วันจันทร์, ธันวาคม 04, 2549

อุกาฟ้าเหลือง: ทะเลกำสรวล


ใครจะคาดคิดว่าหนังเรื่อง อุกาฟ้าเหลือง ซึ่ง หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล สร้างไว้เมื่อเกือบ 30 ปีก่อนจะกลับมา “อินเทรนด์” ได้อย่างเหลือเชื่อในช่วงนี้ ยามที่เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นแนวทางที่บรรดานักการเมืองทั้งหลายชอบอ้างอิงเข้ากับนโยบาย แต่ไม่เคยทำได้ตามนั้น หรือแม้กระทั่งเข้าใจมันอย่างทะลุปรุโปร่ง

ความจริง หนังเรื่องนี้สามารถเปิดฉายควบกับ Happy Feet และ An Inconvenient Truth ได้สบายๆ

เรื่องราวของชาวบ้านในคุ้งตะเคียน ชุมชนริมชายหาดทางภาคใต้ที่มีรายได้หลักจากการออกเรือหาปลา เฒ่าหลัก (ส. อาสนจินดา) เป็นชาวประมงผู้เชี่ยวชาญและ “รู้จัก” ทุกซอกทุกมุมของทะเลแถวนั้นยิ่งกว่าใครๆ แต่วิธีวางรอกดักปลาของแก ซึ่งแกอ้างว่าเป็นศิลปะที่ตกทอดกันมานานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวด กำลังจะถูกคุกคามโดยการใช้อวนลากและการระเบิดปลา ซึ่งมอบผลกำไรให้ชาวประมงในระยะสั้น (ง่ายและได้ปลามาก) แต่สร้างความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงในระยะยาว (ทำลายดอกหินอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา)

แน่นอน บุคคลที่สนับสนุนวิธีหาปลาแบบทุนนิยมดังกล่าว (ยิ่งมาก ยิ่งดี ยิ่งรวย ยิ่งไม่พอ) ก็หาใช่ใครที่ไหน มันคือนักการเมืองน่ารังเกียจอย่างกำนันเลี้ยง ซึ่งปล่อยกู้เรือให้บรรดาผู้ใหญ่บ้านในย่านนั้น ขอร้องพวกเขาให้มาเป็นหัวคะแนนในระหว่างช่วงเลือกตั้ง ก่อนจะถีบหัวส่งทุกๆ คนที่เคยช่วยเหลือเขา หลังจากคุ้งตะเคียนเริ่ม “เหือดแห้ง” จนฝูงปลากลายเป็นของหายาก

ภาพของวิถีในทำนองปลาใหญ่กินปลาเล็กถูกฉายชัดให้เห็นตั้งแต่ฉากต้นๆ เรื่อง เมื่อ ดอกไม้ (อรวรรณ เชื้อทอง) นำปลาของเฒ่าหลัก ซึ่งเป็นลุงเธอ ไปขายในตลาด และโดนพ่อค้ากดราคาปลาจนเหลือแค่กิโลกรัมละหกบาท หลังจากเมื่อวานยังเป็นกิโลกรัมละแปดบาท ทั้งนี้เพราะชาวประมงหาปลาได้มาก (จากวิธีใช้ระเบิดและอวนลาก) ด้วยเหตุนี้ กำนันเลี้ยง ซึ่งเป็นพ่อค้าปลารายใหญ่ จึงถือโอกาสกดราคา (และก็เป็นเขานั่นเองที่โน้มน้าวให้เหล่าชาวประมงใช้วิธีใหม่ๆ ในการหาปลาโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย หรือธรรมชาติ) ชาวประมงไม่มีทางเลือก จึงจำต้องขายปลาในราคาต่ำ แต่แล้วพอปลาเริ่มหาได้ยากขึ้น กำนันเลี้ยงก็ขนเงิน รวมถึงเรือของชาวประมงที่ไม่มีปัญญาผ่อนหนี้ ไปยังแหล่งหากินแห่งใหม่

กำนันเลี้ยงคือตัวแทนของระบบทุนนิยมสุดขั้ว และเจ้าระบบที่ว่านี้เปรียบไปแล้วก็คงไม่แตกต่างจากฝูงตั๊กแตนนับล้านที่บุกลงโจมตีไร่นา ตักตวง กัดกินทุกอย่างจนอิ่มหมีพลีมัน แล้วก็บินจากไปโดยไม่คิดจะตอบแทนใดๆ ให้กับแผ่นดิน หรือชาวไร่ชาวนา ระบบทุนนิยมสุดขั้วก็ไม่ต่างจากตัวเหลือบไรจอมเขมือบ ที่จะสูบเลือดจากร่างของคุณจนหมดตัว ก่อนจะกระโดดไปเกาะคนอื่นๆ ต่อแบบไม่จบสิ้น จนกระทั่งไม่เหลืออะไรให้มันเกาะกิน

ไม่เพียงเท่านั้น ระบบชั่วร้ายดังกล่าวยังพยายามหาแนวร่วมด้วยการล่อลวง โน้มน้าว และท้ายที่สุด คือ ล้างสมองให้ทุกคนตะกระตะกราม ไม่รู้จักพอแบบเดียวกัน โดยตัวแทนแห่งเหยื่อของลัทธิบริโภคนิยมที่ปรากฏชัดในหนัง ได้แก่ บุญตา (เดือนตา ตรีมงคล) หญิงสาวที่ซำ (ยมนา ชาตรี) ลูกมือหาปลาของเฒ่าหลัก หลงรักและอยากแต่งงานด้วย

ในฉากเปิดตัว คนดูจะเห็นบุญตานอนฟังวิทยุทรานซิสเตอร์อยู่ในเรืออย่างสบายอารมณ์ แต่หลังจากถูกซำแกล้งด้วยการพลิกเรือคว่ำ เธอก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง พร้อมทั้งยืนกรานให้ซำดำน้ำลงไปเก็บวิทยุให้เธอ โดยไม่สนคำอ้างของเขาที่ว่าน้ำตรงนั้นมันลึก และเขาอาจจะตายได้

“ฉันน่ะจะรักคนที่ยอมแพ้ง่ายๆ ไม่ได้หรอก” เธอตอกกลับ

ซำดำผุดดำว่ายอยู่สองรอบ กว่าจะงมหาวิทยุมาคืนให้เธอได้ แต่เธอกลับเขวี้ยงมันกระแทกหินจนเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เมื่อเห็นว่ามันเปิดฟังไม่ได้แล้ว และยืนกรานให้ซำซื้อวิทยุเครื่องใหม่ให้เธอ สำหรับบุญตา ความพยายามของซำที่จะงมวิทยุมาคืนให้เธอนั้นหาได้สำคัญเทียบเท่าคุณค่าทางวัตถุไม่

ไม่นานต่อมา เธอก็เริ่มยุให้ซำผละจากเฒ่าหลัก แล้วไปทำงานให้กับพวกเรือหาปลาด้วยอวนลากแทน เหตุผลของเธอ คือ ถ้าขืนเขาทำงานกับเฒ่าหลักโดยใช้วิธีหาปลาแบบ “ล้าสมัย” ต่อไป เขาคงจะไม่มีปัญญา “หาเลี้ยง” เธอแน่ จริงอยู่ เฒ่าหลักสามารถหาเลี้ยงทั้งซำและดอกไม้ได้ด้วยการวางรอกหาปลาเป็นอาชีพ แต่กระต๊อบเล็กๆ ริมชายหาดคงไม่ใช่ชีวิตแบบที่บุญตาใฝ่ฝัน ดังนั้น มันจึงไม่แปลกที่เธอจะลอบคบชู้กับหนุ่มจากกรุงเทพฯ ซึ่งดูท่าทางจะมีปัญญาหาซื้อชีวิตแบบที่บุญตาใฝ่ฝันได้ (ทั้งสองพบกันขณะเธอกำลังเลือกซื้อเสื้อผ้า) แต่แน่นอน เงินไม่สามารถพิสูจน์ความดีในตัวคนได้ และกว่าบุญตาจะตระหนักในสัจธรรมข้อนั้น เธอก็ต้องแลกมันด้วยชีวิต

ในทางตรงกันข้าม เฒ่าหลักคือตัวแทนของแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง แกไม่โหยหาความสุขสบายทางวัตถุจนเกินพอดี แต่ก็หาได้ใช้ชีวิตอยู่บนความประมาท แกเก็บเงินที่ได้จากการขายปลาเอาไว้สำหรับหลานๆ พร้อมกับเฝ้าพร่ำสอนซำให้รู้จักเคารพธรรมชาติ เพราะทะเลเป็นของเราทุกคน และมนุษย์ก็ยังต้องพึ่งธรรมชาติอยู่วันยันค่ำ จริงอยู่ แม้คนจะมีเงิน แต่คนก็ไม่อาจสร้างปลาได้สักตัว หรือดอกหินสักก้อน ต้องอาศัยธรรมชาติสร้างให้ ดังนั้น เมื่อคนไม่รู้จักพอ เมื่อความโลภ ความเห็นแก่ตัว ทำให้คนแข่งขันกันทำลายธรรมชาติเพื่อเงิน เพื่อความสบายทางวัตถุ ธรรมชาติจึงต้องสั่งสอนคน ดังจะเห็นได้จากความเดือดร้อนของกลุ่มชาวประมงในคุ้งตะเคียน เมื่อปลาเริ่มร่อยหรอ เพราะดอกหินถูกทำลายด้วยระเบิด

ขณะเดียวกัน ฉากสุดท้ายของหนังก็ช่วยตอกย้ำความยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ เมื่อมือปืนจากกรุงเทพฯ ผู้ไม่รู้จักธรรมชาติ ไม่เชื่อฟังคำเตือนจากธรรมชาติ (อุกาฟ้าเหลือง) ถูกพายุกลืนหายไปกลางทะเล โดยที่ปืน หรือเครื่องยนต์ในเรือไม่อาจช่วยเหลืออะไรเขาได้แม้แต่น้อย

อันที่จริง หนังได้สื่อนัยยะให้เห็นพลังอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นเรื่อง ในช็อตที่งดงามที่สุดช็อตหนึ่งของหนัง เมื่อกล้องจับภาพซำกับบุญตานั่งอยู่ในเรือลำน้อยกลางทะเล จากนั้นก็ค่อยๆ ซูมถอยหลังออกมาอย่างต่อเนื่อง เผยให้เห็นผืนน้ำกว้างใหญ่ ป่าเขา และทัศนียภาพของเกาะแก่งโดยรอบ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์นั้นจริงๆ แล้วเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ ท่ามกลางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ หากเราไม่เรียนรู้ที่จะเคารพธรรมชาติ สุดท้ายความหายนะย่อมบังเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของเราเอง

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โอ้โห... รีวิวซะจนอยากดูมากๆ เลยค่ะ
จริงๆ อยากดูหนังเก่าๆ ของท่านมุ้ยมานานแล้ว แต่ไม่รู้จะหาดูที่ไหน

ในเมืองไทย หนังเกี่ยวกับธรรมชาติที่มีน้อยเหลือเกิน อย่าว่าแต่ธรรมชาติเลย แค่หนังสารคดี รายการโทรทัศน์สารคดียังมีแทบจะนับได้ อ่านรีวิวอันนี้แล้วน่าดูจังนะคะ ดูน่าจะเป็นการสื่อสารสาระในแง่ของสื่อบันเทิงได้ดีทีเดียว

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับที่ขุดมาอ่าน :) ลองหาหนังเก่าๆ ของท่านมุ้ยมาดูสิครับ หลายเรื่องดีมากๆ ไปซื้อตามร้านวีซีดีได้ทั่วไป ราคาถูกด้วย

น่าเศร้าที่ปัจจุบันหนังไทยไม่ค่อยให้ความสนใจกับสังคมและธรรมชาติเท่าไหร่ มีแต่หนังผีกับหนังตลกตีหัวเข้าบ้าน ถ้าคุณได้ดูหนังไทยสมัยก่อน จะเห็นว่ามันมีสาระชัดเจนและค่อนข้าง "หนัก" เมื่อเทียบกับหนังไทยยุคนี้ และหนังพวกนั้นก็เป็นหนังทำเงินด้วยนะครับ อย่าง เทพธิดาโรงแรม ของท่านมุ้ยเนี่ย ถือเป็นหนังทำเงินเรื่องหนึ่ง ถ้ามาสร้างในปัจจุบัน คงฉายได้อาทิตย์เดียวแล้วก็โดนถอดออก