วันอังคาร, มิถุนายน 15, 2553
The Idiot’s Guide to Apichatpong’s Films
เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่คนไทยสามารถคว้ารางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครองเป็นครั้งแรก ผมอยากจะขอแนะนำเหล่านักดูหนังรุ่นใหม่ (หรือรุ่นเก่าแล้วก็ตาม แต่นิยมเสพแค่ผลงานจากฮอลลีวู้ดเป็นหลักเท่านั้น) ที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สักเท่าไหร่ (สัตว์ประหลาด! เป็นหนังเรื่องเดียวของเขาที่ได้เข้าฉาย –แบบจำกัดโรง- โดยสมบูรณ์) เพื่อเตรียมเปิดใจพวกเขาให้พร้อมสำหรับ ลุงบุญมีระลึกชาติ ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลปาล์มทองอันทรงเกียรติจะทำให้หนังเรื่องนี้ได้เข้าฉายในเมืองไทยแบบไม่ตัด ไม่หั่น ไม่เบลอ ไม่จอมืด และมากกว่าแค่หนึ่งหรือสองโรง... กระนั้นอีกใจหนึ่งก็นึกหวาดหวั่นเล็กน้อย เพราะตระหนักดีว่าหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ใช่อาหารที่จะถูกปากคนกลุ่มใหญ่
เพื่อนคนหนึ่งของผมเคยถูกหลอกให้ไปดู สัตว์ประหลาด! โดยไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นหนังประเภทไหน หรือเกี่ยวกับอะไร (ปกติเธอเป็นคอหนังแอ็กชั่นตัวยง และอาจปันใจให้ผลงานแนวตลก-โรแมนติกเป็นครั้งคราว) จากคำบอกเล่าของเพื่อนอีกคนที่หลอกให้เธอไปดูหนังเรื่องนี้ เธอแสดงท่าทีรำคาญ กระสับกระส่ายเกือบตลอดเวลา ก่อนจะเดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์หงุดหงิด พลางก่นด่ากับทุกคนถึงความเลวร้ายของหนัง กระทั่งปัจจุบันความเจ็บแค้นก็ยังไม่จางหายทุกครั้งที่ได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าความไม่ชอบของเธอเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ขณะเดียวกันสาเหตุแห่งความเจ็บแค้นส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการเดินเข้าไปชมโดยปราศจากเกราะป้องกันใดๆ
บทความชิ้นนี้จึงเป็นเสมือน คู่มือฉบับเริ่มต้น เพื่อให้ข้อมูลคร่าวๆ ในมุมกว้าง ก่อนแวบเข้าไปชมภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ (ไม่ว่าจะเพื่อเกาะติดกระแสรางวัล หรือแค่อยากรู้อยากเห็น หรืออาจจะถูกหลอกไปเหมือนอย่างเพื่อนของผม) เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยังไม่คุ้นชินกับภาพยนตร์แนว “อาร์ต” ผมหวังว่ามันจะช่วยติดเกราะให้กับความคาดหวังของคุณ แล้วเปิดใจสู่รูปแบบภาพยนตร์ที่แตกต่าง
“เรื่อง” ไม่ใช่จุดหมาย
หลากหลายข้อกล่าวหาจากกลุ่มคนดูทั่วไปต่อหนังของอภิชาติพงศ์ นอกจาก “น่าเบื่อ” แล้ว (ซึ่งยากจะเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข เพราะมันเป็นเรื่องของอัตวิสัย) ที่ฮิตสุดคงหนีไม่พ้น “ดูไม่รู้เรื่อง” ทั้งนี้เพราะหนังของเขาส่วนใหญ่แทบไม่มี “เรื่อง” และปราศจากการสร้างปมขัดแย้ง เผชิญหน้าตามสูตรการเล่าเรื่องแบบคลาสสิกของฮอลลีวู้ด ซึ่งนิยมแบ่งหนังออกเป็นสามองก์ คือ ปูพื้น-ปัญหา-คลี่คลาย
หากไม่นับ ดอกฟ้าในมือมาร และ หัวใจทรนง จะเห็นได้ว่าโครงสร้างหนังของอภิชาติพงศ์แบ่งแยกออกเป็นสององก์อย่างชัดเจน ระหว่างเหตุการณ์ในเมืองกับเหตุการณ์ในป่า (สุดเสน่หา) ระหว่างเรื่องรักของชายสองคนกับตำนานพรานล่าเสือสมิง (สัตว์ประหลาด!) และระหว่างโรงพยาบาลชนบทกับโรงพยาบาลในเมือง (แสงศตวรรษ) หนังเปิดโอกาสให้คนดูตีความอย่างอิสระถึงความหมายเชื่อมโยงระหว่างเรื่องราวสององก์ ซึ่งแม้จะดูเหมือนแยกเป็นเอกเทศ แต่ก็มีรายละเอียดบางอย่างซ้ำซ้อน ยอกย้อน และยั่วล้อกันไปมา
การไม่มอบคำอธิบายที่ชัดเจน ไม่มีบทสรุปที่จับต้องได้ คือ เหตุผลหลักที่ทำให้หนังของอภิชาติพงศ์โดนกล่าวหาว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” ซึ่งจะว่าไปก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับข้อกล่าวหาต่องานจิตรกรรมแนวแอบสแตรกทั้งหลาย ที่มักนำเสนอลายเส้น รูปทรง สีสัน แต่ปราศจากระบบระเบียบตามแบบแผนปฏิบัติจนดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง
ทันทีที่ทัศนคติของคุณผูกติดอยู่กับแนวคิด “ดูหนังเพื่อเอาเรื่อง” คุณจะพบกับความหงุดหงิดใจ ตลอดจนคำถามไม่รู้จบเวลานั่งชมหนังของอภิชาติพงศ์ ดังเช่นเพื่อนคนที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น เธอนึกสงสัยตลอดเวลาว่าผู้กำกับจะแช่กล้องถ่ายภาพต้นไม้ใบหญ้าไปทำไม มันมีประโยชน์อะไรกับเนื้อเรื่องงั้นหรือ เป็นเพราะเขามัวเสียเวลากับช็อตประเภทนี้ใช่ไหม เรื่องราวมันถึงไม่เดินไปข้างหน้าเสียที คำถามดังกล่าวมีรากเหง้ามาจากการที่เราถูกปลูกฝังโดยหนังฮอลลีวู้ดจำนวนมากว่าทุกช็อตต้องช่วยผลักดันเรื่อง แต่หนังของอภิชาติพงศ์เลือกจะไม่เดินตามกฎเกณฑ์นั้น (เช่นเดียวกับการแหวกธรรมเนียมการเล่าเรื่องแบบสามองก์) เพราะ “เรื่อง” ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
แม้จะไม่มีประโยชน์ต่อเรื่องโดยตรง แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากความจำเป็นและสามารถตัดทิ้งได้ เพราะหลายครั้งผู้กำกับอาจจงใจใส่ช็อตเหล่านั้นเข้ามาเพียงเพื่อช่วยเสริมสร้างบรรยากาศ เร่ง/ชะลอจังหวะหนัง สื่อสารสัญลักษณ์ หรือบางทีก็อาจใช้เป็นช็อต “เชื่อมโยง” ดังเช่น วิธีที่ ยาสุจิโร่ โอสุ ชอบตัดภาพการก่อสร้างตึก (ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องหรือฉากหลัง) มาแทรกระหว่างการเปลี่ยนฉากแทนการตัดภาพแบบทันทีทันใด
In cinema only
หากเลือกได้ ผมขอแนะนำให้คุณเริ่มต้นดูหนังของอภิชาติพงศ์ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพราะมันเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสุดสำหรับดื่มด่ำภาพยนตร์ในลักษณะนี้ จอขนาดใหญ่ ระบบเสียงรอบทิศทาง ตลอดจนความมืดที่ล้อมรอบจะทำให้คุณสามารถจมดิ่งไปกับโลกเสมือนได้อย่างเต็มร้อย แล้วไม่นาน “เรื่อง” ก็จะค่อยๆ ลดทอนความสำคัญลง ส่วน “บรรยากาศ” กลับกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากนี้ ความงามของการจัดองค์ประกอบภาพ การวางมุมกล้องอย่างประณีตในแต่ละช็อตจะยิ่งโดดเด่น และกลายเป็นความเพลิดเพลินอีกอย่างหนึ่ง
ผมยังจำได้ดีถึงความรู้สึกแตกต่าง เมื่อครั้งชม แสงศตวรรษ บนจอใหญ่ครั้งแรก และการชมจากดีวีดีในครั้งต่อๆ มา ช็อตที่หมอเตย (นันทรัตน์ สวัสดิกุล) เดินถือถ้วยชามาชมวิวทุ่งนาตรงหน้าต่างห้องทำงานในช่วงต้นเรื่อง ซึ่งเคยทำให้ผมถึงกับตะลึงในความงามจากการชมครั้งแรก ดูเหมือนจะลดผลกระทบทางอารมณ์ลงกว่าครึ่งเมื่อได้ชมผ่านจอโทรทัศน์ขนาด 21 นิ้ว และมันคงเป็นเรื่องน่าเศร้า หากสิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับมนตร์เสน่ห์ (ขณะหลายคนอาจมองว่าชวนสะพรึง) ของป่าในยามค่ำคืนตลอดช่วงครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด!
เขตปลอดดารา
อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็น ฉัตรชัย เปล่งพานิช หรือ พัชราภา ไชยเชื้อ ในหนังของอภิชาติพงศ์ เพราะเขานิยมใช้บริการของนักแสดงสมัครเล่นเท่านั้น (ยกเว้นเพียง หัวใจทรนง) อันที่จริง ส่วนใหญ่ล้วนไม่เคยแสดงหนังมาก่อนด้วยซ้ำ ที่สำคัญ พวกเขายังไม่ได้หน้าตาสวยหล่อ หุ่นดี หรือมีราศีดาราโดดเด่น ตรงกันข้าม เกือบทั้งหมดดูไม่ต่างจากชาวบ้านที่เราพบเห็นตามท้องถนนทั่วไป และหลายครั้งอาจเคยเดินผ่านโดยไม่เหลียวหลังมองด้วยซ้ำ (อย่างไรก็ตาม หลายคนได้กลายเป็น “ขาประจำ” เช่น เจนจิรา พงพัศ และ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี ซึ่งเราคงไม่อาจเรียกว่ามือสมัครเล่นได้อีกต่อไป)
หนังของอภิชาติพงศ์มักเป็นส่วนผสมอันน่าประหลาดระหว่างความสมจริง (realism) ดุจสารคดี (ผลงานขนาดยาวเรื่องแรกของเขา ดอกฟ้าในมือมาร มีรูปแบบสารคดีค่อนข้างชัดเจน) กับความเหนือจริง (surrealism) ดุจภาพฝัน ฉะนั้น หลายฉากหลายตอนของหนังจะให้ความรู้สึกใสซื่อ จริงใจ ปราศจากการปรุงแต่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าปราศจากอารมณ์เสมอไป เพียงแต่คนดูอาจต้องใช้จินตนาการมากหน่อย เพราะอารมณ์ดังกล่าวไม่ได้ถูกตักใส่ช้อนแล้วป้อนเข้าปากคุณเหมือนในหนังปกติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คนดูจะไม่มีโอกาสเห็นฉากจงใจบีบเค้น ขยี้หัวใจ หรือฉากตัวละครระเบิดอารมณ์แบบในหนัง ไมค์ ลีห์ (Happy-Go-Lucky, Vera Drake) ผู้ขึ้นชื่อว่าเน้นความสมจริงเหนืออื่นใดเช่นกันผ่านกลวิธีด้นสดบทสนทนา เลือกใช้นักแสดงไม่ค่อยดัง และพล็อตเรื่องทำนอง “เล่าไปเรื่อย” เพราะการจะทำเช่นนั้นได้ นักแสดง แม้ว่าจะโนเนมแค่ไหนก็ตาม ย่อมต้องอาศัยทักษะขั้นสูง
ตรงกันข้าม การแสดงในหนังของอภิชาติพงศ์มักจะดูแข็งๆ เหมือนเล่นหนังไม่เป็น แต่ก็ดูกลมกลืนกับบทอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะบทไม่ได้เรียกร้องให้นักแสดงต้องบีบเค้นอารมณ์มากมาย (ขณะเดียวกันหนังก็ไม่ค่อยนิยมถ่ายโคลสอัพใบหน้าตัวละครอยู่แล้ว และเมื่อมันเกิดขึ้น เช่น ในฉากเปิดเรื่องของ แสงศตวรรษ มันก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อขับเน้นอารมณ์คนดู หรือสะท้อนความรู้สึกบางอย่างของตัวละคร)
เตรียมร่างกายให้พร้อม
พักผ่อนอย่างเพียงพอ และถ้าเป็นไปได้ก็ดื่มกาแฟสักแก้วก่อนเข้าโรง เพราะหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ใช่ Avatar ที่จะกระตุ้นคนดูให้ตื่นตัวอยู่เสมอผ่านเอฟเฟ็กต์สุดอลังการ แอ็กชั่นเร้าใจ หรือฉากระเบิดภูเขาเผากระท่อม จนคุณสามารถนั่งดูได้สบายๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งที่เพิ่งอดนอนมาทั้งวัน... แต่อย่างว่าเรื่องของรสนิยมก็พูดยาก หลายคนอาจรู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลาที่นั่งดู สัตว์ประหลาด! ขณะที่บางคนอาจเผลอหลับทุกทีเวลานั่งดูหนังแอ็กชั่นยิงกันสนั่นจอและเต็มไปด้วยเสียงระเบิดตูมตาม โดยไม่สนใจว่าเงินทุนจะถูกผลาญไปกี่พันล้านกับฉากเหล่านั้น
หนังของอภิชาติพงศ์มักเรียกร้องให้คนดูใช้สมาธิสูง ไม่ใช่เพราะการผูกเรื่องซับซ้อน (กลับไปอ่านข้อแรก) แต่เพราะคุณต้องคอยทำหน้าที่เชื่อมโยงรายละเอียดต่างๆ อยู่ตลอดเพื่อพยายามค้นหาความหมาย หรือบางครั้งก็ตั้งคำถามว่าคุณควรรู้สึกอย่างไรกับฉากนั้นๆ โดยส่วนตัวแล้ว ผมแอบสัปหงกในช่วงครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด! จากการชมรอบแรก ซึ่งเป็นรอบสองทุ่มของวันทำงาน (ตอนนั้นได้แต่โทษตัวเองว่าเพราะความเหนื่อยล้า จนต้องหาโอกาสไปดูรอบสองและสามในช่วงบ่ายของวันหยุดราชการ) แต่กลับนั่งชม แสงศตวรรษ ได้อย่างมีความสุขตลอดทั้งเรื่อง แม้จะเป็นการฉายในรอบดึกมาก
ในเมื่อไม่มีทางรู้ว่าหนังเรื่องไหนจะถูกจริตคุณมากเป็นพิเศษ ทางที่ดี (และนี่เป็นข้อแนะนำซึ่งผมเองยังคงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เวลาจะหยิบหนังของ โหวเสี่ยวเฉียน หรือ ไฉ่หมิงเลี่ยง มาดูทุกครั้ง) คุณจึงควรเตรียมร่างกายให้พร้อม เพื่ออรรถรสอันเต็มเปี่ยมในการชม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
4 ความคิดเห็น:
Blissfully Yours ก็ฉายที่ลิโด้นะคะ
ใช่ครับ แต่เวอร์ชั่นนั้นถูกตัดครับ จริงๆ เรื่อง Iron Pussy ก็เข้าฉายเหมือนกัน แต่รู้สึกจะเป็นการฉายโดยใช้ดีวีดี :)
บังเอิญผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณเจ้ย เห็นว่าหนังเรื่อง สุดเสน่หา ได้ฉายหลายโรงนะครับ บางโรงก็ไม่ตัด ซึ่งคุณเจ้ยเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่มีบางความเห็นที่เป็นคนเคยดูหนังเืรื่องนี้ในโรง เขายืนยันว่าเคยดูแบบนั้นเหมือนกัน
อ้าว เหรอครับ ผมไม่ทราบเลย เพราะเวอร์ชั่นที่ได้ดู รู้สึกจะโดนตัด และจนกระทั่งทุกวันนี้ ผมก็ยังไม่ได้ดูเวอร์ชั่นที่ฉายเมืองคานส์เลย ว่าจะหาซื้อดีวีดีผีมาหลายทีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีโอกาสซักที
แสดงความคิดเห็น