วันจันทร์, สิงหาคม 06, 2550

Three: The Wheel


นนทรีย์ นิมิบุตร เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้แรงบันดาลใใจในการสร้างหนังเรื่องนี้จากการเดินเข้าไปยังห้องเก็บหุ่นเก่าของคณะละครโจหลุยส์และรู้สึก “เหมือนหุ่นกำลังจ้องมองเราอยู่”

ความรู้สึกขนลุกขนพองดังกล่าวไม่ได้กลายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ The Wheel เท่านั้น แต่มันยังถูกใช้เป็นหัวใจของการนำเสนอเรื่องผ่าน “สายตา” แห่งอำนาจลึกลับบางอย่างที่คนดูไม่อาจมองเห็นตัวตน และไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ แต่ดูเหมือนจะทรงไปด้วยพลังเหนือเหล่าตัวละครผู้อ่อนแอ จากการเน้นวางมุมกล้องในมุมสูงและแทนสายตานกมอง ตลอดทั้งเรื่องหนังยืนยันที่จะทำให้คนดูรู้สึกเหมือนว่ามีอะไรบางอย่างหรือคนบางคนกำลังจ้องมองเหล่าตัวละครทั้งหลายอยู่ เช่น ตอนที่ครูเฒ่าและครูทองนอนอยู่บนเตียงพร้อมกับเสียงสาปแช่งดังเป็นแบ็คกราวด์ แต่โดดเด่นสุดเห็นจะเป็นตอนที่แม่จำเรียงพยายามแย่งชิงหุ่นตัวหนึ่งคืนมาจากหลานสาว ซึ่งกล้องค่อยๆ เคลื่อนเข้าหาบุคคลทั้งสองราวกับเป็นการแทนสายตาตัวละครคนใดคนหนึ่ง ก่อนที่เด็กหญิงจะหยุดยื้อแย่ง แล้วจ้องกลับมายังกล้อง (หรือผู้ชม) จากนั้นแม่จำเรียง (ซึ่งขณะนั้นกำลังหันหลังให้กล้อง) ก็ค่อยๆ หันมาหากล้อง เมื่อสังเกตเห็นว่าหลานสาวกำลังจ้องมองอะไรบางอย่างอยู่ แล้วก็หวีดร้องเสียงดัง

ฉากถัดมาคนดูจะได้เห็นแม่จำเรียงสูญเสียสติราวกับเพิ่งพบเห็นบางสิ่งซึ่งชวนให้ขนหัวลุกและสยดสยองเกินคำบรรยาย หนังไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าเธอเห็นอะไรกันแน่ และที่สำคัญ “สายตา” ดังกล่าวนั้นเป็นของใคร

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของหนังเขย่าขวัญโดยทั่วไป การใช้กล้องแทนสายตาถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ซึ่งมักจะปรากฏอยู่เสมอ เพื่อเชื้อเชิญผู้ชมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นการแทนสายตาของผู้ชมเอง (ในลักษณะถ้ำมอง) ของฆาตกร หรือของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายก็ตาม และโดยมากแล้ว หากมันเป็นการแทนสายตาตัวละครตัวใดตัวหนึ่งละก็ หนังมักจะแจกแจงให้กระจ่างว่ามันเป็นสายตาของใครกันแน่ เพื่อกำหนดแนวทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม

แต่เนื่องจาก The Wheel เป็นหนังที่พูดถึงความเชื่อและพลังเหนือธรรมชาติ ปริศนาแห่งการจ้องมองดังกล่าวจึงไม่ถูกระบุชัดเจน (เช่นเดียวกับการไม่สรุปว่าคำสาปในหุ่นละครนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร หรือกระทั่งมีอยู่จริงหรือไม่จากฉากจบแบบหักมุมซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) โดยสาเหตุอีกประการหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นความหวาดกลัวในเบื้องลึกของมนุษย์ต่อสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เห็น แต่สามารถรู้สึกได้ เช่นเดียวกับความรู้สึกยามที่คุณนนทรีย์เดินเข้าไปในห้องหุ่น แล้วสัมผัสถึง “การจ้องมอง” ของพวกมัน

The Wheel เป็นหนังที่เต็มไปด้วยรายละเอียดซับซ้อนมากมาย ตัวชื่อเรื่องเองก็บ่งบอกนัยยะเกี่ยวกับกงล้อที่หมุนวน ไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดจบ เชื่อมต่อ ซ้อนทับกันเป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ ดุจเดียวกับชีวิตของตัวละครกับหุ่นเชิดทั้งหลายที่เกือบจะแยกจากกันไม่ออก หนังตอกย้ำประเด็นดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง เช่น การแสดงโขนในงานศพของเมียครูเฒ่า เป็นฉากที่ตัวเอกหญิงกำลังจะแขวนคอกับต้นไม้ ซึ่งไม่นานต่อมาคนดูก็จะได้เห็นแม่จำเรียงแต่งตัวในชุดโขนเต็มยศฆ่าตัวตายด้วยวิธีแบบเดียวกันนั้น หรือในตอนที่ครูทองเพิ่งถูกช่วยชีวิตขึ้นมาจากน้ำ หุ่นเชิดก็ลอยน้ำตามขึ้นมา ก่อนหนังจะตัดไปยังฉากฝึกรำโขน ซึ่งเป็นท่าที่คล้ายคลึงกับหุ่นเชิดตัวนั้น หรือการเปรียบเทียบไอ้ก้าน (สุวินิต ปัญจมะวัต) กับแม่สะอิ้ง (สาวิกา กาญจนมาศ) ให้เป็นตัวพระกับตัวนาง ส่วนไอ้ชิตก็กลับกลายเป็นตัวยักษ์ หรือการที่หุ่นถูกใช้เป็นเสมือนตุ๊กตามนตร์ดำ เช่น เมื่อบัวหักขาตุ๊กตา ครูทองก็เกิดปวดขาตึบขึ้นมากะทันหัน หรือในตอนท้ายเมื่อครูทองให้มีดฟันบรรดาหุ่นเชิด ฉากดังกล่าวก็ถูกตัดสลับกับฉากที่ไอ้ก้านกับแม่สะอิ้งถูกไอ้ชิตให้มีดฟันตาย

นอกจากนั้น หนังยังเล่าชะตากรรมของครูเฒ่ากับครูทองในลีลาที่ซ้อนทับกันอีกด้วย ครูเฒ่าถูกไฟครอกตายในห้องนอน ครูทองก็เช่นเดียวกัน หนังเปิดเรื่องด้วยการจมน้ำตายของแม่นวลกับลูก และปิดท้ายด้วยการจมน้ำของไอ้ชิตกับลูก ทุกสิ่งทุกอย่างหมุนย้อนกลับมาซ้อนทับกันดุจดังกงล้อ เช่นเดียวกับฉากจบซึ่งเป็นการเล่าเรื่องย้อนกลับมายังช่วงกลางเรื่องอีกครั้ง ฉากที่ครูทองจมน้ำถูกนำมาเล่าใหม่ โดยเกือบจะเหมือนเดิมทุกประการ เพิ่มเพียงแค่บทพูดของครูทองที่ถามไอ้ชิตว่า “หุ่นเหล่านั้นมีคนสาปแช่งเอาไว้ใช่ไหม”

ฉากจบแบบหักมุมดังกล่าวไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช็อกคนดูธรรมดา โดยนอกจากจะเสริมรับกับโครงสร้าง “กงล้อ” ของเรื่องราวในหนังได้แล้ว มันยังเปรียบเสมือนความพยายามจะวางตัวเป็นกลางของผู้สร้างต่อประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องคำสาปในหุ่นเชิดอีกด้วย ฉากจบดังกล่าวนำคนดูให้เข้าไปอยู่ในสถานะเดียวกับครูทอง เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเขาและที่เราได้ดูมา (ตั้งแต่การผูกคอตายของแม่จำเรียง จนถึงสมาชิกในคณะโขนขาดอากาศหายใจตายอย่างไร้สาเหตุ ฯลฯ) เปรียบดังเรื่องเล่าลือที่พวกเรามักจะได้ยินกันมาตลอดเกี่ยวกับอาถรรพณ์หุ่นละคร ส่วนจะเชื่อหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม The Wheel ไม่ได้ต้องการเพียงแต่จะพูดถึงความเชื่อ คำสาป หรืออำนาจลึกลับเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มันยังมุ่งเน้นวิพากษ์ประเด็นเกี่ยวกับกิเลส ตัณหา และความโลภ ซึ่งกัดกินจิตใจของมนุษย์ไม่รู้จักสิ้น และเป็นอันตรายยิ่งกว่าคำสาปแช่งใดๆ อีกด้วย

ในฉากจบแบบหักมุม ชั่ววูบหนึ่งขณะกำลังจะจมน้ำตาย ครูทองได้เห็นศพของคนที่เขารู้จักจำนวนมากจมอยู่ใต้น้ำ ได้เห็นเรื่องราวทั้งหมดที่ “อาจจะ” เกิดขึ้น หากเขายังคงเดินหน้าจำลองหุ่นของครูเฒ่าเพื่อหวังจะรวยกับเขาบ้างต่อไป สุดท้ายเมื่อครูทองรอดชีวิตมาได้ (อีกครั้ง) เขาจึงเปรียบเสมือนคนที่เพิ่งเกิดใหม่ ได้พรอันประเสริฐให้กลับมาแก้ไขความผิดพลาด แต่อนิจจา ภาพสุดท้ายที่คนดูเห็นกลับเป็นใบหน้าอันส่อแววมุ่งมั่นของครูทอง ขณะเขาโน้มตัวลงมาหากล้องเพื่อจะหยิบหุ่น (ตัวเดิม) ขึ้นมาจากน้ำ (อีกครั้ง)

ถึงตอนนี้คงกล่าวได้ว่า “สายตา” คู่นั้นอาจกำลังมองกลับลงมายังมนุษย์ด้วยแววสมเพชเวทนา

2 ความคิดเห็น:

black forest กล่าวว่า...

ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่าจะเคยไปสัมภาษณ์ผู้กำกับเกาหลีในหนังชุด THREE มาด้วย โดยมีพี่ THE AESTHETICS OF LONELINESS ชวนไปสัมภาษณ์ ยังเจอคุณดวงกมล ลิ่มเจริญอยู่เลย (เอ๊ะ คุณดวงกมลเป็นโปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้หรือเปล่า) คิดไม่ถึงว่าคุณดวงกมลจะด่วนจากพวกเราไปเสียก่อน

ส่วนตัวอาจจะไม่ได้ประทับใจหนังเรื่อง THE WHEEL มากนัก แต่ก็รู้สึกชอบโครงสร้างการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ และอยากให้คุณนนทรีย์ผลิตหนังที่มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป มาให้พวกเราดูอีกในอนาคต

Riverdale กล่าวว่า...

ส่วนตัวเป็นหนังที่พี่ชอบน้อยที่สุดใน 3 เรื่อง (ชอบเวอร์ชั่นของฮ่องกงมากสุด) แต่ก็มีความน่าสนใจในตัวมันเอง

ใช่แล้ว หนังเรื่องนี้อำนวยการสร้างโดยคุณดวงกมล วันก่อนเจอเพื่อนที่เขาไปเข้าเรียนในคอร์สการเป็น producer เขายังชื่นชมคุณดวงกมลอยู่เลยว่าเป็น producer ที่ดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย

ในกลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของไทย รู้สึกคุณนนทรีย์จะเริ่มเนือยๆ ไป ไม่ค่อยสร้างหนังบ่อยเท่าไหร่เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ถือว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง