วันเสาร์, เมษายน 25, 2558

Nightcrawler: เรื่องจริงผ่านจอ


บนทีวีมันดูเหมือนจริงมากเลยลู บลูม (เจค จิลเลนฮาล) หัวขโมยที่ผันตัวมาเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ โดยหากินกับภาพข่าวอาชญากรรม อุบัติเหตุ และฆาตกรรมเป็น (ในวงการเรียกคนพวกนี้ว่า ไส้เดือนดินเพราะมักจะโผล่ออกมาหากินตอนกลางคืนเช่นเดียวกัน) ให้ความเห็นถึงฉากหลังของรายการข่าว ซึ่งเป็นภาพถ่ายขนาดใหญ่ของเมืองแอลเอในยามค่ำคืน แต่คำพูดดังกล่าวสามารถใช้อธิบายปรัชญาในการนำเสนอ ข่าวทางโทรทัศน์ได้อีกด้วย กล่าวคือ มันดูเหมือนจริง แต่ไม่ใช่ความจริง หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ล้วนถูกคัดกรอง แต่งแต้ม และสร้างเรื่องราวไม่ต่างจากความบันเทิงบนจอภาพยนตร์

ผมให้ความสำคัญกับการจัดวางเฟรมภาพ เพราะการจัดวางเฟรมภาพที่เหมาะสมไม่เพียงจะดึงดูดสายตาของผู้ชมเท่านั้น แต่ยังทำให้พวกเขาจับจ้องภาพนานยิ่งขึ้น และลดกำแพงระหว่างคนดูกับบุคคลในภาพคำพูดของบลูมเหมือนหลุดมาจากตำราเทคนิคภาพยนตร์ขั้นพื้นฐาน แต่เขานำมาดัดแปลงใช้กับการถ่ายภาพข่าว ซึ่งความจริง ควรจะมีความสำคัญเหนืออื่นใด กระนั้นจะมีประโยชน์อะไรถ้าความจริงไม่กระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก ไม่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม ด้วยเหตุนี้ บลูมจึงไม่ลังเลที่จะจัดวางรูปภาพบนตู้เย็นของเหยื่อที่โดนระดมยิงกลางดึก เพื่อเพิ่มดรามาให้รอยกระสุนบนตู้เย็น เขาเริ่มจากการบิดเบือนเล็กๆ น้อยๆ ก่อนจะขยายความใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมื่อบลูมลากร่างของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชนมายังจุดที่ เหมาะสมเพื่อให้เขาสามารถจัดวางเฟรมภาพได้อย่างลงตัว และดึงดูดสายตาของผู้ชม โดยไม่สนใจว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่มั้ย หรือฉุกคิดว่าการกระทำดังกล่าวอาจสร้างความลำบาก สับสนให้กับตำรวจในการวิเคราะห์จุดเกิดเหตุ สำหรับบลูมเหยื่อเคราะห์ร้ายเป็นแค่อุปกรณ์ประกอบฉากเพื่อสร้างเรื่องราว ก่อนเขาจะนำเรื่องราวดังกล่าวไปขายต่อเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงิน

ความเลือดเย็น ปราศจากมนุษยธรรม หรือกระทั่งสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานของตัวละครตัวนี้สะท้อนชัดตั้งแต่ฉากแรก เมื่อเขาลักลอบเข้าไปในเขตหวงห้าม แล้วตัดรั้วตะแกรงเหล็กไปขายต่อ จากนั้นก็ยังมีหน้าไปรบเร้าของานทำจากช่างรับเหมา ซึ่งตอบกลับว่า ฉันไม่รับหัวขโมยมาทำงานด้วยหรอกทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเขายึดมั่นในศีลธรรมหรืออะไร (อย่างน้อยเขาก็หัวการค้าพอจะยินดีรับซื้อของโจรในราคาถูก) แต่เป็นเพราะเขาไม่สามารถไว้ใจหัวขโมยได้ต่างหาก การเพิกเฉยต่อความถูกต้อง หรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในโลกแห่งทุนนิยมและการแข่งขัน เมื่อใดก็ตามที่ประเด็นในแง่จริยธรรมถูกยกขึ้นมาคัดง้าง มันจะถูกสอยร่วงอย่างอนาถด้วยทัศนคติเชิงเย้ยหยัน เช่น เมื่อนีน่า (เรเน รุสโซ) ถามฝ่ายกฎหมายของสถานีโทรทัศน์ว่าเธอสามารถโชว์คลิปฆาตกรรมหมู่ออกอากาศได้หรือไม่ หมายถึงในเชิงกฎหมายน่ะเหรอลินดา (แอนน์ คูแซ็ค) ถาม ก่อนจะโดนนีนาประชดกลับว่า เปล่า ในเชิงศีลธรรมล่ะมั้ง เออสิ ในเชิงกฎหมายจากนั้นเมื่อแฟรงค์ (เควิน ราห์ม) ทักท้วงว่าคลิปดังกล่าวไม่เหมาะจะนำมาเผยแพร่ มองในแง่จรรยาบรรณนักข่าว หรือกระทั่งรสนิยมอันดีของการนำเสนอข่าว นีนาก็ยกเรตติ้งมาเป็นข้ออ้างว่าเลือดและความรุนแรงสามารถดึงดูดคนดูได้จริง ที่นี่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย... ต่อให้โดนปรับ ฉันก็ยอม

Nightcrawler ผลงานกำกับเรื่องแรกของ แดน กิลรอย ซึ่งเริ่มต้นสร้างชื่อเป็นที่รู้จักในวงการจากการเขียนบทหนังอย่าง Two for the Money, The Fall และ The Bourne Legacy โดยเรื่องหลังสุดเขาเขียนบทร่วมกับพี่ชายผู้กำกับ/นักเขียนบท โทนี กิลรอย เป็นภาพยนตร์ที่วิพากษ์วงการโทรทัศน์อย่างเจ็บแสบในขนบเดียวกับหนังอย่าง Network (1976) ความเป็นมืออาชีพอย่างเลือดเย็นและมืดบอดของนีนาก็ไม่ต่างจากไดแอนนา (เฟย์ ดันนาเวย์) ซึ่งยึดถือเรตติ้งเหนือความถูกต้อง หรือศีลธรรมจรรยาใดๆ โดยหนังได้ยกระดับแง่มุมดังกล่าวไปจนถึงขั้นน่าหัวเราะในฉากสุดท้ายเมื่อลูนำคลิปเด็ดมาให้นีนา ซึ่งเหมือนจะแปลกใจและเห็นใจกับ ความสูญเสียของลูอยู่ชั่วแวบ แต่โศกนาฏกรรมบนจอทีวี (ฟรีซเฟรมใบหน้าของ ริค (ริซ อาห์เม็ด) จ้องมองตรงมายังกล้อง) ในแบ็คกราวด์กลับยั่วล้อกับโฟร์กราวด์ ซึ่งเป็นภาพ two-shot ระยะประชิดของลูกับนีนาจ้องมองกันแบบเดียวกับฉากโรแมนติกในหนังรัก ฉันประทับใจมาก มันวิเศษสุดจริงๆเธอกล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ราวกับคลิปแห่งความตายและหายนะดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับเครื่องประดับงดงามที่ชายคนรักนำมามอบให้เธอด้วยความเสน่หา และสำหรับลู ผู้ช่วยอย่างริคก็ไม่ต่างอะไรกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากอุบัติเหตุรถชนในช่วงต้นเรื่อง นั่นคือ เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากที่เขาจะลากไปไหนก็ได้ตามใจชอบเพื่อให้ได้เรื่องราวตามที่เขาต้องการ

เช่นเดียวกัน เมื่อแฟรงค์บอกว่าคลิปฆาตกรรมหมู่นั้นแท้จริงแล้วเป็นสงครามช่วงชิงยาเสพติด และเหยื่อสังหารก็หาใช่ผู้มีอันจะกินที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่เป็นพ่อค้ายารายใหญ่ต่างหาก นีนากลับบอกปัดข้อมูลอย่างไม่ใยดีโดยอ้างว่า ความจริง ดังกล่าวเบี่ยงเบนผู้ชมออกจากเรื่องราวที่เธอต้องการนำเสนอ ซึ่งก็คือ โหมกระพือความหวาดกลัวในหมู่ชนชั้นกลางย่านชานเมืองว่าภัยอาชญากรรมจากเมืองหลวงกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ เพราะความกลัวนี่เองที่จะทำให้พวกเขาเปิดทีวีมาดูข่าวช่อง KWLA เพื่อเกาะติดสถานการณ์ และเธอต้องคอยโยนฟืนเพื่อหล่อเลี้ยงเชื้อเพลิงแห่งความกลัวนั้น รวมถึงสันดานดิบของมนุษย์ที่หลงใหลหายนะและความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ เวลาที่เธอสั่งให้คนอ่านข่าวพูดย้ำว่าคลิปที่กำลังจะเปิดอาจชวนให้เสียวไส้และเห็นเลือดแบบจะๆ (นอกเหนือไปจากการเน้นว่า ฆาตกรยังลอยนวลอยู่หรือ ลงมืออย่างโหดเหี้ยม”) มันจึงเป็นทั้งคำเตือนและคำเชื้อเชิญไปในตัว

ภาพสะท้อนของสื่อมวลชนใน Nightcrawler บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าบนโลกแห่งการแข่งขันเพื่อแย่งชิงเรตติ้ง ความจริง หรือข้อเท็จจริงหาใช่เป้าหมายสูงสุดอีกต่อไป หากแต่เป็นการขยายผลทางอารมณ์ หรือกระทั่งความบันเทิงไม่ต่างจากการชมภาพยนตร์ ฉันอยากได้ภาพข่าวที่คนดูไม่อยากเปลี่ยนช่องหนี... แบบที่นายสัญญากับฉันไว้นีนาระเบิดอารมณ์ใส่ลูในฉากหนึ่ง หลังพบว่าคลิปที่เขานำมาเสนอขายไม่มีอะไรเรียกคนดูได้เลย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทันทีที่สบโอกาส ลูจึงรีบสวมบทบาทเป็นผู้กำกับหนังด้วยการเก็บงำข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายในเหตุฆาตกรรมหมู่ จากนั้นก็สืบหาเบาะแสเกี่ยวกับเขา แล้วจัดฉากให้เกิดการดวลยิงกลางเมือง และขับรถไล่ล่าแบบเดียวกับในหนังแอ็กชั่นของฮอลลีวู้ด ซึ่งแน่นอนว่าตอบสนองความต้องการของสถานี KWLA ได้อย่างสมบูรณ์ ดังสำนวน ถ้าเลือดตกยางออกก็ได้ขึ้นหน้าหนึ่งหรือตามคำเปรียบเปรยของนีนาว่าให้นึกถึงภาพ ผู้หญิงถูกเชือดคอที่วิ่งกรีดร้องไปตามท้องถนนกล่าวคือ ไม่เพียงภาพข่าวต้องเลือดทะลักเท่านั้น แต่ต้องเป็นเลือดของคนรวย คนชั้นกลางอีกด้วย ไม่ใช่เลือดของพวกพ่อค้ายา ซึ่งฆ่ากันตายเป็นรายวันอยู่แล้ว และที่สำคัญ ภาพข่าวนั้นจะต้องกรีดร้องเรียกความสนใจจากผู้คน

ฉันคิดว่าลูเป็นแรงบันดาลใจให้เรากล้าที่จะไขว่คว้าดวงดาวคำกล่าวของนีนาฟังเผินๆ เหมือนคำพูดที่กระตุ้นให้คนกล้าจะสู้เพื่อความฝัน กล้าจะทะเยอทะยาน แต่เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ลูทำเพื่อให้บรรลุความฝันของการมีทีมข่าวเป็นของตัวเอง คำพูดข้างต้นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นความโลภ กระหายเรตติ้งจนไม่คำนึกถึงผลกระทบใดๆ ทั้งในแง่จริยธรรม หรือความถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นบทสรุปรวมไปถึงโลกแห่งทุนนิยมยุคใหม่ ซึ่งทุกคนต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดอีกด้วย

ลูเปรียบเสมือนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเรียนรู้ทุกอย่างจากอินเทอร์เน็ต จากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืนโดยปราศจากปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ความชวนสะพรึงของตัวละครอย่างลู (นอกเหนือไปจากรูปกายภายนอก ซึ่งมีสภาพไม่แตกต่างจากดวงวิญญาณที่อดหลับอดนอนมานานหลายเดือน ดวงตาปูดโปนและจมลึกในเบ้าตาของเขาเบิกโพลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อจับจ้องสิ่งต่างๆ อย่างจดจ่อ) ไม่ใช่เพียงเพราะเขาสิ้นไร้สำนึกผิดชอบชั่วดีเท่านั้น แต่ยังขาดทักษะในการเข้าสังคมอย่างน่าตกใจ เขามองทุกอย่างเป็นการต่อรองเชิงธุรกิจ และไม่รีรอที่จะใช้สถานการณ์เป็นต่อเพื่อเอารัดเอาเปรียบอีกฝ่าย เช่น เมื่อเขาแบล็คเมลให้นีนายอมหลับนอนด้วย หลังตระหนักว่าเธอต้องพึ่งพาภาพข่าวเรียกแขกของเขาเพื่อกระตุ้นเรตติ้งให้กับรายการและโน้มน้าวสถานีให้ต่อสัญญาจ้างเธอ พอฝ่ายหลังทักท้วงว่าคนเป็นเพื่อนกันเขาไม่ทำแบบนี้ ลูค้านกลับแบบหน้าตายด้วยการบอกว่า เพื่อนก็เหมือนของขวัญที่คุณมอบให้กับตัวเองสำหรับลู มนุษย์ควรค่ากับการคบหาก็ต่อเมื่อเขาหรือเธอมีประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เฉกเช่นนีนา ซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกให้เขาไต่สู่โลกแห่งรายการข่าวทางทีวี มิเช่นนั้นแล้วเขาก็จะไม่ให้ความใส่ใจ เช่นปฏิกิริยาของเขากับคู่แข่งทางการค้าอย่าง โจ (บิล แพ็กซ์ตัน) หรือไม่ก็กำจัดทิ้งอย่างไร้เยื่อใยหากบุคคลนั้นมีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคามต่อความก้าวหน้าอย่างเช่นกรณีของริค

ตัวละครอย่างลูนอกจากจะสะท้อนความเย็นชา ฟอนเฟะแห่งโลกของธุรกิจแล้ว (ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่แวดวงรายการข่าวทางโทรทัศน์เท่านั้น) มันยังวิพากษ์ความฉาบฉวยแห่งวิถีชีวิตยุคใหม่ และเป็นหนึ่งในภาพล่มสลายของความฝันแบบอเมริกันอีกด้วย ตลอดทั้งเรื่องคนดูจะเห็นลูพูดพล่ามข้อมูลต่างๆ ที่เขาเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต จากการอ่านหนังสือ หรือบทความประเภท self-help ทั้งหลาย (เขายอมรับว่าไมได้เข้าเรียนตามระบบการศึกษาทั่วไป) แต่หาได้ซึมซับแก่นจริงๆ ของความรู้เหล่านั้นแม้แต่น้อย เขาเป็นเหมือนเป็ดที่อวดอ้างว่ารู้เรื่องสารพัด แต่ไม่รู้จริงเลยสักอย่าง เพราะสุดท้ายทั้งหมดนั้นลงเอยด้วยการเป็นเพียงข้อมูลสำหรับใช้ในการต่อรอง ดังจะเห็นได้จากฉากที่เขาพยายามอัพราคาจักรยานที่ขโมยมากับเจ้าของร้านค้า ก่อนจะถูกหักหน้าว่า ไม่มีจักรยานคันไหนมีเกียร์ถึง 37 เกียร์ซะหน่อยแต่ความขาดแคลนในเชิงลึกของลูสามารถชดเชยได้ด้วยพรสวรรค์ของการเจรจาต่อรอง ซึ่งนั่นดูจะเป็นปัจจัยจำเป็นเพียงหนึ่งเดียวสู่หนทางแห่งอนาคต ความสำเร็จของลูในตอนท้ายพิสูจน์ให้เห็นว่าในโลกแห่งทุนนิยมยุคใหม่ ไม่มีใครให้ความสำคัญกับแก่นแท้ หรือข้อเท็จจริงอีกต่อไป และศีลธรรม หรือจรรยาบรรณก็เป็นหัวข้อที่สงวนไว้ถกเถียงแค่ในชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเท่านั้น

1 ความคิดเห็น:

Principle กล่าวว่า...

รีวิวได้เยี่ยมมากครับ