วันพุธ, มิถุนายน 02, 2553

Precious: Based on the novel Push by Sapphire: เธอผู้ไม่แพ้


ตลอดช่วงเทศกาลออสการ์ หนังเรื่อง Precious: Based on the Novel Push by Sapphire มักถูกหยิบยกไปเปรียบเทียบในแง่ความคล้ายคลึงทางพล็อต (หรืออาจรวมเลยถึงทัศนคติต่อคนผิวดำ) กับ The Blind Side เพราะทั้งสองล้วนโฟกัสไปยังชีวิตของเด็กวัยรุ่นผิวดำที่ไม่ค่อยรู้หนังสือ น้ำหนักเกิน ถูกกระทำทารุณ และเกลือกกลั้วอยู่กับความยากจนข้นแค้นมาตลอดชีวิต แต่สุดท้ายกลับค่อยๆ กระเสือกระสนขึ้นจากหุบเหวแห่งความเลวร้ายด้วยความช่วยเหลือของคนแปลกหน้าผู้เปี่ยมเมตตา

นอกจากนี้ข้อสรุปของหนังยังคล้ายคลึงกันด้วย นั่นคือ โยงใยก้นบึ้งแห่งปัญหาไปยังสถาบันครอบครัว (โดยเฉพาะคนเป็นแม่) พร้อมทั้งเสนอทางออกอันเรียบง่ายผ่านการค้นหาครอบครัวใหม่ที่ดีกว่า หรือพูดให้ชัดๆ คือ แม่คนใหม่ที่มอบความรัก ความอบอุ่น และแรงผลักดันเพื่อพัฒนาศักยภาพได้มากกว่า โดยในกรณีของ The Blind Side ได้แก่ ลี แอนน์ ทูอี้ ส่วนในกรณีของ Precious ได้แก่ มิสเรน (พอลา แพตตัน)

แต่น่าแปลกที่ Precious กลับทำให้ผมนึกถึงหนังเข้าชิงออสการ์อีกเรื่องอย่าง A Serious Man (บางทีอาจเป็นเพราะผมมีโอกาสได้ชมผลงานล่าสุดของ โจเอล และ อีธาน โคน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน) ทั้งที่พล็อตก็ไม่ได้ใกล้เคียงกัน นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าตัวละครเอกทั้งสองบังเอิญเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในโลกอันคุ้นเคยและปิดแคบ แล้วตลอดทั้งเรื่องต้องประสบวิบากกรรมหนักหนาสาหัสระลอกแล้วระลอกเล่าจนเข้าขั้นโอชินเรียกพี่ (พึงสังเกตว่าเนื่องจากตัวละครมีสถานะทางสังคมที่แตกต่าง ปัญหาของ แลร์รี่ ก็อบนิค ใน A Serious Man จึงส่งกลิ่นอายชนชั้นกลาง เช่น ชีวิตคู่ ความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน ฯลฯ ส่วนปัญหาของพรีเชียส ใน Precious จะโอนเอียงไปทาง “ปากกัดตีนถีบ” เสียมากกว่า เช่น อาหาร การศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทั่งที่ซุกหัวนอน)

Precious ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยท่วงทีขึงขัง จริงจัง แต่ก็แฝงอารมณ์ขันเอาไว้พอตัว เช่น ฉาก พรีเชียส (แกบาเร ซิเดเบ) จินตนาการตัวเองกับแม่ (โมนีก) เป็นตัวละครเอกใน Two Women (ซึ่งยั่วล้อหนังอยู่กลายๆ เนื่องจากผลงานคลาสสิกในสไตล์นีโอเรียลริสต์ของ วิททอริโอ เดอ ซิก้า เล่าถึงคราวเคราะห์ของคุณแม่แสนดีที่พยายามจะปกป้องลูกสาววัยรุ่นจากความสยองแห่งสงคราม) ขณะที่ A Serious Man ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยท่าทีค่อนข้างเบาสบายกึ่งเยาะหยัน แต่ลึกๆ กลับแฝงอารมณ์ขึงขัง หนักแน่น จนอาจถึงขั้นสยองขวัญ!

ถ้า โซเฟีย ลอเรน ใน Two Women เปรียบได้กับแม่พระ โมนีก ใน Precious ก็คงไม่ต่างจากนางมาร ดังจะเห็นได้จากสารพันความเลวร้ายของเจ้าหล่อน ไม่ว่าจะเป็นการดุด่า ตบตีลูกสาวเป็นกิจวัตร เรียกใช้งานดุจทาสในเรือนเบี้ย หรือปล่อยให้ลูกสาวถูกสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “พ่อ” ข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่คิดห้ามปรามจนเธอตั้งท้องถึงสองครั้ง แถมยังมีหน้ามาริษยา กล่าวหาว่าพรีเชียสแย่งสามีตัวเองไปอีก (คิดได้เนาะ!) ซ้ำร้ายวันดีคืนดีหล่อนก็จะเรียกลูกสาวมาช่วยบำบัดความใคร่ให้ซะงั้น (หนังสือบรรยายฉากพรีเชียสถูกแม่บังคับให้ “ใช้ปาก” เอาไว้อย่างชัดเจน แต่เวอร์ชั่นหนังเลือกจะนำเสนอเป็นนัยเท่านั้น) อย่างไรก็ตาม สุดยอดความแรงชนิดช็อกคนดูคงหนีไม่พ้นฉากแมรีเกิดอาการสติแตกถึงขั้นทุ่มทีวีลงมาจากชั้นบนใส่หัวลูกสาว เรียกว่ากะเอาให้ตายกันไปข้างเลยทีเดียว

เทียบกับพรีเชียสแล้ว วิกฤติของแลร์รี่ใน A Serious Man แทบจะกลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ แต่น่าสนใจว่า ขณะที่หนังของสองพี่น้องโคนเฝ้าวนเวียนอยู่กับการตั้งคำถามต่อพระเจ้าถึงความทุกข์ยากนานา ซึ่งบางครั้งก็ดูเหมือนจะปราศจากเหตุผลและระบบระเบียบ (ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หนังวางตัวละครเอกให้มีอาชีพเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์) หนังของ ลี เดเนียลส์ กลับแทบไม่เอ่ยนามพระเจ้าเลยสักครั้ง ส่วนตัวละครเอกก็แทบไม่เคยตัดพ้อ หรือขวนขวายหาคำตอบจากเบื้องบนต่อวิบากกรรมอันแสนสาหัส โดยครั้งเดียวที่พรีเชียสแสดงข้อกังขาต่อชะตากรรม (เมื่อเธอเขียนว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน” ลงในสมุดโน้ตหลังทราบผลการตรวจเลือด) กลับไม่ได้มุ่งเน้นไปยังพระเจ้าโดยตรง และนาทีแห่งอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจก็ผ่านเลยไปอย่างรวดเร็ว ไม่ถูกตอกย้ำมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับฉากเปิดใจตรงสระว่ายน้ำร้างระหว่างแลร์รี่กับพี่ชายใน A Serious Man ซึ่งถ่ายเป็นช็อตมุมสูง ราวกับจะแทนสายตาของพระเจ้าที่เรียกขอการยอมรับแบบปราศจากข้อแม้

ถ้าหนังของสองพี่น้องโคนต้องการพูดว่า มนุษย์ควรทำใจยอมรับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอย่างดุษณี อย่าดิ้นรนหาคำตอบให้กับทุกคำถาม ทุกความลึกลับ ดำมืด หรือตรวจสอบตรรกะเชื่อมโยงใดๆ ด้วยความเชื่อว่าพระเจ้าพยายามจะสื่อสารอะไรบางอย่างถึงมนุษย์ เพราะสุดท้ายแล้วการค้นหานั้นรังแต่จะนำไปสู่ทางตัน ทำให้เราเสียเวลา เสียพลังงาน และบางทีอาจถึงขั้นประสาทแดกโดยเปล่าประโยชน์ดุจเรื่องเล่าของแรบไบคนที่สองเกี่ยวกับทันตแพทย์ที่ค้นพบข้อความบนฟันของคนไข้แล้วละก็ พรีเชียสคงเป็นตัวละครที่เข้าใจสารดังกล่าวอย่างถ่องแท้ เพราะเธอกัดฟัน ก้มหน้ารับความซวยที่ประดังเข้ามาโดยไม่ปริปาก ขณะเดียวกันเธอก็ตระหนักถึงความอยุติธรรมทางสังคมระหว่างคนผิวดำกับคนผิวขาว (นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเธอถึงชอบฝันเห็นตัวเองเป็นหญิงสาวผิวสีอ่อนเวลาส่องกระจก) รวมเลยไปถึงโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนผอมกับคนอ้วน คนรวยกับคนจน และคนที่มีการศึกษากับคนที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่เธอไม่เคยต่อว่าต่อขานพระเจ้าที่ “เมตตา” เธอน้อยกว่าคนอื่นเหมือนพี่ชายแลร์รี่ใน A Serious Man เช่นเดียวกับที่เธอไม่เคยพยายามขวนขวายหาคำตอบว่าพระเจ้าต้องการบอกอะไร (แบบเดียวกับแลร์รี่) ถึงได้ประทานความเลวร้ายมาอย่างไม่หยุดหย่อน สิ่งเดียวที่เธอทำก็แค่ยอมรับชะตากรรมที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง แก้ไข แล้วเดินหน้าต่อไป

ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า A Serious Man เป็นดังบทเกริ่นว่าด้วยความล้มเหลวของมนุษย์ในอันที่จะต่อกรหรือแสวงหาเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์กับชะตากรรม หรือวิถีแห่งพระเจ้า ส่วน Precious ก็เปรียบเสมือนคำตอบต่อคำถามที่ว่า ในเมื่อมนุษย์ไม่อาจงัดข้อกับประสงค์ของพระเจ้าได้แล้ว เขาควรจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร

หนึ่งในความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างพรีเชียสกับแมรีอยู่ตรงที่ คนแรกเพียงแค่ยอมรับในชะตากรรม แต่ไม่เคยยอมจำนนต่อชะตากรรมเหมือนคนหลัง เธอไม่เคยหยุดคาดหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า ทรงคุณค่า และเปี่ยมสุข แม้จะโดนคุณแม่จอมมารตอกย้ำใส่สมองทุกวันว่า ผู้หญิงอ้วนดำสมองทึบอย่างพรีเชียสนั้นอย่าได้วาดฝันว่าจะไปไกลกว่าวิถีชีวิตของการใช้เบี้ยเลี้ยงคนตกงานไปวันๆ (เหมือนเธอ) อย่างเด็ดขาด

แมรีเป็นมนุษย์ประเภทที่ชอบก่นด่าระบบสองมาตรฐาน ความอยุติธรรมต่างๆ นานา ซึ่งแน่นอนว่ามีอยู่จริง ไม่อาจปฏิเสธ และคงไม่อาจหลีกเลี่ยงตราบใดที่โลกยังมีมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคยคิดจะลุกขึ้นมาทำอะไรให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นนอกจากนอนรอเงินสวัสดิการรัฐทุกเดือนๆ เมื่อเจ้าหน้าที่แวะมาเยี่ยม แล้วสอบถามว่าเธอได้ออกไปหางานทำบ้างหรือไม่ แมรีกลับโกหกหน้าตายเพื่อรักษาท่อน้ำเลี้ยงเอาไว้ เธอโวยวายใหญ่โตเมื่อทราบว่าพรีเชียสถูกไล่ออกจากโรงเรียน ไม่ใช่เพราะห่วงการศึกษาของลูกสาว แต่เพราะหวาดกลัวว่าตัวเองจะถูกรัฐตัดเงินช่วยเหลือ เวลาส่วนใหญ่ของเธอหมดไปกับการนั่งแหมะอยู่หน้าจอทีวี แล้วชี้นิ้วสั่งลูกสาวให้ทำโน่นทำนี่ ตลอดเวลาสองชั่วโมงของหนัง แมรีได้แต่เรียกร้อง โดยไม่เคยคิดจะมอบอะไรให้ใครตอบแทน เธอต้องการเงิน แต่ไม่อยากทำงาน เธอต้องการความรักจากสามี แต่กลับไม่เหลือกระทั่งเมตตาธรรมเบื้องต้นให้แก่เลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง... เห็นได้ชัดว่าสภาพอันน่าสังเวชของเธอหาได้เกิดจากน้ำมือของพระเจ้าเพียงฝ่ายเดียว

ในทางตรงกันข้าม ทันทีที่มีโอกาสแก้ตัวในโรงเรียนทางเลือก พรีเชียสก็ตัดสินใจคว้ามันไว้ ด้วยความหวังว่าจะพัฒนาทักษะอ่านเขียนจนสอบผ่านชั้นมัธยมปลาย และกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สำเร็จ สำนึกใฝ่ดีส่งผลให้เธอได้รับสิ่งตอบแทนจากที่นั่นมากมายกว่าแค่การศึกษา โดยหากบ้านสอนพรีเชียสให้รู้จักความเกลียดชัง โรงเรียนทางเลือกก็สอนให้เธอรู้จักความรัก ทั้งจากมิตรภาพของเหล่าเพื่อนฝูง ซึ่งล้วนประสบปัญหา “วงเวียนชีวิต” มากน้อยต่างกันไป และความช่วยเหลือของมิสเรน ครูผิวสีที่พูดจาและใช้ชีวิตเหมือนชนชั้นกลางผิวขาว

ถึงตรงนี้คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่า Precious เป็นภาพยนตร์ที่เชิดชูแนวคิดมนุษยนิยม ด้วยมันยืนกรานถึงความสง่างามและคุณค่าแห่งมนุษย์ ซึ่งสามารถขีดเส้นกำหนดชีวิตตัวเองตามศักยภาพโดยไม่ปล่อยให้ชะตากรรม หรือสิ่งเหนือธรรมชาติใดๆ มีอิทธิพลสูงสุด เส้นทางชีวิตอันแตกต่างของแมรีกับพรีเชียส คือ บทพิสูจน์ให้เห็นว่าที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเนื่องมาจากเรา “เลือก” เช่นนั้น ชะตากรรมอาจมีส่วนกำหนดจุดหมายอยู่บ้าง แต่อิสรภาพและชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพรีเชียสสะท้อนให้เห็นว่ามันหาได้ทรงอิทธิพลเหนือความมุ่งมั่นของมนุษย์แต่อย่างใด

ในช่วงท้ายของ A Serious Man เมื่อชีวิตที่เริ่มคลี่คลายของ แลร์รี่ ก็อบนิค กลับทำท่าพลิกตาลปัตรสู่หายนะอีกครั้งพร้อมการมาถึงของเสียงโทรศัพท์จากคลินิกและพายุทอร์นาโด หนังเหมือนจะเสนอทางออกอันเรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อเอาไว้เช่นกัน (หรืออันที่จริงอาจเป็นเพียงมุกตลกร้ายๆ ของสองพี่น้องโคน) สำหรับความหงุดหงิดคับข้องใจ ผ่านคำสอนของแรบไบคนที่สาม ซึ่งใครๆ ต่างก็นับถือยกย่อง (และแลร์รี่พยายามขอพบ แต่ไม่สำเร็จ) โดยคำพูดของเขาสอดคล้องกับเนื้อร้องเพลงร็อกสุดฮิต Somebody to Love ของวง Jefferson Airplane ชนิดคำต่อคำ

คงเป็นเรื่องง่าย และอาจถึงขั้นหลงทางอยู่สักหน่อย หากจะพูดว่า “ความรักคือคำตอบ” เปรียบดังบทสรุปตบท้ายของ A Serious Man เมื่อพิจารณาจากโทนอารมณ์โดยรวมของหนัง รวมถึงทัศนคติต่อชีวิตในผลงานชิ้นก่อนๆ ของสองพี่น้องโคน แต่น่าแปลกตรงที่วลีดังกล่าวเหมาะเจาะกับ Precious อย่างสมบูรณ์แบบ ความรักช่วยมอบพลังให้พรีเชียสกล้าลุกขึ้นยืนหยัดเพื่อตัวเองและลูกๆ แล้วสลัดหลุดจากวงจรอุบาทว์ที่แมรีพยายามยัดเยียดให้ แต่มันหาใช่ความรักที่มองเห็นอย่างชัดเจนเท่านั้น เช่น ความรักที่มิสเรนมอบให้นักเรียนของเธอ ความรักที่เพื่อนๆ มอบให้พรีเชียส หรือกระทั่งความรักความห่วงใยที่บุรุษพยาบาลรูปหล่อมอบให้คนไข้สาวร่างใหญ่ หากแต่ยังรวมไปถึงความรักและเคารพในตัวเองอีกด้วย

ถ้าบทเรียนที่เลวร้ายที่สุดจากแมรี คือ การสั่งสอนให้ลูกสาวมองตัวเองว่าไร้ค่า โง่เง่าไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานแล้วละก็ บทเรียนที่ล้ำค่าที่สุดจากมิสเรนคงหนีไม่พ้นการสั่งสอนให้พรีเชียสตระหนักว่าเธอเปี่ยมศักยภาพไม่แพ้ใครอื่น สามารถทำอะไรก็ได้ หรือเป็นอะไรก็ได้ที่เธอต้องการหากมุ่งมั่น พากเพียรมากพอ และที่สำคัญ มิสเรนยังสอนให้พรีเชียสมองเห็นความงามแห่งปัจเจก เพื่อที่วันหนึ่งเด็กสาวจะได้เลิกฝันเห็นตัวเองเป็นหญิงผิวขาว รูปร่างระหง หรือมีเส้นผมยาวสลวย แล้วยอมรับตัวตนของเธออย่างเปี่ยมสุข... วันนั้นเองจะเป็นวันที่พรีเชียสประสบชัยชนะอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: