วันศุกร์, สิงหาคม 10, 2555

Cosmopolis: ผลพวงแห่งความคับแค้น


ดูเหมือนหนังสือที่ใครต่อใครมองว่าเป็นยาขมในการถ่ายทอดสู่ภาพเคลื่อนไหวบนจอภาพยนตร์ (หรือจำกัดความง่ายๆ ด้วยคำๆ เดียวว่า “unfilmable”) จะกลายเป็นของหวานสำหรับ เดวิด โครเนนเบิร์ก ไปแล้ว โดยหลังจาก Naked Lunch (1991) ที่ดัดแปลงจากนิยายของ วิลเลียม เอส. เบอร์โรห์ และ Crash (1996) ที่ดัดแปลงจากนิยายของ เจ. จี. บัลลาร์ด ทั้งหมดล้วนถูกขนานนามว่า “unfilmable” โครเนนเบิร์กก็เริ่มเบนเข็มมายังผลงานเขียนของ ดอน เดอลิลโล ซึ่งหลายคนพยายามจะดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่ไม่สำเร็จ (ก่อนหน้านี้นิยายเรื่อง Libra และ Underworld ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างหนัง) จนกระทั่งการปรากฏตัวขึ้นของ Cosmopolis ในเทศกาลหนังเมืองคานส์

ด้วยความที่หนังสือต้นฉบับมักมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทางวรรณกรรม หรือพล็อตพิลึกพิลั่น/ค่อนไปทางอื้อฉาวและวิปริต หรือ (ในกรณี Cosmopolis) ปราศจากพล็อต จนทำให้มองในแวบแรกดูยากต่อการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ อย่างน้อยก็จากมุมมองของหนังกระแสหลัก จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังทั้งสามเรื่องข้างต้นล้วนได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างก้ำกึ่ง กล่าวคือ หลายคนชื่นชม ขณะที่อีกหลายคนก็พากันสาปส่ง

เมื่อครั้งตีพิมพ์ในปี 2003 นิยายของเดอลิลโลก็ได้คำวิจารณ์ไม่สู้ดีนัก หลายคนเห็นว่ามันเป็นผลงานที่ไม่น่าจดจำ หากนำไปเทียบกับมาสเตอร์พีซอย่าง White Noise (1985) และ Underworld (1997) โดยเฉพาะสไตล์การเขียน ซึ่งเน้นบทสนทนาเป็นหลัก ตัวละครขาดพลังดึงดูด ตลอดจนโทนอารมณ์เย็นชา (นิยายของเดอลิลโลในยุคหลังปี 2000 จะค่อนข้างสั้น เล่นท่ายาก และอ้อมค้อม) แม้ว่าภาษาของเขายังคงเปี่ยมสีสัน ความเฉียบคม

กระนั้น เมื่อเวลาผ่านไป Cosmopolis กลับเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในฐานะผลงานที่วิพากษ์ และอาจหมายรวมถึงคาดการณ์แนวโน้มกระแสทุนนิยม ระบบการเงิน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างแม่นยำ หนังสือมีฉากหลังเป็นยุคฟองสบู่ดอทคอมแตก (วันหนึ่งในเดือนเมษายน ปี 2000) แต่เวอร์ชั่นหนังของโครเนนเบิร์กไม่ได้ระบุ ‘เวลา’ แน่ชัด บางคนอาจมองว่ามันเป็นภาพจำลองโลกอนาคตอันใกล้ หรือกระทั่งปัจจุบัน (โครเนนเบิร์กดัดแปลงรายละเอียดบางอย่างให้ทันสมัยขึ้น เช่น การเปลี่ยนสกุลเงินที่กำลังสร้างหายนะครั้งใหญ่ให้กับตัวละครเอกจากเงินเยนเป็นเงินหยวน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจีน) หลังจากโลกต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจล้ม ปรากฏการณ์ฟองสบู่แตกครั้งแล้วครั้งเล่า จากภาวะซับไพรม์จนถึงวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่ง อีริค แพ็คเกอร์ (โรเบิร์ต แพททินสัน) กับรถลีมูซีนสุดหรูของเขา ต้องขับฝ่าตลอดเส้นทางเพื่อเดินทางไปยังร้านตัดผม ก็อาจทำให้หลายคนนึกถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘ยึดครองวอลสตรีท’

หนังและหนังสือเริ่มต้นด้วยประโยคเดียวกัน นั่นคือ “หนูกลายเป็นสกุลเงิน” ซึ่งยกมาจากท่อนหนึ่งในบทกวี Report From the Besieged City ของ ซบีกนีฟ เฮอร์เบิร์ต เกี่ยวกับเมืองสงครามที่ถูกโอบล้อม รุกรานจนผู้คนพากันอดอยาก บ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ซากปรักหักพัง การลอบสังหาร และภาวะล่มสลายทางจิตวิญญาณ มันเหมือนสัญญาณบ่งบอกความเลวร้ายของสถานการณ์ ‘คุกคาม’ (การเผาตัวประท้วง การลอบทำร้ายกรรมการผู้จัดการ IMF ระหว่างออกรายการโทรทัศน์ กระแสลอบสังหารประธานาธิบดี) ซึ่งเป็นฉากหลังของเรื่องราวทั้งหมด เมื่อทุนนิยมเสรีก่อให้เกิดความมั่งคั่งชนิดล้นฟ้ากับคนกลุ่มเล็กๆ แล้วปล่อยให้คนส่วนใหญ่รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือตามคำพูดของ วีจา คินสกี้ (ซาแมนธา มอร์ตัน) หัวหน้าฝ่าย ‘ทฤษฎี’ ของอีริค “ทุนนิยมบีบให้คนต้องลงไปอดตายในท่อ”

แน่นอน คงไม่มีเมืองไหนจะเป็นตัวแทนของทุนนิยมได้ชัดเจนไปกว่าแมนฮัตตัน สถานที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตึกสูงระฟ้าจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวแทนของความรุ่งเรือง (การวิพากษ์ทุนนิยม ความแตกต่างทางชนชั้น ตลอดจนบรรยากาศเหมือน ‘พายุลูกใหญ่กำลังจะมา’ เมื่อความรุนแรงกำลังกลั่นตัวถึงจุดเดือด ก่อนจะระเบิดออกมาในช่วงท้าย ทำให้ Cosmopolis ถูกจัดรวมเป็นนิยายที่สะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 แม้ในความเป็นจริง เดอลิลโลจะเขียนร่างแรกเสร็จก่อนโศกนาฏกรรมดังกล่าว) และในเวลาเดียวกัน ก็ไม่น่าแปลกใจที่ อีริค แพ็คเกอร์ จะกลายเป็นเป้าสังหารที่น่าลุ่มหลงยิ่งกว่าประธานาธิบดีสหรัฐ (อย่างน้อยก็ในสายตาของมือสังหารโปะพาย) ทั้งนี้เพราะเขาเป็นเสมือนตัวแทนของทุกสิ่งที่ผิดพลาดเกี่ยวกับทุนนิยม

เขามีเงินเหลือคณานับ เขาหื่นกระหาย (ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นเขาหิวอาหารมื้อหนัก กลัดมัน และไม่เคยอิ่มเอม) เขาอาศัยอยู่ในโลกส่วนตัวอันสุขสบาย มืดบอดต่อสภาพแวดล้อมรอบข้าง รถลีมูซีนยาวเหยียดถูกใช้เป็นทั้งออฟฟิศ/ ห้องนอน (เพื่อมีเซ็กซ์)/ ห้องตรวจโรค/ และห้องน้ำ แถมยังบุด้วยจุกไม้ก๊อกเพื่อป้องกันเสียงภายนอกไม่ให้เล็ดลอดเข้ามา ดังนั้นเหตุการณ์วุ่นวายทั้งหลายภายนอกเมื่อมองผ่านจากด้านในรถลีมูซีน เช่น ภาพผู้ประท้วงจุดน้ำมันเผาตัวเอง จึงให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังมองภาพถ่ายในแกลลอรี หรือภาพเคลื่อนไหวบนจอภาพยนตร์ที่ปราศจากเสียง มันเกิดขึ้นใกล้รถเพียงแค่ไม่กี่ฟุต แต่กลับดูเหมือนห่างไกล เช่นเดียวกัน ที่พักของอีริคตั้งอยู่สูงเสียดฟ้า ห่างไกลจากความอึกทึกบนท้องถนน เขาปลอดภัย จองจำอยู่ในโลกของตัวเลข เงินทอง และบอดี้การ์ดส่วนตัว เขาไม่รู้กระทั่งว่ารถลีมูซีนที่นั่งอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ตอนกลางคืนถูกขับไปจอดไว้ที่ไหน คนขับรถ (อับดุล อายูลา) ให้ข้อมูลว่าเขาจะนำลีมูซีนมาจอดยังโรงจอดรถใต้ดินย่านชนชั้นแรงงาน แล้วขับรถของตัวเองกลับบ้าน “ผ่านอุโมงค์ที่เหม็นเน่า” ไปยังนิวเจอร์ซีย์

ภาวะเสพสุขอยู่บนหอคอยงาช้างจนขาดความสัมพันธ์กับสภาพรอบข้างสะท้อนผ่านบทสนทนาระหว่างอีริคกับภรรยา อีลิซ ชิฟริน (ซาราห์ กาดอน) ซึ่งร่ำรวยไม่แพ้เขา แต่ต่างกันตรงที่เธอเติบโตมาในครอบครัวมั่งคั่ง หรือเป็นเศรษฐีเก่า ทำให้เธอเลือกจะจมจ่อมอยู่กับอดีตมากกว่า เช่น บทกวี ห้องสมุด ขณะสามีเธอวิ่งไล่อนาคตอย่างไม่ลดละ แล้ววัดเวลาเป็นยอกโตวินาที เพราะในโลกแห่งเทคโนโลยี โลกแห่งการซื้อขายที่ไม่เคยหลับใหล เวลาเพียงหนึ่งวันก็อาจทำให้คุณสูญเงินเป็นหมื่นล้านได้ เหมือนที่อีริคกำลังประสบกับภาวะวิกฤติเงินหยวน “ผมพยายามสื่อสารกับคุณแบบปกติสุดแล้ว” อีริคกล่าวกับภรรยาหมาดๆ อารมณ์ขันที่ซ่อนอยู่ในประโยคดังกล่าว คือ บทสนทนาส่วนใหญ่ของทั้งสองนั้นห่างไกลจากคำว่า ‘ปกติ’ ยิ่งกว่าระยะทางจากโลกไปดาวอังคาร หลายครั้งมันแทบจะเข้าขั้นไร้สาระ และไม่เป็นเหตุเป็นผลใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่อีลิซเพิ่งสังเกตเห็นว่าสามีเธอมีดวงตาสีฟ้า หรือเมื่ออีริคบอกภรรยาว่าเธอมีหน้าอกเหมือนแม่ หรือระบุรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการแต่งตัวของเธอระหว่างมื้อค่ำ แต่โดยรวมๆ แล้วมันเป็นบทสนทนาที่เราไม่คาดคิดว่าจะได้ยินจากปากของคู่ผัวตัวเมีย มันปราศจากความสนิทสนม ความใกล้ชิด หรือกระทั่งอารมณ์ความรู้สึก (ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแสดงออกทางสีหน้าและน้ำเสียงเพียงเล็กน้อย) ราวกับพวกเขาไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตแบบมนุษย์ปกติอย่างไร

“พวกเขาพูดคุยกันแบบนี้ไม่ใช่หรือ” อีริคถาม ทว่าคำตอบที่เขาได้รับจากอีลิซ คือ “ฉันไม่รู้หรอก”

อย่างไรก็ตามในคืนก่อน ‘วันแห่งชะตากรรม’ อีริคกลับนอนไม่หลับจนต้องลุกมาอ่านหนังสือ บางทีจิตใจว้าวุ่นของเขาอาจไม่ได้มีสาเหตุจากหายนะเงินหยวนเท่านั้น เพราะภายใต้ความมั่งคั่งชนิด ‘บ้าระห่ำ’ ได้ซุกซ่อนความว่างเปล่า กลวงโบ๋เอาไว้ ดังที่ วีจา คินสกี้ บรรยายถึงคุณค่าที่เปลี่ยนไปของเงิน เมื่อทุกอย่างเริ่มกลายเป็นนามธรรมมากขึ้น จากการแลกเปลี่ยนสินค้าในยุคโบราณ สู่การคิดค้นพันธบัตรเพื่อแทนค่า จนมาถึงยุคดิจิตอล ที่เงินไม่อาจจับต้องได้อีกต่อไป แต่แทนค่าเป็นตัวเลข เป็นแสงเรืองรองบนจอคอมพิวเตอร์

“เงินกำลังพูดกับตัวเอง” เธอกล่าว

ภาวะดังกล่าวอธิบายเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนได้กับอีริค ผู้ร่ำรวยผ่านการซื้อขายในตลาดหุ้นและตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา กล่าวคือ เขาใช้เงินต่อเงิน พอกพูนเป็นเท่าทวีจากส่วนต่าง จากการคาดการณ์ ธุรกิจของเขาปราศจากการสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ หรือความสำเร็จที่จับต้องได้ มองเห็นได้ และอาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง เขาจึงพยายามขวนขวายหาวัตถุต่างๆ มาถมช่องว่างให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักริมทะเลสาบ รถลีมูซีนสุดหรู เครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซีย (ที่จอดทิ้งร้างเพื่อรอเปลี่ยนอะไหล่ ซึ่งไม่รู้จะหาจากไหน แต่เขาก็ยังไม่วายแวะไปชื่นชมมันเป็นครั้งคราว) หรือความพยายามที่จะสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ สนามยิงปืน และซื้อโบสถ์ร็อธโก ซึ่งภายในบรรจุภาพวาดศิลปะจำนวนมาก เพราะภาพวาดเพียงภาพเดียวไม่อาจเติมเต็มเขา “ถ้าฉันซื้อได้ มันก็เป็นสมบัติฉัน” เขากล่าวตอบโต้ เมื่อ ดีดี้ แฟนเชอร์ (จูเลียต บิโนช) ประกาศว่าโบสถ์ร็อธโกเป็นสมบัติของชาวโลก

พล็อตกว้างๆ ของ Cosmopolis สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเมืองเพื่อไปตัดผมของ อีริค แพ็คเกอร์ แต่รายละเอียดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ทำให้การเดินทางนั้นเป็นมากกว่าแค่การไปตัดผม (สุดท้ายเขาไม่อยู่รอให้ช่างตัดผมจนเสร็จเรียบร้อยด้วยซ้ำ) แต่เปรียบดังสัญลักษณ์ของการเผชิญชะตากรรม ของการปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ ของการกลับคืนสู่ต้นกำเนิด สู่รากเหง้า (ร้านตัดผมตั้งอยู่ในย่านที่อีริคเติบโตขึ้นมาช่วงวัยเด็ก) เหมือนการที่หนู (สิ่งที่จับต้อง และกระทั่งกินได้) ถูกแปลงสภาพให้กลายเป็นสกุลเงิน (สัญลักษณ์แทนค่า) เริ่มต้นจากการถูกปลดเปลื้องเงินทองจำนวนมหาศาล เสื้อผ้าที่ค่อยๆ หายไปทีละชิ้น จากเน็กไทไปยังเสื้อสูท ก่อนจะจบลงด้วยการกำจัดบอดี้การ์ดที่คอยตามติดเขาเหมือนเงาประจำตัว ภาพลักษณ์ของอีริคในช่วงต้นเรื่องมีลักษณะของเทพบนสวรรค์ ล่องลอยท่ามกลางย่านธุรกิจกลางใจเมือง ไม่มีใครแตะต้อง ไม่มีใครล่วงล้ำได้ และปลอดภัยจากการจู่โจม แต่ช่วงสุดท้ายของหนังเขากลับต้องลงเอยในสภาพเปลือยเปล่า ปราศจากรถ หรือบอดี้การ์ด ในเขตเสื่อมโทรมย่านชานเมือง และพร้อมสำหรับการพบปะกับ เบนโน เลวิน (พอล จิอาแมตติ) ชายผู้ปรารถนาจะปลิดชีวิตเขา

เราไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเหตุใดอีริคถึงเริ่มหมกมุ่นกับความตาย วิกฤติเงินหยวนและผลวิเคราะห์จากแพทย์ที่บอกว่าต่อมลูกหมากของเขา 'ไม่สมมาตร' กัน ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเขามากแค่ไหน จากบุคคลที่เชื่อมั่นในรูปแบบ หลักเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ (เขามีลิฟต์สองตัวที่สร้างสมดุลให้กันและกัน ตัวหนึ่งเล่นเพลงบรรเลงเปียโนและเคลื่อนตัวช้า ส่วนอีกตัวเล่นเพลงแร็พ) ว่าสามารถคำนวณสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ สู่บุคคลที่ปลดปล่อยตัวเองจากรูปแบบ และไม่แคร์ว่าผมสองข้างของเขาจะเท่ากันหรือไม่ ที่สำคัญ เขาไม่ได้รอคอยให้ความตายคืบคลานเข้ามา แต่กลับวิ่งเข้าหา โดยหวังว่ามันอาจจะช่วยมอบคำตอบ บางทีความตาย ความเจ็บปวดอาจเป็นหนทางสุดท้ายที่จะช่วยให้เขา 'รู้สึก' บางอย่าง ในเมื่อเงินไม่อาจเติมเต็มช่องว่างได้ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงขอให้บอดี้การ์ดสาวยิงเขาด้วยปืนไฟฟ้า (“ยิงสิ... ช่วยให้ผมรู้ว่ามันเป็นยังไง แสดงให้ผมเห็นในสิ่งที่ผมไม่รู้”) หรือกระทั่งหยิบปืนขึ้นมายิงมือตัวเอง

ถ้า อีริค แพ็คเกอร์ เป็นตัวแทนของระบบทุนนิยม ผลพวงของมันซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ เบนโน เลวิน (หนังได้เชื่อมโยงสองตัวละครผ่านความผิดปกติทางร่างกาย พฤติกรรมทำลายตัวเอง และข้อเท็จจริงที่ว่าคนหลังเคยทำงานให้กับคนแรก) มดงานผู้ถูกกดขี่ ขับไล่ไสส่ง เมื่อเขาไม่สามารถตามทันกระแสแห่งอนาคต เหมือนที่ วีจา คินสกี้ กล่าวไว้ว่า การกวาดล้างเป็นคติของทุนนิยม อุตสาหกรรมเก่าย่อมต้องถูกกำจัด ขณะเดียวกันผู้คนก็ถูกบีบให้ต้องเปิดรับสิ่งใหม่ๆ 'พรสวรรค์' ของอีริคที่เบนโนแจกแจงเป็นข้อๆ (ทะเยอทะยาน เหยียดหยาม เอารัดเอาเปรียบ เผด็จการ เพิกเฉย และปราศจากสำนึกผิดชอบ) สามารถใช้อธิบายความคับแค้นของคนข้างล่างต่อคนข้างบนในระบบทุนนิยมได้เช่นกัน ความโกรธเริ่มถูกสั่งสมเป็นเวลานานเพื่อรอวันที่จะระบายออกมา ฉะนั้นถ้าความสะดวกสบาย ฟุ้งเฟ้อ เป็นผลประโยชน์ที่เรากอบโกยได้จากทุนนิยม ความรุนแรงและความขัดแย้งระหว่างช่องว่างที่ตามมา ไม่ว่าจะในระดับบุคคล หรือในระดับมหภาค ก็คงหมายถึงราคาที่เราทุกคนจำเป็นต้องจ่าย

4 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ชื่นชมความสามารถในการเขียน--บทความ--ของเจ้าของบล๊อกมากครับ

ขออนุญาติถามเจ้าของบล๊อกว่าจบอะไรมาครับ และศึกษาความรู้จากทางไหนบ้าง

ขอบคุณครับ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ ^ ^ ผมเรียนจบทางด้านภาพยนตร์ครับ

english_rabbit กล่าวว่า...

ติดตามอ่านงานเขียนของ (ขออนุญาตเรียกว่า) พี่มานานแล้วครับในหนังสือ และนิตยสารภาพยนตร์หลายฉบับ แต่ยังไม่เคยแสดงความคิดเห็นในบล็อคเลยครับ ผมชื่นชมงานเขียนของพี่เสมอ ในการใช้ภาษาที่สละสลวย อ่านง่าย และสอดแทรกความรู้ด้านทฤษฎีภาพยนตร์ในระดับพอเหมาะพอเจาะ ทำให้ผมมีสุนทรียะในชมภาพยนตร์มากขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า "ดูหนังเป็นขึ้น" ต้องขอบคุณมากๆ ครับ ^^

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ รู้สึกมีกำลังใจในการเขียนขึ้นมากจริงๆ :)