วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 28, 2551

Short Replay: Cape Fear


ก่อนหน้าการรีเมคที่ค่อนข้างซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับอย่าง The Departed (และออกจะเหมือนมองโลกในแง่ดีขึ้นสังเกตจากฉากจบ) ผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เคยรีเมคหนังเขย่าขวัญยุคเก่าเกี่ยวกับครอบครัวอเมริกันแสนดีที่ถูกคนบ้าคุกคามให้กลายเป็นหนังวิพากษ์ความเลว ความทุจริต และความอ่อนแอของมนุษย์อย่างถึงแก่นมาแล้ว หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า Cape Fear ผลงานซึ่งผมคิดว่าประสบความสำเร็จในแง่การ “รีเมค” มากกว่าหนังรางวัลออสการ์ของเขาเสียอีก เนื่องจากสกอร์เซซี่ได้ตีความเรื่องราวใหม่ ทำให้มันน่าสนใจ ซับซ้อน และแตกต่างจากต้นฉบับอย่างเห็นได้ชัด

แซม บาวเดน (นิค นอลตี้) เป็นทนายความที่แอบคบชู้และถูกเมีย (เจสซิก้า แลงจ์) จับได้ ชีวิตสมรสของพวกเขากำลังง่อนแง่นจวนล่มจนต้องหันไปปรึกษาจิตแพทย์ ขณะเดียวกันลูกสาววัยรุ่นของพวกเขา เดเนียล (จูเลียต ลูว์อิส) ก็ชอบขังตัวเองอยู่ในห้อง พลางนึกชิงชังพ่อกับแม่ที่หาเรื่องทะเลาะกันได้ไม่เลิก แต่ราวกับชีวิตปัจจุบันยังไม่เลวร้ายพอ พระเจ้ายังซ้ำเติมครอบครัวบาวเดนด้วยการส่งวิญญาณแห่งอดีตมาตามหลอกหลอนพวกเขาในรูปของ แม็กซ์ เคดี้ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) นักโทษที่เพิ่งพ้นคุกออกมาจากคดีข่มขืน พร้อมความแค้นเต็มอกต่อ แซม บาวเดน อดีตทนาย ซึ่งแก้ต่างให้เขาอย่างไร้ประสิทธิภาพ

หนึ่งในฉากไฮไลท์อันลืมไม่ลงของ Cape Fear คือ การเผชิญหน้าระหว่างแม็กซ์กับเดเนี่ยล เมื่อคนแรกปลอมตัวเป็นอาจารย์สอนการละคร ยั่วยวนและเล้าโลมเด็กสาววัยไม่ถึง 16 ปี ส่วนคนหลังก็ยอมเล่นตามบททั้งที่รู้ว่าแท้จริงแล้วแม็กซ์เป็นใคร เพราะเธอรู้สึกหลงใหลบุคลิกดิบเถื่อนของชายหนุ่ม จูเลียต ลูว์อิส เดินไต่บนเส้นแบ่งระหว่างความไร้เดียงสากับความแรดได้อย่างสมดุลจนส่งผลให้เธอเข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม นอกจากนั้น ฉากดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าความชั่วร้ายใฝ่ต่ำนั้นซ่อนลึกอยู่ในมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครจะบริสุทธิ์ขาวสะอาดไปทั้งหมด ซึ่งแก่นความคิดข้างต้นก็สะท้อนผ่านเทคนิคการแทรกภาพเนกาทีฟ (ดำเป็นขาว ขาวเป็นดำ) เข้ามาในหนังเป็นระยะๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม