วันพุธ, กุมภาพันธ์ 06, 2551

I Root for Them


เดเนียล เดย์-ลูว์อีส (There Will Be Blood)

“มันน่าหลงใหลเกินต้านทานเหมือนการขุดหลุมบนพื้นดิน” เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อีส กล่าวถึงการหาข้อมูลเพื่อรับบทเป็น เดเนียล เพลนวิว นักสำรวจแร่ที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าพ่อวงการน้ำมันช่วงปี 1898 ใน There Will Be Blood ถ้าคำเปรียบเทียบดังกล่าวฟังดูแปลกพิกล ให้คุณพึงระลึกไว้เสมอว่า เดย์-ลูว์อีสน่าจะเป็นนักแสดงชื่อดังเพียงคนเดียวที่ยึดอาชีพหลักเป็นช่างปะรองเท้า แล้วใช้เวลาว่างมาแสดงหนังแบบนานๆ ครั้ง และส่วนใหญ่ก็มักจะลงเอยด้วยความน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นการรับบท บิล ‘เดอะ บุชเชอร์’ คัตติ้ง ใน Gangs of New York เมื่อ 5 ปีก่อน หรือบทเพลนวิว ตัวละครที่ร้ายกาจและบ้าคลั่งไม่แพ้กันในผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน

เช่นเคย เดย์-ลูว์อีส ได้สร้างบุคลิกอันเป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวละคร โดยเฉพาะการเน้นเสียงต่ำกว่าปกติและจังหวะการพูดอันเชื่องช้า ซึ่งทำให้หลายคนนึกถึงสไตล์การพูดของ จอห์น ฮุสตัน ผู้เคยฝากผลงานแสดงที่น่าจดจำไว้ใน Chinatown (เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับน้ำ ขณะที่เรื่องนี้พูดถึงน้ำมัน แต่ตัวละครทั้งสองดูเหมือนจะชั่วร้ายพอๆ กัน) “ก็มีส่วน” เจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก My Left Foot กล่าว “ผมเคยดูสารคดีเกี่ยวกับ จอห์น ฮุสตัน นั่นอาจเป็นแรงบันดาลใจหนึ่ง”

ตัวละครอย่างเพลนวิวอัดแน่นไปด้วยแรงปรารถนาที่จะควบคุมและทำลายล้าง เดย์-ลูว์อีสได้สรุปข้อเสียหลักของเพลนวิวผ่านการอธิบายถึงตัวละครที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตของเขา นั่นคือ บาทหลวงประจำเมือง (พอล ดาโน) “ผู้ชายคนนี้ คือ นักฉวยโอกาสที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องบังหน้า คนเลวย่อมมองคนเลวด้วยกันออก เพลนวิวตระหนักในทันทีว่าเขาไม่อาจผูกมิตรกับชายคนนี้ได้ เขามีนิสัยชอบกระชากหน้ากากคน แล้วเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงจากภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวตนอันชั่วร้าย” จริงอยู่ เพลนวิวเป็นตัวละครที่ชวนขยะแขยง น่าชิงชัง จนคนดูไม่อาจนึกเห็นใจ หรือสงสาร หรือกระทั่งเข้าอกเข้าใจได้ แต่การแสดงอันทรงพลังของเดย์-ลูว์อีสก็ทำให้เราไม่อาจละสายตาจากจอหนังได้เช่นกัน เขาทำให้เรารู้สึกตื่นตะลึงกับภาพปีศาจร้ายเบื้องหน้า ด้วยเหตุนี้ การที่เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สี่ และมีโอกาสจะคว้าออสการ์ตัวที่สองมาครองจึงถือเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่ง


ลอร่า ลินนีย์ (The Savages)

พอเปิดอ่านบทภาพยนตร์ของ ทามารา เจนกิ้นส์ ไปได้เพียงสามหน้า ลอร่า ลินนีย์ ก็รู้ในทันทีว่าเธอจะต้องคว้าบท เวนดี้ ซาเวจ มาครองให้ได้ “มันเป็นบทหนังที่ลงตัวมากจนคุณรู้สึกอยากเริ่มงานเสียวันนี้พรุ่งนี้” นักแสดงสาววัย 43 ปีกล่าว “คุณสามารถสัมผัสได้ถึงพลังงานในฉาก ภาพต่างๆ เริ่มแล่นเข้ามาในหัว ไม่ใช่แค่ตัวละครที่เด่นชัดเท่านั้น แต่สถานการณ์ที่แวดล้อมพวกเขาก็สมบูรณ์แบบ”

ในช่วงต้นเรื่อง สถานการณ์บีบบังคับให้เวนดี้ หญิงสาวปัญญาชนและนักเขียนบทละครจากแมนฮันตัน ต้องออกเดินทางพร้อมกับพี่ชาย (ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน) เพื่อไปดูแลพ่อที่กำลังป่วยไข้ “เธอเป็นเหมือนเด็กไม่รู้จักโต พวกเขาทั้งคู่นั่นแหละ เธอชอบยุแหย่คนแบบเดียวกับเด็กอายุ 11 ขวบที่ประพฤติตัวไม่ค่อยดี แต่มองในอีกมุมหนึ่ง เธอทำตัวเลวร้ายเพื่อจะเฝ้ามองคนอื่นๆ ทำสิ่งที่ถูกต้อง เธอสร้างวิกฤติการณ์เพื่อจะคอยดูว่าผู้คนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร” ลินนีย์อธิบายคุณลักษณะของตัวละครที่เธอรับเล่น

ถึงแม้หนังจะเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ขณะสองพี่น้องเหน็บแนมชีวิตของอีกฝ่ายและทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไรกับพ่อของพวกเขาดี แต่ตัวละครอย่างเวนดี้ก็มีแง่มุมมืดหม่น เศร้าสร้อย และขมขื่นซุกซ่อนอยู่ภายใต้บุคลิกเย้ยหยันเหมือนไม่แคร์ใคร การต้องรักษาสมดุลระหว่างโทนอารมณ์ขึงขังกับเบาสมองถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง แต่นั่นดูจะไม่เป็นปัญหาสำหรับลินนีย์ ซึ่งเคยรับบทคล้ายกันนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมมาแล้วเมื่อ 7 ปีก่อนใน You Can Count On Me หนังที่สร้างชื่อให้เธอและทำให้เธอเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก

แล้วอะไรล่ะที่เป็นเรื่องยากสำหรับลินนีย์? “การต้องเดินทางไปถ่ายทำตามบ้านพักคนชรา มันให้บรรยากาศหลอกหลอนอย่างบอกไม่ถูก อบอวลไปด้วยความเจ็บปวดและความทุกข์โศก”


เคซีย์ อัฟเฟล็ค (The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford)

หลังเวียนว่ายอยู่ในวงการภาพยนตร์มานานกว่าหนึ่งทศวรรษโดยส่วนใหญ่รับบทสมทบที่ไม่ค่อยมีใครจดจำได้ในหนังดังอย่าง To Die For, Good Will Hunting, American Pie และ Ocean’s Eleven ในที่สุด เคซีย์ อัฟเฟล็ค ก็ก้าวกระโดดพ้นจากเงื้อมเงาพี่ชายซูเปอร์สตาร์ เบน อัฟเฟล็ค (เคซีย์รับเล่นเป็นนักสืบเอกชนที่ถูกจ้างวานให้มาค้นหาความจริงเบื้องหลังการหายสาบสูญของเด็กสาววัย 4 ขวบในหนังของพี่ชายเรื่อง Gone Baby Gone) แถมยังแซงหน้าเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาการแสดงเป็นคนแรกจากบทคาวบอยขี้ขลาด โรเบิร์ต ฟอร์ด ที่ลอบยิงมือปืนระดับตำนาน เจสซี่ เจมส์ (แบรด พิทท์) ทางด้านหลัง

ในโลกอันสมบูรณ์แบบ ชายคนที่ยิงจอมโจรและฆาตกรหลายศพตายควรได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษ” หาใช่ “ไอ้ขี้ขลาด” แต่ชื่อเสียงของ เจสซี่ เจมส์ ในขณะนั้นถูกรังสรรค์ให้กลายเป็นโรบินฮู้ดแห่งแดนตะวันตก ส่วนฟอร์ดกลับถูกประวัติศาสตร์หลงลืม หรือตีตราอย่างฉาบฉวย

ผลงานกำกับชิ้นที่สองของ แอนดรูว์ โดมินิค (Chopper) หาใช่ภาพยนตร์คาวบอยแบบที่คอหนังฮอลลีวู้ดคุ้นเคย หากแต่มันได้ผสมผสานการวิเคราะห์สภาพจิตใจของตัวละครเอาไว้อย่างกลมกลืน และแน่นอน โฟกัสหลักของหนังอยู่ตรงความซับซ้อนของชายลึกลับอย่าง โรเบิร์ต ฟอร์ด ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเทิดทูนบูชา เจสซี่ เจมส์ จนตัดสินใจเข้าร่วมแก๊งกองโจร ก่อนจะยอมรับข้อเสนอจากผู้ว่าการรัฐมิสซูรี ซึ่งต้องการจับกุมและสังหารเจมส์เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองในเวลาต่อมา (หนังดัดแปลงจากนิยายของ รอน แฮนเซน ที่ผนวกรายละเอียดตามประวัติศาสตร์เข้ากับจินตนาการส่วนตัว) “ผมชอบตัวละครที่เต็มไปด้วยรอยด่างพร้อยมากกว่าตัวละครที่มีมิติเพียงด้านเดียว” อัฟเฟล็คให้สัมภาษณ์ ส่วนความยากลำบากสูงสุดของการรับบทนี้น่ะเหรอ? “ผมขี่ม้าไม่เป็น ผมเคยนั่งบนหลังม้ามาก่อน แต่ไม่เคยต้องควบมันจริงๆ ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับม้าของผมค่อนข้างระหองระแหง มันเคยผ่านประสบการณ์ทำนองนี้มามากกว่าผม และมันก็ไม่ค่อยประทับใจกับทักษะของผมสักเท่าไหร่”

แต่ใครก็ตามที่ได้ชม The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford ล้วนประทับใจกับทักษะทางการแสดงของอัฟเฟล็คอย่างไม่ต้องสงสัย


ทิลด้า สวินตัน (Michael Clayton)

การเป็นนักแสดงคนโปรดของเหล่าผู้กำกับหนังอาร์ตในยุโรปอย่าง ดีเร็ค จาร์แมน, จอห์น เมย์เบอรี่ และ แซลลี่ พ็อตเตอร์ หาได้โน้มนำให้ ทิลด้า สวินตัน เชิดใส่หนังตลาดของฮอลลีวู้ดแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เธอกลับอ้าแขนรับพวกมันด้วยความยินดีเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการมีส่วนร่วมใน The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and The Wardrobe, Constantine และ The Beach ความจริง เธอคงเป็นหนึ่งในนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่สามารถร่วมงานกับ เบล่า ทาร์ ใน The Man From London ไปพร้อมๆ กับเข้ากล้องประกบซูเปอร์สตาร์อย่าง จอร์จ คลูนีย์ ใน Michael Clayton และบทเด่นจากหนังเรื่องหลังนี่เองที่ทำให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก (หลังเคยเฉียดๆ มาหนหนึ่งจากหนังอินดี้เรื่อง The Deep End เมื่อหกปีก่อน)

สวินตันหลงใหลในคำถามที่ว่า เหตุใดคนธรรมดาสามัญจึงสามารถกระทำเรื่องเลวร้ายเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และบท คาเรน คราวเดอร์ ทนายสาวที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จ แม้กระทั่งการสั่งฆ่าคน ใน Michael Clayton ก็เปิดโอกาสให้เธอได้สำรวจลึกถึงประเด็นดังกล่าว เนื่องจากคาเรนหาได้ชั่วร้ายโดยสันดาน เพียงแต่จิตสำนึกด้านดีของเธอถูกบิดเบี้ยวให้ออกนอกลู่นอกทางจากการต้องทำงานภายใต้บรรยากาศกดดันขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ “หล่อนไม่ใช่วายร้ายแบบในหนัง เจมส์ บอนด์ ประเภท ‘ฉันเกิดมาเลวและชอบมันมาก’ อันที่จริง หล่อนพยายามอย่างหนักที่จะทำดี... เส้นทางสู่นรกของหล่อนล้วนถากถางด้วยความปรารถนาดี” สวินตันกล่าว

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ตระหนัก คือ สวินตันลงทุนเพิ่มน้ำหนักเพื่อบทนี้ เหตุผลของเธอ คือ “ฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมากที่คาเรนจะต้องรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว เธอเป็นเหมือนนักแสดงที่ถูกคัดเลือกมารับบทที่ไม่เหมาะกับเธอ นั่นเป็นมุมมองของฉันต่อคาเรน เธอไม่ควรมาทำงานนี้ เธอพยายามไขว่คว้าในสิ่งที่เกินเอื้อม ฉันอยากให้เธอรู้สึกขัดเขินกับร่างกายของตัวเอง เหมือนเสื้อผ้าเธอมักจะคับเกินไป หรือชุดชั้นในฟิตเกินไปอยู่ตลอดเวลา” แต่จากผลลัพธ์ที่ปรากฏบนจอ คงไม่มีใครโต้เถียงว่า ทิลด้า สวินตัน เหมาะสมกับบทนี้อย่างพอดิบพอดี

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบทิลด้ารูปนี้จัง
เธอดูหลอนๆ ประหลาดๆ ดี