วันอังคาร, ธันวาคม 05, 2549

Oscar 2007 (2): ชดเชยความผิดพลาดในอดีต

ข่าวเศร้าแห่งปีคงหนีไม่พ้นการจากไปของผู้กำกับระดับตำนาน โรเบิร์ต อัลท์แมน ซึ่งมีปัญหาสุขภาพตามรังควานอย่างหนักมาตลอดสองสามปี จนถึงขนาดสตูดิโอต้องว่าจ้างผู้กำกับสำรองประจำกองถ่าย A Prairie Home Companion ผลงานชิ้นล่าสุดและชิ้นสุดท้ายของเขา เผื่อคุณปู่ไม่สามารถถ่ายทำหนังจนจบได้

A Prairie Home Companion เล่าถึงเรื่องราวหวานปนเศร้าเคล้าอารมณ์ถวิลหาของหลากหลายตัวละครเบื้องหลังรายการวิทยุยอดฮิต ที่กำลังจะถูกปิดฉากหลังจากเจ้าของโรงละคร อันเป็นสถานที่สำหรับถ่ายทำรายการ ตัดสินใจจะแปลงโรงละครเป็นลานจอดรถ หนังเปิดฉายในอเมริกาเมื่อเดือนมิถุนายน ท่ามกลางเสียงชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์จากเหล่านักวิจารณ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรเจอร์ อีเบิร์ต) แต่กลับไม่มีใครคิดว่ามันจะมีบทบาทสำคัญใดๆ บนเวทีออสการ์ แม้หนังจะขวักไขว่ไปด้วยดาราดังมากมาย อาทิ เมอรีล สตรีพ, ลิลี่ ทอมลิน, เวอร์จิเนีย แมดเซน, ทอมมี่ ลี โจนส์, วู้ดดี้ ฮาเรลสัน และ ลินซีย์ โลฮาน

ส่วนหนึ่งคงเพราะหนังเข้าฉายวงแคบ ปราศจากความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ และสุดท้ายน่าจะลงเอยแบบเดียวกับ Radio Days หนังแสนน่ารักของ วู้ดดี้ อัลเลน เกี่ยวกับยุคทองของวิทยุ ที่ได้เข้าชิงออสการ์สองสาขา คือ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

ถึงแม้จะได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง แต่อัลท์แมนก็ไม่เคยคว้าออสการ์ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครอง (เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการเลยชิงให้รางวัลออสการ์เกียรติยศกับเขาเป็นของขวัญชดเชย) เหมือน อัลเฟรด ฮิทช์ค็อก (เข้าชิง 5 ครั้งจาก Rebecca, Lifeboat, Spellbound, Rear Window, Psycho) สแตนลีย์ คูบริค (เข้าชิง 4 ครั้งจาก Dr. Strangelove, 2001: A Space Odyssey, A Clockwork Orange, Barry Lyndon) และ มาร์ติน สกอร์เซซี่ (เข้าชิง 5 ครั้งจาก Raging Bull, The Last Temptation of Christ, Goodfellas, Gangs of New York, The Aviator) โดยความพ่ายแพ้ที่ชวนฉงนที่สุดของอัลท์แมนคงเป็นในปี 2002 เมื่อ รอน โฮเวิร์ด (A Beautiful Mind) คว้าออสการ์ไปครองท่ามกลางคู่แข่งอย่างอัลท์แมน (Gosford Park), ปีเตอร์ แจ๊คสัน (Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring), ริดลีย์ สก็อตต์ (Black Hawk Down) และ เดวิด ลินช์ (Mulholland Drive)

ส่วนการเข้าชิงครั้งก่อนๆ ของอัลท์แมน คือ MASH (พ่ายให้กับ แฟรงคลิน เจ. ชัฟฟ์เนอร์ จาก Patton) Nashville (พ่ายให้กับ มิลอส ฟอร์แมน จาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest) The Player (พ่ายให้กับ คลินท์ อีสต์วู้ด จาก Unforgiven) และ Short Cuts (พ่ายให้กับ สตีเว่น สปีลเบิร์ก จาก Schindler’s List)

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ดูเหมือนจะมีโอกาสสูงลิ่วในการถอดถอนตัวเองออกจากบัญชีดำออสการ์ เมื่อการหวนคืนสู่ถนนมาเฟียของเขาได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์และการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนดู ปัญหาใหญ่เพียงอย่างเดียว คือ The Departed เป็นหนังในแนวเขย่าขวัญ/อาชญากรรม ซึ่งไม่ใช่อาหารจานโปรดของคณะกรรมการออสการ์ โดยหนังเรื่องสุดท้ายที่มีแนวทางใกล้เคียงกันแล้วชนะรางวัลใหญ่ไปครอง คือ The Silence of the Lambs แต่มันเป็นการคว้าชัยท่ามกลางคู่แข่งที่ค่อนข้างอ่อนปวกเปียกอย่าง Bugsy, Beauty and the Beast, JFK และ The Prince of Tides

ที่สำคัญ The Departed ยังเป็นหนัง “รีเมค” (จากหนังฮ่องกงสไตล์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Infernal Affairs) ซึ่งไม่เคยมีประวัติในการคว้ารางวัลใหญ่มาก่อน ฉะนั้นมันคงเป็นเรื่องน่าแปลก และขณะเดียวกันก็เปรียบเสมือนการยอมรับถึงความตกต่ำในแง่ผู้นำเทรนด์ของฮอลลีวู้ด หากหนังเรื่องนี้ถูกตีตราภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ถึงมันจะเป็นผลงานรีเมคชั้นดีก็ตาม

ความเป็นไปได้สูงในตอนนี้ คือ Dreamgirls อาจคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แล้วพลาดรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้ The Departed เพราะปรกติหนังเพลงมักมีแนวโน้มที่จะกำกับตัวเองได้อยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากกรณี ร็อบ มาร์แชล (Chicago) พ่ายแพ้ต่อ โรมัน โปลันสกี้ (The Pianist) และ แบซ เลอร์มานน์ (Moulin Rouge!) ถูกมองข้าม แต่ข้อได้เปรียบของ บิล คอนดอน ผู้กำกับ Dreamgirls ได้แก่ เขาไม่ใช่มือใหม่ถอดด้ามอย่างมาร์แชล เขาเคยเขียนบทให้กับ Chicago และกำกับหนังชั้นดีไว้สองเรื่อง คือ Gods and Monsters และ Kinsey ดังนั้น โอกาสที่คุณลุงมาร์ตี้จะกินแห้วเป็นลูกที่ 6 ก็พอจะมีอยู่เหมือนกัน

ในโพสต์หน้า เราคงจะได้เห็นภาพรวมที่ชัดขึ้น เมื่อรางวัลนักวิจารณ์เริ่มทยอยกันประกาศ พร้อมรายชื่อผู้เข้าชิงลูกโลกทองคำ





ดารานำหญิง

หลังจากปล่อยให้สาวๆ ครองเวทีออสการ์สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยมกันมานาน ในที่สุดบรรดาคุณป้าวัยทองทั้งหลายก็นัดแนะกันยกขบวนมายึดหัวหาดในปีนี้ นำโดย เฮเลน เมียร์เรน วัย 61 ปี ที่กลายเป็นผู้นำแบบไร้คู่แข่งจากการรับบทพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ 2 ได้อย่างสมจริงใน The Queen ทั้งที่รูปร่างหน้าตาของเธอห่างไกลจากพระนางอย่างยิ่ง แต่การไปปรากฏตัวตามงานแถลงข่าวของเมียร์เรนในมาดสาวสุดเซ็กซี่ยิ่งทำให้เธอได้คะแนนช่วยพิเศษ เมื่อคนส่วนใหญ่พบว่าตัวจริงของเธอแตกต่างจากบทบาทบนจอราวฟ้ากับเหว (ปัจจัยแบบเดียวกันนี้เคยช่วยให้ ฮิลารี่ สแวงค์ คว้าชัยชนะมาครองจาก Boys Don’t Cry)

ตัวเก็งอันดับสอง คือ เจ้าแม่ เมอรีล สตรีพ วัย 57 ปี ซึ่งกำลังจะทำสถิติการเข้าชิงเป็นครั้งที่ 14 จาก The Devil Wears Prada แต่โอกาสคว้าออสการ์ตัวที่สาม (และตัวแรกในรอบ 24 ปี) ของเธอค่อนข้างริบหรี่ เนื่องจากหนังของเธอห่างไกลจากการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ๆ เมื่อเทียบกับ The Queen ขณะเดียวกัน เมียร์เรนเป็นนักแสดงรุ่นเดอะที่ทุกคนยอมรับในฝีมือ แต่ยังไม่เคยได้ออสการ์มาก่อน (เธอเข้าชิงสองครั้งในสาขาดาราสมทบหญิงจาก The Madness of King George และ Gosford Park) ข้อได้เปรียบเพียงอย่างเดียวของสตรีพ คือ The Devil Wears Prada เป็นหนังฮิตติดลมบน ใครๆ ก็มีโอกาสได้ดูหนังกันแล้ว และในบรรดาคนกลุ่มใหญ่นั้น ใครบ้างล่ะจะไม่หลงรักการแสดงอันสนุกสนานและลึกซึ้งอย่างไร้ที่ติของเธอ

พูดถึงเรื่องความรัก ตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาคงไม่มีนักแสดงคนใดจะได้ความรักจากกรรมการออสการ์มากเท่า จูดี้ เดนช์ วัย 72 ปี (เข้าชิง 6 ครั้งในรอบ 9 ปีจาก Mrs. Brown, Shakespeare in Love, Chocolat, Iris, Mrs. Henderson Presents) โดยปีนี้ คุณยายยังได้พลิกสถานการณ์มาเล่นบทร้ายกับเขาเสียด้วยใน Notes on a Scandal ซึ่งจะเข้าฉายช่วงปลายปี แต่คำวิจารณ์ระลอกแรกต่างชื่นชมการแสดงของเดนช์กันถ้วนหน้า แม้กระทั่งคนที่ไม่ค่อยปลื้มตัวหนังสักเท่าไหร่

ถ้าดูตามสถิติในรอบสิบปีที่ผ่านมา (นักแสดงหญิงคนล่าสุดที่ได้รางวัลนี้ขณะมีอายุเกิน 40 ปี คือ ซูซาน ซาแรนดอน (49) จาก Dead Man Walking เมื่อปี 1996 ส่วนนักแสดงหญิงคนล่าสุดที่ได้รางวัลนี้ขณะมีอายุเกิน 50 ปี คือ แจสซิก้า แทนดี้ (80) จาก Driving Miss Daisy เมื่อปี 1990) โอกาสของสาวสวยอย่าง เคท วินสเล็ท (31) จาก Little Children และ เพเนโลปี ครูซ (32) จาก Volver ที่จะได้เจริญรอยตามความสำเร็จของ รีส วิทเธอร์สพูน (28) ฮิลารี่ สแวงค์ (26, 31) ชาร์ลีซ เธรอน (29) นิโคล คิดแมน (36) และ ฮัลลี่ เบอร์รี่ (36) น่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อย

ครูซคงคาดหวังได้แค่เข้าชิง เพราะชัยชนะถือเป็นงานมหาหินสำหรับนักแสดงที่พูดภาษาต่างประเทศ ถึงแม้ Volver จะได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างอบอุ่นก็ตาม ข้อได้เปรียบ คือ คนดูส่วนใหญ่รู้จักเธอดีเนื่องจากเธอเคยแสดงหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มใหญ่หลายเรื่อง แต่ข้อด้อย คือ พวกมันเป็นผลงานที่ไม่น่าจดจำอย่าง All the Pretty Horses, Captain Corelli’s Mandolin, Vanilla Sky, Gothika, Sahara และ Bandidas

เคท วินสเล็ท อาจมีอายุน้อยกว่าครูซหนึ่งปี แต่เธอเชี่ยวกรากเวทีออสการ์มากกว่าหลายเท่า เธอเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 4 ครั้ง (Sense and Sensibility, Titanic, Iris, Eternal Sunshine of the Spotless Mind) ก่อนจะมีอายุครบ 30 ปี ซึ่งนั่นนับเป็นสถิติที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนหลังจาก อลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์ เข้าชิงออสการ์สาขาดารานำหญิงสี่ปีซ้อนจาก Raintree County, Cat on a Hot Tin Roof, Suddenly, Last Summer และ Butterfield 8 โดยเธอได้ออสการ์จากเรื่องหลังสุด ก่อนจะได้เข้าชิงและคว้าออสการ์ดารานำหญิงมาครองอีกตัวจาก Who’s Afraid of Virginia Woolf? ในปี 1967

ปัญหา คือ Little Children ดูจะแบ่งแยกนักวิจารณ์ออกเป็นสองขั้ว คือ ไม่ชอบก็เกลียด (แต่กระทั่งคนที่เกลียดก็ยังชื่นชมการแสดงอันล้ำเลิศของวินสเล็ท) อีกอย่าง หนังค่อนข้างท้าทายความรู้สึกของคนดูเกี่ยวกับประเด็นอื้อฉาวอย่างการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและการคบชู้ แถมอารมณ์โดยรวมของหนังก็ยังห่างไกลจากความอบอุ่น นุ่มนวลแบบที่คณะกรรมการออสการ์ชื่นชอบ ทว่า In the Bedroom ของ ท็อดด์ ฟิลด์ ซึ่งคุกรุ่นไปด้วยความขึ้งเครียด เศร้าระทมก็เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ๆ แบบครบถ้วนมาแล้ว ฉะนั้นทุกอย่างย่อมเป็นไปได้

ในบรรดากลุ่มตัวเก็ง บุคคลที่อาจจะหลุดโผก่อนใครเพื่อน คือ เคท บลันเชตต์ เนื่องจาก The Good German เปิดฉายให้คนวงในไปสองสามรอบแล้ว และเสียงตอบรับดูเหมือนจะไม่อบอุ่นเท่าที่ควร มันอาจไม่ถึงกับเป็นความล้มเหลว แต่แนว “ทดลอง” ของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก อาจติสแตกเกินไปสำหรับรสนิยมของกรรมการออสการ์ โดยบางคนที่ไปร่วมชมการฉายในรอบพิเศษรู้สึกว่าคนดู “นับถือ” หนังและไอเดียผู้สร้าง แต่ไม่ได้ “รัก” มันสักเท่าไหร่ นอกจากนี้ การแสดงโดยรวมยังถูกมองว่าค่อนข้างประดักประเดิด

ถ้าคำกล่าวข้างต้นเป็นจริงและเชื่อถือได้ โอกาสที่บลันเชตต์จะได้เข้าชิงออสการ์จากหนังเรื่องนี้ก็ถือว่าน้อยเต็มที ถึงแม้ จอร์จ คลูนี่ย์ จะเคยออกมาชื่นชมฝีมือของเธออย่างออกนอกหน้าก็ตาม ที่สำคัญ ปีนี้รางวัลในสาขาดารานำหญิงถือได้ว่าเข้มข้นอย่างยิ่ง

มือใหม่ที่กำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าอาจหลุดเข้าไปชิงออสการ์กับเหล่าเสือสิงกระทิงแรดทั้งหลาย คือ เซียนนา มิลเลอร์ จากหนังเรื่อง Factory Girl เจฟฟรีย์ เวลส์ แห่ง Hollywood Elsewhere ซึ่งได้ดูตัวหนังแล้ว บอกว่าการแสดงของเธอยอดเยี่ยมจนน่าตะลึง โดยเธอรับบทเป็น อีดี้ เซดจ์วิค หญิงสาวที่ แอนดี้ วอร์ฮอล (กาย เพียซ) ปลุกปั้นจนกลายเป็นดาวเด่นแห่งยุค 60

ที่สำคัญ Factory Girl เป็นหนังภายใต้การจัดจำหน่ายของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ป๋าดันแห่งวงการและขาใหญ่บนเวทีออสการ์ (ชัยชนะของ Shakespeare in Love เหนือ Saving Private Ryan คือ ตำนานไวน์สไตน์ที่ไม่มีใครลืมได้ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตีเวน สปีลเบิร์ก) ฉะนั้น ถ้าการแสดงของมิลเลอร์ดีจริง มันก็มีโอกาสจะเป็นไปได้ แม้กระทั่งในปีที่การแข่งขันค่อนข้างสูงเช่นนี้

Sure Thing: เฮเลน เมียร์เรน (The Queen), เมอรีล สตรีพ (The Devil Wears Prada)

Maybe: เคท วินสเล็ท (Little Children), จูดี้ เดนช์ (Notes on a Scandal), เพเนโลปี ครูซ (Volver), แอนเน็ท เบนนิ่ง (Running With Scissors), เคท บลันเชตต์ (The Good German)

In The Mix: เซียนา มิลเลอร์ (Factory Girl), บียอนเซ โนว์เลส (Dreamgirls), นาโอมิ วัตต์ (The Painted Veil), เรเน เซลเวเกอร์ (Miss Potter)


ดารานำชาย

ไม่เพียงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมเท่านั้นที่คณะกรรมการออสการ์ปีนี้จะมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดในอดีตของตน แต่ยังรวมไปถึงในสาขาดารานำชายยอดเยี่ยมอีกด้วย เพราะหนึ่งในตัวเก็งว่าจะได้เข้าชิงออสการ์ในปีนี้ คือ ปีเตอร์ โอ’ทูล จาก Venus หนังดราม่าปนอารมณ์ขันของผู้กำกับ โรเจอร์ มิเชลล์ (Changing Lanes, The Mother, Enduring Love) เกี่ยวกับนักแสดงชราที่สุขภาพกำลังดำดิ่งลงเหว แต่จิตใจยังกระปรี้กระเปร่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาได้รู้จักกับเด็กสาววัย 19 ปีซึ่งเป็นหลานของเพื่อนสนิท แต่ไม่ต้องกลัวไป นี่ไม่ใช่หนังสยองขวัญ ฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าจะมีฉากเซ็กซ์ระหว่างสองดารานำ (แค่คิดก็ขนลุกแล้ว) เพราะความสัมพันธ์ของชายชรากับหญิงสาวนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจมากกว่าความต้องตาต้องใจ (อย่างน้อยก็ในทัศนะของฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายชายนั้นดูเหมือนจะพยายามไขว่คว้าทุกโอกาสที่มีเพื่อผลักดันความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น)

โอ’ทูลเคยเข้าชิงออสการ์ทั้งหมด 7 ครั้งในสาขาดารานำชาย (Lawrence of Arabia, Becket, The Lion in Winter, Goodbye Mr. Chips, The Ruling Class, The Stunt Man, My Favorite Year) แต่ชวดหมดทุกครั้ง เมื่อสามปีก่อน เขาเพิ่งได้ออสการ์เกียรติยศมาครอง ซึ่งเป็นรางวัลเพื่อสดุดีแด่พรสวรรค์ของเขาในการสร้างตัวละครที่น่าจดจำมากมายให้กับโลกภาพยนตร์

ถ้าโอ’ทูลคว้าชัยชนะในท้ายที่สุด เขาจะเดินตามรอย พอล นิวแมน ซึ่งเคยเข้าชิงในสาขาดารานำชายมาแล้ว 6 ครั้ง (Cat on a Hot Tin Roof, The Hustler, Hud, Cool Hand Luke, Absence of Malice, The Verdict) แต่ชวดหมด ออสการ์เลยให้รางวัลเกียรติยศกับเขา แต่แล้วอีกหนึ่งปีต่อมา เขาก็ได้ออสการ์จริงๆ มาครองจากหนังเรื่อง The Color of Money ซึ่งกำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี่ และหลังจากนั้น เขาก็ยังได้เข้าชิงออสการ์อีกสองครั้งจาก Nobody’s Fool (นำชาย) และ Road to Perdition (สมทบชาย)

ก้างขวางคอชิ้นโตของโอ’ทูล คือ สองนักแสดงผิวดำมากฝีมือ คนแรกเริ่มสร้างชื่อเสียงจากการนำแสดงใน Bird (1988) หนังชั้นยอดของ คลินท์ อีสต์วู้ด เมื่อครั้งที่ราชาคาวบอยเพิ่งเบนเข็มมาทำงานหลังกล้องได้ไม่นาน การรับบทเป็น ชาร์ลี พาร์คเกอร์ นักดนตรีแจ๊ซระดับตำนานของ ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ ในหนังเรื่องนั้นถือได้ว่ายอดเยี่ยมและกวาดคำชมไปแบบกระบุงโกย แต่น่าเสียดายที่อาชีพการแสดงของเขาไม่เคยพุ่งถึงขีดสุดอีกเลย และส่วนใหญ่คนจะจดจำเขาจากบทสมทบในหนังดังอย่าง The Crying Game และ Panic Room ได้มากกว่า

ใน The Last King of Scotland วิทเทเกอร์ได้กลับมารับบท “คนจริง” อีกครั้ง นั่นคือ อีดี้ อามิน จอมเผด็จการแห่งประเทศอูกันดาในช่วงทศวรรษ 1970 ที่ทั้งโหดเหี้ยม ชวนสะพรึง และเปี่ยมเสน่ห์ดึงดูดในเวลาเดียวกัน หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของนายแพทย์หนุ่ม (เจมส์ แม็คเอวอย) แต่พลังการแสดงอันแสนวิเศษของวิทเทเกอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะรับบทชายหนุ่มแสนสุภาพ พูดจาอ่อนน้อม แม้กระทั่งเมื่อเขาเป็นโจรก็ตาม (Panic Room) ทำให้ อีดี้ อามิน กลายเป็นตัวละครที่คนดูไม่อาจละสายตาไปได้ ทุกครั้งที่เขาปรากฏตัวขึ้นบนจอ

อย่างไรก็ตาม ตัวเก็งอันดับหนึ่งในสาขาดารานำชาย ณ เวลานี้ คือ วิล สมิธ ซึ่งเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วจาก Ali เมื่อ 4 ปีก่อน แต่พลาดท่าให้กับดาราผิวดำรุ่นพี่อย่าง เดนเซล วอชิงตัน (Training Day) หนังใหม่ของสมิธเรื่อง The Pursuit of Happyness ยังไม่เข้าฉายวงกว้าง แต่เสียงร่ำลือของนักวิจารณ์ที่ได้ชมหนังแล้วดูจะสอดคล้องกันว่ามันเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของเขา ผสานทักษะเข้ากับพลังดาราได้อย่างกลมกลืน และขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นการ “เติบใหญ่” อย่างชัดเจน กระนั้น ทั้งหมดนี้เป็นเพียง “กระแส” เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าปฏิกิริยาตอบรับในวงกว้างจะเป็นเช่นใด เมื่อหนังเข้าฉายในวันที่ 15 ธันวาคม

การมีหนังเด่นออกฉายพร้อมกันถึงสองเรื่องกำลังสร้างความปวดหัวให้กับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ โดยในมุมหนึ่งเขามี Blood Diamond ซึ่งยังไม่เปิดฉาย แต่สังเกตจากหนังตัวอย่างดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงอารมณ์หลากหลายและรุนแรง (ผู้กำกับ เอ็ดเวิร์ด ซวิค รับประกันความ “แรง”) ที่สำคัญสำเนียงแอฟริกาใต้ของเขายังได้เสียงชื่นชมไม่น้อยว่าแม่นยำ (ถ้าคุณคิดว่านี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญละก็ ให้ลองไปหาหนังหลายๆ เรื่องที่ เมอรีล สตรีพ ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มาดูได้)

อีกมุมหนึ่งเขามี The Departed ซึ่งเข้าฉายแล้ว และได้รับคำชมแบบเป็นเอกฉันท์ โดยส่วนใหญ่ต่างเห็นว่ามันเป็นการแสดงที่ทรงพลังสูงสุดของเขาในหนัง มาร์ติน สกอร์เซซี่ ซึ่งนั่นน่าจะรับประกันการเข้าชิงออสการ์ไปโดยปริยาย เพราะดิคาปริโอเพิ่งได้เข้าชิงออสการ์จาก The Aviator มาหมาดๆ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เขาอาจจะถูกผลักให้ไปชิงในสาขาดาราสมทบชาย เพื่อหลีกทางให้กับ Blood Diamond และ แจ๊ค นิโคลสัน ซึ่งอาจถูกผลักให้เข้าชิงในสาขาดารานำชายแทน แต่นั่นจะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะ แจ๊ค นิโคลสัน มีโอกาสชนะในสาขาดาราสมทบมากกว่าในสาขาดารานำ หลังจากนักวิจารณ์หลายคนกล่าวหาเขาว่าใส่ “ความเป็นแจ๊ค” เข้าไปแบบเกินพอดี จนกลายเป็นจุดด่างพร้อยของหนัง

หากทุกอย่างดำเนินไปตามโผ ที่ว่างเดียวที่เหลืออยู่จะเป็นการแย่งชิงกันของบรรดามือเก่า (นิโคลัส เคจ, เจมี่ ฟ็อกซ์, แม็ท เดมอน, จอร์จ คลูนี่ย์) กับมือใหม่ (ดีเรค ลุค, ซาชา บารอน โคเฮน) โดยสุดท้าย หวยอาจไปออกที่ ไรอัน กอสลิ่ง จากหนังขวัญใจนักวิจารณ์เรื่อง Half Nelson แต่สมมุติฐานดังกล่าวจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อบรรดารางวัลนักวิจารณ์ช่วยกันผลักดันกอสลิ่งให้หลุดเข้ามาอยู่ในวิถีเรดาร์ เขาได้เปรียบ ดีเรค ลุค อยู่หน่อยตรงที่หนังของเขาไม่ได้จมหายไปจากความสนใจเหมือน Catch a Fire และได้เปรียบ ซาชา บารอน โคเฮน ตรงที่เขาเคยมีเครดิตงานแสดงที่น่าประทับใจมาก่อน โดยเฉพาะการรับบทหนุ่มนีโอนาซีใน The Believer (2001)

Sure Thing: วิล สมิธ (The Pursuit of Happyness), ปีเตอร์ โอ’ทูล (Venus), ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Departed/ Blood Diamond) ฟอเรส วิทเทเกอร์ (The Last King of Scotland)

Maybe: ดีเรค ลุค (Catch a Fire), ไรอัน กอสลิ่ง (Half Nelson), ซาชา บารอน โคเฮน (Borat)

In The Mix: จอร์จ คลูนี่ย์ (The Good German), นิโคลัส เคจ (World Trade Center), เจมี่ ฟ็อกซ์ (Dreamgirls), แม็ท เดมอน (The Good Shepherd)

ดาราสมทบหญิง

การแข่งขันในสาขานี้จบลงนับแต่ Dreamgirls เดินรอบเปิดฉายให้นักวิจารณ์ชม เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ถูกคาดการณ์ไว้ตั้งแต่เทศกาลหนังเมืองคานส์ (ซึ่งมีตัวอย่างของหนังเรื่องนี้ไปฉายโชว์ ความยาวประมาณ 20 นาที) ว่าจะได้เข้าชิงออสการ์จากบทที่เคยสร้างชื่อให้กับ เจนนิเฟอร์ ฮอลิเดย์ ตอนเป็นเวอร์ชั่นละครเพลงบรอดเวย์ และพอหนังเปิดตัวออกมา ปรากฏว่าบทของฮัดสันนั้นโดดเด่นมาก ถึงขั้นมีคนเสนอให้เธอไปเข้าชิงในสาขาดารานำหญิงแทน หากทางสตูดิโอไม่บ้าจี้ตามนั้นละก็ โอกาสชนะของฮัดสันในสาขาดาราสมทบถือได้ว่าสว่างสดใสพอๆ กับ แคทเธอรีน ซีต้า-โจนส์ ใน Chicago เลยทีเดียว เพราะเธอไม่ต้องไปแข่งกับบรรดาสาวใหญ่เขี้ยวลากดินอย่างเมียร์เรน, สตรีพ และเดนช์

อีกคนที่น่าจะได้เข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ อบิเกล เบรสลิน หนูน้อยน่ารักวัยเจ็ดขวบที่มีความฝันอยากขึ้นเวทีประกวดนางงาม ใน Little Miss Sunshine หนังอินดี้เปี่ยมอารมณ์ขันที่ประสบความสำเร็จบนตารางหนังทำเงินมากพอๆ กับการกวาดคำชมจากเหล่านักวิจารณ์

ตอนนี้ภาพรวมในสาขาดาราสมทบหญิงยังลางเลือน ไม่มีใครถูกเอ่ยถึงอย่างเด่นชัดมากนัก (ยกเว้นเพียง เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน) ส่งผลให้ทุกคนมีโอกาสหลุดโผ หรือกลายเป็นตัวสอดแทรกแบบคาดไม่ถึงได้ทั้งนั้น แต่ถ้าให้ทายจากผลงานทั้งปี เคท บลันเชตต์ ก็น่าจะติดชื่อเข้าชิง (เช่นเดียวกับ แคทเธอรีน คีเนอร์ เมื่อปีก่อน ที่มี Capote, The 40 Year Old Virgin, The Interpreter และ The Ballad of Jack and Rose เข้าฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน) เนื่องจากเธอมีส่วนร่วมใน Babel, The Good German และ Notes on a Scandal แต่ความเป็นไปได้น่าจะตกอยู่กับ Notes on a Scandal ซึ่งเธอรับบทนำคู่กับเดนช์ แต่ถูกผลักให้เป็นดาราสมทบ (เช่นเดียวกับ อีธาน ฮอว์ค ใน Training Day) มากกว่า ทั้งนี้เพราะบทของเธอใน Babel ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากเท่าไหร่ (แถมเธอยังปรากฏตัวบนจอน้อยกว่าดารานำคนอื่นๆ อีกด้วย) เมื่อเทียบกับดาราหญิงอีกสองคนในเรื่อง นั่นคือ เอเดรียนา บาร์ราซา และ รินโกะ คิคูชิ

ใน Babel คิคูชิรับบทเป็นสาววัยรุ่นชาวญี่ปุ่นที่หูหนวกและเป็นใบ้ (ความพิการในตัวละครย่อมช่วยเพิ่มคะแนนบวกในสายตากรรมการออสการ์) แม่ของเธอฆ่าตัวตาย ส่วนพ่อของเธอก็มักจะทำตัวเหินห่าง ดังนั้น เพื่อแสวงหาความอบอุ่นในโลกอันเย็นชา เธอจึงเริ่มถลำตัวลงลึกไปกับสัมพันธภาพทางเพศที่เสี่ยงอันตราย งานแสดงของเธอได้รับคำชมอย่างท่วมท้น และมันก็ถือเป็นโชคสองชั้นที่เรื่องราวในส่วนของเธอ (หนังถูกแบ่งออกเป็นสี่เรื่องย่อย) ให้อารมณ์ตราตรึงใจสูงสุด

หนังอีกเรื่องที่อาจจะต้องส่งผู้หญิงสองคนลงมาแย่งชิงตำแหน่งในสาขานี้ คือ World Trade Center ของ โอลิเวอร์ สโตน และพวกเธอทั้งสองก็คู่ควรกับตำแหน่งมากพอๆ กัน ไม่ว่าจะพิจารณาจากฝีมือ บท หรือบารมี

มาเรีย เบลโล เคยถูกกรรมการออสการ์มองข้ามมาแล้วถึงสองครั้งสองคราวจาก The Cooler (หวยไปออกที่ อเล็ก บอลด์วิน ส่งผลให้เบลโลกับ วิลเลียม เอช. เมซี่ย์ ต้องกินแห้วตามระเบียบ) และ A History of Violence (ทั้งเธอและ วิกโก มอร์เทนเซน ล้วนถูกมองข้ามอย่างน่าเจ็บใจ) ส่วน แม็กกี้ กิลเลนฮาล นั้นก็เคยถูกมองข้ามจาก Secretary และ Happy Endings สำหรับปีนี้ โอกาสที่เธอจะถูกมองข้ามในสาขาดารานำหญิงจาก Sherrybaby ก็มีค่อนข้างสูง ฉะนั้นกรรมการออสการ์อาจชดเชยเธอด้วยการให้เข้าชิงในสาขาดาราสมทบแทน และโดยภาพรวมแล้วบทของเธอใน World Trade Center ก็ออกจะเชือดเฉือนอารมณ์มากกว่าบทของเบลโลอยู่เล็กน้อย

ความแรงของ The Departed อาจพัดพาส้มหล่นมาให้ เวรา ฟาร์มิกา ดาราหญิงเพียงคนเดียวในเรื่อง ซึ่งได้ฟาดทั้ง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ แม็ท เดมอน จนเต็มคราบ (ร้ายนะยะ) บทของเธอใน The Departed ออกจะขาดๆ เกินๆ ไปหน่อย (ความจริงเธอได้โชว์ฝีมือและทักษะในหนังแอ็กชั่นอย่าง Running Scared มากกว่าด้วยซ้ำ) แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของนักแสดงแต่อย่างใด เมื่อปีก่อน ฟาร์มิก้าอาจได้เข้าชิงออสการ์สาขาดารานำหญิง ถ้ามีคนได้ดู Down to the Bone มากกว่านี้ (หลังจากเห็นเธอในหนังเรื่องนั้น สกอร์เซซี่ และ แอนโธนีย์ มิงเกลลา จึงตัดสินใจเลือกเธอไปร่วมงานใน The Departed และ Breaking and Entering ตามลำดับ)

Sure Thing: เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน (Dreamgirls), อบิเกล เบรสลิน (Little Miss Sunshine), เคท บลันเชตต์ (Notes on a Scandal/ Babel)

Maybe: เวรา ฟาร์มิกา (The Departed), เอเดรียนา บาร์ราซา (Babel), แม็กกี้ กิลเลนฮาล (World Trade Center), มาเรีย เบลโล (World Trade Center), รินโกะ คิคูชิ (Babel)

In The Mix: เอ็มมา ธอมป์สัน (Stranger Than Fiction), ฟิลลิส ซอมเมอร์วิลล์ (Little Children), ซิลเวีย ซิมส์ (The Queen)

ดาราสมทบชาย

คนที่วิ่งนำโด่งมาแต่ไกลในสาขานี้ คือ แจ๊ค นิโคลสัน ซึ่งกินขาดทุกคนในเรื่องบารมีบนเวทีออสการ์ โดยเขาเคยเข้าชิงทั้งหมด 12 ครั้ง และคว้าชัยมาได้สำเร็จ 3 ครั้ง (จาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest และ As Good As It Gets ในสาขาดารานำ และจาก Terms of Endearment ในสาขาดาราสมทบ) ถ้าครั้งนี้เขาคว้าออสการ์มาครองได้อีกตัว เขาก็จะทำสถิติสูงสุดเทียบเท่า แคทเธอรีน เฮปเบิร์น (ซึ่งได้ออสการ์สาขาดารานำหญิง 4 ตัวจาก Morning Glory, Guess Who’s Coming to Dinner, The Lion in Winter และ On Golden Pond) แต่ทุกอย่างใช่จะราบรื่นเสียทีเดียวสำหรับแจ๊ค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบว่าเขา “โอเวอร์ แอ๊คติ้ง” จนทำให้โทนอารมณ์ของหนังเสียสมดุล ซึ่งเริ่มดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ แถมยังดังมาจากสื่อใหญ่อย่าง นิวยอร์ก ไทมส์ เสียด้วย (มโนห์รา ดาร์กิส คือ ต้นเสียงสำคัญ ฉะนั้นเราอาจคาดการณ์ได้เลยว่ารางวัลดาราสมทบชายยอดเยี่ยมของสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์กคงไม่ตกเป็นของนิโคลสันอย่างแน่นอน)

คู่แข่งสำคัญในตอนนี้ของแจ๊คดูเหมือนจะอัดแน่นไปด้วยพลังดาราไม่แพ้กัน คนแรก คือ แบรด พิทท์ ซึ่งเคยเข้าชิงมาแล้วในสาขาเดียวกันนี้จาก Twelve Monkeys บทสามีที่เพิ่งสูญเสียลูกทารก และกำลังจะเสียภรรยาไปอีกคน เมื่อเธอถูกยิงระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวกลางทะเลทราย ใน Babel เปิดโอกาสให้พิทท์ได้โชว์ทักษะการแสดงอย่างดุเดือด เขาต้องร้องไห้ เกรี้ยวกราด และสลัดภาพซูเปอร์สตาร์ทิ้งอย่างหมดเปลือก โดยผลตอบแทนที่เขาได้รับ คือ เสียงชื่นชมแบบเป็นเอกฉันท์

อีกคนที่กำลังมาแรง คือ เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ ซึ่งเริ่มสร้างกระแสออสการ์มาตั้งแต่เมืองคานส์เช่นเดียวกับ เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ใน Dreamgirls เมอร์ฟีย์รับบทเป็น เจมส์ “ธันเดอร์” เออร์ลีย์ นักร้องที่มีแนวโน้มชอบทำลายตัวเองด้วยปัญหาเรื่องผู้หญิง ยาเสพติด และการปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลงแนวเพลงตามความต้องการของตลาด เสียงร้องของเมอร์ฟีย์อาจไม่ทรงพลังเหมือนฮัดสัน แต่เขามีโอกาสได้โชว์ทักษะการเรียกเสียงหัวเราะ ซึ่งยังคงเฉียบคมไม่ต่างจากยุค Saturday Night Live ไปพร้อมๆ กับสะท้อนด้านที่เปราะบางของตัวละครในฉากสำคัญ เมื่อเจมส์เกิดสติแตกกลางเวทีขณะร้องเพลง แล้วเปิดเผยให้เห็นความกลัวที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน ฉากดังกล่าวถือเป็นนาทีทองของนักแสดง และเมอร์ฟีย์ก็คว้ามันไว้ได้แบบอยู่หมัด

ขณะเดียวกันเขายังเป็นดาราที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวงการมานาน ได้รับความยอมรับนับถืออย่างสูงทั้งในบทบาทของดาวตลกและนักแสดงมากฝีมือ เขายังไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ (แค่เฉียดๆ จะได้เข้าชิงอยู่ครั้งจาก The Nutty Professor) และนี่เป็นเวลาอันควรสำหรับเกียรติดังกล่าว แถมเขาอาจก้าวไปถึงขั้นคว้ารางวัลมาครองเลยด้วยซ้ำ หากหนัง Dreamgirls ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเริ่มเปิดฉายในวงกว้าง

นอกจากสามคนข้างต้นแล้ว อีกคนที่มีโอกาสเข้าชิงค่อนข้างสูง คือ ไมเคิล ชีน จาก The Queen ซึ่งกำลังทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หลังการทัวร์โปรโมตหนังตลอดสองสามสัปดาห์ก่อน จริงอยู่ว่าพลังหลักของ The Queen อยู่ตรง เฮเลน เมียร์เรน แต่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่าชีนในบท โทนี่ แบลร์ ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน เขารับส่งอารมณ์กับเมียร์เรนอย่างเข้นข้น และนักแสดงหนุ่มชาวอังกฤษคนนี้ก็ยืนหยัดประกบราชินีแห่งวงการแสดงได้อย่างไม่เกรงกลัว (ความจริงนี่ถือเป็นครั้งที่สองของชีนในการรับบท โทนี่ แบลร์ หลังจากหนังทีวีเรื่อง The Deal ซึ่งกำกับโดย สตีเฟ่น เฟียร์ส เช่นกัน แต่ในคราวนั้นเขาคือโฟกัสหลักของหนัง)

ท่ามกลางกลุ่มนักแสดงชั้นยอดของ Little Miss Sunshine สองคนที่ค่อนข้างโดดเด่นเหนือใคร คือ สตีฟ คาร์เรล ในบทคุณลุงเกย์ผู้คิดอยากฆ่าตัวตายหลังอกหักจากความรักกับนักศึกษาหนุ่ม และ อลัน อาร์กินส์ ในบทคุณปู่ขี้ยา ที่ไม่เอาอ่าวและชอบพูดจาโผงผาง แต่ก็รักหลานสาวอย่างจริงใจ คนแรกโด่งดังขึ้นมาจากบทสมทบใน Bruce Almighty ก่อนจะได้มีโอกาสเป็นพระเอกเต็มตัวใน The 40 Year Old Virgin ส่วนคนหลังเป็นดารารุ่นเก๋าที่เคยเข้าชิงออสการ์ในสาขาดารานำชายมาแล้วสองครั้งจาก The Russians Are Coming the Russians Are Coming (1966) และ The Heart Is a Lonely Hunter (1968) ณ ตอนนี้คนหลังดูเหมือนจะมีกระแสสนับสนุนแรงกว่า และล่าสุดเพิ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Independent Spirit Award

Sure Thing: แจ๊ค นิโคลสัน (The Departed), เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ (Dreamgirls), แบรด พิทท์ (Babel), ไมเคิล ชีน (The Queen)

Maybe: อลัน อาร์กินส์ (Little Miss Sunshine), แจ๊คกี้ เอิร์ล ฮาลีย์ (Little Children), สตีฟ คาร์เรล (Little Miss Sunshine), อดัม บีช (Flags of Our Fathers)

In The Mix: มาร์ค วอห์ลเบิร์ก (The Departed), ไมเคิล เพนา (World Trade Center), จิมอน ฮอนซู (Blood Diamond)

4 ความคิดเห็น:

Boat กล่าวว่า...

เข้มข้นเจาะลึกจริงๆ ขอบคุณครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รู้สึกว่าเวลานี่ผ่านไปเร็วจังนะครับ
เหมือนเพิ่งจะไปเชียร์มาเอง

โหยย...อยากดูๆตั้งหลายเรื่องแหน่ะ

the aesthetics of loneliness กล่าวว่า...

หนังชิงออสการ์ปีนี้เข้าโรงในไทยเราช้าๆ ทั้งนั้นเลยนะครับ เท่าที่ลิสต์ๆ มานี่ยังไม่ได้ดูเกือบทั้งนั้น บางเรื่องแทบไม่เคยได้รู้เรื่องมาก่อนเลยด้วยซ้ำ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากดู Babel มากๆ เลยครับ