วันอังคาร, ธันวาคม 09, 2551

ออสการ์ 2009: ไม่มีใครอยากวิ่งนำหน้า


ดูเหมือนสตูดิโอยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวู้ดจะหวาดกลัวตำแหน่ง “ตัวเก็ง” ในเทศกาลออสการ์กันแบบถ้วนหน้า หลังได้พบเห็นชะตากรรมอันชวนสลดหดหู่ของหนังอย่าง Dreamgirls และ Cold Mountain หรือในระดับน่าอกสั่นขวัญผวาน้อยลงมาหน่อยอย่าง Atonement ด้วยเหตุนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึงต้นเดือนธันวาคมแล้ว แต่บรรดาหนัง “ว่าที่” จำนวนไม่น้อยกลับยังไม่เปิดฉายในวงกว้าง โดยบางเรื่องอาจเปิดให้นักวิจารณ์กลุ่มหนึ่งได้ชมแล้ว แต่ทางผู้สร้างยังคงขอร้องไม่ให้พวกเขาเขียนวิจารณ์หรือแนะนำหนังอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะใกล้ถึงกำหนดเข้าฉาย (ในกลุ่มนี้ได้แก่ The Curious Case of Benjamin Button, Revolutionary Road, Doubt และ Frost/Nixon) ส่วนบางเรื่องยังแทบไม่ค่อยมีใครได้ชม เพราะหนังเพิ่งตัดต่อเสร็จ (ในกลุ่มนี้ได้แก่ Gran Torino และ The Reader)

ในบรรดาหนังที่ผ่านบททดสอบของเหล่านักวิจารณ์วงกว้างมาแล้ว มีอยู่สองเรื่องซึ่งวิ่งนำหน้ามาแต่ไกลจนกลายเป็นตัวเก็งประจำสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยม นั่นคือ Slumdog Millionaire และ Milk โดยเรื่องแรกเป็นตัวแทนของหนังอินดี้ feel-good ขวัญใจมวลชน เข้าข่ายเดียวกับ Juno และ Little Miss Sunshine (แถมยังจัดจำหน่ายโดย ฟ็อกซ์ เซิร์ทไลท์ เหมือนกันเสียด้วย ฉะนั้น จึงรับประกันได้ในแง่ของประสบการณ์การโปรโมตหนังให้เข้าถึงคณะกรรมการ) ส่วนเรื่องหลังเป็นตัวแทนหนังชีวประวัติบุคคลแห่งประวัติศาสตร์ ในสไตล์เดียวกับ Ray (แต่คาดว่าคุณภาพโดยรวมน่าจะลงตัวกว่า) ซึ่งกำลังขี่กระแสการเมืองเป็นปัจจัยเสริม หลังจากรัฐแคลิฟอร์เนียโหวตรับการแก้กฎหมายให้บุคคลเพศเดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ (Proposition 8) การผลักดันให้ Milk ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตของนักการเมืองเกย์ ฮาร์วีย์ มิลค์ ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกันทางเพศ ก่อนจะถูกฆ่าตายโดยนักการเมืองหัวเอียงขวาสุดโต่ง เข้าชิงออสการ์ หรือกระทั่งชนะรางวัลสำคัญๆ อาจเป็นเหมือนการแก้แค้นอันหอมหวานของกลุ่มเสรีนิยม (รวมถึงเหล่าเกย์/เลสเบี้ยน) ซึ่งอัดแน่นอยู่ในฮอลลีวู้ด


The Curious Case of Benjamin Button น่าจะเบียดเข้าชิงได้ไม่ยากในฐานะ “หนังฟอร์มใหญ่” แห่งปี โดยทุกคนที่ได้ชมล้วนเห็นตรงกันว่าหนังมีสิทธิ์เข้าชิงมากถึง 11 สาขา และน่าจะคว้าออสการ์มาครองได้ไม่ยากในสาขาทางเทคนิคอย่าง แต่งหน้า และ เทคนิคพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม (ว่ากันว่ามันเป็นก้าวสำคัญทางเทคโนโลยีในระดับเดียวกับ Jurassic Park เลยทีเดียว) อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนตั้งแง่กับอารมณ์โดยรวมของหนัง ซึ่งค่อนข้างเย็นชาและห่างเหินตามสไตล์หนัง เดวิด ฟินเชอร์ (แถมการถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงอีก) แทนที่จะบีบเค้น น่ารัก และอบอุ่นตามสไตล์ Forrest Gump (ทั้งสองเรื่องนี้เขียนบทโดย อีริค รอธ) แต่ถ้าใครไม่ใช่แฟนหนัง Forrest Gump ข้อมูลดังกล่าวอาจถือเป็นข่าวดี

กระแสเบื้องต้นของ Revolutionary Road และ Frost/Nixon ยังค่อนข้างก้ำกึ่งเกินกว่าจะฟันธง ส่งผลให้พวกมันเปราะบางและอาจถูกแซงหน้าได้ง่ายๆ โดยหนังที่ยัง “ชวนพิศวง” อย่าง Gran Torino และ The Reader หรือหนังขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง The Wrestler หนังขวัญใจนักวิจารณ์ + ขวัญใจมหาชนอย่าง The Dark Knight และหนังขวัญใจนักแสดงอย่าง Doubt ซึ่งมีโอกาสเข้าชิงสามสาขาการแสดงค่อนข้างสูง (นำหญิง + สมทบชาย + สมทบหญิง) ต้องไม่ลืมว่านักแสดงเป็นกรรมการออสการ์กลุ่มใหญ่สุด (นับรวมแล้ว = 1243 จากทั้งหมด 5829 คิดเป็น 21%) หากพวกเขาชอบนักแสดงถึงสามคนในหนังเรื่องเดียวกัน โอกาสที่พวกเขาจะชอบหนังทั้งเรื่องและกาโหวตให้ย่อมสูงตามไปด้วย กระนั้น ทุกๆ Million Dollar Baby, In the Bedroom และ Michael Clayton ก็ย่อมมี Iris สอดแทรกมาบ้าง ด้วยเหตุนี้ การมีนักแสดงเข้าชิงสามสาขาจึงไม่ได้รับประกันว่าหนังจะเข้าชิงสาขาใหญ่เสมอไป

แทบทุกปี รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมักจะไม่สอดคล้องกับหนังยอดเยี่ยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ถึงแม้โอกาสเข้าชิงของ The Dark Knight อาจไม่มากนักในสาขาใหญ่สุด หากมองตามสถานการณ์ปัจจุบัน (แต่ถ้าบรรดาหนังใหม่ปลายปีพากันโดนสอยร่วงระนาวเหมือนกรณีของ Australia โอกาสของมันก็จะเพิ่มสูงขึ้นมาทันที) เพราะยังไงเสียหลายคนก็ยังมองว่ามันเป็น “แค่” หนังซูเปอร์ฮีโร่ แถมยังเป็นภาคต่ออีกต่างหาก แต่ คริสโตเฟอร์ โนแลน รวมถึง ดาเรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler) โจนาธาน เด็มมี่ (Rachel Getting Married) และแน่นอน คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino) กลับดูจะมีภาษีมากกว่าผู้กำกับอย่าง รอน โฮเวิร์ด (Frost/Nixon) และ จอห์น แพ็ทริค แชนลีย์ (Doubt) แม้ว่าคนแรกจะเคยคว้าออสการ์สาขานี้มาครองแล้วก็ตาม ส่วนคนหลังก็เคยได้ออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจาก Moonstruck

หนังยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: The Curious Case of Benjamin Button, Slumdog Millionaire, Milk, Revolutionary Road, Frost/Nixon
ตัวสอดแทรก: The Reader, Doubt, The Dark Knight, The Wrestler, Rachel Getting Married

ผู้กำกับยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: เดวิด ฟินเชอร์ (The Curious Case of Benjamin Button), แซม เมนเดส (Revolutionary Road) แดนนี่ บอยล์(Slumdog Millionaire) กัส แวน แซนท์ (Milk), คริสโตเฟอร์ โนแลนด์ (The Dark Knight)
ตัวสอดแทรก: สตีเฟ่น ดัลดรี้ (The Reader), รอน โฮเวิร์ด (Frost/Nixon), ดาเรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler), คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino), โจนาธาน เด็มมี่ (Rachel Getting Married)


ณ เวลานี้ ดาราสองคนที่รับประกันการเข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายค่อนข้างแน่นอนแล้ว คือ ฌอน เพนน์ (Milk) และ มิคกี้ รู้ก (The Wrestler) โดยคนแรกได้รับความเคารพนับถือในวงการมาช้านาน แม้บุคลิกส่วนตัวจะไม่ใช่คน “อบอุ่น” หรือ “เป็นมิตร” สักเท่าไหร่ ข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าชาวฮอลลีวู้ดให้การยอมรับในฝีมือการแสดงของเพนน์ คือ การที่เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์แม้กระทั่งจากหนังที่ไม่คู่ควรกับพรสวรรค์อย่าง I Am Sam และหนังที่ไม่ได้โด่งดังเปรี้ยงปร้างอย่าง Sweet and Lowdown ที่สำคัญ Milk ยังถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของเพนน์ (ซึ่งก่อนหน้านี้มักรับบทชายน่าเกรงขาม ชวนคุกคาม ที่อัดแน่นไปด้วยความโกรธแค้นและด้านมืด ดังจะเห็นได้จากผลงานใน Mystic River และ Dead Man Walking) ด้วยการเปิดเผยด้านที่อ่อนโยน เป็นที่รักของคนรอบข้าง และเปราะบางทางอารมณ์... คงไม่บ่อยนักหรอกที่คุณจะได้เห็น ฌอน เพนน์ ยิ้มแย้มบนจอหนัง

บทบาทใน Milk เข้าทางออสการ์ในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การต้องเล่นเป็นบุคคลจริง ซึ่งนำไปสู่โอกาสแสดงทักษะเลียนแบบบุคลิก ท่าทาง ตลอดจนการพูดจาของคนๆ นั้น (ตัวอย่างเช่น เจมี่ ฟ็อกซ์ จาก Ray และ เฮเลน เมียร์เรน จาก The Queen) ไปจนถึงการแสดงเป็นรักร่วมเพศ ซึ่งหลายคนยังถือเป็น “ความกล้าหาญ” กันอยู่ (ตัวอย่างเช่น ทอม แฮงค์ จาก Philadelphia และ วิลเลี่ยม เฮิร์ท จาก Kiss of the Spider Woman) พูดง่ายๆ ฌอน เพนน์ ถือแต้มต่อแบบสองเด้งในลักษณะเดียวกับ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน จาก Capote แถมบุคลิกของ ฮาร์วีย์ มิลค์ ยังน่ารัก น่าคบหามากกว่า ทรูแมน คาโปตี้ หลายเท่านัก


เช่นเดียวกัน มิคกี้ รู้ก ไม่ใช่ “นางงามมิตรภาพ” ในแวดวงฮอลลีวู้ด (ตำแหน่งดังกล่าวคงเป็นของ เมอรีล สตรีพ ผู้กำลังจะส่งมอบมงกุฎต่อให้กับ เคท วินสเล็ท) หลายคนไม่ชอบขี้หน้าเขาเลยด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ล้วนเห็นตรงกันว่าผู้กำกับ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ได้มอบโอกาสทองให้เขาผ่านบท “แจ้งเกิด” ใน The Wrestler และรู้กก็ไม่ปล่อยโอกาสหลุดมือ เขาทุ่มเทแบบมอบกายถวายชีวิตจนนักวิจารณ์พากันสรรเสริญ ชื่นชม พร้อมทำนายว่ามันอาจเป็นบทที่ทำให้เขาคว้าออสการ์มาครองเลยด้วยซ้ำ

สมมุติฐานดังกล่าวดูจะเป็นไปได้ยาก (แต่การกวาดรางวัลของนักวิจารณ์มาครองอาจช่วยได้) เนื่องจากปีนี้สาขานักแสดงนำชายถือได้ว่าค่อนข้างแข็ง เสียงลือในระลอกแรกระบุว่า ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ขาประจำเวทีออสการ์ตลอดช่วงสามสี่ปีหลัง โดดเด่นมากใน Revolutionary Road อีกคนที่น่าจะได้เข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ แฟรงค์ แลนเกลลา นักแสดงละครเวทีรุ่นใหญ่ กับการหันมาเล่นบทเดิม ซึ่งเคยทำให้เขาคว้ารางวัลโทนี่มาแล้วใน Frost/Nixon นั่นส่งผลให้เหลือตำแหน่งว่างอีกเพียงตำแหน่งเดียวสำหรับสาขานี้ ซึ่งคงต้องเป็นการชิงดำระหว่าง แบรด พิทท์, เบนิชิโอ เดล โทโร, ริชาร์ด เจนกินส์ และ คลินท์ อีสต์วู้ด คนแรกอาจได้เปรียบในแง่ที่ว่า The Curious Case of Benjamin Button เป็นหนังตัวเก็งในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่นักวิจารณ์บางคนบอกว่า ตัวละครอย่าง เบนจามิน บัตตอน เป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์และไม่เปิดโอกาสให้แสดงอารมณ์หลากหลายมากนัก ก่อนจะสมทบว่าเขาประทับใจบทบาทของพิทท์ใน Burn After Reading มากกว่า ส่วนคนหลังสุดได้เปรียบตรงที่เขามีชื่อว่า คลินท์ อีสต์วู้ด และหลายคนที่ได้ดูหนังแล้วต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอีสต์วู้ดมีโอกาสเข้าชิงแน่นอน และดีไม่ดีอาจถึงขั้นคว้ารางวัลไปครองเลยด้วยซ้ำในสไตล์เดียวกับ จอห์น เวย์น จาก True Grit (ความแตกต่างอยู่ตรงที่อีสต์วู้ดได้ออสการ์มาแล้ว 4 ตัวจากการกำกับและอำนวยการสร้างหนังเรื่อง Unforgiven และ Million Dollar Baby)

จนถึงเวลานี้ รางวัลเดียวที่ดูเหมือนจะถูกตัดสินไว้เรียบร้อยแล้ว คือ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เพราะวัดจากกระแสโดยรอบ ยังไม่มีใครสามารถคุกคาม ฮีธ เลดเจอร์ จาก The Dark Knight ได้เลย ทั้งในแง่ของ “เนื้องาน” และปัจจัยแวดล้อม (การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร) ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (ซึ่งได้ออสการ์ไปแล้วด้วยการเอาชนะ ฮีธ เลดเจอร์ เมื่อสามปีก่อน) จาก Doubt ดูเหมือนจะโดนพวกผู้หญิงขโมยซีนไปหมด ขณะ ไมเคิล ชีน ก็ไม่ถูกกล่าวขวัญถึงมากเท่า แฟรงค์ แลนเกลลา ส่วนบรรดานักแสดงชายจาก Milk อย่าง เจมส์ ฟรังโก้, อีไมล์ เฮิร์ช และ จอช โบรลิน การได้หลุดเข้าชิงก็น่าจะถือเป็นชัยชนะสูงสุดแล้ว คนเดียวที่เหมือนจะกำลังหายใจรดต้นคอเลดเจอร์อยู่ ได้แก่ ไมเคิล แชนนอน จาก Revolutionary Road ซึ่งบทเปิดโอกาสให้เขาตีแผ่อารมณ์อย่างถึงแก่นและบาดลึก ความน่าวิตกเพียงอย่างเดียวคงอยู่ตรงน้ำหนักบทที่อาจจะน้อยไปหน่อย และบุคลิกอันไม่ค่อยน่าพิสมัยของตัวละคร คาดว่าผลรางวัลของนักวิจารณ์น่าจะช่วยปัดเป่าม่านหมอกให้ทุกอย่างดูชัดเจนขึ้น

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: ฌอน เพนน์ (Milk), มิคกี้ รู้ก (The Wrestler), แฟรงค์ แลนเกลลา (Frost/Nixon), ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Revolutionary Road), คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino)
ตัวสอดแทรก: แบรด พิทท์ (The Curious Case of Benjamin Button), เบนิชิโอ เดล โทโร (Che), ฮิวจ์ แจ๊คแมน (Australia), วิล สมิธ (Seven Pounds), ริชาร์ด เจนกินส์ (The Visitor)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Night), ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Doubt), ไมเคิล ชีน (Frost/Nixon), ไมเคิล แชนนอน (Revolutionary Road), เรฟ ไฟน์ส (The Reader)
ตัวสอดแทรก: เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky), โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Tropic Thunder), เจมส์ ฟรังโก้ (Milk), แบรด พิทท์ (Burn After Reading), จอช โบรลิน (Milk)


ไม่รู้ว่าการที่ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ พยายามผลักดัน The Reader ให้เข้าฉายปลายปี 2008 จะกลายเป็นประโยชน์หรือโทษให้กับ เคท วินสเล็ท ซึ่งมีบทนำที่น่าจะรับประกันการเข้าชิงอยู่แล้วใน Revolutionary Road ไวน์สไตน์บอกว่าจะส่งเธอเข้าชิงในสาขาสมทบหญิง เพื่อไม่ให้เกิดการตัดคะแนนกันเอง แต่นั่นอาจไม่ช่วยแก้ปัญหา ถ้าผู้ลงคะแนนเห็นว่าบทของเธอใน The Reader โดดเด่นและน่าประทับใจพอจะเข้าชิงในสาขานำหญิง เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับ ไคชา แคสเทิล-ฮิวจ์ จาก Whale Rider ซึ่งทางสตูดิโอส่งเข้าประกวดในสาขาสมทบหญิง แต่สุดท้ายกลับได้รับโหวตให้เข้าชิงในสาขานำหญิง

อย่างไรก็ตาม หากวินสเล็ทได้เข้าชิงทั้งสองสาขาตามแผน ผลลัพธ์ต่อมาอาจไม่สวยงาม ชวนมอง เพราะการชวดรางวัลจะทำให้เธอก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนักแสดงหญิงที่อกหักจากการเข้าชิงออสการ์บ่อยครั้งสุดแทนที่ เดเบอราห์ เคอร์ และ เธลมา ริตเตอร์ ในทันที (ก่อนหน้านี้เธอเข้าชิงมาแล้ว 5 ครั้งจาก Sense and Sensibility, Iris, Titanic, Eternal Sunshine of the Spotless Mind และ Little Children)

คนเดียวที่รับประกันการเข้าชิงค่อนข้างแน่ คือ เมอรีล สตรีพ แม้ว่า Variety จะไม่ค่อยปลื้มการตีความใหม่ของเธอใน Doubt สักเท่าไหร่ (ว่ากันว่าเธอเน้นแสดงอารมณ์แบบลุ่มลึก ซึ่งเหมาะสำหรับภาพยนตร์มากกว่าเนื่องจากกล้องถ่ายหนังสามารถจับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างแม่นยำ ขณะเดียวกันก็เพิ่มมิติความเป็นมนุษย์ที่ขัดแย้งและสับสนให้กับตัวละครด้วย) แต่หลายคน ทั้งที่เคยดูเวอร์ชั่นละครเวทีและไม่เคยดู ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสตรีพไม่เคยยอดเยี่ยมขนาดนี้มานานหลายปีแล้ว

สามนักแสดงหญิงจากหนังฟอร์มเล็กที่คาดว่าน่าจะได้แรงผลักดันอย่างเต็มที่จากรางวัลของนักวิจารณ์ ได้แก่ คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long) แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) และ เมลิสซา ลีโอ (Frozen River) โดยหากมองในตอนนี้ คนแรกสุดดูเหมือนจะมีภาษีเหนือใคร เนื่องจากเธอเคยผ่านเวทีออสการ์มาแล้ว (The English Patient) เธอต้องพูดภาษาฝรั่งเศส (ก็มันเป็นหนังฝรั่งเศสนี่นา) เธอรับบทเปลือยอารมณ์แบบปราศจากเมคอัพ (เข้าข่าย “อย่ามองฉันที่หน้าตา แต่ให้ดูความสามารถ” เหมือน ชาร์ลีซ เธรอน ใน North Country และ Monster) เธอแบกรับหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่าและทำหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติ กระนั้น ข้อได้เปรียบดังกล่าวสามารถนำมาอธิบายงานแสดงของลีโอกับฮอว์กินส์ได้เช่นกัน

ก่อนหนังจะเปิดตัว คนส่วนใหญ่มองข้าม เคท บลันเช็ตต์ ในสาขานำหญิง เนื่องจากคาดเดากันว่าหนังน่าจะให้น้ำหนักไปทาง แบรด พิทท์ มากกว่า แต่พอหลายคนได้มีโอกาสชมหนังแบบเต็มๆ แล้ว บลันเช็ตต์กลับพุ่งแรงจนกลายมาเป็นผู้นำร่วมกับสตรีพ (อย่าลืมว่าออสการ์หลงใหลได้ปลื้มผู้หญิงคนนี้ถึงขนาดเสนอชื่อเธอเข้าชิงนำหญิงจากหนังอย่าง Elizabeth: The Golden Age มาแล้ว) นั่นกลายเป็นข่าวร้ายสำหรับ แองเจลิน่า โจลี่ (Changeling) ซึ่งทำท่าว่าอาจถูกเบียดตกเวทีอีกครั้ง ตอกย้ำแผลเดิมเมื่อครั้งพลาดเข้าชิงจาก A Mighty Heart มีคนวิเคราะห์ว่าสถานะ “ราชินีแท็บลอยด์” ของเธอบั่นทอนภาพลักษณ์นักแสดง ขณะที่อีกคนเห็นว่าเธอเล่น “ใหญ่” เกินไปหน่อยใน Changeling ซึ่งหากเป็นปีที่การแข่งขันไม่เข้มข้น เธออาจหลุดเข้าชิงได้ โชคร้ายที่ปีนี้ไม่ใช่เช่นนั้น


อีกคนที่เริ่มวิ่งนำหน้ามาได้สองสามเดือนแล้ว นั่นคือ แอนน์ แฮทธาเวย์ (Rachel Getting Married) ก็อาจเริ่มร้อนๆ หนาวๆ เหมือนกัน เมื่อโอกาสที่เธอจะพลาดรถไฟขบวนสุดท้ายก็มีอยู่สูง โชคดีที่ Rachel Getting Married ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี (ไม่เหมือน Changeling ซึ่งโดนสอยร่วงแบบเดียวกับ Flags of Our Fathers) แถมยังมีโอกาส (ไกลๆ) ที่จะหลุดเข้าชิงสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย อีกอย่าง การสลัดภาพเจ้าหญิงดิสนีย์มาเป็นสาวขี้ยาน่าจะช่วยเพิ่มคะแนนให้เธอได้ไม่น้อย

ในส่วนของนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม สองคนที่กำลังวิ่งนำหน้า คือ เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona) และ ไวโอลา เดวิส (Doubt) ซึ่งแม้จะโผล่หน้าออกมาเพียงฉากสองฉาก แต่เธอก็กินขาดทุกคน แม้กระทั่ง เมอรีล สตรีพ!?! สำหรับกลุ่มตัวเก็ง คนที่ “เปราะบาง” สุดเห็นจะเป็น มาริสา โทเม เพราะ The Wrestler ถูกมองว่าเป็นหนังของ มิคกี้ รู้ก และเธอก็เคยถูกมองข้ามมาแล้วจาก Before the Devil Knows You’re Dead ส่วนคนที่อาจสอดแทรกเข้ามาแทนที่ คือ นักแสดงสาวเล็ก (โรสแมรี เดอวิตต์) และ สาวใหญ่ (เดบร้า วิงเกอร์) จาก Rachel Getting Married เช่นกัน รางวัลนักวิจารณ์น่าจะช่วยสร้างภาพให้ชัดเจนขึ้นได้

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: เมอรีล สตรีพ (Doubt), เคท วินสเล็ท (Revolutionary Road), คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long), แอนน์ แฮทธาเวย์ (Rachel Getting Married), เคท บลันเช็ตต์ (The Curious Case of Benjamin Button)
ตัวสอดแทรก: แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky), แองเจลินา โจลี (Changeling), เคท เบ็กคินเซล (Nothing But the Truth), นิโคล คิดแมน (Australia), เมลิสซา ลีโอ (Frozen River)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

ตัวเก็ง: เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona), ไวโอลา เดวิส (Doubt), เคท วินสเล็ท (The Reader), ทาราจี พี. เฮนสัน (The Curious Case of Benjamin Button), มาริสา โทเม (The Wrestler)
ตัวสอดแทรก: เคธี เบทส์ (Revolutionary Road), โรสแมรี เดอวิตต์ (Rachel Getting Married), เดบร้า วิงเกอร์ (Rachel Getting Married), เอลซา ซิลเบอร์สไตน์ (I’ve Loved You So Long), โรซาริโอ ดอว์สัน (Seven Pounds)

1 ความคิดเห็น:

black forest กล่าวว่า...

โอ๊ะ ฤดูกาลแจกรางวัลกลับมาอีกแล้ว