วันเสาร์, พฤศจิกายน 08, 2557

Short Comment: Mother


ชีวิตไม่อาจหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงได้ บางครั้งมันอาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วยให้เราปรับตัว ไหลลื่นไปกับสถานการณ์ได้อย่างราบรื่น แต่บางครั้งความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน รุนแรง พลิกตลบทุกสิ่งทุกอย่างจนทำให้เราต้องมองย้อนกลับไปตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่เราเคยคิดว่าตัวเองเข้าใจดีแล้ว อย่างหลังคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ วรกร ฤทัยวาณิชกุล และนำไปสู่ต้นกำเนิดของภาพยนตร์เรื่อง Mother สารคดี “ไฮบริด” ที่เล่าถึงผลพวงจากเหตุการณ์ที่แม่ของเขาพยายามฆ่าตัวตาย แต่ไม่สำเร็จ และลงเอยด้วยความพิการ ทั้งทางด้านร่างกาย รวมเลยไปถึงสภาพจิตใจ

สาเหตุที่ต้องใช้คำว่า ไฮบริดเพราะหนังเรื่องนี้มีฟุตเตจซึ่งเข้าข่ายสารคดีในความหมายดั้งเดิมไม่มาก (แต่ถือเป็นฟุตเตจที่ทรงพลังทางด้านอารมณ์และมีน้ำหนักต่อแก่นของเรื่องอย่างสูง) ส่วนที่เหลือของหนัง คือ ความพยายามเติมเต็มทางด้านเรื่องราวผ่านวิธีจำลองเหตุการณ์ (กันต์ ชุณหะวัตร รับบทลูกชาย บิลลี่ และ ณัฐญา นาคะเวช รับบทแม่) พร้อมทั้งผสมผสานเข้ากับซีเควนซ์เหนือจริงในลักษณะภาพยนตร์ทดลอง ซึ่งกล่าวได้ว่าไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติแบบที่เราคุ้นเคยจากหนังสารคดีทั่วไป

หนังเปิดเรื่องด้วยฟุตเตจจริงแบบไม่มีการตัดต่อเพื่อแนะนำคนดูให้รู้จัก แม่” ผู้หญิงวัยกลางคนที่ดูร่าเริง ใจดี ตลอดจนบรรยากาศสุขสันต์ เป็นกันเองในครอบครัวบิลลี่ จากนั้นหนังก็ตัดไปยังเหตุการณ์จำลองที่เกิดขึ้นตามมา ทั้งความพยายามฆ่าตัวตาย การรักษาตัวในโรงพยาบาล และปัญหาวุ่นวายที่คนในครอบครัวต้องรับมือจากพฤติกรรม “ไม่อยู่กับร่องกับรอย” ของแม่ จนกระทั่งเมื่อคนดูมีโอกาสได้เห็นฟุตเตจจริงอีกครั้งในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งเป็นช็อตลองเทคแบบไม่มีการตัดต่ออีกเช่นกัน ความรู้สึกสะเทือนใจและเศร้าสลดก็ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากผู้หญิงคนที่เราเห็นอยู่เบื้องหน้าในตอนนี้แทบจะแตกต่างจากผู้หญิงในฟุตเตจเปิดเรื่องอย่างสิ้นเชิง มากพอๆ กับบรรยากาศโดยรอบ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยความคับแค้นใจ ความรู้สึกผิด ความน้อยเนื้อต่ำใจ และความโกรธขึ้ง ชิงชัง จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือครอบครัวเดียวกันกับช่วงต้นเรื่อง เสียงตะโกนก่นด่าคำหยาบ รวมทั้งอารมณ์พลุ่งพล่านที่สองสมาชิกในครอบครัวสาดกระหน่ำเข้าใส่กันโดยไม่แคร์ว่าจะมีกล้องกำลังจับภาพอยู่นั้นทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังรุกล้ำช่วงเวลาอันเป็นส่วนตัว จนไม่แน่ใจว่านั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากเบือนหน้าหนี หรือเป็นเพราะเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นช่างเจ็บปวดเกินกว่าจะทนไหว

ช็อตข้างต้นนอกจากจะสะท้อนความเปราะบางของสถาบันครอบครัวแล้ว ยังช่วยตอกย้ำสภาพจำทนของแม่ ซึ่งติดกับดักอยู่ใน ความผิดพลาด” ของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยสภาพจิตอันไม่ค่อยปกติ (ในฉากหนึ่งเราจะเห็นเธอเดินวนเวียนในซูเปอร์มาร์เก็ตหยิบข้าวของจากชั้นวางใส่รถเข็นจนพูนพะเนิน) หรือการตอกย้ำอย่างไม่หยุดหย่อนจากคนรอบข้างก็ตาม ด้วยเหตุนี้ เธอเองจึงไม่แตกต่างจากปลาที่ว่ายวนอยู่ในตู้เลี้ยง หรือนกในกรงที่ไม่อาจก้าวข้ามข้อจำกัด หรือการตีกรอบเพื่อไปพบกับอิสรภาพอย่างแท้จริง (น่าสนใจว่าหนังสั้นเรื่อง บุญเริ่ม ของ สรยศ ประภาพันธ์ ที่ฉายแปะหัว Mother เปิดเรื่องด้วยฉากนายจ้างสั่งคนรับใช้ให้เข้าไปนอนในกรงสุนัข เพื่อเธอจะได้ถ่ายรูปส่งลูกค้าว่ากรงมีขนาดใหญ่พอให้คนเข้าไปนอนได้)  

ถ้าศิลปินใช้ผลงานเป็นเสมือนเครื่องมือบำบัดจิต Mother ก็คงเป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจ เหตุการณ์พลิกชีวิต” ของ วรกร ฤทัยวาณิชกุล (ในฉากหนึ่งคนดูจะเห็นบิลลี่ลงไปนอนราบบนพื้นปูน ณ จุดที่แม่ของเขากระโดดลงมา) และขณะเดียวกันก็ทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น… จริงอยู่ว่าแม่ของเขาไม่มีวันจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก แต่ถึงอย่างไรผู้หญิงบนเตียงในโรงพยาบาลช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งกล้องโคลสอัพใบหน้าผ่านภาพหลายช็อตราวกับเพื่อจะจดจำความงดงามแห่งปัจจุบันกาลเอาไว้ ก็ยังคงเป็นผู้หญิงคนเดียวกับในรูปถ่ายที่โอบกอดทารกน้อยไว้ในอ้อมแขนแล้วก้มลงจุมพิตอย่างรักใคร่  

ไม่มีความคิดเห็น: