วันอังคาร, สิงหาคม 02, 2554

The Tree of Life: ทวิภพ



ชายคนหนึ่งมองดูนกที่ใกล้สิ้นใจ พลางโหยไห้ว่าชีวิตนี้ช่างเต็มไปด้วยความเจ็บปวดซึ่งไม่อาจอธิบายได้ ก่อนสุดท้ายความตายจะมาพรากมันไป... ชายอีกคนมองเห็นนกตัวเดียวกัน แต่กลับรู้สึกถึงความงดงามของชีวิต” (The Thin Red Line)

หากประวัติศาสตร์คือมนุษย์หนึ่งคน ทั้งหมดย่อมอธิบายได้จากแต่ละประสบการณ์ มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างโมงยามแห่งชีวิตเรากับกาลเวลานับร้อยๆ ปี เนื่องจากอากาศที่เราสูดเข้าร่างมาจากคลังธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ แสงสว่างที่เราใช้อ่านหนังสือมาจากดวงดาวที่ห่างออกไปนับร้อยล้านไมล์ และการทรงตัวของเราก็ขึ้นอยู่กับสมดุลระหว่างแรงสู่ศูนย์กลางและแรงหนีศูนย์กลาง... ทุกการปฏิวัติย่อมเริ่มต้นจากประกายในหัวของมนุษย์หนึ่งคน และเมื่อความคิดเดียวกันปรากฏขึ้นในหัวของมนุษย์อีกคน มันก็กลายเป็นกุญแจสู่ยุคสมัย” (จากบทความ “ประวัติศาสตร์” โดย ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน)

รากเหง้าจากการเติบโตมาในชนบท ทำงานตามเรือกสวนไร่นาระหว่างช่วงวันหยุดฤดูร้อน และเรียนปรัชญาเป็นวิชาเอก ส่งผลให้แรงบันดาลใจของ เทอร์เรนซ์ มาลิค ค่อนข้างแตกต่างจากเหล่าผู้กำกับ “ชาวกรุง” และ “คอหนัง” อย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก, มาร์ติน สกอร์เซซี่ และ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ซึ่งล้วนเริ่มต้นสร้างผลงานเป็นที่จับตาในช่วงทศวรรษ 1970 ดังจะสังเกตเห็นว่าภาพยนตร์ของมาลิคเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวเกินกว่าจะนำไปเทียบเคียงผลงานของผู้กำกับคนใดคนหนึ่ง ใกล้เคียงสุดอาจได้แก่ ผลงานของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้ (Solaris, The Sacrifice, The Mirror) แต่เป็นในแง่เนื้อหามากกว่าสไตล์การนำเสนอ เพราะทั้งสองล้วนมุ่งเน้นที่จะสื่อสารประเด็นอภิปรัชญาเกี่ยวกับมนุษย์และการดำรงอยู่ (1)

อย่างไรก็ตาม ขณะทาร์คอฟสกี้นิยมลองเทคอันอ้อยอิ่ง มาลิคกลับขึ้นชื่อเรื่องการปลุกปั้นชิ้นงานในห้องตัดต่อ และชื่นชอบการเคลื่อนกล้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน The Tree of Life ซึ่งกล้องแบบแฮนด์เฮลด์ช่วยสะท้อนความไหลลื่น ไม่หยุดนิ่งของชีวิตได้อย่างน่าตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็นฉากที่มันตามติดการละเล่นของเหล่าเด็กๆ ทั้งสามคน หรือจับช่วงจังหวะแห่งมนตร์เสน่ห์ของชีวิตประจำวัน เมื่อผีเสื้อตัวหนึ่งบินวนมาเกาะบนมือของคุณนายโอ’เบรียน

หากจะระบุอิทธิพลที่เด่นชัดต่อ เทอร์เรนซ์ มาลิค บางทีเราอาจต้องย้อนกลับไปไกลถึงยุคเริ่มแรกของภาพยนตร์ เมื่อพล็อตและตัวละครไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ เมื่อทฤษฎี แนวคิด หรือธรรมเนียมปฏิบัติยังไม่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อจัดแบ่ง คัดแยกประเภท และสุนทรียะหลักเพียงหนึ่งเดียว คือ พลังของภาพในการนำเสนอความงาม ความน่าตื่นตา ตลอดจนความจริง ก่อนจะถูกนำมาตีความ ทำความเข้าใจเพื่อค้นหาความหมาย ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์ของมาลิคเป็นทั้งเรื่องแต่ง (fiction) และสารคดี (documentary) ในเวลาเดียวกัน จนไม่แปลกที่หลายคนจะเปรียบเทียบผลงานของเขาว่าคล้ายคลึงกับการนั่งชมสารคดีของ เนชันแนล จีโอกราฟฟิก ในแง่ที่พวกมันบันทึกความเป็นไปของโลก และสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างละเอียดและน่าอัศจรรย์ใจ แต่แตกต่างตรงที่มาลิคหาได้สนใจ “ความจริง” เพียงอย่างเดียว

แรงกระหายที่จะนำเสนอภาพอัน “บริสุทธิ์” ส่งผลให้มาลิคยังคงนิยมถ่ายหนังโดยอาศัยแสงธรรมชาติเป็นหลัก (2) และแนวคิดดังกล่าวก็นำไปสู่ผลลัพธ์สุดอลังการใน Days of Heaven (1978) ซึ่งหลายคนยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังที่สวยที่สุด จากการถ่ายทำหลายๆ ฉากระหว่างช่วง magic hour (3) กระนั้นความประณีตงดงามของภาพ ซึ่งเป็นไปเพื่อรองรับแนวคิดที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ และห่างไกลจากสไตล์ดิบๆ แบบในหนังสารคดี ทำให้ผลงานของมาลิคเป็นเหมือนเส้นบางๆ ที่แบ่งแยกระหว่างความสมจริงกับการปรุงแต่ง พวกมันกระตุ้นความรู้สึกของตำนาน หรือเทพนิยายจากความจริงแบบสารคดี เช่น เรื่องราวของอาชญากรกับแฟนสาวใน Badlands (1973) อาจทำให้คนดูนึกถึงการผจญภัยของ ทอม ซอว์เยอร์ และ ฮัคเกิลเบอร์รี ฟินน์ ส่วนรักสามเส้าบนทุ่งข้าวสาลีที่กว้างใหญ่ไพศาลใน Days of Heaven (ซึ่งใช้หลากรูปขาวดำในสไตล์ภาพข่าวประกอบเครดิตเปิดเรื่อง) ก็ให้โทนอารมณ์เหมือนตำนานในคัมภีร์ไบเบิล

วิวัฒนาการความสนใจในตัวละครและพล็อตของมาลิคอาจสังเกตได้จากอีกหนึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเขา นั่นคือ การใช้เสียงบรรยาย (voice over) ซึ่งเริ่มต้นตามธรรมเนียมปฏิบัติใน Badlands และ Days of Heaven เมื่อคนดูสามารถระบุได้ชัดเจนว่ามันเป็นเสียงของใคร และมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อบอกเล่าเรื่องราว ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร แต่พอมาถึง The Thin Red Line, The New World และ The Tree of Life เสียงบรรยายเริ่มแพร่กระจายไปยังตัวละครหลากหลาย จนบางครั้งก็แยกไม่ออกว่าเป็นเสียงใครกันแน่ ขณะเดียวกันมันก็แทบไม่ได้ทำหน้าที่อธิบายเรื่องราว หรือเพิ่มความเข้าใจในตัวละครให้กับคนดูอีกต่อไป ตรงกันข้าม เนื้อหาของบทบรรยายกลับคลุมเครือ ประกอบไปด้วยคำถามที่ปราศจากคำตอบ ราวกับเป็นการรำพึงรำพัน หรือบทสวดภาวนา ซึ่งดูจะสอดคล้องกันอย่างกลมกลืนกับนัยยะเชิงศาสนาที่ปรากฏให้เห็นในหลายครั้งหลายครา

เมื่อเทียบกับหนังที่มีเส้นเรื่องค่อนข้างชัดเจนอย่าง Badlands, Days of Heaven และ The New World อาจกล่าวได้ว่า The Tree of Life คือ ผลงานที่ใกล้เคียงกับการเป็น “หนังทดลอง” สูงสุด เพราะมันแทบจะปราศจากพล็อตให้จับต้องได้ และหลายครั้งก็พาคนดูไปสัมผัสเหตุการณ์ในช่วง “กึ่งกลาง” โดยปราศจากบทเกริ่นนำ หรือบทสรุป เช่น พฤติกรรมเกรี้ยวกราดของคุณโอ’เบรียน กลางโต๊ะอาหาร หรือการระเบิดอารมณ์ของ แจ๊คใส่พ่อกับแม่ ราวกับหนังทั้งเรื่องเป็นภาพรวมแห่งความทรงจำ (ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ครบถ้วนสมบูรณ์) ห้วงคำนึง ตลอดจนจินตนาการของ แจ๊ค (วัยผู้ใหญ่) ซึ่งเป็นตัวแทนของมาลิคอีกทอดหนึ่ง นั่นส่งผลให้วิธีการนำเสนอของ The Tree of Life คล้ายคลึงกับสไตล์การเล่าเรื่องแบบ stream of consciousness ในวงการวรรณกรรม ซึ่งนิยมถ่ายทอดความคิดภายในที่ปราศจากแบบแผน ไม่เชื่อมโยงกันมากกว่าการผูกพล็อตอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นขั้นเป็นตอน ส่วนในแง่ไวยากรณ์ ก็จะไม่เข้มงวดเรื่องความถูกต้อง สมบูรณ์แบบ แต่เน้นความเป็นอิสระ (4)

มองในมุมนี้ ฉากบนชายหาดช่วงท้ายเรื่องจึงอาจไม่ใช่ภาพจำลองของชีวิตหลังความตาย สวรรค์ หรือวันพิพากษาดังที่หลายคนตีความ หากแต่เป็นสัญลักษณ์แทนหลากหลายความทรงจำ ตลอดจนประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งแจ๊คพยายามรวบรวมเพื่อค้นหาความหมาย... พวกเขาทุกๆ คนล้วนหลอมรวมกันและก่อร่างขึ้นเป็นตัวตนของแจ๊คในปัจจุบัน

กระนั้นท่ามกลางความแตกกระจาย ไม่เป็นระบบ ระเบียบ มาลิคได้เชื่อมโยงแต่ละส่วนของหนังเข้าไว้ด้วยการผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เมื่อเด็กชายร้องตะโกนว่าเขาพบกระดูกไดโนเสาร์ มันอ้างอิงไปยังฉากกำเนิดโลกก่อนหน้า หรือประโยค “มันเป็นการทดลอง” ที่เพื่อนร่วมงานพูดกับแจ๊คในออฟฟิศ ก็ถูกพูดซ้ำอีกครั้งผ่านฉากการยิงกบขึ้นฟ้า รวมไปถึงการเลือกใช้เพลง Requiem for My Friend ของ ซบิกนิว ไพรส์เนอร์ ซึ่งแต่งให้กับเพื่อนร่วมงานที่จากไป คริสตอฟ คีส์โลวสกี้ ในฉากกำเนิดจักรวาล เพราะสำหรับมาลิค การเกิดและการตายถือเป็นสองสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก

* * *
เช่นเดียวกับเด็กอีกมากในรัฐเท็กซัสยุค 1950 มาลิคเติบโตมาในครอบครัวที่การไปโบสถ์วันอาทิตย์ถือเป็นกิจวัตรภาคบังคับ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นอิทธิพลของคริสตศาสนาในหนังของเขาอย่างต่อเนื่อง โดยธีมหลักมักเกี่ยวโยงไปยังเรื่องราวการพ่ายแพ้ต่อกิเลสของอดัมกับอีฟ แล้วขัดคำสั่งพระเจ้าด้วยการกัดกินผลจากต้นไม้แห่งความรู้ในทางดีและชั่ว (Tree of Knowledge of Good and Evil) จนถูกขับไล่ลงมายังโลกเพื่อทำงานหนัก (อดัม) และจำทนต่อความเจ็บปวดในการคลอดลูก (อีฟ) โดยงูที่ล่อลวงบุตรแห่งพระเจ้าได้ปรากฏตัวให้เห็นเป็นรูปธรรมทั้งใน Days of Heaven และ The Tree of Life ผ่านภาพในหนังสือ ขณะที่การจำลอง “สวรรค์” ตลอดจนความล่มสลายที่ตามมาก็สามารถใช้อธิบายเรื่องราวใน Days of Heaven ได้มากพอๆ กับ The New World ทั้งในเชิงรูปธรรม (ไร่ข้าวสาลีที่พังยับเยินในเรื่องแรก ชุมชนอินเดียนแดงที่ถูกเผาราบในเรื่องหลัง) และในเชิงสัญญะ (การมาถึงของยุคอุตสาหกรรม เมื่อเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานในเรื่องแรก การมาถึงของสังคมเมืองและระบบทุนนิยม เมื่อการผลิตเพื่อผลกำไร ชนชั้น และการถือครองที่ดินส่วนตัวเข้ามาแทนที่ระบบสังคมแบบดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในเรื่องหลัง)

สำหรับ The Tree of Life สวรรค์ในที่นี้ คือ วัยเยาว์แห่งความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ก่อนมนุษย์จะเริ่มเรียนรู้ความเย้ายวนแห่งเพศตรงข้าม ความเกลียดชัง และการแข่งขัน

ผลจากการกระทำของอดัมกับอีฟทำให้ลูกหลานที่เกิดต่อมาล้วนมีบาปติดตัว (original sin) ซึ่งตีความคร่าวๆ ได้ว่า แนวโน้มที่จะกระทำผิดบาป พูดง่ายๆ ก็คือ มนุษย์ล้วนมีสัญชาตญาณใฝ่ต่ำ ทำให้เราถูกตัดขาดจากพระเจ้าและล้มเหลวที่จะดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ ใน The Tree of Life เสียงบรรยายได้บอกเล่าถึงทวิภาวะของการดำเนินชีวิตตาม วิถีแห่งธรรมชาติ (nature) และวิถีแห่งพระเจ้า (grace) ซึ่งถูกสรุปเป็นภาพชัดเจนผ่านตัวละครอย่าง คุณโอ’เบรียน และ คุณนายโอ’เบรียน คนหนึ่งคำนึงถึงแต่ตัวเอง แล้วพยายามครอบงำ ควบคุมคนอื่นให้เห็นตาม เขามีเหตุผลที่จะอมทุกข์ แม้ว่าความรักจะอบอวลอยู่รอบตัว ส่วนอีกคนคำนึงถึงแต่ผู้อื่น แล้วก้มหน้ายอมรับ แม้จะถูกหลงลืม เกลียดชัง หรือเหยียดหยาม (หนังตอกย้ำสถานะ “แม่พระ” ของคุณนายโอ’เบรียนขึ้นไปอีกขั้นด้วยการให้เธอเต้นระบำกลางอากาศในฉากหนึ่ง)

“เราต้องเลือกว่าจะเดินตามเส้นทางใด...” เสียงบรรยายกล่าว “คนที่เลือกวิถีแห่งพระเจ้าไม่มีวันจะพบจุดจบที่เลวร้าย”

แม้จะทราบแน่ชัดว่านั่นเป็นข้อเท็จจริง แต่ในทางปฏิบัติยังคงไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีรอยด่างพร้อยในธรรมชาติ แจ๊ค เปรียบเสมือนตัวแทนของมนุษย์ทุกคน ที่ถูกฉุดรั้งด้วยพลังทั้งสองด้าน (“คุณพ่อ คุณแม่ พวกท่านต่อสู้กันอยู่ในใจผมเสมอมา และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป”) ขณะเดียวกัน งูในตำนานอดัมกับอีฟก็ถูกแทนที่โดยชายร่างสูงในห้องใต้หลังคา ซึ่งคอยล่อหลอกและชี้ชวนให้มนุษย์ยอมแพ้ต่อกิเลส แล้วเบี่ยงเบนออกจากวิถีแห่งพระเจ้า โดยหลังจากฉากปริศนาดังกล่าว (รวมถึงภาพตัวตลกในคณะละครสัตว์) พฤติกรรมของแจ๊คก็เริ่มส่อแววมืดหม่นขึ้นเป็นลำดับ หรือพูดอีกอย่าง คือ การเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการทดลองยิงกบขึ้นฟ้า ขโมยชุดกระโปรงชั้นในของหญิงสาวข้างบ้าน ยิงปืนลมใส่น้องชาย รวมเลยไปถึงความคิดอยากจะฆ่าพ่อ ซึ่งส่อนัยยะชัดเจนขณะแจ๊คเดินวนรอบแม่แรงระหว่างคุณโอ’เบรียนกำลังนอนซ่อมรถอยู่ใต้ท้องรถ

นอกจากตำนานอดัมกับอีฟแล้ว The Tree of Life ยังอ้างอิง (ในฉากเปิดเรื่อง) ถึงตำนานอีกบทของศาสนาคริสต์ นั่นคือ The Book of Job ผ่านการหยิบยกคำโต้ตอบของพระเจ้า (Where wast thou when I laid the foundations of the earth?) ต่อโยป ซึ่งถูกยั่วยวนให้สาปแช่งพระองค์ หลังจากเขาสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง (ลูกๆ ทรัพย์สิน สุขภาพ) และได้รับคำแนะนำอันเลวร้ายจากเหล่าผองเพื่อนว่าเขาต้องกระทำผิดบาปร้ายแรง จึงถูกพระเจ้าลงโทษให้ต้องทนทุกข์ทรมานเช่นนี้ (5)

The Tree of Life เปิดเรื่องเมื่อครอบครัวโอ’เบรียนทราบข่าวการตายของลูกชาย และเช่นเดียวกับโยปความทุกข์ทรมานที่ตามมานำไปสู่การตั้งคำถามต่อพระเจ้าถึงความอยุติธรรม พวกเขาไม่เข้าใจว่าหากพระเจ้าเปี่ยมเมตตาจริง เหตุใดโลกจึงเต็มไปด้วยความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นภาพของคนพิการที่สองพี่น้องโอ’เบรียนเดินผ่านในเมือง หรือเด็กชายที่ถูกไฟคลอก และเหตุการณ์จมน้ำตายของเด็กชายคนหนึ่ง (“พระองค์อยู่ไหน... พระองค์ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ทำไมผมจะต้องทำตัวดี ในเมื่อพระองค์ไร้เมตตา”) ณ จุดนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าอาจแทนที่ได้ด้วยความรู้สึก “ทั้งรักทั้งเกลียด” ของแจ๊คต่อคุณโอ’เบรียน ซึ่งยืนกรานให้ลูกๆ เรียกเขาว่า father ไม่ใช่ dad เนื่องจากบางครั้งเราจะเห็นเขาลงโทษลูกๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร แต่ในบางครั้งเราก็จะเห็นเขากอดเด็กชายด้วยความรักใคร่

ความแตกต่างระหว่าง The Tree of Life กับ A Serious Man หนังอีกเรื่องซึ่งหยิบยก The Book of Job ขึ้นมาอ้างอิง อยู่ตรงที่ มาลิคไม่เพียงแจกแจงเคราะห์กรรม (โดยปราศจากเหตุผล) ของโยปเท่านั้น แต่ยังนำเสนอคำตอบของพระเจ้าอีกด้วย ผ่านฉากกำเนิดโลกและสรรพสิ่ง เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ของจักรวาลอันไพศาล ณ ช่วงหนึ่งของวิวัฒนาการที่กินเวลานับล้านๆ ปี ส่วนพระเจ้า (หรือพลังยิ่งใหญ่นอกเหนือความเข้าใจของมนุษย์) ก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะต้องอธิบายตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เราอาจแสวงหาการปลอบประโลมต่อ “ภาวะนิ่งเงียบ” ของพระเจ้าได้จากคำกล่าวของคุณโอ’เบรียน ขณะเขาสอนลูกๆ ให้รู้จักป้องกันตัว ... บางทีทุกความเจ็บปวด ความผิดหวัง ความล้มเหลวที่เราต้องเผชิญอาจเป็นส่วนหนึ่งในบทเรียนชีวิตที่จะช่วยให้มนุษย์แข็งแกร่ง และ “เป็นนายของตัวเอง” (be your own man)

มนุษย์มักคิดว่าพระเจ้าเป็น “เอกสิทธิ์” ของเผ่าพันธุ์ตน แต่มาลิคได้ท้าทายความคิดดังกล่าวผ่านฉากพิศวง เมื่อไดโนเสาร์ตัวหนึ่งไว้ชีวิตไดโนเสาร์อีกตัวหนึ่งที่กำลังนอนสิ้นแรงอยู่ริมลำธาร นั่นคือแสงวูบแรกแห่งเมตตาจิต? หรือมันแค่อิ่มท้อง และไม่เห็นความน่าสนใจของเหยื่อซึ่งไม่ต้องไล่ล่า? เช่นเดียวกับโยป เราไม่รู้ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร และนั่นอาจเป็นประเด็นสำคัญของหนังทั้งเรื่อง ความรู้สึกที่ว่าคำตอบไม่ใช่เป้าหมาย หรือไม่อาจนำมาซึ่งความพึงพอใจสูงสุด มนุษย์พยายามจะใช้หลักวิทยาศาสตร์เพื่ออธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง ผ่านตรรกะ ผ่านสูตรคณิตศาสตร์ ผ่านจิตวิทยา แต่สุดท้ายแล้วก็ยังมีบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือหลักการดังกล่าว นอกเหนือความเข้าใจของเรา จุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ตรงที่ มาลิคพยายามจะปลดเปลื้องมนุษย์ออกจากศูนย์กลาง แล้วชี้นำพวกเขาไปยังความยิ่งใหญ่รอบข้าง ความงดงามใกล้ตัว... เพราะทุกสิ่งล้วนมีต้นกำเนิดเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยงถึงกัน

แม้ว่าเหล่าตัวละครมักจะพูดพร่ำถึงพระเจ้า แม้ว่ากล้องจะนิยมถ่ายเหตุการณ์ในมุมต่ำ เพื่อสอดส่องไปบนท้องฟ้า แต่หนังของมาลิคกลับไม่เคยบอกกล่าวอย่างชัดเจนว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพราะเขาไม่ใช่ผู้กำกับที่ชื่นชอบการชี้นำ หรืออธิบายว่า “เหตุใด” ทุกอย่างจึงเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากวิธีที่เขาปฏิบัติกับตัวละครเอกใน Badlands (6) และสงครามใน The Thin Red Line(7) เขาสนใจนำเสนอแค่ว่าทุกสิ่งเป็นไปอย่างที่มันเป็นไป และสิ่งเดียวที่เราทำได้ คือ ก้มหน้ายอมรับ

ด้วยเหตุนี้ มาลิคจึงไม่แตกต่างจากพระเจ้าเท่าใดนัก เขาไม่นิยมการอธิบายเหตุผล เขาไม่นิยมความสมบูรณ์แบบ... ทว่าหนังของเขา ไม่พยายามจะบอกกล่าวอะไรจริงๆ หรือ

* * *
ชื่อหนังอาจอ้างอิงจากทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาวิน ซึ่งแทนที่แต่ละสายพันธุ์ด้วยกิ่งก้านสาขา บ้างก็แตกหน่อขยายเผ่าพันธุ์ไปเรื่อยๆ บ้างก็แห้งเหี่ยวสูญพันธุ์ แต่ขณะเดียวกัน แนวคิดเกี่ยวกับต้นไม้แห่งชีวิตยังตีความในแง่อื่นๆ ได้อีกด้วย ตั้งแต่ศาสนา ปรัชญา ไปจนถึงตำนาน โดยความหมายกว้างๆ บ่งชี้ให้เห็นว่าทุกชีวิตบนโลกล้วนเชื่อมโยงถึงกัน เช่น มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นลูกหลานที่ถือกำเนิดจากอดัมกับอีฟ และทุกสรรพสิ่งเกิดจากน้ำมือของพระเจ้า

The Tree of Life เปรียบเสมือนการหลอมรวมโลกสองขั้วที่ตรงข้ามกัน เช่น วิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณ ทำให้คนดูได้เห็นฉากจำลองปรากฏการณ์ Big Bang (กำเนิดจักรวาล) และอุกกาบาตตก (นำไปสู่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์) ควบคู่กับภาพที่เหมือนหลุดมาจากเทพนิยายของหญิงสาวในชุดกระโปรงขาว (นางฟ้า?) พาเหล่าเด็กๆ ตัวน้อยในชุดสีขาว (เทวดา?) เดินเข้าไปในป่า (ส่งมอบให้กับมนุษย์บนโลก?) นอกจากนี้ มันยังถือเป็นหนังที่มีความเป็นส่วนตัวสูงสุดของมาลิค เนื่องจากฉากหลังของเรื่องราวและรายละเอียดหลายอย่าง (มาลิคมีน้องชายสองคน คนหนึ่งถูกไฟคลอกจากอุบัติเหตุรถยนต์ อีกคนไปเรียนกีตาร์ที่สเปน ก่อนจะฆ่าตัวตาย) แต่ขณะเดียวกันโศกนาฏกรรมของครอบครัวโอ’เบรียน หรือการก้าวผ่านช่วงวัยของแจ๊คก็เป็นประสบการณ์สากลที่มนุษย์ทุกคนล้วนเคยพานพบมาแล้ว กล่าวอีกอย่าง หนังสะท้อนทั้งแง่มุมมหภาค (โลก จักรวาล มนุษยชาติ) และจุลภาค (ครอบครัว ปัจเจกชน) ไปพร้อมๆ กัน

มาลิคเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงเรื่องราวของคนๆ หนึ่ง ครอบครัวๆ หนึ่ง ก่อนจะดึงคนดูไปสัมผัสภาพรวมมุมกว้าง เพื่อให้มนุษย์ ซึ่งนิยมมองตัวเองเป็นศูนย์กลาง และหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ตระหนักถึงความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ของสภาพแวดล้อมรอบข้าง จะสังเกตได้ว่าตัวละครในหนังของมาลิคมักถูกครอบงำโดยมุมมองแบบตะวันตก ผลักดันให้พวกเขาพยายามควบคุม เอาชนะธรรมชาติโดยคิดค้นเครื่องจักร วิทยาการ แล้ววัดความสำเร็จจากเงินทอง ชื่อเสียง และการยอมรับของผู้อื่น แต่ในเวลาเดียวกัน อีกหนึ่งมุมมองจะถูกนำเสนอผ่านกล้องของมาลิค เพื่อชี้นำวิสัยทัศน์ของคนดูไปยังสิ่งที่ตัวละครเหล่านั้นมองข้าม หรือเห็นว่าไร้คุณค่า ไร้ความหมาย

ใน Days of Heaven การกระทำของตัวละครหาได้โดดเด่นไปกว่าฉากหลัง และบ่อยครั้งกล้องมักจะขัดจังหวะ “เรื่องราว” ด้วยทัศนียภาพของท้องทุ่ง หรือภาพฝูงนกโบยบิน ใน Badlands ฮอลลี (ซิสซี สปาเซ็ค) บอกเล่าความคิดผ่านเสียงบรรยายว่า “บางครั้งฉันก็อยากจะนอนหลับ แล้วหนีไปยังดินแดนมหัศจรรย์ที่ไหนสักแห่ง” แต่การได้เห็นเธอกับคิท (มาร์ติน ชีน) อาศัยอยู่ในบ้านบนต้นไม้กลางป่า เต้นรำเคล้าเสียงเพลงของ แนท คิง โคล ภายใต้แสงดาวระยับฟ้า กลับทำให้คนดูตระหนักว่าบางทีเธออาจจะอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์นั้นแล้ว เพียงแต่มืดบอดเกินกว่าจะมองเห็น ใน The New World สมิธ (โคลิน ฟาร์เรล) สละโอกาสที่จะได้อยู่กับคนรักเพื่อไล่ตามความฝันของนักสำรวจ และมองย้อนไปยังประสบการณ์ของเขาระหว่างถูกจับเป็นเชลยของชนเผ่าอินเดียนแดง ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติว่าเป็นเหมือน “ความฝัน”

ตัวละครอย่างคุณโอ’เบรียนก็ไม่ต่างจากบิล (ริชาร์ด เกียร์) ใน Days of Heaven และสมิธใน The New World พวกเขาล้วนโหยหาการยอมรับจากคนรอบข้าง แล้ววัดความสำเร็จผ่านชื่อเสียง เงินทอง หรือปริมาณการถือครองที่ดิน และถึงแม้จะชิงชังพ่อ แต่แจ๊คกลับยอมรับว่าตนเองกำลังเจริญรอยตามพ่อมากกว่าแม่ สุดท้ายแล้วแจ๊คอาจประสบความสำเร็จในสิ่งที่พ่อของเขาล้มเหลว แต่ทั้งคู่กลับจมปลักอยู่ในความทุกข์ไม่ต่างกัน

ถึงแม้จะให้ความสำคัญกับธรรมชาติ แต่มาลิคหาได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง หรืออารยธรรมไม่ ตรงกันข้าม ทัศนคติของเขาต่อชีวิตนอกจากจะสะท้อนผ่านกล้องแล้ว ยังพบเห็นได้ในตัวละครอย่าง โพคาฮอนตัส (คอร์อันกา คิลเชอร์) ซึ่งผันผ่านจากบทบาทของเจ้าหญิงอินเดียนแดง สู่บทบาทของภรรยาชาวคริสต์ หลังเธอแต่งงานไปกับ จอห์น รอล์ฟ (คริสเตียน เบล) และมีโอกาสเดินทางไปเข้าเฝ้าพระราชาที่ประเทศอังกฤษ การแปลงสภาพดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า หรือชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ก็ได้ มาลิคไม่ได้วิพากษ์สวนในพระราชวัง และเหล่าต้นไม้ที่ถูกตัดแต่งอย่างประณีตว่าเป็นความเสื่อมโทรม เมื่อเทียบกับป่าเขาอันบริสุทธิ์ ทั้งนี้เพราะพวกมันล้วนมีรากเหง้ามาจากแหล่งเดียวกัน แก่นหลักจึงไม่ใช่การเลือกระหว่างสองความจริงที่ตรงข้ามกัน หากแต่เป็นการชื่นชมทุกสิ่งที่มีอยู่และเป็นไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง หนังของมาลิคชี้นำคนดูถึงการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เรียนรู้ที่จะปรับตัวไปพร้อมความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ามันจะดีขึ้น หรือเลวลง แล้วหยุดมองหาดินแดนในฝัน หรือความสำเร็จในเชิงวัตถุ เพราะมันรังแต่จะทำให้เรามองข้ามความงามรอบตัวและไม่สามารถมีความสุขกับสิ่งที่ดำเนินอยู่

อาจกล่าวได้ว่าเรื่องราวใน The Tree of Life ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน นั่นคือ อดีต (จุดเริ่มต้นของจักรวาล ซึ่งอ้างอิงตามหลักวิทยาศาสตร์) ปัจจุบัน (การดำรงชีวิต) และอนาคต (จุดสิ้นสุดของกาลเวลา ซึ่งถ่ายทอดในรูปแบบของสัญลักษณ์) ไม่น่าแปลกใจว่ามาลิคให้ความสำคัญและน้ำหนักกับส่วนที่สองสูงสุด ทั้งนี้เพราะระหว่างสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่ไม่อาจคาดเดา มนุษย์สามารถเป็นนายของตัวเองอย่างแท้จริงจากทางเลือกของเขาในปัจจุบัน ความงามของชีวิตหาใช่คำตอบที่ปลายทาง หากแต่เป็นรายละเอียดระหว่างทาง ในทุกๆ ความเปลี่ยนแปลง ทุกๆ ความหรรษา ทุกๆ ความผิดหวัง ทุกๆ ความสูญเสียที่เราเผชิญ ความงามพบเห็นได้ทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องไขว่คว้า ไล่ล่า แต่ก่อนจะตระหนักเช่นนั้นได้ มนุษย์จำเป็นต้องรู้จักปลดปล่อยตัวเองออกจากศูนย์กลาง แล้วมองภาพรวมในมุมกว้าง เริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างคนในครอบครัว คนรู้จัก เพื่อนร่วมโลก ไปจนถึงทุกสรรพสิ่งรอบข้าง... บางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมหนังจึงไม่ได้จบลงบนชายหาด หากแต่ย้อนกลับมายังเมืองใหญ่ ลิฟต์บนตึกสูง และรอยยิ้มของแจ๊คในวัยกลางคน ที่เหมือนจะพร้อมสำหรับการเดินทางครั้งใหม่

* * *
ทันทีที่การฉายรอบปฐมทัศน์โลกของ The Tree of Life จบลงท่ามกลางกระแสความคาดหวังอันสูงลิ่ว เสียงโห่แสดงความชิงชังก็ดังขึ้น ก่อนจะตามมาด้วยเสียงปรบมือชื่นชม ปฏิกิริยาดังกล่าวนอกจากไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแล้ว ยังอาจเรียกได้ว่า “เหมาะสม” เสียด้วยซ้ำกับหนังที่นำเสนอเนื้อหาเชิงทวิภาวะผ่านองค์ประกอบหลากหลาย ซึ่งใครก็ตามที่คุ้นเคยกับผลงานของ เทอร์เรนซ์ มาลิค มาก่อนย่อมทราบดีว่ามันไม่ใช่มุมมองสดใหม่ แม้คราวนี้ฉากหลังจะย้อนไปไกลถึงการกำเนิดโลก และดำเนินต่อเนื่องมาจนยุคปัจจุบัน (นี่เป็นหนังเรื่องแรกของมาลิคที่ใช้ฉากหลังร่วมสมัย) เมื่อตึกสูงระฟ้าเข้ามาแทนที่ป่าไม้ร่มรื่น เขียวชอุ่ม

บางคนที่มองโลกแบบเย้ยหยันอาจยิ้มเยาะใส่วิสัยทัศน์ของมาลิคว่าไร้เดียงสา หรืออุดมคติเกินไป บางคนที่นิยมการเล่าเรื่องแบบคลาสสิกอาจมองว่าเขาขาดวินัย หรือกระทั่งทักษะ บางคนที่ปราศจากศรัทธาในศาสนาอาจเห็นความหมกมุ่นของเขาเป็นเรื่องไร้สาระ หรือคร่ำครึ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธ คือ เทอร์เรนซ์ มาลิค เป็นนักทำหนังจากฮอลลีวู้ดเพียงไม่กี่คนที่ยังคงสร้างผลงานด้วยความทะเยอทะยานและความกล้าหาญขั้นสูงสุด เพื่อนำเสนอห้วงคิดคำนึง ตลอดจนมุมมองของเขาเกี่ยวกับโลก มนุษย์ และการดำรงชีวิตโดยไม่แคร์ว่าใครจะคิดเห็นอย่างไร ทั้งคนดู ทั้งนักวิจารณ์ ทั้งผู้บริหารสตูดิโอ กระนั้น การที่เขายังสามารถหาทุนมาสร้างหนังได้อย่างต่อเนื่อง และนักแสดงระดับแนวหน้าหลายคนก็ยินดีทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ร่วมงานกับเขา พิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มคนจำนวนไม่น้อยมีอารมณ์ร่วมต่อประเด็นและกลวิธีการนำเสนอของเขา

เมื่อเทียบกับผลงานยุคหลังๆ ของกลุ่มนักทำหนังระดับเวิลด์คลาสรุ่นเดียวกันอย่างสปีลเบิร์ก, สกอร์เซซี และคอปโปลา ซึ่งต่างก็ผ่านการประนีประนอม หรืออ่อนข้อต่อรสนิยมกระแสหลักกันมาแล้ว บ้างก็ถึงขนาดหมดไฟในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ (8) การปรากฏตัวขึ้นของ The Tree of Life จึงแทบไม่ต่างกับการเห็นไดโนเสาร์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาบนโลกแห่งบล็อกบัสเตอร์และการคิดคำนวณสูตรสำเร็จ มันพาเราย้อนกลับไปยังยุคที่หนังแบบ 2001: A Space Odyssey สามารถสร้างกระแสความสนใจในวงกว้าง และ อิงมาร์ เบิร์กแมน ยังเป็นผู้กำกับ “อินเทรนด์” เมื่อสุนทรียะแห่งภาพยนตร์หวนคืนสู่รากเหง้า ส่วนเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ถูกนำมาใช้สนับสนุนไอเดียมากกว่าแค่สร้างความตื่นตาแบบฉาบฉวย

ผลงานของ เทอร์เรนซ์ มาลิค คือ หนึ่งในหลักฐานอันหนักแน่น ซึ่งนับวันจะเริ่มหาได้ยากยิ่ง ว่าเหตุใดภาพยนตร์จึงถูกจัดให้เป็นศิลปะแขนงที่เจ็ด และ The Tree of Life ก็สมควรได้รับการวิพากษ์ ชื่นชม และตีความเยี่ยงนั้น

หมายเหตุ

1. นักวิจารณ์ จิม อีเมอร์สัน ตั้งข้อสังเกตว่าในหนังเรื่อง Solaris ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางข้ามดวงดาว ก่อนจะลงเอยด้วยการเผชิญหน้ากับอดีตของตน ก็มีการใช้ภาพหญ้าทะเลที่โบกสะบัดตามกระแสน้ำอยู่หลายครั้งเช่นเดียวกับ The Tree of Life

2. เนื่องจากฉากภายในอาคารไม่มีการจัดแสงช่วย นักออกแบบงานสร้าง แจ๊ค ฟิสค์ ซึ่งร่วมงานกับมาลิคมาทุกเรื่อง จึงต้องต่อเติมหน้าต่าง หรือไม่ก็เจาะช่องบนเพดานเพื่อเปิดรับแสงอาทิตย์ มีบ้านสามหลังถูกใช้สำหรับการถ่ายทำในโลเกชั่น โดยทีมงานต้องเคลื่อนพลจากบ้านหลังหนึ่งไปยังอีกหลังหนึ่งตามทิศทางของแสงอาทิตย์ “เทอร์รีไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องความต่อเนื่องเท่าไหร่” ฟิสค์กล่าว

3. เนสเตอร์ อัลเมนดรอส ตากล้องของหนังเรื่อง Days of Heaven เรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า “ลมหายใจเฮือกสุดท้าย เพราะมันไม่ใช่หนึ่งชั่วโมง แต่กินเวลานานสุดแค่ประมาณ 25 นาที ขณะพระอาทิตย์เพิ่งตกดิน และก่อนทุกอย่างจะมืดมิด บนท้องฟ้ายังมีแสงสว่างเรืองรอง แต่ไม่ปรากฏดวงอาทิตย์ให้เห็น แสงในช่วงเวลานั้นจะนุ่มนวล ให้ความรู้สึกเหมือนต้องมนต์สะกด เราจะมีโอกาสสัมผัสแค่ 25 นาทีต่อวัน แต่มันให้ผลลัพธ์คุ้มค่าบนจอ ช่วยขับเน้นความงามและอารมณ์โรแมนติก”

4. “อันที่จริงเขาเป็นพวกไม่นิยมความสมบูรณ์แบบ” แบรด พิทท์ กล่าวถึง เทอร์เรนซ์ มาลิก “เขาค้นพบความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ และพยายามสร้างความไม่สมบูรณ์แบบมาตลอด” (เช่นเดียวกับพระเจ้าที่สร้างมนุษย์แต่ละคนให้ไม่เท่ากัน?) นี่อาจเป็นเหตุว่าผลทำไมมาลิกจึงเลือกใช้การถ่ายภาพสีและส่วนผสมของเหลวในแท็งก์น้ำเพื่อถ่ายทอดฉากกำเนิดดวงดาว “คอมพิวเตอร์กราฟฟิกจะคำนวณทุกอย่างผ่านอัลกอริธึม จนให้ความรู้สึกที่คาดเดาได้ แต่เทอร์รีกับผมต้องการภาวะไร้รูปแบบและไม่เป็นระเบียบ ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง” ดักลาส ทรัมบูล ผู้สร้างชื่อจากการทำเอฟเฟ็กต์ให้กับหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey กล่าว

5. ใน The Book of Job พระเจ้าทรมานโยปเพื่อจะลบล้างสมมุติฐานของซาตานว่า หากโยปถูกปลดเปลื้องจากความรุ่งเรือง โชคลาภทั้งมวลแล้ว เขาจะไม่มีทางเคร่งครัดศาสนาดังที่ผ่านมา และลงเอยด้วยการสาปแช่งพระเจ้า ขณะเดียวกัน พระเจ้าก็ไม่ได้ตอบคำถามของโยปต่อความอยุติธรรมทั้งหลาย โดยบอกเพียงว่าพระองค์ไม่จำเป็นต้องอธิบายตัวเอง หรือได้รับความเห็นชอบจากเหล่าสรรพสิ่งที่พระองค์สร้างสรรค์ขึ้นมา รวมถึงมนุษย์ สุดท้ายโยป (ซึ่งไม่ทราบถึงข้อตกลงระหว่างพระเจ้ากับซาตาน) ยอมจำนนต่อความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และสำนึกผิดต่อการเรียกร้องความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ในบทส่งท้าย พระเจ้าได้ลงโทษเพื่อนๆ ของโยป และคืนความมั่งคั่ง ตลอดจนสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ให้แก่โยป เขามีลูกใหม่ทั้งหมด 10 คนและมีอายุยืนถึง 140 ปี

6. คิท (มาร์ติน ชีน) และ ฮอลลี่ (ซิสซี่ สปาเซ็ค) แทบจะไม่ตระหนักว่าการกระทำของตนเลวร้ายแค่ไหน และพวกเขาก็ปราศจากเหตุผลใดๆ ว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น ในฉากหนึ่ง คิทไม่อาจอธิบายกับตำรวจได้เหมือนกันว่าทำไมเขาถึงฆ่าคนตายไปหลายศพ เขาถึงขนาดเห็นว่ามนุษย์โดยทั่วไปก็ “โอเค” และตลอดทั้งเรื่องก็ไม่ใช่ตัวละครที่มีบุคลิกคุกคามแต่อย่างใด นอกจากนี้ ความโดดเดี่ยว แปลกแยกจากโลกรอบข้างของพวกเขาก็ไม่ได้รับคำอธิบายในเชิงจิตวิทยา หรือสังคมศาสตร์เช่นกัน แต่ถูกนำเสนอว่าเป็นแค่แง่มุมหนึ่งของชีวิต ทั้งนี้เพราะมาลิคเชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์หาได้มีแรงจูงใจในเชิงจิตวิทยาเสมอไป

7. หนังแปลกแยกจากหนังสงคราม หรือต่อต้านสงครามโดยทั่วไป เนื่องจากมันไม่ได้สนใจประเด็นทำนอง “สงครามเป็นผลมาจากธรรมชาติของมนุษย์ที่กระหายเลือด” หรือ “สงคราม คือ อาชญากรรมต่อธรรมชาติ” แต่กลับพุ่งเป้าไปยังข้อเท็จจริงที่ว่าโลกล้วนเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างสองขั้วตรงข้าม อาทิ สงครามกับสันติภาพ ความมืดมิดกับแสงสว่าง ฯลฯ และเช่นเดียวกับการถามหาคำตอบจากพระเจ้าใน The Tree of Life คำถามของตัวละครใน The Thin Red Line ว่าสงครามเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ไม่ได้รับคำอธิบายที่ชัดเจน

8. อาจเป็นเพราะการหยุดสร้างหนังไปนานถึง 20 ปีระหว่าง Days of Heaven กับ The Thin Red Line ไฟและพลังในการสร้างสรรค์ของมาลิคจึงยังลุกโชติช่วง แถมในแง่สไตล์ก็มุ่งเน้นสู่การทดลองใหม่ๆ มากขึ้นด้วย ล่าสุดเขาเพิ่งปิดกล้องผลงานชิ้นที่หกไป (ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ) ซึ่งดำเนินเหตุการณ์ในยุคปัจจุบัน นำแสดงโดย เบน อัฟเฟล็ค กับ ราเชล แม็คอดัมส์ และถูกนิยามว่าเป็นหนังรักโรแมนติก แต่จากคำบอกเล่าของฟิสค์ “มันทำให้ The Tree of Life ดูหัวโบราณไปเลย”

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พี่เขียนดีมากๆๆๆๆๆ เลยค่ะ จริงๆ นะคะ หนูไม่ได้เวอร์นะ ฮ่าๆๆ
ทำให้เข้าใจหนังและได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ ถึงแม้คนจะหันไปเล่นเฟสบุคกันหมด แต่ขอให้พี่เขียนต่อไปเรื่อยๆ นะคะ หนูจะคอยมาเป็นกำลังใจให้^^

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณที่ตามอ่านนะครับ ^ ^

nawabhorn กล่าวว่า...

อยากติดต่อของสัมภาษณ์คุณ Riverdale นะครับเกี่ยวกับมายาคติเรื่องเพศในหนัง ขอเมลหรือเบอร์ติดต่อกลับนะครับ ของผม mr.nawabhorn@gmail.com

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เยี่ยมครับ ขอบคุณครับ