วันศุกร์, สิงหาคม 10, 2550

อิสระของภาพชัดลึก


ถ้าภาพแบบชัดตื้น (shallow focus) สะท้อนถึงอัตวิสัยและอารมณ์โรแมนติก ภาพแบบชัดลึก (deep focus) ซึ่งเป็นเหมือนขั้วตรงกันข้าม ก็ย่อมให้ความรู้สึกสมจริงและเป็นกลาง ตามประวัติศาสตร์การถ่ายภาพแบบชัดลึกถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1930 เมื่อเลนส์ชนิดใหม่ ผนวกเข้ากับฟิล์มไวแสงสูงและการจัดแสง เปิดโอกาสให้ผู้กำกับภาพสามารถสร้างความคมชัดให้กับทั้งโฟร์กราวด์ มิดเดิลกราวด์ และแบ็คกราวด์ในคราวเดียวกัน ถึงแม้ จอห์น ฟอร์ด จะเคยทดลองใช้เทคนิคดังกล่าวใน The Long Voyage Home สองสามปีก่อนหน้า รวมถึง ฌอง เรอนัวร์ กับหนังคลาสสิกอย่าง Grand Illusion และ The Rules of the Game แต่กลับเป็น Citizen Kane (1941) ที่เริ่มสร้างชื่อเสียงกระฉ่อนให้กับการถ่ายภาพแบบชัดลึก ทั้งนี้เนื่องจากผู้กำกับระดับตำนานอย่าง ออร์สัน เวลส์ และตากล้องผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในยุคนั้นอย่าง เกร็ก โทแลนด์ ต่างพยายาม “ทุกวิถีทาง” ที่จะสร้างความชัดลึกให้กับภาพในแทบ “ทุกช็อต”

ปกติแล้วโทแลนด์กับเวลส์สามารถประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายได้โดยอาศัยแค่เลนส์มุมกว้าง ซึ่งให้ dept of field ค่อนข้างสูง และการจัดแสง แต่หากเท่านั้นยังไม่เพียงพอ พวกเขาก็จะเลือกใช้วิธีถ่ายโฟร์กราวด์โดยจัดแสงเต็มพิกัด แล้วปล่อยแบ็คกราวด์ให้อยู่ในความมืด จากนั้นค่อยหมุนฟิล์มย้อนกลับมาเพื่อถ่ายฉากเดิมซ้ำอีกครั้ง แต่คราวนี้กลับพุ่งโฟกัสไปยังแบ็คกราวด์ ซึ่งถูกจัดแสงเต็มพิกัด ขณะโฟร์กราวด์อยู่ในความมืด เทคนิคดังกล่าวเรียกว่าการถ่ายซ้ำ (in-camera matte shot) และผลลัพธ์ ได้แก่ ช็อต ซูซาน อเล็กซานเดอร์ (โดโรธี โคมิงกอร์) พยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งทั้งแก้วน้ำและขวดยา (โฟร์กราวด์) ล้วนอยู่ในโฟกัสชัดเจน เช่นเดียวกับ ชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคน (เวลส์) โคมไฟ ผ้าม่าน และประตูด้านหลังเขาในแบ็คกราวด์ หากถ่ายทำโดยไม่อาศัยเทคนิคพิเศษ ช็อตดังกล่าวย่อมมีระยะความชัดไม่มากเท่านี้ กล่าวคือ ถ้าคุณเลือกโฟกัสไปยังขวดยาและแก้วน้ำ ฉากและตัวละครในแบ็คกราวด์ก็จะพร่าเลือน แต่ถ้าคุณเลือกโฟกัสไปยังตัวละครอย่างซูซานและเคนเป็นหลัก โฟร์กราวด์ก็จะปราศจากความคมชัด


อีกเทคนิค คือ การถ่ายภาพสองช็อตแล้วนำมาซ้อนเข้าด้วยกันผ่านเครื่อง optical printer เช่น ช็อตตัวอย่างข้างล่าง แรกเริ่มฉากดังกล่าวถ่ายทำโดยมีแค่เคนทางด้านซ้ายมือของจอ จากนั้นอีกช็อตก็ถูกถ่ายทำโดยมีแค่นักแสดงอีกคนทางขวามือ ก่อนทั้งสองภาพจะถูกนำมารวมกัน ส่งผลให้ตัวละครทั้งคู่ล้วนอยู่ในโฟกัส


ภาพแบบชัดลึกเปิดโอกาสให้ผู้ชมสำรวจฉากโดยรวมเพื่อค้นหาด้วยตัวเองว่าเหตุการณ์และข้อมูลใดควรค่าแก่การจับจ้อง ต่างจากภาพแบบชัดตื้น ซึ่งบงการความสนใจของผู้ชมไปยังจุดใดจุดหนึ่ง อดีตนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อก้อง อังเดร บาแซง ได้กล่าวชื่นชมเทคนิคการถ่ายภาพแบบชัดลึกเอาไว้ในบทความชิ้นเอก What Is Cinema? ว่า การรักษาความต่อเนื่องของเวลาและพื้นที่ส่งผลให้ภาพแบบชัดลึก (1) นำผู้ชมเข้าไปสัมผัสเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดยิ่งกว่า ดุจดังประสบการณ์จริงในชีวิตเรา (สายตามนุษย์มองภาพแบบชัดลึก) (2) กระตุ้นผู้ชมให้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ ในความพยายามเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับสิ่งต่างๆ รอบข้าง และ (3) สร้างความคลุมเครือให้เหตุการณ์ เนื่องจากความสนใจของผู้ชมไม่ถูกชี้นำโดยการตัดภาพ หรือการเลือกโฟกัสเป็นจุดๆ ซึ่งบาแซงมองว่าเป็นศิลปะภาพยนตร์ที่ปรุงแต่ง ห่างไกลจากความสมจริง และไม่ท้าทายคนดู

โดยหลักการแล้ว การถ่ายภาพในลักษณะนี้จะมอบเสรีภาพแก่ผู้ชมแบบเดียวกับการดูละครเวที ซึ่งคุณไม่ถูกบังคับด้วยภาพโคลสอัพ การเลือกโฟกัส หรือการตัดภาพเหมือนในภาพยนตร์ คุณสามารถเลือกชมสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือทุกสิ่งทุกอย่าง ที่กำลังเกิดขึ้นบนเวทีได้ตามสะดวก ในช่วงทศวรรษ 1940 การถ่ายภาพในลักษณะนี้ถือเป็นเทคนิคอันกล้าหาญและแปลกใหม่อย่างยิ่ง

“คนดูมีสิทธิเลือกด้วยตัวเองว่าจะจ้องมองอะไรในฉากนั้นๆ ผมไม่ชอบบังคับพวกเขา” เวลส์อธิบายถึงเหตุผลของการเลือกใช้ภาพแบบชัดลึก

อิทธิพลของ Citizen Kane ส่งผลให้หนังหลายเรื่องในช่วงทศวรรษ 1940-1950 หันมาใช้การถ่ายภาพแบบชัดลึกกันอย่างเอิกเกริก อาทิ The Best Years of Our Lives, The Little Foxes, Ashes and Diamonds, Mr. Arkadin และ The Tall Targets ขณะเดียวกัน เวลส์เองก็ยังตอกย้ำเจตนารมณ์เดิมผ่านผลงานคลาสสิกอีกเรื่องอย่าง The Magnificent Ambersons และต่อไปนี้ คือ ตัวอย่างของภาพบางช็อตจากหนังเรื่อง The Little Foxes ซึ่งความคมชัดในโฟร์กราวด์ มิดเดิลกราวด์ และแบ็คกราวด์ ส่งผลให้คนดูสามารถเลือกชมเหตุการณ์ในแต่ละส่วนได้ตามสะดวก รวมถึงการพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามส่วน

ช็อตแรกในห้องนั่งเล่นหลังดินเนอร์ นักดูหนังที่เฉื่อยชาอาจพอใจแค่พุ่งเป้าสนใจไปยังบทสนทนาระหว่าง เรจิน่า (เบ็ตตี้ เดวิส) กับพี่ชายทั้งสองของเธอในส่วนโฟร์กราวด์ แต่ภาพแบบชัดลึกช่วยให้นักดูหนังที่กระตือรือร้นสามารถเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของ เบอร์ดี้ (แพ็ทริเซีย คอลลินจ์) ต่อบทสนทนาดังกล่าวได้ ซึ่งนั่นจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจบุคลิกของตัวละครในเชิงลึกมากขึ้น ส่วนช็อตที่สองและสาม ผู้กำกับ วิลเลี่ยม วายเลอร์ เลือกใช้ภาพแบบชัดลึกเพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเบอร์ดี้กับ โฮเรซ (เฮอร์เบิร์ต มาร์แชล) ซึ่งแม้ต่างฝ่ายจะแยกห่างอยู่ในโลกส่วนตัว แต่ก็ยังสามารถเชื่อมโยงถึงกัน




ความยุ่งยากของการถ่ายทำส่งผลให้ภาพแบบชัดลึกค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง ก่อนจะกลับมาได้รับความนิยมในช่วงสั้นๆ ระหว่างทศวรรษ 1970-1980 ผ่านผลงานชิ้นเอกของ สตีเวน สปีลเบิร์ก อย่าง Jaws และ Close Encounters of the Third Kind รวมไปถึงหนังหลายเรื่องของ ไบรอัน เดอ พัลมา การผสมผสานภาพแบบชัดลึกกับภาพแบบชัดตื้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพราะการถ่ายภาพทั้งสองชนิดย่อมส่งอิทธิพลต่อคนดูแตกต่างกันไป เช่น ในหนังสยองขวัญสไตล์โกธิคเรื่อง The Haunting (1963) ผู้กำกับ โรเบิร์ต ไวส์ เลือกใช้ภาพแบบชัดลึกในการสร้างบรรยากาศคุกคามและไม่น่าไว้วางใจของสถานที่ สลับกับภาพแบบชัดตื้นและการตัดภาพอย่างรวดเร็วเพื่อแสดงปฏิกิริยาของเหล่าตัวละครต่อปริศนาลึกลับที่เพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ (ไวส์เป็นคนตัดหนังเรื่อง Citizen Kane)

ถึงแม้ผู้ชมมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการสำรวจรายละเอียดแล้วคัดเลือกว่าส่วนใดมีความสำคัญ แต่บางครั้งผู้กำกับก็สามารถชักนำสายตาคนดูได้ผ่านการจัดองค์ประกอบภาพ (mise-en-scene) ดังจะเห็นได้จากช็อตสำคัญช่วงท้ายเรื่องของ The New World เมื่อ โพคาฮอนตัส (คอรีอันกา คิลเชอร์) เข้าเฝ้าพระราชาและพระราชินีแห่งประเทศอังกฤษ ถึงแม้รายละเอียดทุกส่วนของภาพจะอยู่ในโฟกัส ชัดเจน แต่สายตาของผู้ชมกลับถูกชักนำให้เกาะติดกับตัวละครเอก เนื่องจากเธอกำลังเคลื่อนไหว ขณะที่ตัวละครอื่นๆ ในท้องพระโรงแทบจะไม่ขยับร่างกายกันเลย พร้อมกันนั้นแถวอันเป็นระเบียบของบรรดาข้าหลวงทั้งสองฟาก (ซึ่งกำลังจดจ้องเธอเป็นตาเดียว) ก็ถูกจัดวางดุจกรอบรูป ส่งผลให้สายตาของผู้ชมถูกดึงดูดเข้าหาวัตถุตรงกลางภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง นอกจากนี้การจัดองค์ประกอบภาพแบบปิด (closed form) ดังกล่าวยังสะท้อนถึงกฎระเบียบและสภาพติดกับ (ในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา พระราชาแห่งอังกฤษจะได้ชื่นชมสัตว์ป่าน่าทึ่งจาก “โลกใหม่” ในกรงขัง ซึ่งเปรียบดังภาพสะท้อนของเจ้าหญิงอินเดียนที่ถูกจับแต่งตัวและเข้าพิธีแบ๊บติสให้กลายเป็นคาทอลิกชาวอังกฤษ)


ตรงกันข้าม ในหลายๆ ช็อตช่วงต้นเรื่อง เมื่อหนังเริ่มต้นนำเสนอเวอร์จิเนีย (ปี 1607) สู่สายตาของนักบุกเบิกชาวอังกฤษ (และคนดู) ผู้กำกับ เทอร์เรนซ์ มาลิก กลับจงใจเลือกใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบเปิด (open form) เพื่อสะท้อนถึงอิสรภาพ ความกว้างใหญ่ไพศาลของดินแดนแห่งธรรมชาติ ผนวกเข้ากับการถ่ายภาพแบบชัดลึก ซึ่งเปิดโอกาสให้คนดูมองเห็นรายละเอียดต่างๆ ได้มากมายในเวลาเดียวกัน เช่น ช็อตหนึ่งช่วงต้นเรื่อง เมื่อชาวอินเดียนแดงพากันแตกตื่นกับการมาถึงของเรือสินค้าขนาดใหญ่ ฉากดังกล่าวเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว และปราศจากโฟกัสหลักในการชี้นำสายตาผู้ชม


นอกเหนือจากข้อยกเว้นอย่าง The New World แล้ว ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักนิยมใช้การถ่ายภาพแบบชัดตื้นหรือชัดปานกลาง (medium focus) เป็นหลัก แต่บ่อยครั้งภาพแบบชัดลึกอาจเพิ่มผลกระทบทางอารมณ์ให้กับฉากบางฉากได้อย่างยอดเยี่ยม คุณสมบัติในการ “สร้างความคลุมเครือ” ของภาพแบบชัดลึกปรากฏชัดเจนในฉากหนึ่งของหนังเรื่อง Casino เมื่อผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เลือกถ่ายฉาก จิงเจอร์ (ชารอน สโตน) พูดคุยทางโทรศัพท์กับ แซม (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ขณะลูกสาวของพวกเขากำลังถูก เลสเตอร์ ไดมอนด์ (เจมส์ วู้ดส์) ชู้รักของจิงเจอร์ “สั่งสอน” อยู่ในแบ็คกราวด์ด้วยภาพแบบชัดลึก สายตาของผู้ชมถูกแย่งความสนใจจาก “ดราม่า” สองส่วนที่กำลังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

คลินท์ อีสต์วู้ด ถือเป็นผู้กำกับคนหนึ่งที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแบบชัดลึก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เนื่องจากผลงานส่วนใหญ่ของเขามักอบอวลไปด้วยสไตล์การทำหนังแบบคลาสสิกฮอลลีวู้ด นอกจากนี้ ฮีโร่คนสำคัญของเขาอย่าง เซอร์จิโอ เลโอเน่ ซึ่งอีสต์วู้ดเคยแสดงหนังคาวบอยสปาร์เก็ตตี้ให้หลายเรื่อง ยังหลงใหลสไตล์การถ่ายภาพแบบชัดลึกอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากผลงานคลาสสิกอย่าง The Good, the Bad and the Ugly ฉะนั้น เมื่อเขาแยกตัวมาสร้างหนังคาวบอยเป็นของตนเอง (พร้อมทั้งเล่นสนุกกับบุคลิก “ชายนิรนาม”) ใน Unforgiven คลินท์ อีสต์วู้ดจึงหยิบยืมการถ่ายภาพแบบชัดลึกมาใช้ในหลายฉาก เพื่อเปิดโอกาสให้คนดูได้เห็นปฏิกิริยาของตัวละครแต่ละคนต่อเหตุการณ์เบื้องหน้าโดยไม่จำเป็นต้องตัดภาพซอยย่อย ดังเช่นฉากที่กลุ่มโสเภณียืนมองการเผชิญหน้าระหว่าง อิงลิช บ็อบ (ริชาร์ด แฮร์ริส) กับ ลิตเติล บิล (ยีน แฮ็คแมน) และอีกฉากที่งดงามไม่แพ้กัน คือ ตอนมือปืนหนุ่มเดินทางมาชวน วิลเลี่ยม มันนี่ (อีสต์วู้ด) ไปออกตามล่าผู้ชายที่กรีดหน้าโสเภณีเพื่อนำเงินค่าหัวมาแบ่งกัน อารมณ์ในฉากดังกล่าวตึงเครียดขึ้น เมื่อลูกๆ ของจอห์น ซึ่งไม่เคยรับรู้อดีตของพ่อมาก่อน ยืนดูเหตุการณ์อยู่ตรงโฟร์กราวด์



ช็อตหนึ่งใน Million Dollar Baby ให้อารมณ์คล้ายคลึงกับช็อตสำคัญใน Citizen Kane เมื่อแม่ของเคน (โฟร์กราวด์) ซึ่งได้ส้มหล่นเป็นมรดกก้อนโต ตัดสินใจส่งลูกชายวัยแปดขวบ (เล่นหิมะอยู่นอกบ้านในแบ็คกราวด์) ไปอยู่ในความดูแลของนายธนาคาร แทชเชอร์ เพราะเห็นแก่อนาคตของเขา ท่ามกลางสายตาคัดค้านของสามี (มิดเดิลกราวด์) ใน Million Dollar Baby คนดูจะเห็น แฟรงกี้ (อีสต์วู้ด) พูดคุยกับ สแครบ (มอร์แกน ฟรีแมน) ถึงอนาคตบนสังเวียนของ แม็กกี้ (ฮิลารี แสวงค์) ซึ่งกำลังฝึกซ้อมอยู่ในแบ็คกราวด์ ส่วนพื้นที่โฟร์กราวด์ตรงกลางจอถูกจับจองโดยถุงเท้าขาดๆ ของสแครบ ซึ่งจะกลายเป็นหัวข้อสนทนาในเวลาต่อมา



นอกเหนือจากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นแล้ว คุณยังสามารถศึกษาการใช้ภาพแบบชัดลึกได้จากหนังอย่าง Rumble Fish, The Last Picture Show, American Psycho, Eyes Wide Shut และ Seven เป็นอาทิ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Fascinating stuff! I'm a great fan.
ให้ความรู้ในรูปแบบบันเทิงสารดีจัง ชอบๆ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณครับที่ติดตาม :)