วันเสาร์, สิงหาคม 26, 2549

Asian Cinema ในทัศนะของ คริส เบอร์รี่

ครั้งสุดท้ายที่ผมพบ คริส เบอร์รี่ คือ เมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว ขณะเขากำลังจะย้ายจากมหาวิทยาลัย ลา โทรป ในกรุงเมลเบิร์น ไปสอนวิชาภาพยนตร์ศึกษาที่มหาวิทยาลัย เบิร์คลี่ย์ ในกรุงซานฟรานซิสโก จำได้ว่าตอนนั้นผมรู้สึกยินดีกับเขาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเบิร์คลี่ย์ได้รับยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ พรั่งพร้อมไปด้วยแหล่งข้อมูลสำหรับการค้นคว้าวิจัยจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันอีกใจหนึ่งก็รู้สึกเสียใจอยู่ลึกๆ เนื่องจากผมหวังอยากจะให้เขามาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์อยู่พอดี

หลังจากนั้น เราทั้งสองยังคงติดต่อกันบ้างเป็นครั้งคราวผ่านทางอีเมล เขาต้องเดินสายร่วมประชุม สัมมนา และได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการตัดสินเทศกาลหนังต่างๆ ทั่วโลกอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย แต่เส้นทางของเขาก็ไม่เวียนมาบรรจบกับประเทศไทยเสียที (ถ้าใครจำได้ เขาเคยเดินทางมาเป็นกรรมการให้งานเทศกาลหนังกรุงเทพฯครั้งที่หนึ่งด้วย ซึ่งขณะนั้นผมยังศึกษาอยู่ในเมลเบิร์น จึงไม่มีโอกาสได้มาร่วมสัมผัสบรรยากาศในงานเทศกาลหนังนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย แต่พอกลับถึง ลา โทรป เขาก็เล่าให้ผมฟังว่าไม่ได้รู้สึกประทับใจหนังเอเชียเรื่องใดในสายการประกวดเป็นพิเศษ แต่หลงรัก Hanabi ของ ทาเคชิ คิทาโน่ อย่างหมดใจ) จนกระทั่งในปีนี้…

คริสแวะมาเยือนกรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อขอสัมภาษณ์นักทำหนังไทยสำหรับใช้เป็นข้อมูลเขียนหนังสือเล่มใหม่ ก่อนจะเดินทางไปเข้าร่วมงานสัมมนาในประเทศไต้หวัน เขามีเวลาเพียงสองวันเท่านั้น ดังนั้นผมจึงรีบฉกฉวยโอกาสดังกล่าวขอนัดสัมภาษณ์เขาทันที โดยการพูดคุยดำเนินไปอย่างค่อนข้างเป็นกันเองที่ห้องพักในโรงแรม หลังจากต่างฝ่ายต่างไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันพอเป็นพิธีแล้ว บทสนทนาของเราก็เริ่มวนเวียนเข้าสู่สถานการณ์ปัจจุบันของหนังเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาของคนตะวันตก

“ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า หนังเอเชียซึ่งพูดภาษาดั้งเดิมสามารถกลายเป็นหนังทำเงินอันดับหนึ่งบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศในอเมริกาได้ นั่นคือ Crouching Tiger, Hidden Dragon และ Hero ก่อนหน้านี้ แจ๊คกี้ ชาน เคยเจาะตลาดฮอลลีวู้ดได้สำเร็จ แต่หนังส่วนใหญ่ของเขาถูกพากย์เสียงภาษาอังกฤษทับ และมีการเปลี่ยนดนตรีประกอบ หรือแม้กระทั่งพล็อตเรื่องไปจากเดิม เนื่องจากตอนนั้นไม่มีใครเชื่อ แม้กระทั่งตัวคนทำหนังเอง ว่าภาพยนตร์เอเชียที่พูดภาษาดั้งเดิมพร้อมซับไตเติลจะสามารถกลายเป็นหนังฮิตบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศได้ แต่หนังสองเรื่องนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาเข้าใจผิด ผมคิดว่านั่นถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากๆ มันหมายความว่า คนเดินดินธรรมดาในเมืองอย่างชิคาโกยินดีที่จะออกจากบ้านไปดูหนังต่างประเทศ อ่านซับไตเติล แล้วซึมซับภาษาต่างประเทศและวัฒนธรรมต่างประเทศ”

แล้วหนังไทยล่ะ

“มันยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่สนใจหนัง หรือชอบไปดูหนังตามเทศกาล สองปรากฏการณ์สำคัญสูงสุดในวงการภาพยนตร์เอเชียตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา คือ การเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมหนังไทยและหนังเกาหลี โดยทั้งสองกรณี จุดร่วมที่น่าสนใจ คือ พวกเขาล้วนประสบภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจมาพร้อมๆ กันในปี 1997 แต่น่าประหลาดตรงที่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์กลับแข็งแกร่งขึ้นและนำเสนอผลงานที่น่าตื่นเต้นมากขึ้นให้แก่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของหนังตลาด หนังอาร์ต หนังทดลอง หนังสารคดี พวกมันเต็มเปี่ยมไปด้วยความลุ่มลึกและหลากหลาย ผมคิดว่าผู้คนจำนวนมากขึ้นกำลังจับตามองภาพยนตร์ไทยอย่างใกล้ชิด”

เมื่อผมถามถึงความต่างระหว่างหนังตะวันออกกับตะวันตก คริสแสดงความเห็นว่ามันยากที่จะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น หนังซามูไรอาจจะคล้ายคลึงกับหนังตะวันตกของอเมริกามากกว่าหนังทดลองของญี่ปุ่นด้วยกันเอง แม้ว่าพวกมันจะพูดภาษาญี่ปุ่นเหมือนกันก็ตาม

“การพยายามบอกว่าหนังตะวันตกเป็นแบบนี้ หนังตะวันออกเป็นแบบนี้ มันออกจะง่ายเกินไป หนังเอเชียไม่ใช่หนึ่งเดียว เช่น หนังบอลลีวู้ดก็ถือเป็นหนังเอเชีย หนังของ ยาสุจิโร่ โอสุ ก็ถือเป็นหนังเอเชีย แต่พวกมันกลับแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว วิธีเดียวที่ผมจะสามารถตอบคำถามข้อนี้ได้ คือ การเปรียบเทียบระหว่างหนังตลาดเกาหลีกับหนังตลาดฮอลลีวู้ด เนื่องจากหลายคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าหนังเกาหลี คือ หนังตลาดเอเชียที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งนี้ เนื่องจากมันคล้ายคลึงกับฮอลลีวู้ด ความแตกต่างประการสำคัญ คือ หนังเกาหลีแทบทุกเรื่องล้วนมีเมโลดราม่าสอดแทรกอยู่ แม้กระทั่งในหนังแอ็กชั่น หรือหนังแก๊งสเตอร์ ก็ยังเต็มไปด้วยเมโลดราม่า หนังฮอลลีวู้ดมักแยกเมโลดราม่าออกชัดเจน แต่สำหรับวัฒนธรรมเกาหลี เมโลดราม่าถือเป็นธรรมเนียมที่เข้มแข็ง มันจึงปรากฏอยู่ในหนังทุกประเภท แม้กระทั่งหนังตลกก็ยังเต็มไปด้วยเมโลดราม่า”

มันเป็นเพราะผลกระทบมาจากสงครามหรือเปล่า

“น่าจะเป็นเช่นนั้น เมโลดราม่า คือ วิกฤติแห่งโลกสมัยใหม่ มันเป็นความพยายามจะค้นหาค่านิยมทางศีลธรรม เส้นแบ่งระหว่างความดีกับความชั่ว ในโลกยุคเก่าของยุโรป มันถือเป็นเรื่องง่ายดาย เนื่องจากโบสถ์คาทอลิกเป็นคนบอกคุณว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่สภาพสังคมสมัยใหม่ทำให้มนุษย์เริ่มคิดว่าพวกเขากำลังอาศัยอยู่ในโลกโลกีย์ ไม่ใช่โลกศาสนา ดังนั้น พวกเขาจึงต้องค้นหาค่านิยมทางศีลธรรมด้วยตัวเอง มันเลยกลายเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ ความทันสมัยได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างในสังคม ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้คนอาศัยอยู่คนเดียวมากขึ้น ในยุโรปขบวนการดังกล่าวกินเวลาประมาณ 200-300 ปี แต่ในเกาหลี มันเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 30-40 ปี สถานการณ์จึงเข้มขึ้น ตึงเครียด และยังไม่ได้รับการคลี่คลาย นอกจากนั้น ประเทศของพวกเขายังถูกแบ่งแยกเป็นสองส่วน ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่านั่นคือสาเหตุว่าทำไมเมโลดราม่าจึงปรากฏอยู่ในหนังเกาหลีแทบทุกเรื่อง”

นอกจากเป็นอาจารย์สอนภาพยนตร์แล้ว คริสยังเขียนบทความให้วารสารภาพยนตร์บางฉบับและเขียนหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ในเชิงวิเคราะห์จำนวนมากอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ทำให้ผมเพิ่งทราบว่าเขาเคยทำงานเป็นนักข่าวและนักวิจารณ์ภาพยนตร์อยู่พักหนึ่งระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยด้วย ดังนั้น บทสนทนาของเราจึงเริ่มเบี่ยงเบนเข้าสู่คำถามว่า อะไรคือการวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ดี

“ผมคิดว่าปัจจุบันงานวิจารณ์ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ทั้งในอังกฤษและในอเมริกาล้วนเป็นเหมือนคู่มือผู้บริโภคเสียมากกว่า ซึ่งผมไม่ค่อยชื่นชอบเท่าไหร่ พวกเขาจะเขียนแค่ว่า หนังเรื่องนี้เหมาะสำหรับเด็ก หนังเรื่องนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก หรือ ถ้าคุณชอบหนังแอ็กชั่น หนังเรื่องนี้จะมีฉากแอ็กชั่นให้คุณได้ชมมากมาย พวกเขามีจุดมุ่งหมายแค่ต้องการให้คนอ่านได้รู้ว่า ควรไปดูหนังเรื่องนี้ดีไหม การวิจารณ์ที่ดีควรทำอะไรมากกว่านั้น มันควรทำให้คนอ่านได้มองเห็นหนังในมุมมองที่แตกต่าง ทำให้คนอ่านคิดว่า เราคงไม่มองหนังในแง่มุมนี้ หรือคิดไม่ถึงขั้นนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะได้อ่านบทวิจารณ์ชิ้นนั้นมาก่อน และนั่นคือความแตกต่างระหว่างการเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์และการเขียนรีวิวภาพยนตร์”

รู้สึกอย่างไรกับความเห็นที่ว่านักวิจารณ์ชอบคิดเกินหนัง หรือคิดเกินหน้าผู้กำกับ

“ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะหลังจากผู้กำกับสร้างหนังขึ้นมาและนำไปฉายให้ประชาชนดูแล้ว มันก็ไม่อยู่ในความควบคุมของเขาอีกต่อไป หนังเรื่องนั้นๆ ย่อมมีชีวิตเป็นของตัวเอง คนดูทุกคนสามารถมองหนังแตกต่างกันไป หน้าที่ของนักวิจารณ์ นอกเหนือจากความพยายามมองหนังให้ต่างแล้ว คือ การค้นหาหนทางที่จะพูดถึงบางสิ่งบางอย่างในหนังมากกว่าแค่ระบายปฏิกิริยาส่วนตัว พูดถึงบางสิ่งบางอย่างซึ่งสามารถแทนความรู้สึกของคนกลุ่มมากได้”

ถึงแม้ความสนใจของคริสและขอบข่ายงานวิจัยส่วนใหญ่ของเขาจะครอบคลุมไปยังภาพยนตร์จีนเป็นหลัก (เขาสอนวิชาภาพยนตร์ญี่ปุ่นด้วย แต่ไม่เคยทำงานวิจัยทางด้านนั้น) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะชอบหนังจีนและผู้กำกับจีนไปเสียทุกคน ความประหลาดใจของผมเริ่มต้นขึ้น เมื่อทราบว่าเขาไม่ได้ปลาบปลื้มผลงานหลายเรื่องของ เฉินไค่เก๋อ สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลังจาก King of the Children เป็นต้นมา แม้กระทั่งหนังกวาดรางวัลนักวิจารณ์เมืองนอกอย่าง Farewell my Concubine ส่วนผลงานล่าสุดอย่าง Together ถูกคริสให้คำจำกัดความสั้นๆ ว่า “เหลือจะทน”

ถ้างั้นใครคือนักทำหนังที่เขาโปรดปราน

“ไฉ่หมิงเลียะ, ยาสุจิโร่ โอสุ, โหวเสี่ยวเฉียน, จางอี้โหมว-”

กระทั่งผลงานในยุคหลังๆ อย่าง House of Flying Daggers และ Hero งั้นหรือ

เขาพยักหน้าตอบและพูดว่า “อาจจะชอบน้อยกว่าหนังในยุคแรกๆ (หัวเราะ) แต่ผมเข้าใจสถานการณ์ของจางอี้โหมวดี มันเป็นประเด็นที่ซับซ้อน และคงจะพูดกันเป็นวันก็ไม่จบ” จากนั้นคริสก็ร่ายรายชื่อต่อ “ซุน ยู เขาเป็นนักทำหนังจีนในยุค 30 ผมชอบหนังเรื่อง The Big Road ของเขามากๆ แต่มันออกจะหาชมได้ยากอยู่สักหน่อย, ไรเนอร์ เวอร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ คุณคงพอจะเดาออกว่าผมชอบหนังหดหู่มากแค่ไหน (หัวเราะ) แต่ผมก็ชอบงานของ เปโดร อัลโมโดวาร์ มากๆ เช่นกัน, อังเดร ทาร์คอฟสกี้, หว่องการ์ไว”

มีนักทำหนังฮอลลีวู้ดบ้างไหม

“บิลลี่ ไวเดอร์ โดยเฉพาะผลงานในลีลาเย้ยหยันของเขา ผมชอบ Double Indemnity มากๆ เช่นเดียวกับ Some Like It Hot”

ทีนี้ก็ถึงเวลาไล่ถามรายชื่อหนังสุดโปรด

“โอเค แทนที่จะพูดถึงหนังของผู้กำกับที่ผมชื่นชอบทั้งหลายข้างต้น ผมจะลองนึกถึงหนังเรื่องอื่นๆ ดู ผมชอบ The Conformist (เบอร์นาร์โด เบอร์โตลุคชี่) มาก ถึงแม้จะไม่ได้ดูมันมานานมากแล้ว, Five Easy Pieces (บ็อบ ราเฟลสัน), East Palace, West Palace (จางหยวน) หนังบางเรื่องของ จางหยวน ผมชอบมาก แต่บางเรื่องก็ไม่ชอบเอาเสียเลย, Yi Yi (เอ็ดเวิร์ด หยาง) เป็นหนังที่โดนใจผมมาก คุณต้องอยู่ในวัยกลางคนก่อนถึงจะสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงทรงพลังอย่างยิ่ง”

แต่ผมก็หลงรักหนังเรื่องนี้เหมือนกันนะ (หมายเหตุให้คนอ่าน: ผมยังไม่ย่างเข้าวัยกลางคนนะครับ)

“จริงเหรอ โอเค งั้นผมขอถอนคำพูดสุดท้ายละกัน (หัวเราะ)”

คุณชอบหนังของ สแตนลี่ย์ กวาน ไหม

“Centre Stage เป็นหนังเรื่องโปรดของผม แต่ Lan Yu ออกจะฟูมฟายเกินไปหน่อย ผมชอบหนังของ นากิสะ โอชิม่า หลายเรื่อง แต่ที่ชอบที่สุด คือ Death by Hanging และสุดท้ายที่พอจะนึกออกในตอนนี้ คือ To You From Me ของ จางซุนยู”

แล้วหนังไทยล่ะ

“ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หนังทุกเรื่องของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เรียกได้ว่าน่ามหัศจรรย์อย่างแท้จริง เท่าที่ผ่านมาในปีนี้ ผมคิดว่า Tropical Malady (สัตว์ประหลาด!) คือ หนังที่ผมโปรดปรานสูงสุด แต่ผมก็ชอบ The Adventure of Iron Pussy (หัวใจทรนง) มากๆ ด้วย ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องดีและน่าสนใจที่หนังสองเรื่องถูกสร้างขึ้นโดยผู้กำกับคนเดียวกัน เพราะเรื่องหนึ่งถือเป็นศิลปะชั้นสูง ส่วนอีกเรื่องถือเป็นวัฒนธรรมระดับล่าง แต่หากคุณสังเกตให้ดีจะพบว่าหนังศิลปะชั้นสูงของอภิชาติพงศ์นั้นส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมป็อปแทบทั้งสิ้น นอกจากนั้น ผมยังชอบ Last Life in the Universe (เป็นเอก รัตนเรือง) มากๆ ด้วย ส่วนหนังตลาดอย่าง Suriyothai (หม่อมเจ้า ชาตรีเฉลิม ยุคล) ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ไม่น่าตื่นเต้นมากนักสำหรับผม”

สุดท้าย ผมได้ขอให้คริสลองนึกถึงหนังและนักทำหนังเอเชียที่ทรงอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์โลกมาสักอย่างละสิบคน สิบเรื่อง พร้อมเหตุผล ซึ่งเขาก็ยินดี แต่รีบออกตัวไว้ก่อนว่า ทั้งหมดเป็นรายชื่อที่เขาสามารถนึกออกในเวลานี้ ดังนั้น มันจึงอาจจะตกหล่นบุคคลหรือหนังเรื่องสำคัญไปบ้าง

สิบนักทำหนังเอเชียที่ทรงอิทธิพล

1. อากิระ คุโรซาว่า – เขาทำให้โลกหันมาจับตามองภาพยนตร์ญี่ปุ่น นอกจากนั้น ฮอลลีวู้ดยังได้อิทธิพลจากหนังของเขาหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น Seven Samurai ถูกนำไปรีเมคเป็นเวอร์ชั่นตะวันตกหลายต่อหลายครั้ง

2. สัตยาจิต เรย์ – ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกับกับคุโรซาว่า คือ เขาทำให้โลกหันมาจับตามองภาพยนตร์อินเดีย เขาอาจไม่ส่งอิทธิพลต่อฮอลลีวู้ด แต่ถือเป็นผู้กำกับที่ได้รับการยกย่องอย่างมากในยุโรป อันที่จริง หนังบอลลีวู้ดได้สร้างแรงบันดาลใจให้วงการหนังตะวันตกเช่นกัน ตัวอย่างเช่น Moulin Rouge! ซึ่งลอกเลียนงานด้านภาพมาจากหนังเพลงของบอลลีวู้ด แต่มันยากที่จะยกชื่อผู้กำกับคนใดคนหนึ่งในสไตล์นี้ขึ้นมาเพียงคนเดียว

3. จางอี้โหมว – ผมขอเลือกผู้กำกับจีนรุ่นที่ห้าเพียงคนเดียว และสาเหตุที่คนๆ นั้นไม่ใช่ เฉินไค่เก๋อ ก็เนื่องจากหนังยุคแรกๆ ซึ่งถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขานั้น เป็นการจับมือร่วมกันกับจางอี้โหมว และที่สำคัญ ผมคิดว่าหนังอย่าง Yellow Earth นั้นสะท้อนอิทธิพลของจางอี้โหมวมากกว่าเฉินไค่เก๋อ สไตล์ด้านภาพของหนังถูกออกแบบโดยจางอี้โหมวอย่างเห็นได้ชัด และนั่นถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของหนังเรื่องนี้

4. คิง ฮู – เพราะเขาทำให้โลกหันมาจับตามองภาพยนตร์ป็อปปูล่าของชอว์บราเธอร์ส แน่นอนว่าก่อนหน้านี้หนังเหล่านั้นล้วนมีตลาดของมันอยู่แล้ว แต่ คิง ฮู ได้ผลักดันพวกมันออกสู่ตลาดโลกด้วยผลงานมาสเตอร์พีซเรื่อง A Touch of Zen ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ เมื่อเทียบมาตรฐานกับหนังแนวนี้เรื่องอื่นๆ ในยุคนั้น

5. จอห์น วู – ปัจจุบันสไตล์การทำหนังของเขายังคงถูกฮอลลีวู้ดลอกเลียนแบบอย่างไม่หยุดหย่อน

6. ยาสุจิโร่ โอสุ – ผู้คนทั่วโลกเริ่มค้นพบคุณค่าแห่งผลงานของโอสุหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว และสิ่งที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นตื่นเต้นเป็นพิเศษ ก็คือ วิธีการสร้างหนังของโอสุแตกต่างกับสไตล์ฮอลลีวู้ดอย่างสิ้นเชิง แต่กลับยังสามารถเข้าถึงคนกลุ่มมากได้

7. โหวเสี่ยวเฉียน – ผู้กำกับอย่างโอสุและโหวเสี่ยวเฉียนได้รับการยกย่องเนื่องจากสไตล์ภาพในหนังพวกเขาช่างเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงสุด หลายคนคิดว่าสไตล์หนังของโหวเสี่ยวเฉียนคล้ายคลึงกับของโอสุ แต่หากคุณวิเคราะห์ให้ลึกลงไปแล้วจะพบว่าพวกเขาแตกต่างกันมาก ผลงานของทั้งสองล้วนทรงอิทธิพลอย่างสูงกับแวดวงหนังอาร์ตในทวีปยุโรป

8. ไฉ่หมิงเลียะ – เขาเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ หนังของไฉ่หมิงเลียะไม่เคยประสบความสำเร็จในวงกว้าง แต่หากคุณไปถามนักทำหนังรุ่นใหม่หลายคน ไม่เฉพาะในเอเชียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในยุโรปอีกด้วย พวกเขาล้วนตอบเหมือนกันหมดว่าได้แรงบันดาลใจมาจากหนังไฉ่หมิงเลียะ แม้พวกเขาจะตระหนักดีว่าตนเองไม่สามารถทำหนังแบบนั้นได้ เนื่องจากมันไม่มีตลาดสำหรับหนังประเภทนี้ แต่ในแวดวงนักทำหนังรุ่นใหม่ ไฉ่หมิงเลียะถือเป็นผู้กำกับที่ทรงอิทธิพลมากๆ

9. โมห์เซ็น มัคมัลบาฟ และ อับบาส เคียรอสตามี – ผมต้องขอโกงด้วยการรวมสองนักทำหนังชาวอิหร่านเข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากพวกเขามีแนวทางผลงานใกล้เคียงกันมากกว่าสองนักทำหนังจากไต้หวันอย่างไฉ่หมิงเลียะและโหวเสี่ยวเฉียน ความแตกต่างสำคัญคงอยู่ตรงที่ หนังของเคียรอสตามีมักเน้นหนักในแง่ปรัชญา ตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ความตาย และการดำรงอยู่ของมนุษย์ ส่วนหนังของมัคมัลบาฟมักเน้นย้ำประเด็นทางการเมืองมากกว่า ทั้งสองล้วนมีอิทธิพลอย่างสูงต่อแวดวงหนังอาร์ต

10. อั้งลี่ – ไม่ใช่เพราะหลายคนพยายามจะทำหนังให้ได้แบบเขา แต่เพราะเขา คือ นักทำหนังโลก (world filmmaker) คนแรก จริงอยู่ว่าหนังหลายเรื่องของเขาประสบความสำเร็จทางการตลาด แต่ใครๆ ก็สามารถทำหนังฮิตได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยรูปแบบปรกติแล้ว ผู้กำกับมักจะสร้างหนังในประเทศตัวเอง หรือโอนสัญชาติมาทำงานในฮอลลีวู้ด กลายเป็นผู้กำกับฮอลลีวู้ด เช่น จอห์น วู จากฮ่องกง หรือ บิลลี่ ไวเดอร์ จากยุโรป เป็นต้น จุดเด่นของอั้งลี่อยู่ตรงที่เขาไม่ถือสัญชาติชัดเจน เขาอาจเป็นไต้หวัน หรืออเมริกันก็ได้? หรือกระทั่งอังกฤษ เนื่องจากเขาสร้างหนังอย่าง Sense and Sensibility นอกจากนั้น หนังของเขายังไม่สามารถจัดแบ่งประเภทได้ชัดเจนด้วยเช่นกัน อั้งลี่ถือเป็นนักทำหนังหลายสัญชาติ และนั่นคือหนึ่งในปรากฏการณ์แปลกใหม่ที่สำคัญมาก

สิบหนังเอเชียที่ทรงอิทธิพล

1. Rashomon (อากิระ คุโรซาว่า) – ในโลกตะวันตก คำๆ นี้กลายเป็นเหมือนศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คุณอาจพูดว่า “สถานการณ์ดังกล่าวออกจะราโชมอนอยู่ไม่น้อย” และทุกคนสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าคุณกำลังหมายถึงอะไร จนกระทั่งทุกวันนี้ยังไม่มีหนังเอเชียเรื่องไหนที่ทรงอิทธิพลมากขนาดกลายเป็นคำนามในภาษาอังกฤษได้เหมือนกัน Rashomon ซึ่งสื่อแนวคิดว่า ความจริงที่เป็นกลางนั้นไม่มีอยู่จริง มีแต่เพียงความเห็นแตกต่างของแต่ละบุคคล แต่ละมุมมองต่างหาก

2. A Touch of Zen (คิง ฮู) – มันทำให้คนทั้งโลกหันมาจับตามองหนังฮ่องกง และปัจจัยที่สร้างความประทับใจให้พวกเขามีอยู่สองประการด้วยกัน ประการแรก คือ การแสดงภาพนักรบหญิงในหนัง ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับชาวตะวันตก ในทวีปยุโรป ผู้หญิงมักถูกจำแนกออกเป็นสามประเภทเท่านั้น ได้แก่ สาวพรหมจรรย์ มารดา และโสเภณี นักรบหญิงถือเป็นปรากฏการณ์ที่พวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน ดังนั้นมันจึงสร้างความตื่นเต้นได้มหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงยุค 60 ซึ่งกระแสสตรีนิยมกำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก มันถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะอย่างยิ่ง ประการที่สอง คือ การตัดต่อ วิธีลำดับฉากแอ็กชั่นในหนังเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องน่าตื่นตา ชวนระทึกขวัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากต่อสู้ในป่าไผ่ ซึ่งอั้งลี่และจางอี้โหวล้วนแสดงคารวะเอาไว้ใน Crouching Tiger, Hidden Dragon และ House of Flying Daggers ตามลำดับ แต่ฉากของ A Touch of Zen ยังถือเป็นฉากที่ดีที่สุดในบรรดาหนังทั้งสามเรื่องอยู่ดี วิธีตัดต่อของ คิง ฮู ทำให้พื้นที่ในหนังกลายเป็นนามธรรม เป็นพื้นที่แห่งความเคลื่อนไหวอย่างแท้จริง ตัวละครกระโดดไปทางโน้นที ทางนี้ที โดยคนดูอาจไม่มั่นใจว่าพวกเขาอยู่ตรงไหนกันแน่ แต่นั่นกลับไม่สำคัญแต่อย่างใด มันเป็นเหมือนบัลเล่ต์แห่งความเคลื่อนไหว ฉากดังกล่าวถือได้ว่าคลาสสิกในระดับเดียวกับฉากบันไดโอเดสซ่า ใน The Battleship Potemkin เลยทีเดียว

3. The Killer (จอห์น วู) – เป็นหนังแอ็กชั่นอีกเรื่อง แต่มีสไตล์การถ่ายทำฉากแอ็กชั่นที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง อิทธิพลชัดเจนของหนัง จอห์น วู ต่อฮอลลีวู้ด นอกเหนือจากฉากแอ็กชั่นแล้ว ก็คือ การผสมผสานเมโลดราม่าลงไป ตัวเอกในหนัง จอห์น วู มักแตกต่างจากตัวเอกที่เยือกเย็นและแข็งกระด้างในหนังแอ็กชั่นของฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ ถ้าคุณสังเกตหนังแอ็กชั่นของฮอลลีวู้ดในยุค 90 ให้ดีจะพบว่า หลายเรื่องมีตัวเอกที่อารมณ์ค่อนข้างเปราะบางและอ่อนไหว ซึ่งนั่นถือเป็นสิ่งที่พวกเขาก็อปปี้มาจาก The Killer

4. Tokyo Story (ยาสุจิโร่ โอสุ) – ในบรรดาหนังโอสุทั้งหมด เรื่องนี้ดูเหมือนจะส่งอิทธิพลต่อผู้คนจำนวนมาก หลายคนคัดเลือกมันให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ดีที่สุดในโลก ผมเองก็ชื่นชอบมันมากๆ แต่โดยส่วนตัวแล้ว หนังโอสุที่ผมโปรดปรานมากที่สุด คือ Dragnet Girl ซึ่งเป็นหนังเงียบยุคแรกๆ และแตกต่างจากแนวทาง ‘ปรกติ’ ของโอสุเนื่องจากมันเป็นภาพยนตร์แก๊งสเตอร์ โดยรวมแล้ว โอสุไม่ค่อยส่งอิทธิพลต่อนักทำหนังในแง่ของสไตล์ภาพ เนื่องจากมันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอามากๆ ดังนั้นถ้าคุณก็อปปี้ไปตรงๆ มันก็จะดูชัดเจนและโง่เขลา แต่กลวิธี “บอกแต่น้อย” หรือการไม่สื่ออะไรตรงๆ ในหนังของเขากลายเป็นสองคุณสมบัติที่นักทำหนังรุ่นลูกรุ่นหลานหลายคนพยายามเลียนแบบ นอกจากนั้นพวกเขายังได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการใช้พื้นที่ว่างอันแปลกประหลาดของโอสุอีกด้วย โดยในคู่มือสอนการทำหนังทุกเล่มของฮอลลีวู้ด มันจะระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ห้ามใช้พื้นที่ว่างเปล่าหรือเวลาว่างเปล่า แต่หนังของโอสุกลับตรงกันข้าม มันเต็มไปด้วยพื้นที่ว่างเปล่าและเวลาว่างเปล่า ซึ่งทำให้คนดูได้หยุดคิดเกี่ยวกับเรื่องราว และขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างจังหวะจะโคนอันแตกต่าง หนังของโอสุสอนให้ทุกคนเห็นว่า นอกจากสไตล์คลาสสิกแบบฮอลลีวู้ดแล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ อีกในการทำหนัง ซึ่งนั่นถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

5. Chungking Express (หว่องการ์ไว) – สไตล์ด้านภาพโดดเด่น ไม่เหมือนใคร ความสำคัญของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงที่มันไม่ใช่งานอาร์ตชั้นสูง หรืองานตลาดระดับล่าง นักวิจารณ์ เดวิด บรอดเวลล์ เคยขนานนามมันได้อย่างเหมาะเจาะว่าเป็นผลงานในแนว อาวองต์-ป็อป ซึ่งนั่น คือ คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้เวิร์ค มันอัดแน่นไปด้วยเพลงป็อป วัฒนธรรมป็อป แต่สไตล์ด้านภาพและการเล่าเรื่องที่แบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจนกลับโน้มเอียงไปทางผลงานทดลองสไตล์อาวองต์-การ์ด นักทำหนังรุ่นใหม่หลายคนพยายามจะลอกเลียนส่วนผสมดังกล่าว

6. Seven Samurai (อากิระ คุโรซาว่า) – หลายคนได้เรียนรู้จากคุโรซาว่า

7. Through the Olive Trees (อับบาส เคียรอสตามี) – หนังอาจเข้าไม่ถึงคนกลุ่มมาก แต่ก็มีความสำคัญเนื่องจากมันแสดงให้เห็นวิธีอันแตกต่างในการเล่าเรื่องราวความรัก

8. City of Sadness (โหวเสี่ยวเฉียน) – หลายคนไม่เคยมีโอกาสได้ชมหนังเรื่องนี้ และจะว่าไปก็ไม่ใช่หนังที่ดูง่ายสักเท่าไหร่ แต่มันสะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งกลวิธีในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับเหตุการณ์ หรือเถรตรงเสมอไป นอกจากนั้น เหตุการณ์ต่างๆ ยังถูกเล่าผ่านสายตาของบุคคลสามัญ ธรรมดาอีกด้วย ปรกติแล้ว หนังทำนองนี้มักสอดแทรกแนวคิดเชิดชูชาตินิยมเอาไว้เสมอ แต่ City of Sadness กลับไม่พยายามจะทำเช่นนั้น มันเล่าประวัติศาสตร์ด้วยมุมมองแบบตีตัวออกห่าง หนังอาจไม่โด่งดังมากนัก แต่ก็เปี่ยมความสำคัญอย่างยิ่ง หนังเรื่องนี้ทำให้คนได้หันกลับมาทบทวนประวัติศาสตร์ยุคใหม่กันอีกครั้ง

9. Red Sorgum (จางอี้โหมว) – หนังยุคแรกๆ ของผู้กำกับรุ่นที่ห้าถือเป็นผลงานสำคัญในระดับสุดยอด Yellow Earth อาจทรงคุณค่าเชิงศิลปะ แต่มันเข้าถึงคนกลุ่มน้อย ก่อให้เกิดอิทธิพลเพียงวงแคบๆ Red Sorgum คือ หนังเรื่องแรกที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง ได้กลุ่มคนดูทั่วโลก และเปิดโอกาสให้กับหนังจีนเรื่องอื่นๆ ต่อมา

10. The Wedding Banquet (อั้งลี่) – เพราะหนังรุ่นใหม่ๆ หลายเรื่องล้วนคัดลอกสูตรสำเร็จของหนังเรื่องนี้จนมันแทบจะกลายเป็น sub-genre ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น My Big Fat Greek Wedding หรือล่าสุด คือ Bride & Prejudice ซึ่งสร้างโดยผู้กำกับ Bend It Like Beckham เล่าถึงเรื่องราวของชายหนุ่มอเมริกันที่มาแต่งงานกับผู้หญิงอินเดีย เหมือน The Wedding Banquet เพียงแต่เปลี่ยนจากประเด็นรักร่วมเพศมาเป็นเชื้อชาติเท่านั้น จริงอยู่อาจเคยมีหนังเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมถูกสร้างมาก่อนหน้านี้หลายเรื่องแล้ว แต่ The Wedding Banquet ถือเป็นเรื่องแรกที่นำเสนอความขัดแย้งในสไตล์ตลกขบขันและประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างสูง กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดประจำปีนั้นเมื่อคำนวณเทียบกับเงินลงทุนแล้ว

หมายเหตุ: ผลงานหนังสือที่น่าสนใจโดย คริส เบอร์รี่ อาทิ Chinese Films in Focus: 25 New Takes, A Bit on the Side: East-West Topographies of Desire, The Filmmaker and the Prostitute: Dennis O’Rourke’s ‘The Good Woman of Bangkok’, Memoirs from Beijing Film Academy: The Genesis of China’s Fifth Generation และ Perspectives on Chinese Cinema เป็นต้น

6 ความคิดเห็น:

UAN กล่าวว่า...

อ่านบทความชิ้นนี้ของ พี่ RIVERDALE แล้ว ทำให้ตระหนักขึ้นมาได้ว่าตัวเองยังไม่ได้ดูหนังเอเชียที่มีชื่อเสียงอีกหลายเรื่องเลย โดยเฉพาะหนังของอาคิระ คูโรซาว่า, สัตยาจิต เรย์, โหวเสี่ยวเฉียน หรือ ยาสุจิโร่ โอสุ

ถ้าไม่นับหนังไทย หนังเอเชียที่เคยชอบมาก ๆ ได้แก่

(รายชื่อแบบมั่วสุด ๆ--นึกอะไรออกก็ใส่เลย)

--A MOMENT OF INNOCENCE (1996, MOHSEN MAKHMALBAF)
--CHUNGKING EXPRESS (1994, WONG KAR WAI)
--IN THE MOOD FOR LOVE (2000, WONG KAR WAI)
--IN THE REALM OF THE SENSES (1976, NAGISA OSHIMA)
--TASTE OF CHERRY (1997, ABBAS KIAROSTAMI)
--TWO WOMEN (1999, TAHMINEH MILANI)
--VIVE L'AMOUR (1994, TSAI MING LIANG)
--WILLOW AND WIND (1999, MOHAMMAD ALI TALEBI)
--WOMAN IN THE DUNES (1964, HIROSHI TESHIGAHARA)
--WOMAN OF WATER (2002, HIDENORI SUGIMORI)

ฯลฯ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอยอมรับด้วยความละอายใจอย่างที่สุดว่า พี่เองยังไม่เคยดูหนังของโอสุเลยสักเรื่อง!!! ทั้งๆ ที่ทุกคนบอกว่าพี่ต้องชอบแน่ๆ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสหามาดูสักที

ในรายชื่อของน้อง Black Forrest พี่เคยดูแค่ไม่กี่เรื่อง แต่ส่วนใหญ่จะชอบมาก เช่น Chungking Express และ Vive L'amour สองเรื่องนี้ถือเป็นมาสเตอร์พีซของผู้กำกับเลยก็ได้

อยากแนะนำให้น้องหาเรื่อง Yiyi มาดู พี่ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ดูแล้วร้องไห้เลย แต่หลังจากได้คุยกับเพื่อนสองสามคน ปรากฏว่าทุกคนร้องไห้กับหนังเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ร้องไห้คนละส่วน คือ บางคนจะอินกับส่วนนึงมากๆ อีกคนจะอินกับอีกส่วน และพี่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงทุกส่วนได้อย่างละเอียด ละเมียด และลึกซึ้งมากๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อุ๊ย avatar ของป๋าหล๊อหล่อเพคะ อิ๊ๆๆๆ

celinejulie กล่าวว่า...

สำหรับหนังเอเชียและหนังเกี่ยวกับเอเชียที่ชอบมากๆนั้น ก็รวมถึงหนังดังต่อไปนี้ด้วยค่ะ

1.AFGHANISTAN
OSAMA (2003, SIDDIQ BARMAK, A+)

2.BANGLADESH
CHITTAGONG: THE LAST STOPOVER (1999, LEON DESCLOZEAUX, A-/B+)
หนังฝรั่งเศสที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบังคลาเทศ
http://www.imdb.com/title/tt0222989/

3.BHUTAN
MILAREPA (2006, NETEN CHOKLING, A-)
http://www.imdb.com/title/tt0499238/

4.CAMBODIA
THE LAND OF THE WANDERING SOULS (2000, RITHY PANH, A)
http://www.imdb.com/title/tt0245500/

5.CHINA
DON’T CRY NANKING (1995, ZINIU WU, A+)

6.EAST TIMOR
PUNITIVE DAMAGE (1999, ANNIE GOLDSON, A-)
กำกับโดยชาวนิวซีแลนด์ แต่มีเนื้อหาเกี่ยวกับติมอร์ตะวันออก
http://www.imdb.com/title/tt0207030/

7.HONG KONG
SWORDSMAN II (1991, CHING SIU TUNG, A+)

8.INDIA
AFTERSHOCKS (2002, RAKESH SHARMA, A+)

9.INDONESIA
ARIES: A POEM FOR KATIA (2004, FAOZAN RIZAL, A+)

10.IRAN
UNDER THE MOONLIGHT (2001, SEYYED REZA MIR-KARIMI, A+)
http://www.imdb.com/title/tt0278159/

11.ISRAEL
THE BARBECUE PEOPLE (2003, YOSSI MADMONI + DAVID OFEK, A+)

12.KAZAKHSTAN
LITTLE MEN (2003, NARIMAN TUREBAYEV, A+)
http://www.imdb.com/title/tt0376746/

13.JAPAN
DYING AT A HOSPITAL (1993, JUN ICHIKAWA, A+)

14.LEBANON
THE KITE (2003, RANDA CHAHAL SABAG, A-)

15.MACAU
THE BEWITCHING BRAID (1996, YUANYUAN CAI, A+/A)
http://www.imdb.com/title/tt0117953/
หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังดีสักเท่าไหร่ แต่รู้สึกว่าเนื้อหาของเรื่องเป็นแบบ “พาฝัน” ที่ตัวเองชอบมากๆ เพราะเนื้อหาของเรื่องนี้เป็นเรื่องของสาวมาเก๊าที่มีนิสัยห้าวหาญที่ตกหลุมรักฝรั่งหนุ่ม

16.MALAYSIA
THIRD PARTY (2003, KHOO ENG YOW, A+)
http://www.redfilms.com.my/birdhouse_director.htm

17.MONGOLIA
THE STORY OF THE WEEPING CAMEL (2003, BYAMBASUREN DAVAA + LUIGI FALORNI, A)
http://www.imdb.com/title/tt0373861/

18.MYANMAR
HEXAGON (2006, KYI SOE TUN, A+)

19.PALESTINE
DIVINE INTERVENTION (2001, ELIA SULEIMAN, A+)

20.PHILIPPINES
THE FAMILY THAT EATS SOIL (2004, KHAVN DE LA CRUZ, A+)

21.SINGAPORE
PAIN (1994, ERIC KHOO, A+)

22.SOUTH KOREA
UNINVITED (2003, LEE SU-YEON, A+)

23.SRI LANKA
THE FORSAKEN LAND (2005, VIMUKTHI JAYASUNDARA, A+)

24.TAIWAN
THE PERSONALS (1998, CHEN KUO-FU, A+)

25.TAJIKISTAN
FLIGHT OF THE BEE (1998, JAMSHED USMONOV + BIONG HUN MIN, A-)
http://www.imdb.com/title/tt0177963/

26.THAILAND
เมืองในหมอก (1978, เพิ่มพล เชยอรุณ, A+)

27.VIETNAM
BRIDE OF SILENCE (2005, DOAN MINH PHUONG + DOAN THANH NGHIA, A+/A)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบหนังเรื่อง Yiyi มากเหมือนกันฮะ

Riverdale กล่าวว่า...

น้องเมอร์ตามมา comment ในกระทู้เก่ามาก หาจนหืดเลยกว่าจะเจอ ทำไมมันเอาทั้งปีมารวมกันหมดเลยฟะ ดีนะที่ไม่ค่อยได้โพสต์รูปมากเท่าไหร่ ไม่งั้นโหลดกันเป็นชาติแหงๆ

เสียดายผมไม่ได้ดูหนังเรื่องอื่นของ เอ็ดเวิร์ด หยาง เลย แต่เห็นว่าเรื่อง A Brighter Summer Day ดีมากๆ