วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 20, 2554

Sex, Drug, and Colonialism: มองสยามผ่านเลนส์


ในหนังเรื่อง The Adventures of Priscilla, Queen of the Desert กลุ่มกะเทยนางโชว์สามหน่อจากซิดนีย์ได้ออกเดินทางข้ามประเทศออสเตรเลียเพื่อไปเปิดการแสดงยังรีสอร์ทกลางทะเลทราย แต่แล้วระหว่างทาง จู่ๆ รถบัสของพวกนางก็เกิดสตาร์ทไม่ติด ส่งผลให้กะเทยทั้งสามต้องมาติดแหง็กข้ามคืนในเมืองบ้านนอกเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่นั่นช่างซ่อมหนุ่มวัยดึกเกิดปิ๊งไอเดียและเสนอให้พวกนางเปิดโชว์คาบาเรต์กลางบาร์เหล้าท้องถิ่น

แน่นอนบรรดาชาวบ้านเหล่านั้นกลับไม่เห็นว่าการนั่งดูกะเทยลิปซิงค์เพลงแดนซ์สุดฮิตมันน่าสนุกตรงไหน ตรงกันข้าม ทันทีที่สาวฟิลิปปินส์ อดีตนางโชว์และเมียของช่างซ่อม เริ่มออกมาวาดลวดลาย “นาฏศิลป์ลูกปิงปองบิน” เสียงโห่ร้อง ปรบมือก็ดังสนั่นขึ้นในฉับพลัน

บางทีฉากเน้นฮาข้างต้นอาจมีจุดมุ่งหมายแค่จะล้อเลียนว่าสุดท้ายแล้ว ผู้ชายย่อมชอบกลีบมากกว่าก้าน (แม้กะเทยนางหนึ่งในกลุ่มจะเฉาะแล้วก็ตาม) ทว่านัยยะที่ซ่อนอยู่ (ซึ่งบางคนโจมตีว่าค่อนข้างเหยียดเพศและเชื้อชาติ) ได้เผยให้เห็นทัศนคติบางอย่างของโลกตะวันตกต่อโลกตะวันออกไปพร้อมๆ กัน

จริงอยู่เหล่ากะเทยทั้งสามอาจถูกจำแนกให้ “เป็นอื่น” จากพฤติกรรมภายนอก การแต่งตัวข้ามเพศ และบุคลิกที่จัดจ้านไม่แพ้เครื่องสำอางบนใบหน้า แต่ลึกๆ แล้วพวกเขายังเป็นชายผิวขาว กลมกลืนกับชนกลุ่มใหญ่ มากกว่าสาวชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็น “ตะวันออก” ในโลกแห่งตะวันตก พูดง่ายๆ อีกอย่าง คือ สำหรับฝรั่งตาน้ำข้าว หล่อนประหลาดล้ำ น่าตื่นตระหนก และแปลกแยกยิ่งกว่ากะเทยที่เอาคอลเล็กชั่นรองเท้าแตะมาทำชุดเดรส หรือสวมพุ่มดอกไม้ไว้บนหัวซะอีก!

ภาพลักษณ์ของสยามเมืองยิ้มในภาพยนตร์ฝรั่งหลายเรื่องก็ไม่ค่อยผิดแผกจากภาพนางโชว์ชาวฟิลิปปินส์ใน The Adventures of Prisilla: Queen of the Desert สักเท่าไหร่ โดยธรรมชาติที่ประหลาดล้ำ หรือ exoticism ดังกล่าว หาได้สื่อผ่านรูปธรรมภายนอกที่เห็นชัดเจนเท่านั้น เช่น ช้าง นาฏศิลป์ มวยไทย ชายหาดแสนสวย หรือพระพุทธรูป หากแต่ยังรวมถึงแนวคิด เอกลักษณ์ และหลักปฏิบัติบางอย่างอีกด้วย

เริ่มต้นกันที่หนังเพลงสุดฮิตอย่าง The King and I (1956) ซึ่งดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Anna and the King of Siam เขียนโดย มาร์กาเร็ต แลนดอน ที่อ้างอิงเรื่องราวมาจากบันทึกชีวประวัติสองเล่ม (The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem) ของ แอนนา ลีโอโนเวนส์ เมื่อครั้งถูกจ้างให้มาสอนหนังสือลูกๆ กษัตริย์แห่งเมืองสยามในปี 1861 จนหล่อน (ตามนัยยะของหนังสือ) พัฒนาความสัมพันธ์ “แนบแน่น” กับกษัตริย์ตลอดจนส่งอิทธิพลต่อองค์รัชทายาท และการประกาศยกเลิกระบบทาสในปี 1905

ไม่ต้องสงสัยว่าหนังสือและหนังย่อมถูกโจมตีอย่างหนักจากฟากฝั่งรัฐบาลไทย ในข้อหาบิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมทั้งสั่งแบนหนัง “ทุกเวอร์ชั่น” (ว่ากันตามตรง ตัวหนัง/นิยายเองก็ไม่ได้อ้างตนว่าปราศจากการใส่ไข่แต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นแล้ว Anna and the King of Siam คงถูกจัดให้อยู่หมวดสารคดีแทนที่วรรณกรรม) ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็น การปะทะกันของสองแนวคิดที่แตกต่าง ซึ่งเป็นแก่นหลักทั้งด้านเนื้อหาและอารมณ์ของเรื่องราวด้วย โดยฟากหนึ่งเชื่อมั่นในความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ฉะนั้น การวาดภาพกษัตริย์ให้เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย ขณะอีกฟากหนึ่งยกย่องกษัตริย์เสมือนเทพ ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งล้อเลียนได้ ฉะนั้น การวาดภาพให้พระองค์ดูคล้ายตัวตลกท้องพระโรงจึงกลายเป็นเรื่องลบหลู่ ดูหมิ่น

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมถาโถมเข้าใส่แหม่มแอนนา (เดบอราห์ เคอร์) ตั้งแต่ฉากแรก ก่อนเธอจะเหยียบแผ่นดินสยาม (หรือพูดให้ถูก คือ ฉากสุดอลังการในสตูดิโอ) เสียด้วยซ้ำ เมื่อพระยากลาโหมที่พระราชา (ยูล บรินเนอร์) สั่งให้มารับเธอที่ท่าเรือแต่งตัวในสภาพ “กึ่งเปลือย” หยอกล้อกับตัวแหม่มแอนนา ซึ่งแต่งกายด้วยกระโปรงสุ่ม ปกปิดมิดชิดตั้งแต่คอจรดปลายเท้า

อย่างไรก็ตาม หนังดูจะมุ่งเน้นสะท้อนความขัดแย้งในรูปอารมณ์ขันมากกว่าก้มหน้าวิพากษ์อย่างจริงจัง ตั้งแต่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ห้ามศีรษะของสามัญชนอยู่สูงกว่าศีรษะกษัตริย์ (กลายเป็นแก๊กตลกที่ถูกใช้มากกว่าหนึ่งครั้ง) หรือแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง เช่น เมื่อพระราชาอธิบายเปรียบเทียบว่าผู้ชายก็เหมือนผึ้ง ที่ต้องมีอิสระเพื่อจะได้สามารถโบยบินไปเชยชมดอกไม้หลายๆ ดอก แต่ดอกไม้ไม่อาจไขว่คว้าหาผึ้งหลายๆ ตัวได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมกษัตริย์ถึงมีนางสนมได้หลายคน แต่หากนางสนมไปคบหาชายอื่น หล่อนจะต้องถูกลงโทษอย่างหนัก ดังจะเห็นได้จากชะตากรรมของเจ้าจอมทับทิม (ริต้า มอรีโน) นางสนมที่แอบหนีตามคนรักออกไปนอกราชวัง (ในหนังสือหล่อนถูกจับเผาทั้งเป็นพร้อมกับชายคนรัก แต่เวอร์ชั่นหนังเพลงได้ตัดรายละเอียดส่วนนี้ออก และเมื่อถูกท้วงติงจากเหล่านักประวัติศาสตร์ว่าเมืองไทยไม่เคยมีธรรมเนียมการลงโทษแบบนั้น หนังเวอร์ชั่นใหม่จึงเปลี่ยนมาเป็นการถูกประหารด้วยการตัดหัวแทน)

เนื่องจากวัฒนธรรมของตะวันตกเชิดชูความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว และตัวแหม่มแอนนาเองก็มีลักษณะของเฟมินิสต์อยู่ในที (หญิงสาวที่ต้องหาเลี้ยงชีพตนเองกับลูก หลังสามีเสียชีวิต) หล่อนจึงหัวเราะใส่แนวคิดดังกล่าว และความขัดแย้งนั้นก็นำไปสู่จุดแตกหักระหว่างเธอกับกษัตริย์

แม้แหม่มแอนนาจะยินดีช่วยเหลือกษัตริย์ให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของอังกฤษและฝรั่งเศส ที่หวังจะกลืนกินสยามเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง แต่อาจกล่าวได้ว่า The King and I ยังคงมองประเทศไทยผ่านสายตาของลัทธิอาณานิคม โดยยึดตะวันตกเป็นที่ตั้ง เป็นแหล่งทรัพยากรแห่งอารยธรรมและความศิวิไลซ์ แล้วเชิดชูกษัตริย์ไทยในแง่ที่พระองค์ทรงยินดีเปิดประเทศสู่ความก้าวหน้า ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการยกเลิกพิธีหมอบกราบ การแต่งกายแบบสากล ไปจนถึงเรื่องใหญ่โตอย่างการประกาศยกเลิกระบบทาส คนรุ่นหลังอาจนึกขอบคุณการล้มล้างระบบชนชั้น (อย่างน้อยก็ในเชิงนิตินัย เช่นเดียวกับการพูดว่าประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทัศนคติของ The King and I ให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับการมองจากสูงลงต่ำ


ราวกับเพื่อจะลดแรงเสียดทานและเสียงต่อต้าน หนังเวอร์ชั่นล่าสุด Anna and the King (1999) จึงไม่ค่อยหนักมือกับภาพลักษณ์ “บ้านป่าเมืองเถื่อน” รวมถึงอารมณ์ขันแบบโจ่งแจ้ง โครมคราม และกษัตริย์แห่งแดนสยาม (โจวเหวินฟะ) ก็มีบุคลิกสุขุม เยือกเย็นขึ้น ไม่ได้เท้าสะเอวตะโกนโหวกเหวกว่า etc., etc., ect. Ha! เหมือนเวอร์ชั่นอันโด่งดังของ ยูล บรินเนอร์ ส่วนแหม่มแอนนา (โจดี้ ฟอสเตอร์) ก็เรียนรู้ที่จะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ “ความเป็นอื่น” ในช่วงกลางเรื่อง เมื่อเธอลุกขึ้นตอบโต้คำพูดอวดดีของเพื่อนร่วมชาติกลางงานเลี้ยงในพระราชวังที่ว่าอังกฤษ “เหนือกว่า” สยาม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในฉากเปิดเรื่อง เธอเพิ่งจะบอกกับลูกชาย (ทอม เฟลตัน) ว่า “วิถีแห่งอังกฤษคือวิถีแห่งโลก คนฉลาดย่อมตระหนักข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอย่างดี” และต่อมา “อินเดียก็คือประเทศอังกฤษ นี่ล่ะเขาถึงเรียกว่าอาณานิคม”

กระนั้นแก่นเรื่องเดิมที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ การเดินทางมายังดินแดนล้าหลังของผู้หญิงคนหนึ่ง เพื่อนำบทเรียนแห่งความศิวิไลซ์ ตลอดจนความถูกต้อง (ตามมาตรฐานของสังคมเธอ) มาสู่ผู้นำของดินแดนนั้น จนสุดท้ายก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ ที่สำคัญ ช่วงไคล์แม็กซ์ท้ายเรื่องของหนังเวอร์ชั่นนี้ยังได้แต่งเติมภาพลักษณ์สไตล์วีรสตรีของแหม่มแอนนาขึ้นไปอีกขั้น (จนไม่แปลกใจเลยว่าทำไม โจดี้ ฟอสเตอร์ จึงตกลงรับบทดังกล่าว) หลังจากเธอยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือไม่ให้กษัตริย์ต้องพ่ายแพ้ต่อกองกำลังของฝ่ายกบฏ

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าหน้าผม อากัปกิริยาโดยรวม ตลอดจนรายละเอียดบางอย่างให้ “สมจริง” มากขึ้น แต่ Anna and the King ก็ไม่วายโดนแบนในประเทศไทยอยู่ดี สาเหตุหลักๆ น่าจะมาจากการปรุงแต่งโรแมนซ์ระหว่างกษัตริย์กับแหม่มแอนนาให้เข้มข้นขึ้นกว่าใน The King and I เสียอีก จนมันแทบจะกลายเป็นตำนาน “รักต้องห้าม” ชนิดเต็มรูปแบบ โดยช่วงเวลาแห่งการบีบเค้นทางดรามา หรือนาทีประมาณ boy loses girl ยังคงวนเวียนอยู่กับประเด็นเจ้าจอมทับทิม (ไป่หลิง) กล่าวคือ แหม่มแอนนาทนไม่ได้ที่เห็นหล่อนถูกศาลลงโทษอย่างทารุณและอยุติธรรม จึงลุกขึ้นประท้วงพร้อมประกาศว่าจะนำเรื่องไปฟ้องพระราชา ซึ่งความจริงวางแผนจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือไม่ให้เจ้าจอมถูกประหารอยู่แล้ว แต่พฤติกรรมอันโจ่งแจ้งของแหม่มแอนนา ทำให้พระองค์ไม่สามารถทำตามความตั้งใจเดิมโดยไม่ “เสียหน้า” ได้ ว่าถูกจูงจมูกโดยผู้หญิงฝรั่งผิวขาว

ฝ่ายหนึ่งเห็นภาพลักษณ์ของกษัตริย์ที่เข้มแข็ง เพื่อจะได้สามารถปกครองแผ่นดินโดยปราศจากความวุ่นวายอยู่เหนือชีวิตของคนสองคน ขณะที่อีกฝ่ายมองเห็นความถูกต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด


คำว่า “เสียหน้า” ตามกลับมาหลอกหลอนนักดูหนังอีกครั้งใน Brokedown Palace (1999) เรื่องราวของสองสาวชาวอเมริกัน อลิซ (แคลร์ เดนซ์) กับ ดาร์ลีน (เคท เบคคินเซล) ที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อหวังจะเที่ยวให้สนุกแบบสุดเหวี่ยง ก่อนกลับไปเริ่มต้นผจญชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย โดยอลิซเป็นคนเสนอให้เปลี่ยนจุดหมายจากฮาวาย ซึ่ง “ชนชั้นกลาง” เกินไป มาเป็นประเทศไทยด้วยเหตุผลทั้งที่จับต้องได้ (เงินดอลลาร์ก็มีค่ามากกว่าที่เมืองไทย) และในเชิงสัญญะ (ไทยมีความหมายถึงอิสรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเธอค้นหา) แต่ราวกับชะตากรรมเล่นตลก สองสาวเจ้ากรรมกลับลงเอยด้วยการถูกจับในข้อหาค้ายาเสพติด

แฮงค์ (บิล พูลแมน) ทนายความชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ พยายามจะช่วยเหลือ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แม้เขา หรือกระทั่งฝ่ายตำรวจเองจะทราบดีว่าทั้งสองไม่ใช่ผู้ค้ายา แต่เป็นแค่เหยื่อที่ถูกหลอกให้ขนยาข้ามประเทศ ส่วนผู้ร้ายตัวจริงนั้นยังคงลอยนวลเพราะเขามีเส้นสายใหญ่โต หรือกระทั่งมีผลประโยชน์ซ้อนทับ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้ “เสียหน้า” จึงจำเป็นต้องมีใครสักคนรับความผิดจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้น และแน่นอน แจ๊คพ็อตย่อมมาตกอยู่กับสองสาวชาวอเมริกัน

หนังวิพากษ์ความไร้ประสิทธิภาพของระบบตรวจจับและตัดสินความผิดในไทยอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่การหลอกให้จำเลยเซ็นใบรับสารภาพ การเพิ่มน้ำหนักของยาเสพติดที่ค้นพบ ไปจนถึงการคอรัปชันในกรมตำรวจ ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงท้ายเรื่องหนังยังได้ลากเอาธรรมเนียมการขอพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งหากจะมองข้ามในแง่ความสมจริงไป (มีจุดมุ่งหมายเพื่อบีบเค้นอารมณ์) บทสรุปของหนังนอกจากสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบกฎหมายแล้ว ยังสื่อนัยยะของอำนาจพิเศษนอกระบบ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่อาจมอบความยุติธรรมที่แท้จริงได้อยู่ดี (อลิซยอมรับโทษเป็นสองเท่าเพื่อให้เพื่อนได้รับอิสระ)

อาจกล่าวได้ว่า แม้กาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แล้วยกเลิกระบบศักดินา แต่ในสายตาของชาวตะวันตก ประเทศไทยก็ยังไม่ต่างจากบ้านป่าเมืองเถื่อนแบบในเรื่องเล่าของแหม่มแอนนาสักเท่าไหร่


ชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน (โดนหลอกให้ขนยาเสพติดข้ามประเทศและถูกจับที่สนามบิน) ของสาวอวบจากเกาะอังกฤษ บริดเจ็ท โจนส์ (เรเน เซลเวเกอร์) ในหนังตลกอย่าง Bridget Jones: The Edge of Reason (2004) อาจไม่หดหู่ ชวนสยองมากเท่าเรื่องราวของอลิซกับดาร์ลีน (คนแรกมีโอกาสสอนเหล่าเพื่อนนักโทษสาวให้ร้องเพลง Like a Virgin อย่างถูกต้อง ส่วนสองคนหลังถูกผู้คุมสุดโหดเฆี่ยนตีและโดนแมลงสาบชอนไชหู) แต่ก็สะท้อนความมั่วซั่ว และการสักแต่สร้างผลงานโดยไม่สนใจในหลักการที่ถูกต้องของตำรวจไทยได้ไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม ฉากที่น่าจะแสดง “ความเป็นไทย” ได้ชัดเจนสุดกลับกลายเป็นตอนที่บริดเจ็ทมาถ่ายทำรายการโทรทัศน์อยู่หน้าวัดโดยสวมชุดไทย แล้วกล่าวถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธที่ช่วยดึงดูดชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ก่อนจะตัดไปยังภาพของ เดเนียล (ฮิวจ์ แกรนท์) ในร้านนวดกลางซอยคาวบอย

“ทันทีที่มาถึง (เมืองไทย) ผมรู้สึกเหมือนมีพลังบางอย่างดึงดูดให้ผมมาที่นี่... อาศรมแห่งความสงบ ไม่มีสัญลักษณ์ใดที่จะสะท้อนการผสมผสานอันน่าทึ่งของประเทศไทยระหว่างตะวันออกกับตะวันตก วัฒนธรรมดั้งเดิมกับประดิษฐกรรมแปลกใหม่ได้ชัดเจนเท่าการนวดแผนโบราณแบบเนื้อแนบเนื้ออีกแล้ว”

ฉากข้างต้นแสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่าง ภาพลักษณ์ที่รัฐพยายามจะปลูกฝัง หรือสะกดจิต โดยสื่อว่าเมืองไทยเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา แห่งการชำระล้างทางจิตวิญญาณ แห่งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่สวยงาม กับภาพลักษณ์ที่ชาวตะวันตกมองเข้ามา นั่นคือ เป็นเมืองแห่งกิเลสตัณหา แห่งยาเสพติด แห่งเซ็กซ์สุดสวิง ซึ่งแปลกประหลาดล้ำเกินและหาไม่ได้ง่ายๆ ในบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา


ในหนัง “สารคดี” สุดอื้อฉาวจากออสเตรเลียของ เดนนิส โอ’รู้ค เรื่อง The Good Woman of Bangkok (1991) ผู้กำกับได้บอกกล่าวกับคนดูอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาเลือกเดินทางมายังเมืองไทย หลังชีวิตแต่งงานล้มเหลว เพราะมันเป็นนครเมกกะ “สำหรับผู้ชายตะวันตกที่มีจินตนาการเกี่ยวกับเซ็กซ์อันประหลาดล้ำและความรักที่ปราศจากความเจ็บปวด” เขาใช้เงินซื้อบริการจากอ้อย สาวอะโกโก้ในย่านพัฒน์พงศ์ จ้างให้เธอเป็นตัวเอกในหนังสารคดี และต่อมาก็พยายามจะใช้เงินช่วยเหลือเธอให้หลุดพ้นจากความยากจน... เงินซึ่งโอ’รู้คได้จากภาครัฐสำหรับใช้ถ่ายทำสารคดี (แน่นอน เมื่อทราบว่าเขานำเงินไปใช้อย่างไร ทางสมาคมย่อมไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากมันเป็นทุนแบบให้เปล่า)

เรื่องราวของอ้อยถูกบันทึกผ่านกล้อง และเป็นเรื่องราวที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี นั่นคือ ชะตากรรมสุดแสนรันทดของสาวอีสานที่ถูกสถานการณ์รอบด้านบีบบังคับให้ต้องเข้ามาทำงานหาเงินในเมืองกรุงเพื่อช่วยปลดหนี้ให้กับพ่อแม่ชาวนา โอ’รู้คกระตือรือร้นที่จะสวมบทอัศวินขี่ม้าขาวด้วยการซื้อที่นาให้อ้อยและครอบครัว ด้วยหวังว่าเธอจะได้หลุดพ้นจากวงเวียนชีวิตสุดลำเค็ญ แต่สุดท้ายกลับพบว่า (เมื่อเขาเดินทางมายังเมืองไทยในเวลาต่อมา) อ้อยหวนคืนสู่ธุรกิจการขายบริการทางเพศอีกครั้ง

นอกจากจะเป็นภาพสะท้อนของธุรกิจขายบริการแล้ว The Good Woman of Bangkok ยังเป็นเหมือนภาพสะท้อนกลิ่นอายของลัทธิอาณานิคม ด้วยการวาดภาพชายผิวขาวในฐานะชนชาติที่เหนือกว่า ผ่านเรื่องเล่าที่ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสไตล์เดียวกับ Madame Butterfly เมื่อตัวละครเอกมักจะเป็นเพศชาย เช่นเดียวกับต้นกำเนิดของเขา ส่วนดินแดนต่างประเทศที่เขาเดินทางมาผจญภัยจะถูกแทนที่ด้วยเพศหญิง ผ่านทางเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสาวพื้นเมือง (กล้องอาจจับภาพไปยังอ้อยเกือบตลอดเวลา แต่สุดท้ายแล้วพลังขับเคลื่อน และพล็อตที่แท้จริงของหนังกลับเป็นการเดินทางของโอ’รู้คเพื่อรักษาบาดแผลจากชีวิตรัก)

แต่ในเวลาเดียวกัน หนังก็ได้สร้างข้อกังขาให้กับตำนานดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าอ้อยปฏิเสธที่จะรับบทหญิงสาวผู้รอคอยให้อัศวินม้าขาวมาช่วยเหลือเธอจากทุกข์ภัย ในตอนท้ายเมื่อผู้กำกับถามว่า ทำไมเธอถึงกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมอีก คำตอบเรียบๆ แต่คลุมเครือของอ้อย คือ “มันเป็นชะตากรรมของฉัน”... บทสรุปดังกล่าวทำให้คนดูนึกสงสัยว่า อ้อยคือเหยื่อที่แท้จริง หรือเธอแค่ตอบในสิ่งที่ผู้กำกับอยากจะได้ยินเท่านั้น


เซ็กซ์และยาเสพติดยังคงเป็นหัวใจหลักที่ตอกย้ำความ “บ้าคลั่ง” ของเมืองไทยในสายตาต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มใหญ่อย่าง The Hangover Part II (2011) ซึ่งลอกพล็อตของภาคแรกมาใช้ (เพื่อนหนุ่มสี่คนฉลองงานเลี้ยงสละโสดอย่างสุดเหวี่ยงด้วยเหล้าและยาจนพวกเขาจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในเช้าวันต่อมา) แต่เพิ่มระดับความเลวร้าย หรือแปลกประหลาดขึ้นเป็นเท่าตัวตามกฎเหล็กของหนังภาคต่อ นั่นคือ ยิ่งมากยิ่งดี... และจะมีที่ใดในโลกเอาชนะลาสเวกัสจากภาคแรกได้เท่าสยามเมืองยิ้ม

เปรียบไปแล้ว ลาสเวกัสก็คงไม่ต่างจากเหล่ากะเทยใน The Adventures of Priscilla, Queen of the Desert มันอาจโหวกเหวก หวือหวา และจัดจ้าน แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความคุ้นเคย ส่วนประเทศไทยก็เทียบได้กับสาวฟิลิปปินส์ ที่เป็นอื่นและห่างไกลจากความคุ้นเคยชนิดไม่เห็นฝุ่น โดยถ้าคุณยังไม่แน่ใจว่าห่างไกลขนาดไหน ก็ลองไปถามความรู้สึกของ สตู (เอ็ด เฮล์ม) ดูได้ หลังจากเขาค้นพบประสบการณ์ทางเพศแบบใหม่ในไทย

เช่นเดียวกับ The Good Woman of Bangkok ชายผิวขาวแห่ง The Hangover Part II เดินทางเข้ามายังประเทศโลกที่สามในฐานะพลังที่เหนือกว่า แต่คราวนี้จุดพลิกผันอยู่ตรงเขา (หรือพวกเขา) ไม่ได้ถือเงินที่ใหญ่กว่า (ครอบครัวของว่าที่เจ้าสาวร่ำรวยกว่าสตูหลายเท่า) แต่อยู่ตรงเขารู้จักใช้ชีวิตมากกว่า ดังจะเห็นได้จากซับพล็อตของเท็ดดี้ (เมสัน ลี) น้องชายว่าที่เจ้าสาว ซึ่งใช้เวลาหมดไปกับการเรียน การซ้อมดนตรีเพื่อเป็นลูกคนโปรดของคุณพ่อสุดเข้มงวด (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) โดยไม่ได้ลิ้มลองรสชาติของชีวิต หรือ “ความเป็นลูกผู้ชาย” อย่างแท้จริงจนกระทั่งเขาได้รู้จักกับสตูและผองเพื่อน

“กรุงเทพกลืนกินเขาไปแล้ว และไม่มีวันที่หล่อนจะปล่อยเขาเป็นอิสระ” เจ้าของร้านรอยสักกล่าวเตือนสี่หนุ่มระหว่างการออกตามหาเท็ดดี้


คงไม่มีใครจะเข้าใจคำพูดดังกล่าวได้ดีไปกว่า ริชาร์ด (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ใน The Beach (2000) ซึ่งเดินทางมายังเมืองไทยเพื่อหวังจะหลีกหนีจากความจำเจแห่งกิจวัตรในโลกอันคุ้นเคย เขาไม่ชอบแหล่งท่องเที่ยวโด่งดัง เพราะมันคราคร่ำไปด้วยชาวตะวันตก และค้นพบแจ๊คพ็อตล็อตใหญ่ เมื่อเพื่อนข้างห้องในเกสต์เฮาส์ทิ้งแผนที่ไปยังชายหาดลึกลับในตำนานให้เขาก่อนฆ่าตัวตาย มันตั้งอยู่บนเกาะที่หลบสายตาจากผู้คน ที่ๆ ชาวบ้านท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งใช้เป็นแหล่งเพาะปลูกกัญชา (ยังไม่วายมีเรื่องของยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง) ขณะนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มใช้สร้างชุมชนเล็กๆ เพื่อหลบหนีจากโลกภายนอก

เขาดื่มด่ำกับชีวิตในชุมชนกลางทะเลจนเริ่มตัดขาดตัวเองจากโลกเดิม ชายหาดแสนสวยเป็นเหมือนแฟนตาซีอีกแบบของชาวตะวันตก เมื่อเดินทางมายังดินแดนตะวันออก แต่เช่นเดียวกับบทเรียน ซึ่งริชาร์ดจะได้เรียนรู้ในเวลาต่อมา เมื่อสวรรค์ล่มและทุกอย่างพังทลาย ชุมชนแห่งนี้เป็นแค่อาศรมชั่วคราว ที่ซึ่งคุณจะได้ค้นพบการผจญภัย ความน่าตื่นเต้น ความงาม ความบริสุทธิ์ และความโหดร้ายแบบที่ไม่พบเห็นในโลกอันคุ้นเคย เหมือนการอาศัยอยู่ในโลกคู่ขนาน ซึ่งเย้ายวนในความแตกต่าง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวได้

ไม่มีความคิดเห็น: