วันจันทร์, ธันวาคม 22, 2551

ความสมจริงกับอารมณ์โรแมนติก


เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยเขียนถึงหนังไทยเรื่อง คู่แท้ปาฏิหาริย์ แล้วตั้งคำถามต่อความ “สมจริง” หรือ “น่าเชื่อถือ” ของตัวละครและสถานการณ์ ก่อนสุดท้ายจะโดนคนอ่านท่านหนึ่งเขียนโพสต์ในเวบบอร์ดเพื่อตำหนิติเตียน (เข้าใจว่าเขาคงชอบหนังเรื่องนี้มากๆ) พร้อมทั้งสรุปตบท้ายผมว่าเป็นคนไม่ “โรแมนติก” เอาซะเลย

บางทีผมอาจเป็นคนไม่โรแมนติกจริงๆ ก็ได้ เพราะในความเห็นของเขาผู้นั้น ดูเหมือนว่าอารมณ์โรแมนติกจะหมายถึงการละทิ้งเหตุและผลอย่างสิ้นเชิง แล้วโอบกอดทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเบื้องหน้าแบบฉาบฉวย โดยไม่ตั้งคำถาม หรือแสดงความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ (เมื่อพิจารณาว่าเขาชื่นชอบหนังอย่าง เพื่อน... กูรักมึงว่ะ อย่างหมดใจ ผมจึงพอจะเข้าใจหลักตรรกะทางความคิดของเขาอยู่พอสมควร)

และคงด้วยความเป็นคนไม่โรแมนติกนั่นเอง ผมจึงรู้สึกหงุดหงิด คับข้องใจกับหนังอย่าง Happy Birthday ตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลัง

อันที่จริง ผมยังพอทำใจยอมรับความบังเอิญอันเหลือเชื่อที่ชักนำคู่พระนางให้มารู้จักกันได้ แม้จะเห็นว่าบทและผู้กำกับพยายามท้าทายขอบเขตความเป็นไปได้ของคุณลักษณะ “meet cute” ตามรูปแบบหนังตลกโรแมนติกมากเกินไปหน่อย (เข้าใจว่าบทในส่วนนี้คงได้แรงบันดาลใจมาจากการเขียนข้อความตอบโต้กันตามฝาผนังห้องส้วมซะกระมัง) และราวกับทั้งหมดนั่นยังไม่บังเอิญพอ... เปล่าครับ พวกเขาไม่ได้เจอกันครั้งแรกที่ร้านหนังสือ (พระเอกมาคอยอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ) หรือผ่านการแลกเบอร์กันทางหนังสือสื่อรัก (ซึ่งทั้งสองทางนั้นน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า แต่อาจไม่ “น่ารัก” หรือ “โรแมนติก” เท่าทางเลือกที่คนเขียนบท/ผู้กำกับเลือกใช้) แต่พวกเขามาเจอกันครั้งแรกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งพระเอกเคยเขียนแนะนำไว้ในหนังสือ มันเป็นร้านอาหาร ณ สถานที่ท่องเที่ยวอันห่างไกลเพื่อเปิดโอกาสให้หนังได้ขายวิวทิวทัศน์ทางธรรมชาติควบคู่กันไป แน่นอน จังหวะของเวลา สถานที่ บทสนทนา ตลอดจนรายละเอียดประกอบ (แกว่งปากกา) ต้องลงตัวมากๆ ถึงจะสามารถทำให้พระเอกรู้แน่ว่านางเอก คือ คนที่เขียนข้อความในหนังสือเล่มนั้น (ฤาความอัศจรรย์ทั้งหลายแหล่นี้ คือ ความพยายามจะบอกว่าทั้งสองเป็นคู่แท้ปาฏิหาริย์?)

ใช่ครับ การเจอกันในงานเลี้ยง มีเพื่อนแนะนำให้รู้จัก หรือการวางบทให้นางเอกเป็นไกด์ แล้วพระเอกเป็นช่างภาพที่มาจ้างนางเอกให้พาเที่ยวมันธรรมดาเกินไป และไม่ “โรแมนติก” เอาซะเลย (เข้าใจไหม สะบายดี หลวงพะบาง?)

อย่างไรก็ตาม โดยหลักๆ แล้วอาการสะดุดใจของผมอยู่ตรงความพยายามของหนังที่จะให้คนดูรู้สึก “ซาบซึ้ง” กับการกระทำของพระเอก (ฉากหนึ่ง เพื่อนร่วมงานสาวของพระเอกถามผู้หญิงอีกคนในออฟฟิศประมาณว่า ถ้าเธอเป็นแบบแฟนของเขา เธอจะไม่อยากได้ผู้ชายแบบนี้มาเป็นแฟนหรือ... ผมได้แต่ตอบแทนในใจว่า ฉันไม่อยากได้ ฉันอยากได้แฟนที่กล้าจะดึงท่อออกซิเจน แล้วใช้ชีวิตของเขาต่อไปอย่างมีคุณค่า) ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างเสียสติกับน่าสมเพช จนหลายครั้งผมนึกอยากกระโดดเข้าไปในจอหนัง แล้วตบหน้าพระเอกให้ตื่นมาอยู่ในโลกความจริงเสียที

ทุกอย่างดูเหมือนจะเลยเถิดไปไกลขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงสิบห้านาทีสุดท้าย (ฉากไปขอบาทหลวงแต่งงาน ฉากขึ้นโรงขึ้นศาลและการหยิบเอารูปถ่ายในชุดวิวาห์มาอ้างเป็นหลักฐานการสมรสทำเอาผมนั่งมึนจนพูดอะไรไม่ออก) และเมื่อเห็นว่าหนังมาไกลเกินกว่าจะลงเอยด้วย “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” แบบง่ายๆ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้คนดูเดินออกจากโรงหนังด้วยอารมณ์หดหู่ เศร้าสร้อย ผู้สร้างจึงพยายามเค้น “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” ในอีกรูปแบบหนึ่งออกมา ซึ่งน่าละอายน้อยกว่า “แล้วพวกเขาก็พบกันบนสวรรค์” ประมาณเศษหนึ่งส่วนสาม (ที่สำคัญ กลับสร้างความรู้สึกสยองในแบบหนังผีมากกว่าจะรู้สึกซาบซึ้งอย่างบอกไม่ถูก)

ผมลองคิดเล่นๆ ว่ามันจะดีกว่าไหม หากหนังดำเนินไปถึงจุดผกผันที่พระเอกสามารถทำใจยอมรับสภาพได้ในที่สุด แล้ว “ปลดปล่อย” ร่างกายของนางเอก จากนั้นก็ใช้ชีวิตไปตามปกติ โดยเขาอาจจะแต่งงานกับเพื่อนร่วมงานสาวที่แอบชอบเขาอยู่ก็ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งในอีก 50 ปีต่อมา เขาก็ยืนกรานให้ลูกชายขับรถพาเขาไปยังจุดชมฝนดาวตกนั้น ท่ามกลางความงุนงงของลูกชาย

“พ่อเคยให้สัญญาใครคนหนึ่งไว้” ชายชราไขข้อข้องใจเป็นเพียงนัยๆ

แบบนี้มันน่าจะยึดติดกับโลกแห่งความจริงมากกว่า ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละทิ้งอุดมคติแห่ง “รักแท้” ไปเสียทีเดียว... แต่อย่างว่า คนไม่โรแมนติกอย่างผมจะไปเข้าใจอะไร

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ส่วนที่บิ๊กไม่ชอบในหนังเรื่องนี้ (ส่วนกลางของเรื่องป เป็นส่วนที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้แฮะ รู้สึกว่า มันต้องมีตัวละครแบบนี้บ้าง มันทำให้เรานึกถึง หนังที่เราชอบมากเรื่องนึงคือ TO GILLIAN ON HER 37th BIRTHDAY

มันไม่ใช่ส่วนที่ดีนะ แต่เราfit in กับอารมณ์ตรงนั้น

:)

Riverdale กล่าวว่า...

จริงๆ จะว่าไป ผมชอบความกล้าหาญของคุณคงเดชนะ เขาเป็นคนเขียนบทคนเดียวกระมังที่กล้าจะทำอะไรที่แตกต่างและบุ่มบ่าม ซึ่งบางทีก็ได้ผลยอดเยี่ยม เช่น ความรักของคนสามแขนกับผู้หญิงนมใหญ่

ในเรื่องนี้ ผมชอบการที่หนังเหมือนจะทำให้รู้สึกว่าพระเอกจะกลายเป็นบ้า (ถ้าเขาเป็นบ้าไปเลย ผมอาจจะชอบหนังมากกว่านี้) แต่ไม่ชอบตรงที่มันเหมือนไม่สอดคล้องไปกับความพยายามจะเป็น โรแมนติกบีบน้ำตา ในส่วนที่เหลือของหนัง

ผมมีความรู้สึกว่า ถ้าคงเดชกำกับหนังเรื่องนี้เอง มันอาจจะออกมาดีกว่านี้ เพราะสไตล์อารมณ์ขันแบบคงเดชน่าจะเหมาะกับเรื่องราวที่แปลก แตกต่างแบบนี้ แต่พอทุกอย่างมาอยู่ในมือของผู้กำกับอย่างพงพัฒน์ มันเลยดูประดักประเดิดอย่างไรพิกล ระหว่างส่วนที่พยายามจะท้าทายคนดู กับส่วนที่จะเอาใจคนดูตามสูตรสำเร็จ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ใช่ๆๆๆ คุยกับเพื่อนคนนึงในประเด็นนี้เหมือนกัน

ช่วงกลางๆเรื่องน่าจะเป็นช่วงของคงเดชแน่ๆ แต่พอมันอยู่รวมกับส่วนที่เหลือแล้วมันต่อกันไม่ติด วันนี้เราถึงกับขึ้นชื่อในM ว่า อยากให้คงเดชกำกับ HBD

ว่าจะเขียนถึงเหมือนกัน แต่จะเขียนเฉพาะช่วงครึ่งชั่วโมงนั้น เราคิดว่ามันเป็นครึ่งชั่วโมงที่มีประเด็นให้แตกยอดมากมาย
ในขณะที่ครึ่งแรกเป็นสารคดีท่องเที่ยว และตอยนจบกลายเป็นหนังเกาหลี

celinejulie กล่าวว่า...

เราก็ไม่ชอบหนังเรื่องนี้เหมือนกัน เราเดาว่าเหตุผลส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราเหมือนกับโอลิเวอร์ เพราะเราเป็นคนไม่โรแมนติก แต่เราเป็นโรคบ้าผู้ชาย :-)