วันจันทร์, ธันวาคม 04, 2549

เทพธิดาโรงแรม: สาวน้อยร้อยมือชาย


มองเผินๆ หนังเรื่อง เทพธิดาโรงแรม อาจถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าแห่งยุคสมัย (เข้าฉายเมื่อปี พ.ศ. 2517) จากการสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตของชนชั้นล่างอย่างบรรดาผู้หญิงขายตัวได้อย่างเหมือนจริง แต่หากมองให้ลึกลงไปอีกชั้น คุณจะพบว่านี่คือหนังที่ตีแผ่ภาพลวงของสังคมชายเป็นใหญ่ได้อย่างเจ็บแสบ และอาจพูดได้ว่ามันเป็นผลงานแนวเฟมินิสต์หัวก้าวหน้าอยู่ไม่น้อย

หนังเปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงวิบากกรรมของ มาลี (วิยะดา อุมารินทร์) เด็กวัยรุ่นใจแตกจากเมืองเหนือที่แอบหลับนอนกับผู้ชายในโรงแรม (พฤติกรรมแบบที่ “นางเอก” ในหนังไทยไม่ว่าจะสมัยนั้น หรือสมัยนี้ไม่นิยมทำกัน) เธอถูกเขาล่อลวงให้เข้ากรุงเทพฯ ด้วยประโยคว่า “มาลีสวยขนาดไปเป็นนางเอกหนังได้สบายเลย” แต่แล้วความฝันที่จะสุขสบายอยู่ในวงการบันเทิงของเธอก็พังทลายลงแทบจะในทันที เมื่อเธอถูกชายคนนั้น ซึ่งเธอเรียกขานว่า “ผัว” ขายต่อให้กับ โทน (สรพงศ์ ชาตรี) แมงดาประจำโรงแรมม่านรูด ซึ่งรีบลอง “ชิมสินค้า” โดยไม่รีรอ ก่อนต่อมาจะบังคับให้เธอขายตัวเพื่อแลกกับอาหารและที่พัก

แน่นอน แรกทีเดียวมาลีถูกนำเสนอในฐานะ “เหยื่อ” ทางรูปธรรม เธอถูกพวกผู้ชายฉกฉวยผลประโยชน์แบบหน้าด้านๆ ถูกตบตีอย่างทารุณ หากไม่ยอมทำตามคำสั่ง ส่วนเงินที่หามาได้ก็ถูกหักเข้ากระเป๋าพวกแมงดา แต่ไม่นานนักเธอก็เริ่มคุ้นเคย หรืออาจพูดได้ว่าชาชินกับอาชีพนี้ อย่างน้อยเธอก็มีข้าวกิน มีที่หลับนอน มีเงินใช้บ้าง และไม่ต้องลำบากตรากตรำ เธอถึงขนาดช่วยเกลี้ยกล่อม “เด็กใหม่” ให้ยอมขายตัวเสียด้วยซ้ำ

มาลีเป็นปลื้มกับคำชมของโทน (“มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก”) หลงใหลในความสาว ความสวยของตัวเอง และคำป้อยอจากพวกผู้ชาย จนไม่ใส่ใจสายตาเหยียดๆ ของคนขายวิทยุ เมื่อเขาทราบว่ามาลีเป็นกะหรี่ หรือแม้กระทั่งคำพูดเหยียดหยามของลูกค้าเลวๆ ว่า “กูไม่เคยโดนผู้หญิงตบ โดยเฉพาะกะหรี่”

หนังทั้งเรื่องดูเหมือนจะสอดแทรกให้เห็นทัศนคติของสังคม (ชายเป็นใหญ่) ต่อผู้หญิงหากินเอาไว้โดยตลอด ไม่ว่าแบบตรงๆ ดังเช่นที่กล่าวไปข้างต้น หรือแบบโดยนัย เช่น คำพูดของหมอเถื่อนผู้มาทำแท้งให้มาลีที่ว่า “คนเขารีดลูกกันถมไป คนดีๆ ด้วยซ้ำ” แต่ความสุขสบายทางวัตถุ ความพอใจในสิ่งตื้นเขิน ดูจะทำให้มาลีลืมนึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นคนของตน ที่สมควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม

ยูโทเปียของเธอพลันแตกสลายเมื่อโทนถูกลูกค้ายิงตาย แต่แทนที่จะพึงพอใจกับอิสรภาพ มาลีกลับรู้สึกเคว้งคว้าง จนตรอก สภาพไร้การศึกษา ไร้ทักษะ ไร้คนรู้จัก และความปรารถนาจะกลับไปบ้านนอกด้วยมาดของ “ผู้ชนะ” ทำให้มาลีไม่เหลือทางเลือกมากนัก เธอเร่ร่อนไปทั่วเมืองกรุงอันเย็นชา เหินห่าง แบบปราศจากจุดหมายหรือเป้าหมาย เธอตกต่ำถึงขนาดต้องขโมยอาหารกิน ก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจาก โกเล็ก แมงดาใจดี ซึ่งพาเธอไปเข้าพัก แล้วทำมาหากินในโรงแรมอีกแห่งหนึ่ง

แต่ทุกอย่างกลับไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

มาลีเริ่มตระหนักว่าเธอไม่สามารถจะดำรงอาชีพนี้ไปตลอดได้ วันๆ เธอมีแต่จะแก่ตัวลง จนเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่อยากผันตัวไปเป็นเอเย่นต์แบบ คำแก้ว หากินด้วยการหลอกเด็กหญิงหน้าใหม่ๆ มาเป็นโสเภณี แต่ฟางเส้นสุดท้ายของเธอจริงๆ คงเป็นการได้เห็น “เด็กใหม่” คนหนึ่งหาญกล้ายืนหยัดเพื่อศักดิ์ศรีของตน แม้กระทั่งต้องแลกด้วยชีวิต

เพื่อเปิดทางเลือกให้แก่ตนเอง มาลีจึงตัดสินใจสมัครเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า นั่นแสดงให้เห็นถึงการเติบใหญ่ในระดับแรกของตัวละคร ที่สามารถมองทะลวงความสุขสบายผิวเผินแห่งอาชีพขายเรือนร่างไปได้ เธอหาใช่เหยื่อของมันอีกต่อไป แต่ยังคงต้องทำมันเพียงเพื่อจะได้มีเงินไปสร้างอนาคตเท่านั้น ทว่ายังมีกำแพงอีกชั้นที่เธอต้องก้าวกระโดดข้ามไป นั่นคือ ภาพลวงของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่สอนให้ผู้หญิงต้องพึ่งพิงผู้ชาย เป็นช้างเท้าหลังที่เชื่อฟังโดยปราศจากความเห็น

ไพศาล (สมภพ เบญจาทิกุล) เป็นชายหนุ่มท่าทางเรียบร้อย เขาตรงเข้ามาจีบมาลีด้วยลีลาเคอะๆ เขินๆ แต่ก็ดูจริงใจ การต้องรับมือกับผู้ชายมากมาย ซึ่งเห็นเธอเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ทำให้มาลีอดไม่ได้ที่จะมองไพศาลเป็นดังเทพบุตรในฝัน จริงอยู่ เขาอาจไม่ได้ร่ำรวย (ฉากที่หนังแสดงให้เห็นภาพความคิดของมาลี ซึ่งวาดฝันบ้านของไพศาลเป็นคฤหาสน์หลังโต ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาอาศัยอยู่ในสลัม สะท้อนให้เห็นทัศนคติบิดเบี้ยวของผู้หญิงที่เฝ้าฝันอยากให้มีเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยเธอ) แต่อย่างน้อยก็เป็นคนดี...

หรือบางทีอาจจะแค่ “ดูเหมือน” เท่านั้น

เรื่องน่าเศร้าจริงๆ อยู่ที่ แม้กระทั่งเมื่อไพศาลเริ่ม “ออกลาย” มาลีก็ยังแสดงท่าทีมุ่งมั่นอยากจะแต่งงานกับเขาอยู่ดี ด้วยเชื่อว่าการแต่งงานจะช่วยฉุดเธอออกจากสภาพชีวิตในโรงแรมม่านรูดได้ แต่ภาพฝันของเธอกลับมีอันต้องล่มสลายลงอีกครั้ง เมื่อเธอไปพบเขาหลับนอนกับผู้หญิงอีกคนในวันที่เธอเรียนจบคอร์สตัดเย็บเสื้อผ้า มาลีรีบวิ่งหนีออกมา ก่อนจะถูกรถคันหนึ่งเฉี่ยวตัดหน้า ชายหนุ่มคนขับเสนอตัวจะพาเธอไปโรงพยาบาล เธอจึงนั่งรถไปกับเขา ระหว่างทางเขาเริ่มพูดจาชื่นชมความงามของเธอ ทันใดนั้น หนังก็ตัดให้เห็นภาพแทนความคิดของมาลี เป็นใบหน้าผู้ชายหลากหลายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเธอ แล้วทำลายชีวิต ความฝัน และความหวังของเธอจนย่อยยับ แต่คราวนี้มาลีกลับเลือกจะผละหนีอย่างหวาดหวั่น

จากนั้นในฉากสุดท้าย คนดูจะได้เห็นเธอเดินเข้าไปซื้อเสื้อเชิ้ตกับ “กางเกง” มาสวมใส่แทนชุดกระโปรง ราวกับเพื่อประกาศจุดยืนว่าเธอสามารถก้าวข้ามทัศนคติในการหวังพึ่งพิงผู้ชายได้แล้ว อนาคตข้างหน้าของเธออาจไม่แน่นอน แต่อย่างน้อยเธอก็ตระหนักอย่างแท้จริงเสียที ต่อคำสอนที่เธอพร่ำเกลี้ยกล่อมบรรดา “เด็กใหม่” ทั้งหลายว่า “ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง”

ในที่สุด นกน้อยตัวนี้ก็ได้รับอิสรภาพ

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เคยเล่าให้ฟังอ่ะยางงงง....

ว่ามีคนชมชื่อบทความ สาวน้อยร้อยมือชาย ว่าตั้งได้เริ่ดมาก

จนอยากจะขอไปตั้งชื่อนิยาย

แต่เราบอกว่า "ไม่ได้นะยะ ฉันจองแร้ว" อิอิ

พออ่านอีกครั้งก็เลยสะดุดใจกับประโยคที่ว่า

(พฤติกรรมแบบที่ “นางเอก” ในหนังไทยไม่ว่าจะสมัยนั้น หรือสมัยนี้ไม่นิยมทำกัน)

ทำให้นึกออกว่าเรื่อง สายลับจับบ้านเล็ก

นู๋น้ำปั่น นางเอกของเรื่องหล่อนก็มีพฤติกรรมแบบ นู๋มาลี (มีลูกเหมียว)เหมือนกันนี่หว่าาาา...

ว่างๆมาวิเคราะห์ให้ฟังบ้างจิ อยากฟังความเห็นอ่ะ

ให้คิดเองมานคิดไม่ออกง่ะ เงิ่บ...เงิ่บ...

Riverdale กล่าวว่า...

จริงครับ น้ำปั่น เป็นผลิตภัณฑ์ของสังคมยุคใหม่ ซึ่งคงพอรับได้หากผู้หญิงจะเคยผ่านมือชายมาบ้างแล้ว แต่จริงๆ หนังเรื่องสายลับจับบ้านเล็กไม่ได้ "ท้าทาย" คนดูมากมายนัก เพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นน้ำปั่น มีอะไรกับผู้ชายจริงๆ เหมือนมาลี เพื่อนผมบางคนยังไม่แน่ใจเลยด้วยซ้ำว่าตกลงเธอมี "เซ็กซ์" กับพวกอาเสี่ยนั่นจริงๆ หรือว่าเธอแค่หลอกเอาเงินคนพวกนั้น ตัวหนังมันยังคง romantize นางเอก ให้ดูบริสุทธิ์อยู่ดี แม้หล่อนจะเอาเรือนร่างเพื่อแลกกับเงินก็ตาม

สุดท้ายหนังอาจลงเอยในแบบเดียวกับ เทพธิดาโรงแรม คือ ผู้หญิงตระหนักในคุณค่าของตัวเอง แล้วหาอาชีพทำเป็นหลักแหล่ง แต่ผมมีความรู้สึกว่าหนังของท่านมุ้ยกล้าหาญมากกว่าเยอะ แม้ว่ามันจะสร้างมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม

ที่สำคัญ มาลีไม่ได้ตระหนักในคุณค่าของตัวเองจาก "ความรัก" ของผู้ชายดีๆ (พระเอก) เหมือนน้ำปั่น เธอตระหนักในคุณค่าของตัวเองจากบทเรียนที่เธอได้รับจากผู้ชายต่างหาก

Nongmodkit กล่าวว่า...

เห็นด้วยสุดๆ ว่าท่านมุ้ยกล้าหาญมากกว่าคนทำหนังยุคปัจจุบันหลายเท่า โดยเฉพาะในเรื่องของการท้าทายสังคมและสติปัญญาคนดู

ก็ไม่รู้จะเศร้าใจหรือดีใจดีเนาะ ที่ในยุคนี้มีคนทำหนังไทยเก่งๆมากขึ้นหลายคนก็จริง หนังหลายเรื่องดูแล้วก็ไม่เชย และเทียบเท่าสากลได้เลย แต่ดูเหมือนว่าความกล้าหาญในการนำเสนอเนื้อหาสาระยังออกจะหาได้ยาก

บางเรื่องดูจบแล้วมีความรู้สึกเหมือนตีนไม่ติดดิน (สำนวนใครหว่า) ยังไงบอกไม่ถูก... แบบว่ามันล่องลอย ฟูฟ่อง ฟุ้งฝัน ดูจบแล้วก็จบกัน ประมาณว่าความประทับใจอาจจะยังมีหลงเหลืออยู่ แต่ความซาบซึ้งตรึงใจหรือ "จับใจ" จนต้องเก็บเอาไปนอนคิดต่อที่บ้านนั้น แทบจะหาได้ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

ว่าแล้วก็ต้องรีบไปหาหนังเรื่องนี้มาดูพลัน!!!

อ่านอีกรอบแล้วสะดุ้ง เพราะ RD ใช้คำได้เก๋และชวน "ฟิลกู๊ด" มั่กๆ... ผลิตภัณฑ์ของสังคมยุคใหม่ ฟังแล้วเหมือนไม่ได้พูดถึงมนุษย์

เหมาะจะเอาไปใช้ด่าคนบางคนเจงๆ...อุอุ

Rush กล่าวว่า...

https://m.youtube.com/watch?v=uZ-2LDpHWfs