วันจันทร์, พฤศจิกายน 12, 2550

เพิ่มความเคลื่อนไหวให้ภาพ (1)



เมื่อกล้องตั้งอยู่นิ่งๆ มันจะจับความเคลื่อนไหวด้วยการเลียนแบบปฏิกิริยาของศีรษะและดวงตามนุษย์ หากเรายืนตรงแล้วหันศีรษะพร้อมกับกวาดสายตาไปทางซ้ายและทางขวา เราจะสามารถมองเห็นภาพเกิน 180 องศาเล็กน้อย และถ้าเราก้มหรือเงยศีรษะขึ้นลง ดวงตาจะจับภาพได้เกิน 90 องศาเล็กน้อยเช่นกัน การเคลื่อนกล้องส่วนใหญ่จะตกอยู่ในขอบข่ายจำกัดของสายตามนุษย์ แต่ไม่เสมอไป เช่น บางครั้งผู้กำกับอาจแพนกล้องเป็นวงกลมในลักษณะ 360 องศา


นอกเหนือจากสเตดิแคมและการถ่ายทำแบบ handheld แล้ว คุณยังสามารถเปลี่ยนมุมภาพ ระยะใกล้ไกล ตลอดจนความสูงต่ำของเฟรมภาพได้ด้วยการเคลื่อนกล้องบนขาตั้ง บนราง บนเครน บนเฮลิคอปเตอร์ หรือกระทั่งใช้เลนส์ซูมเพื่อสร้างความรู้สึกแห่งความเคลื่อนไหว และเนื่องจากเฟรมภาพจะชักนำสายตาของคนดูไปยังองค์ประกอบต่างๆ บ่อยครั้งเราจึงรู้สึกเหมือนกำลัง “เคลื่อนไหว” ไปพร้อมกัน ไม่ว่ากล้องจะเคลื่อนที่เข้าหา ถอยห่าง วนรอบ หรือวิ่งผ่านตัวละครหรือวัตถุนั้นๆ

การเคลื่อนกล้องจะเปิดโอกาสให้คนดูสามารถตามติดตัวละครที่กำลังเคลื่อนไหว มองเห็นสภาพแวดล้อมของฉากผ่านสายตาตัวละคร รวมทั้งช่วยชี้นำความสนใจของคนดูไปยังส่วนอื่นๆ ในฉาก เพิ่มความลึกแก่ภาพสองมิติ และดึงดูดคนดูให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องราวมากขึ้น ผู้กำกับยุคหนังเงียบ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ เคยใช้การเคลื่อนกล้องในบางช็อต แต่ไม่โดดเด่นนัก ตรงกันข้าม นักสร้างหนังกลุ่ม German expressionist อย่าง เอฟ. ดับเบิลยู. เมอร์เนา กลับทดลองใช้เทคนิคดังกล่าวอย่างน่าตื่นตะลึงในฉากเปิดเรื่องของ Last Laugh (1924) เมื่อกล้องเลื่อนลงไปตามลิฟต์ แล้วเคลื่อนข้ามห้องล็อบบี้ของโรงแรมไปยังประตูหมุน อิทธิพลของหนัง German expressionist เริ่มปรากฏให้เห็นในหนังสยองขวัญของฮอลลีวู้ดยุค 1930 ซึ่งผสมผสานการตัดต่อภาพ (อิทธิพลจากนักทำหนังรุ่นบุกเบิกจากฝั่งรัสเซีย) เข้ากับการเคลื่อนกล้อง ระหว่างยุคสตูดิโอรุ่งเรือง (ทศวรรษ 1940-1950) อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค ได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่พึ่งพาการตัดต่อ (ตามสไตล์การเล่าเรื่องแบบคลาสสิก นั่นคือ เน้นความต่อเนื่องจนคนดูไม่ทันสังเกต) มากพอๆ กับการเคลื่อนกล้องอันหวือหวา

เทคนิคการเคลื่อนกล้องที่ง่ายและพบเห็นได้บ่อยๆ คือ การ pan (ย่อมาจาก panorama) ซึ่งเป็นการหมุนกล้องในแนวราบจากจุดใดจุดหนึ่งที่แน่นิ่ง เช่น บนขาตั้งกล้อง เพื่อ 1) บอกคนดูให้ตระหนักถึงภาพรวมทั้งหมดของฉาก ซึ่งภาพเฟรมเดียวไม่สามารถทำได้ เช่น การแพนให้เห็นวิวทิวทัศน์อันกว้างใหญ่ไพศาลของทะเลทราย มหาสมุทร หุบเขา หรือกระทั่งอวกาศ 2) ชี้นำคนดูไปยังเหตุการณ์สำคัญ เพื่อเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ ในฉากแบบที่การตัดต่อไม่สามารถทำได้ 3) ติดตามการเคลื่อนไหวของตัวละคร/ยานพาหนะ 4) แทนสายตาของตัวละครเวลาหันศีรษะเพื่อสำรวจรอบๆ บริเวณ หรือเกาะติดเหตุการณ์บางอย่าง

เนื่องจากสายตาคนดูถูกชักนำจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างฉับพลัน การแพนภาพจึงต้องมีจุดมุ่งหมายในเชิงอารมณ์ หรือเรื่องราวที่แน่ชัด มิฉะนั้นแล้วมันอาจดูไม่เป็นธรรมชาติ หรือเรียกร้องความสนใจโดยใช่เหตุ ในฉากดวลปืนของหนังคาวบอย การเคลื่อนกล้องอย่างช้าๆ จากมือปืนคนหนึ่งไปยังคู่ต่อสู้ของเขาจะช่วยเพิ่มเวลาและขยายความรู้สึกระทึกขวัญ ตื่นเต้นให้พุ่งสูงขึ้น ขณะคนดูเฝ้ารอด้วยใจระทึกว่าใครจะเป็นฝ่ายชักปืนมายิงก่อน นอกจากนี้ มันอาจสะท้อนถึงความตึงเครียดในสภาพแวดล้อม เมื่อกล้องฉายให้เห็นความหวาดกลัว ตื่นตระหนกในใบหน้าของกลุ่มผู้เห็นเหตุการณ์ข้างถนน ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบของภาพรวม เนื่องจากคนดูจะเห็นใบหน้าพวกเขาเพียงชั่วแวบ ก่อนแต่ละคนจะวิ่งหากำบังเพื่อหลบลูกหลง ที่สำคัญ การแพนกล้องจะช่วยบ่งบอกระยะห่างระหว่างชายทั้งสอง แต่ควรกระทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิด dead space (พื้นที่ว่างบนจอที่ปราศจากความน่าสนใจทั้งในเชิงอารมณ์ การให้ข้อมูล ความสำคัญต่อเรื่องราว หรือความสวยงาม) ระหว่างจุดสองจุด

การแพนกล้องมักถูกนำมาใช้สำหรับติดตามตัวละครไม่ให้หลุดจากกรอบภาพ เช่น ถ้าเขาหรือเธอเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง กล้องก็จะแพนตามไปเพื่อให้เขาหรือเธออยู่ตรงกลางเฟรมตลอดทั้งช็อต การแพนภาพในระยะไกลมากจะเปี่ยมประสิทธิผลอย่างยิ่งในหนังแนวมหากาพย์ เพื่อให้ผู้ชมตื่นตะลึงกับความยิ่งใหญ่ไพศาลของฉาก หรือวิวทิวทัศน์ แต่การแพนภาพในระยะปานกลางหรือใกล้ก็พบเห็นได้ไม่น้อย เช่น การแพนที่เรียกว่า reaction pan เมื่อกล้องขยับจากจุดสนใจหลัก (โดยมากจะเป็นคนพูด) ไปยังปฏิกิริยาของคนรอบข้าง หรือคนฟัง

เทคนิคการแพนมีแนวโน้มที่จะตอกย้ำเอกภาพของพื้นที่และความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับวัตถุภายในพื้นที่นั้นๆ ด้วยเหตุนี้เอง คนดูอาจรู้สึกเซอร์ไพรซ์เมื่อกฎแห่งความสมจริงดังกล่าวถูกละเมิดดังเช่นในช็อตสุดท้ายของหนังเรื่อง Places in the Heart เมื่อโลกของคนเป็นกับคนตายถูกรวมกันไว้ในช็อตเดียวกัน หนังเป็นการเฉลิมฉลองค่านิยมแห่งคริสเตียนที่ผูกพันเชื่อมโยงผู้คนในเมืองเล็กๆ ของรัฐเท็กซัสเอาไว้ด้วยกันระหว่างช่วงเวลาอันยากลำบาก (ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ) ช็อตสุดท้ายเกิดขึ้นในโบสถ์ โดยกล้องเริ่มต้นแพนไปตามม้านั่งแต่ละตัว และพบเห็นชาวเมืองทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และอีกหลายคน ซึ่งเราตระหนักว่าเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงฆาตกรและเหยื่อของเขา ตลอดทั้งเรื่องหนังนำเสนอเรื่องราวในเชิงสมจริง แต่ช็อตสุดท้ายของหนังได้ก้าวกระโดดไปสู่ความเหนือจริง เพื่อสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางจิตวิญญาณของชุมชน


การแพนกล้องที่ค่อนข้างเร็วถูกนำมาใช้แทนสายตาของตัวละครเอกใน Pride and Prejudice ขณะเธอหมุนเชือกห้อยชิงช้า จากนั้น (หลังบทสนทนาระหว่างเธอกับตัวละครอีกคนจบลง) หนังก็ใช้ชุดภาพลักษณะเดียวกัน แต่คราวนี้เป็นการแพนกล้องที่เชื่องช้าลง เพื่อบ่งบอกถึงกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงและฤดูกาลที่ผันผ่าน โดยตัดเชื่อมภาพอย่างนุ่มนวลทุกครั้งที่กล้องแพนไปยังกำแพงมืดทึบ

หากกล้องแพนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างรวดเร็วฉับพลันจนภาพระหว่างทางเบลอและมองไม่ออกว่าเป็นอะไรเป็นอะไร เราจะเรียกว่าเทคนิคดังกล่าว swish pan (หรือ flash pan หรือ zip pan) ถึงแม้จะใช้เวลามากกว่าการตัดภาพ แต่เทคนิค swish pan มักถูกนำมาใช้บ่อยครั้งเพื่อเชื่อมสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในต่างสถานที่ แต่เกี่ยวโยงกัน ตัวอย่างเช่น ฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Some Like It Hot เมื่อเหตุการณ์บรรเลงเพลงรักระหว่าง มาริลีน มอนโรว์ กับ โทนี่ เคอร์ติส ถูกเชื่อมโยงอย่างตลกขบขันกับภาพการเต้นรำของ แจ๊ค เล็มมอน ซึ่งปลอมตัวเป็นผู้หญิง กับ โจ อี. บราวน์ ในหนังเรื่อง Schindler’s List เทคนิค swish pan ถูกนำมาใช้ร่วมกับกล้องแบบ handheld เพื่อเพิ่มอารมณ์กดดันให้กับฉากทหารนาซีไล่ต้อนเหล่านักโทษออกเป็นกลุ่มๆ นอกจากนี้ swish pan ยังอาจนำมาใช้เป็นช็อตแทนสายตาตัวละครได้ด้วย ดังจะเห็นได้จากฉากที่ตัวละครเอกคนหนึ่งใน The Wild Bunch ตระหนักว่าตนกำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจของนายพลชาวเม็กซิกันและรู้สึกไม่พอใจ จากมุมมองของเขา คนดูจะเห็นชาวเม็กซิกันจำนวนหนึ่งหัวเราะ ก่อนกล้องจะแพนอย่างรวดเร็วไปยังกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังหัวเราะเยาะเขาเช่นกัน เทคนิคดังกล่าวช่วยเพิ่มความรู้สึกอึดอัดคับแค้นของตัวละครให้เด่นชัดขึ้น


เทคนิค swish pan ถูกนำมาใช้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพในฉากการ “แปลงร่าง” ของหนังเรื่อง Dr. Jekyll and Mr. Hyde




ในฉากคลาสสิกฉากหนึ่งของหนังเรื่อง Citizen Kane เทคนิค swish pan ถูกนำมาใช้หลายครั้งเพื่อบ่งบอกถึงกาลเวลาที่ผันผ่าน พร้อมกับความสัมพันธ์ที่เริ่มร่วงโรย เหินห่างของสองสามีภรรยา โดยในช่วงต้นของซีเควนซ์ ทั้งสองยังคงหวานชื่น นั่งใกล้ชิดกันบนโต๊ะและสนทนากันอย่างสนุกสนาน ก่อนบทสนทนาจะเริ่มลดลง ส่วนพื้นที่ว่างระหว่างพวกเขาก็ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในช็อตสุดท้ายของซีเควนซ์ พวกเขาลงเอยด้วยการนั่งอยู่คนละมุมของโต๊ะอาหาร ต่างฝ่ายต่างทำกิจกรรมของตนโดยไม่พูดจากันเลยสักคำ

เช่นเดียวกับการแพน เทคนิคการ tilt คือ การขยับกล้องให้เงยขึ้นหรือก้มลงโดยที่กล้องไม่ได้เคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งเดิม แต่ติดตั้งอยู่บนไทรพ็อด ภาพ tilt shot นิยมใช้สำหรับแทนสายตาตัวละครเวลาจ้องมองขึ้นไปบนยอดของตึกสูงระฟ้า (tilt up) หรือก้มมองลงมายังถนนเบื้องล่าง (tilt down) หรือใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของสิ่งของบางอย่างแทนสายตาของคนดู เช่น ลูกโป่งที่ลอยขึ้นไปบนฟ้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการ tilt ภาพย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของมุมภาพ บ่อยครั้งมันจึงอาจนำเสนอนัยยะเชิงจิตวิทยาไปพร้อมๆ กัน เช่น เมื่อกล้องระดับสายตา tilt down ลงมายังตัวละคร เขาหรือเธอผู้นั้นย่อมดูอ่อนแอ เปราะบาง ในสายตาของคนดูไปโดยปริยาย หนังเรื่อง Besieged ของ เบอร์นาโด เบอร์โตลุคชี่ ใช้เทคนิคการ tilt อยู่หลายครั้งเพื่อสื่อความหมายเชิงลึกถึงช่องว่างทางสังคม (และสีผิว) ระหว่างสองตัวละครเอก นั่นคือ หญิงรับใช้ชาวแอฟริกันและนายจ้างหนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษที่ร่ำรวย


เทคนิคการ tilt down ในฉากพิธีแต่งงานช่วงต้นเรื่องของ The Bride Wore Black


13 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เคยดู The Bride Wore Black-เจ้าสาวในชุดสีดำ (ชื่อเหมือนละครไทยมั่กๆ) เมื่อตอนเด็กๆโน้นแน่ะ นางเอกสวยมากๆ ฆ่าคนแบบแปลกๆ ไม่รู้ว่าโดนก๊อปไปทำเป็นเรื่อง "ล่า" อ่ะป่าวเนอะ... "ความพยาบาทเป็นของหวาน" อิอิ

Riverdale กล่าวว่า...

นั่นสิครับ แต่ยังไงก็ให้เครดิตคนแต่งนิยายไทยเรื่องนั้นไว้ก่อนละกันเนอะ เพราะเราไม่รู้ว่าเธอจงใจหรือบังเอิญคิดเหมือนๆ กัน แต่หนังของทรุฟโฟต์เรื่องนี้สนุกดี ทำคารวะฮิทช์ค็อค

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บทความดีอะไรเช่นนี้
ตีพิมพ์ในนิตยสารอะไรหรือเปล่าเนี่ย?

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่เขียนถึง รักแห่งสยาม เหรอ

Riverdale กล่าวว่า...

น้องเมอร์ พี่เพิ่งส่งต้นฉบับ รักแห่งสยาม ไปให้ทางเมล คงยังไม่อัพบล็อกจนกว่าบทความจะตีพิมพ์น่ะ

รักแห่งสยาม จงเจริญ!!!

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ส่งมาให้อ่านก่อนได้ปะง่ะ รักแห่งสยาม ง่ะ ส่งทางเมล์ก็ได้ อยากอ่านก่อนตีพิมพ์ง่ะ กะว่าจะไปดูอีกสัก ๒-๓ รอบ ทำลายสถิติ เฮงได้เฮงดีรักนี้ เอ๊ย!!!! พริกขี้หนูกับหมูแฮม ตะหากกกก...(ดูตั้ง ๕ รอบแน่ะ อินมากมาย)

ว๊ายยยยย... รู้กันหมดเยยว่า J. อายุเท่าไหร่ อิอิ

อย่าลืมส่งมานะ อยากอ่านมั่กๆ พอๆกับรักโต้งเยยอ่ะ

HAIL!!!! "THE LOVE OF SIAM"...

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

นึกว่าจะมีคนบ้ารักแห่งสยามอยู่คนเดียวนะเนี่ยะ
ไงกู๋ Riverdale ก็อย่าอินมากนา เด่วจะไม่สบายเป็นไข่จับไข้ เอ๊ย!เป็นไข้ไปน่ะ อุอุ(จะโดนแบนไหมหว่า...)

อยากเขียนรักแห่งสยามให้เสร็จจัง ความคิดมาถึงทางตันอีกแว้วเบื่อเว้ย!

รักแห่งสยาม จงเจริญ!ด้วยประการทั้งปวง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

วุ้ย... หมั่นไส้พ่อเด็กโหง่ย ทำเป็นห่วงคนอื่นเค้าง่ะ

ตัวเองน่ะ อย่าอินให้มากนักก็แร้วกานนนนน

เด๋วจะไม่อยากอยู่ในห้องคนเดียวอีก...กิกิ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

บล็อกนี้เหมือนบอร์ดเลยหว่าเนาะ อุอุ(ดีใจแทนเจ้าของบล็อกด้วยนะคับ)

อาเฮีย J.green ค้าบ ความจริงแล้วน่ะ อยากเจอหน้าต่ะหาก แต่ทำเป็นเล่นตัวเนาะคับ อดเจอหน้าใสๆของเราเลยยยยย อิอิ...

Riverdale กล่าวว่า...

รักแห่งสยาม สามารถทำให้บล็อกผีหลอกบล็อกนี้คึกคักขึ้นมาได้แฮะ ด้วยน้ำมือของคนสองสามคน 555 ตอนนี้ไม่รู้บล็อกกำลังปรับปรุงหรือเปล่า จะใส่ entry ใหม่ แต่ไม่มีปุ่มให้อัพรูป ทำไงดี

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รูปสวยจังคับ ไปถ่ายที่ไหนมาเนี่ยะ
น่าไปจังเลยยยย

ถือเป็น "เพิ่มความเคลื่อนไหวให้ภาพ" หรือเปล่าครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ถ้าอัพบทความ รักแห่งสยาม เมื่อไหร่ละก็

เชื่อว่าบล็อกนี้อาจแตกได้...

เอาอีกรูปที่กำลังมองสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเด็กมาโหลดจิ

น่ารักดีนะรูปนั้น...ดูเป็นธรรมชาติมั่กๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมว่า มันก็เป็นธรรมชาติของพี่ riverdale อยู่แล้วนะคับ เรื่องมองสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเด็กน่ะ

แต่ที่มันไม่ธรรมชาติเนี่ยะคือ ทำไม น้ำลายไหล ด้วยอ่า

อืมม์...กลืนน้ำลายด้วยล่ะ ตอนมองน่ะ ^_^"