วันศุกร์, มิถุนายน 22, 2550

The Lord of the Rings


The Fellowship of the Ring: การเดินทางเพื่อค้นหาความหมาย

“ชีวิตคือการผจญภัย หาไม่แล้วมันก็ไร้แก่นสาร” เฮเลน เคลเลอร์

การให้คำจัดกัดความภาพยนตร์เรื่อง The Fellowship of the Ring หรือนิยายไตรภาคต้นฉบับชุด The Lord of the Rings ของ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน ว่าเป็นผลงานจินตนาการ (Fantasy) นั้นคงไม่ค่อยยุติธรรมและเที่ยงตรงเท่าใดนัก จริงอยู่ที่เรื่องราวส่วนใหญ่ในหนังสือผสมผสานพลังเหนือธรรมชาติหลายประการเข้าไว้ด้วยกัน และเต็มไปด้วยบทอ้างอิงถึงสิ่งมีชีวิตหลายประเภทซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในโลกปัจจุบัน แต่คนส่วนใหญ่ (รวมทั้งตัวโทลคีนเอง) ยังคงยืนยันที่จะขนานนามวรรณกรรมชิ้นสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 นี้ให้เป็นเทพนิยาย (Mythology) มากกว่าซึ่งถึงแม้มันจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่หลายส่วน แต่ก็เป็นคำที่ไม่ควรถูกจำสับสนกับแฟนตาซี

Mythology หรือ Myth เป็นประสบการณ์ตลอดจนความรู้สึกอันล้ำลึกสูงสุดของมนุษย์ เปรียบเสมือนการเดินทางเพื่อค้นหาความจริง ความหมาย และความสำคัญแห่งชีวิต โดยเดิมทีมันถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากคนโบราณในยุคแรกต้องการหาคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่น ความเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล บทบาทของดวงชะตาต่อปัจเจกชน ความตาย และการเคลื่อนไหวในหมู่ดวงดาว รวมเลยไปถึงการหาตอบต่อคำถามที่ว่าโลก วัฒนธรรม และมวลมนุษยชาติถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง Myth คือการแสดงออกในเชิงเปรียบเทียบเป็นสัญลักษณ์ต่อสิ่งที่มนุษย์ ‘ไม่ล่วงรู้’ นั่นเอง อย่างไรก็ตามขณะที่แฟนตาซีได้รับคำจำกัดความโดย โจแอนนา รัส ว่าเป็น “การเดินทางของนักผจญภัย (หรือตัวผู้อ่านเอง) ไปสู่โลกอันสวยงาม ยอดเยี่ยมถึงขนาดที่พวกเขามักปรารถนาจะอาศัยอยู่ในโลกแห่งจินตนาการนั้นตลอดไป” ผู้ประพันธ์เทพนิยายส่วนใหญ่กลับไม่เพียงเชื่อว่าเหตุการณ์ที่พวกเขาเขียน ‘เป็นไปได้’ เท่านั้น แต่ยัง ‘เป็นไปแล้ว’ อีกด้วย ดังนั้นโลกอันน่าอัศจรรย์ที่ปรากฏอยู่ใน Myth จึงหาใช่จินตนาการอันล่องลอยเฉกเช่นใน Fantasy หากแต่เป็นอดีตของโลกปัจจุบันที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง และแทนที่จะนำเสนอความฝันอันหลีกหนีจากความจริง เทพนิยายกลับสะท้อนให้เห็นประสบการณ์ร่วมแห่งมวลมนุษย์ทุกหมู่เหล่าโดยไม่ได้จำกัดเวลาหรือสถานที่ ฉะนั้นหากเราขูดเอาเปลือกนอกออกจากเทพนิยายทุกชนิดแล้ว สิ่งที่เหลือให้ค้นพ้นก็คือความจริงแท้อันแน่นอน

โทลคีนถ่ายทอดข้อเท็จจริงข้างต้นออกมาได้ชัดเจนในผลงานชิ้นเอกอุของเขา (“ผมได้สร้าง ‘เวลา’ แห่งจินตนาการขึ้น แต่โดย ‘สถานที่’ แล้วผมอ้างอิงเอาจากแผ่นดินแม่ของผมนั่นเอง”) เนื่องจากหนึ่งในแง่มุมอันน่าทึ่งของ The Lord of the Rings นั้นอยู่ตรงความเข้มข้นระดับเหนือธรรมดาที่เขาทุ่มเทให้แก่การค้นคว้าอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อเนรมิต ‘มัชฉิมโลก’ ให้ดูน่าเชื่อถือ เป็นจริงเป็นจังสูงสุด ประกอบไปด้วยภาคผนวกซึ่งหนากว่าร้อยหน้าแจกแจงแผนที่ ลำดับวงศ์ตระกูล สายเลือดของตัวละคร และคิดค้นภาษาเฉพาะขึ้นมาสำหรับเผ่าพันธุ์พิเศษโดยศึกษา อ้างอิงเอาจากภาษาอังกฤษโบราณเพื่อให้คนอ่านรู้สึกคุ้นเคยจนสามารถเชื่อมโยงโลกของเราเข้ากับโลกที่ปรากฏในนิยายได้ นอกจากนั้นตัวโทลคีนเองยังยืนยันอีกด้วยว่าว่าตนนั้นไม่ใช่ผู้คิดค้นภาษาแห่งมัชฉิมโลกขึ้น หากแต่มันมีปรากฏอยู่แล้วในอดีตและเขาก็เป็นเพียง ‘ถอดความ’ ภาษาดังกล่าวสู่ภาษาอังกฤษสำหรับให้ผู้คนในยุคปัจจุบันได้อ่านสืบต่อกันไปเท่านั้น ดังนั้นเรื่องราวใน The Lord of the Rings และ The Hobbit (ภาคก่อนหน้า) จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นโดยโฟรโดและบิลโบ แบ๊กกิ้นส์แทบทั้งสิ้น ไม่แตกต่างจากรูปแบบของเทพนิยายอื่นๆซึ่งมักจะเกี่ยวกับตัวเอกผู้ออกเดินทางไปยังดินแดนต่างถิ่นแล้วกลับมาพร้อมเรื่องราวสำหรับเล่าขานแด่ชนรุ่นหลัง

ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นไปเพราะผู้เขียน (ตามคำกล่าวของเขาเอง) ต้องการให้ผู้อ่าน “เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวจนรู้สึกได้ว่ามันอาจเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง” ให้พวกเขารู้สึกว่าสงครามแห่งแหวนเป็นอีกหนึ่งเทพนิยายในโลกของเรา และมัชฉิมโลกไม่ใช่ดินแดนจินตนาการ หากแต่เป็นอดีตดั้งเดิมของโลกปัจจุบันมากกว่า เช่นเดียวกับเทพนิยายของกรีก โรมัน คริสเตียน (คัมภีร์ไบเบิลเองก็ถูกวิเคราะห์จากเหล่านักวิชาการหลายคนว่าไม่แตกต่างจาก Myth เพราะมันถูกเขียนขึ้นใหม่จากเหตุการณ์จริงดุจเดียวกับที่โทลคีน ‘แปล’ Lord of the Rings จากประวัติศาสตร์ของโฟรโดและบิลโบ) และนอร์ส (สแกนดิเนเวีย) ซึ่งผลงานของเขาได้รับอิทธิพลมาอย่างเต็มเปี่ยม

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อหนังสือกลายมาเป็นภาพบนจอ ผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ็คสัน ซึ่งเข้าใจแก่นแท้แห่ง The Lord of the Rings อย่างถี่ถ้วนจึงพยายามอย่างยิ่งยวดในการถ่ายทอดรายละเอียดอันเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงดังกล่าวออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชาญฉลาดผ่านการถ่ายทำตามโลเคชั่นแทนวิธีสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอ เขาเลือกที่จะเพาะปลูกพันธุ์พืชบนที่ดินแปลงใหญ่ล่วงหน้าถึงหนึ่งปีก่อนเปิดกล้องแทนที่จะใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้าช่วย ทีมงานต้องตรากตรำไปตามภูเขาหิมะและในป่าไม้ตามอุทธยานแห่งชาติหลายแห่ง ซึ่งบ่อยครั้งผู้กำกับภาพ แอนดริว เลสนี่ ก็มักจะเน้นย้ำให้เห็น ‘ความแท้จริง’ แห่งภูมิประเทศอันกว้างขวาง มโหฬารเหล่านั้นด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ช็อตเคลื่อนไหววูบวาบไปมา นอกจากนี้มุมกล้องลักษณะดังกล่าวยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าตัวละครแต่ละตัวล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆของภาพขนาดใหญ่ในสายตาของพระเจ้าผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งก่อนจะทิ้งให้เราค้นหาความหมายแห่งการดำรงอยู่ตามลำพัง

อย่างไรก็ตามหลายคนอาจสงสัยว่าด้วยเหตุอันใดเล่าโทลคีนจึงเห็นความจำเป็นของการแต่งเทพนิยายเรื่องใหม่ขึ้นมา? เท่าที่มีอยู่แล้วมันไม่เพียงพอหรือ? คำตอบอาจเป็นเพราะเขารู้สึกว่าสังคมตะวันตกในปัจจุบันไม่ได้เปิดแขนอ้ารับพลังแห่งเทพนิยายโบราณดังเช่นในอดีตอีกต่อไป การแผ่ขยายอำนาจของวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา และวิชาเกี่ยวกับศาสตร์สมัยใหม่อีกหลายแขนงทำให้ผู้คนค่อยๆรู้สึกห่างเหินจากเทพนิยายมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเทพนิยายโบราณส่วนใหญ่ก็ล้มเหลวในอันที่จะอธิบายความเป็นไปแห่งปัจจุบันเพราะมันย้อนเล่าไปถึงประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นจนคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้สึกเชื่อมต่อทางอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ The Lord of the Rings จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะ Mythology ที่ดำเนินเรื่องราวหลังการถือกำเนิดแห่งศาสนาคริสต์ (Post-Christianity) ช่วงเวลาซึ่งเวทย์มนต์ อำนาจเหนือธรรมชาติ และเผ่าพันธุ์พิเศษเช่น เอลฟ์ หรือ พ่อมด ยังคงมีอยู่แต่ก็กำลังอ่อนแรงเต็มที ก่อนจะค่อยๆลดบทบาทลงในเวลาต่อมา สงครามแย่งชิงแหวนจึงเปรียบดังการปะทะกันทางรูปธรรมครั้งสุดท้ายระหว่างอำนาจแห่งพระเจ้ากับซาตาน ธรรมะกับอธรรม ความดีกับความชั่ว จนกระทั่งในที่สุดโลกก็เหลือเพียงมนุษย์ผู้เป็นตัวแทนทั้งด้านมืดและด้านสว่าง หลังสงครามแห่งแหวนมัชฌิมโลกค่อยๆผันแปรเป็นโลกในยุคปัจจุบันที่ซึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งครั้งหนึ่งเคยครอบงำอยู่เหลือเป็นเพียงร่องลอยเล็กๆน้อยๆให้ศึกษาตามตำนานและเทพนิยายต่างๆ (ประเด็นดังกล่าวจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อหนังออกฉายครบทั้งสามภาคแล้ว) ดังนั้น The Lord of the Rings จึงเป็นช่วงเชื่อมต่อแห่งประวัติศาสตร์ก่อนมนุษย์จะได้อิสระเสรีจากอิทธิพลแห่งเทพเจ้าและปีศาจร้ายแล้วเดินหน้า ‘ตัดสินชะตากรรมของตนเอง’ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็เริ่มส่งอิทธิพลไม่น้อยแล้วในช่วงท้ายของ The Fellowship of the Ring เมื่อโฟรโดต้องเลือกระหว่างทางออกสองทางต่อการแก้วิกฤติการณ์แห่งแหวน

ก่อนจะพูดถึง The Fellowship of the Ring ในฐานะเทพนิยาย ผมจะขอแจกแจงอย่างย่นย่อก่อนว่า Myth มีลักษณะร่วมเช่นใร และเหตุใดเราถึงรู้สึกผูกพันกับมันอย่างประหลาด

โดยทางจิตวิทยาแล้วแต่ละปัจเจกชนล้วนมีจิตใต้สำนึกร่วม หรือความรู้สึกคุ้นเคยต่อเหตุการณ์บางประเภทซึ่งเราไม่เคยประสบมาด้วยตัวเอง แม้นักจิตวิทยาส่วนใหญ่จะปฏิเสธว่าเทพนิยายไม่ใช่จุดกำเนิดแห่งจิตใต้สำนึกร่วมข้างต้น แต่แง่มุมนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นจริงว่าคนจำนวนมากมักมีอารมณ์ร่วมอย่างลึกซึ้งเมื่อได้เห็นภาพบางภาพ เหตุการณ์บางเหตุการณ์ ตัวละครบางตัว หรือธีมบางธีม ซึ่งเหล่านี้เราเรียกว่า รูปแบบบุพกาล (archetypes) อันเป็นส่วนประกอบสำคัญในเทพนิยายแทบทุกเรื่องตั้งแต่ Odyssey จนถึง Star Wars โดยรูปแบบที่เรียบง่ายและสามัญที่สุดในบรรดา archetypes ทั้งหลายได้แก่สูตรแห่งการเดินทาง (journey/adventure) ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสามขั้นตอนใหญ่ๆ (โดยแต่ละช่วงก็ยังแยกย่อยออกเป็นขั้นต่างๆอีก) ด้วยกันคือ การพลัดพรากจากโลกอันคุ้นเคย (separation) การเปลี่ยนแปลง (transformation) และสุดท้ายคือการเดินทางกลับสู่โลกอันคุ้นเคย (return) รูปแบบดังกล่าวสร้างจิตสำนึกร่วมในกลุ่มคนทุกหมู่เหล่าเนื่องจากมันสะท้อนประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ทั่วๆไปในอันที่จะต้องจากบ้าน (สู่มหาวิทยาลัย สู่เมืองใหญ่ หรือสู่สงคราม) ก่อนจะเดินทางหวนคืนถิ่นอีกครั้งพร้อมความรู้สึกว่าตนเองได้เปลี่ยนแปลง/บทเรียน/คุณค่าชีวิตจากประสบการณ์เหล่านั้น

The Fellowship of the Ring เปิดเรื่องด้วยการแนะนำโลกธรรมดาสามัญ (ordinary world) ของโฟรโด แบ๊กกิ้นส์ (hero หรือ วีรบุรุษ) ซึ่งเต็มไปด้วยความสุขสงบ งานเลี้ยงรื่นเริง สดใส สนุกสนาน แต่ชีวิตดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อแกนดาล์ฟ (mentor หรือชายชราผู้รอบรู้) เดินทางมาแจ้งข่าวแก่เขาว่าแหวนวงที่ลุงบิลโบมอบให้เขานั้น แท้จริงแล้วเป็นแหวนแห่งอำนาจซึ่งอานุภาพของมันร้ายกาจขนาดสามารถทำให้โลกตกอยู่ในเงามืดได้ และตอนนี้จอมมารซอรอนผู้ให้กำเนิดแหวนวงดังกล่าวขึ้นมาก็กำลังส่งสมุนออกตามล่าฮ็อบบิทผู้มีนามสกุลว่า แบ๊กกิ้นส์ อยู่ตามคำให้การของเจ้ากอลลัม อดีตผู้ครอบครองแหวน ก่อนบิลโบจะขโมยมันมาเมื่อหลายสิบปีก่อน (A Call to Adventure) โฟรโดถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องออกผจญภัยในโลกอันแปลกใหม่ (special world) อันเต็มไปด้วยอันตรายนานับประการ (separation) เขาได้ค้นพบมิตรสหาย (allies) หลายคนซึ่งบางคนก็ล่อหลอกโฟรโดให้หวาดระแวงจากการเปลี่ยนแปลงสถานภาพไปมาจนไม่น่าไว้วางใจอาทิ โบโรเมียร์ (shapeshifter หรือ สัตว์ประหลาดแปลงกาย ซึ่งตามเทพนิยายดั้งเดิมทั่วไปมักหมายถึงพวกออร์ค พ่อมด และแม่มดทั้งหลาย) และขณะเดียวกันก็ต้องเอาตัวรอดจากเหล่าศัตรู (enemies) ภายใต้การนำของพ่อมดขาวซารูมาน

คงไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง The Fellowship of the Ring ให้สมบูรณ์ ชัดแจ้งชนิดไม่ขาดตกบกพร่องหรือคลาดเคลื่อนได้โดยที่ยังไม่ทราบว่าหนังอีกสองตอนที่เหลือจะออกมาเช่นไร ความผูกพันจนแยกจากกันไม่ออกของไตรภาคชุดนี้สังเกตได้จากความจริงที่ว่า เดิมทีโทลคีนเองก็ตั้งใจจะให้มหากาพย์ The Lord of the Rings ตีพิมพ์รวมอยู่ในเล่มเดียวกันมากกว่าจะเป็นสามเล่ม (อันได้แก่ The Fellowship of the Ring, The Two Towers และ The Return of the King) ดังที่เจ้าของสำนักพิมพ์จัดแบ่ง มันเป็นรูปแบบซึ่งเขาชิงชังและกระทำไปเพียงเพื่อเหตุผลทางการตลาดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่หลายคนดูผลงานของ ปีเตอร์ แจ็คสัน จบลงด้วยอารมณ์ค้างคาใจอยู่ไม่น้อยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโฟรโดและสมัครพรรคพวกหลังจาก ‘กลุ่มพันธมิตรแห่งแหวน’ เกิดแตกสลาย กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง… แล้วภารกิจสำคัญของพวกเขาล่ะจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือไม่? ขณะเดียวกันอีกหลายคนอาจรู้สึกหดหู่ต่อบทลงเอยของ The Fellowship of the Ring ซึ่งมาพร้อมกับความตาย (ของตัวละครในกลุ่มพันธมิตร) การพลัดพรากจากกันระหว่างมิตรสหาย และอำนาจชั่วร้ายที่ยังไม่ถูกทำลายล้าง แต่กลับแข็งแกร่ง ข่มขู่ คุกคามเหล่าดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์

กระนั้นอาการชะงักงันทางโครงเรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้ทำลายภาพรวมแห่งความเป็นหนังที่จบสมบูรณ์ในตัวเองของ The Fellowship of the Ring ลงแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะมันบรรลุจุดมุ่งหมายในการนำเสนอสารที่ต้องการสื่อได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ แม้สารดังกล่าวอาจเป็นเพียงส่วนประกอบชิ้นหนึ่งของภาพขนาดใหญ่เท่านั้นก็ตาม นอกจากนั้นหากสังเกตให้ลึกลงไปแล้วยังจะพบอีกว่ามันนำเสนอความหวังให้คนดูอิ่มเอิบใจในระดับหนึ่งทีเดียว

เมื่อหนังดำเนินมาถึงตอนจบ การเดินทางของโฟรโดยังไม่สิ้นสุดหากแต่เดินมาถึงจุดกึ่งกลางเท่านั้น นั่นคือ ฮีโร่ของเรื่องไม่ได้ปฏิเสธเสียงเรียกสู่การผจญภัย (Refusal of the Call) อีกต่อไป พร้อมกับตัดสินใจเดินหน้าสู่จุดหมายอย่างมุ่งมั่น ความเปลี่ยนแปลง (transformation) ในด้านรูปธรรมอาจไม่ปรากฏ โฟรโดยังคงเป็นฮ็อบบิทผู้ปราศจากพลังอำนาจใดๆ แต่โดยทางนามธรรมแล้วเขาได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญสองสามข้อผ่านการเดินทางจากบ้านมาในคราวนี้ และความที่หนังให้รายละเอียดในส่วนของ ‘การเติบโต’ ภายในปัจเจกชนนี้เอง ทำให้ The Fellowship of the Ring คงน้ำหนักระหว่างภาพในวงกว้าง (การปะทะระหว่างธรรมะกับอธรรม) กับภาพในวงแคบ (การเดินทางเพื่อค้นหาความหมายแห่งชีวิตของปัจเจกชน) ได้อย่างลงตัวซึ่งถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ Myth แตกต่างจากหนังผจญภัยแฟนตาซีทั่วๆไป

การต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่วอาจยังไปไม่ถึงผลลัพธ์สุดท้าย แต่อย่างน้อยการเดินทางของโฟรโดก็มาถึงจุดหักเหสำคัญ เขาค้นพบความหมายจากเหตุการณ์ผจญภัยทั้งหลาย ซึ่งค่อยๆนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในจิตใจ (transformation) นั่นคือ ไม่เพียงโฟรโดจะตระหนักถึงชะตากรรม (destiny) ของตนเองเท่านั้น แต่เขายังกล้าหาญพอจะอ้าแขนยอมรับมันอย่างไม่หวั่นไหวอีกด้วย แทนที่จะนึกโทษโกรธสวรรค์หรือพระเจ้าต่อความอยุติธรรมทั้งหลาย แล้วหวังลมๆแล้งๆว่าตนไม่น่าได้แหวนมาครอบครอง และเรื่องทั้งหมดนี้ไม่น่าเกิดขึ้นเลย สุดท้ายเขาเริ่มเข้าใจคำพูดของแกนดาล์ฟจนได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตนั้นคือ “เราจะทำอย่างไรกับเวลาที่เหลืออยู่ต่างหาก” โฟรโดเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าหากเขาไม่นำแหวนไปทำลาย ผลลัพธ์อาจหมายถึงจุดจบของโลกและของหมู่บ้านอันเป็นที่รัก รวมไปถึงมิตรสหายซึ่งเขาห่วงใยย่อมตกอยู่ในกองเพลิง (ดังเช่นคำทำนายจากกระจกของกาเลดรีล) ขณะเดียวกันเขาก็ไม่อาจไว้ใจใครให้กระทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ดังกล่าวแทนตนเองได้เพราะมันเป็นสิ่งที่เขา ‘ถูกกำหนด’ มาให้ทำ และต้องทำมันโดยลำพัง

ด้วยการกำหนดให้ฮ็อบบิทเป็นผู้กุมชะตาแห่งมัชฌิมโลกหรือฮีโร่ The Fellowship of the Ring ชี้ให้เห็นว่าความยิ่งใหญ่ของบุคคลนั้นไม่อาจวัดด้วยพละกำลัง ความสามารถพิเศษ หรือกระทั่งเวทย์มนต์คาถา แต่อยู่ตรงความกล้าหาญ ความผุดผ่องในจิตใจ และการยอมเสียสละตนเพื่อผู้อื่นโดยไม่เกี่ยงงอนต่างหาก ดังเช่นภารกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูในการไถ่บาปแด่มวลมนุษย์ทั้งที่โดยรูปกายภายนอกแล้วพระองค์ก็ไม่ได้โดดเด่นจากสามัญชนทั่วไปแต่อย่างใด

โฟรโด แบ๊กกิ้นส์อาจเป็นเพียงฮ็อบบิทตัวเล็กๆผู้ไม่มีอำนาจ เวทย์มนต์ หรือฝีมือในการต่อสู้ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้เขาเหนือกว่าเหล่าผู้พิทักษ์ทั้งหลายที่คอยปกป้องเขามาตลอดทางก็คือ จิตใจอันมั่นคง บริสุทธิ์ ยากแก่การถูกครอบงำโดยกิเลสตัณหา ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุสำคัญว่าทำไมเขาจึง ‘ถูกเลือก’ ให้เป็นผู้ถือครองแหวนตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่มนุษย์เราในปัจจุบันต้องประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โฟรโดก็ต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่โดยมีตัวเลือกอยู่สองทางเหมือนกันนั่นคือ นำแหวนไปยังกอนดอร์แล้วเปิดศึกสงคราม หรือ นำแหวนไปยังมอร์ดอร์เพื่อทำลายล้างให้สิ้นซากเป็นการถาวร ไม่ต่างกับโบโรเมียร์ โฟรโดต้องพยายามขับไล่แรงปรารถนาในอันที่จะเลือก ‘ทางที่ง่ายดาย’ เหนือ ‘ทางที่ถูกต้อง’ ซึ่งมักจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามดังคำกล่าวของพระเยซูในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “ประตูบานใหญ่และถนนอันกว้างขวางย่อมนำไปสู่การทำลายล้าง ส่วนประตูบานเล็กและถนนอันคับแคบย่อมนำไปสู่ชีวิตซึ่งมีน้อยคนนักที่จะค้นพบ”

การเปิดเผยธาตุแท้ ความพ่ายแพ้ต่อด้านมืดอันอัปลักษณ์ และการล่มสลายทางศีลธรรมของโบโรเมียร์อาจทำให้โฟรโดมองเห็นหนทางอันยากลำบากได้ชัดเจนขึ้น แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจของเขาในอันที่จะเดินตามทางที่ถูกต้องนั้นก็ยังต้องอาศัยความกล้าหาญตลอดจนการยอมเสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างสูงเป็นพื้นฐานอยู่ดี กระนั้นในฉากสุดท้ายของ The Fellowship of the Ring หาใช่เพียงโฟรโดเท่านั้นที่แสดงพลังมุ่งมั่นอันน่ายกย่องเชิดชู ฮ็อบบิทร่างเล็กอีกนายอย่างแซมก็พิสูจน์ให้เห็นเช่นกันว่า แม่น้ำ (หนึ่งในสิ่งที่พวกฮ็อบบิทกลัวเพราะพวกเขาส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็น) คำปฏิเสธเสียงแข็งของโฟรโด และอันตรายที่รออยู่เบื้องหน้า ก็ไม่อาจหยุดยั้งเขาจากการร่วมเป็นร่วมตายกับเพื่อนรักตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ได้

“ฉันดีใจที่มีนายอยู่ด้วย” โฟรโดกล่าวกับแซมด้วยน้ำเสียงจริงใจและรอยยิ้มขณะทั้งสองกำลังมุ่งหน้าไปตามเส้นทางสู่มอร์ดอร์… แน่นอนที่การเดินทางยังไม่สิ้นสุดลง อุปสรรค ตลอดจนภยันตรายเบื้องหน้าล้วนดูน่าหวาดหวั่นและยากจะต่อกร แต่อย่างน้อยโฟรโดก็อุ่นใจเมื่อเขาไม่จำเป็นต้องเผชิญมันเพียงลำพัง และขณะเดียวกันเขาก็ล่วงรู้แล้วว่าการเดินทางที่ผ่านมานั้นมีความหมายอย่างไรต่อทั้งตัวเขาเอง ผองเพื่อน และทุกสิ่งมีชีวิตแห่งมัชฉิมโลก มันเป็นการเสี่ยงที่คุ้มค่า มันเป็นการตัดสินใจในรูปแบบแห่งวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ขนานแท้

ด้วยเหตุนี้ The Fellowship of the Ring จึงปิดฉากลงอย่างงดงามด้วยโครงสร้างของเทพนิยายสากลซึ่งผู้เชี่ยวชาญ Mythology ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค โจเซฟ แคมป์เบลล์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ณ เบื้องลึกสุดแห่งหุบเหวมักเป็นแหล่งกำเนิดของเสียงซึ่งนำไปสู่การปลดปล่อย”… ในยุคที่เงามืดแห่งอำนาจชั่วร้ายแผ่กระจายอย่างรวดเร็ว แสงสว่างจากมิตรภาพอันงดงาม ความกล้าหาญ แรงใจอันมุ่งมั่น และการเสียสละเพื่อมวลชนมักส่องประกายความหวังเจิดจ้ากว่าครั้งไหนๆ


The Two Towers: บทพิสูจน์ของวีรบุรุษ

ในตอนจบของ The Fellowship of the Ring โฟรโด แบ๊กกิ้นส์ ฮอบบิทผู้ไม่มีพลังอำนาจ เวทมนต์ หรือคุณสมบัติพิเศษใดๆนอกเหนือไปจากจิตใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ยากจะโน้มนำเข้าสู่ด้านมืดแห่งกิเลส ตัณหา ได้อ้าแขนรับชะตากรรมของตนและตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเดินทางไปยังมอร์ดอร์เพื่อทำลายแหวนแห่งอำนาจเพียงลำพังกับ แซม เพื่อนฮอบบิทผู้ซื่อสัตย์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง กลุ่มพันธมิตรแห่งแหวนก็เริ่มแตกกระสานซ่านเซ็น บ้างเพลี่ยงพล้ำแก่ศัตรูและอุปสรรคระหว่างทาง บ้างถูกล่อหลอกด้วยอำนาจแห่งแหวนจนคลุ้มคลั่ง หลงผิด หนทางข้างหน้าดูเหมือนมืดมิด อับจน การเสียสละเพื่อส่วนรวมและการเลือก ‘หนทางที่ถูกต้อง’ ซึ่งย่อมจะเต็มไปด้วยอุปสรรค ขวากหนาม แทน ‘หนทางที่ง่ายดาย’ ซึ่งสุดท้ายย่อมจะนำไปสู่การทำลายล้างของโฟรโด จึงเปรียบดังหยดน้ำแห่งความหวังบนทะเลทรายอันแห้งแล้ง กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา

ถ้า The Fellowship of the Ring คือการเรียนรู้ที่จะยอมรับในภารกิจของวีรบุรุษและก้าวเข้าไปผจญภัยในโลกอันแปลกใหม่อย่างเต็มตัว The Two Towers ก็คือบททดสอบที่เกิดขึ้น ‘ระหว่าง’ การเดินทาง หลังจากวีรบุรุษได้ผ่านพ้นจุดเริ่มต้นไปแล้ว แต่ก็ยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางเสียทีเดียว และบททดสอบนั้นจะช่วยพิสูจน์ให้ทุกคนประจักษ์ว่าเขาเหมาะสมกับภารกิจสำคัญดังกล่าวหรือไม่

ดังนั้นโครงเรื่องการผจญภัยของหนังในตอนนี้จึงค่อนข้างจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ เวลาส่วนใหญ่ถูกอุทิศให้แก่ฉาก ‘ตั้งป้อม’ รับมือกับกองทัพของซารูมานที่เฮล์มดีพ ความพยายามที่จะโน้มน้าวพวกเอ๊นท์ให้ยอมเข้าร่วมสงคราม และการเดินทางสู่มอร์ดอร์ซึ่งวนไปเวียนมาตั้งแต่ต้นจนจบ สุดท้ายเป้าหมายหลักของหนังจึงตกอยู่ที่การนำเสนอภาพสงครามระหว่างด้านมืดกับด้านสว่างในหลายระดับทั้งแง่รูปธรรมและนามธรรม

หนังเริ่มต้นด้วยภาพการต่อสู้ดิ้นรนของโฟรโดในอันที่จะต้านทานพลังชั่วร้ายของแหวนซึ่งนับวันยิ่งทวีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นแบบทดสอบสำคัญที่เขาจำเป็นต้องฟันฝ่าไปให้ได้ในฐานะผู้ถือครองแหวน เพราะเมื่อใดก็ตามที่เขาตัดสินใจยอมจำนน จุดหมายปลายทางก็ได้ปรากฏให้เห็นอยู่เบื้องหน้าแล้วผ่านตัวละครอย่างกอลลัม อดีตฮอบบิทซึ่งเคยถือครองแหวนเช่นเดียวกับโฟรโดแต่แล้วในที่สุดกลับถูกอำนาจแห่งแหวนครอบงำจิตใจจนเสียสติ ขณะเดียวกันบุคลิกแปลกแยกของกอลลัมก็ยังช่วยเน้นย้ำถึงสงครามระหว่างธรรมะและอธรรมภายในใจของโฟรโดไปพร้อมๆกันด้วย

การปรากฏตัวขึ้นของกอลลัมทำให้ผู้ชมตกอยู่ในสถานะเดียวกับโฟรโด มองในแง่หนึ่งมันเป็นตัวละครที่น่าสงสารเห็นใจ จนถึงขั้นน่ารักน่าชังจากบรรดาอารมณ์ขันที่สอดแทรกเข้ามา มิตรภาพและความไว้วางใจที่โฟรโดมอบให้ช่วยปลุกจิตสำนึกอันดีงามของกอลลัมให้ตื่นขึ้นมาต่อกรอย่างหนักหน่วงกับด้านมืดซึ่งครอบงำจิตใจของมันมานานหลายปี ดูเหมือนมันกำลังจะเดินทางไปสู่การไถ่บาป และโฟรโดก็เชื่อมั่นว่ามันจะสามารถ ‘กลับมา’ ได้ แต่มองในอีกแง่หนึ่ง แซมเองก็มีเหตุผลพอที่จะไม่เชื่อคำพูดของกอลลัม เนื่องจากมันต้องการแย่ง ‘ของรัก’ ของมันกลับคืนไปจริง ดังนั้นมันจึงไม่ใช่บุคคลที่ไว้ใจได้ในภารกิจทำลายแหวน ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับเจตนารมย์อันแท้จริงของกอลลัมได้กลายมาเป็นบทพิสูจน์ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างโฟรโด้กับแซม

อันที่จริงแล้ว The Two Towers อุดมไปด้วยตัวแปรที่จะเข้ามาทดสอบความผูกพันแน่นแฟ้นระหว่างตัวละครตลอดทั้งเรื่อง เช่น เอโอวีนกลายมาเป็นปัจจัยกั้นกลางระหว่างความรักของอารากอร์นกับอาร์เว่น ภารกิจที่ป้อมเฮล์มดีพคือบททดสอบมิตรภาพระหว่างพันธมิตรแห่งแหวนที่เหลืออยู่ เช่นเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเอลฟ์ในการต่อกรกับความชั่วร้าย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนคลี่คลายไปในทางที่ดี พวกเขาผ่านบททดสอบสำคัญและพร้อมที่จะก้าวเข้าไปเผชิญหน้ากับดาร์คลอร์ดซอรอนใน The Return of the King

ขณะเดียวกันปมขัดแย้งในใจของโฟรโดและกอลลัมก็หาใช่ปมขัดแย้งเดียวที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ไม่ ตรงกันข้าม ผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ๊คสัน และทีมเขียนบทของเขาได้พยายามทุกวิถีทางที่จะสะท้อนธีมเกี่ยวกับความตึงเครียดของการต้องเลือกระหว่างตัวตนที่เป็นอยู่ (being) กับตัวตนที่กำลังจะกลายเป็น (becoming) ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในกลยุทธของเขาคือการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของบุคลิกตัวละครจากนิยายของ เจ อาร์. อาร์. โทลคีน เช่น ฟาราเมียร์ซึ่งในฉบับหนังทำหน้าที่คล้ายคลึงกับโบโรเมียร์ พี่ชาย เขาคุกคามโฟรโดมากกว่าจะแสดงท่าทีเป็นมิตรเหมือนในหนังสือ เขาต้องการนำแหวนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เขาพ่ายแพ้ต่ออำนาจเย้ายวนใจของแหวน แต่สุดท้ายก็มีโอกาสได้ไถ่บาปเช่นเดียวกับโบโรเมียร์ใน The Fellowship of the Ring ซึ่งต่อสู้เพื่อช่วยเหลือปิ๊ปปินกับเมอร์รี่อย่างองอาจจนตัวตาย และสิ้นลมหายใจในอ้อมแขนของอารากอร์น ด้วยการปลดปล่อยโฟรโดกับแซมออกจากกอนดอร์ สภาพจิตใจที่อ่อนแอและบิดเบี้ยวของโฟรโดจนเกือบจะทำให้เขาลงมือสังหารเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ที่สุดอย่างแซม ทำให้ฟาราเมียร์ตาสว่างพอจะตัดสินใจเลือก ‘หนทางที่ถูกต้อง’ แทน ‘หนทางที่ง่ายดาย’ เหมือนอย่างที่การล่มสลายทางศีลธรรมของโบโรเมียร์มีผลต่อโฟรโดในหนังตอนที่แล้ว

แม้กระทั่งอาร์เว่น ตัวละครที่โทลคีนให้ความสำคัญในภาคผนวกมากกว่าในเรื่องราวหลัก ก็ต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในเวอร์ชั่นหนังเช่นกัน ความรักต่างเผ่าพันธุ์ของเธอกับอารากอร์นทำให้เธอต้องยืนอยู่บนทางเลือกระหว่างชีวิตอมตะตลอดกาลในดินแดนเอลฟ์กับความโดดเดี่ยวในโลกมนุษย์ และผลพวงที่ตามมาจากการตัดสินใจนั้นคือราคาที่เธอจะต้องจ่าย

ในขณะที่การต่อสู้ทางนามธรรมถือกำเนิดขึ้นภายในใจของโฟรโด ไคล์แม็กซ์ทางรูปธรรมของหนังก็ปรากฏชัด ณ ฉากสงครามพิทักษ์ป้อมเฮล์มดีพ สถานที่ซึ่งความชั่วร้ายถูกนำเสนอในรูปแบบคล้ายคลึงกับเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ ดังจะเห็นได้จากภาพกองทัพอุรุก-ไฮขณะเดินเรียงหน้าเข้ามาเป็นทิวแถวเพื่อพังประตูป้อมพร้อมกับใช้เกราะเหล็กปิดกันธนูทั้งจากด้านข้างและด้านบน พวกมันเป็นนักรบที่ถูกสร้างขึ้นจากการโค่นล้มป่าไม้ มีรูปร่างหน้าตาไม่แตกต่างจากกัน รวมไปถึงนิสัยใจคอและบุคลิกท่าทาง ตรงกันข้ามกับฝ่ายพันธมิตรซึ่งประกอบไปด้วยผู้คนจากหลายเผ่าพันธุ์ผนึกกำลังร่วมกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่านิยาย The Lord of the Rings ของโทลคีนนั้นเคยถูกวิเคราะห์ ตีความไปได้ในหลายทาง บ้างก็ในแง่คริสต์ศาสนา (เขาเป็นคาทอลิกผู้เคร่งครัด) บ้างก็ในแง่ตำนานของการเดินทาง (mythology) และหนึ่งในนั้นก็คือในแง่ของบทวิพากษ์ระบบทุนนิยมซึ่งก้าวเข้ามามีบทบาทในการทำลายธรรมชาติและปัจเจกภาพ รายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มเอ๊นท์หรือผู้พิทักษ์ป่าไม้ใน The Two Towers ทำให้แนวคิดอนุรักษ์ธรรมชาติของโทลคีนโดดเด่นยิ่งขึ้น และผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ๊คสัน ก็ช่วยตอกย้ำอีกขั้นหนึ่งด้วยฉากการโค่นต้นไม้ การเร่งผลิตอาวุธและนักรบของซารูมานดุจโรงงานผลิตสินค้าเพื่อการสงคราม ตลอดจนภาพมุมกว้างของหอคอยไอเซนการ์ดตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ ดังนั้นเมื่อซารูมานประกาศก้องว่า “โลกใบใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว” มันอาจมีความหมายถึงโลกที่โทลคีนกำลังอาศัยอยู่ก็ได้

กระนั้นท่ามกลางความขัดแย้ง การดิ้นรนต่อสู้ที่มองไม่เห็นทางชนะ และพลังอำนาจชั่วร้ายที่ค่อยๆแผ่ขยายเป็นเงามืดเข้าปกคลุมมัชฉิมโลก ยังมีแสงสว่างเล็กๆส่องตรงมาจากทิศตะวันออก แสงสว่างที่จะนำไปสู่ชัยชนะของเหล่าพันธมิตรผู้ไม่ยอมแพ้ ผู้ซื่อสัตย์ต่อคำสัญญาที่ให้ไว้ ผู้เชื่อมั่นว่ายังมีความดีหลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้ และมันคุ้มค่าพอจะเสี่ยงชีวิตพิทักษ์รักษามันไว้ โทลคีนกับแจ๊คสันศรัทธาในมนุษย์ พวกเขาเชื่อว่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับทางเลือก มนุษย์ส่วนใหญ่จะเลือกหนทางที่ถูกต้องและยึดมั่นเช่นนั้น ไม่ว่าสุดท้ายมันจะนำเขาไปพบกับอะไรบ้างก็ตาม ไม่มีใครที่เลวร้ายเกินกว่าจะไถ่บาป มนุษย์ทุกคนล้วนมีด้านสว่างอยู่ภายในตัวมากพอๆกับด้านมืด ซึ่งนั่นเองเป็นสาเหตุว่าทำไมใครๆถึงได้หวาดกลัวแหวนของซอรอน เพราะความชั่วร้ายที่แท้จริงในสายตาของโทลคีนนั้นหาใช่สัตว์ประหลาดหรือสิ่งทรงพลังใดๆ มันคือกิเลส ตัณหา และอำนาจซึ่งสามารถกลืนกินใครก็ได้ให้มัวเมาหลงผิด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ซารูมานนั้นเป็นเพียงร่างทรงของความชั่วร้าย เฉกเช่นฟาโรห์ในดินแดนอียิปต์โบราณ หรือฮิตเลอร์ในเยอรมัน ส่วนสงครามในมิดเดิลเอิร์ธนั้นก็เป็นเพียงภาพจำลองของโลกไร้กาลเวลาซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใดก็ได้

เช่นเดียวกับตำนานในคัมภีร์ไบเบิล The Lord of the Rings ของโทลคีนพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่ออำนาจแห่งความชั่วร้ายแผ่ขยายกำลังจนยากจะต่อต้าน หนทางออกคืออย่าได้ใช้ไฟต้านไฟ แต่จงมองหาความหวังและการกอบกู้ชีวิตจากสถานที่ซึ่งคนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง จากมุมเล็กๆบนโลกที่ใครๆพากันมองข้ามไป จากบุคคลที่ไม่ใช่นักรบผู้เก่งกล้าสามารถหรือพ่อมดจอมขมังเวทย์ เช่น ฮอบบิทร่างเล็กคนหนึ่งในดินแดนอันเงียบสงบอย่างไชร์ เพราะจิตใจอันบริสุทธิ์เข้มแข็งของเขาสุดท้ายจะนำเราไปสู่ชัยชนะ


The Return of the King: บาดแผลจากการผจญภัย

ถึงแม้ชื่อตอนสุดท้ายจะเผยความนัยถึงการหวนคืนสู่บัลลังก์ของเจ้าชายอารากอร์น แต่หัวใจหลักที่แท้จริงของ The Lord of the Rings ยังคงอยู่ตรงภารกิจในการทำลายแหวนแห่งอำนาจของ ฮ็อบบิท โฟรโด ดังนั้น หลังจาก The Two Towers โอนน้ำหนักส่วนใหญ่ไปที่การรบป้องกันป้อมเฮล์มดีพของอารากอร์นกับพรรคพวก The Return of the King จึงถือเป็นการหวนคืนสู่เส้นทางผจญภัยที่น่าชื่นใจ เมื่อมันหันมาให้ความสำคัญกับการเดินทางอันยากลำบากของโฟรโดมากขึ้น

จริงอยู่ที่การอ้างสิทธิแห่งรัชทายาทและนำทัพดวงวิญญาณเข้าร่วมสงครามของอารากอร์น คือ ปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้อาณาจักรกอนดอร์รอดพ้นภัยพิบัติ แต่สุดท้ายแล้ว ชัยชนะขั้นเด็ดขาดของกลุ่มพันธมิตรก็ยังคงขึ้นอยู่กับโฟรโดและภารกิจในการทำลายแหวนของเขาอยู่ดี… แหวนวงเล็กๆ ซึ่งดูภายนอกอาจเหมือนไม่สลักสำคัญอะไร แต่ภายในกลับแฝงอำนาจชั่วร้ายเหลือคณานับ

สำหรับ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน รวมไปถึงตัวผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ๊คสัน วีรบุรุษแท้จริงของไตรภาคนั้น หาใช่พ่อมดจอมขมังเวทย์ เจ้าชายผู้เชี่ยวชาญการศึก หรือเอล์ฟหนุ่มที่แข็งแกร่ง องอาจ หากแต่เป็นฮ็อบบิทตัวเล็กกระทัดรัด ซึ่งปราศจากทักษะและพรสวรรค์โดดเด่นใดๆ นอกจากจิตวิญญาณใสสะอาดที่ยากแก่การถูกชักนำเข้าสู่ด้านมืด

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า ความสำเร็จของอารากอร์นในการสลัดคราบคนเถื่อน แล้วยอมรับ ‘ชะตากรรม’ โดยไม่หวาดหวั่นต่อรอยด่างแห่งอดีตอีกต่อไป จะเป็นการถอยห่าง ออกนอกลู่นอกทาง จากหัวใจหลักของไตรภาคแห่งแหวน ตรงกันข้าม หากมองในแง่หนึ่ง การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์ของอารากอร์นนั้น เปรียบไปก็คล้าย ‘รูปธรรม’ ตอกย้ำบทเรียนยิ่งใหญ่ที่โฟรโดตระหนักในตอนท้ายของ The Fellowship of the Ring นั่นเอง เมื่อเขาเลิกคร่ำครวญถึงโชคร้ายต่างๆนาๆ แล้วหันไปเผชิญหน้ากับ ‘ภารกิจ’ และชีวิตที่เหลืออยู่ของตนอย่างไม่หวั่นเกรง ภารกิจ ที่เขา ‘ถูกกำหนด’ ให้เป็นผู้รับผิดชอบ (โทลคีนคือหนึ่งในผู้เลื่อมใส ศรัทธาศาสนาคริสต์อย่างมุ่งมั่น) ภารกิจ ซึ่งหากเขาไม่สามารถค้นพบหนทาง ก็คงไม่มีใครทำได้อีกแล้ว

การใช้แหวน ซึ่งดูไม่มีพิษมีภัย หรือ อภินิหารใดๆ นอกจากทำให้ผู้สวมใส่ล่องหนหายตัวได้ เป็นตัวแทนอำนาจยิ่งใหญ่ และการใช้ ฮ็อบบิท เป็นตัวแทน ‘ผู้กอบกู้’ มวลมนุษย์ คือ กลวิธีของโทลคีนในการเฉลิมฉลองคุณค่าแห่งปัจเจกภาพ ด้วยการบ่งชี้ให้เห็นว่า ทุกชีวิต (หรือทุกสิ่งทุกอย่าง) แม้มองภายนอกจะสุดแสนธรรมดาสามัญ เล็กน้อย ไร้ความสลักสำคัญเพียงใด ย่อมถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างและอาจส่งอิทธิพลเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์แห่งอนาคตได้ ซึ่งหนังในฉบับบทสรุปของแจ๊คสันก็ได้เสริมรับแนวคิดนั้นอย่างสอดคล้องด้วยการวาง ‘ตัวละครเล็กๆ’ ในเรื่องราวก่อนหน้านี้ ให้มีโอกาสได้พิสูจน์ความกล้าหาญของตนกันทั่วหน้า ตั้งแต่ ปิ๊ปปิ้น (ช่วยเหลือฟาราเมียร์จากกองเพลิง) จนถึง เมอร์รี่ (ร่วมรบในกองทัพโรฮาน) แซม (ปกป้องโฟรโดจากแมงมุมยักษ์) และ เอโอวีน (สังหารหัวหน้านาซกูล)

The Lord of the Rings เป็นผลงานในรูปแบบเทพนิยายแห่งการเดินทาง ซึ่งตามปรกติแล้วมักจะแบ่งออกเป็นสามขั้นตอนด้วยกัน นั่นคือ การพลัดพรากจากโลกอันคุ้นเคย (separation) เมื่อโฟรโดถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องออกเดินทางจากไชร์ไปผจญภัยยังโลกกว้างภายนอก (The Fellowship of the Ring) การเปลี่ยนแปลง (transformation) เมื่ออำนาจชั่วร้ายของแหวนเริ่มรุกทะลวงสภาพจิตใจของเขาจนสึกกร่อน (The Two Towers) และการเดินทางกลับคืนสู่โลกอันคุ้นเคย (return) เมื่อโฟรโดทำลายแหวนสำเร็จแล้วมุ่งหน้ากลับอาณาจักรไชร์ (The Return of the King)

รูปแบบ ‘วงกลม’ ดังกล่าวเปิดโอกาสให้เรื่องราวได้หวนกลับมายังจุดเริ่มต้น เพื่อเปรียบเทียบให้เห็น ว่าโลกรอบข้าง หรือ ตัววีรบุรุษเอง ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากเพียงใด ว่าความยากลำบากแห่งการเดินทาง การผจญภัย ได้ทำให้เขาแตกต่างไปอย่างไร หรือ มอบบทเรียนอันใดให้แก่เขาบ้าง

ตามปรกติแล้ว เทพนิยายทั่วไปมักจบลงด้วยการให้วีรบุรุษเดินทางกลับมายังโลกอันคุ้นเคยพร้อมด้วยของวิเศษจากโลกกว้าง มันอาจเป็น ยาอายุวัฒนะ หรือ จอกศักดิ์สิทธิ์ ที่จะสามารถใช้รักษาชุมชนซึ่งบาดเจ็บให้กลับมาสุกสว่างดังเดิมได้อีกครั้ง มันอาจเป็นทรัพย์สมบัติ ในรูปของชื่อเสียง เงินทอง ที่กระตุ้นวีรบุรุษให้ออกเดินทางตั้งแต่แรก หรือ บางครั้งมันอาจเป็นเพียงแค่ความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งสามารถนำมาสร้างประโยชน์ต่อชุมชนได้ในภายหลัง การเดินทางของเขาจะไร้ซึ่งความหมาย หากวีรบุรุษไม่ได้นำ ‘ยาอายุวัฒนะ’ นั้นติดตัวกลับมาด้วย มันคือหลักฐาน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาได้ออกเดินทางไปยังโลกสุดแสนพิเศษมาและต้องก้าวข้ามภยันตรายนานับประการ รวมไปถึงการเอาชนะความตาย

ในกรณีโฟรโด ‘ยาอายุวัฒนะ’ ที่ว่า ก็คือ สันติภาพอันบังเกิดแก่อาณาจักรไชร์ เพราะการปฏิบัติภารกิจทำลายแหวนจนสำเร็จลุล่วงไปได้ ทำให้โฟรโดสามารถปกป้องชุมชนอันเป็นที่รักของเขาจากไฟสงครามและช่วยเหลือชาวเมืองจากการตกเป็นข้าทาสบริวาร ดังเช่นคำทำนายในกระจกวิเศษของกาเลดรีล ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากโฟรโดปฏิบัติภารกิจล้มเหลว นอกจากนั้นสมบัติล้ำค่าอีกชิ้นที่โฟรโดมอบไว้ให้ชุมชนก่อนเขาจะเริ่มออกเดินทางอีกครั้ง ได้แก่ เรื่องราวการผจญภัยของเหล่าพันธมิตรแห่งแหวนตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งทั้งหมดถูกบันทึกไว้บนสมุดปกหนัง ภายในบรรจุบทเรียนล้ำค่ามากมาย ทั้งประเด็นเกี่ยวกับมิตรภาพ ความกล้าหาญ การเสียสละ และการเลือก ‘หนทางที่ถูกต้อง’ เหนือ ‘หนทางที่ง่ายดาย’

ระหว่างการหวนคืนสู่อาณาจักรไชร์ในตอนท้าย โฟรโดพบว่า โลกอันคุ้นเคยของเขาไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่ เพื่อนบ้านยังคงเป็นบุคคลกลุ่มเดิม ความสงบสุข สวยงาม โดยรอบยังคงดำรงอยู่ แต่ตัวเขาเองกลับรู้สึกแตกต่างไปจากช่วงก่อนออกเดินทาง เขา ‘เติบใหญ่’ และตระหนักในบทเรียนชีวิตที่ว่า บาดแผลบางอย่างนั้นไม่อาจเยียวยารักษาให้หายดังเดิมได้ มันบ่อนทำลาย สร้างความเสียหาย ไว้มากเกินกว่าจะซ่อมแซม หรือ ทำนุบำรุง เหมือนรอยดาบในตัวโฟรโด ที่เขายังรู้สึกเจ็บแปลบไม่หาย แม้เวลาจะผ่านไปนานหลายปีแล้วก็ตาม เหมือนกอลลัม ที่ถูกอำนาจแห่งแหวนครอบงำจนไม่หลงเหลือจิตสำนึกใดๆ นอกจากความลุ่มหลง โลภโมโทสัน อาฆาตแค้น หากเปรียบไปแล้ว สมีกอลก็คงไม่ต่างจากไส้เดือนในช็อตเปิดเรื่อง ที่ถูกเกี่ยวติดเบ็ดจนดิ้นไม่หลุด แหวนแห่งอำนาจเกาะกุมจิตใจ กัดกร่อนจิตวิญญาณของเขาจนขาดสะบั้นจากสัมผัสแห่งมนุษย์ ลิ้นของเขาไม่รับรู้รสชาติอาหาร ดวงตาของเขามองไม่เห็นสิ่งใดเบื้องหน้า นอกจากภาพหลอน และจิตใจของเขาสิ้นไร้ซึ่งจินตนาการ ความคิด ความฝัน… ชะตากรรมดังกล่าวกำลังรอคอยโฟรโดอยู่เบื้องหน้า หากเขายังคงถือครองแหวนต่อไป

ความรู้สึกทำนองหวานปนเศร้าของโฟรโด ผู้ใจหนึ่งก็ปลาบปลื้มที่ได้กลับบ้าน แต่อีกใจหนึ่งกลับรู้สึกแปลกแยกจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ส่งกลิ่นอายทางอารมณ์คล้ายคลึงความรู้สึกของเหล่าทหารผ่านศึก ที่ยังไม่อาจทำใจลืมความโหดร้ายแห่งมหาสงครามได้ มันคือประสบการณ์สยอง ที่ปล้นสะดมเอาความบริสุทธิ์ สดใส จากจิตใจของพวกเขาอย่างไม่อาจเรียกร้องกลับคืนและทิ้งรอยแผลซึ่งบาดลึกเกินกว่าจะเยียวยา

ใครก็ตามที่ทราบประวัติชีวิตคร่าวๆของโทลคีน คงไม่รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใดกับการเชื่อมโยงดังกล่าว เนื่องจากเขาเริ่มประพันธ์งานเขียนเชิงเทพนิยาย ตำนาน แฟนตาซี ในระหว่างการนอนพักรักษาตัวจากพิษไข้สงคราม หลังภารกิจทหารรับใช้ชาติทำให้เขาต้องมาเห็นเพื่อนสนิทจำนวนมากสังเวยชีวิตไปกลางสนามรบ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า สงครามส่งอิทธิพลใหญ่หลวงต่องานเขียนของโทลคีน เนื่องจากเขามองแฟนตาซีและเทพนิยายเป็นเสมือนหนทางหลบหนีจากความจริงอันเลวร้ายของเครื่องจักร โรงงานอุตสาหกรรม ปืน และลูกระเบิดแห่งศตวรรษที่ 20

พร้อมกันนั้น ใน The Lord of the Rings โทลคีนและผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ๊คสัน ก็สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตแห่งยุคสมัยอันบริสุทธิ์ในอดีต เมื่อการแสดงความรัก ความผูกพัน ระหว่างเพศชาย ยังไม่ถูกตีตราว่าเป็นอารมณ์รักร่วมเพศ (ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แนวคิดว่ารักร่วมเพศเป็น ‘เผ่าพันธุ์’ หรือประเภทของบุคคล ยังคงไม่แพร่หลายเท่าใดนัก ดังนั้น นักเขียนหรือกวีในยุคดังกล่าวจำนวนมากจึงสามารถโหยหามิตรสหายหนุ่มในกองทัพของพวกเขาได้อย่างหวานซึ้ง ราวกับบทพร่ำรำพันถึงคนรัก โดยไม่ถูกกล่าวหาว่า ‘ผิดศีลธรรม’ แต่เป็นการแสดงถึง ‘เลือดรักชาติ’ มีผู้กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ความงามแห่งบุรุษ มิตรภาพลึกซึ้งระหว่างเพศชาย ถูกเอ่ยอ้างถึงมากในงานเขียนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นเพราะประสบการณ์นองเลือดกลางสนามรบได้ดึงดูดผู้ชายเข้าหากัน เผยให้เห็นความเปราะบาง ความรัก ความอ่อนหวานของพวกเขาแต่ละคน และอารมณ์งดงามเหล่านั้นเองก็เปรียบดังยาสมานแผลชั้นดี ท่ามกลางสภาพอันโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา และสยดสยอง) แต่สำหรับคนดูยุคปัจจุบัน พฤติกรรมดังกล่าวกลับน่าเคลือบแคลง สงสัย กำแพงทางเพศที่เราสร้างขึ้นได้กีดกันเราจากการแสดงความรักอย่างบริสุทธิ์ใจ ภาพผู้ชายสองคนจูบลากัน ก่อนคนหนึ่งจะล่องเรือจากไปยังดินแดนอันไกลโพ้น จึงไม่ต่างจากเศษเสี้ยวของอดีต ในยุคสมัยที่โลกยังมีพ่อมด เอลฟ์ และมนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกัน

สงครามระหว่างกลุ่มพันธมิตรกับกองทัพออร์กของซอรอนเพื่อแย่งชิงดินแดนมัชฉิมโลก หากมองในแง่หนึ่ง ก็ไม่ต่างจากสงครามโลกซึ่งโทลคีนเคยเข้าร่วมในนามกองทัพอังกฤษสักเท่าไหร่ มันเป็น ‘สงครามบริสุทธิ์’ ที่สะท้อนภาพชัดเจนว่าใครเป็นคนดี ใครเป็นคนร้าย ใครรักสันติภาพ ใครบ้าอำนาจ ตรงกันข้าม ในยุคปัจจุบัน เรากลับไม่มีสิทธิพิเศษเช่นนั้นอีกต่อไป กลุ่มพันธมิตรดูน่าเคลือบแคลงและเหมือนจะซุกซ่อนเจตนารมณ์แอบแฝงบางอย่าง มากกว่าแค่ข้ออ้างเพื่อปกป้องมวลชน ประชาราษฎร์ ส่วนกองทัพปีศาจก็เจือปนภาพลักษณ์ของเหยื่อผู้ถูกกระทำไว้ในระดับหนึ่ง ทุกอย่างหาใช่ขาวกับดำอีกต่อไป

ฉะนั้นคงไม่ผิดความจริงนัก ถ้าจะกล่าวว่า โลกมนุษย์ในปัจจุบันได้สูญเสียความบริสุทธิ์ไปอย่างไม่มีวันเรียกคืนแล้ว… ความบริสุทธิ์แบบเดียวกับที่ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน สูญเสียไปในระหว่างช่วงสงครามและโฟรโดสูญเสียไปในระหว่างการผจญภัย

1 ความคิดเห็น:

nui กล่าวว่า...

หลงมาได้ไงก็งงๆ
ขออนุญาต link เด้อค่ะ