจะเห็นว่าตาข้างหนึ่งของพวกมันเฝ้าเหลือบมองทุกสิ่ง พวกมันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนคนชั้นต่ำระดับล่างที่ดูเหมือนไร้ค่า ไม่รู้อะไรเลย แต่ความจริงแล้วกลับเฝ้าสังเกตทุกอย่างรอบตัว และรู้ไปหมดทุกเรื่อง”

ความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งเงินทั้งกล่องของ Slumdog Millionaire เทียบไปแล้วคงไม่ต่างกับนิทานซินเดอเรลล่า เมื่อพิจารณาว่าก่อนหน้านี้หนังทุนสร้าง 15 ล้านเหรียญเกือบโดนส่งตรงไปยังแผงดีวีดีแล้ว หลังจากวอร์เนอร์ สตูดิโอ สั่งปิดบริษัทลูก วอร์เนอร์ อินดีเพนเดนท์ พิคเจอร์ส (เน้นผลิตหนังอาร์ต/หนังอินดี้/ซื้อหนังต่างประเทศ) ซึ่งออกทุนสร้างให้แก่บอยล์ ก่อน ฟ็อกซ์ เซิร์จไรท์ จะเข้ามาช่วยเหลือด้านเงินทุนและการจัดจำหน่าย “มันเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมมาก หนังเล่าเรื่องราวของเด็กสลัมที่กลายมาเป็นเศรษฐีเงินล้าน และตัวหนังเองก็ประสบชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน ผมไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ มากเท่านี้มาก่อน” ผู้กำกับเจ้าของผลงานในอดีตอย่าง Trainspotting, Shallow Grave และ Millions กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: