วันเสาร์, พฤศจิกายน 08, 2557

The Maze Runner: ออกสู่โลกกว้าง



หลังความสำเร็จของ The Hunger Games นิยายวัยรุ่นเกี่ยวกับโลกดิสโทเปียก็เบ่งบานราวดอกเห็ดในช่วงฤดูฝน เช่นเดียวกับหนังซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายเหล่านั้น โดยแค่ภายในปีนี้ผู้ชมจะได้รับรู้เกี่ยวกับโลกอนาคตอันมืดหม่นจากหนัง ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ฝรั่งเรียกว่า young adult มากถึง 4 เรื่องด้วยอันกันได้แก่ The Huger Games: Mockingjay Part 1, Divergent, The Maze Runner และ The Giver โดยเรื่องหลังสุดอาจเรียกได้ว่ามาช้ากว่ากาล ถึงแม้หากนับจากปีที่นิยายตีพิมพ์แล้ว (1993) งานเขียนของ โลอิส เลาว์รี จะเป็นบิดาแห่งนิยายดิสโทเปียสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่ (นิยาย The Hunger Games ของ ซูซาน คอลลินส์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2008) เพราะการถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทีหลังสุดทำให้หลายๆ อย่างซึ่งควรจะสดใหม่กลับกลายเป็นความน่าเบื่อ ชินตา จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมมันถึงล้มเหลวบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ ตรงกันข้ามกับหนังและนิยายอย่าง Divergent ซึ่งถือกำเนิดขึ้นอย่างเร่งรีบตามสุภาษิต น้ำขึ้นให้รีบตักเพื่อกอบโกยกระแสความคลั่งไคล้ The Hunger Games อย่างแท้จริง

น่าสังเกตว่าบรรดานิยายดิสโทเปียข้างต้นมีจุดร่วมหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจำลองภาพโลกภายหลังวิกฤติร้ายแรงว่าจะถูกปกครองโดยอำนาจเผด็จการ ที่พยายามจำกัดคนให้อยู่ในกรอบเพื่อรักษาภาพลวงของความสงบสุข ความเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วจัดแบ่งทรัพยากรมนุษย์ออกตามลักษณะงาน หรือชนชั้นอย่างเข้มงวด โดยแต่ละคนจะต้องเป็นฝ่ายเลือกว่าจะอยู่กลุ่มไหน (หรือถูกคัดเลือกเป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขันในกรณี The Hunger Games) เมื่อถึงวัยอันเหมาะสม วัยรุ่นอาจรู้สึก อินกับเรื่องราวดังกล่าวส่วนหนึ่งเพราะมันคือการจำลองประสบการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญ เนื่องจากช่วงเวลานี้เปรียบเสมือนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ พวกเขายังไม่โตพอจะโบยบินไปดำเนินชีวิตตามต้องการ ยังต้องพึ่งพาพ่อแม่ หรือผู้มีอำนาจ แต่ขณะเดียวกันก็โหยหาอิสรภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนี้ ในโรงเรียนพวกเขายังถูกตีกรอบผ่านกฎเกณฑ์ จัดแบ่งเป็นกลุ่มผ่านกิจกรรม ความสนใจ เช่น กลุ่มนักกีฬา กลุ่มเด็กเรียน ฯลฯ ในนิยายการที่ตัวละครต้องเลือกว่าตนเองจะเดินไปทางไหน ประกอบอาชีพอะไร สะท้อนวิกฤติแบบเดียวกับที่วัยรุ่นทุกคนจะต้องเผชิญ

ในกลุ่มนี้อาจกล่าวได้ว่า The Maze Runner มีโทนแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ อยู่บ้างตรงที่มันผสมคุณลักษณะแบบหนังไซไฟเข้าไปค่อนข้างมาก และที่สำคัญยังปราศจากพล็อตเกี่ยวกับความรัก หรือประเด็นทางเพศโดยสิ้นเชิง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าแปลกอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าฉากหลังของหนังเป็นชุมชน ที่ประกอบไปด้วยเด็กหนุ่มวัยกำหนัดหลายสิบคนถูกขังอยู่บนทุ่งกว้างล้อมรอบด้วยเขาวงกต พวกเขาไม่อาจหนีไปไหนได้ เพราะเขาวงกตจะสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา แถมยังถูกเฝ้ายามโดยสัตว์ประหลาดกึ่งไซบอร์กกึ่งแมงมุมที่ทุกคนเรียกว่า กรีฟเวอร์ หนังปราศจากนัยยะโฮโมอีโรติกใดๆ นอกจากนี้ เมื่อลิฟต์นำ เทเรซา (คายา สโคเดลาริโอ) ผู้หญิงเพียงคนเดียว มาส่งพร้อมกับบอกว่าเธอจะเป็นรายสุดท้าย กลับไม่มีเด็กหนุ่มคนไหนในท้องทุ่งแสดงท่าทีสนใจเธอเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าเธอจะมีรูปร่างหน้าตาดีกว่าแค่พอไปวัดไปวาอยู่หลายขุม บางคนถึงขั้นบ่นอุบถึงพฤติกรรมแปลกประหลาดของเธอในทำนองว่า ผู้หญิงก็เป็นซะแบบนี้เสียด้วยซ้ำ การห่างหายจากเพศหญิงเป็นเวลาหลายปีหาได้ทำให้หนุ่มๆ เหล่านี้กลัดมันมากขึ้นแต่อย่างใด ราวกับว่าทุกคนถูกบังคับให้กินยาลด การปลุกเร้า แบบในหนังเรื่อง The Giver ยังไงยังงั้น

ภาพลักษณ์ใสสะอาดของหนัง ยังรวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าในสังคมใหม่ที่สร้างขึ้นบนท้องทุ่งภายใต้การนำของ อัลบี้ (แอมเมล แอมมีน) ทุกคนดูเหมือนจะยอมรับหน้าที่ ความรับผิดชอบของตนโดยดุษฎี ไม่มีการกระด้างกระเดื่อง ความทะเยอทะยาน ความรุนแรง หรือความขัดแย้งอันเป็นผลจากสันดานแห่งความเป็นมนุษย์แบบที่พบเห็นได้ในนิยายดิสโทเปียคลาสสิกอย่าง Lord of the Flies ทุกคนประพฤติตนอยู่ในกฎระเบียบที่วางไว้อย่างว่านอนสอนง่าย แต่ก็เช่นเดียวกับสังคมที่ดูสุขสงบ สังคมที่ทุกคนรู้จัก ที่ทางของตนเองในช่วงต้นเรื่องของหนังอย่าง The Giver, Divergent และ The Hunger Games ทั้งหมดนั้นเป็นแค่ภาพลวงตา ซึ่งจะถูกท้าทายพร้อมกับการมาถึงของ โธมัส (ดีแลน โอเบรียน) เด็กหนุ่มคนล่าสุดที่ถูกส่งตัวมายังท้องทุ่งในฉากเปิดเรื่อง โดยแรกทีเดียวเขาเองก็สับสนงุนงงไม่ต่างจากคนอื่นๆ ก่อนหน้าเพราะสูญเสียความทรงจำทั้งหมด แต่ภายในเวลาไม่นานโธมัสก็เริ่มแสดงท่าทีไม่พอใจกับกรอบจำกัด เขาตั้งคำถามที่หลายคนอาจคิดอยู่ในใจ แต่ไม่กล้าพอจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง คำถามจำพวกว่าทำไมพวกเขาถึงต้องมาอยู่ที่นี่ มีอะไรอยู่นอกเขาวงกต ใครจับพวกเขามาขังไว้ในเรือนจำไฮเทคแห่งนี้ โธมัสไม่พอใจกับสถานะที่ได้รับ เขาไม่อยากนั่งปลูกผักสวนครัว พึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ เขาต้องการจะเป็นรันเนอร์ แล้วออกไปสำรวจเขาวงกตเพื่อค้นหาหนทางออกไปสู่โลกภายนอก แต่ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ถ้าโลกภายนอกมันโหดร้ายกว่าโลกในเขาวงกตล่ะ ถ้าจริงๆ แล้วพวกเขากำลังอยู่ในยูโทเปีย แต่ดันรนหาที่ด้วยการออกไปเผชิญดิสโทเปียภายนอก พูดง่ายๆ คือ โธมัสพยายามขายฝันถึงสิ่งที่ดีกว่า ส่วน แกลลี (วิล โพลเตอร์) ศัตรูคู่อริของเขา พยายามขายความหวาดกลัว แล้วตีกรอบคนให้อยู่กับความคุ้นเคย

แน่นอนว่าหนังมีเป้าประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองอิสรภาพและปัจเจกภาพ ตัวละครอย่างโธมัสถูกวาดภาพให้เป็นฮีโร่เพราะเขากล้าที่จะคิดนอกกรอบ ขณะตัวละครอย่างแกลลี่ถูกวาดภาพให้เป็นวายร้ายเพราะเขาขลาดเขลาเกินกว่าจะมองข้ามขอบกำแพงของเขาวงกต แต่ปัญหาย้อนแย้งของ The Maze Runner อยู่ตรงที่หนังมุ่งเน้นการคลี่คลายพล็อต ตอบคำถามในใจของคนดูให้กระจ่างจนลืมที่จะมอบความเป็นมนุษย์ให้กับเหล่าตัวละคร ซึ่งปราศจากแง่มุมใดๆ จุดมุ่งหมายใดๆ ในชีวิตนอกเหนือจากการไขปริศนาเขาวงกต โดยตามท้องเรื่องแล้ว พวกเขาเป็นเหมือนหนูทดลองในห้องปฏิบัติการไฮเทค และหนังก็ปฏิบัติกับพวกเขาเป็นเหมือนหมากบนกระดาน เป็นตัวแทนของสัญลักษณ์ แทนการมอบชีวิตเลือดเนื้อให้พวกเขาดูน่าสนใจ หรือกระทั่งน่าเห็นใจ คนดูเข้าข้างโธมัสและเชียร์ให้เขาประสบความสำเร็จเพราะเราต้องการจะรู้คำตอบเกี่ยวกับเขาวงกตมากกว่าเพราะเรา อินไปกับตัวละคร ซึ่งนั่นถือเป็นความประดักประเดิดเหลือทนสำหรับหนังที่พยายามจะบอกว่าอย่าจำทนอยู่ภายใต้การกดทับ กักขัง และกล้าที่จะแตกต่าง

ขณะเดียวกันสถานะวีรบุรุษของโธมัสยังถูกตั้งคำถาม เมื่อปรากฏว่าความจริงแล้วเขาเป็นแค่หมากตัวหนึ่งในเกม และถูกส่งตัวไปยังท้องทุ่งเพื่อ กระตุ้นสมองของเหล่าสมาชิกวัยกระเตาะ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคร้ายชื่อว่า เดอะ แฟลร์ ที่กำลังคร่าชีวิตผู้คนบนโลก ให้ทำงานหนักขึ้น ให้พวกเขารู้จักใช้สัญชาตญาณดิบเพื่อดิ้นรนเอาตัวรอดแทนการยอมจำนนต่อกฎเกณฑ์ จากนั้นเหล่าทีมวิจัยของ WICKED (ย่อมาจาก World In Catastrophe: Killzone Experiment Department) องค์กรที่สร้างเขาวงกตขึ้นมา ก็จะนำข้อมูลไปศึกษาเพื่อค้นหาหนทางรักษา เดอะ แฟลร์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ โธมัสเป็นส่วนหนึ่งของ WICKED เขาไม่ได้อาสาเข้าไปอยู่ในท้องทุ่งด้วยเหตุผลแห่งมนุษยธรรม ตรงกันข้าม เขาเชื่อมั่นในวิธีการขององค์กรและยินดีที่จะเข้าร่วมการทดลองด้วยความหวังว่า WICKED จะค้นพบหนทางในการช่วยเหลือมวลมนุษยชาติให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ โธมัสเปรียบเสมือนไพ่ใบสุดท้ายขององค์กร เขากับเทเรซาเป็นสองคนสุดท้ายที่ถูกส่งตัวเข้าไปก่อนจะมีการเปิดเขาวงกตเพื่อให้กรีฟเวอร์สามารถบุกเข้ามาในท้องทุ่งแล้วคร่าชีวิตผู้คนได้ตามสะดวก พวกเขาเชื่อมั่นว่าความกล้าหาญและเฉลียวฉลาดของโธมัสจะสามารถนำพาผู้คนออกจากเขาวงกตได้ก่อนจะไม่เหลือใครเลย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการทดลองครั้งนี้ก็จะถือเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

เทียบไปแล้ว The Maze Runner ก็คล้ายคลึงกับการเล่า The Hunger Games แบบย้อนหลัง โดยเริ่มต้นด้วยการจับตัวเอกโยนเข้าไปอยู่ในเกมอันตราย ซึ่งต้องใช้ทักษะและไหวพริบในการเอาชีวิตรอด ก่อนสุดท้ายจะจบลงด้วยการบอกเล่า (คร่าวๆ) ถึงเหตุผลของเกม พร้อมกับปูพื้นฉากหลังของโลกดิสโทเปีย แน่นอนว่าจุดประสงค์ของเกมใน The Maze Runner อาจดูยิ่งใหญ่ มีคุณค่าสูงสูงกว่าแค่เพื่อมอบความบันเทิงให้กับคนชั้นสูง แต่ในเวลาเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายมันก็ยังเป็นเกมที่ปราศจากมนุษยธรรมอยู่ดี

“WICKED is good” เป็นประโยคซึ่งถูกพูดซ้ำอยู่สองสามครั้งในหนัง สื่อเป็นนัยยะว่าจุดประสงค์ขององค์กรนั้นก็เพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ หรือพูดอีกอย่าง คือ การจับเด็กมาทดลองนั้นมีพื้นฐานจากความตั้งใจดีที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา และการเสียสละเลือดเนื้อบ้างบางส่วนย่อมเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ประโยคดังกล่าวเปรียบเหมือนโฆษณาชวนเชื่อชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับหนังสั้นที่ปรากฏให้เห็นในตอนต้นเรื่องของ The Hunger Games ซึ่งบอกเล่าประวัติความเป็นมาของเกมล่าคน ทั้งนี้เพราะเนื้อแท้จริงๆ ของ WICKED นั้นหาได้ ดีงามดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด โดยในฉากสุดท้ายของหนังก็เริ่มเกริ่นนำให้เห็นว่ามีคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับ WICKED และเมื่อซีรีย์ชุดนี้ดำเนินต่อไป ความจริงก็จะค่อยๆ เปิดเผยว่าเชื้อโรคอันตรายดังกล่าวถูกปล่อยออกมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดจำนวนประชากร

เช่นเดียวกับ The Hunger Games และ The Giver อำนาจเผด็จการมักกล่าวอ้างความชอบธรรมเพื่อบีบบังคับคนโดยสร้างภาพแห่งความหวาดกลัวในอดีต ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ความอดอยาก หรือเชื้อโรคอันตราย ให้ยิ่งใหญ่เกินจริงเพื่อใช้สนับสนุนพฤติกรรมอันโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม ที่สำคัญ การกดขี่ ควบคุมของรัฐเผด็จการได้ทำลายแก่นแท้แห่งความเป็นมนุษย์จนหมดสิ้น นั่นคือ สิทธิที่จะเลือกใช้ชีวิตอย่างอิสระภายใต้ปัจเจกภาพและความแตกต่าง แม้ว่าพวกเขาจะเป็นหนุ่มสาวที่มีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคร้าย (The Maze Runner) หรือหนุ่มสาวจากเขตแดนที่เคยก่อสงครามกระด้างกระเดื่อง (The Hunger Games) หรือหนุ่มสาวที่ความสนใจไม่อาจถูกจัดเข้าหมวดหมูได้อย่างง่ายดาย (Divergent) หรือกระทั่งเด็กทารกแรกเกิดที่ตัวเล็กกว่าคู่แฝดของตน (The Giver) นี่ถือเป็นสารที่เหมาะสมสำหรับส่งผ่านไปยังวัยรุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ก่อนพวกเขาจะออกไปเผชิญโลกกว้างด้านนอกเขาวงกต 

ไม่มีความคิดเห็น: