วันอาทิตย์, กันยายน 27, 2558

Inside Out: หล่นหายไปกับกาลเวลา


หลังจากเสียเวลาหลายปีให้หนังภาคต่อที่เข้าขั้นล้มเหลวในเชิงคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์เมื่อเทียบกับมาตรฐานดั้งเดิมอันสูงลิ่วของบริษัท (แต่น่าจะทำกำไรจำนวนมหาศาลในแง่การขายสินค้าจำพวกตุ๊กตุ่นตุ๊กตาและแบบจำลอง) อย่าง Cars 2 และ Monsters University รวมไปถึงหนังที่ให้อารมณ์ ยุคเก่า แม้จะสอดแทรกความร่วมสมัยแห่งสตรีนิยมเอาไว้พอประมาณเพื่อไม่ให้มันดูหัวโบราณจนเกินไปอย่าง Brave ในที่สุดค่ายพิกซาร์ก็หันกลับมาทำในสิ่งที่พวกเขาถนัดอีกครั้ง นั่นคือ แอนิมิชั่นซึ่งนำเสนอไอเดียน่าสนใจ แง่มุมทางเนื้อหาที่ลึกซึ้งพอจะทำให้ผู้ใหญ่เอ็นจอยได้มากพอๆ กับลูกๆ ของพวกเขา และจินตนาการอันน่าตื่นตา ภายใต้แพ็คเกจที่ดูสดใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่แปลกประหลาด หรือมืดหม่นเกินกว่าตลาดวงกว้างจะรับได้

ไอเดียเบื้องต้นของ Inside Out คือ สร้างภาพรูปธรรมให้กับสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างอารมณ์ความรู้สึก ด้วยการวาดภาพว่าในหัวสมองเรามีห้องควบคุมพร้อมแผงวงจรและจอภาพ ซึ่งถ่ายทอดเหตุการณ์ผ่านสายตาของบุคคลนั้น ส่วนคนทำงานแต่ละคนก็จะเป็นตัวแทนของอารมณ์แต่ละรูปแบบ เช่น สุข เศร้า กลัว โกรธ ซึ่งต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันควบคุมแผงวงจรดังกล่าวตามแต่สถานการณ์จะพาไป และแน่นอนพวกมันย่อมมีสัญลักษณ์เป็นสีสันที่สอดคล้องกับบุคลิกของตัวเองด้วย เช่น ความเศร้าก็จะตัวสีฟ้า ส่วนความโกรธก็จะตัวสีแดง มองในมุมหนึ่งมันเปรียบได้กับความพยายามจะอธิบาย แยกย่อยภาพแอบสแตรกออกเป็นสูตรสมการหนึ่ง-สอง-สาม หรือลดมิติซับซ้อนเชิงลึกให้กลายเป็นรูปธรรมสองมิติแบบเดียวกับฉากหนึ่งในหนังเมื่อ บิงบอง (ริชาร์ด ไคนด์) พา จอย (เอมี โพห์เลอร์) กับ แซดเนส (ฟิลลิส สมิธ) เดินทะลุทางลัดเพื่อไปยังดินแดนแห่งจินตนาการ แล้วกลายสภาพจากตัวการ์ตูนสามมิติเป็นรูปทรงเรขาคณิตสองมิติที่แบนราบ โดยคำถามซึ่งอาจผุดขึ้นขณะนั่งดูหนัง คือ เราสามารถแบ่งอารมณ์ได้ชัดเจนขนาดนั้นหรือ เพราะในเมื่อบางครั้งกระทั่งตัวเราเองยังไม่แน่ใจว่ากำลังรู้สึกอย่างไร แต่อย่างว่านั่นคงไม่ถือเป็นจุดบกพร่องเมื่อพิจารณาว่าหนังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นความบันเทิงสำหรับ ทุกคนในครอบครัว เรียกได้ว่าเป็นวิชาจิตวิทยาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กปีหนึ่ง ซึ่งสัมผัสผ่านประเด็นในระดับผิวเผิน

หนังเล่าเรื่องสองส่วนควบคู่กันไป แต่สีสันและการผจญภัยหลักอยู่ที่ห้องควบคุมในหัวของไรลีย์ (แคธลีน ดิแอส) ซึ่งมีจอยเป็นบอสใหญ่ เนื่องจากไรลีย์เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น และแน่นอนเธอยังเด็ก ยังไร้เดียงสา ยังไม่ต้องผจญกับความจริงของโลก หรือความรับผิดชอบต่างๆ นานา จึงไม่แปลกที่ความสุขดูจะเป็นแก่นหลักของชีวิตในช่วงนี้ (แต่ถ้าเราสามารถมองเข้าไปในหัวตัวละครเอกในหนังอย่าง We Need to Talk About Kevin บางทีจอยอาจจะกลายเป็นแค่ตัวประกอบที่ไม่สลักสำคัญแม้แต่น้อย ดังจะสังเกตความแตกต่างเมื่อหนังตัดภาพไปยัง ทีมงาน ในหัวพ่อ (ไคล์ แม็คลาคแลน) กับแม่ (ไดแอน เลน) ไรลีย์ ซึ่งคนดูจะเห็นแองเกอร์เป็นบอสใหญ่ในกรณีแรก และแซดเนสเป็นบอสใหญ่ในกรณีหลัง) กระนั้นทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อไรลีย์ต้องประสบ วิกฤติ ครั้งแรกหลังครอบครัวเธอตัดสินใจย้ายรกรากจากเมืองบ้านนอกในมินเนโซตา มาตั้งถิ่นฐานในเมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโกขณะที่ไรลีย์อายุได้ 11 ปี

บ้านที่ปราศจากบริเวณ พ่อที่ต้องวุ่นวายกับงานใหม่ รถขนของที่ยังมาไม่ถึง ฮ็อกกี้น้ำแข็งที่ไม่ได้เล่นกลางแจ้ง แต่กลับเล่นกันในสเตเดียมทึมทึบ การต้องปรับตัวภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย เพื่อนฝูงที่ห่างหาย เหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้ความสุขของไรลีย์หล่นหาย แล้วผันแปรเป็นความโกรธ ความคับแค้นใจ ซึ่งสะท้อนผ่านความโกลาหลในหัวของไรลีย์ เมื่อจอยกับแซดเนสถูกดูดผ่านท่อไปยังคลังเก็บความทรงจำ และต้องพยายามค้นหาหนทางกลับไปยังศูนย์ควบคุม โดยในระหว่างนี้ไรลีย์จึงถูกชี้นำโดยเฟียร์ (บิล เฮดเดอร์) แองเกอร์ (ลูอิส แบล็ค) และดิสกัสต์ (มินดี้ คาลิง) เป็นหลัก ซึ่งดูจะเป็นอารมณ์พื้นฐานสำหรับเหล่าวัยเด็กผู้กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยรุ่น  

เช่นเดียวกับพัฒนาการทางด้านจิตวิทยาของผู้คนส่วนใหญ่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวัง การสูญเสีย หรือข่าวร้ายทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการตายจากของสมาชิกในครอบครัว คนรัก หรือการรับทราบว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ปัญหาทางอารมณ์ทั้งหลายของไรลีย์ล้วนมีรากฐานมาจากความพยายามจะกดทับความเศร้า ไม่ยอมรับความสูญเสีย หรือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิเสธความจริง ความรู้สึกด้านชาเหมือนโลกทั้งใบไม่มีความหมายอีกต่อไป ผสานเข้ากับความโกรธในชะตากรรม รวมไปถึงบุคคลรอบข้าง เช่น โกรธพ่อกับแม่ที่ทำให้เธอต้องสูญเสียเพื่อน แล้วลงเอยด้วยความพยายามจะหนีออกจากบ้านเพื่อกลับไปยังจุดเริ่มต้น ราวกับต้องการจะหมุนย้อนเวลากลับสู่อดีต สู่ความรู้สึกคุ้นเคยก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติ ในหนังคนดูจะเห็นว่าจอยมักพยายามควบคุมแซดเนสไม่ให้จับต้องลูกแก้วความทรงจำทั้งหลายเพื่อปกป้องไรลีย์จากความทุกข์ ความโศก โดยในฉากหนึ่งเธอถึงขั้นขีดเส้นล้อมรอบแซดเนสเอาไว้แล้วบอกไม่ให้เธอออกนอกบริเวณดังกล่าว มันเปรียบได้กับสัญลักษณ์ของการเก็บกด ซึ่งแน่นอนย่อมไม่ส่งผลดีในระยะยาวดังที่จอยจะตระหนักในท้ายที่สุดว่า แซดเนสก็มีความจำเป็นต่อไรลีย์ไม่แพ้ตัวเธอเอง เพราะความเศร้าถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์สำคัญของมนุษย์ ถึงแม้คุณจะพยายามปกป้องตัวเอง ลูกน้อยบรรดาคนที่คุณรัก หรือพยายามหลอกตัวเองมากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าคุณไม่เปิดใจที่จะยอมรับความเศร้า จิตใจคุณก็ไม่ค้นพบกับความสุขสงบอย่างแท้จริง
               
ขณะที่จอยดูจะหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง อยู่กับความพยายามจะปกป้องไรลีย์จากความทุกข์ทั้งหลาย แซดเนสกลับเป็นคนที่รู้เส้นทาง รายละเอียดทุกซอกทุกมุมในหัวของไรลีย์ และเมื่อบิงบองหดหู่กับความสำคัญของตนที่ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่องในชีวิตของไรลีย์ แซดเนสคือคนที่สามารถปลุกปลอบเขาด้วยการรับฟังและเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลกว่าความพยายามจะ เชียร์อัพ ของจอยให้บิงบองร่าเริงด้วยการจักจี้บ้าง แลบลิ้นปลิ้นตาบ้าง ราวกับว่ารอยยิ้ม ตลอดจนเสียงหัวเราะจะสามารถแก้ทุกปัญหาได้โดยปราศจากการยอมรับข้อเท็จจริงอันเจ็บปวดในชีวิต

ด้วยเหตุนี้ในฉากสุดท้าย จอยจึงเรียนรู้ที่จะปล่อยให้แซดเนสได้ขับเคลื่อนแผงควบคุม แล้วเปลี่ยนความทรงจำสีทองแสนสุขที่มินเนโซตาให้กลายเป็นอดีตหอมหวานสีฟ้าหม่นเศร้าด้วยการตระหนักในความจริงว่าคุณไม่อาจเรียกวันคืนเหล่านั้นกลับมาได้อีกต่อไป และเมื่อใดก็ตามที่คุณเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อเท็จจริงได้โดยไม่พยายามซุกซ่อนอารมณ์ไว้ใต้พรม หรือเคลือบฉาบด้วยรอยยิ้ม หรือความสุขจอมปลอม เมื่อนั้นคุณก็พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้ากับเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิต เช่นเดียวกับไรลีย์ที่สามารถปลดปล่อยน้ำตาแห่งความอัดอั้นออกมาในท้ายที่สุด

Inside Out ผนวกความสนุกสนานแห่งจินตนาการ เช่น การแปลงนิยาม โรงงานผลิตฝัน ของฮอลลีวู้ดให้กลายเป็นรูปธรรม หรือการดำดิ่งเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก ซึ่งคุมขัง ตัวสร้างปัญหาทั้งหลาย เข้ากับความเจ็บปวดของการเติบใหญ่ได้อย่างลงตัว แม้ว่าในความพยายามจะเป็นความบันเทิงสำหรับทุกคนในครอบครัวส่งผลให้หนังโน้มเอียงไปยังทิศทางแรกมากกว่าทิศทางหลังสักเล็กน้อยก็ตาม แก๊กตลกหลากหลายถูกโยนใส่คนดูแบบไม่ยั้ง ซึ่งหลายครั้งก็ดูจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาใจผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เช่น มุกล้อเลียนประโยคสุดคลาสสิกจาก Chinatown แต่ในเวลาเดียวกันหนังก็ไม่หลงลืมที่จะสะท้อนความหม่นเศร้าของการเปลี่ยนผ่านช่วงวัย เมื่อหนูน้อยขี้เล่น เฟอะฟะ เติบโตเกินกว่าจะเล่นมุกปัญญาอ่อนเดิมๆ กับพ่อของเธอ เมื่อความจริงของโลกแห่งผู้ใหญ่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามามีบทบาท แล้วขัดกร่อนความไร้เดียงสาให้เริ่มเลือนลาง ซึ่งประเด็นดังกล่าวน่าจะจับใจกลุ่มคนดูผู้ใหญ่ที่ล้วนเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย

หนึ่งในความชาญฉลาดของหนัง คือ การนำเสนอธรรมชาติอันผันผวน สุ่มเดา และยากจะคาดคิดของความทรงจำผ่านแง่มุมที่ทั้งเปี่ยมอารมณ์ขัน เช่น ฉากทีมงานเดินสำรวจไปตามชั้นเก็บลูกแก้วแล้วสูบความทรงจำที่เริ่มเลือนลาง หรือไม่จำเป็นทิ้งลงหลุมขยะ (เบอร์โทรศัพท์ รายชื่อประธานาธิบดีสหรัฐ บทเรียนเปียโน) และอารมณ์สะเทือนใจจากชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับบิงบอง ความทรงจำไหนที่ไรลีย์ไม่แคร์ มันก็จะจางหายไป ป้าแม่บ้านอธิบายขั้นตอนการคัดสรรของเธอให้จอยฟัง นั่นอาจไม่ใช่คำนิยามธรรมชาติการทำงานของสมองที่แม่นยำเสียทีเดียว เพราะบางครั้งสมองก็ขับเคลื่อนโดยปราศจากเหตุผล เป็นเหตุให้อะไรที่ควรจำกลับลืม อะไรที่ควรลืมกลับจำ เช่น คนส่วนใหญ่น่าจะ แคร์ บทเรียนเปียโนมากกว่าเพลงโฆษณาหมากฝรั่งไร้สาระ แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งให้อย่างแรกค่อยๆ เลือนหายไป (หากคุณไม่ได้เติบโตมาเป็นนักดนตรี หรือหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง) ขณะที่อย่างหลังกลับแจ่มชัด และจู่ๆ ก็แวบเข้ามาสร้างความรำคาญในหัวแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่ไรลีย์แคร์และเคยมีความสำคัญอย่างสูงต่อชีวิตของเธอจนแทบจะรองจากพ่อกับแม่เลยก็ว่าได้อย่างบิงบองกลับต้องลงเอยด้วยการติดแหง็กอยู่ในหลุมขยะแห่งความทรงจำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เมื่อเธอเติบใหญ่ ได้คบหา สร้างสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ จนไม่จำเป็นต้องอาศัยเพื่อนในจินตนาการอีกต่อไป มันไม่สำคัญว่าเราจะแคร์ หรือไม่แคร์ใครหรือสิ่งใดมากแค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้วกาลเวลาจะทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อตรง ทั้งในแง่เยียวยาความเจ็บปวด ความผิดหวัง และลบเลือนคืนวันอันสนุกสนาน เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เหมือนที่เราสามารถจินตนาการต่อไปได้ไม่ยากว่าเหล่าผองเพื่อนของไรลีย์ที่มินเนโซตา ซึ่งเคยมีความสำคัญอย่างยิ่งถึงขนาดที่เธอคิดจะหนีกลับไปหา สุดท้ายก็จะค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำเช่นกัน เมื่อเธอเติบใหญ่ ได้คบหากับเพื่อนใหม่ในซานฟรานซิสโก... มันเป็นสัจธรรมของชีวิตที่เราจะได้พานพบผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย แต่สุดท้ายแล้วกลับมีเพียงหยิบมือเท่านั้นที่จะคงอยู่ในความทรงจำ ซึ่งบางครั้งเราเองไม่มีสิทธิ์จะเป็นผู้เลือกเสียด้วยซ้ำ  

1 ความคิดเห็น:

ชาลินี กล่าวว่า...

อ่านสนุกมาก ขอบคุณคะ